วันเสาร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2557

DCF -invisible hand-

หลายคนอาจจะสงสัยว่า VI จำเป็นต้องทำ model การหา valuation ด้วยวิธี DCF หรือไม่ หากถามผมๆ คิดว่าถ้าทำอาจจะทำให้สบายใจและมั่นใจขึ้นได้แต่คิดว่าไม่จำเป็น แต่ก่อนที่ผมจะสรุปว่าไม่จำเป็นผมจึงต้องอธิบายที่มาของการคิด DCF คร่าวๆ ก่อนครับ
DCF = กระแสเงินสดในอนาคตเป็นมูลค่าปัจจุบัน ( Present value ) + เงินสด ( หนี้สิน ) สุทธิ
การทำมูลค่าในอนาคตให้เป็นมูลค่าปัจจุบัน คือ การ discount ด้วยอัตราดอกเบี้ย discount rate โดย discount rate
Discount rate
ถ้า discount rate เท่ากับ 10% เงิน 110 บาทใน 1 ปีข้างหน้าจะมีมูลค่า 100 บาท ในปัจจุบัน เหตุผลที่เงิน 110 บาทใน 1 ปีข้างหน้ามีมูลค่า 100 บาทในปัจจุบันเนื่องจากหากนำเงิน 100 บาทไปลงทุนโดยได้ผลตอบแทนเท่ากับ 10% เงิน 100 บาทในปัจจุบันจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 110 บาทในอีก 1 ปีข้างหน้า
ดังนั้นหากมีใครมาถามเราว่าให้เลือกระหว่างได้เงิน 100 บาทในปีนี้ หรือจะเลือกเงิน 110 บาทในปีหน้า ภายใต้สมมุติฐานว่าเราสามารถนำเงินลงทุนได้ผลตอบแทน 10% เราจะเลือกแบบไหน คำตอบที่หลายคนจะตอบก็คือ เลือก 100 บาทวันนี้ เพราะถ้าเป็นปีหน้าเดี๋ยวคนให้เงินจะเปลี่ยนใจไม่ให้แล้ว แต่คำตอบในเชิงการเงินก็คือ เลือกแบบไหนก็ได้ ค่าเท่ากันครับ
ดังนั้นเงิน 100 บาทในปัจจุบัน จะมีมูลค่ามากกว่า 100 บาทในอีก 10 ปีข้างหน้ามาก หรืออาจจะมีมูลค่ามากกว่าเงิน 200 บาทในอีก 10 ปีข้างหน้าด้วยซ้ำไปครับหากอัตราดอกเบี้ยและผลตอบแทนจากการลงทุนสูงมากพอ
หลังจากทำความเข้าใจเกี่ยวกับการหามูลค่าปัจจุบันหรือ present value แล้ว ตัว discount rate หรือที่ศัพท์ทางการเงินเรียกว่า WACC โดยถ้าหุ้น 2 ตัวมีปัจจัยทุกอย่างเหมือนกันหมด หุ้นตัวที่ใช้ discount rate สูงจะมีมูลค่าแบบ DCF ต่ำกว่า
สำหรับ discount rate นั้นขึ้นกับตัวแปรต่างๆ ดังนี้ครับ
- อัตราดอกเบี้ยในท้องตลาด ส่วนใหญ่จะใช้อัตราดอกเบี้ย ( yield ) ของพันธบัตรอายุ 10 ปีเป็นตัวอ้างอิง ถ้าดอกเบี้ยสูง discount rate ก็จะสูง
- Beta คือ ความผันผวนของราคาหุ้นตัวนั้นๆ เทียบกับความผันผวนของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ซึ่ง beta ในทางทฤษฎีการเงินคือเป็นตัววัดความเสี่ยงของหุ้นตัวนั้น โดยตั้งอยู่ในสมมุติฐานว่าหุ้นที่มีความเสี่ยงทางธุรกิจสูงจะมี beta สูง คือ จะมีความผันผวนของราคาสูง ซึ่งทฤษฎีนี้ใกล้เคียงความจริงหรือไม่ผมคิดว่าก็มีความใกล้เคียงอยู่บ้าง เช่น หุ้นที่มี beta สูงในตลาดไทย เช่น หุ้นไฟแนนซ์ หุ้นรับเหมาก่อสร้าง หุ้นอสังหาฯ วัสดุก่อสร้าง ซึ่งล้วนแล้วมีความเสี่ยงทางธุรกิจสูง ส่วนหุ้นที่มี beta ต่ำก็มักจะเป็นหุ้นที่มีความเสี่ยงทางธุรกิจต่ำกว่า
หุ้นที่มี beta สูง discount rate ก็จะสูงตามไปด้วยครับ
ดังนั้น ถึงตรงนี้เราได้ 2 ประเด็นแล้วครับว่า ถ้าช่วงไหนดอกเบี้ยในท้องตลาดสูงขึ้น discount rate ที่ใช้คำนวณ DCF ก็จะสูง ทำให้ราคาหุ้นตามวิธี DCF ก็จะต่ำลง ดังนั้นจะเห็นได้ว่าตลาดหุ้นมักจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อดอกเบี้ยลดลงและมี แนวโน้มจะปรับตัวลดลงเมื่อมีข่าวว่าดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้น ดังนั้นในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น หุ้นมักจะมี p/e ต่ำ แต่ในช่วงดอกเบี้ยขาลง หุ้นจะมี p/e สูง
ส่วนเรื่อง beta หรือความเสี่ยงนั้น ก็เช่นกันครับ หุ้นที่มีความเสี่ยงหรือ beta สูง ก็จะทำให้ discount rate สูง ราคาหุ้นตามวิธี DCF ก็จะต่ำลง ดังนั้นหุ้นที่มี beta หรือความเสี่ยงสูง ก็ควรจะมี p/e ต่ำกว่าหุ้นที่มีความเสี่ยงต่ำ
การคิดกระแสเงินสดสุทธิ หรือ Free cash flow มีสูตรดังนี้ครับ
Free cash flow = กำไรสุทธิ + ค่าเสื่อมราคา + การเปลี่ยนแปลงในเงินทุนหมุนเวียน + รายจ่ายลงทุนในสินทรัพย์
เงินทุนหมุนเวียน คือ เงินสด ที่ต้องใช้ในการซื้อวัตถุดิบเพื่อใช้ในการขายสินค้าและบริการ
รายการการเปลี่ยนแปลงเงินทุนหมุนเวียนจะเป็น ลบ ก็ต่อเมื่อ
มีการ เพิ่มขึ้น ของสินค้าคงคลังและวัตถุดิบ เพราะต้องใช้เงินในการซื้อวัตถุดิบ
มีการ เพิ่มขึ้น ของลูกหนี้การค้า แสดงว่ารายได้ 100 บาท เข้ามาเป็นเงินสดไม่ถึง 100 บาท
มีการ ลดลง ของเจ้าหนี้การค้า แสดงว่ารายจ่าย 100 บาท ยังไม่ต้องจ่ายทั้งหมด 100 บาทในทันที
การเปลี่ยนแปลงเงินทุนหมุนเวียนจะเป็น บวก ก็ต่อเมื่อ
มีการ ลดลง ของสินค้าคงคลังและวัตถุดิบ แสดงว่าสินค้าที่ขายออกไปมีมากกว่าที่ซื้อวัตถุดิบเข้ามา
มีการ ลดลง ของลูกหนี้การค้า
มีการ เพิ่มขึ้น ของเจ้าหนี้การค้า
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ในธุรกิจทั่วๆ ไป เมื่อมีการขยายกิจการ คือ มีการผลิตสินค้ามากขึ้น ก็ย่อมจะต้องมีการสั่งวัตถุดิบและมีจำนวนสินค้าคงคลังเพิ่มขึ้น เมื่อยอดขายเพิ่มขึ้นก็ย่อมทำให้ลูกหนี้การค้ามากขึ้น ดังนั้นธุรกิจทั่วๆ ไปเมื่อมีการขยายกิจการจะทำให้การเปลี่ยนแปลงเงินทุนหมุนเวียนจะติดลบ คือธุรกิจนั้นๆ จะต้องใช้เงินสดในกิจการมากขึ้น ดังนั้นธุรกิจส่วนใหญ่แม้ยอดขายเพิ่มขึ้นและกำไรเพิ่มขึ้น แต่เงินสดที่เข้ามาในบริษัทมักจะต่ำกว่ากำไร แต่ธุรกิจที่เมื่อขยายสาขาหรือมีรายได้เพิ่มขึ้นแต่กลับยิ่งมีเงินสดมากขึ้น คือธุรกิจค้าปลีก เพราะมีการขายเป็นเงินสด แต่จ่ายเงินให้กับเจ้าหนี้ค่าสินค้าเป็นเงินเชื่อ ดังนั้นวันที่เปิดสาขาใหม่ ก็จะได้เงินสดมาทันทีแต่เงินสดนั้นจะถูกจ่ายให้กับเจ้าหนี้ในอีก 45-60 วัน ดังนั้นหากมีการคิด DCF ธุรกิจค้าปลีกเปรียบเทียบกับธุรกิจอื่นๆ ถ้ากำไรสุทธิต่อปีเท่าๆ กัน ธุรกิจค้าปลีกจะมีกระแสเงินสดสุทธิ หรือ Free cash flow สูงกว่าธุรกิจอื่นๆ จึงเป็นเหตุผลหนึ่งว่าทำไมหุ้นค้าปลีกจึงมี p/e สูงกว่าหุ้นกลุ่มอื่นๆ ที่มีการเติบโตของกำไรเท่าๆ กัน
