วันอังคารที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ถามพี่ invisible hand 3ข้อ

1. เวลาเราจะวิเคราะห์งบการเงินนั้นจะมีประเด็นอะไรบ้างที่เราต้องดู เพราะมือใหม่อย่างผม ไม่รู้จะดู ratio อะไรบ้างที่มันแสดงว่าบริษัทนี้กำลังจะแย่แล้วหรือผลการดำเนินงานมันยังดีอยู่ เช่น 
ในงบดุลต้องดูอะไรบ้าง 
ในงบกำไรขาดทุนต้องดู ratio หรืออัตราการเพิ่มขึ้นของอะไรบ้าง 
ในงบกระแสเงินสดจะดูอะไรบ้าง 
เอาแบบ ratio หรือ อัตราการเพิ่มขึ้นของ.... ที่สำคัญๆ ที่ใช้บ่อยๆ อะครับ 

ตอบ 
สำหรับมือใหม่นั้น ผมคิดว่าคงจะต้องหาหนังสือเกี่ยวกับความรู้ทางบัญชีเบื้องต้นและเกี่ยวกับความรู้ในการวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงินมาอ่านครับ จะเป็นหนังสือที่เขียนโดยอาจารย์ท่านใดก็ได้ครับ เพราะความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ก็มีความละเอียดอยู่มากซึ่งผมเองคงจะถ่ายทอดได้ไม่หมดและคงจะถ่ายทอดได้เพียงส่วนน้อยของสิ่งที่ควรจะรู้ เพราะแม้หากให้ผมสอนก็คงจะต้องใช้เวลาถึง 10-20 วันเต็มๆ ก็ไม่แน่ใจว่าจะสอนได้หมดไหม แต่เมื่อถามมาแล้วผมก็คงต้องดึงบางส่วนมาเล่าเป็นการเรียกน้ำย่อยแต่ว่ายังไงก็คงต้องอ่านหนังสือเพิ่มเติมอีกมากครับ 
เนื่องจากผมเองไม่ค่อยเก่งคณิตศาสตร์ ผมจึงไม่ได้สันทัดในการทำ ratio ต่างๆ นัก และการวิเคราะห์งบการเงินผมจะมองในเชิงคุณภาพหรือ qualitative มากกว่าเชิงตัวเลขหรือ quantitative ดังนั้น ratio ที่ผมดูคงจะเป็น ratio ที่ common มากๆ ครับ เช่น 
- % การเติบโตของยอดขาย 
- % การเติบโตของต้นทุนต่างๆ เช่น ต้นทุนขาย ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร ( SG&A ) 
- Gross profit margin, SG&A to sale 
- % การเติบโตของกำไรก่อนภาษี และหลังภาษี 
- Tax rate 
- % การเติบโตของกำไร และ net profit margin 
- D/E ratio 
- ดูว่าการเพิ่มขึ้นของลูกหนี้การค้า สินค้าคงคลัง สัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของรายได้หรือไม่ 
- เปรียบเทียบว่า % การเพิ่มขึ้นของรายได้และกำไรไปในทางเดียวกันหรือไม่อย่างไร? เช่น ถ้ารายได้โต 20% กำไรก็ควรโต 20% บวกลบ และถ้าไม่ใกล้เคียงกันก็คงจะต้องลองหาสาเหตุดู โดยเฉพาะคำอธิบายงบการเงินของบริษัท ถ้าสาเหตุไม่ได้คงต้องโทรถามทางบริษัทดู และถ้าไม่สามารถทราบได้ก็แปลว่าเราคงไม่สามารถเข้าใจหุ้นตัวนั้นได้ดีพอ 

- ส่วนงบกระแสเงินสด บางคนอาจจะดูงบไปถึงแค่งบกำไรขาดทุน ดูว่ามีผลกำไรหรือขาดทุนต่อหุ้นเท่าไหร่และลืมดูงบกระแสเงินสดไป ซึ่งงบกระแสเงินสดนั้นเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากและตอบคำถามที่บอกว่าบริษัทไหนจะดีหรือแย่อย่างไรงบกระแสเงินสดจะเป็นสิ่งที่เป็นตัวบอก 

