วันพุธที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2557

หลักเกณฑ์การวัด การวัดเชิงปริมาณ (Quantitative measurement) และการวัดเชิงคุณภาพ (Qualitative measurement)


ความรู้ทางการเงิน การลงทุน และการบัญชี 


หลักเกณฑ์การวัด การวัดแบ่งได้เป็นสองแบบคือ 1. การวัดเชิงปริมาณ (Quantitative measurement) เป็นการวัดที่ตรงไปตรงมา (objective) โดยไม่เอาความรู้สึกหรืออารมณ์ (Sentiment) เข้าไปเกี่ยวข้อง การวัดจะออกมาเป็นตัวเลข เช่น นาย A อายุ 46 สูง 168 น้ำหนัก 86 ไม่ว่าใครจะมองว่า นาย A แก่หรือไม่แก่ เตี้ยหรือสูง อ้วนหรือผอม ตัวเลขที่วัดได้นี้ก็จะเป็นเช่นนี้เสมอ ไม่ว่าใครจะเป็นคนวัดก็ตาม เพราะตัวเลขมาจากตัวตนของนาย A ที่เป็น object ให้วัด จึงเรียกว่า objective คือเป็นไปตามสิ่งที่วัดไม่ขึ้นอยู่กับคนวัด ถ้าเป็นบริษัทก็คืองบการเงิน ที่แสดงจำนวนมูลค่าสินทรัพย์ หนี้สิน ทุน รายได้ ค่าใช้จ่าย กำไร ให้เราได้เห็นเหมือนๆ กัน

ส่วนที่ 2. การวัดเชิงคุณภาพ (Qualitative measurement) เป็นการวัดโดยอาศัยความรู้สึกของคนที่ประเมินสิ่งใดสิ่งหนึ่งตามความรู้สึกของตัวเอง (subjective) ดังนั้น คุณ ก. อาจจะบอกว่า นาย A แก่ คุณ ข. อาจจะบอกว่ายังไม่แก่ คุณ ค. อาจจะบอกว่า นาย A เตี้ย แต่คุณ ง. อาจจะบอกว่ารูปร่างสันทัด คุณ จ. อาจจะบอกว่า นาย A อ้วนมาก คุณ ฉ.อาจจะบอกว่านาย A เผละแล้วก็ได้ จะเห็นได้ว่าการวัดแบบนี้ผลการวัดจะไม่เป็นตัวเลข แต่จะเป็นคำคุณศัพท์ (adjective) ที่แต่ละคนใช้บรรยายผลการประเมินนาย A คำตอบเป็นไปตามผู้ประเมิน (ประธาน หรือ subject ของประโยค) จึงเรียกว่าเป็นการวัดแบบ subjective เป็นไปตามความรู้สึกของผู้ประเมิน

ถ้าหากนักลงทุนคนแรกบอกหุ้นราคาที่ 12 บาท แพงแล้ว อีกคนบอกว่าที่ราคา 15 บาทยังไม่แพง ราคาหุ้นเป็นปรากฏการณ์เชิงปริมาณ แต่จะถูกหรือแพงแล้วแต่คนคิด การวัดเชิงคุณภาพ (Qualitative measurement) บอกได้ยากว่าอะไรถูกหรือผิด บางคนอาจจะชอบธุรกิจลีสซิ่งไม่ชอบธนาคาร บางคนอาจมองว่าปล่อยสินเชื่อเหมือนกัน (เอาเงินหรือระดมเงิน มาหาส่วนต่างดอกเบี้ย) เลือกธนาคารเพราะมีการกระจายความเสี่ยงการปล่อยกู้มากกว่า ก็ขึ้นกับว่านักลงทุนคนนั้นมี Risk profile อย่างไร

