วันพฤหัสบดีที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2556

10 ท่ายาก การลงทุนby ธันวา เลาหศิริวงศ์

คำว่า ‘ท่ายาก’ เริ่มคุ้นหูในวงสนทนาคนใกล้ชิดหรือจากสื่อออนไลน์บ่อยขึ้น แต่หากเป็นคอกีฬายิมนาสติกหรือกีฬากระโดดน้ำแล้ว จะเป็นคำที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย เพราะหากเลือกใช้ ‘ท่ายาก’ ซึ่งมีระดับความยากมากกว่า ‘ท่าปกติ’ นักกีฬาจะได้รับคะแนนพิเศษเพิ่มขึ้นอีกหากทำได้สมบูรณ์แบบ ทำให้มีโอกาสชนะในการแข่งขันมากขึ้น ในทางกลับกัน หากนักกีฬาไม่สามารถทำได้ดังคาด จะถูกตัดคะแนนและอาจทำให้ ‘พลาด’ เหรียญรางวัลได้เช่นกัน การเลือกใช้ท่ายากจึงเหมาะสำหรับ นักกีฬาที่มีทักษะ ผ่านการฝึกฝนอย่างดี และมีความพร้อมสภาพร่างกายขณะแข่งขันด้วย
เป้าหมายของนักลงทุนคือ การได้รับผลตอบตอบแทนที่ดีหรือ ‘มีกำไร’ และต้อง ‘ไม่ขาดทุน’ จากการลงทุน ดังนั้น นักลงทุนจึงควรพิจารณาหลีกเลี่ยง ‘ท่ายาก’ ในการลงทุนเพราะอาจวิธีเป็นหนึ่งที่หลีกเลี่ยงการขาดทุน ท่ายากในการลงทุนมีอะไรบ้าง

ท่าแรก ลงทุนแบบไม่มีหลักการลงทุน แนวทางหรือหลักการลงทุนมีมากมายหลายวิธี เช่น การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน หรือการใช้ปัจจัยทางเทคนิค แม้แต่ละวิธีจะมีจุดเด่น ข้อด้อยที่แตกต่างกันไป นักลงทุนที่ต้องการประสบความสำเร็จจำเป็นต้อง ‘ตกผลึก’ ทางความคิดหลักการลงทุนของตน โดยเรียนรู้จากทั้งความผิดพลาดและกรณีประสบความสำเร็จในอดีต หลักการที่ดีจะต้องเหมาะกับแนวทางการใช้ชีวิตและตรงกับ ‘จริต’ ของตนอีกด้วย
การลงทุนตามข่าวลือ อินไซด์ ตามเซียนหุ้น แม้จะได้ผลกำไรงามในบางสถานการณ์ แต่ไม่ใช่หลักการลงทุนที่ยั่งยืนเพราะจำเป็นต้อง ‘พึ่ง’ ผู้อื่นอยู่เสมอ หากข้อมูลคลาดเคลื่อนไม่ทันเหตุการณ์ อาจเกิดความเสียหายขึ้นได้ นอกจากนี้ การไม่ได้วิเคราะห์และตัดสินใจลงทุนด้วยตนเอง จะทำให้ไม่กล้าเข้าลงทุนในปริมาณที่มีนัยสำคัญแม้จะพบกิจการยอดเยี่ยมในราคายุติธรรมก็ตาม


