วันอังคารที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2557

งบการเงินสำหรับนักลงทุน โดย นรินทร์ โอฬารกิจอนันต์

  • ตอนที่ 1: Overview

    ที่ผ่านมามีหลายท่านอยากให้ผมเขียนหนังสือเกี่ยวกับการวิเคราะห์งบการเงินบ้าง เพราะหาหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่อ่านง่ายๆ ไม่ได้เลย แต่ผมเองนั้นมิใช่นักบัญชี ความรู้บัญชีที่มีอยู่ก็เป็นเพียงแค่ความรู้ที่สะสมมาเพื่อใช้เอาตัวรอดในตลาดหุ้นเท่านั้น หลายปีผ่านไป ก็ยังมีคนถามเรื่องนี้อยู่ ไม่ทราบจะทำอย่างไรเหมือนกัน เอาเป็นว่าผมจะใช้บล็อกเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้สักพักก็แล้วกัน เป็นแค่การเล่าให้ฟังว่าตัวผมเองดูอะไรในงบการเงินบ้างเวลาลงทุน

    เรื่องงบการเงินนั้น ผมยอมรับว่า ผมเองไม่ได้ให้น้ำหนักมากนัก เพราะผมตัดสินใจลงทุนจากเหตุผลเชิงคุณภาพเป็นหลัก (ธุรกิจมีอนาคตที่สดใส บริษัทมีกลยุทธ์การเติบโตที่ดี บริษัทมีข้อได้เปรียบที่ชัดเจน ฯลฯ) ผมจะใช้งบการเงินเป็นแค่การตรวจสอบอีกชั้นหนึ่งเพื่อให้แน่ใจว่า ตัวเลขต่างๆ สอดคล้องกับสิ่งที่เราคิดหรือไม่ และใช้ดูว่าบริษัทยังมีอะไรอย่างอื่นที่เราต้องกังวลอีกหรือเปล่า ผมถือว่า ผมเน้นลงทุนแต่ในบริษัทที่มีความน่าเชื่อถือระดับหนึ่งแล้วเท่านั้น และอาศัยการกระจายการลงทุน แทนการวิเคราะห์งบการเงินแบบเจาะลึก นักลงทุนบางคนอาจใช้งบการเงินเป็นเครื่องมือหลักในการเลือกหุ้น เช่น คนที่ลงทุนในแนว Asset Play แต่ผมก็ไม่เคยลงทุนในแนวนั้นเลย ผมคิดว่าผมคงไม่ได้รู้บัญชีลึกซึ้งมากขนาดที่จะขุดพบสิ่งที่ซ่อนอยู่ในงบการเงินที่คนทั่วไปมองไม่เห็นออกมาได้ งบการเงินเป็นสิ่งที่บอกอดีตและปัจจุบันของบริษัทได้ดี แต่บอกอนาคตได้น้อย ผมจึงให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์เชิงคุณภาพมากกว่า

    สาระสำคัญของงบการเงินของบริษัทมหาชนนั้นอยู่ในงบสามตัวใหญ่ ได้แก่ งบดุล งบกำไรขาดทุน และงบกระแสเงินสด ส่วนหมายเหตุประกอบงบการเงิน และงบแสดงส่วนเปลี่ยนแปลงของผู้ถือหุ้นนั้น เป็นส่วนของรายละเอียดเพิ่มเติม ถ้าจะให้ดีเวลาอ่านงบการเงินควรพลิกไปอ่านความเห็นของผู้สอบบัญชีด้วยสักนิด งบการเงินที่ดีควรเป็นงบที่ผู้สอบบัญชีแสดงความเห็นแบบไม่มีเงื่อนไข ถ้าหากผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็น หรือแสดงความเห็นอย่างมีเงิ่อนไข มักทำให้ผมไม่ค่อยอยากอ่านงบการเงินของบริษัทนั้นต่อแล้ว เพราะไม่รู้ว่า สิ่งที่แสดงอยู่ในงบการเงินนั้นจะเชื่อถือได้มากแค่ไหน และพาลให้อยากเลิกคิดลงทุนในบริษัทนั้นไปด้วยเลย เพราะไม่รู้ว่าเราจะเสี่ยงลงทุนกับบริษัทที่ไม่สามารถแสดงงบการเงินในแบบที่เรียบร้อยตามหลักบัญชีให้นักลงทุนดูได้ไปทำไม ในเมื่อเรายังมีตัวเลือกอื่นดีๆ อีกมากมายในตลาด

    และเช่นเดียวกัน การเป็นนักลงทุนนั้น ที่จริงแล้วไม่จำเป็นต้องเก่งบัญชีมากๆ แต่ควรเข้าใจภาพใหญ่ๆ ของการดูงบการเงิน เวลาที่เจองบการเงินของบริษัทที่ซ้บซ้อนมากๆ มีรายการพิเศษเยอะๆ แทนที่เราจะต้องพยายามแกะให้ได้ เราสามารถเปลี่ยนไปลงทุนในบริษัทอื่นที่มีงบการเงินที่เข้าใจได้ง่ายกว่าแทนก็ได้ มีให้เลือกอีกเยอะแยะในตลาด วอเรนบัฟเฟตกล่าวว่า บริษัทที่เขียนงบการเงินให้คนอ่านเข้าใจยากๆ เหมือนไม่อยากให้คนเข้าใจนั้น แสดงว่าอาจมีอะไรบางอย่างที่ไม่ดีที่เขาจะต้องแอบซ่อนเอาไว้ ถ้าธุรกิจดีจริงๆ เขามักจะอยากโชว์

    แนวคิดอย่างแรกที่อยากให้นักลงทุนมองเวลาที่เริ่มต้นอ่านงบการเงินคือ งบดุลเป็นบัญชีที่แสดง “ฐานะการเงินของบริษัท” ณ วันสิ้นงวด พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ สมมติว่าหยุดกิจกรรมทุกอย่างไว้ชั่วคราว ณ วันสิ้นงวด แล้วลองนับดูว่าบริษัทมีสมบัติอะไรติดตัวบ้าง มีหนี้เท่าไร (เอาสินทรัพย์หักหนี้สินจะเหลือเป็นส่วนที่เป็นของบริษัทจริงๆ) ส่วนงบกำไรขาดทุนนั้นคือบัญชีที่แสดง ผลงานของบริษัท “ตลอด” งวดบัญชีนั้น กล่าวคือ ตลอดช่วงเวลาของรอบบัญชีนั้น บริษัททำรายได้ไปได้เท่าไร หักค่าใช้จ่ายแล้วเหลือกำไรเท่าไร (รายได้หักค่าใช้จ่ายเท่ากับกำไร) งบดุลจึงเป็นเหมือนภาพนิ่งเมื่อวันจบงวด ส่วนงบกำไรขาดทุนนั้นเป็นผลงานรวมตลอดระยะเวลาทั้งหมดเฉพาะในรอบบัญชีนั้น

    ส่วนงบกระแสเงินสดนั้นเป็นบัญชีที่แสดงการไหลเข้าออกของเงินสดระหว่างรอบบัญชีนั้น นักบัญชีบังคับให้บริษัทมหาชนต้องแสดงการไหลเข้าออกของเงินสดด้วยเพื่อ “กันเหนียว” กล่าวคือ เวลาคิดกำไรขาดทุนตามหลักบัญชีนั้นอาจมีช่องว่างบางอย่างที่ทำให้บริษัทฉายภาพว่าธุรกิจไปได้ดีทั้งที่จริงๆ แล้วมีปัญหา การบังคับให้ต้องแสดงงบกระแสเงินสดด้วยนั้น จะช่วยทำให้บริษัทหาช่องว่างได้ยากขึ้น บางคนบอกว่างบกระแสเงินสดสำคัญ งบกำไรขาดทุนไม่สำคัญ บางคนบอกว่างบกำไรขาดทุนสำคัญ งบกระแสเงินสดไม่สำคัญ แต่ที่จริงแล้ว เวลาดูงบการเงินควรดูทั้งสามงบประกอบกันว่าสอดคล้องกันหรือไม่ถึงจะชัวร์ สรุปก็คือสำคัญทั้งสามงบ

    นอกจากนี้ในแต่ละงบยังแยกออกเป็นสองชุดคือ งบการเงินเฉพาะบริษัท และงบการเงินรวม ด้วย เพราะบริษัทหนึ่งๆ อาจประกอบด้วยบริษัทร่วมและบริษัทย่อยหลายบริษัท เช่น พวกโฮลดิ้งคอมปะนี งบการเงินรวมคืองบที่รวมงบการเงินของบริษัทร่วมและบริษัทย่อยเข้าด้วยกันให้เหมือนเป็นบริษัทเดียวกัน จะได้เห็นสถานะการเงินทั้งหมดของบริษัท มีคำถามเสมอว่า เราควรดูงบการเงินเฉพาะของบริษัทหรืองบการเงินรวมดี บ่อยครั้งที่บริษัทมหาชนต้องการให้แต่ละหน่วยธุรกิจบริหารจัดการตัวอย่างแบบเป็นเอกเทศจึงทำให้ต้องมีโครงสร้างเป็นบริษัทร่วมและบริษัทย่อย แต่ในมุมของผู้ถือหุ้นแล้ว ไม่ว่าจะซอยยังไงก็เป็นสมบัติของผู้ถือหุ้นเหมือนกัน การที่ต้องจัดทำงบการเงินรวมก็เป็นวิธีการทางบัญชีที่จะช่วยทำให้กลุ่มธุรกิจดูเหมือนเป็นก้อนเดียวกัน โดยปกติแล้ว ผมจึงดูแต่งบการเงินรวมเป็นหลัก มีบางกรณีเหมือนกันที่เราควรจะดูงบการเงินเฉพาะของบริษัทมากกว่างบการเงินรวม แต่เป็นกรณีที่น้อยมากครับ ไม่อยากขยายความให้ชวนปวดหัว

    เอาแค่นี้ก่อนนะครับสำหรับการ overview เอาไว้ตอนหน้าจะมาลงรายละเอียดทีละงบว่า เราควรดูอะไรในงบเหล่านั้นบ้าง

    ตอนที่ 2: งบกำไร/ขาดทุน

    ในฐานะ growth investor ถ้าผมเปิดงบกำไรขาดทุนขึ้นมาดู สิ่งแรกที่ผมมักจะดูก่อนเสมอคือการเติบโตของรายได้ครับ บริษัทที่ปกติดีควรมีรายได้เพิ่มขึ้นเสมอเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนจะเพิ่มมากหรือน้อยก็แล้วแต่ แต่ไม่ควรจะลดลงอย่างยิ่ง ที่ต้องเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน แทนที่จะเทียบกับงวดที่แล้วก็เพราะธุรกิจมักมีเรื่องของฤดูกาลเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงควรเทียบผลงานในช่วงเดียวกันของทุกปี และผมมักจะสนใจเฉพาะการเติบโตของรายได้ที่มาจากธุรกิจหลัก ไม่ใช่รายได้รวม เพราะรายได้อื่นๆ เป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนและมักไม่ใช่แก่นของธุรกิจของบริษัท จึงไม่ควรนำมาเกี่ยวข้องเวลาประเมินสภาวะของกิจการ

    ที่จริงผมให้ความสำคัญกับการเติบโตของรายได้หลักมากกว่ากำไรเสียอีก เพราะการทำธุรกิจนั้นกำไรย่อมต้องมีความผันผวนบ้างเป็นเรื่องธรรมดาของการทำธุรกิจที่ต้องมีความไม่แน่นอน บริษัทที่กำไรเพิ่มขึ้นได้อย่างสม่ำเสมอเป็นเส้นตรง คงมีแต่บริษัทที่แต่งบัญชีเองเท่านั้น ดังนั้นถ้ากำไรของบริษัทลดลงบ้างในบางช่วง ผมไม่ถือว่าคอขาดบาดตาย และไม่มีความจำเป็นต้องรีบขายหุ้นหนี ซึ่งจะต่างกับคนที่เล่นหุ้นระยะสั้นด้วยวิธีการเก็ง EPS เป็นรายไตรมาส กลุ่มนี้ถ้าเขารู้ว่า EPS ไตรมาสหน้ากำลังจะลดลง ปกติเขาจะรีบหนีทันที แต่สำหรับผม ถ้ารายได้ยังเติบโตได้อยู่ สุดท้ายแล้วกำไรก็จะกลับมาสร้างจุดสูงสุดใหม่ได้อีก

    แต่ถ้าหากรายได้ลดลงนั้น น่าเป็นห่วงมากกว่า เพราะปกติแล้วถ้าธุรกิจแย่ลงชั่วคราว บริษัทมักเลือกที่จะรักษารายได้เอาไว้ แล้วยอมลดกำไรลง มากกว่าที่จะปล่อยให้รายได้ลดลง เพราะถ้าโวลู่มขายลดลง ต้นทุนต่อหน่วยมักจะเพิ่มขึ้น ทำให้บริษัทแข่งขันไม่ได้ด้วย รักษาโวลุ่มไว้ก่อนดีกว่า ดังนั้นถ้าหากรายได้ถึงขั้นลดลง แสดงว่าปัญหาของบริษัทน่าจะไม่ธรรมดา ธุรกิจอาจจะกำลังหมดยุค หรือบริษัทกำลังเสียความสามารถในการแข่งขันไปอย่างถาวร

    เว้นแต่พวกที่ขายสินค้าคอมโมฯ ที่ราคาตลาดผันผวนสูงๆ เช่น ถ่านหิน โรงกลั่น ฯลฯ พวกนี้บางทีราคาตลาดผันผวนแรงมากๆ ก็อาจทำให้รายได้ลดลงได้โดยที่ปริมาณการขายไม่ได้ลด ดังนั้นถ้าหากบริษัทเหล่านี้มีรายได้ลดลง ควรรีบตรวจสอบดูว่า ปริมาณการขายลดลงด้วยหรือไม่

    ถัดจากการเติบโตของรายได้ ผมจะตรวจสอบดูว่า Gross Margin ของบริษัทเปลี่ยนไปอย่างไร Gross Margin ก็คือ (รายได้-ต้นทุนขาย) หารด้วย รายได้ หรืออาจจะตรวจดูว่าต้นทุนขายเพิ่มขึ้นมากกว่าหรือน้อยกว่ารายได้ที่เพิ่มขึ้นก็ได้ (ความหมายจะเหมือนกัน) ถ้า Gross Margin ไม่ต่ำลง แสดงว่า ไม่มีอะไรผิดปกติ ถ้าหากต่ำลง แสดงว่า ต้นทุนสินค้าสูงขึ้น หรือมิฉะนั้น อาจเกิดจากบริษัทยอม dump ราคาลงมา เพื่อดึงยอดขายเอาไว้ ก็ได้