ยิ่งธุรกิจใดให้เครดิตลูกหนี้การค้ายิ่งนาน บริษัทนั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงในเงินทุนหมุนเวียนติดลบมากกว่าบริษัทที่ให้ เครดิตลูกหนี้สั้นกว่า และบริษัทใดที่ขายสินค้าเป็นเงินสด ก็จะทำให้ใช้เงินทุนหมุนเวียนน้อยกว่ามาก
บริษัทใดที่มีการขายสินค้าโดยใช้เวลานาน ก็จะใช้เงินทุนหมุนเวียนมากกว่าบริษัทที่ขายสินค้าในเวลาอันสั้นกว่า และอย่างที่ผมพูดไปในหน้าก่อนๆ คือ ยิ่งขายได้เร็วก็ทำให้ผลตอบแทนต่อเงินลงทุนสูง ดังนั้นสิ่งที่เถ้าแก่คนจีนนิยมทำนานมาแล้วคือ เน้นการขายเร็วๆ มากๆ เอา volume ก็เป็นความคิดที่ถูกต้องตามทฤษฎีการเงิน แม้ว่าอาเฮียเหล่านั้นจะไม่ได้เรียน MBA มาก็ตาม
รายจ่ายในการลงทุนในสินทรัพย์ เป็นรายการ ลบ ในการหา Free cash flow ยิ่งมีการลงทุนมากๆ Free cash flow ก็ยิ่งมีโอกาสติดลบมากขึ้น ดังนั้นหุ้นที่ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากในการขยายกิจการ ก็จะทำให้ Free cash flow ติดลบมากกว่าหุ้นที่สามารถขยายกิจการโดยไม่ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก โดยทั่วไปหุ้นในภาคการผลิต อุตสาหกรรม มักจะต้องใช้เงินลงทุนในการขยายกิจการมากกว่าหุ้นประเภทธุรกิจบริการ เมื่อใช้เงินทุนน้อย กระแสเงินสดก็จะเป็นบวกได้มากกว่า หุ้นภาคบริการมักจะมีมูลค่าแบบ DCF สูงกว่าหุ้นในภาคการผลิตแม้ว่าจะมีกำไรสุทธิในแต่ละปีหรือปัจจัยอื่นๆ ใกล้กัน ดังนั้นหุ้นที่ทำธุรกิจบริการมักจะมี p/e สูงกว่าหุ้นในภาคอุตสาหกรรม
หุ้นที่ต้องใช้เงินลงทุนหมุนเวียน ( เงินสด ) จำนวนมากในการเพิ่มยอดขาย มักจะต้องมีการกู้เงินระยะสั้น หรือ Bank O/D จากธนาคารเพื่อมาเป็นเงินทุนหมุนเวียน และยังอยู่ในธุรกิจที่ต้องลงทุนจำนวนมากเพื่อขยายกำลังการผลิต และยิ่งหุ้นดังกล่าวมีหนี้ในสัดส่วนที่สูงด้วยนั้น หุ้นประเภทดังกล่าวมักจะมีโอกาสสูงที่จะต้องหาแหล่งเงินทุนอื่นๆ ที่ไม่ใช่การกู้เงินเพื่อชดเชยกระแสเงินสดที่ติดลบในอนาคต ดังนั้นหุ้นที่มีลักษณะเหล่านี้ร่วมกันจึงมีความเสี่ยงในการเพิ่มทุนสูง เมื่อหุ้นมีการเพิ่มทุนก็ย่อมทำให้กำไรต่อหุ้นลดลง ดังนั้นหุ้นที่มีความเสี่ยงในการเพิ่มทุนมักจะมี p/e ที่ต่ำกว่าหุ้นที่สามารถเติบโตได้โดยไม่ต้องเพิ่มทุน
การเติบโตทางธุรกิจ เนื่องจากการทำ DCF คือการประมาณกระแสเงินสดในอนาคต ดังนั้นหุ้นที่มีการเติบโตในอนาคตสูง ก็จะมีกระแสเงินสดในอนาคตที่เพิ่มขึ้นกว่าปัจจุบันมาก ดังนั้นหุ้นที่มีการเติบโตสูงจึงจะมี DCF สูงกว่าหุ้นที่มีการเติบโตต่ำ
ปัจจัยสุดท้ายที่มีผลต่อการคำนวณ DCF ก็คือ มูลค่าเงินสด หรือหนี้สินสุทธิ ซึ่งก็คือ
เงินสดสุทธิ = เงินสดในบริษัท - หนี้สินระยะยาว - หนี้สินระยะสั้นที่มีดอกเบี้ย
ดังนั้น ถ้าปัจจัยทุกอย่างเหมือนกันหมด หุ้นที่มีเงินสดสุทธิเป็นบวกก็จะมี DCF สูงกว่าหุ้นที่มีหนี้สิน
สรุป มูลค่าหุ้นตามแบบ DCF จะขึ้นอยู่กับปัจจัยที่สำคัญดังนี้ครับ
- อัตราดอกเบี้ย ถ้าดอกเบี้ยต่ำลง มูลค่า DCF จะสูงขึ้น
- ความเสี่ยงของธุรกิจ ถ้าธุรกิจมีความเสี่ยงสูง DCF ก็จะต่ำ
- การให้เครดิตลูกค้ายาวๆ DCF จะต่ำ
- การได้รับเครดิตจากเจ้าหนี้การค้ายาวๆ DCF จะสูง
- ขายสินค้าได้เร็ว มีการเก็บสินค้าคงคลังต่ำ DCF จะสูง
- ต้องมีการลงทุนจำนวนมากๆ ในการขยายกิจการ เมื่อเทียบกับกระแสเงินสดในแต่ละปี DCF จะต่ำ
- มีการเติบโตสูง DCF จะสูง
- มีหนี้มากๆ DCF จะต่ำ
สำหรับ DCF กับ p/e จะมีความสัมพันธ์กัน หากหุ้น 2 ตัวที่ปัจจุบันมีกำไรสุทธิเท่ากัน หุ้นตัวที่มีราคาเป้าหมายโดยวิธี DCF สูงกว่า จะมี p/e ที่เหมาะสมสูงกว่าหุ้นที่มีราคาเป้าหมายโดยวิธี DCF ต่ำกว่า ดังนั้น ด้วยย่อหน้าข้างบน เราสามารถเปลี่ยนคำว่า DCF เป็น p/e ได้เป็น
- อัตราดอกเบี้ย ถ้าดอกเบี้ยต่ำลง p/e ของหุ้น จะสูงขึ้น
- ความเสี่ยงของธุรกิจ ถ้าธุรกิจมีความเสี่ยงสูง p/e ก็จะต่ำ
- การให้เครดิตลูกค้ายาวๆ p/e จะต่ำ
- การได้รับเครดิตจากเจ้าหนี้การค้ายาวๆ p/e จะสูง
- ขายสินค้าได้เร็ว มีการเก็บสินค้าคงคลังต่ำ p/e จะสูง
- ต้องมีการลงทุนจำนวนมากๆ ในการขยายกิจการ เมื่อเทียบกับกระแสเงินสดในแต่ละปี p/e จะต่ำ
- มีการเติบโตสูง p/e จะสูง
- มีหนี้มากๆ p/e จะต่ำ
ดังนั้นเมื่อเราเข้าใจหลักของ DCF แล้ว เราก็ไม่จำเป็นต้องทำ model DCF ก็ได้ เพียงแต่เราต้องเข้าใจว่าธุรกิจที่เราต้องการวิเคราะห์นั้นเป็นอย่างไร มีการเติบโตสูงหรือต่ำ มีความเสี่ยงทางธุรกิจสูงหรือไม่ เมื่อต้องการขยายธุรกิจต้องใช้เงินทุนจำนวนมากหรือไม่ มีหนี้มากหรือน้อยเพียงใด
วันนี้ก็คงขอจบบทความลงเท่านี้ครับ ขอให้เพื่อนๆ ทุกท่านมีสุขภาพแข็งแรงและประสบความสำเร็จกับการลงทุนในแนวทาง VI ครับ ขอบคุณมากครับ
cr.line

