วันพุธที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2557

เกร็ดความรู้ทาง PEG


การประเมินราคาหุ้นนอกจาก P/E แล้วมีอีกค่าที่นิยมใช้กันคือ PEG หลายวันก่อนได้อ่านเจอว่ามีโพสต์กันเรื่อง PEG เลยอยากจะกล่าวถึงสักหน่อย ค่า PEG นี้เท่าที่ทราบ Peter Lynch ใช้เป็นเครื่องมือหาหุ้นที่จะลงทุนและเป็นหุ้นที่มีอัตราการเติบโตที่เหมาะสมกับระดับราคา หุ้น2 ตัว แม้ค่า P/E จะเท่ากัน แต่ความน่าซื้ออาจไม่เท่ากันก็ได้ หุ้นที่มี P/E ต่ำใช่ว่าจะถูกเสมอ และหุ้นที่มี P/E ใช่ว่าจะแพงเสมอ แต่ผมถือว่าเป็นตัวคัดกรองที่ดีตัวหนึ่ง เพนาะเหตุผลอะไรเดี๋ยวค่อยว่ากัน

PEG คืออัตราส่วนที่หาได้โดยเอาค่า P/E หารด้วยค่าอัตราการเติบโของกำไร (G) เช่นหุ้น A มี P/E 20 มีอัตราการเติบโตของกำไรคาดว่าเท่ากับ 18%% ต่อปี PEG จะเท่ากับ 20/18 = 1.11

ถ้าค่า PEG < 1 ถือว่าราคาหุ้นไม่แพง แต่ถ้า > 1 ถือว่าแพง ดังนั้นที่ลงทุนได้คือหุ้นที่มี PEG < 1 สรุปสั้นๆ ง่ายๆ คือ P/E หุ้น ไม่ควรสูงเกินอัตราการเติบโตของกำไร เช่นถ้าจะซื้อหุ้นที่มี P/E 30 หุ้นนั้นควรมีอัตราการเติบโตไม่น้อยกว่า 30%

นักลงทุนหลายท่านโดยเฉพาะ VI ยึดเอามาเป็นหลักเลยทีเดียว ไม่ผิดครับแต่ต้องระวัง Myth หรือเชื่อกันมาแบบผิดๆ คือ Growth ที่เอามาหารนั้น ไม่ใช่ growth เพียงปีเดียว แต่ควรเป็น long-term growth อย่างน้อยสักห้าปีข้างหน้า และอย่าลืมว่า growth ที่ใช้เป็น expected growth ซึ่งหากเรา aggressive มากเกินไป เราเองนั่นและที่จะซื้อแพง และการหา growth นั้นควรหาจาก EPS ไม่ควรหาจากกำไรสุทธิรวมเพราะบางครั้งกำไรอาจโตเพราะมีการเพิ่มทุน แต่ EPS อาจจะ dilute เพราะเงินที่เพิ่มทุนจพนวนมาก แต่กำไรเพิ่มในอัตราที่น้อยกว่าเงินที่ระดมทุนซึ่งกรณีเช่นนี้ ROE จะลดลง นั่รคือ EPS ลดลงด้วยนั่นเอง

Myth ที่ 1 ใช้อัตราการเติบโตระยะสั้นเพียงปีต่อปี แทนที่จะใช้ long-term growth
สมมติว่าหุ้น A ปัจุบัน มีราคาที่ 30 กำไรต่อหุ้นที่ 1 บาท นั่นคือเทรดกันที่ P/E 30 เท่า ปีที่ผ่านมามีอัตรากำไรเติบโตสูงกว่า 28% จึงคาดว่าปีหน้ากำไรจะโต 35% ปรากฏว่าปีหน้าโต 30% ปีถัดไปคาดว่าจะโต 25%
ปีที่ X0   เติบโตจริง 28% คาดว่าจะโตปีหน้า 30%  EPS วันนี้ = 1  P/E 30   price  30
ปีที่ X1   เติบโตจริง 30% คาดว่าจะโตปีหน้า 22%  EPS วันนี้= 1.30  P/E 22   price  29.9
ปีที่ X2   เติบโตจริง 22% EPS วันนี้= 1.30  P/E 22   price  35
ได้ผลตอบแทนเฉลี่ยเพียงราว 8% ต่อปี
ต้องคำนึงเสมอว่าราคาหุ้นนั้นเทรดกันบนความคาดหวัง หากปีหน้าความคาดหวังลดลง อาจจะเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจภายในหรือภายนอก P/E ก็จะเปลี่ยนไปด้วย หากปีหน้าความคาดหวังลดลงเหลือเพียง 22% ราคาหุ้นจะลดลงเหลือเพียง 29.9 ไม่ใช่ 39 (1.3x30) เพราะปี X1 P/E เหลือเพียง 22 ไม่ใช่ 30 เท่าปี X0 ดังนั้นที่คาดหวังจะได้ผลตอบแทนปีละ 20-30% กลับไม่ได้ตามที่คาด จากตัวอย่าง ทั้งที่หุ้นมีกำไรเพิ่มเฉลี่ย (X1-X2) = 21% ต่อปี แต่กลับได้ผลตอบแทนเพียง 8%ต่อปี นี่เป็น basic case ที่คิดว่าหลายๆคนก็เป็น ทำไมถือหุ้น Growth แต่ ผลตอบแทน port ไม่ได้ตามนั้นเลย

Myth ที่ 2 ควรใช้ expected growth ไม่ใช่ growth ปีล่าสุด คล้ายกันกับตัวอย่างแรก เอาการเติบโตปีล่าสุดมาตั้ง เช่นหุ้นบางตัว ปี 2555 โต 50% เลยใช้ 50 เป็นตัวหาร ทีนี้เลยเทรดกันแพงหูฉี่ อย่าลืมว่ากำไรที่เกิดนั้นอาจเกิดจากรายการ one-time gain ทำให้กำไรพุ่งสูงผิดปกติ หากตัดออกกำไรอาจไม่โตเลยก็ได้ กำไรพวกนี้เคยกล่าวไว้หลายครั้งและว เช่น กำไรจากการต่อรองราตาซื้อ กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน กำไรจากสัญญาอนุพันธ์ กำไรจากการขายสินทรัพย์ ตัวนี้ปีหน้าจะพบมาก เพราะการขายสินทรัพย์เข้า REIT, Property Fund หรือพวก Infrastructure Fund กำไรพวกนี้ไม่ควรมารวมคิดใน growth เว้นแต่เก็งกำไร (ซื้อปีนี้ขายปีหน้า) ไม่ใช่การถือระยะยาวแบบการลงทุนจริงๆ

Myth ที่ 3 Over expected growth หรือ aggressive มากเกินไป อันนี้ก็เช่นกัน Basic case อีก คล้ายกับ Myth 2 คาดหวังสูงเกินจริง อย่าลืมว่า Business cycle กับ Economic cycle หรือ Industrial cycle มันมีวงจรขึ้นลงของมันตามธรรมชาติอยู่ ฝืนไม่ได้ บางที growth สูงปีนี้ อาจเกิดจากวงจนขาขึ้น 3-4  ปีที่ผ่านมา อาจใกล้จบวงจรตอนปลายแล้วก็ได้ ทุกตัวเลขทีใช้จึงต้องกลั่นกรองดูให้รอบด้าน ผ่านการวิเคราะห์ทั้ง micro และ macro

Myth ที่ 4 ไม่หา growth จาก EPS แต่หาจากกำไรสุทธิรวม ซึ่งมีการเพิ่มทุนและเกิด dilute เช่น
บริษัท A ปี 54 มีกำไรสุทธิ 4,500 MB มีหุ้นทุน 3,000 หุ้น EPS = 1.5 per share P/E 16 price = 24
กลางไตรมาส4 ปี 54 เพิ่มทุน 1:1 เพื่อขยายงาน คาดว่าปีหน้ากำไรจะเพิ่มขึ้น 50%แต่เรากลับคาดว่า growth ของกำไรจะโตได้ถึง 50% แน่นอน เลยซื้อที่ P/E ถึง 30 เท่า ที่ราคา 45 บาท
ปี 55 มีกำไรสุทธิ 7,650 MB ได้ตามเป้าหมาย กำไรรวมเพิ่มขึ้น 50% มีหุ้นทุน 6,000 หุ้น EPS = 1.275 per share P/E 16 price = 20.4
ปี 56 มีกำไรสุทธิ 9,563 MB กำไรเพิ่ม 25% มีหุ้นทุน 6,000 หุ้น EPS = 1.59 per share P/E 25 price = 39.75
กรณีแบบนี้จะเห็นว่ากำไรก้าวกระโดดจาก 4,500 เป็น 7,650 และ 9,563 แค่ EPS จาก 1.5 เป็น 1.275 และ 1.59 ตามลำดับ ถ้าดูจากกำไรสุทธิอาจเพิ่ม 50% และ 25% แต่ถ้าดูจาก EPS จะเติบโต -85% และ 25%

PEG ดูเหมือนเป็นเครื่องมือที่ง่ายในการเลือกหุ้น เอาเข้าจริงก็ต้องรู้ทันนะครับ ถ้า VI มีเครื่องมือง่ายๆ คงมีเซียนหุ้นลงทุนร้อยล้านพันล้านเกลื่อนตลาดแล้วละครับ แต่ก็ไม่ใช่ว่าการลงทุนจะยาก เพียงแต่ต้องเรียนรู้ศึกษาอย่าได้หยุด เพราะแม้จะรวยเป็นพันล้าน ก็กลายเป็นยาจกได้ชั่วพริบตาเหมือนกัน เคยเห็นมากับตาแล้วทั้งช่วงราชาเงินทุนแบล็คมันเดย์ พฤษภาทมิฬ และวิกฤติปี 40 ช่วงนี้แค่คล้ายกับยุคบูม ตั้งแต่ 30-40 เท่านั้น เล่นหุ้นมาสิบกว่าปีมีเป็นร้อยล้านพันล้านอย่างเพิ่งสรุปว่าสุดยอดแล้ว เพราะวันรุ่งขึ้นยังมีอีกยาวไกล ตายแล้วยังรวยอยู่ค่อยว่ากัน สงครามยังไม่จบอย่าเพิ่งนับศพ เอาไว้หยุดรบก่อนค่อยว่ากัน ในต่างประเทศบางคน รวยล้นฟ้าแล้วก็กลายเป็นยาจก แล้วก็กลับมารวยล้นฟ้าใหม่ในตลาดหุ้นที่เดียวนี่แหละ

