วันอาทิตย์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2557

การวิเคราะห์บริษัทโดยใช้งบการเงินเป็นตัวเริ่มต้นจะช่วยให้สามารถ focus ไปที่ละส่วน โดยไม่หลุดประเด็นสำคัญ (1) ลูกค้า-ลูกหนี้-ขาย


เมื่อเริ่มวิเคราะห์งบการเงินของบริษัทใดๆ หลักที่แนะนำคือ
  1. ทำธุรกิจใดจริงๆ อย่าดูหมวดที่จัดจากตลาดหลักทรัพย์ เพราะอาจทำให้เรามองผิดพลาดได้ ตัวอย่าง เช่น หมวด Energy มีทั้ง BANPU PTT TOP AKR GONKUL SOLAR เป็นต้น ทั้งหกตัวที่เห็นแม้จะเกี่ยวพันกับพลังงานก็จริง แต่กระบวนการผลิต ขาย วิธีการดำเนินธุรกิจ การลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ  (Asset Allocations) ต่างกันโดยสิ้นเชิง ดังนั้น ค่า P/E  ก็ดี P/BV ก็ดี หรือการหามูลค่าแท้จริงด้วย DCF Model ก็ดี ใช้การเทียบเคียงระดับ (P/E P/BV) หรืออ้างอิงความเสี่ยงเพื่อกำหนด่าตัวคิดลด หรือเทียบเคียงหาตัว Multiplier ที่ใช้คูณ Terminal Value ใน DCF Model ไม่ได้เลย มันผิดหลักการทั้งหมด BANPU จริงๆ ทำเหมืองถ่านหิน PTT และ TOP ทำธุรกิจผลิตน้ำมัน PTT ถือหุ้นในกลุ่มกว้างกว่า TOP บริษัท PTT ดูจะมี Value chain ดูจะยาวกว่า ส่วน AKR GONKUL ผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าขาย SOLAR ดุให้ดี รับเหมาก่อสร่าง เพียงแต่ลูกค้าคือคนสร้างโรงงาน บ้านพลังงานแสงอาทิตย์ รายได้มาจากการรับก่อสร้างมากกว่าการขายไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ โครงสร้างงบดุลต่างกัน งบกำไรขาดทุนต่างกัน เอาไปเทียบกันไม่ได้เลย
  2. เมื่อมองธุรกิจที่กระบวนการดำเนินธุรกิจชัดก็จะวิเคราะห์คาดการณ์ได้ถูกต้อง เพราะอะไร อย่าลืมครับว่า การบันทึกทางบัญชี ลงรายการตามลักษณะ Activities ที่เกิดเป็นหลัก ไม่ใช่ลงตามอย่างอื่น จัดรายการที่เกิดเป็น function เช่น ลูกหนี้ ขาย สินค้า เจ้าหนี้ เงินกู้ยืม เป็นต้น การเกิดรายการเหล่านี้ส่งผลต่อรูปแบบรายได้ ค่าใช้จ่าย และสุดท้ายก็คือกำไร ถ้าผลิตขาย สุดท้ายก็คือกำไรเพียงพอต่อการลงทุนในสินทรัพย์หรือไม่ ไม่ใช่ว่าทำอะไรอย่างเดียว อย่างคนที่มองเรื่องพลังงานทดแทน ควรมองให้ดีว่าธุรกิจนั้นผลิตพลังงานทดแทนขาย หรือรับจ่างสร้างโรงงานขาย เพราะผลิตพลังงานขายลงทุนสร้างครั้งเดียว เก็บกินกำไรได้นานหลายสิบปี แต่รับจ้างสร้างโรงงาน พอสร้างเสร็จรายได้ก็จบต้องหาลูกค้าใหม่ รายได้มาทีเยอะ แต่ไม่แน่นอน
  3. ดังนั้น ควรตรวจเบื้องต้นด้วย common size ธุรกิจแต่ละลักษณะการดำเนินงาน จะมีโครงสร้างสินทรัพย์ต่างกัน โครงสร้างทุนต่างกันไป ไม่ใช่เพียงแต่ลักษณะธุรกิจเท่านั้น อัตราส่วนที่เน้นก็ต่างไป เราไม่ต้องวิเคราะห์ทุกอัตราส่วนเหมือนกัน ธุรกิจที่ต้องลงทุนในสินทรัพย์ PPE มาก ลูกหนี้สัดส่วนน้อย การวิเคราะห์ AT FAT ROA CFROA สำคัญกว่าการดู CR QR CC AR มาก บางครั้งไม่ต้องดูด้วยซ้ำ
