วันพฤหัสบดีที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ทางสองแพร่งแห่งปันผล (The Dividend Dilemma)


dividend dilemma
โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช
เรื่องของ “เงินปันผล” ใครๆ ก็ชอบครับ คนที่ถือหุ้นไว้ ต่างก็อยากได้ผลตอบแทนเป็น “ตัวเงิน” ใครๆ ก็ปรารถนาที่จะได้เงินสดมาอยู่ในกระเป๋าตัวเองด้วยกันทั้งนั้น
อาจารย์เทพ รุ่งธนาภิรมย์ เปรียบเทียบหุ้นที่จ่ายปันผลดีๆ ว่าเป็น “ห่านทองคำ” ที่จะออก “ไข่” ในรูปของ “เงินสด” ให้เรามีกินมีใช้ไปตลอดชีวิต ซึ่งเป็นคอนเซ็ปต์ที่ชัดเจนและเห็นภาพอย่างยิ่ง
นักลงทุนระยะยาวบางคน เน้นเลือกหุ้นที่จ่ายปันผลหนักๆ (Dividend Stock) เท่านั้น คือโตมากน้อยไม่เป็นไร แต่ปันผลต้องดีไว้ก่อน ไม่งั้นไม่สน
ในขณะที่คนดังหลายคนในแวดวงการลงทุน ก็แนะนำให้นักลงทุนเลือกซื้อหุ้นตัวนั้นตัวนี้ บ้างก็เชียร์ “หุ้นสื่อสาร” บ้างก็เชียร์ “หุ้นปูนซีเมนต์” โดยให้เหตุผลว่าเป็นเพราะ “ปันผลดี”
เดี๋ยวนี้ แม้แต่ตลาดหลักทรัพย์ ยังมีดัชนี SETHD โดย HD ในที่นี้ย่อมาจาก “High Dividend” เอาไว้สำหรับคนที่ซื้อหุ้นเพื่อหวังเก็บดอกผลโดยเฉพาะ
การซื้อหุ้นโดยหวังปันผลนั้น ไม่ใช่เรื่องผิดครับ แต่ผมอยากเตือนว่า อย่าเน้นแต่ปันผล แล้วละเลยหรือให้ความสนใจกับปัจจัยอื่นๆ น้อยเกินไป เพราะนั่นอาจทำให้เรา “ก้าวพลาด” ได้
โดยส่วนตัว ผมไม่ค่อยเชื่อในการเลือกหุ้นที่ยึดเอาแต่ “ปันผลสูงๆ” เป็นหลัก เพราะมันคือการดูแต่ “ผล” โดยไม่สนใจ “เหตุ
ต้องไม่ลืมว่า “ปันผล” มาจาก “กำไร” ครับ ถ้าเราอยากได้เงินสดไปนานๆ และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในระยะยาว เราก็ต้องเลือกบริษัทที่ “เหตุ” ดี คือกิจการแข็งแกร่ง มีการเติบโตของกำไรที่ดี และจ่ายปันผลในระดับที่เหมาะสม ไม่เขียมจนเกินไป หรือกั๊กไว้เองหมด
วิธีก็คือ ให้ดูที่ “นโยบายการจ่ายปันผล” (มีอยู่ใน Settrade.com) เป็นหลัก เช่น อาจตั้งเกณฑ์ไว้ว่า บริษัทไหนมีนโยบายจ่ายปันผลไม่น้อยกว่า 40-50% อย่างนี้ถือว่า “ผ่าน”
แต่ถ้าดูเฉพาะตัวเลขปันผลงวดล่าสุด หรือดูแต่หุ้นใน SETHD แปลว่าท่านกำลังดูแต่ “ปัจจุบัน” ไม่มอง “อนาคต”
บางคนไม่คิดอะไรเลย หุ้นตัวไหนปันผล 8-10% ก็เข้าซื้อทันที แบบนี้ต้องระวังให้ดีนะครับ
บางบริษัทปันผลเยอะ แต่เงินที่เอามาปันผลนั้น ไม่ได้มาจากกำไรจากการดำเนินงานปกติ ทว่าเป็น “กำไรพิเศษ” ที่ได้ครั้งเดียวจบ เลยทำให้มีตังค์มาจ่ายปันผลมากหน่อย อีก 10 ปีข้างหน้า อาจจะไม่มีโอกาสปันอย่างนี้อีกเลยก็ได้ จบแล้วจบเลย
ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2555 หลายบริษัทได้รับเงินค่าชดเชยจากบริษัทประกัน สำหรับความเสียหายจากน้ำท่วมเมื่อปลายปี 2554 ซึ่งถือเป็น “กำไรพิเศษ” ที่ไม่มีความยั่งยืน และทำให้บริษัทจ่ายปันผลออกมาได้เยอะผิดปกติ ซึ่งถ้าขืนดูแต่อัตราเงินปันผลในรอบปีที่ผ่านมา ก็จะทำให้มองภาพผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริงได้