    นอกจากนี้ ถ้าอยู่ดีๆ Gross Margin ของบริษัทเพิ่มขึ้น อาจเป็นสัญญาณที่แสดงว่าพื้นฐานของบริษัทกำลังจะดีขึ้นได้ด้วย เช่น ตลาดอยู่ในช่วงเติบโตสูง หรือสินค้าใหม่ของบริษัทอาจสร้างความแตกต่างได้มากกว่าเดิมทำให้บริษัทมี market power มากขึ้น สามารถ command pricing ได้มากกว่าเดิม มีให้เห็นอยู่บ่อยๆ ครับว่า หุ้นที่กำลังจะทะยาน Gross Margin มักกระตุ้นขึ้นให้เห็นก่อน

    ถัดจาก Gross Margin ผมจะดู Operating Margin ซึ่งได้แก่ EBIT หารด้วย รายได้ ครับ ถ้า Operating Margin ดีขึ้น แสดงว่าบริษัทอาจบริหารจัดการได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หรืออาจเป็นรายได้สูงขึ้น ทำให้ค่าโสหุ้ยต่อหน่วยลดลง ซึ่งเป็นเรื่องดีทั้งนั้น

    สังเกตว่าผมจะสนใจ Operating Margin มากกว่า Net Profit Margin เพราะ Net Income นั้นนับรวมภาษีและดอกเบี้ยด้วย ทั้งสองรายการนี้ขึ้นอยู่กับโครงสร้างทางการเงินของบริษัทและการบริหารภาษี ฉะนั้นจึงไม่ค่อยเกี่ยวกับพื้นฐานของธุรกิจที่เปลี่ยนไปเท่าไร ทำให้เมื่อนำมารวมแล้ว อาจให้ภาพที่บิดเบื่อนเกี่ยวกับพื้นฐานของบริษัทได้ครับ วัดกันแฟร์ๆ เฉพาะรายการที่เกี่ยวกับ operation ไปเลยแมนกว่าครับ

    อีกเรื่องที่ต้องระวังคือ เราไม่สามารถสรุปได้ว่าธุรกิจไหนดีด้วยการดูว่า Margin สูงหรือต่ำ เพราะขึ้นอยู่กับ economic ของแต่ละธุรกิจด้วย อย่างธุรกิจค้าปลีกนั้นมี Net Margin แค่ 3% เท่านั้น แต่อาจเป็นธุรกิจที่ดีกว่าธุรกิจผลิตเครื่องสำอางค์ที่มี Net Margin 10% เพราะว่า Turnover มันสูงกว่ากันมาก ในการเปรียบเทียบ Margin ข้ามบริษัทนั้น เราเปรียบเทียบได้แค่กับบริษัทอื่นที่ทำธุรกิจที่เหมือนกันเปี๊ยบ หาก Margin สูงกว่าก็แสดงว่า บริษัทมีความสามารถในการแข่งขันมากกว่าคู่แข่ง แต่ปกติแล้ว แม้แต่ธุรกิจแบบเดียวกัน ก็ยังไม่เหมือนกันเปี๊ยบเลย อย่างเช่น บริษัทบ้านบางบริษัทเน้นทำบ้านหรู บางบริษัทเน้นทำบ้านตลาดล่าง การที่บริษัทเน้นทำบ้านหรูมี Margin สูงกว่าอาจไม่ได้แปลว่าดีกว่าเสมอไป เพราะเป็นเรื่องปกติอยู่แล้วที่บ้านหรูควรจะมีมาร์จิ้นสูงกว่าบ้านตลาดล่าง การเปรียบเทียบ Margin ข้ามบริษัทจึงเป็นสิ่งที่ควรระวัง แค่เปรียบเทียบกับตัวเองในอดีตน่าจะดีกว่า

    ตอนที่ 3: งบดุล

    งบดุลคือบัญชีแสดง “ฐานะทางการเงิน” ของบริษัท กล่าวคือ สมมติว่าหยุดกิจกรรมทั้งหมดเอาไว้ชั่วคราว ณ วันปิดบัญชี บริษัทเป็นเจ้าของสินทรัพย์อะไรบ้าง มีหนี้สินอยู่เท่าไร ส่วนต่างระหว่างสินทรัพย์กับหนี้สินทั้งหมดของบริษัทนั้นเรียกว่า ส่วนของเจ้าของ ซึ่งหมายถึงส่วนของสินทรัพย์ที่ผู้ถือหุ้นเป็นเจ้าของจริงๆ ถ้าหากหักหนี้ออกหมดแล้ว ตามสมการ สินทรัพย์ = หนี้สิน + ส่วนของเจ้าของ

    ในการตรวจสอบงบดุลตามปกติ ผมมักจะเริ่มต้นด้วยการตรวจดูลูกหนี้การค้าก่อน ลูกหนี้การค้าควรเพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนในสัดส่วนที่น้อยกว่าหรือเท่ากับรายได้ที่โตขึ้น เพราะถ้าเพิ่มขึ้นมากกว่า อาจเป็นสัญญาณที่แสดงว่า บริษัทเร่งยอดขายด้วยการปล่อยเครดิตให้แก่ลูกค้ามากขึ้นเพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าอยากซื้อ ซึ่งเป็นการเร่งยอดขายในระยะสั้น ที่อาจนำมาซึ่งปัญหาหนี้เสียในระยะยาวได้ ถ้าหากเห็นว่าไม่ปกติให้เปิดไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมในหมายเหตุประกอบงบการเงินเพื่อดูว่าจำนวนลูกหนี้การค้าแบ่งแยกตามระยะเวลาค้างจ่ายทอดยาวออกไปมากขึ้นหรือไม่ มีลูกหนี้การค้าที่สงสัยว่าจะเก็บเงินไม่ได้มากน้อยแค่ไหน ถ้ามี บริษัทได้มี่การตั้งสำรองไว้แล้วเพียงพอหรือไม่ ลูกหนี้การค้าเป็นรายการที่สำคัญมากในธุรกิจประเภทซื้อมาขายไป บ่อยครั้งที่บริษัทเหล่านี้ทำยอดขายให้ดูดีด้วยการผ่อนคลายเรื่องเครดิต แต่สุดท้ายแล้วรายได้ที่เพิ่มขึ้นนั้นตามเก็บเงินไม่ได้ กลายเป็นหนี้เสีย

    ถัดจากลูกหนี้การค้าก็คือสินค้าคงคลังที่ควรเพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีที่แล้วในสัดส่วนที่น้อยกว่าหรือเท่ากับต้นทุนขาย (การค้าใหญ่ขึ้นก็ต้องสต๊อกสินค้ามากขึ้นได้แต่ควรจะไม่มากกว่า)

    การทำบัญชีสินค้าคงคลังนั้น หลักบัญชียอมให้บริษัทเลือกวิธีลงบัญชีได้หลายแบบ (LIFO, LIFO, average cost) เพื่อให้สะท้อนความเป็นจริงได้มากที่สุด แต่ในทางตรงกันข้ามก็เป็นช่องโหว่ที่บริษัทอาจใช้เพื่อบริหารงบให้ดูดีได้ด้วย ถ้าหากเป็นธุรกิจที่ขายสินค้าที่ราคาเปลี่ยนแปลงเร็ว เช่น สินค้าไอที หรือราคาเปลี่ยนแปลงช้า แต่สินค้ามักสต็อกไว้นานกว่าจะขายออกไปจนทำให้ราคาทุนต่างกับราคาปัจจุบันมากๆ อย่างเช่น ที่ดิน วิธีตัดสินค้าคงคลังเวลาเกิดยอดขายที่แตกต่างกันนั้นจะทำให้ต้นทุนขายแตกต่างกันได้อย่างมาก ยิ่งถ้ามีการปรับเปลี่ยนวิธีระหว่างงวด หรือมี LIFO Liquation ตัวเลขต้นทุนขายในงวดนั้นอาจสื่ออะไรไม่ได้เลย ตัวเลขกำไรของธุรกิจที่ขายสินค้าที่มีราคาต้นทุนเปลี่ยนแปลงได้บ่อยจึงใช้วัดอะไรได้น้อยเหมื่อนกัน การเปรียบเทียบผลงานระหว่างคู่แข่งยิ่งต้องระวังเข้าไปใหญ่ เพราะไม่รู้ว่าวิธีการตัดจ่ายสินค้าคงคลังของสองบริษัทต่างกันมากแค่ไหน

    สินทรัพย์ไม่หมุนเวียนของบริษัทที่สำคัญได้แก่ เครื่องจักร อาคารและที่ดิน สินทรัพย์เหล่านี้ส่วนใหญ่จะลงบัญชีที่ราคาทุนและตัดจ่ายค่าเสื่อมไปเรื่อยๆ ระยะเวลา (ถ้ามี) ซึ่งอาจไม่ได้สื่อความหมายอะไรมากนัก เพราะมูลค่าตลาดที่แท้จริงของสินทรัพย์เหล่านี้มักต่างกับมูลค่าทางบัญชีมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นสินทรัพย์ที่ซื้อมานานแล้ว โดยมากแล้วผมไม่ได้สนใจรายการเหล่านี้มากนักครับ

    ลองตรวจดูว่าบริษัทมีสินทรัพย์อื่นๆ อะไรบ้าง กิจการที่ดีไม่ควรจะมีสินทรัพย์อื่นๆ มากนักโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากไม่ได้แจงไว้ด้วยว่าสินทรัพย์เหล่านั้นคืออะไร เพราะสินทรัพย์อื่นๆ คือบรรทัดที่บริษัทสามารถซุก non-productive assets ทั้งหลายเอาไว้ รวมทั้งพวกรายการสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับบริษัท เช่น เงินกู้กรรมการบริษัท/ผู้ถือหุ้นใหญ่บางคน รายการทำนองนี้ไม่ควรจะมีเลยเพราะอาจบ่งชี้ถึงความไม่โปร่งใส ธรรมภิบาลที่ไม่ดี และการมี conflict of interest ของบริษัทมหาชน อย่างไรก็ตาม ถ้าหากรายการเหล่านี้มีมูลค่าน้อยกว่า 5% ของสินทรัพย์ทั้งหมด ก็พอจะยอมรับได้ แต่ถ้ามากกว่านั้นก็อาจเป็นเรื่องที่เราต้องกังวล

    อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญเวลาดูงบดุลก็คือการตรวจสอบความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัท เวลามองเรื่องหนี้นั้นเรามักสนใจแค่ว่าบริษัทมีหนี้มากหนี้น้อยเมื่อเทียบกับทุน แต่ที่จริงแล้วเรื่องที่สำคัญกว่านั้นมากคือ เรื่องสภาพคล่อง บริษัทจะมีหนี้มากหรือน้อยแต่ถ้าขาดสภาพคล่องที่จะจ่ายหนี้ในระยะอันใกล้ก็น่ากลัวเท่ากัน ลองดูว่าบริษัทมีเงินสดมากเท่าไรเมื่อเทียบกับดอกเบี้ยที่จ่ายอยู่ในแต่ละปีรวมทั้งเงินต้นส่วนที่มีกำหนดจะต้องชำระคืนภายในไม่เกินหนึ่งปีข้างหน้า ซึ่งบริษัทจะต้องแยกไว้ให้เห็นในงบดุล ถ้าหากบริษั่ทมีเงินสดน้อยเมื่อเทียบกับภาระหนี้ในระยะสั้น บริษัทอาจหวังใช้ลูกหนี้การค้าที่กำลังจะถูกเปลี่ยนเป็นเงินในอนาคตในการชำระหนี้ก็ได้ (หมุนเงินเอา) ลองเปรียบเทียบสัดส่วนระหว่างภาระหนี้ในระยะสั้นกับสินทรัพย์หมุนเวียนเหล่านี้ดูก็แล้วกัน เรื่องพวกนี้เอาไว้ผมจะพูดถึงอีกทีตอนที่พูดถึงเรื่อง ratio analysis ก็แล้วกันครับ

    สุดท้ายควรเช็คดูในหมายเหตุประกอบงบการเงินว่าบริษัทมีหนี้สินที่อยู่นอกงบดุลอื่นๆ ด้วยหรือไม่ ที่สำคัญได้แก่ ความเสี่ยงที่จะโดนฟ้องร้องในอนาคต สัญญาที่มีภาระผูกผันทางการเงินต่างๆ และพวก lease obligation ทั้งหลาย สิ่งเหล่านี้ที่จริงแล้วถือเป็นส่วนหนึ่งของหนี้สินของบริษัทด้วย แต่ไม่ได้รวมไว้ในงบดุลตามหลักบัญชี ซึ่งเราก็ไม่ควรจะมองข้าม อีกเรื่องหนึ่งที่ผมชอบตรวจดูในหมายเหตุประกอบงบการเงินด้วยคือ บริษัทยังมีวงเงินเหลืออยู่กับสถาบันการเงินอีกเท่าไรที่ยังไม่ได้กู้จริง ตรงนี้ถือว่าเป็น buffer ที่สำคัญอย่างหนึ่งของธุรกิจ บริษัทที่ทำธุรกิจด้วยกู้จนเต็มวงเงินตลอดเวลาย่อมแสดงถือวัฒนธรรมการบริหารงานที่ค่อนข้าง aggressive เกินไป เวลาเกิด market shock มักกระทบรุนแรง อีกทั้งเวลาเจอโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจก็อาจไม่สามารถ take opportunity ได้ทันท่วงที เพราะไม่มีสภาพคล่องส่วนเกินที่จะนำมาใช้ลงทุนได้ทันทีครับ

    ตอนที่ 4: งบกระแสเงินสด

    งบกระแสเงินสดเป็นบัญชีที่แสดงการไหลเข้าออกของเงินสดที่เกิดขึ้นสะสมในกิจการระหว่างรอบบัญชีนั้น ในทางบัญชีเราแบ่งกระแสเงินสดออกเป็นสามจำพวกคือ กระแสเงินสดที่เกี่ยวกับการดำเนินงาน กระแสเงินสดที่เกี่ยวกับการลงทุน และกระแสเงินสดด้านการเงิน โดยที่เมื่อนำกระแสเงินสดทั้งสามจำพวกมารวมกันจะต้องเท่ากับเงินสดที่เปลี่ยนแปลงไปในรอบบัญชีนั้นพอดี เพราะกระแสเงินสดมีแค่สามอย่าง ถ้านำมาบวกกันก็ต้องเท่ากับเงินสดที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงในบริษัทระหว่างงวดนั้นนั่นเอง

    ในงบกระแสเงินสด จะแสดงกระแสเงินสดทั้งสามประเภทให้ดูทีละประเภท ถ้าลองนำกระแสเงินสดทั้งสามประเภทมาบวกกันจะพบว่าต้องเท่ากับผลต่างระหว่างเงินสดตอนปลายงวดกับต้นงวดที่โชว์อยู่ในงบดุลของบริษัทนั้นพอดีด้วย

