วันพฤหัสบดีที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ความลับของ EBITDA

ความลับของ EBITDA
ผมเห็นหลายคนพูดกันเกี่ยวกับ EBITDA วันนี้ก็เลยอยากจะเขียนความเข้าใจส่วนตัวของผมเองเพื่อแชร์ความคิดกับเพื่อนๆนะครับ ถูกผิดอย่างไรช่วยกัน เสนอแนวคิดกันด้วยนะครับ
EBITDA คือ กำไรก่อน ดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม และ ค่าตัดจ่าย
การที่เราจะนำเอา EBITDA มาใช้นั้นผมคิดว่าควรมีข้อควรระวังที่จะต้องพิจารณาหลายอย่าง เพราะเนื่องจากว่า EBITDA นั้น เกิดจากการบวกกลับของค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจ่ายที่ไม่ใช่ค่าใช้จ่ายจริงเข้ามา (แต่จริงๆแล้วค่าเสื่อมและค่าตัดจ่ายนั้นได้เกิดขึ้นจริงก่อนหน้านี้ไปแล้ว ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงๆ จากลงทุนในสินทรัยพ์ทั้งที่มีตัวตนและไม่มีตัวตนเพื่อใช้ในการสร้างรายได้ในอนาคตเข้ามา โดยที่ค่อยนำเอาค่าใช้จ่ายส่วนนี้มาหักออกที่หลังขึ้นอยู่กับวิธีการที่จะเลือกใช้ เช่น วิธีเส้นตรง หรือ วิธีอัตราเร่ง เป็นต้น) พอเราเข้าใจอย่างนี้แล้ว เราก็ควรที่จะต้องพิจารณาสิ่งต่างๆเหล่านี้เพิ่มเติมกันด้วย ไม่งั้นจะทำให้เรานำเอา EBITDA ไปใช้ในทางที่ผิดหรือเกิดหลงประเด็นว่าเงินสดเหล่านี้เป็นเงินสดของเราทั้งหมดที่สามารถนำไปใช้โดยปราศจากข้อผูกพันใดๆ
สิ่งที่ต้องพิจารณาประกอบด้วย 5 ประเด็นดังต่อไปนี้
1 ประเภทของกิจการ
2 กลยุทธ์ของกิจการ
3 ค่าใช้จ่ายลงทุนเพื่อรักษาสภาพการใช้งานของทรัพย์สิน
4 วิธีการหักค่าเสื่อมราคา
5 ค่าใช้จ่ายลงทุนเพื่อการเติบโต
ที่นี้เราก็ลองมาดูทีละประเด็นกันนะครับ ว่ามีเหตุผลอะไร ทำไมเราถึงต้องมาดูสิ่งเหล่านี้กัน
1 ประเภทของกิจการ
เหตุผลที่เราต้องดูประเภทของกิจการ เพราะเนื่องจากแต่ละกิจการก็มีความจำเป็นในการใช้ทรัพย์สินถาวรและไม่ถาวรในการสร้างรายได้แตกต่างกัน เช่น บางกิจการนั้นต้องการเงินลงทุนในสินทรัพย์ถาวรสูง ซึ่งก็จะทำให้เกิดค่าเสื่อมราคาสูงเช่นกัน แต่ต้องดูวิธีการหักค่าเสื่อมประกอบ แต่บางกิจการใช้สินทรัพย์ถาวรน้อย ก็จะทำให้เกิดค่าเสื่อมราคาเทียบเป็นอัตราส่วนของรายได้น้อยกว่ากิจการประเภทแรก ที่นี้การที่เราจะนำเอา EBITDA ไปใช้เลยนั้น ผมคิดว่าไม่ถูกต้องมากนัก เนื่องจากว่าในความเป็นจริงแล้ว กิจการประเภทที่ใช้สินทรัพย์ถาวรสูงในการสร้างรายได้นั้น จำเป็นที่จะต้องมีการปรับปรุงสินทรัพย์เหล่านี้ในอนาคตเพื่อให้ใช้งานได้มีประสิทธิภาพเท่าๆเดิม หรืออาจจะต้องใช้เงินลงทุนมากกว่าเดิมเนื่องจากเงินเฟ้อก็เป็นได้ ฉนั้นพอเราเข้าใจอย่างนี้แล้ว เราก็จะสามารถพิจารณาเรื่องของ EBITDA และประเภทของกิจกาจได้ตรงประเด็นและนำไปใช้ได้แม่นยำมากขึ้น
2 กลยุทธของกิจการ
