วันพฤหัสบดีที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2556

รู้ทันเงินปันผล


โดย Club VI

“ปันผล” (Dividendคือ ส่วนหนึ่งของกำไรที่บริษัทแบ่งออกมาจ่ายเป็นผลตอบแทนให้เจ้าของบริษัท ซึ่งก็คือผู้ถือหุ้นทั้งหลาย
หุ้นในตลาดหลักทรัพย์ บางตัวเป็นหุ้นที่จ่ายปันผลมาก หรือที่คนมักเรียกกันว่า “หุ้นปันผล” (Dividend Stock) ขณะที่บางตัวเป็นหุ้นโตไว ที่คนมักเรียกว่า “หุ้นเติบโต” (Growth Stock) ซึ่งมักจ่ายปันผลน้อยกว่า เมื่อเทียบกับราคาหุ้น
โดยธรรมชาติแล้ว หุ้นปันผล (Dividend Stock) คือ หุ้นที่มีอัตราผลตอบแทนเงินปันผล (Dividend Yield) สูง เช่น 6-8% เมื่อเทียบกับราคาหุ้น ในขณะที่หุ้นเติบโต (Growth Stock) มักจะให้ Dividend Yield ค่อนข้างต่ำ เช่น 1-2% เทียบกับราคาตลาดของหุ้นตัวนั้น
ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะบริษัทต้องใช้เงินในการขยายกิจการ (ที่อยู่ในช่วงขาขึ้น) ค่อนข้างมาก จึงไม่สามารถจ่ายปันผลเป็นกอบเป็นกำได้ หรืออาจเป็นเพราะราคาของหุ้นเติบโตมักพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้บริษัทจ่ายปันผลในอัตราที่ไม่น้อย แต่เมื่อเทียบกับราคาหุ้นที่วิ่งไปไวกว่า ก็ทำให้ Dividend Yield ต่ำลงอย่างช่วยไม่ได้
นักลงทุนควรดูนโยบายการจ่ายปันผลของบริษัทจดทะเบียนต่างๆ ว่าระบุไว้ว่าอย่างไร ตัวเลขนี้เรียกว่า Payout Ratio หรือ “อัตราส่วนการจ่ายปันผล” ซึ่งจะระบุอัตราส่วนของเงินปันผลเมื่อเทียบกับกำไรสุทธิเป็นเปอร์เซ็นต์
เช่น บริษัทผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคชื่อดัง มีนโยบายในการจ่ายปันผลไม่ต่ำกว่า 50% ของกำไรสุทธิ นั่นหมายความว่า ถ้าทั้งปีได้กำไร 100 บาท ก็จะกันกำไรไม่ต่ำกว่า 50 บาท ออกมาจ่ายเป็นปันผลให้ผู้ถือหุ้น
อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติแล้ว หลายๆ บริษัทมักจ่ายปันผลสูงกว่านโยบายเสียอีก เช่น นโยบายบอกว่าจะจ่ายไม่ต่ำกว่า 60% ของกำไรสุทธิ แต่เอาเข้าจริงกลับจ่ายถึง 80-90% สมมุติได้กำไร 100 ล้านบาท ก็แบ่งออกมาจ่ายปันผลถึง 80-90 ล้านบาท บางบริษัทถึงขนาดจ่ายออกมาทั้ง 100% ของกำไร หรือเกินกว่านั้นก็ยังมี
นอกจากรูปแบบของเงินสดแล้ว บริษัทยังสามารถจ่ายปันผลออกมาเป็น “หุ้น” ได้ด้วย โดยกำหนดเป็นอัตราส่วน เช่น บริษัทขายอุปกรณ์เครื่องใช้ในบ้านแห่งหนึ่ง จ่ายปันผลเป็นหุ้น ในอัตรา 7 ต่อ 1 (7 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่) ดังนั้น ถ้าเรามีหุ้นเดิมอยู่ 700 หุ้น ก็จะได้หุ้นปันผลเป็นจำนวน 100 หุ้น รวมแล้ว หลังปันผล เราจะมีหุ้นของบริษัทนี้เพิ่มเป็น 800 หุ้น
