วันอาทิตย์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2557

สรุปประเด็นบางประการในการอ่านงบการเงิน


สรุปประเด็นบางประการในการอ่านงบการเงินที่นักลงทุนสามารถใช้ช่วยตีความในกิจกรรมของธุรกิจ ซึ่งหากนำไปร่วมประเมินกับอัตราส่วนทางการเงินที่วิเคราะห์จะเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น

- การเปลี่ยนแปลงในสินทรัพย์หมุนเวียนและหนี้สินหมุนเวียน บ่งบอกถึงกิจกรรมดำเนินงานว่าเป็นอย่างไร การเพิ่มขึ้นส่วนมากจะชี้ถึงบริษัทในรอบบัญชีนั้นมีกิจกรรมการตลาด การผลิตมากขึ้นมักจะมีแนวโน้มว่าเน้นกลยุทธ์เชิงรุกมากขึ้น รอบบัญชีนั้นๆมักจะวุ่นวายกับ ปัญหาธุรกิจรายวันมักจะเป็นเรื่องซื้อๆ ขายๆ หรือการผลิตในโรงงาน หนี้ระยะสั้นที่เพิ่มขึ้นมากมักจะมีปัญหาการหมุนเวียนเงินสดในมือ บางธุรกิจอาจจะสะดุด บางธุรกิจเงินเข้าได้เดี๋ยวเดียวจ่ายออกอีกแล้ว เป็นต้น ซึ่งสังเกตได้จาก วงจรเงินสดยาวขึ้น Current ratio ลดลง กระแสเงินสดจากการดำเนินงานลดลงหรือ QE (คูณภาพกำไร) ลดลง เป็นต้น

- การเปลี่ยนแปลงในลูกหนี้การค้ามากบอกได้ว่าขายของเพิ่มมากขึ้นแน่ ซึ่งยังบอกได้อีกว่าทำตลาดมากขึ้นอาจขายมากและขยายเครดิตยาวขึ้นก็ได้ หรือขายแล้วเก็บเงินไม่ค่อยได้ก็ได้เช่นกัน แต่ต้องดูอัตราส่วนการเงินที่เกี่ยวข้องด้วย ส่วนถ้าลูกหนี้การค้าลดลงก็เป็นทั้งสัญญาณที่ดีและไม่ดีได้ เช่น เก็บเงินเร็วขึ้นหรือบางครั้งอาจตั้งสำรองหนี้สูญสูงขึ้นมากกว่าปกติ บางครั้งดูคู่กับการวิเคราะห์แนวโน้มก็ได้แล้วสามารถสรุปประเด็นบางอย่างได้เช่นกัน และถ้าเราไปอ่านหมายเหตุประกอบงบการเงินเพิ่มเติมพิจารณาที่ระยะเวลาค้างชำระหนี้ เราก็อาจจะพบอะไรในลูกหนี้ได้อีก

- การเปลี่ยนในสินค้าคงเหลือ ในส่วนนี้เกี่ยวข้องกับเรื่องการผลิตและซื้อวัตถุดิบหรือสินค้าเป็นหลัก สินค้าคงเหลือที่เพิ่มขึ้น ถ้าเพิ่มขึ้นสูงในส่วนวัตถุดิบ มองได้หลายมุมเข่น แนวโน้มราคาวัตถุดิบเพิ่มขึ้นสูงมาก หมายความว่าในงวดบัญชีหน้าต้นทุนขายจะสูงขึ้นหรืออาจหมายถึงวัตถุดิบถูกซื้อมาตุนไว้ เพราะมีคำสั่งล่วงหน้าในมือมาก? ของซื้อมาแล้วผลิตไม่ได้? สินค้าลดลง ถ้างานระหว่างทำเพิ่มขึ้นมากหรือสินค้าสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นมาก สัญญาณเหล่านี้ล้วนสามารถบ่งบอกเหตุการณ์ในธุรกิจได้อย่างดี และเช่นเดียวกับการวิเคราะห์ลูกหนี้ต้องพิจารณาอัตราส่วนทางการเงินและพิจารณาหมายเหตุประกอบงบการเงินด้วย การดูควรประกอบกับ inventory turnover ratio จะได้ภาพที่ชัดขึ้น