    ในหมวดกระแสเงินสดเกี่ยวกับการดำเนินงานนั้นจะดูแล้วงงๆ นิดหน่อย เพราะปกติแล้วการทำบัญชีเพื่อโชว์กระแสเงินสดรับหรือจ่ายของกิจกรรมที่เกี่ยวกับการดำเนินงานให้ดูเป็นอย่างๆ (เช่น เงินสดรับจ่ายจากลูกค้า เงินสดรับจ่ายจากซัพพลายเออร์) นั้นค่อนข้างจะยุ่งยาก หลักบัญชีจึงยอมให้บริษัทแสดงกระแสเงินสดเกี่ยวกับการดำเนินงานทางอ้อม (INDIRECT METHOD) โดยเริ่มต้นจากกำไรสุทธิ แล้ว reconcile กลับด้วยรายการที่ไม่เกี่ยวกับเงินสดต่างๆ จนกระทั้งกลายเป็นกระแสเงินสดเกี่ยวกับดำเนินงาน

    คนที่ไม่ใช่นักบัญชีเวลาอ่านรายการในกระแสเงินสดเกี่ยวกับการดำเนินงานแล้วพยายามจะนึกภาพตามว่าจริงๆ แล้วแต่ละบรรทัดมันเกิดขึ้นอย่างไรเลยมักจะงง เพราะจริงๆ แล้ว รายการพวกนี้เป็นเพียงแค่ item ที่มา reconcile ทางบัญชีให้กำไรสุทธิถอยกลับมาเป็นกระแสเงินสดเท่านั้น สรุปก็คือเห็นแล้วก็ไม่ต้องไปคิดอะไรมาก เหลือบไปดูบรรทัดสุดท้ายที่เขียนว่า เงินสดสุทธิจากกิจกรรมดำเนินงาน เลยดีกว่า ตัวนี้เป็นเสมือนตัวเลขที่บอกว่า ธุรกิจนี้ผลิตเงินสดไปได้เท่าไรตลอดรอบบัญชีนั้น ซึ่งควรจะเป็นบวก (ถ้าเป็นลบแสดงว่ายิ่งขยันยิ่งขาดทุน) และจะให้ดีควรมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงจากงวดที่แล้วไปในทิศทางเดียวกันกับกำไรสุทธิในงบกำไรขาดทุนของบริษัทด้วย ถ้าหากกำไรวิ่งไปทาง กระแสเงินสดวิ่งไปอีกทาง อาจเป็นไปได้ว่าบริษัทอาจกำลังสร้างภาพอะไรบางอย่างอยู่รึเปล่า

    บางบริษัทชอบ capitalize ค่าใช้จ่ายต่างๆ เอาไว้ในงบดุลแทนที่จะตัดจ่ายออกมาเพื่อทำให้กำไรที่โชว์ออกมาดูสูง (ค่าใช้จ่ายน้อย) เช่น พวกค่าสิทธิ์ต่างๆ ค่าพัฒนาซอฟต์แวร์ ค่าซื้อกิจการ หรือแม้แต่ค่าโฆษณา บริษัทชอบอ้างว่าค่าใช้จ่ายเหล่านี้เป็นสินทรัพย์ไม่มีตัวตนเหล่านี้ที่มี future benefit เลยขอตั้งเป็นสินทรัพย์เอาไว้ก่อนแล้วค่อยทยอยตัดจ่ายออกมาทีหลัง เพื่อให้กำไรในระยะสั้นดูดี พอนานๆ ไปก็ค่อยตัดด้อยค่าเป็นรายการใหญ่ๆ ออกมา แล้วบอกว่านักลงทุนไม่ต้องไปสนใจ เพราะเป็นรายการพิเศษเกิดขึ้นครั้งเดียว แต่ทำเช่นนี้อยู่เนื่องๆ ทำให้กำไรในยามปกติดูสูงกว่าที่ควรจะเป็น ถ้าหากเราดูแต่งบกำไรขาดทุนอย่างเดียว ไม่ตรวจกระแสเงินสดด้วยว่าไปในทิศทางเดียวกันหรือเปล่าก็จะถูกบริษัทตบตาด้วยวิธีการแบบนี้ได้

    กระแสเงินสดกลุ่มถัดมาคือกระแสเงินสดจากกิจกรรมการลงทุน อันนี้หมายถึงบริษัทได้จ่ายเงินออกไปเพื่อสร้างอนาคตอะไรบ้างระหว่างงวด เช่น ลงทุนซื้อที่ดิน เครื่องจักร อาคาร หรือกิจการต่างๆ กระแสเงินสดในกลุ่มนี้เราแยกออกมาจากกระแสเงินสดเกี่ยวกับการดำเนินงาน เพราะเป็นรายการที่จ่ายไปเพื่ออนาคต รายได้ยังไม่ได้เข้ามาจริงในงวดปัจจุบัน ถ้านำมารวมกันจะทำให้ดูเหมือนธุรกิจมีรายจ่ายสูงเกินจริง เพราะที่จริงแล้วพวกนี้เป็นรายจ่ายเพื่อสร้างอนาคต โดยปกติแล้วเงินสดสุทธิในกิจกรรมการลงทุนมักเป็นเลขติดลบ เพราะเป็นการจ่ายเงินออกไปเพื่อลงทุนซื้อสิ่งของต่างๆ

    กลุ่มสุดท้ายในงบกระแสเงินสดคือกระแสเงินสดจากกิจกรรมจัดหาเงิน ได้แก่ รายรับรายจ่ายทั้งหลายที่เกี่ยวกับเจ้าหนี้และผู้ถือหุ้นของบริษัท เช่น เงินกู้รับ เงินจ่ายคืนหนี้ เงินปันผล เงินเพิ่มทุนรับ เป็นต้น รายการเหล่านี้ถูกแยกออกมาอีกหมวดหนึ่งต่างหากก็เพราะไม่ได้เกิดจากการทำธุรกิจ บางบริษัทอาจมีกระแสเงินสดดีเยี่ยม เพราะว่ากู้แหลก หรือเจ้าของรวยใส่เงินอุดตัวแดงเข้ามาเรื่อยๆ แต่ที่จริงแล้วตัวธุรกิจเองขาดทุนย่อยยับไม่ทำเงิน

    โดยมากแล้วเวลาดูงบกระแสเงินสดผมก็เพียงแต่ดูกระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงานว่าเป็นบวกและไปในทิศทางเดียวกันกับกำไรสุทธิในวบกำไรขาดทุนหรือไม่ บางคนบอกว่า กระแสเงินสดดำเนินงานบวกกระแสเงินสดลงทุนจะต้องเป็นบวกด้วย แต่สำหรับผมคิดว่าไม่จำเป็น เพราะถ้าหากธุรกิจมีโอกาสในการเติบโตสูง บริษัทอาจลงทุนมากกว่ากระแสเงินสดที่ผลิตได้เอง ทำให้กระแสเงินสดติดลบ (ต้องอาศัยกระแสเงินสดจากกิจกรรมจัดหาเงินช่วย) แต่ไม่น่าห่วง เพราะเป็นการลงทุนเพิ่มการเติบโตในอนาคต (รายได้ของบริษัทควรเติบโตสูงด้วยจึงจะน่าเชื่อถือ) เว้นแต่ว่า เราไม่เชื่อว่าธุรกิจนี้จะเติบโตได้อีกและควรที่จะจ่ายเงินสดออกมาตอบแทนผู้ถือหุ้น (ปันผล) มากกว่าที่จะนำเงินกลับไปลงทุนเพิ่มในธุรกิจอีก

    ตัวเลขอีกตัวหนึ่งที่มีประโยชน์กับเราในงบกระแสเงินสดคือ “ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจ่าย” เพราะเป็นตัวเลขที่ทำให้เรารู้ว่าในรอบบัญชีนั้นบริษัทได้ตัดจ่ายค่าเสื่อมไปเป็นค่าใช้จ่ายเท่าไร ส่วนใหญ่แล้วตัวเลขนี้มักอยู่ในบรรทัดต่อจากกำไรสุทธิในกลุ่มกระแสเงินสดดำเนินงาน ถ้าเราเอา EBIT ในงบกำไรขาดทุนมาบวกกลับด้วยตัวเลขนี้จะได้เป็นสิ่งที่เรียกว่า EBITDA ซึ่งนักวิเคราะห์นิยมนำมาใช้เป็นตัวแทนของ “กำไรที่เป็นเงินสด” ของบริษัท บางคนนิยมมอง EBITDA มากกว่า EBIT เพราะค่าเสื่อมเป็นอะไรที่เกี่ยวกับนโยบายทางบัญชีมากอาจเป็นช่องโหว่ของการตบตานักลงทุนได้ ทำให้ได้ภาพที่ไม่ชัดเจนเกี่ยวกับผลประกอบการในงวดปัจจุบัน การเอาค่าเสื่อมออกไปแล้วดูเฉพาะ EBITDA แทนอาจได้ภาพที่ดูสะอาดกว่า บางคนเรียก EBITDA ว่า Earnings before I tricked dumb analysts (แต่จริงๆ EBITDA ก็มีข้อเสียในแง่อื่นด้วย ดูประกอบไปทั้งสองอย่างนั้นแหละชัวร์กว่า)

    นี่อาจเป็นอีกเหตุผลหนึ่งด้วยที่ทำให้ผมสนใจตัวเลขรายได้ในงบการเงินมากกว่าตัวเลขอื่นเพราะมันเป็นตัวเลขในบรรทัดเริ่มต้น (topline) ที่ยังไม่ได้ผ่านการถูกบิดเบือนโดยนโยบายบัญชีมากนัก ยิ่งตัวเลขที่อยู่ต่ำลงมาในงบการเงินเท่าไรมันก็ยิ่งถูกบิดเบือนได้ง่ายด้วยนโยบายทางบัญชีต่างๆ กำไรสุทธิที่เราสนใจกันมากที่สุดนั้นอยู่ในบรรทัดสุดท้าย (bottom line) ของงบการเงินเลย จึงไม่รู้ว่าตลอดทางที่ผ่านมาในแต่ละบรรทัดมันถูกบิดเบือนโดยตัวเลขในบรรทัดบนๆ ไปมากขนาดไหนแล้ว

    ตอนที่ 5: Ratio Analysis

    วิธีตรวจงบการเงินที่ง่ายที่สุดคือ การวัดอัตราส่วนทางการเงินต่างๆ หรือที่เรียกว่า Ratio Analysis อัตราส่วนทางการเงินนั้นมีอยู่ด้วยกันมากมายหลายตัวมาก เราอาจตรวจดูอัตราส่วนหลายๆ ตัวพร้อมกันเพื่อเป็นการตรวจสุขภาพโดยทั่วไปของบริษัทก็ได้ ต่อไปนี้เป็นอัตราส่วนสำคัญ 6 ตัว ที่ผมแนะนำให้ลองตรวจสอบดูก็จะได้ภาพของธุรกิจที่ครอบคลุมพอสมควร

    1. Quick Ratio = (เงินสดและเทียบเท่า + ลูกหนี้การค้า + ตราสารการเงินระยะสั้น)/หนี้สินหมุนเวียน

    Quick Ratio ใช้เช็ค “สภาพคล่อง” ของบริษัท โดยลองสมมติว่าถ้าเจ้าหนี้ระยะสั้น (หนี้สินหมุนเวียน) ทั้งหมดมาทวงหนี้พร้อมกัน บริษัทจะยังสามารถหมุนเงินสด (จากสินทรัพย์หมุนเวียนที่หมุนได้เร็ว) มาใช้คืนได้หรือไม่ โดยสามารถสำนึก Quick Ratio ก็ควรมากกว่า 1.0 และยิ่งมากก็ยิ่งดี ที่จริงแล้วมีอัตราส่วนอีกตัวที่คล้ายกันชื่อ Current Ratio ซึ่งนับรวมสินทรัพย์หมุนเวียนทั้งหมดของบริษัทว่าเป็นสินทรัพย์ที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้เร็ว แต่ผมไม่ชอบ เพราะไม่รู้ว่าสินทรัพย์หมุนเวียนอื่นๆ คืออะไรบ้าง และเวลาบริษัทขาดสภาพคล่องส่วนใหญ่แล้วสินค้าคงคลังมักจะหมุนไม่ค่อยออก เลยชอบดู Quick Ratio มากกว่าครับ
    2. Return on Assets (ROA) = EBIT *(1-Taxrate)/สินทรัพย์เฉลี่ย

    ROA ใช้วัดผลตอบแทนของธุรกิจ เพราะวัดกำไร (EBIT)ที่ทำได้เทียบกับเงินทุนที่จมอยู่ในสินทรัพย์ทั้งหลายของกิจการ (ต้องเฉลี่ยต้นปีกับท้ายปีเอา เพราะว่าไม่เท่ากัน) โปรดสังเกตว่าผลตอบแทนของธุรกิจที่แท้จริงนั้นต้องวัดเทียบกับสินทรัพย์มิใช่รายได้ เพราะสุดท้ายแล้วต้นทุนจริงๆ ของผู้ถือหุ้นคือเงินทุนที่จมอยู่ในรูปของสินทรัพย์ของบริษัทแทนที่จะเอาเงินนั้นไปหาผลตอบแทนอย่างอื่น บางคนใช้ Net Income แทนกำไร แต่ผมคิดว่าควรใช้ EBIT มากกว่า เพราะสินทรัพย์เป็นของเจ้าหนี้และผู้ถือหุ้นรวมกัน แต่ Net Income เป็นผลตอบแทนของผู้ถือหุ้นเท่านั้น เพราะหักดอกเบี้ยออกไปแล้ว ส่วนเหตุที่ต้องคูณด้วย 1-TaxRate เป็นเพราะ EBIT นั้นยังไม่ได้หักภาษีซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายของบริษัทออก มีอัตราส่วนอีกตัวหนึ่งที่คล้ายกันคือ ROE ซึ่งวัดผลตอบแทนของผู้ถือหุ้นอย่างเดียว แต่ผมเห็นว่า ROA นั้นดีกว่า ROE เพราะธุรกิจอย่างเดียวกัน อาจมี ROE ต่างกันได้ด้วยการกู้เงิน ถ้าอยากวัดศักยภาพของธุรกิจจริงๆ โดยไม่เกี่ยวกับการกู้เงิน ต้องดูกันที่ ROA ธุรกิจทั่วไปควรมี ROA อย่างน้อย 10% เฉลี่ยในระยะยาว ยกเว้นพวกสถาบันการเงินซึ่งไม่มีทางทำ ROA สูงเท่ากับ Real Sector ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่ดี

