วันพุธที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2557

ค่าเสื่อมราคา โดย อ.สรรพงษ์


วันนี้จะมาคุยเรื่องค่าเสื่อมราคากันสักหน่อย หลายคนคงรู้มาบ้างแล้ว แต่ผมคงไม่คุยแบบธรรมดาหรอกครับว่ามายังไง คำนวณอย่างไร การเป็นนักลงทุนผมว่าควรรู้ในอีกหลายมุมมากกว่า แบบที่แม้แต่นักบัญชีบางคนเองทำเป็น ลงบัญชีเป็น แต่ไม่เคยรู้เหตุผลที่มาที่ไปบางประเด็น

ค่าเสื่อมราคาเป็นรายการที่ถือเป็นค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงาน เป็นค่าใช้จ่ายที่ประมาณขึ้นเพื่อหักออกจากมูลค่าของสินทรัพย์ในรายการอาคาร เครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆ ในมาตรฐานการบัญชีมีหลายวิธีที่อนุณาตให้ใช้คำนวณได้ แบ่งกว้างๆ ได้เป็น 3 กลุ่มคือ
  1. วิธีเส้นตรง Straight Line Method
  2. วิธีลดลง (Declining Method) ซึ่งแบ่งย่อยเป็น
2.1      Double Declining Method
2.2      Sum of the Year Digit Method
  1. Unit of Production Method
ในแต่ละวิธีนั้นคำนวณอย่างไร คิดอย่างไร ผมคิดว่าในฐานะนักลงทุนรู้หลักการและผลกระทบก็พอ เพื่อให้เข้าใจผลที่ได้รับ เพราะรายการนี้บางคนก็มองว่า แต่งได้ตุกติกได้ ความจริงก็อาจเป็นเช่นนั้น แต่ในข้อเท็จจริงแล้ว การแต่งตัวเลขค่าเสื่อมราคานั้นบริษัทต้องชั่งใจ 2 ทางคือ ประโยชน์ทางภาษี ซึ่งจะประหยัดเงินสดจ่าย และกำไรสุทธิ เช่น กำไรก่อนหักค่าเสื่อมราคาและภาษี เท่ากับ 1,000 MB อัตราภาษีเท่ากับ 20% บริษัทมี PPE เท่ากับ 4,000 MB ถ้าค่าเสื่อมคิด 10% จะเป็นค่าใช้จ่าย 400 MB มี EBT 600 MB หลังหักภาษีจะมีกำไรสุทธิ 480 MB แต่ถ้าค่าเสื่อมคิด 20% จะเป็นค่าใช้จ่าย 800 MB มี EBT 200 MB หลังหักภาษีจะมีกำไรสุทธิ 160 MB

-การหักอัตราค่าเสื่อมต่ำ กำไรจะสูงกว่า และมูลค่าสินทรัพย์ก็จะสูงกว่า ROA ก็จะดีกว่า 480/3600 = 13.3%
การหักอัตราค่าเสื่อมสูงกว่า กำไรจะต่ำกว่า และมูลค่าสินทรัพย์ก็จะต่ำกว่า ROA ก็จะน้อยกว่า 160/3200 = 5.0%

-แต่ในแง่กระแสเงินสด การหักอัตราค่าเสื่อมต่ำ จะประหยัดเงินภาษีได้ 80 MB ส่วนการหักอัตราค่าเสื่อมสูงจะประหยัดเงินภาษีได้ 160 MB

-ในงบกระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงาน การหักอัตราค่าเสื่อมต่ำจะบวกค่าเสื่อมในกำไรกลับ 400 MB กำไร 480 + 400 = 880 MB ส่วนกรณีการหักอัตราค่าเสื่อมสูงจะบวกค่าเสื่อมในกำไรกลับ 800 MB กำไร 160 + 800 = 960 MB

-ในการคำนวณอัตราส่วนที่เกี่ยวข้องเช่น QE การหักอัตราค่าเสื่อมต่ำจะได้ 880/480 = 1.83

- ส่วนการหักอัตราค่าเสื่อมสูง QE จะได้ 960/160 = 6.0 มีคุณภาพสูงกว่า ซึ่งก็มีเหตุมีผล เนื่องจากว่ากระแสเงินสดจากการดำเนินงานจะต่างกัน 960-880 = 80 MB ซึ่งก็เป็นผลจาก tax shield = (800-400) x 20% = 80 MB

- ดังนั้นในกิจการจึงต้องเลือกว่า จะแสดงกำไรสูงๆ แต่กระแสเงินสดน้อยกว่า กับการมีกำไรแต่ไม่สูงมาก แต่กระเงินสดสูง การจะให้น้ำหนักใดขึ้นกับว่า ลักษณะอุตสาหกรรมใช้หรือต้องการสภาพคล่องมากกว่ากัน ในธุรกิจที่มีสภาพคล่องสูงโดยธรรมชาติอยู่แล้ว ก็มักเลือกแสดงกำไรสูงไว้ก่อน ส่วนธุรกิจที่ต้องการสภาพคล่องสูง อาจเลือกกระแสเงินสดมากกว่า

