วันพุธที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2557

การระดมเงินทุนของกิจการ โดยอาจารย์สรรพงศ์

มีคนขอมาก็จัดให้ครับ การระดมเงินทุนของกิจการ เอาสรุปทางหลักวิชาการครับ แบ่งได้สองกลุ่มคือ
1. การจัดหาเงินทุนจากภายใน
2. การจัดหาเงินทุนจากภายนอก

การจัดหาเงินทุนจากภายใน การได้เงินทุนจากภายใน คือ การจัดหาแหล่งเงินทุน (Sources of Fund) ท่ำด้มาจากการบริหารจัดการสินทรัพย์โดยตรง ในการจัดหาทางนี้มี 2 แนวทางคือ 
-จากการดำเนินงาน ซึ่งในวิธีนี้ต้องรวมถึงการบริหารทุนหมุนเวียนด้วย (Working Capital Management) เงินทุนได้มาจากการขายและการจัดเก็บหนี้ที่มีประสิทธิภาพ การจัดซื้อที่ดี และการบริหารสินค้าคงคลังและการผลิตที่มีประสิทธิภาพ ในที่นี้คือการบริหารวงจรเงินสดให้สั้นที่สุดนั่นเอง (คนที่อบรมกับผมมาคงมองภาพออกนะครับ) แนวทางนี้จะเป็นการได้เงินสดหมุนเวียนภายในที่คล่องตัว ลดการใช้เงินกู้ระยะสั้น (O/D) จากธนาคาร ดังนั้นในการวิเคราะห์อัตราส่วน Turnover ต่างๆ ก็เพื่อพิจารณาประสิทธิภาพของกิจการนั่นเอง กิจการที่ล้มเหลวในการบริหารด้านนี้ (Turnover) เช่นมี Asset Turnover ต่ำ AR Turnover ต่ำ หรือ Inventory Turnover ต่ำ นั่นแสดงว่าขายไม่มาก และถ้ายิ่งเก็บเงินได้น้อยหรือช้า มีแต่จ่ายเงินซื้อของ หรือเงินจมในสินค้า กิจการก็จะมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน (CFO) ต่ำกว่ากำไรหรือถึงติดลบ ถ้าตรงข้ามขายได้สูง (AT สูงๆ) เก็บเงินได้เร็ว มีระดับสินค้าคงเหลือพอเหมาะ เงินสด (CFO) ก็จะมาก นี่คือแหล่งเงินทุนจากภายในที่สำคัญที่สุด
-จากการขายสินทรัพย์ การหาเงินทุนของกิจการที่ได้มาเป็นเงินก้อนใหญ่ๆ คือการขายสินทรัพย์ออก ซึ่งมีสินทรัพย์ที่จะขายมีได้สองกลุ่มหลักๆ คือ เงินลงทุนต่างๆ และสินทรัพย์ถาวร (กลุ่มใน PPE) กลุ่มแรกคือขายกิจการลูกออก ตามปกติควรขายกิจการที่ไม่ดีออกทิ้งไปหรือ ไม่อยู่ในกลยุทธ์ของธุรกิจ (กิจการเปลี่ยนกลยุทธ์ธุรกิจในระยะยาว) ข้อดีคือลดภารกิจการเนื่องจากธุรกิจลูกนั้นไม่ทำให้ผลตอบแทนที่ดีกับกิจการ การขายเงินลงทุนเหล่านี้ออก กิจการจะบันทึกผลกำไรขาดทุนจากการขายเงินลงทุน รายการนี้ถือเป็น one time gain/loss (ซึ่งย้ำมาหลายครั้งว่าในการดูกำไรบริษัทระวังรายการพวกนี้ให้ดีเพราะจะเข้าใจผิดได้ง่าย 
กลุ่มที่สองคือสินทรัพย์ถาวร เดิมทั่วไปขายเพราะหมดปะโยชน์การใช้งาน เดี๋ยวนี้ขายให้กองทุนไปจัดตั้ง กองทุนอสังหาฯ กองทุนอินฟาสตั๊กเจอร์ ได้เงินมากเกิดกำไรพิเศษมาก และหลักใหญ่คือขายเพื่อเอาเงินไปใช้หนี้ทั้งนั้น ถ้ามองในด้านบัญชี (งบการเงิน) สินทรัพย์ที่ขายลดลงมักเป็นสินทรัพย์ที่ใช้ในการสร้างรายได้หลักให้กิจการ หากไม่ขายสินทรัพย์หลักออก ก็คงทำให้กองทุนจัดตั้งขึ้นมาไม่น่าสนใจ ดังนั้นเมื่อขายสินทรัพย์หลักออก รายได้หลักก็ต้องหายไปด้วย แน่นอนผลกระทบต่อธุรกิจต้องมีแน่นอน สินทรัพย์ลด รายได้ลด ค่าเสื่อมลด สิ่ลงที่น่าสนใจต่อธุรกิจเหล่านี้คือจะเอา Growth มาจากไหนในเมื่อสินทรัพย์หลักบางส่วนถูกขายออกไป ในอนาคตต้องลงทุนใหม่อีก ปัญหาคือจะต้องสร่างหนี้ใหม่หรือไม่ หรือต้องเพิ่มทุนอีก ซึ่งเราจะกล่าวถึงต่อไป ทางแก้ และถือว่าเป็นการเล่นตัวเลขบนงบคือ หนึ่ง เอาเงินที่ได้ในการขายสินทรัพย์ที่ลงทุนไปลงทุนถือหุ้นบางส้วนกลับในกองทุน แต่มักถือเกิน 20% แต่ไม่เกิน 50% เพราะการถือเกิน 20% ทำให้รับรู้กำไรตามสัดส่วนการลงทุนได้ทันทีด้วยวิธี Equity Method คือเกิด ส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมได้ทันทีไม่ต้องรอจ่ายปันผล และถ้าถือเกิน 50% จะไม่เกิดประโยชน์เพราะกำไรพิเศษก้อนโตจะไม่สามารถรับรู้ได้ นอกจากนี้ต้องจัดทำงบการเงินรวม ก็จะกลายเป็นว่าเหมือนไม่ได้เกิดอะไรขึ้นเลย รายได้ก็บวกกลับมาปกติ ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องที่โอนไปก็กลับมาที่เดิม แต่ถ้าถือต่ำกว่า 20%รายได้ที่รับรู้เกิดเมื่อจ่ายปันผลจริงเท่านั้น ถ้ากองทุนไม่ประกาศหรือจ่ายช้า รายได้ก็รับรู้ช้าไปด้วย 
และการเล่นกลอีกทางหนึ่งที่สามารถวางแผนทำล่วงหน้าได้คือ การซื้อหุ้นคืนก่อนที่จะออกกองทุน ตามที่กล่าวมา การขายสินทรัพย์ให้กองทุน สินทรัพย์ลด รายได้ลด การซี้อหุ้นคืนก่อนคือการปรับฐานล่วงหน้ารองรับ ตามรายได้ในอนาคตที่อาจเติบโตลดลง ในช่วงที่ซื้อหุ้นคืน ROE จะเพิ่มขึ้นรอไปล่วงหน้า เมื่อขายสินทรัพย์ให้กองทุน รายได้ลง กำไรลด แต่การลดทุนลงจากการซื้อคืนล่วงหน้า ทำให้ ROE ปรับลดลง ไม่กระทบแนวโน้มมากนัก นี่ก็เป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถนำมาสร้างลูกเล่นทางบัญชีได้ การซื้อหุ้นคืนไม่ใช่แผนการออกกองทุนเสมอ เพียงแต่เมื่อมองจากความต่อเนื่องจากการดำเนินกิจกรรมธุรกิจ เราจะเข้าใจได้ว่าทำไปเพราะวัตถุประสงค์ใด การซื้อหุ้นคืนบัฟเฟตต์บอกว่าเหตุผลที่ดีมีเพียงข้อเดียวคือหุ้นมีราคาต่ำกว่าพื้นฐานที่ควรเป็น