Credit: https://www.facebook.com/sanpong.limthamrongkul

การวิเคราะห์ผลทางธุรกรรมส่วนของผู้ถือหุ้น เพิ่มทุน ลดทุน ซ้ือหุ้นคืน


ในด้านการวิเคราะห์กี่ยวกับส่วนของผู้ถือหุ้น มีธุรกรรมเกิดได้หลากหลายรูปแบบ แต่ที่พบในงบการเงินมีธุรกรรมหลักๆ ที่เห็นกันมาก และควรเข้าใจผลกระทบทางด้านการเงินของธุรกิจ ไม่ใช่เพียงผลด้านที่มีต่อผู้ถือหุ้นเท่านั้น เพื่อให้มองภาพเหล่านี้ นักลงทุนควรตั้งต้นจากสมการบัญชีเป็นหลัก จะเห็นภาพและเข้าใจผลกระทบที่เกิดได้ดีกว่า เข้าใจว่าวิธีการทางบัญชีไปมาอย่างไร
  กปป.สินทรัพย์  = กปป. หนี้สิน +  กปป ทุน

1 การลดทุนโดยการตัดขาดทุนสะสมกับหุ้นทุน ส่วนผู้ถือหุ้นรวมไม่กระทบ เพราะขาดทุนสะสมก็นำมาหักลดส่วนผู้ถือหุ้นอยู่แล้ว ข้อเสียคือ หุ้นเราหายไปแน่นอน ข้อดีคือ ถ้าปีหน้ามีกำไรจะจ่ายปันผลได้ เพราะถ้ามีขาดทุนสะสมอยู่ต้องเอากำไรไปล้างให้หมดก่อน จึงจ่ายปันผลได้ หลายบริษัทที่ลดทุนเพราะเมื่อปรับโครงสร้างหนี้ นักลงทุนใหม่จะมาเขาไม่มาแบกขาดทุนสะสมหลายๆปีหรอก เขาเข้ามาแล้วถ้ามีกำไร เขาต้องได้ผลอบแทนคืน
  กปป.สินทรัพย์  = 0   ไม่ต้องจ่ายเงินสดหรือได้รับเงินสด หรือการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ใดๆ
  กปป.หนี้สิน      = 0    ไม่มีการจ่ายชำระหนี้สินใดๆ หรือเพิ่ม/ลดหนี้สิน
  กปป ทุน           = 0      ส่วนของหุ้นทุนลดลง เท่ากับส่วนของขาดทุนสะสมที่ลดลงในจำนวนเท่าๆกัน
ดังนั้จากสมการบัญชีจึงสรุปได้ว่า ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงในมูลค่าอย่างใดในงบการแสดงฐานะการเงิน เพียงแต่ผลภายในส่วนของทุนเท่านั้น ดังนั้น BV เท่าดิมแต่ทุนลดลงเท่ากับขาดทุนที่ลดลง นั่นคือหุ้นหายไป ข้อดีอย่างที่กล่าวคือจ่ายปันผลได้เร็วขึ้น การจ่ายปันผล ในทางกฎหมาย จ่ายได้เมื่อ 1.ปีนั้นต้องมีกำไร  2.บริษัทต้องไม่มีขาดทุนสะสม และทุกครั้งที่จ่ายปันผลต้องตั้งสำรองรองอย่างน้อย 5% จนกว่าสำรองตามกฎหมายและส่วนเกินทุน(ถ้ามี) รวมกันมากกว่า 10% ของทุนจดทะเบียนก็ให้หยุดสำรองได้หรือไม่ต้องสำรองต่อได้ ส่วนมากบริษัทท่มีปัญหาขาดทุนสะสมมาก จะตัดลดส่วนเกินทุนก่อน แล้วจึงมาลดหุ้นทุนเป็นลำดับต่อไป

2 การเพิ่มทุน บริษัทได้เม็ดเงินเข้าบริษัท แต่ก็จะเกิด dilution effect คือ กำไรต่อหุ้นจะปรับลดลงเพราะจำนวนหุ้นเพิ่มขึ้น (อ่านกำไรต่อหุ้นพื้นฐานและกำไรต่อหุ้นปรับลดประกอบด้วยก็จะดีครับ) ถ้าบริษัททำกำไรเพิ่มได้มากพอกับหุ้นที่เพิ่มก็จะไม่เกิด dilute มาก ดังนั้นถ้ารักษา ROE ได้ก็ไม่กระทบ ดังนั้นถ้าบริษัทประกาศเพิ่มทุน ไม่ว่า PO (public offering ขายให้คนทั่วไป แต่ไม่ใช่การขายครั้งแรก-IPO)  PP (private placement-ขายนักลงทุนอื่นแบบเฉพาะเจาะจง) หรือ ขึ้น XR ขายกับผู้ถือหุ้นเดิม หลักวิเคราะห์ ได้เงินรวมไปเท่าไร กี่พันล้านบาท เอาไปใช้ทำอะไร ลงทุนขยายงานอะไร กำไรที่ได้เพิ่มขึ้นเป็นเท่าไรกับเงินที่เอาไป ใช้หลักคล้ายๆกับเรื่องตัดสินใจ capital expenditure ถ้า return on investment > ROCE อันนี้ดี
ในด้านบัญชี งบการเงิน ณ วันที่เพิ่มทุนเป็นดังนี้
  กปป.สินทรัพย์  = x   ได้เงินสดเพิ่มขึ้นเท่าเม็ดเงินที่เพิ่มทุน เช่น เพิ่มทุน 1,000 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 3 บาท รวมได้เงินมา 3,000 ล้านบาท
  กปป.หนี้สิน      = 0    ไม่มีการจ่ายชำระหนี้สินใดๆ หรือเพิ่ม/ลดหนี้สิน
  กปป ทุน           = x     ส่วนของหุ้นทุนเพิ่มขึ้น โดยส่วนที่เพิ่มจะเพิ่มในสองส่วนคือ ทุนที่เรียกชำระแล้ว ส่วนนี่จะเพิ่มเท่ากับเม็ดหุ้นคูณกับราคาพาร์ และส่วนที่เหลือ (3,000-หุ้นทุนที่เพิ่มตามราคาพาร์) จะเพิ่มในส่วนเกินมูลค่าหุ้น สมมติราคารพาร์เท่ากับ 1 บาทต่อหุ้น กปป ทุน  = 1,000 + 2,000    
   กปป.สินทรัพย์  =  กปป. หนี้สิน +  กปป ทุน
        3,000            =        0             +  1,000   +2,000 
แต่หลังจากนั้นเมื่อมีกำไร ตัวหารกำไรคือจำนวนหุ้นจะเพิ่มขึ้นดังนั้นกำไรที่เพิ่มขึ้นไม่ใช่เพิ่มเท่าส่วนหุ้นที่เพิ่ม แต่เพื่มควรไม่น้อนกว่า % ของจำนวนหุ้นที่เพิ่ม จึงไม่เกิด dilution ของกำไรต่อหุ้น เช่นดังตัวอย่างเดิม ก่อนเพิ่มทุนมีหุ้นอยู่แล้ว 2,000 ล้านหุ้น ปีที่แล้วมีกำไร 3,600 ล้านบาท สมมติเพิ่มทุนต้นปีพอดี ปีถัดมาจะต้องใช้จำนวนหุ้น (2,000+1,000) หารกำไร ปีที่แล้ว EPS = 3,600/2,000 = 1.80 บาท จำวนหุ้นเพิ่มขึ้น 1,000 ล้านหุ้น เกิด dilution หรือ dilutive effect = 1,000/(2,000+1000) = 1/3 ถ้ากำไรเท่าเดิม EPS จะลดลงเหลือ 1.20 บาท แต่ถ้าจะให้มี EPS เท่าเดิม ต้องมีกำไรเท่ากับ 3,600 / (1-1/3) = 3,600*3/2 = 5,400  EPS จึงจะได้ 5,400/3,000 = 1.80 เท่าเดิม สามารถสรุปเป็นสูตรได้ดังนี้
Dilutive effect (Dilution) =  จำนวนหุ้นใหม่ (x) / (จำนวนหุ้นเดิม y +  จำนวนหุ้นใหม่ x ) = x /(y+x)
อัตราเพิ่มของกำไรที่จะไม่เกิด dilution = 1/(1-%dilute)

ตย. บริษัทประกาศเพิ่มทุน 5:3  ผู้ถือหุ้นเดิม 5 หุ้นจะสามารถซื้อหุ้นใหม่ได้ 3 หุ้นที่ราคาพาร์ 10 บาท
Dilutive effect (Dilution) =  3/(5=3) = 2/8 = 37.5%
ปีหน้าบริษัทต้องมีกำไรเพิ่ม = 1 /(1-37.5%) = 1/(1-.375) = 1/0.625 = 1.6 หรือเพิ่มขึ้น 60% ก็จะไม่เกิด dilution
ถ้าบริษัทมีกำไร 6,510 ลบ.  EPS =  1.24 (หุ้นเดิม 5,250 ล.หุ้น)
ปีหน้าต้องมีกำไร 6,510 x 1.6 = 10,416 ลบ. (หุ้นใหม่หลังเพิ่มทุน 8,400 ล.หุ้น) EPS (fully diluted)  จึงได้ 1.24
หมายความว่าถ้าเดิมราคาหุ้นอยู่ที่ 20 บาท   P/E = 16.13
หากราคาจะกลับมาที่เดิม 20 บาท ระดับ P/E เดิมที่ 16.13 ต้องมีกำไรเพิ่ม 60%