    3. Debt to equity Ratio = หนี้สิน/ส่วนของทุน

    D/E ratio คือ อัตราส่วนมาตรฐานที่ใช้ตรวจดู Leverage ของบริษัท หมายความว่า บริษัทใช้หนี้มากขนาดไหนในการเร่งผลตอบแทน เพราะบริษัทสองบริษัทที่ทำผลตอบแทนทางธุรกิจได้เท่ากัน บริษัทที่มีหนี้มากกว่าจะทำผลตอบแทนกลับสู่ผู้ถือหุ้นได้สูงกว่า (ROE มากกว่า) เนื่องจากใช้เงินทุนของผู้ถือหุ้นน้อย แล้วอาศัยการกู้เงินมาทุนแทน การที่บริษัทมี D/E ratio ที่สูงเกินไปจึงแสดงถึงความเสี่ยงที่ซ่อนอยู่ในผลตอบแทนที่มากกว่า เพราะถ้าธุรกิจสะดุด บริษัทที่มีหนี้มากกว่าย่อมเดือดร้อนมากกว่า อย่างไรก็ตาม การที่บริษัทไม่มีหนี้เลยไม่ได้แปลว่าเป็นสิ่งที่ดีเสมอไป บริษัทที่มีธุรกิจมั่นคงในระดับหนึ่งแล้ว และมีสินทรัพย์ถาวรที่สามารถใช้ค้ำประกันหนี้ได้ การมีหนี้น้อยเกินไปเท่ากับเป็นการละทิ้งโอกาสที่จะประหยัดภาษี เพราะหนี้เป็น Tax-shield อย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นการมีหนี้บ้างไม่ใช่เรื่องเสียหาย อาจเป็นเรื่องที่ควรกระทำเสียด้วยซ้ำ แต่ที่เราต้องระวังคือการมีหนี้มากจนเกินไปจนทำให้ธุรกิจเกิดความเสี่ยงมากกว่าที่จะช่วยทำให้ประหยัดภาษี สำหรับธุรกิจทั่วไปควรมี D/E ไม่เกิน 1.0 ถ้าเป็นธุรกิจซื้อมาขายไปอาจมี D/E ได้ถึง 3.0 ยกเว้นพวกสถาบันการเงินที่จะต้องมี D/E ที่สูงกว่านั้นมากครับ

    4. Interest Coverage Ratio = EBIT/ดอกเบี้ยจ่าย

    Interest Coverage Ratio ใช้ประมาณความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งแหล่งเงินภายนอกบริษัท เพราะถ้าบริษัทมีภาระจ่ายดอกเบี้ยต่อปีน้อยกว่ากำไรที่ได้จากธุรกิจมากๆ บริษัทก็สามารถรับผิดชอบภาระดอกเบี้ยได้ด้วยผลกำไรจากธุรกิจเอง นับว่าเป็นความมั่นคงอย่างหนึ่งของธุรกิจในแง่ของสภาพคล่อง บริษัทที่มีค่านี้น้อยกว่า 2.0 แสดงว่าผลตอบแทนส่วนใหญ่ของธุรกิจตกอยู่ในมือเจ้าหนี้ แทนที่จะเป็นของผู้ถือหุ้น ซึ่งอาจแสดงถึงการกู้เงินที่มากเกินไปด้วย

    5. Asset Turnover = รายได้/สินทรัพย์

    Asset Turnover ใช้วัด “ประสิทธิภาพ” ของธุรกิจ เพราะวัดว่าภายใต้สินทรัพย์ที่มีอยู่จำนวนหนึ่ง บริษัทสามารถสร้างรายได้ได้มากแค่ไหน ยิ่งสร้างรายได้ได้มากแสดงว่าสินทรัพย์ของบริษัทถูกนำไปใช้อย่างคุ้มค่า เพราะนำไปหมุนให้เปลี่ยนเป็นเงินได้เร็ว บางบริษัทขายของกำไรน้อยมาก แต่สินค้าหมุนเวียนเร็ว ก็สามารถสร้างผลตอบแทนทางธุรกิจที่สูงกว่าได้เหมือนกัน Asset Turnover จึงเป็นตัวเลขที่ไม่ควรมองข้าม ครั้งหนึ่งผมเคยเปรียบเทียบมาร์จิ้นของบริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกันแล้วเห็นว่าเหมือนๆ กันหมด แต่พอลองดู Asset Turnover ก็เห็นว่าแตกต่างกันมาก ทำให้ผมเกิดความสนใจบริษัทที่มี Asset Turnover สูงกว่าเพื่อน เพราะแสดงว่าจริงๆ แล้วบริษัทนี้ใช้สินทรัพย์ได้มีประสิทธิภาพมากกว่า แต่เวลาดูมาร์จิ้นแล้วไม่เห็นความแตกต่างเป็นเพราะลูกค้าของอุตสาหกรรมนี้ค่อนข้างมีการเปรียบเทียบราคาสูงมากทำให้ไม่มีบริษัทไหนสามารถเอากำไรเกินตลาดได้ แล้วในที่สุดก็ทำให้ผมได้ค้นพบหุ้นชั้นยอดในเวลาต่อมา ถ้าเราดูแต่มาร์จิ้นเราจะไม่พบความแตกต่างตรงนี้ครับ

    6. Inventory Turnover = ต้นทุนสินค้าขาย/สินค้าคงคลังเฉลี่ย

    อันนี้เหมือน Asset Turnover แต่วัดกันที่การหมุนสินค้าคงคลังอย่างเดียวเลย เป็นการเช็คว่าสินค้าของบริษัทหมุนเวียนดีหรือไม่ มี dead stock ที่อาจเสื่อมค่าในอนาคตได้เยอะหรือไม่ เป็นตัวเลขที่สำคัญมากสำหรับธุรกิจที่ขายสินค้าที่แตกต่าง เพราะแม้ว่าสินค้าที่แตกต่างมักจะทำมาร์จิ้นได้สูง แต่ถ้ามีส่วนที่ขายไม่ออกเยอะมาก (ซึ่งปกติต้องมีส่วนหนึ่งอยู่แล้ว) ถึงเวลาต้องมาตัดขาดทุนทิ้ง ทำให้สรุปแล้วอาจทำกำไรได้น้อยหรือขาดทุนเลยก็ได้ ถ้าเอา 365 ตั้งหารด้วย Inventory Turnover จะได้อัตราส่วนใหม่ที่เรียกว่า Days Inventory Turnover มีหน่วยเป็น วัน ซึ่งหมายถึงระยะเวลาโดยประมาณที่สินค้าของบริษัทจะค้างอยู่ในคลังก่อนที่จะทำยอดขายให้บริษัทได้ ถ้ายิ่งมีค่าน้อยก็แสดงว่าสินค้าซื้อง่ายขายคล่อง ขายได้แบบแทบไม่ต้องขนขึ้นบ้านเลย เป็นต้น

วันอาทิตย์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2557

รายการในงบกระแสเงินสดจากการดำเนินงานบอกนัยทางธุรกิจได้

บทความขอวง อ.สรรพงศ์ ลิมป์ธำรงกุล[1] เรื่อง เรียนรู้รายการในงบกระแสเงินสดจากการดำเนินงานบอกนัยทางธุรกิจได้ เขียนเรื่องการวิเคราะห์งบกระแสเงินสดจากการดำเนินงานในสวนของการปรับปรุงรายการจากงบกำไรขาดทุนด้วยรายได้และรายจ่ายที่ไม่ใช่เงินสดได้ลึกมาก เชิญอ่านโดยพลัน

ในการอ่านงบการเงินนั้นบางครั้งหากเราดูแต่งบกำไรขาดทุนอาจจะไม่ได้พบอะไรมากนักเพราะ งบกำไรขาดทุนจะให้ภาพรวมๆมากกว่า ซึ่งบางครั้งเราอาจไม่ทราบบางเรื่องราวในธุรกิจ การดูแต่ตัวเลขกำไรนั้นอาจทำให้เราประเมินทิศทางธุรกิจผิดก็ได้ ขอสรุปการบอกความหมายจากตัวอย่างหัวข้อในงบกระแสเงินสดบางรายการ (ไม่ได้อ้างอิงตัวเลขเพื่อความสะดวกในการพิมพ์ครับ)

ปรับปรุงกำไร (ขาดทุน) ก่อนภาษีเงินได้เป็นเงินสดรับ (จ่าย)



  • ค่าเสื่อมราคาและตัดจำหน่าย –รายการนี้จะเป็นยอดรวมของค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายทั้งหมด ทั้งส่วนที่รวมในต้นทุนการผลิต (บางส่วนกลายเป็นค่าใช่จ่ายในต้นทุนขาย) และที่เป็นค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร ในกิจการที่ลงทุนใน PPE สูงมากๆ รายการบวกกลับในงบกระแสเงินสดจะสูง ทำให้กระแสเงินสดจากการดำเนินงานสูงแต่กำไรสุทธิอาจจะต่ำ บางคนอาจถามว่ามากหรือน้อยดี ขึ้นกับลักษณะธุรกิจครับ อย่างที่ได้กล่าวถึงเรื่องค่าเสื่อมราคาในบทความ ความรู้ทางการเงิน การลงทุน และการบัญชี (20/12/56) การตัดค่าเสื่อมราคาวัตถุประสงค์จริงๆในทางทฤษฎี เพื่อกันเงินสดออกจากกำไรที่เกิดขึ้นเพื่อจัดหาเงินไป reinvest สินทรัพย์ใหม่ให้สามารถผลิต ขายเพื่อคงกำไรไม่น้อยกว่าระดับเดิม ทางบัญชีเรียกว่า capital maintenance ถ้ามองแบบหยาบๆว่า อายุและวิธีสมเหตุผลดีแล้ว

    การมีจำนวนมากๆ ก็แสดงว่าธุรกิจต้องการเงินลงทุนสูงในอนาคต ดังนั้นระดับเงินสดที่มากจึงไม่ใช่เรื่องดีมากมายอะไร แต่เป็นเรื่องปกติที่ควรต้องมี ไม่เช่นนั้นในอนาคต อาจต้องเพิ่มทุนมากหรือก่อหนี้มากในการหาเงินเพื่อลงทุนใน PPE ซึ่งต้องดูใน CFI (กระเงินสดในกิจกรรมการลงทุน) ว่าแต่ละปี แต่ละงวด มีการลงทุนต่อเนื่องหรือไม่ ถ้าลงทุนต่อเนื่องอาจจะไม่ต้องใช้เงินคราวละมากๆ (มีการ reinvest ตลอดเวลา)

    ส่วนบริษัทที่ตัดน้อย บวกกลับน้อย ควรเป็นบริษัทที่มี PPE ในสัดส่วนไม่มาก จึงถือว่าเหมาะสมถ้า กลับกันกับที่อธิบายมาทั้งหมด จะถือว่าไม่ดี แสดงว่ามีการทำ creative accounting สร้างกำไรโดยใช้การตัดค่าเสื่อมราคาสร้างกลลวงทางบัญชีได้
  • ดอกเบี้ยรับ – นำมาหักออกเพราะในทางบัญชีถือว่าดอกเบี้ยรับเป็นรายได้ของกิจกรรมการลงทุน ไม่ใช่การดำเนินงาน รายการนี้จะไปแสดงใหม่ในส่วนของกิจกรรมการลงทุน แต่ปรับยอดแสดงเป็นยอดเงินสดรับจากดอกเบี้ย ซึ่งแตกต่างจากยอดดอกเบี้ยรับทางบัญชี
  • ดอกเบี้ยจ่าย – นำมาบวกกลับเพื่อปรับยอดรายการที่บันทึกด้วยวิธีเกณฑ์สิทธิ์หรือเกณฑ์คงค้าง (accrual basis) ซึ่งรายการนี้จะหักใหม่ด้วยการจ่ายด้วยเงินสด ซึ่งอาจหักในกิจกรรมดำเนินงานหรือกิจกรรมจัดหาเงินก็ได้ ซึ่งตามมาตรฐานให้เลือปฏิบัติได้ ตรงนี้ก็เป็นช่องให้เกิดการเลือกปฏิบัติในการนำเสนอ มุมมองแยกเป็นสองมุมมองด้านนักบัญชีมองว่าค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยเป็นเรื่องการดำเนินงาน ส่วนนักการเงินมองว่าค่าใช้จ่ายดอกเบี่ยเป็นต้นทุนของกิจกรรมการจัดหาเงิน ในฐานะผู้ใช้งบ (นักลงทุน) ต้องระวังเมื่อนำมาเปรียบเทียบระหว่างบริษัทเพราะอาจมีการหักรายการดอกเบี่ยเงินสดไว้คนละที่
  • หนี้สงสัยจะสูญ – รายการนี้จะบวกกลับ บางครั้งบางบริษัทอาจแสดงแยกรายการในงบกำไรขาดทุน บางบริษัทอาจจะรวมในค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร จำนวนนี้บอกให้รู้ว่าระหว่างปีบริษัทตั้งสำรองค่าใช้จ่ายพอหรือไม่ เราตรวจสอบเบื้องต้นจากอัตราส่วน AR Turnover หากรอบหมุนเวียนเร็ว (มากกว่า 6 แสดงว่าเฉลี่ยเก็บเงินหรือให้ credit การค้าไม่เกิน 60 วัน) ก็ตั้งเพียงพอถ้ารอบน้อยแสดงว่าตั้งสำรองไว้น้อย ในภาวะเศรษฐกิจชลอตัว ยอดนี้ควรจะมากขึ้นได้ ในกิจการที่ขายเงินสด เช่นค้าปลีก หรือรับเงินสดอย่างโรงพยาบาล ไม่ควรมีสูงหากสูงแสดงว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นในธุรกิจ
  • ขาดทุนจากมูลค่าสินค้าลดลงรายการนี้จะแสดงบวกกลับ เช่นเดียวกับหนี้สงสัยจะสูญบางบริษัทอาจแสดงแยกรายการในงบกำไรขาดทุนหรืออาจจะรวมในค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารก็ได้ แต่ในทางหลักบัญชีที่ถูกต้องต้องรวมในต้นทุนขาย ที่กล่าวเช่นนี้เพราะบางบริบัทแสดงเป็นค่าใช้จ่ายอื่นแยกแสดงรายการจากต้นทุนขาย บอกอะไรหากแสดงไว้นอกต้นทุนขาย เพราะเมื่อหักค่าใช้จ่ายนี้ไว้นอกต้นทุนขายแสดงว่าเมื่อวิเคราะห์อัตราส่วนกำไรขั้นต้นจะสูงกว่าความจริงเพราะค่าใช้จ่ายนี้ไม่ถูกรวมอยู่ สมการต้นทุนขาย = สินค้าคงเหลือต้นงวด + (ซื้อ + ค่าใช้จ่ายการผลิตระหว่างงวด) – สินค้าคงเหลือปลายงวด เมื่อสินค้าคงเหลือประกอบด้วย วัตถุดิบ งานระหว่างทำ และสินค้าสำเร็จรูป การขาดทุนจากมูลค่าสินค้าลดลงทำให้สินค้าคงเหลือปลายงวดน้อยยลง นั่นคือต้นทุนขายสูงขึ้น การแสดงรายการนี้ไว้ผิดที่ก็แสดงว่าอาจกำลังพยายามบิดเบือนอัตากำไรขั้นต้น (Gross Margin) ดังนั้นถ้าเห็นรายการนี้ปรากฏขึ้น แล้วแนวโน้มอัตรากำไรขั้นต้นไม่ลดลง แสดงว่ามีแนวโน้มที่จะแสดงขาดทุนจากมูลค่าสินค้าลดลงที่อื่นที่ไม่ใช่ต้นทุนขาย (กำไรขาดทุนรวมไม่ผิดแต้การวิเคราห์อัรากำไรขั้นต้นผิดทำให้วิเคราะห์แนวโน้มธุรกิจผิดได้)
  • ขาดทุน(กำไร)จากการจำหน่ายสินทรัพย์ถาวรขาดทุนจะบวกกลับ ถ้ากำไรจะนำมาลบออก แสดงว่าในระหว่างงวดบริษัทมีการขายสินทรัย์ออก ถ้าจำนวนไม่มากก็เป็นการขายเศษซากสินทรัพย์เท่านั้นไม่มีสาระใดๆ แต่ถ้าจำนวนมากๆ (กำไร) แสดงว่าจะมีการสร้างรายการ one-time gain เพื่อแสดงกำไรรวมให้ดูสูง หากเราเอากำไรนี้ออก (โดยปรับอัตราภาษีออก เช่น กำไรจากการขายสินทรัพย์ 250 ลบ. เอากำไรนี้ออกจากกำไรสุทธิ ต้องลบด้วย 250*(1-t) = 250*(1-0.2) = 200)
  • ขาดทุนจากการตัดจำหน่ายสินทรัพย์ถาวร เป็นรายการบวกกลับ แต่บอกใหรู้ว่ามีสินทรัพย์ที่เลิกใช้งานเท่าไร และมีการเอารายการนี้ออดจากงบแสดงฐานะการเงิน ในภาวะปกติจะมีจำนวนน้อยเพราะสินทรัพย์ที่ตัดออกนี้มักจะตัดค่าเสื่อมจนหมดแล้ว (มักมีราคาซากน้อยมาก เช่น 1 บาท) แต่หากมีจำนวนมากแสดงว่ามีสินทรัพย์ที่เป็น non performing assets อยู่จำนวนหนึ่งซึ่งอาจหมายความว่าเกิดความล้าสมัยในเทคโนโลยีการผลิต หรืออาจเกิดเพราะกิจการมีการเปลี่ยนรูปแบบการผลิต หรือยกเลิกการผลิตในสายผลิตภัณฑ์นั้นและเครื่องจักรไม่สามารถนำไปใช้ในการผลิตได้อีก เราอาจต้องดูเชิงลึกถึงการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ กลยุท์การตลาด vision เป็นต้น
  • ขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์ – เป็นรายการบวกกลับ รายการด้อยค่าจะเกิดขึ้นเมื่อมูลค่าที่จะได้รับจากสินทรัพย์ (ราคาขายสุทธิหรือมูลค่าจากการใช้ที่หามาจากมูลค่ากระแสเงินสดรับสุทธิที่เกิดจากการใช้สินทรัพย์นั้นในการผลิตขายแล้วแต่ค่าใดสูงกว่า) เทียบกับราคาตามบัญชีสุทธิขณะนั้น หากมูลค่าที่จะได้รับจากสินทรัพย์ น้อยกว่าก็จะเกิดการด้อยค่าสินทรัพย์ การด้อยค่านี้บอกนัยได้หลายอย่างคือ
    • ในภาวะปกติ บ่งบอกว่าที่ผ่านมาบริษัทตัดค่าเสื่อมราคาน้อยเกินไป (อดีตแสดงกำไรสูงไป)
    • ในภาวะเศรษฐกิจขาลง บอกว่ารายได้บริษัท(จากการขาย) กำลังลดลงในระยะยาว และมูลค่าสินทรัพย์นั้นๆก็กำลังลดมูลค่าลงมาก
  • ขาดทุนจากการด้อยค่าเงินลงทุนในบริษัทย่อย/ร่วม –เป็นรายการบวกกลับเช่นกัน แต่บอกให้รู้ว่าในบริษัทที่กิจการเข้าไปถือหุ้นอยู่นั้น เริ่มหรือเป็นกิจการในช่วง sunset หรือที่เข้าไปลงทุนนั้นซื้อมาในราคาแพงเกินไปเมื่อเปรียบเทียบกับกำไร(หรือกระแสเงินสด Free cash flow) ธุรกิจลูกเริ่มไม่สดใส หากมูลค่าบริษัทถูกประเมินเพราะคาดว่าการซื้อธุรกิจทำให้เกิด synergy อาจต้องทบทวนใหม่