ในส่วนของกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน ก็ดูว่ามีรายการนอกเหนือการดำเนินงานปกติอะไรไหม เช่น กำไรหรือขาดทุนจากการขายสินทรัพย์ มีการตั้งสำรองหรือการกลับการตั้งสำรองไหม ขาดทุนหรือกำไรอัตราแลกเปลี่ยนมากน้อยเพียงใด หุ้นที่วิเคราะห์งบแล้วสบายใจก็จะเป็นหุ้นที่ไม่มีรายการนอกเหนือการดำเนินงานปกติบ่อยๆ ให้งบมีความผันผวน หรือถ้ามีก็มีรายการที่เกิดตามปกติเช่น หุ้นค้าปลีกจะต้องมีการตั้งสำรองสินค้าสูญหายหรือชำรุดอยู่แล้ว เราเพียงดูว่าเป็น % ต่อยอดขายมันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหรือลดลงเท่านั้นเอง 

- โดยปกติกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงสินทรัพย์ในการดำเนินการ ( Operating cash flow before changing in working cap ) ควรจะใกล้เคียงกับ กำไรสุทธิ + ค่าเสื่อมราคา แต่ถ้ามากกว่าหรือน้อยกว่ามากๆ เราก็ค่อยไปดูว่าเป็นรายการไหน และหากเป็นรายการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานตามปกติ เช่น กำไรจากการขายสินทรัพย์ การตั้งสำรองหรือกลับรายการการตั้งสำรองต่างๆ ก็จะต้องไปปรับออกจากกำไรปกติด้วย 

- ส่วนกระแสเงินสดจากการดำเนินงานหลังการเปลี่ยนแปลงในสินทรัพย์ในการดำเนินงาน ก็จะเป็นรายการที่มีรายการการเปลี่ยนแปลงในส่วนของ working cap คือ ลูกหนี้และเจ้าหนี้การค้า สินค้าคงเหลือ มาเกี่ยวข้องด้วย ดังนั้นเราจะต้องนำรายการส่วนกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน “ หลัง “ การเปลี่ยนแปลงในสินทรัพย์ในการดำเนินงาน ( ให้เรียกว่ารายการ B เพื่อความสะดวก ) เปรียบเทียบกับ โดยปกติกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน “ ก่อน “ การเปลี่ยนแปลงสินทรัพย์ในการดำเนินการ ( เรียกว่ารายการ A ) 
ถ้ารายการ B ต่ำกว่ารายการ A แสดงว่า working cap ติดลบ แสดงว่าบริษัทนั้นๆ มีการใช้เงินทุนหมุนเวียนหรือ working cap ในรอบบัญชีนั้นๆ การใช้ working cap แปลว่า ผลรวมของรายการ 3 รายการข้างล่างนี้เป็นลบ 

1 ถ้าลูกหนี้การค้าเพิ่ม รายการจะเป็นลบ 
2 ถ้าเจ้าหนี้การค้าเพิ่ม รายการจะเป็นบวก 
3 ถ้าสินค้าคงคลังเพิ่ม รายการจะเป็นลบ 

ยกตัวอย่างรายการที่ 3 ถ้าบริษัทต้องการเพิ่มสินค้าคงคลัง บริษัทนั้นก็ต้องใช้เงินสดจ่ายออกไปเพื่อซื้อสินค้าคงคลังนั้นๆ ดังนั้นเมื่อจ่ายเงินสดออกไป รายการงบกระแสเงินสดจึงเป็นรายการติดลบ 

หรือรายการที่ 1 ถ้าลูกหนี้การค้าเพิ่ม แสดงว่าเราขายสินค้าแล้วแต่ยังไม่ได้เงิน ดังนั้นในงบกำไรขาดทุนเรารับรู้เป็นรายได้แล้วแต่เงินสดจากการขายสินค้ายังไม่เข้ามา ดังนั้นรายการในงบกระแสเงินสดจึงเป็นรายการติดลบเพื่อสะท้อนถึงรายได้ที่รับรู้ทางบัญชีแต่ยังไม่รับรู้เข้ามาในแง่ของเงินสด 


