วันพฤหัสบดีที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2556

วิธีที่คัดท้ายซื้อหุ้น


พี่คัดท้ายสอนน้อง “วิธีที่คัดท้ายซื้อหุ้น”
ผมเริ่มด้วยความเชื่อของผมก่อนแล้วกันครับ ก็เขียนเท่าที่พอจะนึกออกนะครับ คงเขียนหมดไม่ไหว นึกไม่ออก
ความเชื่อส่วนตัวของผม อาจจะจริงหรือไม่จริงก็ได้ แต่ผมเชื่อแบบนี้
1. ผมมีความเชื่อที่สำคัญที่สุด … และกฏทุกกฏของผมจะ Relate กับกฏทองข้อแรกนี้ คือ เงินมาจาก กระเป๋าคนอื่น
คนทั่วไปอาจจะบอกว่า เงินมาจากนักลงทุนคนอื่นๆที่เสียให้เรา แต่จริงๆ ผมรวมไปถึง คนซื้อของที่จ่ายเงินให้ธุรกิจที่เราเป็นเจ้าของด้วย
2. คนส่วนใหญ่ที่เล่นหุ้น จะเสียเงิน มากกว่าได้เงิน … กฏนี้เป็นกฏทองข้อที่สองครับ
ถ้าเมื่อใด คนส่วนใหญ่คิดอะไรเหมือนกันหมด … เห็นดีเห็นงามเหมือนกันหมด … คิดว่าหุ้นจะขึ้นเหมือนกันหมด … คิดว่าหุ้นจะลงเหมือนกันหมด …
มันใกล้จะเป็นจุดหักเหแล้ว … โดยเฉพาะในมุมมองในแง่ดี
3.เทคนิคอลกราฟ … ก็ตำราเดียวกัน แตกต่างกันมีบ้าง … อะไรที่คนรู้มากๆแล้วไม่ปลอดภัย ถ้าเรารู้ คนอื่นรู้ เจ้ามือก็รู้ … สัญญาณก็จะกลายเป็นกับดัก จะเห็นได้ว่า ข้อนี้ก็เกี่ยวกับกฏทองข้อที่สอง
4. ข่าวดี ข่าวร้าย ส่วนใหญ่ในตลาด ใช้เป็นตัวสร้างโมเม็นตัมของทิศทางราคา ไม่ใช่ทำให้เกิดการไล่ราคา โดยเฉพาะหุ้นที่มีสภาพคล่องสูง
5. ไม่มีใครรู้จริงเรื่องราคาหุ้น แม้แต่เจ้ามือ ก็เจ๊งบ่อย การบริหารความเสี่ยงเป็นเรื่องสำคัญ
6. หาหุ้นที่มีความสามารถในการแข่งขันแบบยั่งยืนในตลาดหุ้นไทย เหมือนงมเข็ม ในมหาสมุทร ยิ่งถ้าหาโอกาสซื้อในราคาที่มีส่วนลด ยิ่งหนักเข้าไปอีก …
7. ธุรกิจในเมืองไทย ไม่สามารถขยายตัวได้เท่ากับ ธุรกิจในอเมริกา ทำให้ตลาดไทยมี Cycle ที่สั้นกว่าตลาดอเมริกามาก และไม่ควรนำมาเปรียบเทียบกัน
เทียบกันง่ายๆ ส่วนใหญ่หุ้น IPO ที่เข้ามาในเมืองไทย มักขยายตัวไปเต็มพื้นที่ในประเทศ หรือ ใกล้ตันแล้ว (แต่มีบางอันที่ยังมีโอกาสขยายเช่น SE-ED BIGC OISHI …) ไม่ได้มีพื้นที่ที่จะขยายตัวได้อย่างเหลือเฟือ ..