ที่แย่กว่าก็คือ บางบริษัทเคยเป็น “หุ้นปันผล” ชั้นดีมาก่อน เราดูสถิติการจ่ายปันผลที่ผ่านมาก็ยังสวยอยู่ แต่หารู้ไม่ว่า นั่นเป็นการ “ปันสั่งลา” กล่าวคือ ผู้บริหารซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ตั้งใจปันผลออกมาเยอะๆ เพราะต้องการ “หยิบเงินออกจากลิ้นชัก” ให้มากที่สุด เนื่องจากรู้ว่าธุรกิจกำลังตกต่ำลง ชนิดยากจะกลับมาได้ จึงตัดสินใจ “ถอนเงินออก” หลังจากนั้นบริษัทก็ตกต่ำลงเรื่อยๆ โงหัวไม่ขึ้นอีกเลย
นี่ยังไม่นับพวกบริษัทห่วยๆ ที่กู้มาจ่ายปันผล เพื่อ “เลี้ยง” หรือ “กระตุ้น” ราคาหุ้นนะ บริษัทพวกนี้อันตรายมาก และมีอยู่จริงในตลาดหุ้นไทยนี่แหล่ะ
คนจำนวนมากเชื่อว่า “หุ้นที่จ่ายปันผลดี” คือการลงทุนแบบ “Super Defensive” ประมาณว่า “ชัวร์” ที่สุดแล้ว จึงเข้าไปซื้อ เพราะคิดว่า “ไม่เสี่ยง” สุดท้ายก็ไม่ประสบความสำเร็จ บางคนถึงกับขาดทุนยับเยิน เพราะตามองแต่ประโยชน์ในระยะสั้น โดยละเลยพื้นฐานทางธุรกิจไป
ชีช้ำมั้ยล่ะครับ? อุตส่าห์ซื้อเพราะกลัว “เสี่ยง” กลับต้องเจ๊งเพราะมันเสี่ยงยิ่งกว่าเสียอีก
มีอีกกรณีหนึ่งที่น่าสนใจครับ บางบริษัทมีเงินสดเยอะ แต่ไม่ค่อยปันผลเป็นเงิน กลับปันเป็น “หุ้น” หรือที่เรียกว่า “หุ้นปันผล” (Stock Dividend) เสียมากกว่า เพราะต้องการกันเงินไว้ลงทุนต่อ ซึ่งทำให้นักลงทุนที่เน้นเงินปันผลไม่สนใจ
แต่สำหรับผม หากเจอแบบนี้ ผมจะดูก่อนครับว่า ที่ไม่ปันเป็นเงิน แต่ปันเป็นหุ้นนั้น เขาเอาเงินสดที่กันไว้ไปสร้างการเติบโตได้มากน้อยแค่ไหน อย่างไร
ถ้าบริษัทเอาเงินไปสร้าง Growth ได้ปีละ 20-30 % ต่อให้ไม่ได้เงินสดมาเข้ากระเป๋า ผมก็ไม่บ่น เพราะถึงได้เงินมา ก็ไม่รู้จะเอาไปลงทุนอะไรให้โตได้เร็วขนาดนั้น สุดท้ายก็ต้องกลับไปซื้อหุ้นของเขาอยู่ดี
ปัจจัยทีใช้ตัดสินใจก็คือ ถ้าไม่ปันผลเป็นเงิน หรือปันเป็นหุ้น คุณต้องเอาเงินที่กันไว้ไปใช้สร้างการเติบโตได้จริง ..ถ้าคุณเก่งจริง ผมยอมครับ
ในทางตรงข้าม สำหรับบางบริษัท ด้วยธรรมชาติของธุรกิจแล้ว แทบไม่มีความจำเป็นต้องลงทุนใหญ่ๆ เลย แต่กลับปันผลออกมาน้อยมาก จนน่าสงสัยว่าผู้บริหารตั้งใจผ่องถ่ายเงินสดไปใช้ส่วนตัว โดยไม่อยากให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยๆ อย่างเราเข้าไปมีส่วนแบ่งด้วยหรือเปล่า?
โดยสรุปแล้ว เรื่องของ “เงินปันผล” นี่ เป็นเสมือน “ทางสองแพร่ง” (Dilemma) ของการลงทุน ซึ่งแต่ละคนมีมาตรฐานต่างๆ กันไปครับ ไม่มีใครผิดใครถูก แล้วแต่ความชอบส่วนตัว และขึ้นอยู่กับความจำเป็นของแต่ละบุคคล เป็นเรื่องที่ว่ากันไม่ได้
แค่อยากฝากทิ้งท้ายไว้ว่า เรากำลังซื้อ “หุ้น” ไม่ใช่ซื้อ “พันธบัตร” ปันผลไม่ใช่ “อัตราดอกเบี้ย” ที่เขา fix ไว้ การจะพิจารณาซื้อหุ้นตัวไหน จึงไม่ควรดูแค่ “บรรทัดสุดท้าย” แต่ต้องเข้าใจต้นสายปลายเหตุให้ถ่องแท้
ต้อง “มองไกล” อย่า “มองใกล้” ต้องมอง “ประโยชน์ในระยะยาว” อย่าหวังแต่ “ประโยชน์ตรงหน้า” จึงจะประสบความสำเร็จในการลงทุน และสร้างกระแสเงินสดเข้ากระเป๋าได้ไปนานๆ ครับ
———————-
ข้อควรระวัง – Dividend Stock คือ หุ้นที่จ่ายปันผลดีๆ ส่วน Stock Dividend หรือ ตัวหุ้นที่บริษัทจ่ายออกมาเป็นการปันผลแทนเงินสด อย่าสับสนเป็นอันขาดนะครับ เพราะมันตรงข้ามกันเลย Dividend Stock มักจะไม่มี Stock Dividend ส่วนพวก Stock Dividend ก็มักไม่ได้มาจาก Dividend Stock ขืนสับสนตรงนี้ แย่แน่