วันพฤหัสบดีที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2556

โมเดลการรวยด้วยแก้ว 3 ประการของ ดร.นิเวศน์



คงจะไม่ผิดถ้าจะบอกว่าคนส่วนใหญ่มีความ "อยากรวย" อยู่ในใจ คนจนที่หาเช้ากินค่ำก็อยากมีเงินล้าน พนักงานออฟฟิศก็อยากสุขสบายมีรถหลายคันมีเงินหลายล้าน ส่วนคนที่รวยอยู่แล้วก็อยากรวยยิ่งขึ้น แต่ความอยากเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ เราจะต้องรู้วิธี และเมื่อรู้วิธีแล้วก็จะต้องทำด้วย

ผมเคยอ่านบทความของ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ซึ่งนอกจากจะเป็นนักลงทุนแบบเน้นคุณค่าชั้นแนวหน้าของเมืองไทยแล้วยังเป็นบุคคลต้นแบบหรือ idol ของนักลงทุนรุ่นใหม่จำนวนมาก ท่านกล่าวถึง "แก้ว 3 ประการของการลงทุน" ไว้ได้อย่างดีตามลิงก์ด้านล่างนี้ ผมจึงไม่ขอพูดซ้ำมากมาย ถ้าใครยังไม่เคยอ่านผมแนะนำให้ลองอ่านดูก่อน แล้วเดี๋ยวเรามาว่ากันต่อว่าแก้วแต่ละดวงมันมาได้อย่างไร แต่สิ่งที่ผมอยากเน้นย้ำมากๆ คือ โปรดอ่านอย่างตั้งใจ ถ้าอยากอ่านซ้ำหรือ print ไปแปะฝาบ้านได้ยิ่งดี เพราะยิ่งคุณทุ่มเทให้กับแนวคิดนี้มากเท่าไหร่ โอกาสรวยก็มีมากขึ้นเท่านั้น

http://portal.settrade.com/blog/nivate/2011/02/28/992


แก้ว 3 ประการ

สรุปสั้นๆ ว่าแก้วทั้งสามดวง ได้แก่


  1. เงินลงทุนเริ่มแรก (amount หรือ A)

  2. อัตราผลตอบแทนที่ทำได้ (rate of return หรือ r)

  3. ระยะเวลาที่ลงทุน (time หรือ t)
ผมอาจจะใช้เลขง่ายๆ มาคำนวณให้ดู คนเกลียดคณิตศาสตร์อาจจะไม่ดูก็ได้ แต่ท่านก็จะเสียโอกาสทราบเคล็ดลับของความร่ำรวยซึ่งจะอยู่กับท่านไปชั่วชีวิต และที่สำคัญมันใช้ความรู้แค่เลข ม.ต้น เท่านั้น

คนทั่วไปทราบวิธีคิดดอกเบี้ยพื้นฐานอยู่แล้ว เช่น ถ้าเราเอาเงินต้น A = 1 ล้านบาท ไปฝากธนาคารแล้วได้อัตราดอกเบี้ย r = 8% เมื่อผ่านไปหนึ่งปีเงินในบัญชีของเราจะเป็น 1 ล้านบาท (เงินต้น) บวกด้วย 8 หมื่นบาท (ดอกเบี้ย)

A (1 + r) = 1000000 x (1 + 0.08) = 1.08 ล้านบาท

และเงิน 1.08 ล้านบาทนี้จะกลายเป็นเงินต้นของปีต่อไป ถ้าฝากเงินหลายปี ผมก็เอาเทอม (1 + r) คูณกันเท่ากับจำนวนปีที่ฝากเงิน เช่น ฝากเงิน t = 5 ปี เงินในบัญชีของผมจะเป็น


หรือ 1000000 x (1 + 0.08)^5 = 1.47 ล้านบาท ซึ่งเราเอาวิธีคิดนี้ไปใช้คำนวณผลตอบแทนจากการลงทุนได้เช่นกัน


ทำอย่างไรให้เงินก้อนนี้โต

ตอบแบบกำปั้นทุบดิน เราก็เพิ่ม A (เพิ่มเงินลงทุน) เพิ่ม r (ลงทุนให้ได้ผลตอบแทนมากขึ้น) และเพิ่ม t (ลงทุนให้นานหรือเริ่มลงทุนตั้งแต่ยังเด็ก) แต่การเพิ่มแต่ละตัวก็มีข้อคิดและข้อจำกัดที่แตกต่างกัน เราลองมาดูกันทีละตัวดีกว่า