บัญญัติ 10 ประการของวอร์เรน บัฟเฟตต์

  บัฟเฟตต์เป็นประธานผู้บริหารของบริษัท Berkshire Hathaway ซึ่งก่อตั้งขึ้น 170 ปีแล้วและเคยทำกิจการด้านสิ่งทอเป็นหลักก่อนที่บัฟเฟตต์และหุ้นส่วนจะซื้อกิจการมาดำเนินงานเมื่อปี 2508 บัฟเฟตต์ใช้บริษัทนั้นเป็นทางผ่านการลงทุนในบริษัทอื่นซึ่งทำกิจการหลากหลายอย่างรวมทั้งการประกันภัย หนังสือพิมพ์ ร้านอาหาร ธนาคารและร้านสรรพสินค้า เขาซื้อหลายบริษัทมาควบรวมและซื้อหุ้นของอีกหลายบริษัทเป็นบางส่วน ก่อนที่เศรษฐกิจโลกจะประสบปัญหาและราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เริ่มทรุด Berkshire Hathaway มีทรัพย์สินรวมกันเกือบ 300,000 ล้านดอลลาร์ บัฟเฟตต์ประสบความสำเร็จสูงกว่านักลงทุนทั่วไปอย่างต่อเนื่องจนทำให้ราคาหุ้นของ Berkshire Hathaway เพิ่มขึ้นจาก 4 ดอลลาร์ต่อหุ้นเป็น 75,000 ดอลลาร์ในเวลา 40 ปี