การจัดหาเงินทุนจากภายนอก มีได้สองแนวทางเช่นกันคือ การกู้ยืมเงิน และการออกหุ้นเพิ่มทุน การกู้ยืมซึ่งทำได้หลายทางคือ การกู้ยืมโดยตรงจากตลาดเงิน (ธนาคาร) สามารถกู้ได้ทั้งระยะยาวและระยะสั้น การพิจารณาคือ Matching ควรกู้ระยะสั้นเพื่อการรักษาสภาพคล่องเท่านั้น เช่น มีวงจรเงินสดยาวจึงกู้มาเพื่อใช้จ่ายช่วงรอเงินจากการขายหมุนเข้ามา เพื่อจ่ายค่าสินค้าเท่านั้น กิจการที่บริหารทุนหมุนเวียน (วงจรเงินสด) ได้ดี แทบจะไม่ต้องกู้ระยะสั้นสูงเลย ส่วนการกู้ระยะยาวนั้นควรก็เพื่อการลงทุนบางส่วนใน PPE เป็นหลัก การจัดหาแหล่งเงินจากภายนอกอีกวิธีที่นิยมคือ การทำสัญญาเช่าทางการเงิน (ลีสซิ่ง) ก็เหมือนกับการเช่าซื้อหรือผ่อนนั่นเอง การกู้ยืมอีกทางหนึ่งคือการกู้ยืมจากตลาดทุน ได้แก่การออกหุ้นกู้ ซึ่งมีหุ้นกู้ได้หลากหลายรูปแบบ หุ้นก็ทั่วไป (Secured Bond, Subordinate Bond, Zero-cนupon Bond เป็นต้น) หรือประเภทที่เรียกว่า Hybrid Bond ลูกผสม เช่น หุ้นกู้แปลงสภาพ (Convertible Bond, Exchangeable Bond เป็นต้น) ไม่ว่าจะก่อหนี้จากแหล่งใด หรือด้วยวิธีใด ล้วนแต่ทำให้อัตราส่วน D/E สูงขึ้นทั้งสิ้น ค่ายิ่งมากแสดงถึงความเสี่ยงที่มากขึ้น อัตราส่วนที่ควรใช้ประกอบในการตรวจสอบหนี้สินคือ D/E, ICR, MICR, Modified Payback Period