การเพิ่มเงินลงทุน

การเพิ่มเงินลงทุนเป็นวิธีที่ชัดเจนที่สุด สมมติว่าเรามีเงิน 1 ล้าน เอาไปลงทุนได้กำไร 5% หรือ 5 หมื่นบาท ถ้าอยากได้กำไร 2 แสนหรือครับ ก็เพิ่มเงินลงทุนเป็น 4 ล้านบาทสิ! การเพิ่มความมั่งคั่งด้วยการเพิ่มเงินลงทุนเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด เราทำทุกอย่างเหมือนเดิม เพียงแต่เปลี่ยนสเกลให้ใหญ่ขึ้นเท่านั้นเอง ข้อด้อยอย่างเดียวของวิธีนี้คือ กำไรที่เพิ่มขึ้นจะเพิ่มแบบเชิงเส้นครับ เพราะตัว A เป็นเพียง "ตัวคูณ" ที่แปะอยู่ข้างหน้าของสมการ ดังนั้นอยากรวย 10 เท่าก็ต้องลงเงินเพิ่มเป็น 10 เท่า

คนส่วนใหญ่มักจะอ้างว่าตัวเองไม่รวยและก็ไม่ใช่ลูกคนรวยด้วย จะไปหาเงินที่ไหนมาลงทุน ความจริงทริกมันก็มีอยู่เหมือนกันครับ อย่างแรกคือพยายามเอาเงินเก็บมาลงทุน อย่าปล่อยให้เงินนอนว่างงานอยู่เฉยๆ ถ้าสำรวจให้ดีจะพบว่ามีเพียงเสี้ยวหนึ่งของความมั่งคั่งของเราเท่านั้นที่เป็นเงินลงทุนและสามารถงอกเงยได้ ลองคิดดูว่าความมั่งคั่งของคุณจมอยู่กับบ้านขนาดใหญ่ที่ยังต้องผ่อนอีก 30 ปีหรือหมดไปกับรถคันโตหรือเปล่า ถ้าเป็นอย่างนั้นโอกาสรวยคงจะน้อยลง เพราะทรัพย์สินเหล่านั้นไม่สามารถงอกเงยในลักษณะเดียวกับเงินลงทุนได้ครับ

อย่างที่สอง พยายามลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ซึ่งจะทำให้มีเงินเหลือเก็บสำหรับการลงทุนมากขึ้นโดยแทบไม่กระเทือนการกินอยู่ตามปกติของคุณ สำรวจตัวเองดูว่าทุกครั้งที่โบนัสออก คุณเอาเงินนั้นไปทำอะไร? ซื้อมือถือใหม่ กล้องถ่ายรูปรุ่นเจ๋งๆ หรือหมดไปกับกระเป๋า-รองเท้าแบรนด์ดัง? การที่เราเอาเงินโบนัสไปซื้อ นั่นแสดงว่ามันไม่ใช่ "ของจำเป็น" ต่อการดำรงชีพจริงๆ แต่เป็นของชิ้นพิเศษหรือ extra ที่เป็นส่วนเพิ่มให้กับชีวิต ผมเสนอว่าซื้อแค่หอมปากหอมคอก็พอ เก็บเงินส่วนที่เหลือไปลงทุน แล้วมันจะออกลูกออกหลานให้คุณได้จับจ่ายในวันข้างหน้ามากกว่านี้อีกหลายเท่านัก

อย่างที่สาม เมื่อได้เงินปันผลมาอย่าเพิ่งเอาไปกินไปใช้หมด แต่ให้เก็บเอาไว้ลงทุนซ้ำบ้าง ผมเคยแนะนำให้ญาติผู้ใหญ่แบ่งเงินไปลงทุนในกองทุนอสังหาฯ พอได้เงินปันผลมาเขาก็เอาไปกินไปใช้เสียเกือบหมดผมพยายามแนะนำต่อว่าหากเราแบ่งเงินนี้บางส่วนไปซื้อหน่วยลงทุนเพิ่ม เงินปันผลคราวหน้าจะมากขึ้นไปอีก ภาษาเก๋ๆ คือให้เก็บเงินปันผลไป reinvest ... เป็นอย่างไรบ้าง การเพิ่มเงินลงทุนทั้ง 3 ข้อนี้ไม่ยากใช่มั๊ยครับ

การลงทุนให้ได้ผลตอบแทนมากขึ้น

การลงทุนที่ว่าอาจเป็นอะไรก็ได้ หุ้น ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ หรือแม้แต่การเปิดร้านค้าของคุณเอง แต่สิ่งที่ควรจำไว้คือ พยายามมองเงินของคุณเป็น portion หรือเป็นส่วนๆ ส่วนที่ฝากธนาคารให้ผลตอบแทนน้อยแต่มีสภาพคล่องจึงควรมีแต่น้อยเท่าที่จำเป็น ส่วนลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงและคุณมีความเชี่ยวชาญควรมีไว้มากๆ ส่วนลงทุนที่ช่วยประหยัดภาษีก็มีประโยชน์ แต่ต้องชั่งน้ำหนักว่าภาษีที่ประหยัดได้คุ้มกับผลตอบแทนหรือไม่

ผลตอบแทนที่ดีขึ้นเพียงเล็กน้อยจะให้ผลอย่างมากในระยะยาว เช่น ถ้าเราลงทุน 10 ล้านบาทเป็นเวลา 20 ปี และทำผลตอบแทนได้ 12% จะมีเงิน 96.5 ล้านบาท แต่ถ้าทำผลตอบแทนได้ 13% จะมีเงินถึง 115.2 ล้านบาท และถ้าทำผลตอบแทนได้ 15% จะมีเงินถึง 163.7 ล้านบาท!

