แต่ก่อนที่จะเริ่มประมาณการผลกำไร เราต้องเข้าใจคุณภาพของธุรกิจก่อน เราต้องสามารถวิเคราะห์ได้ว่าธุรกิจมี “จุดตาย” หรือ “ข้อควรระวัง” อยู่ตรงไหน และอะไรเป็นประเด็นที่สำคัญ เช่น ธุรกิจเกษตรจะมีราคาขายผันผวนตามสภาวะตลาด ซึ่งจะมีผลต่อการเติบโตของยอดขายและอัตรากำไรขั้นต้น ธุรกิจโรงแรมจะมีความผันผวนตามฤดูกาล เพราะฉะนั้นงบในไตรมาส 1 และ 4 จะสูงกว่าอีกสองไตรมาสมาก การวิเคราะห์ประเด็นเหล่านี้จะทำได้ถ้าเราเข้าใจความเสี่ยงและโครงสร้างรายได้และต้นทุนของกิจการ การประเมินโดยขาดความเข้าใจในคุณภาพของกิจการจะทำให้เกิด Garbage In, Garbage Out (ขยะเข้า ขยะออก) หรือถ้าพูดง่ายๆคือความถูกต้องของการประเมินกำไรในอนาคตจะขึ้นอยู่กับคุณภาพของการประเมินธุรกิจ ซึ่งในบทความนี้ผมจะไม่กล่าวถึงการวิเคราะห์เชิงคุณภาพแต่จะบอกว่าการวิเคราะห์เชิงคุณภาพจะทำให้เรารู้ว่า “สมมติฐาน” ข้อไหนมีความสำคัญต่อการประเมินกำไรในอนาคตของเรา
หลังจากประเมินมูลค่าเชิงคุณภาพแล้วเราก็สามารถเริ่มต้นทำการประมาณการกำไรได้ โดยแบ่งเป็น 5 ขั้นตอนง่ายๆดังนี้
1. สร้างโมเดลในการประเมิน (Creating a Model)
สามารถทำได้โดยทำการป้อนข้อมูลตัวเลขทางการเงินย้อนหลัง (จากงบการเงิน) เราจะกรอกข้อมูลย้อนหลังลงในไฟล์ Excel อย่างน้อย 3 ปี (ถ้าอยากเห็นแนวโน้มของธุรกิจมากขึ้น ผมแนะนำ 5 ปี) โดยที่เราจะกรอกตัวเลขแต่ละบรรทัดและทำการคำนวณกำไรสุทธิออกมา (เราจะไม่กรอกกำไรสุทธิลงไปตรงๆ) เราจะนำกำไรสุทธิที่คำนวณได้ไปเปรียบเทียบกับตัวเลขในงบการเงิน ถ้าตรงก็แล้วไป แต่ถ้าไม่ตรงแสดงว่า 1) สูตรผิด 2) ตัวเลขที่เรากรอกไม่ถูกต้อง เราต้องหาจนเจอจุดผิด (ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องที่น่ารำคาญมากๆสำหรับคนที่พึ่งจะเริ่มทำโมเดลใหม่ๆ) เพราะไม่งั้นการประมาณการเราจะผิดทั้งหมด แต่ถ้าเราทำได้แล้วเราก็จะมีโมเดลที่พร้อมแล้วสำหรับการการประเมินกำไรต่อไป
2. กำหนดสมมติฐาน (Set Assumptions)
สามารถทำได้โดยดูแนวโน้มของการเติบโตของยอดขาย อัตราการทำกำไรย้อนหลัง และนำข้อมูลมาเปรียบเทียบกับข้อมูลที่ผู้บริหารให้มา หลังจากเปรียบเทียบแล้วเราจะทราบว่าผู้บริหารให้ Guidance ต่ำหรือสูงเกินไป เช่น ถ้าธุรกิจมีรายได้เติบโตแค่ปีละ 3% ตลอด 5 ปีที่ผ่านมาแต่ปีนี้ผู้บริหารให้เป้า 20% เราต้องสงสัยแล้วว่าจะมีปัจจัยอะไรที่ทำให้บริษัทเติบโตได้ขนาดนั้น หลังจากนั้นเราก็ต้องทำการ “เลือกเชื่อ” ว่าเราจะนำตัวเลขไหนมาใช้ในการประเมินกำไร
3. ประเมินกำไรจากสมมติฐาน (Forecasting)