เหตุผลที่เราจะต้องดูกลยุทธของกิจการประกอบนั้น ผมขอยกตัวอย่างประกอบน่าจะทำให้เข้าใจได้ชัดเจนมากกว่านะครับ เช่น โรงพยาบาลที่เน้นลูกค้าระดับบน (A) กับ โรงพยาบาลที่เน้นลูกค้าระดับกลาง-ล่าง (B) รพ A นั้นเน้นลูกค้าระดับบน จึงคิดค่ารักษาพยาบาลสูงกว่า รพ B เนื่องจากว่าจำเป็นที่จะต้องลงทุนในเครื่องไม้เครื่องมือที่ดีกว่า ทันสมัยกว่า และใหม่กว่าอยู่เสมอ ซึ่งส่งผลทำให้อายุการใช้งานของเครื่องไม้เครื่องมือเหล่านั้นสั้นกว่า รพ B เพราะต้องคอยซื้อเครื่องไม้เครื่องมือใหม่ๆมาทดแทนของเก่าและให้ดีกว่าเครื่องไม้เครื่องมือของ รพ B อยู่เสมอ ซึ่งจะทำให้ รพ A ตัดค่าเสื่อมราคาในระยะเวลาที่สั้นกว่า รพ B เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันนี้เอาไว้
3 ค่าใช้จ่ายลงทุนเพื่อรักษาสภาพการใช้งานของทรัพย์สิน
ค่าใช้จ่ายนี้ก็คือค่าใช้จ่ายที่ผมได้พูดถึงก่อนหน้านี้แล้วในข้อที่ 1 และข้อที่ 2 เพราะว่าค่าเสื่อมราคาที่ไม่ใช่ค่าใช้จ่ายเงินสดที่เราได้หักไว้ในวันนี้ ก็จะต้องถูกนำไปใช้ในอนาคตเพื่อใช้ในการซ่อมแซมให้สินทรัพย์ใช้งานได้ตามปกติดังเดิม มีประสิทธิภาพดีกว่าหรือเท่าเดิม แต่เราก็ควรที่จะต้องพิจารณาเพิ่มเติมด้วยว่าวิธีการหักค่าเสื่อมราคาที่กิจการได้เลือกใช้นั้น มีความถูกต้องเหมาะสมกับกลยุทธและสภาพการใช้งานจริงของบริษัทนั้นๆมากน้อยเพียงใด
4 วิธีการหักค่าเสื่อมราคา
ในแง่มุมของทางบัญชีนั้น บริษัทสามารถที่จะเลือกใช้วิธีการหักค่าเสื่อมราคาได้หลายแบบ ซึ่งแต่ละแบบก็จะมีผลกับงบกำไรขาดทุน และงบกระแสเงินสดแตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น ถ้าบริษัทเลือกใช้วิธีการแบบเส้นตรง ซึ่งก็คือการหักค่าเสื่อมราคาๆเท่าๆกันทุกปีตามจำนวนปีที่กำหนด เช่น ปีละ 100000 บาท ก็จะมีผลแตกต่างกับวิธี Double-Declining Balance ซึ่งวิธีนี้จะทำการคิดค่าเสื่อมในปีแรกๆสูงกว่าปีหลังๆ หรือเรียกอีกอย่างนึงว่าวิธีอัตราเร่ง เช่นปีแรกๆคิด 200000 บาท ซึ่งจะทำให้มีผลกับงบกำไรขาดทุนและงบกระแสเงินสดแตกต่างกันตามวิธีที่บริษัทเลือกใช้
5 ค่าใช้จ่ายลงทุนเพื่อการเติบโต
นอกเหนือจากค่าใช้จ่ายในการรักษาสภาพของสินทรัพย์แล้ว เรายังต้องพิจารณาถึงการลงทุนเพื่อการเติบโตของกิจการด้วย ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะเป็นสินทรัยพ์ที่ใช้สร้างรายได้เพิ่มเติมในอนาคตที่พวกเราเหล่านักลงทุนต้องการเพื่อให้กำไรต่อหุ้นเติบโตและทำให้ราคาหุ้นสูงมากขึ้น สิ่งสำคัญก็คือเราจะต้องสอบถามผู้บริหารว่าปีนี้ค่าใช้จ่ายลงทุนนั้นเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาสภาพเท่าไหร่ และเป็นค่าใช้จ่ายในการลงทุนเพื่อการเติบโตเท่าไหร่
ขอบคุณ คุณ green-orange จากเว็บ thaivi.com ด้วยนะครับ ที่แชร์ความรู้ดีๆ สำหรับนักลงทุนราย่อยอย่างพวกเรา