  มีผู้พยายามค้นหาปัจจัยที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จสูงอย่างน่ามหัศจรรย์นั้น เมื่อหลายปีก่อนมีหนังสือเกี่ยวกับวอร์เรน บัฟเฟตต์ ชื่อ The Snowball: Warren Buffett and the Business of Life พิมพ์ออกมา แต่กว่าผู้อ่านจะค้นพบปัจจัยที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จก็ต้องอ่านกันนานเพราะหนังสือเล่มนั้นมีความหนาเกือบ 1,000 หน้า ก่อนหน้านั้นมีผู้นำเอาข้อคิดในจดหมายที่เขาเขียนถึงผู้ถือหุ้นในบริษัท Berkshire Hathaway มารวมเป็นหนังสือชื่อ The Essays of Warren Buffett: Lessons for Corporate America ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าหนังสือทั่วไปและยาว 290 หน้า จึงต้องใช้เวลานานกว่าจะอ่านจบ เมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา Michael Brush สรุปแนวคิดของบัฟเฟตต์ออกมาเป็น 10 ข้อเผยแพร่ไปตามสื่อต่าง ๆ ขอนำมาเล่าสู่กันเพราะมันน่าจะมีประโยชน์สำหรับผู้ที่ไม่มีความเชี่ยวชาญด้านภาษาอังกฤษ หรือมีเวลาไปเสาะหาหนังสือและต้นฉบับมาอ่านเอง

ข้อ1 – จงเป็นผู้มัธยัสถ์ 

เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการลงทุนโดยตรง แต่มันมีความสำคัญพื้นฐานต่อการคิดของบัฟเฟตต์ ทั้งที่เป็นอภิมหาเศรษฐีหมายเลข 1 ของโลก เขามีความเป็นอยู่แบบเรียบง่าย เช่น ยังอาศัยอยู่ในบ้านหลังเดิมซึ่งเขาซื้อเมื่อปี 2501 ที่เมืองโอมาฮาในรัฐเนแบรสกาซึ่งยังเป็นชนบทเสียเป็นส่วนใหญ่ หลังจากต่อเติมบ้าง บ้านหลังนั้นก็ยังเป็นแบบของคนอเมริกันชั้นกลางโดยทั่วไป นอกจากนั้นเวลาเขาไปไหนมาไหนก็ยังขับรถเอง
เกี่ยวกับเรื่องนี้ Michael Brush ไม่ได้เอ่ยถึงข้อมูลที่น่าสนใจหลายอย่าง เช่น บัฟเฟตต์ได้ค่าตอบแทนจากบริษัท Berkshire Hathaway เพียงปีละ 100,000 ดอลลาร์ หรือประมาณเดือนละ 290,000 บาทเท่านั้น ต่างกับประธานผู้บริหารบริษัทขนาดใหญ่ ๆ ซึ่งมักได้ค่าตอบแทนหลายสิบล้านดอลลาร์ต่อปี บัฟเฟตต์ไม่มีรายได้จากเงินปันผลของบริษัท Berkshire Hathaway เพราะบริษัทนั้นจ่ายเงินปันผลครั้งเดียวหลังจากเขาซื้อมาและหยุดจ่ายมาหลายทศวรรษแล้ว ฉะนั้นบริษัท Berkshire Hathaway เก็บผลกำไรไว้สำหรับลงทุนต่อได้จำนวนมาก

ส่วนตัวบัฟเฟตต์เองก็มีเงินเหลือเพื่อนำไปลงทุนต่อเพราะค่าตอบแทนที่ไม่สูงนักก็มักใช้ไม่หมด การไม่ใช้ชีวิตแบบหรูหราฟุ้งเฟ้อไปตามกระแสสังคมยังผลให้เขาไม่มีความจำเป็นที่จะต้องคอยจ้องหารายได้จากการขายหุ้นที่มีอยู่ในมือ หรือจากการปันผลกำไรที่บริษัททำได้อย่างต่อเนื่อง เขามีเวลาสำหรับใช้พิจารณาการลงทุนอย่างรอบคอบ ยิ่งกว่านั้นเขายังกดดันให้ผู้บริหารของกิจการที่เขาเข้าไปลงทุนกำจัดค่าใช้จ่ายที่ไม่ค่อยเกิดประโยชน์และพยายามจำกัดค่าค่าตอบแทนของผู้บริหารส่งผลให้บริษัทเหล่านั้นทำกำไรได้สูงยิ่งขึ้น

ข้อ2 – จงยึดหลักช้า ๆ ได้พร้าเล่มงาม 

 หรือมีความอดทนเพื่อรอโอกาสทองที่จะเกิดขึ้นจากความผันผวนอย่างหนักของตลาดหลักทรัพย์ ในปัจจุบัน วิกฤติเศรษฐกิจและความผันผวนของราคาโภคภัณฑ์รวมทั้งน้ำมันปิโตรเลียมและแร่ธาตุอาจทำให้หุ้นของบริษัทขนาดใหญ่ที่มีพื้นฐานแข็งแกร่งตกลงมาอย่างไม่น่าจะเกิดขึ้น ฉะนั้น ในช่วงนี้บัฟเฟตต์จะมีโอกาสดีเป็นพิเศษ มีรายงานข่าวออกมาว่าเขาได้เข้าไปซื้อหุ้นในหลายบริษัทที่ทำกิจการด้านน้ำมันปิโตรเลียม ด้านการบริการพลังงานไฟฟ้า ด้านธนาคารพาณิชย์และด้านการขนส่งทางรถไฟ 