2. working capital กับ capex นี่มันคำนวณยังไงเหรอครับ แล้วเอาไปใช้วิเคราะห์ยังไงครับ 

- Working capital หาได้จากงบกระแสเงินสดครับ ให้ดูส่วนต่างระหว่างกำไรก่อนการเปลี่ยนแปลงในเงินทุนหมุนเวียน ( หลักๆ คือ กำไรสุทธิ + ค่าเสื่อมราคา + รายการที่ไม่ใช่เงินสดอื่นๆ ) กับ กระแสเงินสดสุทธิจากการดำเนินงาน ( หลังการเปลี่ยนแปลงเงินทุนหมุนเวียน ) เช่น 

ตัวอย่างที่ 2 กำไรสุทธิก่อนการเปลี่ยนแปลงเงินทุนหมุนเวียน 100 ล้านบาท 
กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน 60 ล้านบาท 
แสดงว่ามีกำไร 100 บาท แต่มีเงินสดเข้าจริงๆ 60 ล้านบาท แสดงว่าบริษัทต้องใช้เงินไปเป็นเงินทุนหมุนเวียน เช่น ค่าซื้อวัตถุดิบ ปล่อยเครดิตให้ลูกหนี้การค้าเป็นเงิน 40 ล้านบาท 

ตัวอย่าง 

กำไรสุทธิกำไรสุทธิก่อนการเปลี่ยนแปลงเงินทุนหมุนเวียน 100 ล้านบาท 
กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน 130 ล้านบาท 

แสดงว่ามีกำไร 100 บาท แต่มีเงินสดเข้ามา 130 ล้านบาท แสดงว่าบริษัทได้เงินทุนหมุนเวียนกลับมา เช่น ซื้อวัตถุดิบน้อยลง ( ซึ่งอาจจะเกิดจากการจัดการสินค้าคงเหลือดีขึ้น ยอดขายลดลง หรือราคาวัตถุดิบลดลง ) เก็บเงินจากลูกหนี้ได้มากขึ้น หรือมีเจ้าหนี้การค้าเพิ่มขึ้น 

ส่วน capex ก็ดูได้จากงบกระแสเงินสดเลยครับในส่วนของ ในส่วนกระแสเงินสดที่ได้มา ( ใช้ไป ) ในการลงทุน ในรายการ “ เงินลงทุนในสินทรัพย์ ” 

เรื่องการอ่านงบผมขอ post เรียกน้ำย่อยเท่านี้ก่อนนะครับ ยังไงหากได้ลองอ่านหนังสือหาความรู้เพิ่มเติมแล้วมีคำถามเพิ่มเติมที่ยังไม่เข้าใจก็ยินดีครับ 

3. มีเกณฑ์ที่ใช้ในการประมาณค่า PE ไหมครับ ผมทราบว่ามันขึ้นกับคุณภาพของธุรกิจและความคาดหวังในช่วงนั้นแต่ พอจะมีตัวชี้วัดอะไรไหมครับ เช่น ดู กำไร เงินสด อัตราการเติบโตของกำไร หนี้สิน 

ไม่มีหลักเกณฑ์ตายตัวครับ p/e ของหุ้นแต่ละตัวในแต่ละช่วงเวลาก็แตกต่างกันครับ หลักๆ p/e จะขึ้นอยู่กับการเติบโตและความเสี่ยงของหุ้นครับ ถ้าหุ้นเติบโตสูง p/e จะสูง หุ้นที่เสี่ยงน้อย p/e จะสูง หุ้นที่เสี่ยงมาก p/e จะต่ำ ลองอ่านข้อมูลเพิ่มเติมในกระทู้ “ หุ้นถูกเรื้อรัง “ ข้างบนนะครับ และลองย้อนไปดูกระทู้เก่าๆ จะมีกระทู้เกี่ยวกับเรื่อง p/e อยู่ด้วยเหมือนกันครับ ลอง search keyword “ คุณภาพของกำไร “ ดูนะครับ