สิ่งที่จะตามมาของการจ่ายปันผลเป็นหุ้นก็คือ Dilution Effect ซึ่งหมายถึงการที่หุ้นแต่ละหุ้นมีมูลค่าลดลง เนื่องจากกำไรของ “ทั้งบริษัท” ยังเท่าเดิม แต่ “ปริมาณหุ้นในตลาด” มีมากขึ้น จึงส่งผลให้ “กำไรต่อหุ้น” (Earnings per Share หรือ EPS) ลดต่ำลง เนื่องจากมี  “ตัวหาร” มากขึ้น
เช่น สมมุติทั้งบริษัทมีกำไร 1,400 ล้านบาท เดิมมีหุ้นอยู่ในตลาด 700 ล้านหุ้น EPS จึงเท่ากับ 2 บาท ต่อมา เมื่อปริมาณจ่ายปันผลเป็นหุ้นในอัตรา 7: 1 หุ้นในตลาดจึงเพิ่มขึ้นเป็น 800 ล้านหุ้น ทำให้ EPS ลดลงเหลือ 1400 / 800 = 1.75 บาท ดังนั้น ตามตรรกะแล้ว ราคาหุ้นในตลาดก็ควรจะปรับลดลงตามสัดส่วนเช่นกัน
เพราะฉะนั้น ผลของการจ่ายปันผลเป็น “เงินสด” กับการจ่ายเป็น “หุ้น” จึงไม่เหมือนกัน เพราะการได้ปันผลเป็นเงินสด เราได้เงินจริงๆ โดยไม่เสียอะไรไป แต่การจ่ายปันผลเป็นหุ้นจะเป็นการ “ลดทอนมูลค่า” ของหุ้นในมือเราไปพร้อมๆ กัน (แม้เราจะมีสัดส่วนความเป็นเจ้าของอยู่เท่าเดิม เนื่องจากผู้ถือหุ้นทุกคนได้รับแจกหุ้นเท่าๆ กัน)
โดยมากแล้ว จุดประสงค์ของบริษัทในการจ่ายปันผลเป็นหุ้นคือ ต้องการเก็บเงินสดเอาไว้เพื่อใช้ขยายกิจการ แต่ก็ต้องการที่จะจ่ายผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้นด้วย (ส่วนหนึ่งอาจเพราะต้องการรักษาระดับราคาหุ้นในตลาดไว้ ไม่ให้นักลงทุนผิดหวัง) จึงจ่ายออกมาในรูปของหุ้นแทน
ที่ต้องระวังก็คือ บางบริษัทมีนโยบายการจ่ายปันผลที่อาจถูกมองได้ว่า “เอาเปรียบ” ผู้ถือหุ้น คือโดยธรรมชาติของธุรกิจไม่จำเป็นต้องกันเงินไว้ลงทุนมากมายนัก แต่กลับจ่ายปันผลน้อยมาก หรือแทบไม่จ่ายเลย
ลักษณะเช่นนี้ เราอาจตั้งข้อสังเกตได้ว่า เป็นไปได้ไหมว่าผู้บริหารบริษัทซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ อาจจะแอบผ่องถ่ายเงินสดไปใช้ส่วนตัวโดยไม่ให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยรับรู้ เนื่องจากไม่อยาก “แบ่งเงิน” ให้รายย่อยตัวเล็กๆ ดังนั้น ถ้าบริษัทไหนจ่ายปันผลน้อยมาก โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร นักลงทุนก็ควรตั้งข้อสงสัยไว้ก่อน
นี่คือเรื่องของเงินปันผล อันเป็น“เรื่องใกล้ตัว” ที่เป็นของชอบของนักลงทุนอย่างเราๆ อยู่แล้ว จึงสมควรที่จะรู้ให้จริง รู้ให้กระจ่าง เพื่อความสำเร็จในการลงทุนครับ