ข้อ3 – จงเดินทวนกระแส 

 บัฟเฟตต์เฝ้ามองว่าฝูงนักลงทุนจะพากันเดินไปทางไหนแล้วเขาจะพยายามเดินไปทางตรงข้ามเนื่องจากทางที่นักลงทุนพากันไปนั้น โอกาสในการทำกำไรได้อย่างงดงามมีน้อยเพราะนักลงทุนพวกนั้นได้ผลักดันราคาของหุ้นให้สูงขึ้นแล้ว ฉะนั้น เมื่อตอนที่ราคาหุ้นพุ่งขึ้นไปอย่างต่อเนื่องเมื่อสองสามปีก่อน บัฟเฟตต์ไม่เข้าไปร่วมด้วย แต่ในตอนนี้ นักลงทุนจำนวนมากมองหาทางเทขายยังผลให้ราคาหุ้นโดยทั่วไปตกและหุ้นของบางบริษัทตกมากเป็นพิเศษ ตอนนี้บัฟเฟตต์ถือว่าเป็นโอกาสดีที่จะซื้อหุ้นได้ในราคาถูก จึงมีข่าวว่าเขาเข้าไปซื้อหุ้นของหลายบริษัท เกี่ยวกับเรื่องนี้ สิ่งที่ Michael Brush ไม่ได้กล่าวถึงแต่มีความสำคัญพื้นฐานก็คือ บัฟเฟตต์ทำการบ้านอย่างละเอียดและต่อเนื่อง นั่นคือ วิเคราะห์บริษัทต่าง ๆ อย่างถี่ถ้วนก่อนจะตัดสินใจซื้อหุ้น

ข้อ4 – จงเลือกลงทุนในสิ่งที่ตนเองเข้าใจ 

บัฟเฟตต์จะไม่ซื้อหุ้นของบริษัทที่เขาไม่เข้าใจว่าผลิตอะไรออกมาและไม่รู้อย่างแจ้งชัดว่าบริษัทนั้นทำกำไรได้อย่างไร ทั้งที่ในยุคนี้ มหาเศรษฐีจำนวนมากใช้เทคโนโลยีเป็นหัวจักรขับเคลื่อนการสร้างความร่ำรวย รวมทั้งเพื่อนซี้ของเขาเอง เช่น บิล เกตส์ ด้วย แต่บัฟเฟตต์หลีกเลี่ยงการซื้อหุ้นในบริษัทเทคโนโลยี ฉะนั้นเมื่อสิบกว่าปีที่แล้วอันเป็นตอนที่ราคาหุ้นของภาคเทคโนโลยีพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง บัฟเฟตต์จึงไม่เข้าไปซื้อเพราะเขาไม่เข้าใจเทคโนโลยีใหม่ ๆ และไม่รู้ว่าบริษัทเหล่านั้นจะทำกำไรได้อย่างไร อีกไม่กี่ปีต่อมา ผลปรากฏว่านักลงทุนพากันสูญเงินจำนวนมหาศาลเมื่อฟองสบู่ในภาคเทคโนโลยีแตก แต่บัฟเฟตต์ทำกำไรได้อย่างงดงามจากการลงทุนในภาคอื่น 

ข้อ5 – จงอย่าฟังนักวิจารณ์หรือการยืนยันของตลาด 

ยุคนี้มีนักวิจารณ์จำนวนมากออกมาวิจารณ์การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ตามสื่อต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง คนกลุ่มนี้มีความเห็นสารพัดและมักจะให้การยืนยัน หรือไม่ก็แย้งการตัดสินใจในการลงทุนของนักลงทุนใหญ่ ๆ เช่น วอร์เรน บัฟเฟตต์ นอกจากนั้นการเคลื่อนไหวรายวันของราคาหุ้นยังเป็นเสมือนการยืนยันในระยะสั้นด้วยว่าการตัดสินใจซื้อหุ้นนั้นถูกต้องหรือไม่ บัฟเฟตต์จะไม่ฟังคำวิจารณ์และไม่ต้องการดูราคาหุ้นว่าไปทางไหน เขาจะตัดสินใจบนฐานของการวิเคราะห์ข้อมูลของเขาเอง

ข้อ6 – จงค้นหาของดีราคาถูกให้พบ 

ในกระบวนการค้นหาหุ้นราคาถูก บัฟเฟตต์เริ่มวิเคราะห์เพื่อค้นหา “มูลค่าภายใน” (intrinsic value) ของบริษัทเป็นขั้นแรก กระบวนการนี้อาจมองดูว่าราคาหุ้นของบริษัทคล้าย ๆ กันเป็นอย่างไร หรือไม่ก็คำนวณค่าปัจจุบันของเงินสดที่บริษัทนั้นน่าจะทำได้ในอนาคต รายละเอียดของวิธีคำนวณอาจหาได้ในหนังสือชื่อ The Warren Buffet Way ของ Robert Hagstrom หรือเรื่อง The Market Gurus ของ John Reese และ Todd Glassman หากราคาหุ้นที่ซื้อขายกันในตลาดต่ำกว่ามูลค่าภายในมาก ๆ บริษัทนั้นน่าสนใจเพราะมี “ส่วนเผื่อความปลอดภัย” (margin of safety) สูงมาก

บัฟเฟตต์ไม่ค่อยสนใจเรื่องผลกำไรต่อหุ้น หากสนใจในผลตอบแทนส่วนของผู้ถือหุ้น (return on equity) ส่วนต่างระหว่างราคาขายของสินค้ากับต้นทุน และภาระหนี้สินของบริษัท นอกจากนั้นเขายังต้องการเห็นบริษัททำเงินสดได้มาก ๆ แล้วนำไปลงทุนอย่างชาญฉลาด หรือไม่ก็จ่ายเงินปันผลและซื้อหุ้นของตนคืน ในกระบวนการวิเคราะห์นี้ เขาจะมองย้อนไปในอดีตอย่างน้อย 5 ปีเพื่อดูว่าบริษัทมีประวัติการประกอบการอย่างไรในภาวะต่าง ๆ กัน ฉะนั้น เขาจะไม่เข้าไปซื้อหุ้นของบริษัทใหม่ ๆ ที่ยังไม่มีประวัติดีจนเป็นที่ประจักษ์

ข้อ7 – จงมองหาบริษัทที่มีรั้วรอบขอบชิด หรือล้อมรอบด้วยคูลึก 

บริษัทจำพวกนี้มักมีประวัติในการทำกำไรได้ดีและมีความได้เปรียบอย่างยั่งยืนเพราะคู่แข่งเกิดขึ้นได้ยากมากอาจเนื่องมาจากอำนาจในการปกป้องของสิทธิบัตรและของเครื่องหมายการค้าที่เป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง บริษัทจำพวกนี้สามารถขึ้นราคาสินค้าและบริการได้โดยไม่กระทบยอดขายและมักไม่ได้รับผลกระทบมากนักในภาวะเศรษฐกิจถดถอย ฉะนั้นบัฟเฟตต์จึงถือหุ้นจำนวนมากในบริษัทประกอบการรถไฟเพราะยากที่จะมีใครสามารถสร้างรางขึ้นมาแข่งได้ในทวีปอเมริกาเหนือ และในบริษัทโคคา-โคลาเพราะมีเครื่องหมายการค้าซึ่งเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางพร้อมกับมีระบบการจัดจำหน่ายที่ลื่นไหลเป็นอย่างดีทั่วโลก