- สินทรัพย์หมุนเวียนอื่นเพิ่มขึ้นมาก ต้องดูรายละเอียดในหมายเหตุประกอบฯ ถ้าไม่บอกไว้อาจบ่งชี้บางอย่างที่ซ่อนเร้นโดยปกติรายการนี้อาจดูจากสัดส่วนในอัตราร้อยละยอดรวม (Common Size) ซึ่งควรใกล้เคียงเดิม การเพิ่มมาก (สัดส่วน) ที่สูงผิดปกติ อาจบ่งบอกกิจกรรมที่ไม่ปกติของธุรกิจที่เกิดในงวดนั้นๆ

- เงินลงทุนเพิ่มขึ้น ในงบการเงินรวมส่วนนี้จะหมายถึงเงินลงทุนในกิจการอื่นที่มีสัดส่วนน้อยกว่า 50% ถ้าสูงกว่านี้จะต้องนำมาจัดทำงบการเงินรวมเพราะถือเป็นบริษัทย่อย แต่ถ้ายังสูงกว่า 20% เงินลงทุนต้องบันทึกด้วยวิธีส่วนได้เสีย (Equity Method) วิธีนี้ผลกำไรขาดทุนของบริษัทที่ไปลงทุนจะนำมารวมตามสัดส่วนที่ถือหุ้นถ้ามีการจ่ายปันผลเงินลงทุนนี้ก็จะลดลง อาจมองง่ายๆ ว่าเงินลงทุนที่ใช้วิธี Equity นี้จะขึ้นลงตามส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทที่ลงทุนอยู่ ถ้ามูลค่ารวมต่ำกว่าทุนที่นำไปลงครั้งแรกแปลว่าบริษัทร่วมหรือย่อยเหล่านั้นขาดทุนซึ่งโดยปกติถ้าขาดทุนตลอดต่อเนื่อง อาจมีการใช้บริษัทย่อยเป็นตัวผ่องถ่ายกำไรหรือสินทรัพย์ก็ได้ เช่น มีค่าใช้จ่ายการบริหารสูงเกินจริง ขายสินค้าให้กับบริษัทที่กรรมการหรือผู้บริหารแอบไปถือหุ้นไว้ในราคาต่ำกว่าตลาดหรือซื้อวัตถุดิบจากบริษัทเหล่านั้นในราคาที่สูงเกิน บางครั้ง การเพิ่มขึ้นสูงมากในงบโดยเฉพาะเงินเข้าลงทุนครั้งแรกอาจตั้งซื้อจากผู้ถือหุ้นเดิมสูงเกินราคาปัจจัยพื้นฐาน ถ้าเป็นบริษัทจะเห็นได้จากการมีค่านิยมสูง ส่วนบริษัทร่วมจะไม่เห็น แต่สังเกตได้จากหมายเหตุประกอบงบการเงินที่เงินลงทุนตามสัดส่วนที่ลงทุน สูงกว่าทุนจดทะเบียนสูงมากกว่าที่ควรเป็น เป็นต้น แต่ถ้าจะพิจาณาในแง่ยุทธ์ศาสตร์เงินลงทุนที่เพิ่มขึ้นในบริษัทย่อยมักจะเกี่ยวข้องกับการกำหนดยุทธ์ศาสตร์โดยตรงในธุรกิจใหม่ที่สร้างโอกาสตลาดที่แตกต่างจากกลุ่มเป้าหมายตลาดเดิม (Existing Market) แต่ถ้าเพิ่มในบริษัทร่วมมักจะเป็นด้านการสร้างพันธมิตรธุรกิจหรือเครือข่าย (Network) การวิเคราะห์กรณีบริษัทร่วมดูส่วนแป่งกำไรเทียบกับเงินลงทุนร่วมว่าเป็นกี่ % นั่นคือผลตอบแทนในการลงทุนคร่าวๆ น้อยแสดงว่าการลงทุนไม่คุ้มเท่าไรทางการเงิน ส่วนบริษัทย่อยในงบรวมถูกรวมเข้าไว้แล้วเปรียบเหมือนแผนกหนึ่งการมองให้ดูภาพรวมร่วมไปกับบริษัท