แต่เนื่องจาก การเพิ่มทุนมักเป็นการให้สิทธิผู้ถือหุ้นเดิม (XR Right Issue) ดังนั้นต้นทุนเฉลี่ยราคา trade ในกระดานจะปรับไปด้วย จากตัวอย่างเดิม ประกาศเพิ่มทุน 5:3  ผู้ถือหุ้นเดิม 5 หุ้นจะสามารถซื้อหุ้นใหม่ได้ 3 หุ้นที่ราคาพาร์ 10 บาท
ราคาหุ้นใหม่  =  (หุ้นเดิม x ราคาเดิมก่อนเพิ่มทุน + หุ้นใหม่ X ราคาเพิ่มทุน) / (หุ้นเดิม +หุ้นใหม่) 
                      =  (5x20+ 3x10) / (5+3) = 16.25
เท่ากับ P/E ใหม่เป็น 16.25/1.24 = 13.10 ดูคล้ายกับ P/E ลดลง ซึ่งไม่ใช่เราต้องคำนวณใหม่ ใช้หุ้นรวมใหม่จาก 5,250 ล.หุ้น เป็น 8,400 ล.หุ้น จะได้ EPS (fully dilute) เป็น 0.775 บาท P/E ใหม่หลังเพิ่มทุนจะเท่ากับ 16.25/0.775 =  20.96  เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ P/E = 16.13 หากตลาดเป็น EMH (Efficiency Market Hypothesis) แล้ว
ถ้าปีหน้ากำไรเพิ่ม 30.3% EPS (fully dilute) เป็น 1.007 ราคาหุ้นจะกลับมาที่ P/E = 16.13 ที่ราคา 16.25 และถ้าจะกลับไปที่ 20 บาทใหม่ที่ P/E = 16.13 ต้องมี EPS ที่ 1.24 กำไรยังคงต้องเพิ่มขึ้น 60% เช่นเดิม

จะเห็นว่าการเพิ่มทุนนั้นหากเราเป็นผู้ถือหุ้นเดิมควรต้องใช้สิทธิเพิ่มทุนเท่านั้นจึงกดดันน้อยกว่า หากจะซื้อหุ้นโดยไม่อยากเพิ่มทุนควรต้องรอ เพราะอัตราส่วนหุ้นเดิม  : หุ้นใหม่และราคาเพิ่มทุน มีผลต่อ การปรับลดราคาต้นทุนในกระดานและอัตรากำไรที่ต้องเพิ่มขึ้น เพราะกำไรต้องเพิ่มไม่น้อยกว่า EPSที่ ปรับขึ้นเพราะการเพิ่มทุน (จากตัวอย่างกำไรปีหน้าถ้าเพิ่ม 29.9% P/E จะลดลงจาก 20.96 เป็น 16.13 ราคาจึงเท่าทุน ถ้าจะมีกำไรพิ่มมากกว่านี้ราคาหุ้นจึงจะขึ้นด้วยระดับ P/E เดิม)

ถ้าจ่ายหุ้นปันผล ราคาหุ้นใหม่ คือ 0 บาท จ่ายหุ้นปันผลในอัตรา 8 หุ้นเดิมได้ 1 หุ้นปันผล ราคาปัจจุบัน 30 บาท
ราคาใหม่จะเท่ากับ  (8x30 + 0x1) / (8+1) = 240 / 9 = 26.67 บาท

หากคิดจะลงทุนหุ้นเหิ่มทุนต้องคำนวณเป็นจะได้เข้าใจว่าราคา ณ ตอนนี้ซื้อได้หรือไม่

3 การซื้อหุ้นคืน Treasury stock เป็นการสร้างผลตอบแทนให้กิจการแบบหนึ่งแทนที่จะเอาเงินจ่ายปันผล ก็เอามาซื้อหุ้นออกมาจากตลาดเข้าบริษัท วิธีนี้ไม่ใช่การลดทุน เพราะผู้ถือหุ้นไม่เสียหาย เพียงแต่บริษัทเอาหุ้นบางส่วนคืนจากนักลงทุนที่ไม่อยากลงทุนในบริษัทต่อไป แทนที่จะขายทิ้ง (กดราคา) บริษัทรับซื้อกลับ ทำให้จำนวนหุ้นลดลง EPS จะสูงขึ้น (ถ้ากำไรไม่ลดลง) ถ้าระดับ P/E คงเดิม ราคาหุ้นจะเพิ่มขึ้น นักลงทุนก็เปลี่ยนจากหุ้นบางส่วนเป็นเงินได้ (วิธีนี้ช่วยบริหารภาษีให้ผู้ถือหุ้นด้วย) การซื้อหุ้นคืน ส่วนเจ้าของจะลดลงจากหุ้นซื้อคืน ROE จะเพิ่มขึ้น
การที่บริษัทซื้อหุ้นคืนนั้น มองในภาพใหญ่ก็คือ หุ้นที่เหลืออยู่จะมีจำนวนน้อยลง ดังนั้นส่วนแบ่งกำไรของผู้ถือหุ้นแต่ละหุ้นก็จะมากขึ้น ซึ่งราคาหุ้นก็จะสูงขึ้นได้ ผู้ถือหุ้นอยู่ก็จะได้ประโยชน์จากการเพิ่มขึ้นของราคา มองอีกด้านหนึ่ง การซื้อหุ้นคืนนั้น อาจจะเหมือนกับว่าผู้ถือหุ้นบริษัทเห็นว่าหุ้นของบริษัทมีราคาถูกมากอยากจะซื้อหุ้นเพิ่มแต่ไม่มีเงินแล้วหรือคิดว่าไม่อยากจะเสี่ยงเพิ่มอีก แต่ว่าตัวบริษัทเองนั้นมีเงินอยู่ ผู้ถือหุ้นในฐานะที่เป็นเจ้าของบริษัทจึงคิดว่าเราน่าจะใช้เงินบริษัทเข้าไปซื้อหุ้นแทน และถ้าผู้บริหารบริษัทเองก็เห็นพ้องต้องกันว่าหุ้นของบริษัทนั้นมีราคาถูกเกินไปจริง ๆ เมื่อเทียบกับพื้นฐานของบริษัท การซื้อหุ้นบริษัทคืนก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีและความเสี่ยงน่าจะมีจำกัด และนี่ก็คือที่มาของการที่บริษัทจะซื้อหุ้นของตนเองคืนจากตลาดหุ้น
โดยการซื้อหุ้นคืนใน "บางครั้ง" จะเกิดขึ้นเมื่อผู้ถือหุ้นบริษัทเห็นว่าหุ้นของบริษัทมีราคาถูกมาก หรือต่ำกว่าพื้นฐานที่ควรจะเป็นเลยอยากจะซื้อหุ้นเพิ่มแต่ไม่มีเงินแล้วหรือไม่อยากจะเสี่ยงเพิ่มอีก แต่ว่าตัวบริษัทเองนั้นมีเงินอยู่ ผู้ถือหุ้นในฐานะที่เป็นเจ้าของบริษัทจึงคิดว่าน่าจะใช้เงินบริษัทเข้าไปซื้อหุ้นแทน ในการประชุมผู้ถือหุ้นจึงมีมติให้มีการซ้อหุ้นคืน

บริษัทที่ทำการซื้อหุ้นคืนควรมีกำไรสะสมและสภาพคล่องทางการเงินสูง ผลของการซื้อหุ้นคืน ทำให้จำนวนหุ้นลดลง และ EPS เพิ่มขึ้นอีกด้วย

ในด้านบัญชีวิเคราะห์จากสมการบัญชีดั้งนี้
กปป.สินทรัพย์  = กปป. หนี้สิน +  กปป ทุน
กานซื้อหุ้นคืน เงินสดลดลง และส่วนทุนลดลง เท่าๆกันเช่น บริษัทมีสินทรัพย์ หนี้สิน และทุน ดังนี้
1,000        =      500   +  500
ซื้อหุ้นคืน 200 ลบ (งบการเงินจะแสดงหุ้นซื้อคืนเป็นลบในส่วนของผ้ถือหุ้น)
1,000 -200  =  500 + (500-200)
800  =  500 + 300
จะเห็นว่าส่วนของเจ้าของลดลง ถ้ากำไรเท่าเดิม ROE จะเพิ่มขึ้น EPS ก็จะเพิ่มขึ้นจากจำนวนหุ้นที่ลดลง