การถกเถียงหรือเสนอแนะกันตามเว็ปบอร์ดต่างๆ มักภันแต่เรื่องการวัดเชิงคุณภาพ สิ่งที่สำคัญคือนัลงทุนต้องมีความรู้ที่ถูกต้องเสียก่อนว่าหลักการคืออะไร ล่าสุดที่อ่านเจอ บอกว่า DCA (Dollar Cost Average) คือวิธีการกระจายความเสี่ยงแบบหนึ่ง... DCA ไม่ใช่การกระจายความเสี่ยง (Risk Diversification) เพราะการซื้อหุ้นตัวเดิม ไม่ว่าราคาใดก็ตาม ความเสี่ยงของหุ้นนั้นทั้ง Systematic and Unsystematic Risk จะยังคงมีเท่าเดิม (ความผันผวนราคา Price Volatility) เป็นการเอาไข่หลายใบใส่ตระกร้าเดิมใบเดิม ไม่ใช่การนำไข่ใส่ตระกร้าหลายใบตามหลักการกระจายความเสี่ยง ถ้าเอาตระกร้าใบเดิม แต่ใส่ไข่หลายใบที่มีหลายๆราคา หากตระกร้าตก ไข่ก็แตกทั้งหมดอยู่ดี  จะโชคดีก็ต่อเมื่อสามารถขายยกตระกร้าได้ โดยเดิมอาจต้องขายราคาฌฉลี่ยสูง แต่ตอนนี้ขายเฉลี่ยได้ถูกลงขายง่ายขึ้นเท่านั้น แต่การกระจายความเสี่ยงคือ การใส่ไข่ตระกร้าหลายใบ ถ้าใบหนึ่งตก ก็ยังคงมีไข่เหลือในมืออยู่นี่คือหลักการของการกระจายความเสี่ยง (Risk Diversification)

แต่ข้อเสียคือการถือตระกร้าหลายใบอาจทำให้ไม่สามารถทำกำไรได้สูงมากๆ เพราะกำไรขาดทุนจะถูกถัวเฉลี่ยออกไป ดังนั้นนักลงทุนต้องรู้จัก Risk profile ของตนเองให้ถ่องแท้เสียก่อน และต้องจำไว้เสมอว่า High risk High return เสมอ ถ้าต้องการกำไรสูงๆ เร็วๆ ยิ่งเสี่ยงมาก อย่าเชื่อหรือคิดว่าจะถูกรางวัลที่หนึ่งได้ตลอดหรือเหมือนคนอื่นๆ ที่เขาเล่นหุ้นจนรวย คนร่ำรวยด้วยหุ้นมากๆนับคนได้ แต่คนเจ็บเพราะหุ้นมีนับไม่ถ้วน ในอเมริกามีแบบ Warren Buffett กี่สักคน แต่คนติดดอยเต็มตลาดหุ้นอเมริกา จากการได้ศึกษาและพูดคุยกับนักลงทุนทั้งในและนอกประเทศ หรือแม้แต่ได้ศึกษาและพูดคุยกับบุคคลและสถาบันพบว่าทุกตลาด ทุกกลุ่ม มีจุดอ่อนคล้ายๆกัน (ในหนังสือต่างๆก็สรุปไว้คล้ายๆกัน) แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นบ่อยแต่ไม่ค่อยมีการสรุปไว้คือ การจำเป็นต้องมีความรู้ที่ถูกต้องจริงๆ ที่เป็นเช่นนี้เพราะบางคนรู้ทฤษฎีหรือหลักการที่ผิด แต่มีกำไรก็เลยถ่ายทอดออกมา คนที่ขาดความรู้จึงเชื่อตามกันมา กำไรก็เลยคิดเอาว่าถูก ทั้งๆที่ มันคือโชค มันคือช่วงขาขึ้น ซื้ออะไรมันก็กำไรหมด ถ้ามีความรู้จริงแล้วท่านจะมีความนิ่งมาก ไม่ว่าตลาดจะขึ้นหรือลง

ผมจึงพยายามให้ความรู้ในการวัดและวิเคราะห์เชิงปริมาณมากกว่าความรู้การวัดและวิเคราะห์เชิงคุณภาพ แม้บางครั้งอาจต้องคาบเกี่ยวกันบ้าง แต่จะบอกถึงเหตุและผลทางหลักทฤษฎีไว้