เอาพอสังเขปเท่านี้ก่อน จะเห็นว่ารายการในงบกระแสเงินสด หากอ่านเข้าใจจริงๆ บอกเรื่องราวในบริษัทให้ขยายความได้ไม่น้อย การอ่านงบการเงินนอกจากดูและอ่านงบแสดงฐานะการเงิน งบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จเป็นแล้ว การเข้าใจงบกระแสเงินสดจะช่วยส่องภาพธุรกิจได้ลึกยิ่งขึ้น

ที่มา
[1]https://www.facebook.com/sanpong.limthamrongkul/posts/10201760336788583

ค่าเสื่อมราคาวิธีเส้นตรงและวิธีจำนวนปีต่างกันอย่างไร

ค่าเสื่อมราคาวิธีเส้นตรงและวิธีจำนวนปีต่างกันอย่างไร บทความจากอาจารย์สรรพงษ์ [1]ครับ

มีคำถามเรื่องการคิดค่าเสื่อมราคาของโรบินสัน (ROBINS) มาดูนโยบายบัญชีครับ (จากหมายเหตุฯ ครับ)

ค่าเสื่อมราคา

ค่าเสื่อมราคาคำนวณจากมูลค่าเสื่อมสภาพของรายการอาคาร และอุปกรณ์ ซึ่งประกอบด้วยราคาทุนของสินทรัพย์หรือต้นทุนในการเปลี่ยนแทนอื่น หักด้วยมูลค่าคงเหลือของสินทรัพย์

ค่าเสื่อมราคาบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายในกำไรหรือขาดทุน ตามเกณฑ์อายุการใช้งานโดยประมาณของสินทรัพย์แต่ละรายการ อาคารและอุปกรณ์ที่ซื้อหรือได้มาก่อนปี 2544 คำนวณค่าเสื่อมราคาโดยวิธีเส้นตรง ส่วนอุปกรณ์ที่ซื้อหรือได้มาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2544 คำนวณค่าเสื่อมราคาโดยวิธีผลรวมจำนวนปี ประมาณการอายุการใช้งานของสินทรัพย์แสดงได้ดังนี้

ราคาทรัพย์สินของกลุ่มบริษัทก่อนหักค่าเสื่อมราคาสะสมของอาคารและอุปกรณ์ ซึ่งได้คิดค่าเสื่อมราคาเต็มจำนวนแล้ว แต่ยังคงใช้งานจนถึง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2555 มีจำนวน 3,183 ล้านบาท (2554: 2,686 ล้านบาท)

ราคาทรัพย์สินของบริษัทก่อนหักค่าเสื่อมราคาสะสมของอาคารและอุปกรณ์ ซึ่งได้คิดค่าเสื่อมราคาเต็มจำนวนแล้ว

แต่ยังคงใช้งานจนถึง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2555 มีจำนวน 2,174 ล้านบาท (2554: 1,807 ล้านบาท)

ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ระหว่างก่อสร้าง

ระหว่างปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2555 บริษัทได้ซื้อที่ดินโดยมีความตั้งใจที่จะสร้างห้างสรรพสินค้าแห่งใหม่บนที่ดินดังกล่าว บริษัทเริ่มก่อสร้างห้างสรรพสินค้าใหม่ ทั้งนี้ต้นทุนที่เกิดขึ้นจนถึงวันที่ในรายงาน มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 772 ล้านบาท (2554: 609 ล้านบาท)

หลักทางการบัญชี


  1. การคิดค่าเสื่อมราคา สินทรัพย์แต่ละชนิด หรือแม้แต่สินทรัพย์ประเภทเดียวกัน สามารถคิดค่าเสื่อมด้วยวิธีและอายุใช้งานที่แตกต่างได้ จากการเปิดเผยในหมายเหตุฯ ของบริษัท สินทรัพย์ที่ซื้อหรือได้มาก่อนปี 2544 คำนวณค่าเสื่อมราคาโดยวิธีเส้นตรง ส่วนอุปกรณ์ที่ซื้อหรือได้มาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2544 คำนวณค่าเสื่อมราคาโดยวิธีผลรวมจำนวนปี 
  2. จากข้อมุลในงบการเงิน ในหมายเหตุ เราไม่สามารถรู้ได้หรอกว่า อะไร ส่วนไหนได้มาเมื่อไร ปีไหน เพราะนั้นไม่ใช่สาระสำคัญ
  3. สิ่งสำคัญคือ มีผลกระทบต่องบการเงินอย่างไรมากกว่า
  4. คำนวณค่าเสื่อมราคาโดยวิธีผลรวมจำนวนปีต่างกับการคำนวณค่าเสื่อมราคาโดยวิธีเส้นตรงคือ วิธีเส้นตรงเมื่อประมาณอายุใช้งานแล้ว ก็ไปหารมูลค่าต้นทุนได้มา (หักราคาซาก) อัตราค่าเสื่อมราคาจะคงที่ทุกปี ส่วนวิธีผลรวมจำนวนปี หาโดยประมาณอายุใช้งานก่อน เช่น 5 ปี ให้เอาตัวเลขผลรวม 1+2+3+4+5 = 15 แล้วคิดอัตราค่าเสื่อมดังนี้ ปีที่ 1 ใช้ 5/15 ปีที่ 2 ใช้ 4/15 ปีที่ 3 ใช้ 3/15 ปีที่ 4 ใช้ 2/15 และปีที่ 5 ใช้ 1/15 หรือคิดเป็น 33.3%, 26.7%, 20%, 13.3% และ 6.7% รวมแล้วก็เท่ากับ 100% พอดี เท่ากับเส้นตรงที่ตัดปีละ 20% ห้าปีก็ 100% เท่ากัน เพียงแต่ข้อสังเกตคือ แบบผลรวมจำนวนปี จะหักค่าเสื่อมราคาสูงในช่วงปีแรกๆ และลดลงในปีหลังๆ ถืเป็นการคิดค่าเสื่อมแบบ Declining method แบบหนึ่ง
  5. ในหลักบัญชีมีแนวคิดทางบัญชีอย่างหนึ่งคือ matching revenue concept หรือการจับคู่รายรับรายและรายจ่าย แบบเส้นตรง เชื่อว่ารายได้จากการใช้งานสินทรัพย์ (ผลิตขายของ) เกิดขึ้นค่อนข้างสม่ำเสมอ (ใช้ประสิทธิภาพการผลิตได้เต็มที่ ค่าใช้จ่ายในการบำรังรักษาเครื่องจักร (maintenance) เพื่อรักษาให้ผลิตได้สม่ำเสมอต่อเนื่อง ดังนั้นค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นจากการทยอยตัดต้นทุนสินทรัพย์ที่ใช้งานก็ควรเกิดขึ้นสม่ำเสมอคงที่ ส่วนแบบผลรวมจำนวนปี มีแนวคิดว่าสินทรัพย์จะให้ประโยชน์ (สร้างรายได้) ได้สูงในช่วงแรกๆ และประสิทธิภาพเริ่มลดลง หรือในอีกแนวคิดหนึ่ง ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นพื่อพยายามคงประสิทธืภาพการผลิต เช่นค่าบำรุงรักษาจะเริ่มสูงขึ้นในปีท้ายๆ ดังนั้นการทยอยตัดต้นทุนจึงกลับกัน โดยตัดต้นทุนเครื่องจักรสูงในปีแรกๆ และ ลดลงในปีท้ายๆ เพื่อให้รายได้และค่าใช้จ่ายโดยรวมที่เกี่ยวข้องสอดคล้องกันมากที่สุด
  6. ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่า วิธีการคิดค่าเสื่อมราคาด้วยวิธีการแบบผลรวมจำนวนปีนั้น ในปีแรกๆ จะมีอัตราค่าใช้จ่ายสูงว่าอัตราที่เกณฑ์ทางภาษีกำหนด (5% สำหรับสิ่งปลูกสร้าง และ 20% สำหรับอุปกรณ์ เครื่องจักร เครื่องใช้สำนกงาน ฯลฯ) ผลคือเมื่อค่าใช้จ่ายทางบัญชีสูง สินทรัพย์ทางบัญชีน้อยกว่าสินทรัพย์ทางภาษี จะเกิดสินทรัพย์ภาษีเงินได้รอตัดในงบการเงิน 
  7. ในด้านการตกแต่งกำไรทางบัญชี ทำให้แนวโน้มเติบโตขึ้น หากวิเคราะห์ trend analysis พบว่าค่าขายเพิ่มขึ้นใน 3Q57 12.8% แต่ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่เพิ่มโดยรวม 14.3% (12%-21%) กำไรรวมเพิ่ม 11.1% เนื่องจากเป็นธุรกิจ trading ค่าเสื่อมราคาจึงถือเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหาร ซึ่งเพิ่ม 14.5% ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการขายเพิ่ม 21.4% การตัดค่าเสื่อมลดลงทำให้ค่าใช้จ่ายรวมที่แนวโน้มเกิดค่าใช้จ่ายในการขายสูงขึ้นจากภาวการณ์แข่งขันที่สูงขึ้น ลดแรงกดดันต่อกำไรสุทธิ


[1]https://www.facebook.com/sanpong.limthamrongkul/posts/10201876158364050?stream_ref=10