ในด้านตลาดทุนเหมือนดี เพราะ Investors ดูจะได้ประโยชน์ แต่ลองมาดูในด้านอื่นๆ และ Corporate financial management อีกมุมหนึ่งของตลาดทุนต้องพิจารณาว่าผู้บริหารกำลังส่งสัญญาณว่า
  1. ราคาหุ้นถูกเกินไป หรือ ราคาต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐาน
  2. ไม่มีโครงการใหม่ที่ลงทุนแล้วได้ผลตอบแทนสูงกว่าต้นทุนเงินทุนของบริษัท บริษัทจึงเอาเงินไปลงทุนในหุ้นตนเองแทน เพราะการลงทุนซื้อหุ้นตนเองได้ผลตอบแทนเท่ากับ ROE ปกติกิจการจะลงทุนเมื่อผลตอบแทนโครงการ IRR > WACC เพราะการลงทุนในโครงการที่ได้ผลตอบแทน > WACC จะทำให้เพิ่มมูลค่ากิจการ (Maximize shareholders’ value) ทางเลือกที่ถูกต้องคือเอาเงินไปลงในโคงการที่ได้ผลตอบแทน > WACC หากกิจการเอาเงินมาซื้อหุ้นตัวเองแสดงว่า ไม่มีโครงการลงทุนใหม่ที่น่าสนใจและให้ผลตอบแทนดีกว่าเดิม
  3. และจากสมการบัญชีพบว่าการซื้อหุ้นคืนทำให้กิจการลดขนาดลง นั่นคือกำลังจะ down sizing ตนเองลงอุตสาหกรรมกำลังชะลอตัวหรือหดตัวลงใช่หรือไม่
  4. การซื้อหุ้นคืนทำให้ ROE สูงขึ้นก็จริง แต่ D/E ก็สูงขึ้นด้วย ค่า D/E ที่เพิ่มขึ้นหมายถึง ความเสี่ยงเพิ่มขึ้น หมายความว่า ต้นทุนเงินทุนเพิ่มขึ้น และทำให้ expected return ของหุ้นทุนสูงขึ้นด้วยเช่นกัน ดังนั้นการเพิ่มขึ้นของ ROE ไม่ได้สะท้อนว่าราคาหุ้นต้องขึ้น เพราะเมื่อต้นทุน Cost of Capital เพิ่ม Expected Return หรือ Discount rate ใน DCF Model สูงขึ้น มูลค่ารวมจะลดลง เพียงแต่จำนวนหุ้นลดลงมากกว่า ทำให้เมื่อหารให้เป็นราคาต่อหุ้นดูสูงขึ้นดังนั้นในทางทฤษฎีแล้ว การซื้อหุ้นคืนจึงไม่ใช่การ  Maximize shareholders’ value แต่เพียงผลทางจิตวิทยาตลาดทุนที่ทำให้หุ้นขึ้นเท่านั้นแต่ไม่เกิด value addedโดยรวมในด้าน corporate financial management
  5. บริษัททำด้วยเหตุผลที่อยากจะให้ราคาหุ้นของตนเองเพิ่มขึ้น เพราะคิดว่าแรงซื้อจากบริษัทจะทำให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้น พูดง่ายๆ คือปั่นหุ้นตนเอง

ในทฤษฎีการเงินเรื่อง capital structure ต้นทุนหุ้นทุนจะผันแปรโดยตรงกับ D/E เมื่อ
rk   =  ผลตอบแทนหุ้นทุนที่ มี  Leverage ที่ D/E
r0  =   ผลตอบแทนหุ้นทุนที่ ไม่มี  Leverage หรือที่ D/E = 0
rd  =   ผลตอบแทนหุ้นกู้หรือต้นทุนเงินกู้
          rk   =   r0  +  (D/E) * (r0  - rd)

ถ้าพิจารณาที่เบต้า ซึ่งใช้วัดความเสี่ยงเมื่อ D/E เพิ่ม (ไม่ว่าจะจากการก่อหนี้เพิ่มหรือการซื้อหุ้นคืนก็ตาม) ต้นทุนหรือ Required rate of return of  Equity ย่อมเพิ่มขึ้นด้วยเสมอ ดังสมการ
     bE = bA(1 + D/E)

ดังนั้นเมื่อบรษัทซี้อหุ้นคืนผลระยะยาวทางการเงินที่ตามมาต้องไม่ลืมคือ Risk เพิ่ม Return ที่ต้องการเพิ่มขึ้นตาม

4 การจ่ายหุ้นปันผล คล้ายๆกับ การซื้อหุ้นคืนคือแทนที่จะเอาเงินจ่ายปันผล ก็จ่ายเป็นหุ้นแทน ส่วนใหญ่บริษัทมีกำไรมากและอยากเก็บเงินสสดไว้ใช้ดำเนินงาน ก็จ่ายเป็นหุ้นแทน ให้ผู้ถือหุ้นไปเอาเงินสดจากตลาดแทน หรือใครจะถือต่อก็ได้ การจ่ายหุ้นปันผลไม่กระทบกับส่วนเจ้าของ เพราะย้ายกำไรสะสมขึ้นไปเป็นเป็นหุ้นทุน แต่ผลกระทบคือ เม็ดหุ้นมากขึ้น อาจเกิด dilution effect ได้ แม้จะทำกำไรเท่าเดิม ROE เท่าเดิม แต่โดยรวมๆ wealth ของนักลงทุนคงที่ที่ระดับ P/E นั้น เพราะ EPS ลดลง Price ลดลง แต่จำนวนหุ้นเพิ่มขึ้นชดเชยแทน
จะเห็นว่าแค่ทุน ยังมีวิธีการมากมายในการบริหาร ทุกการกระทำล้วนต้องมีหลักการและเหตุผลที่ดี หลายบริษัท เดี๋ยวซื้อหุ้นคืนกลับ นัยหนึ่งที่ควรพิจารณาคือ การซื้อคืน แสดงว่า เหลือเงิน ไม่มี project ใหม่ขยายออกไปแล้ว หรือโครงการใหม่ๆ มีผลตอบแทนน้อยกว่า existing project เพราะถ้ามีทำไมไม่ลงทุนให้เราเพื่อเพิ่มกำไร ทางทฤษฎีการเงิน แสดงว่ากิจการเข้าสู่วงจรชะลอตัวถึงถดถอย คล้ายๆ กับบริษัทที่จ่ายอัตราปันผลมากๆ 60-70% หรือ อาจเกือบ 100% แสดงว่าการเอาเงินไป reinvest หรือไม่มีโครงการที่สร้างผลกำไรเพิ่มได้ การซื้อหุ้นคืนกลับย่อมไม่ช่เรื่องดีนัก เพราะด้านหนึ่ง กิจการแต่ง ROE ด้วย

ส่วนการจ่ายหุ้นปันผล มี 2 นัย คือ กิจการไม่มีเงินสดมากพอ ก่อหนี้ก็ไม่ไหว ในมุมหนึ่งคือมีเงินแต่กิจการเห็นโอกาสลงทุนในโครงการใหม่ว่าให้ประโยชน์มากกว่า (ROCI) หากเป็นเช่นนั้นไม่จ่ายปันผลเลยก็ได้ เพราะการจ่ายหุ้นปันผลทำให้ EPS เกิด dilute ถ้ากำไรไม่มากพอกับหุ้นที่เพิ่มจะทำให้ราคาหุ้นลดลง

การวิเคราะห์ทางบัญชี
กปป.สินทรัพย์   =    กปป. หนี้สิน  +  กปป ทุน
      0                  =          0      +  (RE ลดลง) + หุ้นทุนเพิ่ม  การจ่ายหุ้นปันผลจึงไม่กระทบกับส่วนเจ้าของ
ถ้ากำไรไม่เพิ่ม ราคาหุ้นจะลดลงเพราะเกิด dilution ไม่เช่นนั้น P/E  จะสูงขึ้น
วิธีการคิด dilution ใช้หลักการเหมือนเรื่องเพิ่มทุน

Credit: https://www.facebook.com/sanpong.limthamrongkul

ค่าเสื่อมราคา โดย อ.สรรพงษ์


วันนี้จะมาคุยเรื่องค่าเสื่อมราคากันสักหน่อย หลายคนคงรู้มาบ้างแล้ว แต่ผมคงไม่คุยแบบธรรมดาหรอกครับว่ามายังไง คำนวณอย่างไร การเป็นนักลงทุนผมว่าควรรู้ในอีกหลายมุมมากกว่า แบบที่แม้แต่นักบัญชีบางคนเองทำเป็น ลงบัญชีเป็น แต่ไม่เคยรู้เหตุผลที่มาที่ไปบางประเด็น

ค่าเสื่อมราคาเป็นรายการที่ถือเป็นค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงาน เป็นค่าใช้จ่ายที่ประมาณขึ้นเพื่อหักออกจากมูลค่าของสินทรัพย์ในรายการอาคาร เครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆ ในมาตรฐานการบัญชีมีหลายวิธีที่อนุณาตให้ใช้คำนวณได้ แบ่งกว้างๆ ได้เป็น 3 กลุ่มคือ
  1. วิธีเส้นตรง Straight Line Method
  2. วิธีลดลง (Declining Method) ซึ่งแบ่งย่อยเป็น
2.1      Double Declining Method
2.2      Sum of the Year Digit Method
  1. Unit of Production Method
ในแต่ละวิธีนั้นคำนวณอย่างไร คิดอย่างไร ผมคิดว่าในฐานะนักลงทุนรู้หลักการและผลกระทบก็พอ เพื่อให้เข้าใจผลที่ได้รับ เพราะรายการนี้บางคนก็มองว่า แต่งได้ตุกติกได้ ความจริงก็อาจเป็นเช่นนั้น แต่ในข้อเท็จจริงแล้ว การแต่งตัวเลขค่าเสื่อมราคานั้นบริษัทต้องชั่งใจ 2 ทางคือ ประโยชน์ทางภาษี ซึ่งจะประหยัดเงินสดจ่าย และกำไรสุทธิ เช่น กำไรก่อนหักค่าเสื่อมราคาและภาษี เท่ากับ 1,000 MB อัตราภาษีเท่ากับ 20% บริษัทมี PPE เท่ากับ 4,000 MB ถ้าค่าเสื่อมคิด 10% จะเป็นค่าใช้จ่าย 400 MB มี EBT 600 MB หลังหักภาษีจะมีกำไรสุทธิ 480 MB แต่ถ้าค่าเสื่อมคิด 20% จะเป็นค่าใช้จ่าย 800 MB มี EBT 200 MB หลังหักภาษีจะมีกำไรสุทธิ 160 MB