    1. ตัวอย่างการวิเคราะห์ธุรกิจตามรายการในงบดุลหรืองบแสดงฐานะการเงิน เช่นรายการลูกหนี้การค้า ซึ่งก็คือความสัมพันธ์ของ ลูกค้า-ลูกหนี้-ขาย แค่ละกิจการ แต่ละประเภทมีผลต่อแนวโน้มระยะยาวของรูปแบบกำไร เงินสดที่ได้รับ ความเสี่ยงของธุรกิจ เช่น 
4.1.     อสังหาริมทรัพย์ ลูกค้าธุรกิจนี้ เกิดแล้วจบ ต้องนับหนึ่งใหม่ทุกปี มีรายได้ กำไร ไม่แน่นอน คาดการณ์ยาวๆได้ยาก อสังหาริมทรัพย์หาลูกค้าซื้อแล้วไม่กลับมาซื้อซ้ำ เพราะบ้าน คอนโด ไม่ใช่ของกิน ส่วนมากซื้อแล้วใช้ครั้งเดียว Growth จึงมาจากกำลังซื้อใหม่ ขึ้นกับเศรษฐกิจ ภาวการณ์ว่างงาน ภาระหนี้ครัวเรือน อัตราดอกเบี้ย NPL ในระบบ เพราะถ้าธนาคารเข้มงวดปล่อยกู้ ยอดขายก็ไม่เกิด ธุรกิจนี่ไม่มีลูกหนี้ ดูเหมือนขายสดแต่ไม่ใช่ ลูกค้ากู้มาซื้อบ้าน ธุรกิจกู้มาสร้างบ้าน รับกระเป๋าซ้าย จ่ายกระเป๋าขวา
4.2.     รับเหมาก่อสร้าง ลูกค้าก็เป็นลักษณะคล้ายกับอสังหาริมทรัพย์ เกิดครั้งเดียว จบโครงการก็เริ่มใหม่ ไม่ต่อเนื่องกับลูกค้าเดิม รายได้ก็รับรู้แบบวิธีประมาณการ ไม่ได้สัมพันธ์กับเงินสด คาดการณ์ยาก มองยาวๆ ผิดได้ง่าย กำไรวันนี้ไม่ได้ยืนยันวันหน้าว่าจะดี หรือวันนี้แย่ พรุ่งนี้อาจดีเลยก็ได้ แต่ก็คือของแค่พรุ่งนี้จบจากนี้จะมีโครงการใหม่ๆอย่างไรต้องลุ้น จึงเสี่ยงสุดๆ
4.3.     กลุ่มที่ให้บริการด้านสาธารณูปโภค เช่น ขายไฟฟ้า ขายน้ำ จะมีลูกค้าประจำ ดังนั้นรายได้ และกำไร จึงสามารถคาดการณ์ได้ค่อนข้างแม่นยำ รายได้ส่วนมากมีการผูกพันโดยสัญญา  ความแน่นอนของรายได้สูง กลุ่มพวกนี้จัดเป็น Defensive Stock รายได้จะไม่ผันผวนไม่โตหวือหวา เว้นแต่ขยายขนาดกำลังการผลิต คือลงทุนมากๆ มีสัญญาใหม่ๆ เพิ่มตามการลงทุน ลูกค้ามักเป็นรัฐวิสาหกิจ หรือภาคธุรกิจโรงงานต่างๆ ในนิคม จึงไม่ค่อยมีปัญหาหนี้เสียมากนัก
4.4.     กลุ่มให้บริการโทรคมนาคม โทรศัพท์ มีลูกค้าขาประจำที่เป็นโดยพฤติกรรม การคาดการณ์รายได้ กำไร จึงไม่ค่อยผิดพลาดมากนัก ความเสี่ยงธุรกิจจึงไม่ใช่ที่ลูกค้ามากนัก
4.5.     ธุรกิจทางการเงิน เช่น ธนาคาร, ปล่อยกู้-เช่าซื้อ กลุ่มนี้มีลูกหนี้ปล่อยกู้เป็นสินทรัพย์หลัก คุณภาพลูกหนี้จึงสำคัญที่สุด ต้องพิจารณาหนี้เสียที่อาจจะเกิดขึ้น ทำให้กำไรของธุรกิจไม่แน่นอน และมีความเสี่ยงสูงตามภาวะเศรษฐกิจ กลุ่มนี้ต้องดูว่า Loan Portfolio เป็นอย่างไร เช่าซื้อมีลูกค้ากลุ่มเดียวแบบเดียว จึงเสี่ยงมากกว่าธนาคาร เวลาพูดถึงความเสี่ยงหมายความว่า เมื่อกำไรพุ่งก็สูงมาก แต่เวลาตกก็ร่วงรุนแรง ดังนั้นหุ้นกลุ่มนี้หากจะลงทุนระยะยาว 5-10 ปี อย่าคาดการณ์ด้านดีอย่างเดียว ต้องมองกลางๆ มักตามภาวะเศรษฐกิจ ผันผวน