ข้อ8 – จงทุ่มเงินลงไปในบริษัทที่น่าซื้อ 

เรื่องนี้เป็นลักษณะหนึ่งของการเดินย้อนกระแส นักลงทุนโดยทั่วไปมักใช้การกระจายการลงทุนออกไปในหลายบริษัทเพื่อหวังลดความเสี่ยง แต่บัฟเฟตต์กลับชอบลงทุนแบบกระจุกตัวมากกว่า เมื่อใดเขามองเห็นโอกาสดีเป็นพิเศษ เมื่อนั้นเขาจะทุ่มทุนซื้อหุ้นของบริษัทนั้นทันที เขามองว่าการวิเคราะห์อย่างถี่ถ้วนและการมีความอดทนที่จะรอจนได้ “ส่วนเผื่อความปลอดภัย” สูงมาก ๆ เป็นมาตรการลดความเสี่ยงที่ดีที่สุดอยู่แล้ว ฉะนั้น ประวัติการลงทุนของเขาบ่งว่า ความสำเร็จของเขาเกิดจากผลตอบแทนสูงมากที่เขาได้จากการทุ่มลงทุนในหุ้นของบริษัทเพียงราวหนึ่งโหลเท่านั้น

ข้อ9 – จงซื้อเพื่อถือไว้หาผลกำไรในระยะยาว 

บัฟเฟตต์มองว่าถ้าได้วิเคราะห์เป็นอย่างดีแล้วว่าควรลงทุนในบริษัทไหน บริษัทนั้นควรจะให้ผลกำไรดีเป็นเวลานาน ฉะนั้นผู้ที่ทนไม่ไหวที่จะดูราคาหุ้นของตนตกไป 50% อย่าคิดเข้าไปลงทุนซื้อหุ้นเด็ดขาด แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า เมื่อซื้อหุ้นมาแล้วก็เลิกติดตามความเป็นไป ตรงข้าม ผู้ถือหุ้นจะต้องติดตามและวิเคราะห์เหตุการณ์รอบด้านอย่างใกล้ชิด เมื่อใดเห็นว่าบริษัทนั้นหมดโอกาสที่จะทำกำไรดีต่อไป หรือกำลังเดินเข้าภาวะยากลำบากเป็นเวลานาน เมื่อนั้นจงรีบขายออกไปทันที ด้วยหลักข้อนี้ บัฟเฟตต์จึงขายหุ้นจำนวนมากในบริษัทรับจำนองบ้านขนาดยักษ์ที่รู้จักกันในนาม Fannie Mae กับ Freddie Mac ก่อนที่สองบริษัทนั้นจะประสบปัญหาจนถูกรัฐเข้าไปยึดเมื่อปีที่แล้ว สิ่งหนึ่งซึ่ง Michael Brush ไม่ได้กล่าวถึงคือ บัฟเฟตต์มองว่าการซื้อขายหุ้นบ่อย ๆ รังแต่จะเป็นเหยื่อให้แก่ผู้ที่ไม่ค่อยมีบทบาทพื้นฐานทางเศรษฐกิจนัก เช่น นายหน้าค้าหุ้น ที่ปรึกษาทางการเงินและผู้บริหารกองทุน เขาประเมินว่าคนเหล่านั้นหักเอาผลกำไรของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ไปราวปีละราว 140,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 20% ของผลกำไรทั้งหมดซึ่งมีผลกระทบทางลบต่อผลประกอบการของบริษัท

ข้อ10 – จงเชื่อมั่นในอเมริกา 

บัฟเฟตต์จะไม่มองว่าใครเข้ามาเป็นประธานาธิบดี หรือในขณะนี้วัฏจักรของเศรษฐกิจอยู่ตรงไหน หากมองว่าในระยะยาวบริษัทขนาดใหญ่ที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่งจะกลับมาทำกำไรได้ดีอีกครั้งแม้ในขณะนี้ดูจะมีปัญหาบ้างก็ตาม ฉะนั้นในปัจจุบัน บัฟเฟตต์จึงนำเงินจากส่วนที่ซื้อพันธบัตรไว้ออกมาใส่ลงในหุ้นของบริษัทที่เขามองว่ามีโอกาสทำกำไรได้ดีในระยะยาว

ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.ichat.in.th/businesszaa/topic-readid20337-page1