-การหักอัตราค่าเสื่อมต่ำ กำไรจะสูงกว่า และมูลค่าสินทรัพย์ก็จะสูงกว่า ROA ก็จะดีกว่า 480/3600 = 13.3%
การหักอัตราค่าเสื่อมสูงกว่า กำไรจะต่ำกว่า และมูลค่าสินทรัพย์ก็จะต่ำกว่า ROA ก็จะน้อยกว่า 160/3200 = 5.0%

-แต่ในแง่กระแสเงินสด การหักอัตราค่าเสื่อมต่ำ จะประหยัดเงินภาษีได้ 80 MB ส่วนการหักอัตราค่าเสื่อมสูงจะประหยัดเงินภาษีได้ 160 MB

-ในงบกระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงาน การหักอัตราค่าเสื่อมต่ำจะบวกค่าเสื่อมในกำไรกลับ 400 MB กำไร 480 + 400 = 880 MB ส่วนกรณีการหักอัตราค่าเสื่อมสูงจะบวกค่าเสื่อมในกำไรกลับ 800 MB กำไร 160 + 800 = 960 MB

-ในการคำนวณอัตราส่วนที่เกี่ยวข้องเช่น QE การหักอัตราค่าเสื่อมต่ำจะได้ 880/480 = 1.83

- ส่วนการหักอัตราค่าเสื่อมสูง QE จะได้ 960/160 = 6.0 มีคุณภาพสูงกว่า ซึ่งก็มีเหตุมีผล เนื่องจากว่ากระแสเงินสดจากการดำเนินงานจะต่างกัน 960-880 = 80 MB ซึ่งก็เป็นผลจาก tax shield = (800-400) x 20% = 80 MB

- ดังนั้นในกิจการจึงต้องเลือกว่า จะแสดงกำไรสูงๆ แต่กระแสเงินสดน้อยกว่า กับการมีกำไรแต่ไม่สูงมาก แต่กระเงินสดสูง การจะให้น้ำหนักใดขึ้นกับว่า ลักษณะอุตสาหกรรมใช้หรือต้องการสภาพคล่องมากกว่ากัน ในธุรกิจที่มีสภาพคล่องสูงโดยธรรมชาติอยู่แล้ว ก็มักเลือกแสดงกำไรสูงไว้ก่อน ส่วนธุรกิจที่ต้องการสภาพคล่องสูง อาจเลือกกระแสเงินสดมากกว่า

- แต่ข้อที่มักไม่คำนึงถึงกันเท่าไรคือ การตัดค่าเสื่อมต่ำหมายความว่ามูลค่าสินทรัพย์ PPE สุทธิ จะสูงกว่า ในภาวะปกติทั่วไปก็ดีกว่า แต่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) แนวโน้มที่จะเกิดการด้อยค่าจะสูงมากกว่า เพราะในการด้อยค่ามูลค่าจากการใช้จะมีโอกาสลดลงต่ำกว่ามูลค่าบัญชี และราคาขายสินทรัพย์ก็อาจลดลงมากกว่า เมื่ออเทีบยกับธุรกิจที่ตัดค่าเสื่อมสูงมูลค่าทางบัญชีจะแสดงต่ำกว่า เช่น (จากตัวอย่าง) ถ้าตัด 10% สินทรัพย์ เท่ากับ 3600 MB ส่วนกรณีตัดที่ 20% สินทรัพย์ เท่ากับ 3200 MB แต่เนื่องจากการประมษณมูลค่าจากการใช้ ย่อมเท่ากันเพราะเป็นธุรกิจอันเดียวกัน สมมติได้ออกมา 3400 MB กรณที่แสดง 3600 จะเกิดด้อยค่าขึ้น 200 MB เป็นค่าใช้จ่ายในงวดนั้น ส่วนกรณีที่แสดง 3200 MB ไม่เกิดการด้อยค่า

-ดังนั้นการตัดค่าเสื่อมถ้าดูเพียงมิติปีต่อปี อาจจะสรุปเอาว่าตัดอัตราต่ำดีกว่า แต่ถ้าดูในหลายๆมิติ ดูระยะยาวๆ อาจจะไม่ใช่ก็ได้

-ในอีกมุมหนึ่ง ค่าเสื่อมราคาที่หักในแต่ละปีคือการสำรองกำไรหรือเงินสดในธุรกิจเพื่อลงทุนทดแทนในภายหลังจากที่สินทรัพย์นั้นหมดอายุและต้องซื้อทดแทน ธุรกิจก็จะมีงินสดเหลืออยู่ไปลงทุนทดแทนได้โดยไม่ต้องกู้เพิ่ม และจ่ายปันผลได้เต็มที่ เช่น
ปีที่ 0      PPE 4000     =    E 4000
ปีที่ 1      cash 960 + PPE 3200    =    E 4000 + 160   ค่าเสื่อม 800
ปีที่ 1      cash (960-160) + PPE 3200    =    E 4000 + 160 – 160 จ่ายปันผล 100% 160 MB
ปีที่ 1      cash 800 + PPE 3200    =    E 4000
ปีที่ 2      cash 1600 + PPE 2400    =    E 4000
ปีที่ 3      cash 2400 + PPE 1600    =    E 4000
ปีที่ 4      cash 3200 + PPE 800    =    E 4000
ปีที่ 5      cash 4000 + PPE 0     =    E 4000
สิ้นปีที่ 5 ต้องซื้อทดแทนพอดี และ PPE หมดอายุพอดี กิจการจะสะสมเงินซื้อทดแทนได้พอดี และดำเนินกิจการต่อไปได้ตามหลัก going concern การดำรงอยู่ต่อเนื่อง ถ้าหักน้อยปีละเพียง 400 จะสะสมได้ เพียงปีละ 400 เมื่อครบ 5 ปี จะมีงบดังนี้
 ปีที่ 5  cash 2000 + PPE 2000     =    E 4000   จ่ายปันผล 100% เท่ากัน
เนื่องจาก สินทรัพย์ PPE หมดค่าลงในปีที่ 5 จะขาดทุนทันที 2000 และต้องกู้เงินมาอีก 2000 จึงจะมีเงินซื้อทดแทนได้ จะเกิดผลด้านลบคือ ถ้าตัดน้อยกว่าที่ควรเป็นจริง นอกจากจะมีขาดทุนจากสินทรัพย์ (อาจเป็นการด้อยค่า) แล้ว กิจการยังต้องก่อหนี้เพิ่ม โดยรวมๆ แล้วไม่เป็นผลดีต่อกิจการในระยะยาว

-ดังนั้นการตัดในอัตราต่ำกว่าความจริงเพื่อสร้างกำไร กลับไม่เป็นผลดีระยะยาวกับกิจการ

-ส่วนวิธีในการตัดค่าเสื่อมราคา ในทางทฤษฎีทางบัญชีนั้น การเลือกวิธีใดนั้นมีเหตุผลที่แตกต่างกันคือ

-วิธี  Straight Line เหมาะกับสินทรัพย์ที่เสื่อมมูลค่าตามระยะเวลาโดยตรง การหมดประโยชน์เกิดขึ้นเพราะเงื่อนเวลาโดยตรง และค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและซ่อมแซมค่อนข้างคงที่ตลอดการงาน แนวคิดสำคัญเรื่องค่าเสื่อมนั้นเดิมในทางทฤษฎีทางบัญชีจะมองว่า ค่าเสื่อมราคาและค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและซ่อมแซมเมื่อรวมกันแต่ละปีจะคงที่ ถ้าค่าใช้จ่ายด้านการบำรุงรักษาและซ่อมแซมค่อนข้างคงที่ ค่าเสื่อมราคาควรจะใช้วิธีเส้นตรง

-วิธีลดลง (Declining Method) วิธีนี้การคิดค่าเสื่อมจะสูงในปีแรกๆ ลดน้อยลงในปีหลังๆ (ทั้ง Double Declining และ Sum of the yeas digit) แนวคิดสำคัญเรื่องค่าเสื่อมนี้จะมองว่า ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและซ่อมแซมจะเกิดน้อยในช่วงปีแรกๆ และจะเพิ่มขึ้นในช่วงหลังๆ ส่วนค่าเสื่อมจึงตัดมากในปีแรกๆ และลดลงในปีหลังๆค่าเสื่อมราคาและค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและซ่อมแซมเมื่อรวมกันแต่ละปีจะคงที่เช่นกัน

-ส่วนวิธีสุดท้าย Unit of Production อยู่บนหลักคิดที่ว่าประโยชน์สินทรัพย์หมดลงตามผลผลิตที่เกิดหรือใช้งาน โดยแนวคิดนี้ไม่คึงนึงถึงค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและซ่อมแซม Unit of Production นี้คิดได้ 2 แบบคือ หน่วยผลิตสินค้าหรือชั่วโมงการผลิต (ชั่วโมงการใช้งาน)

-การกำหนดวิธีไม่เหมาะสมอาจจะให้มูลค่าของสินทรัพย์ที่เหลือสุทธิต่างไปจากความเป็นจริงมาก ก็ไม่ต่างจากการกำหนดอัตราคิดค่าเสื่อมไม่เหมาะสม ย่อมไม่เป็นผลดีกับกิจการในระยะยาว