ท่าที่สอง ลงทุนเกินขอบข่ายความรู้ (Circle of Competency) หากเปรียบการลงทุนหุ้นเสมือนการนำเงินในสัดส่วนที่มีนัยสำคัญของตนเข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนธุรกิจแล้ว นักลงทุนจำเป็นต้องศึกษา ค้นคว้า เรียนรู้ เพื่อเข้าใจทั้งข้อมูลอุตสาหกรรม สภาวะการแข่งขัน โครงสร้างและรูปแบบธุรกิจ ความเสี่ยง สถานะทางการเงิน ตลอดจนทีมผู้บริหาร ก่อนตัดสินใจลงทุนหลังจากผ่านการวิเคราะห์อย่างดี นักลงทุนมีแหล่งข้อมูลที่เปิดเผยเกี่ยวกับบริษัทที่สนใจลงทุน ได้แก่ แบบฟอร์ม 56-1 รายงานประจำปี งบการเงินรายไตรมาส งาน Opportunity Day ฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ของบริษัท เป็นต้น
ในทุกวันทำการ จะมีคนเสนอขายกิจการต่างๆ ในทุกอุตสาหกรรมเพื่อให้เราร่วมเป็นหุ้นส่วนธุรกิจดังกล่าว เป็นหน้าที่และภารกิจหลักของเราที่จะตัดสินใจหลีกเลี่ยงและ ‘ปฏิเสธ’ คำเสนอขายเหล่านั้นหากเรายังไม่มั่นใจและเข้าใจธุรกิจนั้นดีเพียงพอ
ท่าที่สาม ลงทุนแบบไม่เคยประเมินมูลค่า การประเมินมูลค่าหุ้นแต่ละวิธีล้วนมีข้อดี ข้อเสีย เนื่องจากมีตัวเลขจากการคาดการณ์มาใช้ในการคำนวณ จึงเป็นเรื่องที่ยากที่จะประเมินมูลค่าหุ้นได้อย่างถูกต้องแม่นยำ อย่างไรก็ตามนักลงทุนยังจำเป็นต้องประเมินมูลค่ากิจการโดยอาจใช้วิธีที่ตนถนัดและเหมาะสมกับแต่ละอุตสาหกรรม ทั้งนี้เพื่อที่จะได้ทราบคร่าวๆ ถึงช่วงราคาที่ถูก ที่เหมาะสม หรือที่แพงของแต่ละกิจการที่เราสนใจ
ช่วงระดับราคาที่ได้จากการประเมินจะช่วยให้เราตัดสินใจลงทุนซื้อหุ้นในช่วงราคาที่ถูกและมีส่วนต่างความปลอดภัย (Margin of Safety) และหลีกเลี่ยงการเข้าซื้อหุ้นในช่วงราคาที่แพง ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายจากการลงทุนได้


ท่าที่สี่ ลงทุนแบบซื้อขายบ่อยเกินไป แม้นักลงทุนแต่ละคนจะมีหลักการ หรือเงื่อนไขในการซื้อขายหุ้นแตกต่างกัน แต่สำหรับนักลงทุนเน้นคุณค่านั้นมักมีธุรกรรมซื้อขายหุ้นหากพบว่า พื้นฐานของกิจการเปลี่ยนแปลงส่งผลกระทบต่อผลประกอบการอย่างถาวร ราคาหุ้นสูงเกินปัจจัยพื้นฐาน หรือเมื่อพบกิจการกิจการที่ยอดเยี่ยมกว่าในราคาที่มีส่วนต่างความปลอดภัยสูงกว่า
ข้อเสียของการซื้อขายบ่อยครั้งคือ ค่าคอมมิชชั่นซึ่งอาจทำให้ผลตอบแทนโดยรวมต่ำลง แม้ไม่มีข้อพิสูจน์แน่ชัดถึงความสัมพันธ์ระหว่างความถี่ในการซื้อขายกับผลตอบแทนการลงทุน แต่หากต้องติดตามภาวะตลาดอย่างใกล้ชิด ต้องสูญเสียเวลาและขาดสมาธิในแต่ละวัน และอาจมีอารมณ์แปรปรวนตามภาวะตลาดแล้ว น่าจะถือว่าเป็นการขาดทุนทางอ้อมอย่างหนึ่ง


ท่าที่ห้า ลงทุนแบบไม่กระจายความเสี่ยง นักลงทุนควรพิจารณาลงทุนหุ้น 4-8 ตัวเพื่อการบริหารความเสี่ยงและเผื่อความไม่แน่นอนทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง หรือภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้น แม้จะมั่นใจในปัจจัยพื้นฐานของกิจการและการวิเคราะห์ของตน แต่การถือหุ้นเพียง 1-2 ตัวก็เป็นการเสี่ยงเกินไปหากมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น นักลงทุนต้องพึงระลึกไว้เสมอว่า “อะไรก็เกิดขึ้นได้ในตลาดหุ้น” นักลงทุนที่ประสบการณ์ไม่มากนักจึงควรหลีกเลี่ยง ‘ท่ายาก’ นี้เช่นกัน
การถือหุ้นจำนวนมากเกินไปแม้จะช่วยกระจายความเสี่ยง แต่อาจทำให้ผลตอบแทนโดยรวมลดลง นอกจากนี้ การถือหุ้น 15-20 ตัวขึ้นไป อาจทำให้ไม่มีเวลาศึกษารายละเอียดและติดตามกิจการอย่างใกล้ชิด ซึ่งกลายเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่งด้วย
จากตอนที่แล้ว ได้กล่าวถึง 5 ท่ายากของการลงทุน ได้แก่ ท่าแรก ลงทุนแบบไม่มีหลักการลงทุน ท่าที่สอง ลงทุนเกินขอบข่ายความรู้ ท่าที่สาม ลงทุนแบบไม่เคยประเมินมูลค่า ท่าที่สี่ ลงทุนแบบซื้อขายบ่อยเกินไป และท่าที่ห้า ลงทุนแบบไม่กระจายความเสี่ยง บทความนี้จะกล่าวถึงอีก 5 ท่ายากที่เหลือ มาดูกันว่ามีอะไรบ้าง