4.6.     ธุรกิจประกัน แยกได้คือ ประกันวินาศภัย และประกันชีวิต รายได้กลุ่มนี้ต่างกัน ถ้าวินาศภัย รายได้รับรู้จากลูกค้าที่มักจ่ายค่าประกันปีต่อปี ความมั่งคงรายได้จะขึ้นกับฐานลูกค้าประจำ เช่นกลุ่มธุรกิจในเครือข่าย ขยายตัวขึ้นลงตามภาวะเศรษฐกิจ แต่ส่วนมากจะเพิ่มขึ้น รายได้ ไม่ใช่กำไรนะครับ หากบริการดี ลูกค้ามีความพอใจและมั่นใจก็ซื้อซ้ำประจำต่อเนื่อง
4.7.     ส่วนประกันชีวิต ข้อดีคือลูกค้าเมื่อซื้อประกันชีวิตจะจ่ายต่อเนื่องไปหลายๆปีจนจบสัญญา ดังนั้นรายได้จะเกิดต่อเนื่อง คาดการณ์ไม่ค่อยยาก (ในแง่รายได้นะครับย้ำ)
4.8.     กลุ่มค้าปลีก รายได้และการขยายตัวมาจากการเปิดสาขาใหม่เพิ่มเติม รายได้แต่ละสาขาขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจและอำนาจซื้อของครัวเรือน การคาดการณ์การขยายตัวของรายได้จึงต้องพิจารณาสองด้านคือ การขยายการลงทุนและอำนาจซื้อของประชากร อำนาจซื้อมากแต่ไม่ขยายสาขา รายได้ก็โตไม่เร็ว ขยายสาขาแต่อำนาจซื้อน้อยรายได้อาจโตแต่ความสามารถทำกำไรจากการลงทุนในสาขาลดลง
4.9.     โรงพยาบาล รายได้ค่อนข้างเติบโตแบบมั่นคง การก้าวกระโดมากๆ มักมาจากการ Takeover หรือซื้อกิจการโรงพยาบาลอื่น เพราะโดยธรรมชาติลูกค้าโรงพยาบาลไม่ชอบการเจ็บป่วย คงไม่มีใครอยากเข้าโรงพยาบาลซ้ำๆ ถี่ๆ สิ่งที่จะเปลี่ยนแนวโน้มจึงเป็นระยะยาวมากกว่าการเปลี่ยนทันทียกเว้นการซื้อกิจการโรงพยาบาลอื่น การคาดการณ์รายได้จากสินทรัพย์ปัจจุบันคือการเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป มากกว่าการประมาณแบบก้าวกระโดด
4.10.    กลุ่มส่งออก การคาดการณ์กลุ่มนี้มีสองมิติหลักคือ อัตราแลกเปลี่ยนและภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า ค่าเงินบาทที่อ่อนเป็นผลดีต่อการส่งออก และการเติบโตเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าด้วยแต่ก็ต้องระวังเรื่องการแข่งขันด้วย ดังนั้นการคาดการณ์รายได้จึงมีความเสี่ยงหลายมิติมาก ทั่งค่าเงิน ภาวะเศรษฐกิจนอกประเทศ และการข่างขันในตลาดโลก
การคาดการณ์รายได้ การวิเคราะห์ธุรกิจ เราก็เริ่มจากงบการเงินนี่แหละครับ ไม่รู้จะเริ่มอะไร ก็วิเคราะห์จากงบดุลหรืองบแสดงฐานะการเงิน นานเข้าก็จะเชี่ยวชาญมากขึ้น ด้านอื่นๆ ก็เช่นกัน สินค้าคงเหลือ เงินลงทุน ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ ไว้จะค่อยๆ นำมาดูทีละรายการในงบการเงินกันครับ    

Credit:https://www.facebook.com/sanpong.limthamrongkul