ในการวัดเชิงปริมาณ (Quantitative measurement) คือการวัดจากสิ่งที่เกิดจริงแล้วเท่านั้น เช่น ขาย 10 บาท ต้นทุนที่จ่ายซื้อมาจริง 7 บาท กำไร 3 บาท ดังนั้นการวัดเชิงปริมาณคือวัดจากสิ่งที่เกิดเขึ้นจริงแล้วเท่านั้น ในทางการลงทุนก็คืองบการเงินนั่นเอง แต่สิ่งที่ยังไม่เกิดจริง แต่คาดการณ์เอา เป็นการวัดเชิงคุณภาพที่แสดงออกมาในรูปปริมาณเท่านั้น เช่นอัตราการเติบโตกำไรของไตรมาสหน้าหรือปีหน้า ในทางบัญชีเองก็มีข้อมูลเช่นนี้มาก เช่น ค่าเสื่อมราคา หนี้สงสัยจะสูญ การด้อยค่า เป็นต้น ตัวเลขประมาณการเหล่านี้จึงต้องมีข้อตกลงอันเป็นสากลที่ยอมรับโดยทั่วไปว่าต้องวัดแบบนี้เท่านี้ นั่นคือกำหนดเป็นมาตรฐานการบัญชีขึ้น เพื่อให้สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วและวัดด้วยราคาทุน เช่นรายการใน ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์มีการคิดค่าเสื่อมราคาอย่างเป็นระบบ นั่นจึงเป็นเหตุให้งบการเงินยังสามารถถูกตกแต่งได้ เพราะหลักเกณฑ์บางอย่างยังมีการวัดเชิงคุณภาพอยู่ (subjective) อายุการใช้งานสินทรัพย์ การรับรู้รายได้ของกิจการรับเหมาก่อสร้างตาม % งานที่เสร็จ รายการในบัญชีที่เป็นการประมาณการทั้งหลายจึงเป็นการพยายามวัดเชิงคุณภาพที่แสดงในรูปปริมาณ ดังนั้นในการอ่านและวิเคราะห์งบการเงินต้องพึงระวังและสังเกตว่าข้อมูลในงบที่มีนัยสำคัญต่อผลการดำเนินงาน หากเกี่ยวข้องมากต่อการวัดเชิงคุณภาพในรูปปริมาณ จะมีผลต่อกำไรของธุรกิจยิ่งมาก ดังนั้นเพื่อลดหรือตัดประเด็นนี้หลายคนจึงพิจารณาที่งบกระแสเงินสดประกอบ เพราะการวัดเชิงคุณภาพที่ประมาณการตัวเลขนั้น จะถูกขจัดออกไปเหลือแต่สิ่งที่เป็นเงินที่เคลื่อนไหวเท่านั้น แต่อย่ามุ่งดูแต่งบกระแสเงินสดอย่างเดียว เพราะวัตถุประสงค์ของงบกระแสเงินสดไม่ได้มุ่งหวังการวัดผลการดำเนินงาน แต่วัดการได้มาและใช้ไปของเงินสด ซึ่งถ้าสรุปงบต่างๆ จะเป็นดังนี้

งบแสดงฐานะการเงิน (งบดุล) = Wealth
งบกำไรขาดทุนและงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ = Successful
งบกระแสเงินสด = Survival

ดังนั้นการใช้ประโยชน์สูงสุดจากงบการเงินคือต้องเข้าใจวัดถุประสงค์ที่ถูกต้องเสียก่อน และจะยึดเอางบใดงบหนึ่งไม่ได้ เพราะตัวเลขทั้งสามงบเกี่ยวข้องและอธิบายที่มาที่ไปอย่างสัมพันธ์กัน เช่น ยอดขายมีผลต่อกำไรและยังกระทบต่อยอดลูกหนี้ ยอดลูกหนี้ที่คงเหลือต้นงวดและปลายงวดสะท้อนถึงการเก็บเงินจากการขาย ส่วนการประมาณการหนี้สงสัยจะสูญสะท้อนถึงคุณภาพลูกหนี้และกระทบต่อกำไรของธุรกิจ แต่ไม่กระทบต่อเงินสดที่เก็บจากลูกหนี้ เมื่อตัวเลขพันกันอย่างนี้จึงพัฒนาอัตราส่วนทางการเงินขึ้นมา เพื่ออ่านและตีความผลต่างๆที่เกิดขึ้น การวิเคราะห์งบการเงินจึงเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์

Credit: https://www.facebook.com/sanpong.limthamrongkul