วันพุธที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2557

กลยุทธ์การจัดพอร์ตอย่างเซียน

บทความโดย CHARTCHAI MADMAN จาก thaivi.com



  การจะลงทุนในหุ้นให้ประสบความสำเร็จนั้นนอกจากการวิเคราะห์เป็นรายตัวแล้ว การจัดพอร์ตให้มีความสมดุลก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะบ่งชี้ถึงผลตอบแทนโดย รวมว่าจะมากน้อยเพียงใด หรือหากเกิดความผันผวนขึ้น ความสมดุลของพอร์ตจะเป็นเกราะกำบังอีกประการหนึ่งให้นักลงทุนไม่เสียหายมาก
 แนวความคิดเรื่องการจัดพอร์ตนั้นมีหลายแนวความคิดครับ แต่โดยหลักก็คือ
1)หลักการกระจาย คือการลงทุนกระจายไปหุ้นหลายๆตัว ในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม(หรือหลักการใส่ไข่ไว้ในหลายๆตะกร้า) เพื่อลดความเสี่ยงของพอร์ต ในขณะเดียวกันผลตอบแทนโดยรวมอาจจะต่ำกว่าการลงทุนแบบโฟกัส
2)โฟกัสคือการเน้นการลงทุนในหุ้นน้อยตัวนักลงทุนคัด สรรมาแล้ว การใช้กลยุทธ์นี้จะพบความผันผวนของพอร์ตได้มากกว่า ความเสี่ยงมากกว่า แต่ผลตอบแทนก็จะสูงตามไปด้วย
 เคยมีการศึกษาเพื่อทดสอบเรื่องจำนวนหุ้นในพอร์ต ที่ศึกษาเรื่องระดับผลตอบแทนและความเสี่ยงของมหาวิทยาลัยชิคาโก (professors Lawrence Fisher และ James Lorie)โดยการจัดพอร์ตที่มีหุ้นตั้งแต่1ตัว ถึงพอร์ตที่มีหุ้น500 ตัวครับ ผลที่ออกมาก็คือ
***การเพิ่มจำนวนหุ้นในพอร์ตทำให้ความเสี่ยงลดลง แต่ประโยชน์นี้จะหมดลงอย่างรวดเร็ว หากจำนวนหุ้นในพอร์ตมากเกินกว่า16ตัว***
มีการศึกษาอีก paper หนึ่ง ( John Wiley & son)  พบว่า
***นักลงทุนสามารถกระจายความเสียงได้85% ด้วยการมีหุ้นจำนวน15ตัว และ หากมีหุ้นในพอร์ตจำนวน30ตัวจะกระจายความเสี่ยงได้95%
 สรุปโดยรวม การจัดพอร์ตทั้งสองแบบก็จะมีผลได้ผลเสียแตกต่างกันไป แล้วบรรดาเซียนในเรื่องการลงทุนละ แต่ละท่านมีกลยุทธ์ในการจัดพอร์ตอย่างไร




กลยุทธ์การจัดพอร์ตของ ดร.นิเวศน์ เซียนหุ้นมูลค่าอันดับหนึ่งของเมืองไทย
 ดร.นิเวศน์กล่าวไว้ในหนังสือตีแตก กลยุทธ์การเล่นหุ้นในภาวะวิกฤติ ท่านบอกไว้ว่า ในพอร์ตของท่านมีหุ้นกว่า10ตัว น้ำหนักการลงทุนไม่เท่ากันในแต่ละตัว การให้น้ำหนักจะขึ้นอยู่กับความน่าสนใจของแต่ละตัว หากท่านเห็นว่าตัวไหนให้ผลตอบแทนดีและมั่นใจก็จะให้น้ำหนักตัวนั้นมากหน่อย น่าสนใจแต่ไม่มั่นใจก็จะให้น้ำหนักน้อยหน่อย ท่านจะปรับพอร์ตเสมอเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป  ส่วนใหญ่แล้วจะลงทุนในหุ้นเต็มวงเงินเสมอ

กลยุทธ์การจัดพอร์ตแบบบัฟเฟตต์ เศรษฐีหุ้นอันดับหนึ่งของโลกการลงทุน
 ส่วนบัฟเฟตต์ซึ่งชำนาญในเรื่องการใช้กลยุทธ์สวนกระแสแบบคัดสรรคือเลือกลง ทุนน้อยตัวแต่ลงหนักเมื่อเจอหุ้นที่ยอดเยี่ยม ท่านเชื่อว่าการกระจายความเสี่ยงเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลกับนักลงทุนที่ขาด ความรู้และความเข้าใจเท่านั้น  การกระจายความเสี่ยงจะมีประโยชน์ในกรณีที่จะช่วยป้องกันความเสียหายที่เกิด จากการไม่รู้ หรือได้รับข้อมูลที่ใช้ตัดสินใจไม่ครบสมบูรณ์ บัฟเฟต์แนะนำว่านักลงทุนควรมีหุ้นเพียง5-10ตัวเท่านั้น  บัฟเฟตต์เมื่อซื้อจะเน้นการถือหุ้นระยะยาว ถือไปเรื่อยๆตราบใดที่พื้นฐานของหุ้นยังไม่แย่ลง


กลยุทธ์การจัดพอร์ตแบบปีเตอร์ ลินช์
 ลินช์กล่าวว่าประเด็นสำคัญของผลตอบแทนไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนหุ้นในพอร์ต แต่มันขึ้นอยู่กับการตรวจสอบอย่างดีมากน้อยแค่ไหนของนักลงทุน  มันเป็นเรื่องที่ดีที่จะเป็นเจ้าของหุ้นให้มากที่สุดหากคุณไปเจอสถานการณ์
1)สถานการณ์ที่ได้เปรียบ และ
2)ได้ค้นพบหุ้นที่มีเป้าหมายชัดเจนและน่าตื่นเต้น
 นั่นหมายความว่าหากนักลงทุนมีความเชี่ยวชาญในหุ้นกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือหุ้นตัวใดตัวหนึ่งเป็นพิเศษจริงๆก็ไม่จำเป็นต้องกระจาย
  แต่ก็บอกว่าการถือหุ้นเพียงตัวเดียวเป็นเรื่องเสี่ยงมากเช่นกันหากเกิด เหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันขึ้น ตามความเห็นของ ลินช์ พอร์ตขนาดเล็กควรจะมีหุ้น 3-10 ตัว น่าจะได้ประโยชน์ในแง่มุมต่างๆดังนี้
  1)หากลงทุนในหุ้นโตเร็ว โอกาสจะเจอหุ้น10เด้งมีมากกว่า
  2)ยิ่งมีหุ้นมาก นักลงทุนก็จะความคล่องตัวที่จะสับเปลี่ยนเงินลงทุนระหว่างมัน
  สำหรับพอร์ตของลินช์จะมีลักษณะคร่าวๆดังนี้
  -หุ้นโตเร็ว มีน้ำหนักประมาณ30-40 %
 -หุ้นแข็งแกร่ง มีน้ำหนัก 10-20%
  -หุ้นวัฏจักร มีน้ำหนัก10-20 %
 -หุ้นที่กำลังฟื้นตัวอีกมีน้ำหนัก10-20%

กลยุทธ์การจัดพอร์ตหุ้นของปรมาจารย์ เกรแฮม
 เกรแฮมนั้นเน้นการกระจายความเสี่ยงไปในหุ้นหลายๆตัวโดยเฉพาะหุ้นที่มี ลักษณะ net nets stock  (หุ้นที่มีราคาต่ำกว่า1/3ของมูลค่าทรัพย์สินหมุนเวียนสุทธิ)ในปี1929 พอร์ตของเกรแฮมมีหุ้นอยู่ถึง75ตัว บางช่วงพอร์ตมีหุ้นมากกว่า100ตัว เน้นว่าให้กระจายไปให้มากเพียงพอที่จะกระจายความเสี่ยง แต่ต้องไม่กระจายไปในความเสี่ยงที่มากเกินไป
 
กลยุทธ์การจัดพอร์ตของ ฟิลลิป เอ ฟิชเชอร์ เซียนหุ้นโตเร็วในสไตล์นักสืบ
ฟิชเชอร์แนะนำว่าอย่าเน้นกระจายความเสี่ยงโดยการกระจายการถือหุ้นมากเกินไป อย่าใส่ไข่ในหลายตะกร้ามากเกินไป และอย่าใส่ไข่ในตะกร้าใบเดียวจนไข่ล้นตะกร้าและไม่ได้ดูแลไข่อย่างดีเพียงพอ ต้องคำนึงถึงหุ้นตัวที่ถืออยู่ด้วยเพราะบางบริษัทเป็นลักษณะโฮลดิ้งและ บริษัทเองก็มีการกระจายความเสี่ยงไปในหลายๆธุรกิจแล้ว การกระจายความเสี่ยงต้องดูความทับซ้อนหรือแข่งขันกันของธุรกิจที่จะซื้อหุ้น ด้วย (ความเห็นของผม เขาคงหมายความว่าเช่นหากถือหุ้น ปตท.แล้วก็ไม่ควรกระจายความเสี่ยงโดยการถือหุ้นปิโตรเคมีอีก หรือกรณี ซื้อทั้ง หุ้นของ scc  และ sccc ซึ่งแข่งขันกัน เป็นต้น) ฟิชเช่อร์แนะนำให้แยกแยะกลุ่มบริษัทและการกระจายความเสี่ยงดังนี้
   บริษัทกลุ่ม A ซึ่งเป็นหุ้นที่โตเร็วและเป็นบริษัทใหญ่ที่มีความแข็งแกร่งสูง กระจายแบบตัวละ20 %  ไป5บริษัทที่มีความแตกต่างของสินค้า ก็ดูสมเหตุสมผล
 บริษัทกลุ่ม B ซึ่งเป็นบริษัทมีลักษณะหุ้นบริษัทใหม่โตเร็วและความเสี่ยงสูง ให้ลงตัวละ8-10 % กระจายไปในบริษัทที่มีความแตกต่างกัน
 บริษัทกลุ่มC ซึ่งเป็นบริษัทขนาดเล็กๆ ซึ่งโอกาสอาจได้กำไรมหาศาลและขาดทุนสูญเสียเงินทั้งหมด ควรกระจายความเสี่ยง ไม่เกินตัวละ5% และเงินที่ใช้ลงทุนต้องเป็นเงินเย็นที่สามรถขาดทุนได้ทั้งหมดโดยไม่เดือด ร้อน

กลยุทธ์การขายของเซียน : Warrent Buffet

วอร์เรน บัฟเฟตต์

- ปรัชญาการลงทุนของปราชญ์ท่านนี้คือลงทุนในหุ้นของบริษัทที่ได้เปรียบเชิง แข่งขันอย่างยั่งยืน(durable competitive advantage)แล้วถือไว้เป็นระยะเวลานานๆ

- ขายที่จุดสูงสุดของตลาดและตลาดให้ราคาที่สูงมากพอ เช่น
  กรณีตัวอย่างที่1 ช่วงตลาดฟองสบู่สุดๆในปี1969 หุ้นท่าถือ p/e ขึ้นไป 50เท่า ขายล้างพอร์ต แล้วออกจากตลาดและบอกหุ้นส่วนของเขาว่าไม่สามารถจะหาซื้อหุ้นที่มีคุณค่าน่า ซื้อได้อีกต่อไป

กรณีตัวอย่างที่2 เกิดขึ้นในปี1998 ช่วงนั้นหุ้นหลายๆตัวในพอร์ตเบิร์กไซร์ มีค่า p/e ขึ้นไป50เท่า หรือมากกว่า ท่านเลยขายหุ้นโดยวิธีการพิเศษคือเอาไปแลกกับบริษัทประกันภัยซึ่งขนาดใหญ่ ที่มีเงินสดจำนวนมาก
โดยการขายครั้งนี้ทำให้ขายหุ้นได้ราคาเพิ่มขึ้นจากพอร์ตธรรมดาและไม่ต้อง เสียภาษีอีกต่างหาก
 - เอาคาดการณ์ผลตอบแทนผลกำไรใน10ปีข้างหน้าของบริษัทรวมกันมาเปรียบเทียบ กับผลตอบแทนของหุ้นกู้หรือผลตอบแทนของพันธบัตร หากสูงกว่าถือต่อ หากต่ำกว่าขายซะ

- มีโอกาสซื้อที่น่าสนใจกว่า แต่จงจำไว้ว่า อย่าขายดอกไม้แล้วไปซื้อวัชพืช
- ขายเมื่อธุรกิจหรือสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป
- ขายเมื่อราคาหุ้นปรับสูงขึ้นจนถึงราคาเป้าหมาย
การลงทุนก็คงเหมือนกับการค้าขายกระมังครับ หากซื้อแล้วขายไม่เป็นหรือขายไม่ถูกจังหวะตอบแทนที่ได้ก็คงไม่ดีเท่าที่ควร กลยุทธ์เหล่านี้เป็นหลักแนวความคิดและการปฏิบัติที่ปราชญ์ท่านว่าไว้  ส่วนเทคติกที่เป็นรายละเอียดและความชำนาญและการประยุกต์ใช้ในทางปฏิบัติก็ คงต้องฝึกปรือกันไปให้ชำนาญ

กลยุทธ์การขายของเซียน : PHILIP A. FISHER

PHILIP A. FISHER (COMMON STOCK AND UNCOMMON PROFITS)

วัตถุประสงค์ของการขายหุ้นเพียงประการเดียว ที่มีแรงจูงใจในการขายหุ้นก็คือขายอย่างไรให้ทำกำไรสูงที่สุดจากเม็ดเงินที่ นักลงทุนได้ลงทุนไป โดยปราชญ์ท่านนี้กล่าวว่ามีเหตุผล3ข้อของการขายหุ้น

  1)เมื่อตรวจพบอย่างชัดเจนว่าเกิดการซื้อที่ผิดพลาด และมีหลักฐานชัดเจนขึ้นเรื่อยๆว่าข้อมูลพื้นฐานที่แท้จริงของบริษัทนั้นแย่ กว่าที่คิดไว้ในตอนแรก ไม่ว่าจะได้กำไรหรือขาดทุนก็ตามต้องตัดใจขาย กล้าที่จะ cut loss ทันที อย่ารอโดยหวังว่าราคาที่มันลงไปจะกลับคืนมาเท่าทุนที่ซื้อ นักลงทุนต้องซื่อสัตย์ต่อตนเอง ส่วนใหญ่จะไม่ยอมรับความผิดพลาดของการตัดสินใจของตนเอง และรอไปเรื่อยๆไม่กล้าที่จะขาย จนในที่สุด ความเสียหายอย่างหนักก็เกิดขึ้น  จงขายแล้ว เก็บความผิดพลาดไว้เป็นบทเรียน