การจัดหาเงินทุนจากภายนอกอีกแนวทางคือการเพิ่มทุน ได้แก่การออกหุ้นสามัญ หรืออาจออกหุ้นบุริมสิทธิ์ก็ได้ ผลกระทบการออกหุ้นสามัญหรือเพิ่มทุนคือการเกิด Dilution ทำให้หุ้นมี P/E สูงขึ้น เพราะ EPS จะลดลงจากการเพิ่มทุน (หุ้นจะมีมากขึ้น) หากการเพิ่มทุนนั้นบริษัทสามารถเพิ่มกำไรได้มากพอกับจำนวนหุ้นที่เพิ่มขึ้น ไม่นานระดับ P/E ก็จะลดลงมาปกติหุ้นก็จะไม่ลดลง การเพิ่มทุนอาจทำได้คือขายหุ้นสามัญให้กับผู้ถือหุ้นเดิม (XR: Right Issue) หรือออกขายทั่วไป (PO: Public Offering) หรือขายเฉพาะเจาะจง (PP: Private Placement) แต่ไม่ว่าวิธีใดล้วนทำให้เกิดผลกระทบเดียวกันคือ Dilution Effect ดังที่กล่าวมาข้างต้น

การจัดหาเงินทุนอีกแบบหนึ่ง ได้เงินทุนไม่มากเท่าแต่จะได้หรือทยอยได้ในระยะยาว ซึ่งลดการเกิด Dilution ออกไป คือการออก Warrant (วอร์แร้นท์) การเพิ่มทุนเพียงชะลออกไปชั่วขณะเท่านั้น แต่ในระยะยาวก็เกิดอยู่ดี ส่วนการออก Derivative Warrant คือการออกสิทธิ์การซื้อหุ้นในกิจการอื่นที่ไม่ใช่หุ้นที่บริษัทผู้ขายออก ปกติวิธีนี้ อาจหมายถึงการซื้อหุ้นในเงินลงทุนที่บริษัทหรือบริษัทในเครือถืออยู่ ความจริงเป็นเพียงการทยอยขายหุ้นในพอร์ตออกไปเท่านั้น 

ข้อดีของการเพิ่มทุนให้ผู้ถือหุ้นเดิม (Right Issue) คือการรักษาสัดส่วนการควบคุม (Control) แต่ทุกวิธีของการเพิ่มทุนที่ต้องเกิดคือ Dilution Effect เพียงแต่จะเกิดเร็วหรือช้า และบริษัทต้องการเงินเร็วหรือช้าเท่านั้น