ถ้าเป็นธุรกิจในอเมริกา ธุรกิจนึงอาจขายดีในระดับรัฐ แล้วก็เข้าตลาดหุ้น เค้าก็สามารถขยายได้อีก 50 รัฐ … แล้วเมื่อไปทั่วอเมริกา เค้าก็สามารถขยายไปทั่วโลกได้ มีความสามารถในการแข่งขัน
… หุ้นเมืองไทย ไม่ใช่แบบนั้น การจะเอามาเปรียบเทียบกัน ต้องทำด้วยความระมัดระวัง
8. การถือหุ้นของกิจการดี แต่ไม่เติบโตหรือเติบโตน้อย ในราคาที่ไม่มีส่วนลดที่เพียงพอ ไม่ใช่การลดความเสี่ยง เพราะวันใดวันหนึ่งความเสี่ยงก็ย่อมเกิดขึ้นได้
9. การถือหุ้นที่กิจการไม่ดี ในราคาที่ไม่มีส่วนลดที่มากเพียงพอ เป็นการกระทำที่โคตรเสี่ยง
10.การถือหุ้น ที่กิจการกำลังเติบโต ในราคาที่มีส่วนลด เป็นการลดความเสี่ยง
11.กลยุทธและแผนงาน เหนือกว่าความสามารถส่วนบุคคล
12.ผมไม่เคยเชื่อเรื่องธรรมาภิบาล แต่เชื่อว่าคนทุกคนทำเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง ซึ่งผมคิดว่าไม่ได้ผิดอะไร แต่ใส่ใจกับเจ้าของที่มีโอกาสทำเลวเกินพิกัด
เมืองไทย ไม่ใช่ประเทศธรรมาภิบาล … ดูจากสังคม และการเมืองได้ .. ถ้าตลาดหุ้นมันก็น่าจะซึมซับพฤติกรรมมาไม่มากก็น้อย … ทุกอย่างเกิดขึ้นได้ …
เป็นคนไทยต้องไม่ประมาท ทุกอย่างเกิดขึ้นได้ เป็นคนไทยต้องดูแลตัวเอง ..
_________________
“ผมคงจะต้องถือกระป๋อง ขอทานไปตามท้องถนน ถ้าหากว่าตลาดมีประสิทธิภาพ” – วอเรนท์ บัฟเฟต

13. แม้ว่าเราควรจะคิดให้เหมือนเป็นเจ้าของบริษัท แต่เจ้าของบริษัทไม่ได้คิดว่าเราเป็นเจ้าของ … ดังนั้นข้อมูลที่เราได้ ก็ไม่ใช่ข้อมูลที่เจ้าของได้
14. แม้พี่เจ๋งจะบอกว่า ให้คิดเหมือนเราซื้อทั้งบริษัท …ผมว่าจริงในแง่การมองมูลค่า … แต่ความเป็นจริงคือ เราไม่มีตังมากขนาดนั้น และเมื่อเรามีเงินซื้อแค่นั้น สิทธิที่เราได้ก็จะมีเท่าที่เงินของเรา …
และ หลังจากเราซื้อ เราก็เอาเงินของเรา ไปให้คนอื่นดูแล …
ให้เปรียบเทียบกับ คุณให้เงินเพื่อนยืมไปทำบริษัท …
คุณอาจจะบอกว่า จะบ้าเหรอ ให้เพื่อนยืมไปเสี่ยงจะตายชัก
แต่จริงๆ แล้ว เพื่อนยืมเงิน คุณยังไปถามมันได้ว่ามันเอาเงินไปทำอะไร อาจขอไปดูโรงงานมัน ขอเปิดบัญชีดู มอมเหล้ามันให้คายความลับ … และมันก็ยังอาจจะเกรงใจคุณอยู่บ้าง
แต่เจ้าของบริษัทมหาชน คงไม่สนใจคนที่ถือหุ้น 30,000 หุ้นเท่าไหร่ และเค้าอาจจะหันมายิ้มแล้วตอบคำถามต่างๆ แต่ก็ไม่รู้จะเชื่อคำตอบได้หรือเปล่า ว่านั้นคือความจริง …
15. ดังนั้น ข้อมูลที่เราได้ ก็จะมาจากข้อมูลวงนอกที่เราพอจะหาได้ได้แก่
- จากงบ เก่าๆย้อนกลับไป
- จากกราฟ
- จากตัวเลขและแนวโน้มของกลุ่มธุรกิจ
- จากส่วนแบ่งตลาด
- ฯลฯ

แต่จากประสบการทำให้ผมเชื่อ เฮียคลายเครียด ขึ้นทุกทีว่า จริงๆ เราเป็นกูไม่รู้ ( Gu(not)ru) คือ เราไม่ได้รู้อย่างที่เราคิดว่าเรารู้
อย่าลืมคิดเรื่องการบริหารความเสี่ยงไว้เสมอๆ เช่น เวลาซื้อหุ้น ควรบอกตัวเองว่า ถ้าเกิด เรื่องที่ไม่คาดฝัน เราจะทำอย่างไร ..