  2)ขายเมื่อบริษัทเกิดการเปลี่ยนแปลงไปจนไม่เข้ากฎเกณฑ์ที่เขาตั้งไว้ 15ข้อ  คือ

   2.1)บริษัทไม่มีสินค้าหรือบริการที่มีศักยภาพของตลาดเพียงพอที่จะทำให้มี การเพิ่มขึ้นของยอดขายเป็นเวลาอย่างน้อยหลายๆปี
  2.2)ฝ่ายจัดการหมดความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาสินค้าหรือกระบวนการผลิตอย่างต่อ เนื่อง ที่จะยังคงสามารถเพิ่มยอดขายรวมในอนาคต เมื่อโอกาสการเติบโตของสินค้าที่น่าสนใจในปัจจุบันใกล้ถึงจุดอิ่มตัวแล้ว
  2.3)ประสิทธิภาพของงานวิจัยและพัฒนาของบริษัทด้อยลงอย่างชัดเจนเมื่อเทียบ กับขนาดของบริษัทและบริษัทของคู่แข่ง หรือบริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกัน
 2.4)บริษัทมีศักยภาพของหน่วยงานขายที่ย่ำแย่ลงกว่าค่าเฉลี่ย และไม่โดดเด่นเหนือคู่แข่ง
 2.5)บริษัทมีกำไรต่อยอดขายไม่คุ้มค่าและด้อยลงกว่าบริษัทอื่นๆในอุตสาหกรรม เดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทคู่แข่ง
 2.6)บริษัทไม่ทำอะไร หรือไม่มีแผนการจะทำอะไรเพื่อรักษาหรือทำให้กำไรต่อยอดขายสูงขึ้น
 2.7)บริษัทมีแรงงานสัมพันธ์ที่ไม่โดดเด่น หรือสหภาพแรงงานสัมพันธ์แย่ลง ก่อให้เกิดการหยุดงาน หรือประท้วง
 2.8)บริษัทที่ความสัมพันธ์ของผู้บริหารในองค์กรดูเสื่อมทรามลง หรือมีความขัดแย้งในบริษัท
 2.9)บริษัทมีฝ่ายบริหารไม่เพียงพอ หรือไม่มีการพัฒนาผู้บริหารอย่างต่อเนื่อง
 2.10)ระบบการวิเคราะห์ต้นทุนและการควบคุมทางบัญชีของบริษัทไม่ดีและส่อไปใน ทางแย่ลง
 2.11)บริษัทสูญเสียความโดดเด่นในคุณลักษณะที่เป็นลักษณะเฉพาะของอุตสาหกรรม เช่น
      -กิจกรรมที่สำคัญที่สุดเกี่ยวกับการค้าปลีกคือระดับของทักษะที่บริษัทมีใน การจัดการเรื่องของอสังหาริมทรัพย์ และการจัดการและควบคุมการหมุนเวียนของสต็อกสินค้า
     -การวิเคราะห์กิจการและการติดตามเร่งรัดหนี้สิน เป็นคุณสมบัติเด่นของกลุ่มธนาคาร เป็นต้น
 2.12)บริษัทมีภาพระยะสั้นและระยะยาวเกี่ยวกับกำไรของบริษัทที่ไม่ชัดเจน
 2.13)การเจริญเติบโตของบริษัทต้องการเงินจากผู้ถือหุ้นหรือไม่ หากต้องเพิ่มทุนจะไปมีผล dilution effect มากน้อยอย่างไร
 2.14)เมื่อพบว่าผู้บริหารเปิดเผยเมื่อกิจการดีแต่หมกเม็ดเมื่อกิจการมี ปัญหา
 2.15)บริษัทมีฝ่ายจัดการที่ไม่โปร่งใส
 3)ขายเมื่อพบการลงทุนในบริษัทอื่นน่าสนใจกว่า,มีอนาคตกว่าและมั่นใจว่าให้ ผลตอบแทนดีกว่าอย่างมีนัยสำคัญ

ประโยคสำคัญ FISHER กล่าวว่า ถ้าคุณทำหน้าที่ของคุณอย่างดีตอนที่คุณซื้อหุ้น เวลาที่จะขายก็คือ เกือบจะไม่มีวันขาย

กลยุทธ์การขายของเซียน : Peter Lynch

PETER LYNCH
ONE UP ON WALL STREET


  Peter Lynch เป็นนักลงทุนที่มีแนวคิดในการลงทุนคือ ท่านจะจำแนกหุ้นออกเป็นกลุ่มก่อน โดยเหตุผลก็คือหุ้นแต่ละกลุ่มจะมีอัตราการเจริญเติบโตและลักษณะเฉพาะที่แตก ต่างกันไป(ซึ่งวิธีการแบ่ง จะยังไม่กล่าวถึงในที่นี้) ดังนั้นหุ้นแต่ละกลุ่มจะใช้กลยุทธ์การจัดการต่างกันไป ไม่ว่าการเข้าซื้อ การติดตาม ระยะเวลาการถือครอง ผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้ และการกำหนดกลยุทธ์การขายก็แตกต่างกันไปด้วย  ลินช์ แบ่งหุ้นออกเป็นกลุ่มๆดังนี้
  1)หุ้นโตช้า
  2)หุ้นแข็งแกร่ง
  3)หุ้นวัฏจักร
 4)หุ้นโตเร็ว
 5)หุ้นฟื้นตัว
  6)หุ้นทรัพย์สินมาก

 ปราชญ์ ลินช์ ท่านมีแนวความคิดในเรื่องการขายในหุ้นแต่ละกลุ่มว่า
1)หุ้นโตช้า
 ขายเมื่อ
 - ราคาขึ้นไป30-50 % หรือ
 - พื้นฐานของบริษัทนั้นเสื่อมทรามลง หรือ
 - มีสัญญาณบางอย่างเช่น
     1.1)บริษัทสูญเสีย market share 2ปีติดต่อกัน และกำลังจ้างบริษัทโฆษณาแห่งใหม่
    1.2)หากินกับบุญเก่า ไม่มีการพัฒนาสินค้าหรือบริการใหม่ๆ และงบ r&d ก็ถูกตัดทอนลง
    1.3)ซื้อกิจการใหม่เพิ่มสองแห่งโดยที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจเดิม (diworsification,กระจายความเสียหาย)
   1.4)บริษัทได้จ่ายเงินมากมายเพื่อซื้อกิจการ ทำให้งบดุลเสื่อมทรามลง จากเคยมีเงินสดเหลือมาก กลายเป็นว่ามีหนี้เพิ่มจำนวนมาก และไม่มีเงินสดเหลือที่จะซื้อหุ้นคืนแม้ว่าราคาหุ้นของตัวเองตกลงอย่างหนัก
  1.5)แม้ราคาหุ้นจะต่ำลงแต่ dividend yield ก็ยังไม่สูงพอที่จะดึงดูดใจนักลงทุน

2)หุ้นแข็งแกร่ง
 - หลักการคืออย่าถือเพื่อคาดหวังผลตอบแทน10เด้งจากหุ้นกลุ่มนี้  
 - หากราคาวิ่งเหนือเส้นกำไรพอสมควรก็ขาย  หรือ
 - ค่าp/e วิ่งฉีกห่างจากช่วงปกติมากๆ ก็ขาย  หรือ
 - มีสัญญาณ ดังต่อไปนี้
  2.1)ออก new product  มาแล้ว2ปีแล้วยังไม่ work และสินค้าหรือบริการตัวอื่นยังอยู่ในช่วงทดสอบคงใช้เวลาอีกนานเป็นปีจึงจะ เห็นผล แบบนี้ก็ขาย หรือ
  2.2)หุ้นราคาขึ้นไปถึง p/e 15เท่า ในขณะที่หุ้นในกลุ่มที่มีลักษณะใกล้เคียงหรืออยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันมีค่า p/e แค่11-12เท่า  แบบนี้ก็ขายซะ
  2.3)ไม่มีพนักงานหรือกรรมการ หรือผู้บริหารซื้อหุ้นเลยในปีที่แล้ว  หรือ
 2.4)business unit ที่สร้างกำไรหลัก25 % กำลังอยู่ในภาวะเสี่ยง หรือแนวโน้มถดถอย
 2.5)แม้ว่าจะลดต้นทุนแล้วแต่ growth rate ยังชะลอตัวลง และยังมองไม่เห็นอนาคตว่าจะดีขึ้นได้อย่างไร

  3)หุ้นกลุ่มวัฏจักร
 - หลักการคือขายให้ใกล้เคียงจุดสูงสุดของวัฏจักร
 - พวกกองหน้าที่รู้ดีเริ่มขาย สังเกตจากราคาของหุ้นเริ่มตกต่ำแบบไม่ค่อยมีเหตุผล p/e ratio อยู่ในระดับต่ำ
 - เริ่มมีบางสิ่งบางอย่างเริ่มแย่ลงเช่น ต้นทุนการผลิตเริ่มเพิ่มขึ้น กำลังการผลิตเริ่มเต็ม และบริษัทต้องใช้เงินในการขยายกำลังการผลิต
 - สินค้าคงคลังเริ่มเพิ่มขึ้น  ราคาสินค้าเริ่มต่ำลง และกำไรเริ่มลดลง
 - สำหรับสินค้าโภคภัณฑ์ เช่นเหล็กและน้ำมัน   ราคาในตลาดล่วงหน้าจะเริ่มต่ำกว่าราคาปัจจุบัน และราคา spot
 - เริ่มมี สงครามราคา ออกกลยุทธ์ทางการตลาดลดแลกแจกแถมให้เห็น
  - ความต้องการสินค้าปลายทางสำหรับสินค้าเริ่มชะลอตัวลง
 - บริษัทเพิ่มงบลงทุนเป็นสองเท่าสร้างโรงงานใหญ่หรูหรา แทนที่จะปรับปรุงโรงงานเก่าด้วยต้นทุนต่ำ
 - บริษัทพยายามลดต้นทุนลงแล้วแต่ยังสู้คู่แข่งไม่ได้

4)หุ้นโตเร็ว
 - เคล็ดลับการขายคือพยายามไม่พลาดโอกาส10เด้ง และขายให้ใกล้จุดสิ้นสุดของช่วงที่สองของการเจริญเติบโต( s -curve)
 - อย่าบริษัทพลาดและกำไรหด ค่า p/e ที่นักลงทุนไล่ราคาขึ้นไป จะกลายเป็น2เด้งที่ราคาแพงสำหรับนักลงทุนที่จงรักภักดีต่อบริษัทที่ถือ
 - นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่แนะนำให้ซื้อในระดับสูงสุด
 - 60%ของหุ้นถูกถือโดยนักลงทุนสถาบัน
- magazine ที่มีชื่อเสียงระดับชาติต่างพร้อมใจออกมาชื่นชม ซีอีโอของบริษัท ว่าเจ๋ง
-  ค่า p/e สูงขึ้นจนดูน่าขันและไม่มีเหตุผล
- ยอดขายร้านเดิมลดลง3%ในไตรมาสสุดท้าย
- ยอดขายร้านใหม่ก็น่าผิดหวัง
- ผู้บริหารสูงสุด2คน และพนักงานหลายคนย้ายไปทำงานให้กับบริษัทคู่แข่ง
- หุ้นมีการซื้อขายกันที่ p/e30เท่า ขณะที่การประมาณการที่ดีที่สุดบริษัทจะกำไรโตได้15-20เท่าในช่วง2ปีข้างหน้า

5)หุ้นฟื้นตัว
- ขาย ณ.จุดที่มันฟื้นตัวสมบูรณ์แล้ว คือผ่านปัญหาทุกอย่างแล้ว ทุกคนในตลาดรับรู้ว่ามันฟื้นตัวสำเร็จแล้ว และมันกลับมาเป็นบริษัทที่มันเคยเป็นแล้ว
- หลังจากฟื้นตัวแล้ว ก็จัดกลุ่มใหม่
- หนี้สินที่ได้ลดลงติดต่อกัน5ไตรมาส เริ่มเพิ่มขึ้นอย่างมากในไตรมาสล่าสุด
- อัตราการเพิ่มขึ้นของสินค้าคงคลังเป็น2เท่าของการเติบโตของยอดขาย
- ค่า p/e สูงเกินไปเมื่อเทียบกับการคาดการของกำไร
- ลูกค้าของบริษัทรายใหญ่กำลังประสบปัญหายอดขายตกต่ำ

6)หุ้นสินทรัพย์มาก- ถือรอน่าล่า กิจการ
- ผู้บริหารประกาศว่าจะเพิ่มทุน เพื่อเอาเงินไปซื้อกิจการอื่นเพื่อกระจายความเสี่ยง
- ขายแผนกงานสำคัญของบริษัทขายได้ราคาต่ำกว่าที่ควร
- นักลงทุนสถาบันถือหุ้นเพิ่มขึ้นจาก25%เป็น60 %

วิเคราะห์มูลค่าด้วย DCF หรือด้วยค่า PE เขียนโดยคุณ Invisible Hand แห่ง thaivi.com

หลายคนอาจจะสงสัยว่า  VI จำเป็นต้องทำ model การหา valuation ด้วยวิธี DCF  หรือไม่    หากถามผมๆ คิดว่าถ้าทำอาจจะทำให้สบายใจและมั่นใจขึ้นได้แต่คิดว่าไม่จำเป็น     แต่ก่อนที่ผมจะสรุปว่าไม่จำเป็นผมจึงต้องอธิบายที่มาของการคิด DCF  คร่าวๆ  ก่อนครับ

DCF   =  กระแสเงินสดในอนาคตเป็นมูลค่าปัจจุบัน ( Present value )  +  เงินสด ( หนี้สิน ) สุทธิ

การทำมูลค่าในอนาคตให้เป็นมูลค่าปัจจุบัน  คือ  การ discount   ด้วยอัตราดอกเบี้ย discount rate    โดย discount rate 



Discount rate

ถ้า discount rate  เท่ากับ 10%    เงิน 110 บาทใน 1 ปีข้างหน้าจะมีมูลค่า 100 บาท   ในปัจจุบัน      เหตุผลที่เงิน 110 บาทใน 1 ปีข้างหน้ามีมูลค่า 100 บาทในปัจจุบันเนื่องจากหากนำเงิน 100 บาทไปลงทุนโดยได้ผลตอบแทนเท่ากับ 10%   เงิน 100 บาทในปัจจุบันจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 110  บาทในอีก 1 ปีข้างหน้า

ดังนั้นหากมีใครมาถามเราว่าให้เลือกระหว่างได้เงิน 100 บาทในปีนี้    หรือจะเลือกเงิน 110 บาทในปีหน้า     ภายใต้สมมุติฐานว่าเราสามารถนำเงินลงทุนได้ผลตอบแทน 10%   เราจะเลือกแบบไหน    คำตอบที่หลายคนจะตอบก็คือ   เลือก 100 บาทวันนี้   เพราะถ้าเป็นปีหน้าเดี๋ยวคนให้เงินจะเปลี่ยนใจไม่ให้แล้ว     แต่คำตอบในเชิงการเงินก็คือ   เลือกแบบไหนก็ได้   ค่าเท่ากันครับ

ดังนั้นเงิน 100 บาทในปัจจุบัน   จะมีมูลค่ามากกว่า 100 บาทในอีก 10 ปีข้างหน้ามาก   หรืออาจจะมีมูลค่ามากกว่าเงิน 200 บาทในอีก 10 ปีข้างหน้าด้วยซ้ำไปครับหากอัตราดอกเบี้ยและผลตอบแทนจากการลงทุนสูงมากพอ

หลังจากทำความเข้าใจเกี่ยวกับการหามูลค่าปัจจุบันหรือ present value แล้ว     ตัว discount rate  หรือที่ศัพท์ทางการเงินเรียกว่า WACC     โดยถ้าหุ้น 2 ตัวมีปัจจัยทุกอย่างเหมือนกันหมด   หุ้นตัวที่ใช้ discount rate สูงจะมีมูลค่าแบบ DCF  ต่ำกว่า   

