วันพฤหัสบดีที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2556

เงินทุนหมุนเวียน หรือ Working Capital (WC)

Woking Capital (WC) คือ เงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการครับ
ความหมายของ เงินทุนหมุนเวียน คือ กิจการต้องมีเงินจมอยู่เท่าไรจึงจะดำเนินธุรกิจได้
ตัวอย่างเช่นร้านโชว์ห่วยแบบซื้อขายเงินสด เราจะต้องนำเงินตัวเองไปซื้อของมาตุนไว้ แล้วค่อยทะยอยขายออกไปเพื่อเปลี่ยนสินค้าให้เป็นเงินสดและผลกำไร จากนั้นก็นำเงินที่ได้ไปซื้อของมาตุนเพิ่มเพื่อขายใหม่  หากร้านเราเล็กเราก็ไม่จำเป็นต้องตุนสินค้ามาก มีเงินจมน้อย หรือใช้เงินทุนหมุนเวียนน้อย แต่หากเรามีการขยายร้านหรือมีการเปิดสาขา เราก็จำเป็นต้องตุนสินค้าให้มากขึ้น มีเงินจมมากขึ้น หรือใช้เงินทุนหมุนเวียนมากขึ้นนั่นเอง
การคำนวณเงินทุนหมุนเวียนโดยปกติจะใช้สูตร
เงินทุนหมุนเวียน = สินทรัพย์หมุนเวียน – หนี้สินหมุนเวียน
หากคิดให้ละเอียดยิ่งขึ้นก็ต้องดูเฉพาะรายการสินทรัพย์และหนี้สินที่ใช้ใน การดำเนินงาน โดยสินทรัพย์หมุนเวียนที่ใช้ในการดำเนินธุรกิจจะหักเงินสดออก
และหนี้สินหมุนเวียนที่ใช้ในการดำเนินธุรกิจจะหักหนี้ที่มีภาระดอกเบี้ยออก
เราสามารถทราบว่ารายการใดเป็นเงินทุนหมุนเวียนได้โดยการดูที่งบกระแสเงินสด หัวข้อ กระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงาน หัวข้อย่อย  สินทรัพย์ดำเนินงานลดลง (เพิ่มขึ้น) และ หนี้สินดำเนินงานเพิ่มขึ้น (ลดลง)
Chg in Wkg.Cap. (Change in Working capita หรือ CWC) ก็คือเงินทุนหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า
กิจการที่มีการเติบโตมากขึ้นก็มีแนวโน้มที่จะใช้เงินทุนหมุนเวียนเพิ่มมาก ขึ้นตามไปด้วย ซึ่งเงินจำนวนนี้จะต้องถูกหักออกจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน เพื่อหากระแสเงินสดที่แท้จริงที่กิจการทำได้
CWC ของปี 53 = WC ของปี 53 – WC ของปี 52
โดยปกติแล้วเงินทุนหมุนเวียนมักจะเพิ่มขึ้นตามอัตราการเติบโตของกิจการ หากกิจการมีการเติบโตขึ้นแต่ CWC เป็นลบ ก็แสดงว่ากิจการสร้างเงินสดได้มากขึ้นโดยมีเงินจมน้อยลง หรือบริหารเงินทุนหมุนเวียนได้ดีขึ้นนั่นเอง
ในงบกระแสเงินสด CWC ก็คือ ผลรวมของรายการ การเปลี่ยนแปลงในสินทรัพย์และหนี้สินดำเนินงานนั่นเอง
หลักการอ่านงบกระแสเงินสดก็คือ
สินทรัพย์ เพิ่ม -> เงิน ลด
เวลาซื้อของ เราต้องจ่ายตังออกไป
สินทรัพย์ ลด -> เงิน เพิ่ม
เวลาขายของ เราได้รับเงินสด
หนี้ เพิ่ม -> เงิน เพิ่ม
เวลากู้เงิน เราได้เงินสด
หนี้ ลด -> เงิน ลด
เวลาใช้หนี้ เราต้องจ่ายเงินสด
ตัวเลข + หรือ – ก็คือเงินที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง ซึ่งมีสาเหตุของการเพิ่มขึ้นและลดลงคือ
1. เงินเพิ่มหรือลดจริง
2. โอนกลับเงินที่ไม่ได้รับ/จ่ายจริง
(EX ค่าเสื่อม, ตั้งสำรอง)
3. แยกประเภทรายการ
(EX เอาเงินปันผลใน บ. ร่วมออกจาก ดำเนินงานไปไว้ในกิจกรรมลงทุน)