16. หุ้นเมืองไทย ยากนักที่ ราคา (ขอเน้นว่าราคา ไม่ได้พูดถึงมูลค่า) จะสวนกระแสพิษเศรษฐกิจได้ ..
ถ้าไม่ชอบเห็นหุ้นตัวเอง ราคาหายไปครึ่งนึง … ควรจะคำนึงถึงภาวะเศรษฐกิจด้วย ..
ผมไม่เชื่อว่าหุ้น VI VS VSOP อะไรก็ตามจะต้านภาวะแย่ๆ ได้ ไม่อย่างงั้น VI หลายๆท่านจะมีโอกาสซื้อหุ้นดี ราคาถู๊กกกก ถูกก … ในรอบที่ผ่านมาได้อย่างไร นั่นแสดงว่าราคามันทรุดลงไป
แต่ถ้าคุณไม่สนใจว่าคุณ ซื้อหุ้น 10 บาท แล้วราคา ลงไป 3 บาท แล้วไม่รู้สึกอะไร ก็ไม่สนใจเรื่องนี้
ด้วยความเชื่อทั้งหมดที่ผมบอกไป ก็เลยเกิดสิ่งที่ผมตั้งใจจะทำซึ่งก็มาจากความเชื่อ
คือ
ผมจะหาหุ้นที่เน้นว่ามี Downside Risk ต่ำ มี Upside Gain สูง … และมีสภาพธุรกิจอยู่ในเทรนขาขึ้น (Uptrend)
และผมมักจะถือลงทุนระยะ 6-12 เดือนเป็นส่วนใหญ่ครับ จริงๆไม่มีกฏตายตัวครับ แต่ที่ผ่านๆมา ผมมักจะถือได้เป็นระยะเวลาแค่นั้น แต่จริงๆแล้วไม่มีกฏตายตัวครับ
คือ ถือไปเรื่อยๆ จนกว่ารู้สึกว่าไม่ปลอดภัยแค่นั้นเอง ..