วันอังคารที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2557

ตรวจสอบผู้บริหารแบบ by ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร


การวิเคราะห์ผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียนนั้นเป็นเรื่องที่หลาย ๆ คนบอกว่ายากเนื่องจากเราไม่ได้รู้จักใกล้ชิด ผู้บริหารที่คนหรือสื่อบอกว่าดีนั้น หลายคนคิดว่ามันเป็นเรื่องของ “ภาพ” มากกว่าความเป็นจริง บริษัทที่มีผลงานที่โดดเด่นก็มักจะมีผู้บริหารที่คนเชื่อว่าดีและโดดเด่น เหนือสิ่งอื่นใด ถ้าผู้บริหารไม่ดีแล้วบริษัทจะดีได้อย่างไร? ดังนั้น บางคนจึงคิดว่าเราไม่จำเป็นต้องวิเคราะห์ผู้บริหาร แค่เห็นว่าบริษัทดีเราก็สรุปได้แล้วว่าผู้บริหารก็คงจะต้องดี และหลายคนก็คิดว่า ถึงจะมีผู้บริหารที่ดีก็ไม่ได้เพิ่มคุณค่าอะไรให้กับหุ้นที่จะลงทุน เพราะคุณค่าของหุ้นนั้นสูงขึ้นตามผลประกอบการของบริษัทซึ่งรวมถึงผลงานของผู้บริหารอยู่แล้ว การไปให้คุณค่ากับผู้บริหารอีกก็เท่ากับว่าเราไป “นับซ้ำ” อย่างไรก็ตาม มีบางประเด็นที่น่าจะสามารถแยกแยะให้เห็นได้ระหว่างผู้บริหารที่ดีกับผู้บริหารที่ไม่ดีโดยที่อาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับผลประกอบการปกติของบริษัทในระยะสั้น
ประเด็นแรกและสำคัญมากก็คือ ดูการจัดสรรเงินของบริษัท ผู้บริหารที่ดีจะต้องไม่ใช้จ่ายเงินแบบ “มั่ว” ต้องลงทุนในโครงการที่ดีซึ่งก็มักจะต้องเป็นธุรกิจที่อยู่ในความเชี่ยวชาญของบริษัทที่มักจะเกี่ยวข้องกับธุรกิจเดิม การ Take Over หรือซื้อธุรกิจอื่นก็จะต้องมาในแบบเดียวกันและจะต้องมีราคาที่ไม่แพงเกินคุณค่าที่ได้รับ ผู้บริหารที่ไม่ดีมักจะใช้จ่ายเงินลงทุนหรือซื้อธุรกิจอื่นที่ไม่เหมาะสมซึ่งแม้ว่าบ่อยครั้งจะทำให้หุ้นวิ่งหรือปรับตัวขึ้นโดยเฉพาะในยามที่ตลาดหุ้นกำลังอยู่ในช่วง “กระทิง” แต่ในฐานะของ VI เราควรจะมองว่านี่เป็นสิ่งที่ไม่ดี ในระยะยาวมันจะทำให้บริษัทเสียหาย
ในกรณีที่บริษัทมีเงินสดและไม่สามารถนำไปจัดสรรเพื่อลงทุนในโครงการที่จะสร้างผลตอบแทนที่ดีพอ ผู้บริหารควรจะต้อง “คืนเงิน” ให้ผู้ถือหุ้น นั่นก็คือ จ่ายปันผลในอัตราที่เหมาะสม ซึ่งอาจจะมากกว่าที่เคยจ่ายตามปกติ หรือไม่ก็ “ซื้อหุ้นคืน” ซึ่งก็คล้าย ๆ กับการจ่ายปันผล เพราะเป็นการ “คืนเงิน”ให้แก่ “ผู้ถือหุ้น” เหมือนกัน แต่เป็นการคืนให้กับผู้ถือหุ้นบางคนเพื่อที่จะทำให้ผู้ถือหุ้นที่เหลืออยู่ได้รับผลตอบแทนที่เป็นปันผลที่ดีขึ้นในวันข้างหน้าถ้าราคาที่ซื้อหุ้นคืนนั้นต่ำกว่าพื้นฐานที่แท้จริงของบริษัท อย่างไรก็ตาม การซื้อหุ้นคืนในกรณีของตลาดหุ้นไทยนั้น ผมคิดว่าจำนวนมากนั้นไม่ได้เกิดจากเหตุผลดังกล่าว หลาย ๆ กรณีเป็นเรื่องของการ “ดูแลราคาหุ้น” ที่ตกลงไปมากโดยการเอาเงินบริษัทไป “พยุง” ราคาไว้โดยไม่ได้พิจารณาว่าราคาหุ้นในขณะนั้นต่ำกว่าความเป็นจริงหรือไม่ ดังนั้น เวลาที่เห็นว่าบริษัทมีการซื้อหุ้นคืนโดยที่เหตุผลนั้นไม่ชัดเจน ผมก็มักจะคิดว่าบริษัทนั้นมีการบริหารงานที่ไม่ดี
ประเด็นที่ VI ไม่ชอบเลย ยกเว้นว่าจะมีคำอธิบายที่ดีพอและเป็นการกระทำที่จะสร้างความโปร่งใสครั้งเดียวให้จบ ก็คือ เรื่องของ Related Transaction หรือการทำรายการระหว่างบริษัทกับผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นใหญ่ที่เป็น “เจ้าของ” บริษัท ในประเด็นนี้แม้ว่าจะมีการตรวจสอบโดย “กรรมการอิสระ” และมีผู้ประเมินที่เป็น “บุคคลภายนอก” ผมก็ไม่เชื่อว่ามันจะมีความเที่ยงธรรมได้จริง ๆ เพราะทั้งกรรมการอิสระและบุคคลภายนอกดังกล่าวนั้นต่างก็ถูกแต่งตั้งโดยบริษัทหรือผู้บริหาร ดังนั้น บริษัทที่มีรายการที่มีการ “ขัดแย้งของผลประโยชน์” บ่อย ๆ หรือมีรายการที่ “น่าเกลียด” อย่างแรงแม้เพียงรายการเดียว สำหรับผมแล้ว ผมมักจะถือว่าบริษัทอาจจะมีผู้บริหารที่ไม่ดี
เรื่องที่สามนั้นแม้ว่าอาจจะดูว่าไม่กระทบกับบริษัทมากมาย แต่ก็เป็นการ “ส่งสัญญาณ” ที่เตือนเราเหมือนกันว่าผู้บริหารอาจจะไม่ใคร่ “สมบูรณ์” นักก็คือ การจ่ายผลตอบแทนแก่ผู้บริหาร “มากเกินไป” และอาจจะไม่ค่อยสัมพันธ์กับผลประกอบการปกติของบริษัท เพราะนี่เป็นเรื่องของการ “เอาเปรียบบริษัท” เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ นี่มักเป็นการอนุมัติโดยตัวเองหรือคนที่ตนเองมีอิทธิพลเหนือกว่า หรือไม่ก็เป็นการอนุมัติโดยมีผลต่างตอบแทนซึ่งกันและกัน ดังนั้น เวลาที่ผมพบว่าผู้บริหารได้รับผลตอบแทนที่ “สูงเหลือเชื่อ” เปรียบเทียบกับขนาดและ Market Cap. หรือมูลค่าหุ้นของกิจการ โดยที่ผมไม่ได้คิดว่าเขามีส่วนในความสำเร็จมากมายอะไรของบริษัท ผมก็มักจะไม่อยากจะเกี่ยวข้องกับหุ้นแบบนี้