ท่าที่หก การตัดสินใจซื้อขายจากการคาดเดาภาวะตลาด ในโลกการลงทุน ไม่มีใครสามารถคาดเดาการขึ้นลงของหุ้นได้อย่างถูกต้องแม่นยำ หากมีการติดตามผลจะพบว่ามีทั้งถูกและผิดเสมอแม้การคาดการณ์นั้นจะมาจากนักวิเคราะห์ที่มีความเชี่ยวชาญหรือผู้ประสบการณ์ลงทุนอย่างยาวนานก็ตาม เราจึงพบเห็นปรากฏการณ์ทั้ง Sell on Fact หรือ Buy on Fact ราคาหุ้นขึ้นแม้ผลประกอบการแย่หรือราคาหุ้นลงแม้ผลประกอบการดี หุ้นไทยขึ้นสวนทางตลาดต่างประเทศหรือบางครั้งไปในทิศทางเดียวกัน
ในระยะสั้น ราคาหุ้นมักอ่อนไหวขึ้นลงตามปัจจัยภายนอกและอารมณ์นักลงทุนที่แปรปรวนรายวัน วิธีเลี่ยงหนึ่งคือ การเลือกลงทุนในกิจการที่สามารถคาดได้ว่าจะมีผลประกอบการดีขึ้นในระยะยาว ซึ่งราคาหุ้นจะต้องสะท้อนผลประกอบการนั้นในที่สุด


ท่าที่เจ็ด ไม่มีความอดทนเพียงพอ ความอดทนเป็นคุณสมบัติสำคัญอย่างหนึ่งของนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จ ยามภาวะหุ้นขึ้น นักลงทุนส่วนใหญ่มักตัดสินเข้าซื้อหุ้นโดยไม่อดทนรอราคาที่เหมาะสม ส่วนในยามภาวะตลาดย่ำแย่ นักลงทุนก็ต้องอดทนเห็นหุ้นของตนราคาลดลงให้ได้ และควรต้องพิจารณาซื้อเพิ่มหากยังเป็นกิจการที่ยอดเยี่ยมที่มีส่วนต่างความปลอดภัยเพิ่มขึ้น นักลงทุนต้องพึงระลึกไว้เสมอว่า มีโอกาสที่ดีเสมอในตลาดหุ้นสำหรับผุ้ที่มีความอดทน
โอกาสเดียวที่จะทำกำไรจากการไล่ซื้อหุ้นในราคาสูงคือ ราคาหุ้นจะต้องขึ้นสูงเพิ่มไปอีก แต่หากปัจจัยพื้นฐานหรือผลประกอบการไม่ได้โดดเด่นมากนัก แม้ราคาหุ้นจะขึ้นต่อไปอีกแต่อาจจะไม่สามารถรักษาระดับราคานั้นได้ วิธีเลี่ยงคือการออกห่างตลาดยามหุ้นขึ้น และติดตามตลาดอย่างใกล้ชิดเพื่อเข้าซื้อหุ้นที่ศึกษามาอย่างดีในราคาเหมาะสมยามตลาดหุ้นลงนั่นเอง