ส่วนประกอบในการตัดสินใจลงทุน
1. ข้อมูลพื้นฐาน (ผมให้ความสำคัญข้อนี้ที่สุด)
2. ข้อมูลเทคนิค
3. จิตวิทยาและกลยุทธการเข้าซื้อ

การวิเคราะห์เชิงพื้นฐาน
ผมไม่ได้มีความรู้ด้านนี้มากนัก รู้แค่งูๆปลาๆ แต่ผมก็ให้ความสำคัญกับข้อนี้มากๆ ปกติก็จะดูข้อมูลเชิงคุณภาพก่อน และผมมักจะถามความเห็นจากหลายๆท่านที่มีความรู้เรื่องนี้ประกอบด้วย
ผมเชื่อว่า นักการเงิน คนเรียนบัญชี … และ พนักงานสินเชื่อ … มีความสามารถในด้านนี้มากกว่าผมหลายเท่านัก และผมว่าคนกลุ่มนี้ก็เล่นหุ้นกันเพียบ ถ้าเพียงแค่การวิเคราะห์งบ จะบอกอะไรได้หมด คงจะไม่ใช่ ไม่งั้นคนกลุ่มนี้ก็รวยกันไปหมดแล้ว มันต้องมีอะไรมากกว่านี้
ผมเชื่อว่าการที่จะทำให้หุ้นมีสภาพ Uptrend อย่างโดดเด่นได้ ต้องมีการเปลี่ยนแปลงจากพื้นฐานอย่างอื่นที่ไม่ใช่งบ เช่น วงรอบธุรกิจ (ปิโตร เรือ) … การขยายงาน … การเปลี่ยนแปลงนโยบายการลงทุน เช่น กองทุนอสังหา .. ฯลฯ
สำหรับผม การวิเคราะห์งบ ใช้เพื่อบอกว่าธุรกิจมีสุขภาพที่ดี หรือ อ่อนแอ แพงไป หรือ ถูก ในปัจจุบัน แค่นั้นเอง
อีกเรื่องที่ดูคือ ดูความแข็งแกร่งว่าหากโดนคู่แข่งเจาะเข้ามานี่ จะมีความสามารถในการป้องกันแค่ไหน ผูกขาดมั้ย ข้อมูลนี้ ผมใช้ดูว่าผมจะกล้าถือได้นานแค่ไหน ถือแค่เก็งการเติบโต 6 เดือน หรือถือลงทุน 3 ปี เป้นต้น
การวิเคราะห์เชิงเทคนิค
การวิเคราะห์เชิงเทคนิค ผมใช้เพื่อหาราคาที่จะเข้าซื้อครับ
หุ้นที่จะใช้วิธีการนี้ ผมแนะนำว่าควรมีสภาพคล่องนะครับ ข้อมูลทางเทคนิค จะไม่ควรใช้กับหุ้นขาดสภาพคล่อง ไอ้พวกทั้งวัน ซื้อขายไม่กี่ไม้ นี่ไม่แนะนำครับ
ปกติ ถ้าหุ้นมีสภาพคล่อง แล้วมีหุ้นที่สนใจหลายตัว แล้วมองทางพื้นฐานก็ดีเท่ากัน รักพี่เสียดายน้อง ต้องเลือก ซื้อตัวนึงเยอะ ตัวนึงน้อย ผมมักจะชอบหุ้นที่ผมดูแล้วมีพฤติกรรมของผู้ดูแล ที่ไม่นิสัยแย่เกินไป .. โดยดูจากกราฟ ที่ผ่านๆมา หุ้นที่มีคนดูแลนิสัยเข้ากับเราจะเล่นได้สบายใจ แต่เรื่องนี้ VI อาจพูดแล้วไม่เข้าใจนะครับ อย่าไปสนใจเลยครับ
ส่วนใหญ่เทคนิคที่ใช้ ผมจะใช้ในการหาจุดที่เข้าซื้อหุ้น แต่ในความเป็นจริง … การหาจุดต่ำสุดนั้นยากมากครับ
ราคาที่เหมาะสม ที่คิดได้บางทีมันก็จับต้องยากจัง ผมก็ไม่เก่งพอเสียด้วยที่จะบอกว่า จริงๆมันควรอยู่ที่เท่าไหร่
ผมก็เลยต้องทำข้อที่ 3 ครับ คือ
กลยุทธ และจิตวิทยาการเข้าซื้อ
ผมมีความเชื่อว่า เทคนิคกับพื้นฐาน สามารถใช้คู่กันได้ในการหาจุดเข้าซื้อ