-ค่าตัดจำหน่ายสินทรัพย์ระยะยาวที่เกิดขึ้นก็สามารถใช้หลักการเดียวกัน มีบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ เช่น BECL ที่ตัดค่าตัดจำหน่ายสิทธิในการใช้ประโยชน์บนงานก่อสร้างด้วยวิธี Unit of Production คือ สิทธิในการใช้ประโยชน์บนงานก่อสร้างที่เสร็จแล้วตัดจำหน่ายเป็นค่าใช้จ่ายในงบกำไรขาดทุนตามปริมาณรถที่ใช้บริการ มองแล้วอาจไม่รู้สึกอะไร แต่ถ้าดูตามข้อเท็จจริง ค่าสิทธิ์นี้ก็คือ ค่าสัมปทานซึ่งประโยชน์จากการใช้ในความจริงหมดประโชน์ตามเงื่อนเวลามากกว่าหมดเพราะปริมณลดที่ขึ้น สมมติว่าปีนั้นรถไม่ขึ้นทางด่วนเลยไม่เกิดค่าตัดจำหน่ายสิทธิในการใช้ประโยชน์เป็นค่าใช้จ่ายเลยหรือ แล้วสัมปทานหมดอายุลงไป 1 ปี มูลค่าจะไม่ลดลงตามหรือ ทำนองกลับกัน ถ้ารถขึ้นมากประโยชน์สัมปทานจะหมดลงเร็วหรือ ก็ไม่ใช่ดังนั้นปริมาณรถจึงไม่ใช่เงื่อนไขของการตัดค่าตัดจำหน่ายสิทธิในการใช้ประโยชน์ ควรจะตัดแบบเส้นตรงมากกว่า

-ดังนั้นแทนที่กำไรจะเพิ่มขึ้นมากในช่วงที่รายได้เพิ่มมากขึ้นจากปริมาณรถที่ใช้เพิ่มขึ้น กลับถูกลดลงจากค่าตัดจำหน่ายสิทธิในการใช้ประโยชน์บนงานก่อสร้างที่เสร็จแล้ว เมื่อกำไรลดลง เงินปันผลย่อมลดลง ในทางตรงข้ามกรณีที่รถใช้น้อยลง กำไรก็จะสูงกว่าที่ควร แต่เนื่องจากธุรกิจนี้ไม่ต้องสำรองเงินสดเพื่อซื้อทดแทนสินทรัพย์ที่หมดประโยชน์ กระแสเงินสดจึงสามารถจ่ายได้ทั้งหมดของกำไร และ D/E ควรมีแนวโน้มลดลง แต่บริษัทกลับมี D/E ที่แกว่งไม่แน่นอน นั่นเป็นเพราะการกำหนหดอัตราค่าตัดจำหน่ายไม่เหมาะสมส่วนหนึ่ง

-เรื่องค่าเสื่อมบางคนว่าง่ายๆ มันก็สามารถมีประเด็นทางการเงินได้ บางคนว่าแค่บัญชียังงงเลย เอาว่ารู้ผลกระทบแต่ไม่ต้องรู้ว่าลงอย่างไร อย่าสนใจว่าตัดอย่างไร ถูกหรือไม่ คำถามคือภาพกว้างๆ เหมาะสมไหมพอ

Credit: https://www.facebook.com/sanpong.limthamrongkul

ดุลยภาพการเจริญเติบโต (Growth Balance)


การสร้างความเจริญเติบโตให้ธุรกิจเป็นสิ่งที่ผู้บริหารต่างมุ่งหวังให้มีการเติบโตสูงๆ  แต่การเติบโตของบริษัทนั้นไม่ใช่เพียงกำไรที่เพิ่มมากขึ้นเท่านั้น การสร้างความเติบโตเปรียบเหมือนกับการให้ยาคนไข้ หากแพทย์ให้ยามากเกินไป ก็อาจเป็นผลร้ายได้ เพราะความเติบโตนอกจากกำไรและสินทรัพย์ที่จะเพิ่มขึ้นแล้ว ความต้องการเงินสดจะเพิ่มขึ้นด้วย หากไม่รักษาสมดุลทั้งสามไปพร้อมกัน จะทำให้เกิดปัญหาการเงินในระยะยาว

ถ้าให้ความสมดุลของการเติบโตคือ E
                                                   E   =      R / (G x T)
   เมื่อ     R    กำไรสะสม / ขาย           RE/Sales : กำไรสะสม = NI - Dividend
             G   อัตราการเติบโตยอดขาย Sales Growth
             T   สินทรัพย์ทั้งหมด/ขาย บางกรณีถ้าดูในมุมที่แคบลง อาจให้ T คือ ทุนหมุนเวียน / ขาย   WC/Sales  :  ทุนหมุนเวียน = สท หมุนเวียน ลบ นส หมุนเวียน ก็ได้ หากไม่มีการลงทุนใน ที่ดินอาคารและอุปกรณ์ (PPE) ซึ่งปกติแล้วการลงทุนใน PPE มักจะใช้หนี้สินระยะยาวที่ได้เพิ่มขึ้นจากสัดส่วน D/E เช่นเดิมมี D/E = 1.2 เท่า มีหนี้สินรวม 1,200 MB ส่วนของผู้ถือหุ้นรวม 1,000 MB เมื่อมีกำไรเพิ่ม 200 MB จะสามารถเพิ่มหนี้ได้ 1,200*1.2 – 1,200 = 240 MB โดยสัดส่วน D/E เท่าเดิม ถ้าใช้ 100 MB สำหรับทุนหมุนเวียนก็จะลงทุนใน PPE ได้เพียง 140 MB

-จาก Model ถ้าพิจารณาในระยะสั้น เราอาจให้ T คือ ทุนหมุนเวียน / ขาย   WC/Sales  :  ทุนหมุนเวียน = สท หมุนเวียน ลบ นส หมุนเวียน และยังคงให้  E   =   R / (G x T)

การวิเคราะห์ดุลยภาพการเจริญเติบโต (Growth Balance analysis)
-อัตราส่วนที่เหมาะสมควรเข้าใกล้ 1
-ถ้าใกล้หรือเท่ากับ 1 แสดงว่ากระแสเงินสดปกติ   
-ถ้ามากกว่า 1(ยิ่งมาก) แสดงว่ากระแสเงินสดเป็นบวก (ยิ่งมาก)
-ถ้าน้อยกว่า 1 (ยิ่งต่ำ) แสดงว่ากระแสเงินสดเป็นลบ (ยิ่งน้อย)

-ถ้าบริษัทใดที่ยอดขายเติบโตสูงหรือคาดว่าจะเติบโตสูง นักลงทุนมักจะคิดหรือคาดว่า กำไรและกระแสเงินสดจากการดำเนินงานจะเพิ่มสูงขึ้นด้วยนั้น บางครั้งอาจพบว่าไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์

-หลายบริษัทยอดขายเพิ่มขึ้นกำไรเพิ่มขึ้นแต่ กระแสเงินสดจากการดำเนินงานกลับตรงข้าม หรือเพิ่มน้อยกว่าอัตราการเติบโตของรายได้หรือกำไร แสดงว่าเกิดความไม่สมดุลของการเติบโตในสินทรัพย์ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการก่อหนี้เพิ่มขึ้น D/E เพิ่มขึ้น และสุดท้ายหนีไม่พ้นต้องเพิ่มทุนเพื่อลดภาระหนี้

-การเพิ่มทุนเพื่อลดภาระหนี้ โดยทางหลักการทางการเงินไม่ถือว่าเป็นการเพิ่มมูลค่าธุรกิจ เพราะต้นทุนของหน้สินเมื่อเทียบกับต้นทุนเสียโอกาส (Opportunity cost) ของผู้ถือหุ้นคือผลตอบแทนจากการลงทุน (Expectes return) ซึ่งสูงกว่าต้นทุนดอกเบี้ยมาก

-จึงเท่ากับว่าเม็ดเงินที่นำไปเพิ่มทุนสร้างผลตอบแทนได้เพียงอัตราดอกเบี้ยจากตลาดเงิน เพราะเพียงเอาเงินกู้ออกแทนด้วยเงินเจ้าของ ที่ลดไปคือดอกเบี้ยจ่ายเท่านั้นเงินที่เหลือจึงไปลงทุนในโครงการที่ให้ผลตอบแทน IRR ของโคงการที่เหลือ ดังนั้น เงินเพิ่มทุน 100 บาท แทนที่จะสร้างผลตอบแทนทั้งหมดที่ IRR (ซึ่งควรมากกว่า ROCI จึงสร้างมูลค่าเพิ่มธุรกิจ) 

Credit: https://www.facebook.com/sanpong.limthamrongkul

Sustainable Growth


ความรู้ทางการเงิน การลงทุน และการบัญชี (10/9/56)
เมื่อวานได้กล่าวถึง Organic Growth และ Sustainable Growth ไปบ้างแล้ว วันนี้มาต่อกันอีกกับ Growth ทั้งสองตัวนี้ หลายคนเมื่อได้อ่านหลักการแล้วก็อาจเกิดคามตามมาอีกว่า แล้วจะหาค่าของ Growth อย่างไร

Sustainable Growth นั้นได้เคยกล่าวไว้แล้วว่า g(s) = ROE *(1-b) เมื่อ b คืออัตราจ่ายปันผล บางตำราเรียกค่า (1-b) ว่า retainted rate เข้าใจง่ายๆ คือกำไรที่บริษัทเก็บไว้ใช้ขยายธุรกิจนั่นเอง ถ้าเก็บไว้มากก็จะกู้ได้เพิ่มขึ้นตามสัดส่วน D/E ที่มีเดิม การขยายเพิ่มในส่วน financing recources นี้คือแหล่งเงินทุนระยะยาวภายในที่สำคัญของการขยายตัยหรือการเติบโตของบริษทนั่นเอง
Organic Growth หามาได้อย่างไรจากนิยามที่บอกไว้การเติบโตของบริษัทที่เติบโตด้วยสินทรัพย์ที่มีอยู่ของบริษัท นั่นคือค่า ROA นั่นเอง แต่ค่านี้ต้องปรับปรุงออกด้วยส่วนแบ่งกำไรหรือเงินปันผล และควรใช้งบเฉพาะของกิจการที่หักเงินลงทุนออกให้หมดเพื่อเหลือแต่ core business เท่านั้น ดังนั้นถ้งกล่าวว่าการเติบโตนี้อยู่ที่ผู้บริหารจะมีฝีมือขนาดไหนที่จะนำทรัพากรมาทำให้เกิดกำไร สรุปง่ายๆว่า g(o) = ROA

g(s) = ROE *(1-b) ---- > Sustainable growth
g(o) = ROA          ---- > Organic growh