-ที่ดินอาคารและอุปกรณ์ที่เพิ่มขึ้น โดยทั่วไปจะเป็นการลงทุนในลักษณะขยายกำลังการผลิต เช่นสร้างโรงงานใหม่ ซื้อเครื่องจักเพิ่มขึ้น มีธุรกิจจำนวนไม่มากนักที่ขายสินค้าที่แตกต่างจากเดิม ต้องผลิตสิ่งใหม่ที่ต่างจากเดิม 180 องศา เช่นจากธุรกิจเกษตรแปรูปเนื้อสัตว์ (ไก่) แช่แข็งส่งออก แล้วจะทำโทรคมนาคมจะรวมเอาธุรกิจมาไว้ในบริษัทเดิมทั้งหมด เพราะกระบวนการดำเนินงาน (operating supply chain) แตกต่างสิ้นเชิง กลุ่มเป้าหมายทางตลาดก็ต่างกัน แม้แต่ในธุรกิจโทรคมนาคม เดิมกิจการทำโทรศัพท์ระบบมือถือถ้าจะเพิ่มธุรกิจดาวเทียมก็จะแยกออกไปตั้งบริษัทใหม่ จะไม่มารวมกันโดยตรงแต่ใช้วิธีการควบคุมกิจการเหล่านี้ผ่าน Holding Company การสังเกตการเปลี่ยนแปลงตัวเลขในรายการนี้ เราก็จะพอคาดได้ว่าธุรกิจปัจจุบันบริษัทมองอนาคตอย่างไรบ้าง ถ้าเป็นกรณีที่มองภาพรามแล้วหลากหลายมาก เมื่ออ่านงบให้ดู งบแยกตามส่วนงานประกอบ ซึ่งจะแบ่งสินทรัพย์ หนี้สิน กำไร ไว้แยกชัดเจน แต่บ่งบอกภาพรวมๆ แต่เท่านี้เราก็พอใช้ดูว่าธุรกิจใดทำกำไรมากหรือน้อย ปีต่อๆไป ธุรกิจใดจะเพิ่มกำไรมากขึ้น บางบริษัทส่วนธุรกิจ A อาจมีอัตรากำไรสูงแต่สัดส่วนสินทรัพย์และกำไรน้อย แสดงว่าแม้จะเติบโตมากก็ไม่มีผลต่อกำไรโดยรวม เราจึงอาจเพียงแค่ติดตามห่างๆว่านโยบายการลงทุนและกลยุทธ์ในภาพรวมไปทิศทางธุรกิจ star นั้นไหม และต้องลงทุนเท่าไรกำไรถึงมีนัยต่อภาพรวมเป็นต้น

- ส่วนด้านหนี้สินที่เพิ่มหรือลด จะเกี่ยวข้องกับการตัดสินในการจัดหาเงินโดยตรง เราจะเรียนรู้การตัดสินใจด้านการเงินของผู้บริหารได้ดีว่ามีความรู้ความเข้าใจการเงินเป็นอย่างไร มีลักษณะเป็นผู้บริหารที่ชอบเสี่ยงมากหรือน้อย หนี้ระยะสั้นที่เพิ่มขึ้นเร็วอาจบอกเราได้อย่างเช่น กิจการนั้นมักเผชิญปัญหาทางการเงินระยะสั้นบ่อยและเป็นปัญหาเฉพาะหน้า แสดงว่าวางแผนการเงินยังไม่รัดกุมดีพอ หรืออาจมีเครดิตการเงินไม่ดีนักจึงมักกู้เงินได้แต่ระยะสั้น การจัดสรรสัดส่วนหนี้ระยะสั้นและระยะยาวบอกถึงวิธีการบริหารการเงินกับธุรกิจได้มาก และเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงและความอยู่รอดของธุรกิจในระยะยาว สัดส่วนที่สำคัญคือ  D/E ratio

Credit:https://www.facebook.com/sanpong.limthamrongkul