โดยผมจะหาแนวรับในเชิงเทคนิคไว้ก่อน … แล้ว Map จุดแต่ละจุดดูว่า ค่าที่จุดรับต่างๆนั้น ให้ค่าพื้นฐาน เช่น P/E P/BV อยู่ที่เท่าไหร่ ราคาประเมินเนี่ยถูกหรือแพง …
แล้วก็ดูว่าแนวรับแต่ละแนวเนี่ย เป็นไปได้มากหรือน้อย แล้วก็ทะยอยรับครับตามจุดต่างๆ ลงมากรับมาก ลงน้อยรับน้อยอะไรแบบนี้
แต่ที่ผมเจอๆมา ผมพบว่า ในสถานการณ์ปกติทั่วไปหุ้นดี เวลาลงมักจะลงไม่ถึงจุดที่ทุกคนคิดว่าถูกมากและปลอดภัยจนต้องซื้อ ครับ มันมักจะไม่ถึง
ผมลืมข้อนึงไปครับ คือ การดูและรักษาปรับพอร์ต และขาย
1. จดจำเหตุผลที่คุณซื้อหุ้นใดๆไว้เสมอ และจำไว้ใช้เวลาขาย
เช่น ถ้าคุณซื้อหุ้นเพราะกราฟ แล้ว ติดดอย คุณห้ามปลอบใจตัวเองว่าไม่เป็นไร หุ้นพื้นฐานดี อะไรแบบนี้ เพราะเวลาซื้อคุณไม่ได้คิดถึงพื้นฐานมันนะ
ต้องไม่หลอกตัวเอง
2. ขายเมื่อเหตุการณ์ไม่ได้เป็นไปตามที่คุณคิด โดยเฉพาะทางพื้นฐาน … แยกความรู้ กับ ความหวัง ออกจากกันให้ชัดเจนครับ
3. ขายเมื่อหุ้นได้ถึงเป้าหมายที่คาดเอาไว้ … อย่าโลภเกินครับ เราหวัง เรารู้แค่ไหน ก็หวังแค่นั้น ผมคิดแบบนั้นนะ หรือไม่ถ้าเกินเป้าหมายแล้ว อยากถือต่อ ก็ควรบริหารความเสี่ยงโดยการทำคลายเครียดเรโช ไปมั่ง
อาจจะดูว่า ผมไม่ให้โอกาสหุ้นได้แก้ตัวเลย เพราะสำหรับผม ผมรู้ตัวว่าเป้นรู้อะไรน้อยมาก ผมเป็น Gu Not Ru ครับ … ถ้าผิดคาด ผมไปก่อนครับ
สำคัญที่สุด รู้ถูก ไม่เท่าทำถูกเราต้องสร้างวินัย ทำให้ได้ตามกฏที่เราตั้งขึ้นมา
เรื่องการบริหารความเสี่ยง
การบริหารความเสี่ยงนี่ ผมว่าสำคัญมากครับ สำหรับผม ข้อนี้ผมพยายามนึกถึง คำสอนในตำราซุนวู ตลอดครับ เป็นคำสอนที่ผมประทับใจมาก และคำสอนนี้ ทำให้ผมเล่นหุ้นได้ดีขึ้นมากๆ คือ ซุนวูบอกว่า
ขุนศึกที่ชนะ ออกรบเพื่อไปเอาชัยชนะ
ขุนศึกที่พ่ายแพ้ ออกรบเพื่อหวังชัยชนะ

….
จริงๆในตำราซุนวูนี่ ผมว่าเอามาประยกต์เรื่องลงทุนได้เยอะมากๆ ในงานสินธร เพิ่งรู้ว่า คุณหมอ Weekest ก็เป็นแฟนซุนวูเหมือนกัน
ผมว่าเล่นหุ้นไม่ต้องเล่นบ่อยๆ ต้องมั่นใจพอสมควร ไม่จำเป็นต้องลงทุนถ้าเราไม่มั่นใจ รอดีกว่าครับ ถ้าราคายังไม่ถูกใจ พื้นฐานยังไม่ถูกใจ สภาวะยังน่าเป็นห่วง … ผมถอยครับ ..
บางคนบอกว่าเซียนหุ้นต้องลงทุนได้ทุกสภาวะ แต่ผมไม่ได้เป็นเซียนหุ้นครับ
ผมเป็นแมงเม่า เอาไว้ผมเห็นโอกาส ผมค่อยลงทุนครับ ไม่เน้นเสี่ยงครับ
_________________

Credit  พี่คัดท้าย Thaivi ยุคแรกๆ