ในสภาวะสมดุลแล้ว g(s) = g(o)
ROE *(1-b) = ROA   เมื่อให้  NI/E = ROE และ NI/A = ROA
จะได้ ROA/ROE  =  1-b หรือ E/A = 1-b
จากสมการนี้บอกว่าอัตราการจ่ายปันผลที่เหมาะสมหรือเกิดสมดุลในระยะยาวคือ b = 1 – E/A = D/A
หรือเท่ากับสัอส่วนหนี้ต่อสืนทรัพย์ทั้งหมด เช่น บริษัทมีค่า D/E ที่ 1.5 เท่า D/A = 1.5/2.5 = 60% ควรจ่ายปันผลในระดับ 60% เป็นต้น นี่คือทางทฤษฎีการเงิน

ถ้าหากในสภาวะทั่วไปที่ g(s) เม่เท่ากับ g(o)
g(s) = ROE *(1-b)     ……….(1)
g(o) = ROA               ……….(2)
นำเอาสมการ (1)/(2) จะได้  g(s)/g(o)  = ROE *(1-b)/ROA = (1+D/E)*(1-b)
 g(s) * E/A  = g(o) * (1-b) …(3)
จากสมการที่ (3) นี้ g(o) หรือ Organic growth = g(s) * (E/A)/(1-b)

หุ้นที่มีส่วนทุนมากๆ (ส่วนทุนนี้รวมทั้งหมดคือรวมกำไรสะสมด้วย = ส่วนของผู้ถือหุ้นทั้งหมด) ย่อมสามารถจ่ายอัตราปันผลที่สูงได้มากกว่า หุ้นที่มีสัดส่วนหนี้สูง (E/A ต่ำๆ) ซึ่งจะจ่ายอัตราปันผลได้ไม่มาก สำหรับธุรกิจในอุตสาหกรรมเดียวกันเพราะจะทำให้ g(o) ลดลง สูญเสียหรือแสดงถึงความเสียเปรียบทางการแข่งขัน

Credit: https://www.facebook.com/sanpong.limthamrongkul

Organic Growth


คือการเติบโตของบริษัทที่เติบโต้วยทรัพยากรหรือสินทรัพย์ที่มีอยู่ของบริษัท (Organic growth is growth that comes from a company's existing businesses) เป็นการเจริญเติบโตที่มาจากธุรกิจหลักของบริษัท ซึ่งอยู่ที่ผู้บริหารจะนำทรัพยากรภายในบริษัทมาทำให้กำไรได้ขนาดไหน ซึ่ง Organic Growth จะไม่รวมการเติบโตที่มาจากการควบรวมกิจการอื่น ในด้านของบริษัทจะแบ่งการเติบโตออกเป็น 2 ส่วน คือ Organic Growth กับ Non-Organic Growth โดย Organic Growth สามารถแบ่งเป็น 2 ส่วนได้อีก คือสินค้าเดิม ลูกค้าเดิม หรือสินค้าเดิม ลูกค้าใหม่ Organic Growth ที่ดีหรือผู้บริหารที่เก่งควรต้องโตเร็วกว่าตลาด การเติบโตแบบ Organic Growth เป็นการเติบโตที่ปลอดภัยและมั่นใจได้มากกว่าการเติบโตด้วยการหันเข้าสู่ ธุรกิจใหม่ๆ (non-organic) Organic Growth จะมีการใช้สิ่งที่บริษัทมีอยู่แล้วรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งให้เป็นประโยชน์ เช่น ฐานลูกค้ากลุ่มเดิมแต่เพิ่มการบริโภคให้มากขึ้น (Re-used strategy) หรือสินค้าเดิมแต่ขยายฐานลูกค้าออกไป เป็นต้น นั่นคือใช้ฐานลูกค้าเดิมที่มีอยู่หรือใช้ฐานสินค้าเดิม คนที่เรียนด้าน Strategic Managemnt จะรู้จักคำว่า Red-Ocean Strategy การเติบโตด้าน Organic Growth จะอยู่ใน Red-Ocean Strategy ส่วน Non-Organic Growth ในด้าน Strategic Managemnt คือการเติบโตในการขยายธุรกิจไม่ว่าจะเป็นแนวดิ่ง (Vertical Growth) เช่นการขยายธรกิจโดยการขยายไปยัง Downstream หรือ Upstream ก็ตาม หรือขยายไปทางแนวนอน (Horizonal Growth) และยังรวมถึงกลยุทธ์แบบ Blue-Ocean ด้วย (สินค้าใหม่ ตลาดใหม่)
การเติบโตแบบ Non-organic ที่พบเห็นได้บ่อยๆ คือ การเติบโตโดยวิธีควบรวมกิจการ (M&A) วิธีนี้บริษัทจะซื้อกิจการเพื่อนำงบการเงินมารวมกัน (หรือบันทึกส่วนแบ่งกำไร แล้วแต่กรณีว่าถือแบบร่วมหรือย่อย) วิธีนี้จะว่าไปก็เหมือนกับการเติบโตแบบหลอกๆ ได้เหมือนกันหากไม่วิเคราะห์ให้ดี เพราะบริษัทที่ซื้อมายังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย แต่งบการเงินของบริษัทแม่ก็โชว์ว่า มีกำไรเพิ่มขึ้นได้แล้ว บางทีปีที่ไปซือก็โชว์กำไรเพิ่มก้าวกระโดดจากกำไรต่อรองจากการซื้อ

การเติบโตแบบ Organic Growth นั้นคล้ายกับ Sustainable Growth แต่ในด้านของ Sustainable Growth จะเน้นด้าน Capital Structure การเติบโตนี้ต้องรักษาระดับ D/E ให้คงที่เสมอ แต่ใน Organic Growth ไม่พูดถึง แต่ก็ไม่ใช่การขยายธุรกิจด้วยการก่อหนี้เพราะมุ่งใช้ทรัพยากรภายในที่มีอยู่ การก่อหนี้หรือเพิ่มทุน ถือเป็นการใช้ External Rsoursces จึงบอกว่าคล้ายกันแต่ไม่เหมือนกัน ตรงที่ Organic Growth เน้นทางด้าน Assets Side ส่วน Sustainable Growth เน้นทางด้าน Financing Side

สำหรับนักลงทุนระยะยาวแล้ว การหาหุ้นที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งในระยะยาว โดยเฉพาะแนวทาง VI แบบวอร์เรน บัฟเฟตต์ การหาหุ้นที่เติบโตแบบ Organic Growth สำคัญอย่างมาก แนวทางการหามูลค่าหุ้นด้วย EPV (Earning Power Value) ก็อยู่บนหลักคิดเรื่อง Organic Growth

Credit: https://www.facebook.com/sanpong.limthamrongkul

หลักเกณฑ์การวัด การวัดเชิงปริมาณ (Quantitative measurement) และการวัดเชิงคุณภาพ (Qualitative measurement)


ความรู้ทางการเงิน การลงทุน และการบัญชี 


หลักเกณฑ์การวัด การวัดแบ่งได้เป็นสองแบบคือ 1. การวัดเชิงปริมาณ (Quantitative measurement) เป็นการวัดที่ตรงไปตรงมา (objective) โดยไม่เอาความรู้สึกหรืออารมณ์ (Sentiment) เข้าไปเกี่ยวข้อง การวัดจะออกมาเป็นตัวเลข เช่น นาย A อายุ 46 สูง 168 น้ำหนัก 86 ไม่ว่าใครจะมองว่า นาย A แก่หรือไม่แก่ เตี้ยหรือสูง อ้วนหรือผอม ตัวเลขที่วัดได้นี้ก็จะเป็นเช่นนี้เสมอ ไม่ว่าใครจะเป็นคนวัดก็ตาม เพราะตัวเลขมาจากตัวตนของนาย A ที่เป็น object ให้วัด จึงเรียกว่า objective คือเป็นไปตามสิ่งที่วัดไม่ขึ้นอยู่กับคนวัด ถ้าเป็นบริษัทก็คืองบการเงิน ที่แสดงจำนวนมูลค่าสินทรัพย์ หนี้สิน ทุน รายได้ ค่าใช้จ่าย กำไร ให้เราได้เห็นเหมือนๆ กัน

ส่วนที่ 2. การวัดเชิงคุณภาพ (Qualitative measurement) เป็นการวัดโดยอาศัยความรู้สึกของคนที่ประเมินสิ่งใดสิ่งหนึ่งตามความรู้สึกของตัวเอง (subjective) ดังนั้น คุณ ก. อาจจะบอกว่า นาย A แก่ คุณ ข. อาจจะบอกว่ายังไม่แก่ คุณ ค. อาจจะบอกว่า นาย A เตี้ย แต่คุณ ง. อาจจะบอกว่ารูปร่างสันทัด คุณ จ. อาจจะบอกว่า นาย A อ้วนมาก คุณ ฉ.อาจจะบอกว่านาย A เผละแล้วก็ได้ จะเห็นได้ว่าการวัดแบบนี้ผลการวัดจะไม่เป็นตัวเลข แต่จะเป็นคำคุณศัพท์ (adjective) ที่แต่ละคนใช้บรรยายผลการประเมินนาย A คำตอบเป็นไปตามผู้ประเมิน (ประธาน หรือ subject ของประโยค) จึงเรียกว่าเป็นการวัดแบบ subjective เป็นไปตามความรู้สึกของผู้ประเมิน