โดยนำตัวเลขสมมติฐานที่ได้มาทำการประมาณการกำไร ตัวเลขเหล่านี้ควรรวมถึง (แต่อาจจะมีมากกว่านี้) อัตราการเติบโตของยอดขาย อัตรากำไรขั้นต้น ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเมื่อเทียบเป็นสัดส่วนของยอดขายรวม อัตราภาษี ค่าใช้จ่ายทางการเงิน ในบางธุรกิจอาจจะมี กำไร(ขาดทุน)จากอัตราแลกเปลี่ยน ค่าใช้จ่ายจากการขายสินทรัพย์ และอื่นๆ ซึ่งวิธีการประเมินอาจจะขึ้นอยู่กับว่ารายการนั้นมีนัยสำคัญต่อการประเมินของเราหรือไม่ ถ้าไม่มีก็สามารถตัดทิ้งได้ แต่ถ้ามีเราอาจจะต้องศึกษาเพิ่มเติม
4. เปรียบเทียบตัวเลขที่ทำได้กับแหล่งอ้างอิงอื่นๆ (Benchmarking)
นำตัวเลขที่ได้มาเปรียบเทียบกับสิ่งที่ผู้บริหารให้ไว้ รวมถึงเปรียบเทียบตัวเลขกับบทวิเคราะห์ว่าผลกำไรที่เราประเมินได้มากหรือน้อยกว่าอย่างไร อยากให้ตั้งข้อสังเกตว่าการที่ได้ตัวเลขใกล้เคียงกับนักวิเคราะห์อาจจะไม่ได้แปลว่ามันถูกต้องเสมอไป การได้ตัวเลขที่น้อยกว่าหรือมากกว่ามากๆบางครั้งอาจจะถูกก็ได้ เพราะสุดท้ายแล้วขึ้นอยู่สมมติฐานของเรา สิ่งที่สำคัญกว่าคือเราต้องตอบให้ได้ว่า “ทำไม” ตัวเลขเราถึงแตกต่างกับคนอื่นๆ
5. ติดตามและอัพเดทงบรายไตรมาส (Earning Review)
ทุกครั้งที่งบออก เราจะป้อนข้อมูลงบล่าสุดเทียบกับประมาณการที่เราทำไว้สำหรับทั้งปี เช่นถ้ายอดขาย 6 เดือนแรกโต 50% แต่เราทำประมาณการไว้ 10% แสดงว่าเราอาจจะต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมหรืออาจจะต้องศึกษาดูว่ากำไรที่โตเยอะมากเกิดจากเหตุการณ์พิเศษอะไรรึเปล่า แล้วเราก็ควรจะปรับโมเดลตามข้อมูลใหม่ที่เราได้รับมา
ช่วงที่ผมเป็นนักวิเคราะห์กองทุนใหม่ๆผมมักจะเจออาการ “โดนหลอก” เป็นประจำ เพราะผมเชื่อ 100% ในสิ่งที่ผมได้ยินได้ฟังมาทำให้ตัวเลขที่ได้บางครั้งก็สูงเกินไป (ทำให้เราไม่ได้ระวังตัว) บางครั้งก็ต่ำเกินไป (ทำให้เราไม่กล้าซื้อ) เพราะฉะนั้นการประเมินกำไรให้ได้แม่นยำ ต้องอาศัยความอดทน ความพยายาม ความช่างสังเกต ประสบการณ์ในการลองผิดลองถูก แต่สิ่งที่ได้รับคือเครื่องมือที่ทรงพลังที่สุดชิ้นหนึ่งในการเป็นนักลงทุนแบบเน้นคุณค่า
อ่านจบแล้วก็อย่าลืมหยิบงบการเงินของหุ้นตัวโปรดแล้วมาลองทำการประเมินกำไรดูครับ การอธิบายเป็นคำพูดอาจจะมีข้อจำกัด เพราะฉะนั้นถ้ามีข้อสงสัยหรือคำแนะนำตรงไหนก็ถามกันได้ครับ
ตอนหน้าผมจะมาพูดถึงวิธีการวิเคราะห์และการประเมินงบในแต่ละบรรทัดว่าเราจะทำการประเมินได้อย่างไร และมีข้อควรระวังอะไร มาวิเคราะห์แบบเจาะลึกไปเลย ติดตามอ่านกันได้
Credit: http://www.thaivi.org/