สำหรับ discount  rate   นั้นขึ้นกับตัวแปรต่างๆ  ดังนี้ครับ

-   อัตราดอกเบี้ยในท้องตลาด   ส่วนใหญ่จะใช้อัตราดอกเบี้ย ( yield ) ของพันธบัตรอายุ 10 ปีเป็นตัวอ้างอิง    ถ้าดอกเบี้ยสูง   discount rate ก็จะสูง
-   Beta   คือ  ความผันผวนของราคาหุ้นตัวนั้นๆ เทียบกับความผันผวนของดัชนีตลาดหลักทรัพย์    ซึ่ง beta   ในทางทฤษฎีการเงินคือเป็นตัววัดความเสี่ยงของหุ้นตัวนั้น    โดยตั้งอยู่ในสมมุติฐานว่าหุ้นที่มีความเสี่ยงทางธุรกิจสูงจะมี beta สูง   คือ  จะมีความผันผวนของราคาสูง    ซึ่งทฤษฎีนี้ใกล้เคียงความจริงหรือไม่ผมคิดว่าก็มีความใกล้เคียงอยู่บ้าง     เช่น  หุ้นที่มี beta สูงในตลาดไทย เช่น  หุ้นไฟแนนซ์   หุ้นรับเหมาก่อสร้าง   หุ้นอสังหาฯ   วัสดุก่อสร้าง    ซึ่งล้วนแล้วมีความเสี่ยงทางธุรกิจสูง      ส่วนหุ้นที่มี beta ต่ำก็มักจะเป็นหุ้นที่มีความเสี่ยงทางธุรกิจต่ำกว่าหุ้นที่มี beta สูง   discount rate ก็จะสูงตามไปด้วยครับ

ดังนั้น    ถึงตรงนี้เราได้ 2 ประเด็นแล้วครับว่า    ถ้าช่วงไหนดอกเบี้ยในท้องตลาดสูงขึ้น    discount rate   ที่ใช้คำนวณ DCF ก็จะสูง     ทำให้ราคาหุ้นตามวิธี DCF  ก็จะต่ำลง    ดังนั้นจะเห็นได้ว่าตลาดหุ้นมักจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อดอกเบี้ยลดลงและมี แนวโน้มจะปรับตัวลดลงเมื่อมีข่าวว่าดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้น   ดังนั้นในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น   หุ้นมักจะมี p/e ต่ำ   แต่ในช่วงดอกเบี้ยขาลง   หุ้นจะมี p/e สูง

ส่วนเรื่อง beta  หรือความเสี่ยงนั้น   ก็เช่นกันครับ   หุ้นที่มีความเสี่ยงหรือ beta สูง   ก็จะทำให้ discount rate สูง    ราคาหุ้นตามวิธี DCF ก็จะต่ำลง      ดังนั้นหุ้นที่มี beta หรือความเสี่ยงสูง  ก็ควรจะมี p/e ต่ำกว่าหุ้นที่มีความเสี่ยงต่ำ

การคิดกระแสเงินสดสุทธิ  หรือ   Free cash flow   มีสูตรดังนี้ครับ

Free cash flow  =   กำไรสุทธิ  +   ค่าเสื่อมราคา  + การเปลี่ยนแปลงในเงินทุนหมุนเวียน  +   รายจ่ายลงทุนในสินทรัพย์

เงินทุนหมุนเวียน  คือ  “ เงินสด “   ที่ต้องใช้ในการซื้อวัตถุดิบเพื่อใช้ในการขายสินค้าและบริการ   

รายการการเปลี่ยนแปลงเงินทุนหมุนเวียนจะเป็น “ ลบ “  ก็ต่อเมื่อ
มีการ  “ เพิ่มขึ้น “ ของสินค้าคงคลังและวัตถุดิบ   เพราะต้องใช้เงินในการซื้อวัตถุดิบ
มีการ  “ เพิ่มขึ้น “  ของลูกหนี้การค้า    แสดงว่ารายได้ 100 บาท   เข้ามาเป็นเงินสดไม่ถึง 100 บาท
มีการ  “ ลดลง  “  ของเจ้าหนี้การค้า   แสดงว่ารายจ่าย 100 บาท   ยังไม่ต้องจ่ายทั้งหมด 100 บาทในทันที

การเปลี่ยนแปลงเงินทุนหมุนเวียนจะเป็น  “ บวก “  ก็ต่อเมื่อ

มีการ  “ ลดลง “ ของสินค้าคงคลังและวัตถุดิบ   แสดงว่าสินค้าที่ขายออกไปมีมากกว่าที่ซื้อวัตถุดิบเข้ามา
มีการ  “ลดลง  “  ของลูกหนี้การค้า 
มีการ  “ เพิ่มขึ้น “  ของเจ้าหนี้การค้า

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า   ในธุรกิจทั่วๆ ไป   เมื่อมีการขยายกิจการ  คือ  มีการผลิตสินค้ามากขึ้น   ก็ย่อมจะต้องมีการสั่งวัตถุดิบและมีจำนวนสินค้าคงคลังเพิ่มขึ้น      เมื่อยอดขายเพิ่มขึ้นก็ย่อมทำให้ลูกหนี้การค้ามากขึ้น     ดังนั้นธุรกิจทั่วๆ ไปเมื่อมีการขยายกิจการจะทำให้การเปลี่ยนแปลงเงินทุนหมุนเวียนจะติดลบ    คือธุรกิจนั้นๆ  จะต้องใช้เงินสดในกิจการมากขึ้น     ดังนั้นธุรกิจส่วนใหญ่แม้ยอดขายเพิ่มขึ้นและกำไรเพิ่มขึ้น    แต่เงินสดที่เข้ามาในบริษัทมักจะต่ำกว่ากำไร      แต่ธุรกิจที่เมื่อขยายสาขาหรือมีรายได้เพิ่มขึ้นแต่กลับยิ่งมีเงินสดมาก ขึ้น   คือธุรกิจค้าปลีก   เพราะมีการขายเป็นเงินสด    แต่จ่ายเงินให้กับเจ้าหนี้ค่าสินค้าเป็นเงินเชื่อ    ดังนั้นวันที่เปิดสาขาใหม่   ก็จะได้เงินสดมาทันทีแต่เงินสดนั้นจะถูกจ่ายให้กับเจ้าหนี้ในอีก 45-60 วัน    ดังนั้นหากมีการคิด DCF  ธุรกิจค้าปลีกเปรียบเทียบกับธุรกิจอื่นๆ   ถ้ากำไรสุทธิต่อปีเท่าๆ กัน    ธุรกิจค้าปลีกจะมีกระแสเงินสดสุทธิ หรือ Free cash flow สูงกว่าธุรกิจอื่นๆ      จึงเป็นเหตุผลหนึ่งว่าทำไมหุ้นค้าปลีกจึงมี p/e สูงกว่าหุ้นกลุ่มอื่นๆ  ที่มีการเติบโตของกำไรเท่าๆ กัน

ยิ่งธุรกิจใดให้เครดิตลูกหนี้การค้ายิ่งนาน    บริษัทนั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงในเงินทุนหมุนเวียนติดลบมากกว่าบริษัทที่ให้ เครดิตลูกหนี้สั้นกว่า     และบริษัทใดที่ขายสินค้าเป็นเงินสด   ก็จะทำให้ใช้เงินทุนหมุนเวียนน้อยกว่ามาก 

บริษัทใดที่มีการขายสินค้าโดยใช้เวลานาน   ก็จะใช้เงินทุนหมุนเวียนมากกว่าบริษัทที่ขายสินค้าในเวลาอันสั้นกว่า    และอย่างที่ผมพูดไปในหน้าก่อนๆ  คือ   ยิ่งขายได้เร็วก็ทำให้ผลตอบแทนต่อเงินลงทุนสูง   ดังนั้นสิ่งที่เถ้าแก่คนจีนนิยมทำนานมาแล้วคือ   เน้นการขายเร็วๆ  มากๆ  เอา volume   ก็เป็นความคิดที่ถูกต้องตามทฤษฎีการเงิน    แม้ว่าอาเฮียเหล่านั้นจะไม่ได้เรียน MBA มาก็ตาม

รายจ่ายในการลงทุนในสินทรัพย์     เป็นรายการ “ ลบ “ ในการหา Free cash flow   ยิ่งมีการลงทุนมากๆ   Free cash flow ก็ยิ่งมีโอกาสติดลบมากขึ้น     ดังนั้นหุ้นที่ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากในการขยายกิจการ    ก็จะทำให้  Free cash flow   ติดลบมากกว่าหุ้นที่สามารถขยายกิจการโดยไม่ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก     โดยทั่วไปหุ้นในภาคการผลิต  อุตสาหกรรม   มักจะต้องใช้เงินลงทุนในการขยายกิจการมากกว่าหุ้นประเภทธุรกิจบริการ     เมื่อใช้เงินทุนน้อย  กระแสเงินสดก็จะเป็นบวกได้มากกว่า    หุ้นภาคบริการมักจะมีมูลค่าแบบ DCF สูงกว่าหุ้นในภาคการผลิตแม้ว่าจะมีกำไรสุทธิในแต่ละปีหรือปัจจัยอื่นๆ  ใกล้กัน     ดังนั้นหุ้นที่ทำธุรกิจบริการมักจะมี p/e สูงกว่าหุ้นในภาคอุตสาหกรรม

หุ้นที่ต้องใช้เงินลงทุนหมุนเวียน  ( เงินสด ) จำนวนมากในการเพิ่มยอดขาย   มักจะต้องมีการกู้เงินระยะสั้น หรือ Bank O/D  จากธนาคารเพื่อมาเป็นเงินทุนหมุนเวียน     และยังอยู่ในธุรกิจที่ต้องลงทุนจำนวนมากเพื่อขยายกำลังการผลิต    และยิ่งหุ้นดังกล่าวมีหนี้ในสัดส่วนที่สูงด้วยนั้น   หุ้นประเภทดังกล่าวมักจะมีโอกาสสูงที่จะต้องหาแหล่งเงินทุนอื่นๆ ที่ไม่ใช่การกู้เงินเพื่อชดเชยกระแสเงินสดที่ติดลบในอนาคต    ดังนั้นหุ้นที่มีลักษณะเหล่านี้ร่วมกันจึงมีความเสี่ยงในการเพิ่มทุนสูง   เมื่อหุ้นมีการเพิ่มทุนก็ย่อมทำให้กำไรต่อหุ้นลดลง   ดังนั้นหุ้นที่มีความเสี่ยงในการเพิ่มทุนมักจะมี p/e  ที่ต่ำกว่าหุ้นที่สามารถเติบโตได้โดยไม่ต้องเพิ่มทุน

การเติบโตทางธุรกิจ    เนื่องจากการทำ DCF คือการประมาณกระแสเงินสดในอนาคต  ดังนั้นหุ้นที่มีการเติบโตในอนาคตสูง   ก็จะมีกระแสเงินสดในอนาคตที่เพิ่มขึ้นกว่าปัจจุบันมาก    ดังนั้นหุ้นที่มีการเติบโตสูงจึงจะมี DCF  สูงกว่าหุ้นที่มีการเติบโตต่ำ   

ปัจจัยสุดท้ายที่มีผลต่อการคำนวณ DCF  ก็คือ  มูลค่าเงินสด หรือหนี้สินสุทธิ   ซึ่งก็คือ
เงินสดสุทธิ  =   เงินสดในบริษัท -  หนี้สินระยะยาว  - หนี้สินระยะสั้นที่มีดอกเบี้ย

ดังนั้น   ถ้าปัจจัยทุกอย่างเหมือนกันหมด  หุ้นที่มีเงินสดสุทธิเป็นบวกก็จะมี DCF สูงกว่าหุ้นที่มีหนี้สิน

สรุป  มูลค่าหุ้นตามแบบ DCF  จะขึ้นอยู่กับปัจจัยที่สำคัญดังนี้ครับ

-  อัตราดอกเบี้ย   ถ้าดอกเบี้ยต่ำลง   มูลค่า DCF จะสูงขึ้น
-  ความเสี่ยงของธุรกิจ   ถ้าธุรกิจมีความเสี่ยงสูง   DCF  ก็จะต่ำ
-  การให้เครดิตลูกค้ายาวๆ   DCF จะต่ำ
-  การได้รับเครดิตจากเจ้าหนี้การค้ายาวๆ   DCF จะสูง
-  ขายสินค้าได้เร็ว   มีการเก็บสินค้าคงคลังต่ำ   DCF  จะสูง
-  ต้องมีการลงทุนจำนวนมากๆ  ในการขยายกิจการ   เมื่อเทียบกับกระแสเงินสดในแต่ละปี  DCF จะต่ำ
-   มีการเติบโตสูง   DCF จะสูง
-   มีหนี้มากๆ   DCF จะต่ำ

           สำหรับ DCF  กับ p/e  จะมีความสัมพันธ์กัน   หากหุ้น 2 ตัวที่ปัจจุบันมีกำไรสุทธิเท่ากัน   หุ้นตัวที่มีราคาเป้าหมายโดยวิธี  DCF สูงกว่า    จะมี p/e  ที่เหมาะสมสูงกว่าหุ้นที่มีราคาเป้าหมายโดยวิธี DCF  ต่ำกว่า    ดังนั้น   ด้วยย่อหน้าข้างบน  เราสามารถเปลี่ยนคำว่า DCF  เป็น p/e  ได้เป็น

-  อัตราดอกเบี้ย   ถ้าดอกเบี้ยต่ำลง   p/e ของหุ้น   จะสูงขึ้น
-  ความเสี่ยงของธุรกิจ   ถ้าธุรกิจมีความเสี่ยงสูง   p/e   ก็จะต่ำ
-  การให้เครดิตลูกค้ายาวๆ   p/e  จะต่ำ
-  การได้รับเครดิตจากเจ้าหนี้การค้ายาวๆ   p/e  จะสูง
-  ขายสินค้าได้เร็ว   มีการเก็บสินค้าคงคลังต่ำ   p/e  จะสูง
-  ต้องมีการลงทุนจำนวนมากๆ  ในการขยายกิจการ   เมื่อเทียบกับกระแสเงินสดในแต่ละปี  p/e จะต่ำ
-   มีการเติบโตสูง  p/e  จะสูง
-   มีหนี้มากๆ   p/e   จะต่ำ

ดังนั้นเมื่อเราเข้าใจหลักของ DCF แล้ว     เราก็ไม่จำเป็นต้องทำ model DCF  ก็ได้   เพียงแต่เราต้องเข้าใจว่าธุรกิจที่เราต้องการวิเคราะห์นั้นเป็นอย่างไร     มีการเติบโตสูงหรือต่ำ    มีความเสี่ยงทางธุรกิจสูงหรือไม่     เมื่อต้องการขยายธุรกิจต้องใช้เงินทุนจำนวนมากหรือไม่      มีหนี้มากหรือน้อยเพียงใด