หลายคนไม่รู้ (และไม่สนใจจะรู้) ช่องทางที่จะสร้างผลตอบแทนให้ได้สูงๆ หรืออาจจะเรียกว่า "ขี้เกียจ" ก็คงไม่ผิด อย่างนี้ผมต้องบอกว่าคนเหล่านั้น "ขี้เกียจรวย" ครับ น่าเสียดายตรงที่มีช่องทางการลงทุนหลายทางที่ใช้ความพยายามเพิ่มน้อยมาก อย่างเช่น การเอาเงินไปซื้อกองทุนหุ้น ซื้อ LTF หรือ RMF หรือแม้แต่กองทุนอสังหาริมทรัพย์ซึ่งให้ผลตอบแทนค่อนข้างมั่นคงและมีความผันผวนต่ำ ถ้าคนขี้เกียจเหล่านี้ switch เงินไปลงทุนในรูปแบบต่างๆ บ้างก็จะเพิ่มผลตอบแทนได้อย่างไม่ลำบาก

ที่น่าเสียดายหนักเข้าไปอีกคือ อัตราผลตอบแทนหรือ r ในสมการนั้นไม่ได้ส่งผลต่อกำไรในลักษณะเชิงเส้นในแบบเดียวกับการเพิ่มเงินลงทุน หรือพูดให้ง่ายคือ เพิ่ม r นั้นได้ผล "แรง" กว่าการเพิ่มเงินลงทุน เพราะการเพิ่ม r นั้น พจน์ (1 + r) จะถูกเอาไปยกกำลังด้วยจำนวนปี ดังนั้นผลกำไรจะเพิ่มขึ้นแบบเร่งตัวหรือที่เรียกว่า exponential และนี่คือความลับที่ทำให้ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ร่ำรวยขึ้นมาได้ถึงทุกวันนี้ครับ

การลงทุนให้นาน

เราไม่สามารถย้อนเวลาได้ การเริ่มลงทุนให้เร็วที่สุดก็คือ เริ่มเลย! และที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือ พยายามอยู่ในการลงทุนชั้นเยี่ยมให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ คุณอาจมีเงินลงทุนมาก คุณมีหุ้นเด็ดอยู่ในมือและสร้างผลตอบแทนได้สูงๆ แต่ถ้าคุณ "เล่นรอบ" คือทำกำไรสั้นๆ เป็นรอบไป ผลตอบแทนของคุณจะไม่ต่อเนื่องและผิดหลักของการลงทุนให้นาน นั่นเป็นเหตุผลที่เราไม่ค่อยเห็นคนเล่นหุ้นระยะสั้นแบบสุจริตแล้วรวย

สมมติว่าผมมีหุ้นแจ๋วแหววอยู่ตัวหนึ่งซึ่งทำผลตอบแทนให้ผมได้ถึง 120% ในช่วงสองปีที่ผ่านมา แต่เนื่องจากผมไม่ได้วิเคราะห์อย่างสม่ำเสมอ ถัดมาอีกสามปีตัวธุรกิจก็ทรงตัวและราคาของมันก็ไม่ไปไหน เบ็ดเสร็จห้าปีผมได้ผลตอบแทน 120% เท่าเดิมซึ่งถ้าคิดต่อปีแล้วเท่ากับผมได้ผลตอบแทน 17% ต่อปีเท่านั้น ทั้งที่จบปีที่สองดูท่าจะทำได้ดีกว่านี้ ดังนั้นการลงทุนให้นาน ต้องเป็นการลงทุนในผลตอบแทนสูงๆ ให้นานด้วยครับ

ระยะเวลาการลงทุนหรือตัว t ในสมการก็ให้ผลลัพธ์ที่ไม่เป็นเชิงเส้นเหมือนกันกับอัตราผลตอบแทนหรือตัว r ในสมการ ผลลัพธ์ของมัน "แรง" เหมือนๆ กับตัว r เพียงแต่ว่าแรงกันคนละลักษณะ

ขอให้ทุกท่านศึกษารูปข้างล่างนี้ไว้ให้ลึกซึ้ง แล้วความรวยจะตามมาเอง ส่วนจะรวยเร็ว-รวยช้า รวยมาก-รวยน้อย ก็คงต้องแล้วแต่ฝีมือและความมุ่งมั่นของแต่ละคนล่ะครับ