เรื่องที่สี่คือ ความโปร่งใสของผู้บริหาร ผู้บริหารที่ดีนั้นควรจะต้องโปร่งใส ยิ่งเปิดเผยมาก คะแนนคุณสมบัติของผู้บริหารก็ควรจะดีขึ้น ผู้บริหารที่ไม่โปร่งใสมาก ๆ นั้น บางครั้งเราแทบจะต้องหลีกเลี่ยงการลงทุนในหุ้นไปเลยเนื่องจากบริษัทอาจจะมีสิ่งที่เลวร้ายซ่อนอยู่โดยที่เราไม่รู้และสิ่งที่เรารู้นั้นถูกทำลวงขึ้นมา ความโปร่งใสเรื่องแรกก็คือเรื่องของระบบบัญชี บริษัทที่มีระบบบัญชีที่ดีและมีการลงบัญชีแบบ “อนุรักษ์นิยม” มาก ๆ นั้น ควรจะต้องได้รับคะแนนที่ดีเทียบกับบริษัทที่มี “ลูกเล่น” มาก ตัวอย่างหนึ่งที่เราเคยพบในช่วงหนึ่งก็เช่น บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แห่งหนึ่งใช้ระบบบัญชีที่ลงรายรับต่อเมื่อมีการโอนและรับเงินจากลูกค้าเรียบร้อยแล้ว ในขณะที่บริษัทอื่น ๆ จำนวนมากลงบัญชีรับรู้รายได้ตามการก่อสร้างหรือตามเกณฑ์อื่น ในกรณีแบบนี้ ผมเองต้องให้คะแนนผู้บริหารบริษัทแรกสูงกว่า
นอกจากเรื่องบัญชีแล้ว การให้ข้อมูลที่ถูกต้องทั้งที่ดีและไม่ดีต่อผู้ถือหุ้นเป็นระยะ ๆ ตลอดเวลาก็เป็นการแสดงความโปร่งใสที่สำคัญ บริษัทที่ผู้บริหารเก็บตัวเงียบและไม่ใคร่ยอมพบนักวิเคราะห์หรือนักลงทุนเลยนั้น ผมคิดว่าจะได้รับคะแนนผู้บริหารที่สูงไม่ได้ นอกจากนั้น ผู้บริหารที่ดีก็ควรที่จะสามารถ “รักษาคำพูด” ที่ตนได้ให้ไว้พอสมควร ไม่ใช่พูดแล้วก็ผิดคำพูดมาก ๆ ผู้บริหารที่ดีนั้น ผมคิดว่าถ้าไม่มั่นใจว่าจะทำได้หรือคาดการณ์ถูกต้อง ก็ไม่ควรจะพูดในเรื่องนั้น
เรื่องที่ห้า ผู้บริหารที่ดีนั้น จะต้องดูแลไม่ให้บริษัทรับความเสี่ยงที่สูงเกินไป ในขณะเดียวกันก็ไม่ควรที่จะปล่อยให้บริษัทปลอดภัยมากเกินไปจนกระทบกับผลตอบแทนที่ผู้ถือหุ้นควรจะได้ สำหรับเรื่องนี้ประเด็นสำคัญเรื่องหนึ่งก็คือ โครงสร้างเงินทุนของบริษัท หรือพูดให้ชัดเจนก็คือ สัดส่วนหรือปริมาณของหนี้ของบริษัทเมื่อเทียบกับส่วนของผู้ถือหุ้นหรือกำไรก่อนดอกเบี้ยของกิจการ บริษัทที่มีหนี้มากเกินไปและอยู่ในกิจการที่มีความผันผวนของผลการดำเนินงานมากนั้น จะเป็นบริษัทที่มีความเสี่ยงสูงที่สุด และถ้าผู้บริหารไม่ได้ทำอะไรที่จะลดความเสี่ยงนี้ ก็ต้องถือว่าผู้บริหารไม่ดีพอที่จะได้รับคะแนนสูง ๆ เช่นเดียวกัน บางบริษัทมีเงินสดมาก ไม่มีหนี้เลย และธุรกิจก็ค่อนข้างสม่ำเสมอมาก แต่บริษัทกลับจ่ายปันผลน้อยกว่าที่ควรจะเป็น แบบนี้ก็ต้องบอกว่าผู้บริหารไม่ดี ไม่เห็นแก่ผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นเท่าที่ควร
สุดท้าย เรื่องของโครงสร้างผู้ถือหุ้นก็มีส่วนที่จะทำให้ผู้บริหารมีโอกาสที่จะได้คะแนนสูงหรือต่ำเช่นเดียวกันทั้ง ๆ ที่เราอาจจะไม่ได้มีข้อมูลอะไรมากนัก ตัวอย่างเช่น ถ้าบริษัทเป็นรัฐวิสาหกิจที่ผู้บริหารสูงสุดมักจะมาจาก “สายการเมือง” แบบนี้เรามักจะไม่ให้คะแนนผู้บริหารสูง เหตุผลก็เพราะการคัดเลือกผู้บริหารอาจจะมาจากคุณสมบัติอย่างอื่นที่ไม่ได้เกี่ยวกับความสามารถในการบริหารงานมากนัก หรือถึงจะได้คนที่โดดเด่นมาเป็นผู้บริหาร แต่เขาก็อาจจะต้องทำงานหรือตัดสินใจเรื่องสำคัญบางอย่างในทางที่ไม่เป็นผลประโยชน์สูงสุดต่อบริษัทได้ โครงสร้างผู้ถือหุ้นที่ดีอาจจะเป็นว่ามีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดกับรายรองลงมาที่มีจำนวนหุ้นใกล้เคียงกันที่เป็นสถาบันต่างประเทศที่น่าเชื่อถือและไม่เกี่ยวกับผู้ถือหุ้นใหญ่ และทั้งคู่ก็แต่งตั้งผู้บริหารที่เป็น “มืออาชีพ” มาบริหารงาน ถ้าเป็นแบบนี้ ผู้บริหารก็น่าจะได้คะแนนสูง เพราะทุกอย่างจะมีเหตุผลและมีการ “คานอำนาจ” หรือตรวจสอบกันเป็นอย่างดี เป็นต้น
ทั้งหมดนั้นก็เป็นแนวทางที่จะใช้วิเคราะห์หรือตรวจสอบผู้บริหารนอกเหนือจากผลประกอบการระยะสั้นของบริษัท ผมเองไม่รู้ว่าผู้บริหารดีนั้นจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับบริษัทมากน้อยแค่ไหนแต่เชื่อว่าน่าจะมีส่วนอยู่โดยเฉพาะในระยะยาว ซึ่งนี่ก็เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับ VI ที่เน้นลงทุนในหุ้นของกิจการที่ดีเป็น ซุปเปอร์สต็อก