ถ้าหากนักลงทุนคนแรกบอกหุ้นราคาที่ 12 บาท แพงแล้ว อีกคนบอกว่าที่ราคา 15 บาทยังไม่แพง ราคาหุ้นเป็นปรากฏการณ์เชิงปริมาณ แต่จะถูกหรือแพงแล้วแต่คนคิด การวัดเชิงคุณภาพ (Qualitative measurement) บอกได้ยากว่าอะไรถูกหรือผิด บางคนอาจจะชอบธุรกิจลีสซิ่งไม่ชอบธนาคาร บางคนอาจมองว่าปล่อยสินเชื่อเหมือนกัน (เอาเงินหรือระดมเงิน มาหาส่วนต่างดอกเบี้ย) เลือกธนาคารเพราะมีการกระจายความเสี่ยงการปล่อยกู้มากกว่า ก็ขึ้นกับว่านักลงทุนคนนั้นมี Risk profile อย่างไร

การถกเถียงหรือเสนอแนะกันตามเว็ปบอร์ดต่างๆ มักภันแต่เรื่องการวัดเชิงคุณภาพ สิ่งที่สำคัญคือนัลงทุนต้องมีความรู้ที่ถูกต้องเสียก่อนว่าหลักการคืออะไร ล่าสุดที่อ่านเจอ บอกว่า DCA (Dollar Cost Average) คือวิธีการกระจายความเสี่ยงแบบหนึ่ง... DCA ไม่ใช่การกระจายความเสี่ยง (Risk Diversification) เพราะการซื้อหุ้นตัวเดิม ไม่ว่าราคาใดก็ตาม ความเสี่ยงของหุ้นนั้นทั้ง Systematic and Unsystematic Risk จะยังคงมีเท่าเดิม (ความผันผวนราคา Price Volatility) เป็นการเอาไข่หลายใบใส่ตระกร้าเดิมใบเดิม ไม่ใช่การนำไข่ใส่ตระกร้าหลายใบตามหลักการกระจายความเสี่ยง ถ้าเอาตระกร้าใบเดิม แต่ใส่ไข่หลายใบที่มีหลายๆราคา หากตระกร้าตก ไข่ก็แตกทั้งหมดอยู่ดี  จะโชคดีก็ต่อเมื่อสามารถขายยกตระกร้าได้ โดยเดิมอาจต้องขายราคาฌฉลี่ยสูง แต่ตอนนี้ขายเฉลี่ยได้ถูกลงขายง่ายขึ้นเท่านั้น แต่การกระจายความเสี่ยงคือ การใส่ไข่ตระกร้าหลายใบ ถ้าใบหนึ่งตก ก็ยังคงมีไข่เหลือในมืออยู่นี่คือหลักการของการกระจายความเสี่ยง (Risk Diversification)

แต่ข้อเสียคือการถือตระกร้าหลายใบอาจทำให้ไม่สามารถทำกำไรได้สูงมากๆ เพราะกำไรขาดทุนจะถูกถัวเฉลี่ยออกไป ดังนั้นนักลงทุนต้องรู้จัก Risk profile ของตนเองให้ถ่องแท้เสียก่อน และต้องจำไว้เสมอว่า High risk High return เสมอ ถ้าต้องการกำไรสูงๆ เร็วๆ ยิ่งเสี่ยงมาก อย่าเชื่อหรือคิดว่าจะถูกรางวัลที่หนึ่งได้ตลอดหรือเหมือนคนอื่นๆ ที่เขาเล่นหุ้นจนรวย คนร่ำรวยด้วยหุ้นมากๆนับคนได้ แต่คนเจ็บเพราะหุ้นมีนับไม่ถ้วน ในอเมริกามีแบบ Warren Buffett กี่สักคน แต่คนติดดอยเต็มตลาดหุ้นอเมริกา จากการได้ศึกษาและพูดคุยกับนักลงทุนทั้งในและนอกประเทศ หรือแม้แต่ได้ศึกษาและพูดคุยกับบุคคลและสถาบันพบว่าทุกตลาด ทุกกลุ่ม มีจุดอ่อนคล้ายๆกัน (ในหนังสือต่างๆก็สรุปไว้คล้ายๆกัน) แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นบ่อยแต่ไม่ค่อยมีการสรุปไว้คือ การจำเป็นต้องมีความรู้ที่ถูกต้องจริงๆ ที่เป็นเช่นนี้เพราะบางคนรู้ทฤษฎีหรือหลักการที่ผิด แต่มีกำไรก็เลยถ่ายทอดออกมา คนที่ขาดความรู้จึงเชื่อตามกันมา กำไรก็เลยคิดเอาว่าถูก ทั้งๆที่ มันคือโชค มันคือช่วงขาขึ้น ซื้ออะไรมันก็กำไรหมด ถ้ามีความรู้จริงแล้วท่านจะมีความนิ่งมาก ไม่ว่าตลาดจะขึ้นหรือลง

ผมจึงพยายามให้ความรู้ในการวัดและวิเคราะห์เชิงปริมาณมากกว่าความรู้การวัดและวิเคราะห์เชิงคุณภาพ แม้บางครั้งอาจต้องคาบเกี่ยวกันบ้าง แต่จะบอกถึงเหตุและผลทางหลักทฤษฎีไว้

ในการวัดเชิงปริมาณ (Quantitative measurement) คือการวัดจากสิ่งที่เกิดจริงแล้วเท่านั้น เช่น ขาย 10 บาท ต้นทุนที่จ่ายซื้อมาจริง 7 บาท กำไร 3 บาท ดังนั้นการวัดเชิงปริมาณคือวัดจากสิ่งที่เกิดเขึ้นจริงแล้วเท่านั้น ในทางการลงทุนก็คืองบการเงินนั่นเอง แต่สิ่งที่ยังไม่เกิดจริง แต่คาดการณ์เอา เป็นการวัดเชิงคุณภาพที่แสดงออกมาในรูปปริมาณเท่านั้น เช่นอัตราการเติบโตกำไรของไตรมาสหน้าหรือปีหน้า ในทางบัญชีเองก็มีข้อมูลเช่นนี้มาก เช่น ค่าเสื่อมราคา หนี้สงสัยจะสูญ การด้อยค่า เป็นต้น ตัวเลขประมาณการเหล่านี้จึงต้องมีข้อตกลงอันเป็นสากลที่ยอมรับโดยทั่วไปว่าต้องวัดแบบนี้เท่านี้ นั่นคือกำหนดเป็นมาตรฐานการบัญชีขึ้น เพื่อให้สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วและวัดด้วยราคาทุน เช่นรายการใน ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์มีการคิดค่าเสื่อมราคาอย่างเป็นระบบ นั่นจึงเป็นเหตุให้งบการเงินยังสามารถถูกตกแต่งได้ เพราะหลักเกณฑ์บางอย่างยังมีการวัดเชิงคุณภาพอยู่ (subjective) อายุการใช้งานสินทรัพย์ การรับรู้รายได้ของกิจการรับเหมาก่อสร้างตาม % งานที่เสร็จ รายการในบัญชีที่เป็นการประมาณการทั้งหลายจึงเป็นการพยายามวัดเชิงคุณภาพที่แสดงในรูปปริมาณ ดังนั้นในการอ่านและวิเคราะห์งบการเงินต้องพึงระวังและสังเกตว่าข้อมูลในงบที่มีนัยสำคัญต่อผลการดำเนินงาน หากเกี่ยวข้องมากต่อการวัดเชิงคุณภาพในรูปปริมาณ จะมีผลต่อกำไรของธุรกิจยิ่งมาก ดังนั้นเพื่อลดหรือตัดประเด็นนี้หลายคนจึงพิจารณาที่งบกระแสเงินสดประกอบ เพราะการวัดเชิงคุณภาพที่ประมาณการตัวเลขนั้น จะถูกขจัดออกไปเหลือแต่สิ่งที่เป็นเงินที่เคลื่อนไหวเท่านั้น แต่อย่ามุ่งดูแต่งบกระแสเงินสดอย่างเดียว เพราะวัตถุประสงค์ของงบกระแสเงินสดไม่ได้มุ่งหวังการวัดผลการดำเนินงาน แต่วัดการได้มาและใช้ไปของเงินสด ซึ่งถ้าสรุปงบต่างๆ จะเป็นดังนี้

งบแสดงฐานะการเงิน (งบดุล) = Wealth
งบกำไรขาดทุนและงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ = Successful
งบกระแสเงินสด = Survival

ดังนั้นการใช้ประโยชน์สูงสุดจากงบการเงินคือต้องเข้าใจวัดถุประสงค์ที่ถูกต้องเสียก่อน และจะยึดเอางบใดงบหนึ่งไม่ได้ เพราะตัวเลขทั้งสามงบเกี่ยวข้องและอธิบายที่มาที่ไปอย่างสัมพันธ์กัน เช่น ยอดขายมีผลต่อกำไรและยังกระทบต่อยอดลูกหนี้ ยอดลูกหนี้ที่คงเหลือต้นงวดและปลายงวดสะท้อนถึงการเก็บเงินจากการขาย ส่วนการประมาณการหนี้สงสัยจะสูญสะท้อนถึงคุณภาพลูกหนี้และกระทบต่อกำไรของธุรกิจ แต่ไม่กระทบต่อเงินสดที่เก็บจากลูกหนี้ เมื่อตัวเลขพันกันอย่างนี้จึงพัฒนาอัตราส่วนทางการเงินขึ้นมา เพื่ออ่านและตีความผลต่างๆที่เกิดขึ้น การวิเคราะห์งบการเงินจึงเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์

Credit: https://www.facebook.com/sanpong.limthamrongkul