- แต่ข้อที่มักไม่คำนึงถึงกันเท่าไรคือ การตัดค่าเสื่อมต่ำหมายความว่ามูลค่าสินทรัพย์ PPE สุทธิ จะสูงกว่า ในภาวะปกติทั่วไปก็ดีกว่า แต่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) แนวโน้มที่จะเกิดการด้อยค่าจะสูงมากกว่า เพราะในการด้อยค่ามูลค่าจากการใช้จะมีโอกาสลดลงต่ำกว่ามูลค่าบัญชี และราคาขายสินทรัพย์ก็อาจลดลงมากกว่า เมื่ออเทีบยกับธุรกิจที่ตัดค่าเสื่อมสูงมูลค่าทางบัญชีจะแสดงต่ำกว่า เช่น (จากตัวอย่าง) ถ้าตัด 10% สินทรัพย์ เท่ากับ 3600 MB ส่วนกรณีตัดที่ 20% สินทรัพย์ เท่ากับ 3200 MB แต่เนื่องจากการประมษณมูลค่าจากการใช้ ย่อมเท่ากันเพราะเป็นธุรกิจอันเดียวกัน สมมติได้ออกมา 3400 MB กรณที่แสดง 3600 จะเกิดด้อยค่าขึ้น 200 MB เป็นค่าใช้จ่ายในงวดนั้น ส่วนกรณีที่แสดง 3200 MB ไม่เกิดการด้อยค่า

-ดังนั้นการตัดค่าเสื่อมถ้าดูเพียงมิติปีต่อปี อาจจะสรุปเอาว่าตัดอัตราต่ำดีกว่า แต่ถ้าดูในหลายๆมิติ ดูระยะยาวๆ อาจจะไม่ใช่ก็ได้

-ในอีกมุมหนึ่ง ค่าเสื่อมราคาที่หักในแต่ละปีคือการสำรองกำไรหรือเงินสดในธุรกิจเพื่อลงทุนทดแทนในภายหลังจากที่สินทรัพย์นั้นหมดอายุและต้องซื้อทดแทน ธุรกิจก็จะมีงินสดเหลืออยู่ไปลงทุนทดแทนได้โดยไม่ต้องกู้เพิ่ม และจ่ายปันผลได้เต็มที่ เช่น
ปีที่ 0      PPE 4000     =    E 4000
ปีที่ 1      cash 960 + PPE 3200    =    E 4000 + 160   ค่าเสื่อม 800
ปีที่ 1      cash (960-160) + PPE 3200    =    E 4000 + 160 – 160 จ่ายปันผล 100% 160 MB
ปีที่ 1      cash 800 + PPE 3200    =    E 4000
ปีที่ 2      cash 1600 + PPE 2400    =    E 4000
ปีที่ 3      cash 2400 + PPE 1600    =    E 4000
ปีที่ 4      cash 3200 + PPE 800    =    E 4000
ปีที่ 5      cash 4000 + PPE 0     =    E 4000
สิ้นปีที่ 5 ต้องซื้อทดแทนพอดี และ PPE หมดอายุพอดี กิจการจะสะสมเงินซื้อทดแทนได้พอดี และดำเนินกิจการต่อไปได้ตามหลัก going concern การดำรงอยู่ต่อเนื่อง ถ้าหักน้อยปีละเพียง 400 จะสะสมได้ เพียงปีละ 400 เมื่อครบ 5 ปี จะมีงบดังนี้
 ปีที่ 5  cash 2000 + PPE 2000     =    E 4000   จ่ายปันผล 100% เท่ากัน
เนื่องจาก สินทรัพย์ PPE หมดค่าลงในปีที่ 5 จะขาดทุนทันที 2000 และต้องกู้เงินมาอีก 2000 จึงจะมีเงินซื้อทดแทนได้ จะเกิดผลด้านลบคือ ถ้าตัดน้อยกว่าที่ควรเป็นจริง นอกจากจะมีขาดทุนจากสินทรัพย์ (อาจเป็นการด้อยค่า) แล้ว กิจการยังต้องก่อหนี้เพิ่ม โดยรวมๆ แล้วไม่เป็นผลดีต่อกิจการในระยะยาว

-ดังนั้นการตัดในอัตราต่ำกว่าความจริงเพื่อสร้างกำไร กลับไม่เป็นผลดีระยะยาวกับกิจการ

-ส่วนวิธีในการตัดค่าเสื่อมราคา ในทางทฤษฎีทางบัญชีนั้น การเลือกวิธีใดนั้นมีเหตุผลที่แตกต่างกันคือ

-วิธี  Straight Line เหมาะกับสินทรัพย์ที่เสื่อมมูลค่าตามระยะเวลาโดยตรง การหมดประโยชน์เกิดขึ้นเพราะเงื่อนเวลาโดยตรง และค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและซ่อมแซมค่อนข้างคงที่ตลอดการงาน แนวคิดสำคัญเรื่องค่าเสื่อมนั้นเดิมในทางทฤษฎีทางบัญชีจะมองว่า ค่าเสื่อมราคาและค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและซ่อมแซมเมื่อรวมกันแต่ละปีจะคงที่ ถ้าค่าใช้จ่ายด้านการบำรุงรักษาและซ่อมแซมค่อนข้างคงที่ ค่าเสื่อมราคาควรจะใช้วิธีเส้นตรง