ท่าที่แปด ลงทุนด้วยมาร์จิ้นหรือซอร์ตเซล การลงทุนด้วยวิธีดังกล่าวแม้จะทำให้มีโอกาสสร้างผลตอบแทนเพิ่มขึ้น แต่นับว่าเป็นท่ายากท่าหนึ่งเลยทีเดียว เพราะนักลงทุนจำเป็นต้องเข้าใจ มีความเชี่ยวชาญ มีจิตวิทยาการลงทุนดี ไม่หวั่นไหวหากราคาหุ้นไม่เป็นไปดังคาด และต้องติดตามราคาซื้อขายอย่างใกล้ชิด นอกจากนั้น การเลือกใช้ท่ายากนี้ยังมีต้นทุนธุรกรรมแฝงอยู่อีกด้วย
คำแนะนำในการหลีกเลี่ยงท่ายากนี้และยังได้เพิ่มผลตอบแทนคือ การให้ยืมหุ้นเพื่อซอร์ตเซลในกรณีที่ถือหุ้นเต็มพอร์ต แม้จะได้ดอกเบี้ยรายวันในอัตรา 3-5% ต่อปีแต่ก็ดีกว่าถือหุ้นไว้เฉยๆ ส่วนนักลงทุนที่ถือเงินสดเต็มพอร์ต ควรพิจารณานำเงินสดนั้นลงทุนใน Money Market Funds ระยะสั้นที่ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าเงินฝากออมทรัพย์


ท่าที่เก้า ลงทุนในธุรกิจสวนกระแสแนวโน้มใหญ่ (mega trend) เป็นอีกท่ายากหนึ่งหากลงทุนในอุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่สวนกระแสและยังคาดหวังให้ผลประกอบการโดดเด่นเพื่อผลตอบแทนการลงทุนที่ดี แนวโน้มใหญ่ส่วนมากนั้นมักเกิดขึ้นก่อนในต่างประเทศ นักลงทุนสามารถเรียนรู้ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อธุรกิจและราคาหุ้นจากกรณีศึกษาเหล่านั้นด้วย
หากถือหุ้นที่อยู่ในธุรกิจดังกล่าว นักลงทุนควรพิจารณาขายหุ้นให้เร็วที่สุดเพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายที่อาจเพิ่มขึ้น เพราะหากนักลงทุนส่วนใหญ่คาดว่าธุรกิจต้องได้รับผลกระทบมากขึ้นจากแนวโน้มใหญ่ ราคาหุ้นจะต้องปรับตัวลงอีก อย่างไรก็ตามแม้ราคาหุ้นจะลดลงจนต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐาน ปัจจัยบวกเดียวที่จะทำให้ราคาหุ้นปรับเพิ่มขึ้นบ้างคือราคาหุ้นนั้นถูกเกินไปนั่นเอง


ท่าที่สิบ ลงทุนแบบหวังผลเลิศ ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นต่อเนื่องและสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับนักลงทุนในหลายปีที่ผ่านมา นักลงทุนคุ้นเคยกับการซื้อถูกขายแพง อย่างไรก็ตาม การตั้งความหวังที่จะได้ผลตอบแทนสูงเช่นเดิมนั้น นอกจากจะเป็นท่ายากแล้ว ยังอาจเป็น “กับดัก” ให้นักลงทุนยอมรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นด้วยการเล่นท่ายากอื่นหากผลตอบแทนไม่เป็นดังคาดอีกด้วย


มีสามปัจจัยสำคัญในการคำนวณผลตอบแทนทบต้น ได้แก่ อัตราผลตอบแทนต่อปีทบต้น เงินลงทุน และระยะเวลาลงทุน การคาดหวังผลตอบแทน 12-15% ต่อปีถือว่าเป็นเป้าหมายที่ท้าทายแต่ปฏิบัติได้จริง วิธีหลีกเลี่ยงท่ายากนี้คือ การเพิ่มความสำคัญอีกสองปัจจัยที่เหลือ โดยปัจจัยที่เพิ่มง่ายที่สุดคือ การเพิ่มระยะเวลาลงทุน ที่สนับสนุนคำพูดที่ว่า “เริ่มก่อนได้เปรียบ” นั่นเอง
การลงทุนในตลาดหุ้นเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ จะว่ายากก็ยาก ง่ายก็ง่าย ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว ไม่สามารถลอกเลียนแบบได้ทั้งหมด การรู้ทฤษฏีเหมือนกันก็ไม่อาจปฏิบัติให้ได้ผลลัพธ์เช่นเดียวกัน ในฐานะ Value Investor จึงควรประเมินและหลีกเลี่ยงท่ายากในการลงทุนของตนให้มากที่สุด หากเป็นไปได้ก็เลือกเฉพาะท่าง่ายสำหรับตนเองที่เข้าข่าย KISS – Keep It Simple Stupid เพื่อความสุขและสบายใจตลอดการเดินทางบนถนนการลงทุนสายนี้