วันพฤหัสบดีที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2556

Net Profit, EBIT และ EBITDA


โดย Club VI
คราวที่แล้วพูดถึง “กำไรขั้นต้น” และ “ กำไรจากการดำเนินงาน” ไปแล้ว ซึ่งทำให้เราได้รู้จัก “ต้นทุนขาย” และ “ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน” (หรือที่มักเรียกกันว่า ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร) ในตอนนี้ เราจะมาว่ากันต่อถึงกำไรประเภทอื่นที่เหลือนะครับ
ขอย้อนกลับมาที่กำไรจากการดำเนินงานสักนิดหนึ่งก่อน คำว่า “กำไรจากการดำเนินงาน” หรือ Operating Profit นี้ บ้างก็เรียกว่า “EBIT” ย่อมาจาก Earnings before Interest and Tax ซึ่งชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นกำไรก่อนที่จะหัก “ดอกเบี้ยจ่าย” (Interest) และ “ภาษีเงินได้” (Tax)
เหตุที่ต้องแยก ดอกเบี้ยจ่าย และ ภาษีเงินได้ ออกมาให้เห็น ก็เพราะทั้งสองตัวนี้ คือ “ภาระทางการเงิน” และ“ภาระทางกฎหมาย” ที่กิจการต้องรับผิดชอบ ซึ่งไม่ใช่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานตามปกติ เมื่อหักทั้งสองตัวนี้แล้ว จึงจะกลายเป็น “กำไรสุทธิ” หรือ Net Profit ซึ่งถือเป็น “กำไรขั้นสุดท้าย” ที่ธุรกิจนั้นทำได้
ทั้งนี้ทั้งนั้น ถึงแม้กำไรจะมีอยู่หลายประเภท แต่ “กำไรสุทธิ” เป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญที่สุด เพราะเป็น “บทสรุปสุดท้าย” ของสิ่งที่บริษัทมีอยู่ในมือ
อย่างไรก็ตาม การเอากำไรสุทธิมาวัดผลการดำเนินงานของบริษัทนั้น บางครั้งก็อาจไม่ถูกต้องเที่ยงตรงเสมอไป เพราะบางบริษัทมี “ค่าใช้จ่ายในทางบัญชี” ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว บริษัทได้ไม่ได้จ่ายค่าใช้จ่ายในรายการเหล่านี้ออกไป
ค่าใช้จ่ายในทางบัญชีที่ว่านั้น ได้แก่ Depreciation หรือ “ค่าเสื่อมราคา” และ Amortization หรือ “ค่าใช้จ่ายตัดจ่าย” ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ “ไม่มีตัวตน” คือ “ไม่ได้จ่ายเงินออกไปจริง” (แต่รวมอยู่ในค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน) เป็นเพียงตัวเลขทางบัญชีเท่านั้น
ดังนั้น วิธีที่จะเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการทำธุรกิจของบริษัทได้ดีกว่าก็คือ ให้เอาค่าใช้จ่ายทั้งสองตัว (ทั้ง D และ A) บวกกลับเข้าไปใน EBIT ก็จะกลายเป็นกำไรตัวใหม่ ที่เรียกว่า “EBITDA”
EBITDA ย่อมาจาก Earnings before Interest, Tax, Depreciation and Amortization หาได้โดย เอา EBIT บวกด้วย Depreciation (D) หรือ ค่าเสื่อมราคา และ Amortization (A) หรือ ค่าใช้จ่ายตัดจ่าย
ประโยชน์ของ EBITDA ก็คือ เป็นกำไรจากการดำเนินงานจริงๆ เนื่องจากทั้ง I, T, D และ นั้น ล้วนเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานปกติ เมื่อตัดทั้ง 4 ตัวดังกล่าวออกไป จะทำให้เห็น “ภาพที่แท้จริง” ของการประกอบธุรกิจของบริษัท
อาจกล่าวได้ว่า เมื่อเอา EBITDA ของบริษัทต่างๆ มาเทียบกัน จะเห็นถึง “ความสามารถ” หรือพูดง่ายๆ ก็คือ “ฝีมือ” ในการทำธุรกิจของแต่ละบริษัท โดยไม่มี “ตัวช่วย” ไม่มี “แต้มต่อ” ถ้าเป็นมวยก็คือ วัดกัน “หมัดต่อหมัด” เอาแต่ เนื้อๆ เน้นๆ ให้เห็นๆ กันไปเลย
ดังนั้น เวลาวิเคราะห์ธุรกิจ จะดูแต่ Net Profit อย่างเดียวไม่ได้ อย่าลืมมองกำไรประเภทอื่นๆ ประกอบกันไปด้วย เพื่อจะได้เห็นภาพที่ชัดเจนแม่นยำขึ้นครับ