-วิธีลดลง (Declining Method) วิธีนี้การคิดค่าเสื่อมจะสูงในปีแรกๆ ลดน้อยลงในปีหลังๆ (ทั้ง Double Declining และ Sum of the yeas digit) แนวคิดสำคัญเรื่องค่าเสื่อมนี้จะมองว่า ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและซ่อมแซมจะเกิดน้อยในช่วงปีแรกๆ และจะเพิ่มขึ้นในช่วงหลังๆ ส่วนค่าเสื่อมจึงตัดมากในปีแรกๆ และลดลงในปีหลังๆค่าเสื่อมราคาและค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและซ่อมแซมเมื่อรวมกันแต่ละปีจะคงที่เช่นกัน

-ส่วนวิธีสุดท้าย Unit of Production อยู่บนหลักคิดที่ว่าประโยชน์สินทรัพย์หมดลงตามผลผลิตที่เกิดหรือใช้งาน โดยแนวคิดนี้ไม่คึงนึงถึงค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและซ่อมแซม Unit of Production นี้คิดได้ 2 แบบคือ หน่วยผลิตสินค้าหรือชั่วโมงการผลิต (ชั่วโมงการใช้งาน)

-การกำหนดวิธีไม่เหมาะสมอาจจะให้มูลค่าของสินทรัพย์ที่เหลือสุทธิต่างไปจากความเป็นจริงมาก ก็ไม่ต่างจากการกำหนดอัตราคิดค่าเสื่อมไม่เหมาะสม ย่อมไม่เป็นผลดีกับกิจการในระยะยาว

-ค่าตัดจำหน่ายสินทรัพย์ระยะยาวที่เกิดขึ้นก็สามารถใช้หลักการเดียวกัน มีบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ เช่น BECL ที่ตัดค่าตัดจำหน่ายสิทธิในการใช้ประโยชน์บนงานก่อสร้างด้วยวิธี Unit of Production คือ สิทธิในการใช้ประโยชน์บนงานก่อสร้างที่เสร็จแล้วตัดจำหน่ายเป็นค่าใช้จ่ายในงบกำไรขาดทุนตามปริมาณรถที่ใช้บริการ มองแล้วอาจไม่รู้สึกอะไร แต่ถ้าดูตามข้อเท็จจริง ค่าสิทธิ์นี้ก็คือ ค่าสัมปทานซึ่งประโยชน์จากการใช้ในความจริงหมดประโชน์ตามเงื่อนเวลามากกว่าหมดเพราะปริมณลดที่ขึ้น สมมติว่าปีนั้นรถไม่ขึ้นทางด่วนเลยไม่เกิดค่าตัดจำหน่ายสิทธิในการใช้ประโยชน์เป็นค่าใช้จ่ายเลยหรือ แล้วสัมปทานหมดอายุลงไป 1 ปี มูลค่าจะไม่ลดลงตามหรือ ทำนองกลับกัน ถ้ารถขึ้นมากประโยชน์สัมปทานจะหมดลงเร็วหรือ ก็ไม่ใช่ดังนั้นปริมาณรถจึงไม่ใช่เงื่อนไขของการตัดค่าตัดจำหน่ายสิทธิในการใช้ประโยชน์ ควรจะตัดแบบเส้นตรงมากกว่า

-ดังนั้นแทนที่กำไรจะเพิ่มขึ้นมากในช่วงที่รายได้เพิ่มมากขึ้นจากปริมาณรถที่ใช้เพิ่มขึ้น กลับถูกลดลงจากค่าตัดจำหน่ายสิทธิในการใช้ประโยชน์บนงานก่อสร้างที่เสร็จแล้ว เมื่อกำไรลดลง เงินปันผลย่อมลดลง ในทางตรงข้ามกรณีที่รถใช้น้อยลง กำไรก็จะสูงกว่าที่ควร แต่เนื่องจากธุรกิจนี้ไม่ต้องสำรองเงินสดเพื่อซื้อทดแทนสินทรัพย์ที่หมดประโยชน์ กระแสเงินสดจึงสามารถจ่ายได้ทั้งหมดของกำไร และ D/E ควรมีแนวโน้มลดลง แต่บริษัทกลับมี D/E ที่แกว่งไม่แน่นอน นั่นเป็นเพราะการกำหนหดอัตราค่าตัดจำหน่ายไม่เหมาะสมส่วนหนึ่ง

-เรื่องค่าเสื่อมบางคนว่าง่ายๆ มันก็สามารถมีประเด็นทางการเงินได้ บางคนว่าแค่บัญชียังงงเลย เอาว่ารู้ผลกระทบแต่ไม่ต้องรู้ว่าลงอย่างไร อย่าสนใจว่าตัดอย่างไร ถูกหรือไม่ คำถามคือภาพกว้างๆ เหมาะสมไหมพอ

Credit: https://www.facebook.com/sanpong.limthamrongkul