วันพฤหัสบดีที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2556

วิธีดู “เงินสด” โลหิตเลี้ยงกิจการ


[บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของซีรีส์ "ชวน VI เปิดงบ" ซึ่ง Club VI จะอรรถาธิบายวิธีอ่านตัวเลขทางการเงินอย่างง่ายๆ  เพื่อประโยชน์สำหรับวีไอมือใหม่และช่วยทบทวนให้กับวีไอทุกๆ ท่านครับ]
วันนี้ มาคุยกันถึงเรื่องของ “เงินสด” ซึ่งเปรียบเสมือนโลหิตหล่อเลี้ยงกิจการ ว่าเราจะมีวิธีพิจารณากระแสเงินสดของกิจการต่างๆ อย่างไร
คำว่า “เงินสด” ตามนิยามทางการเงินนั้นมีอยู่หลายรูปแบบ หลักๆ แล้วหมายถึง “เงินสดในมือ” และ “เงินฝากสถาบันการเงิน” ซึ่งหมายถึงเงินที่เราฝากไว้กับธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆ
เงินสดของกิจการทั่วๆ ไปจะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ไม่หยุดนิ่ง เข้าๆ ออกๆ อันมาจากกิจกรรมต่างๆ ที่บริษัททำ
ทั้งนี้ กิจกรรมซึ่งจะส่งผลต่อปริมาณเงินสดของแต่ละบริษัท แบ่งได้เป็นสามเรื่องหลักๆ ดังนี้
กิจกรรมแรกคือ “การจัดหาเงิน” อาทิ บริษัทไปกู้เงินมา จึงมีเงินสดในมือเพิ่มขึ้น เช่นนี้เรียกว่า ได้รับเงินเข้ามาจาก “กิจกรรมจัดหาเงิน” ในทางตรงกันข้าม ถ้ากิจการจ่ายปันผลให้ผู้ถือหุ้น ทำให้เงินสดในมือเหลือน้อยลง เงินสดจากกิจกรรมจัดหาเงินก็จะลดลง
กิจกรรมต่อมาคือ “การลงทุน” ถ้ากิจการเอาเงินสดไปซื้อเครื่องจักร ซื้อที่ดิน สร้างตึกใหม่ ทำให้เงินสดในมือลดลง เช่นนี้คือ บริษัทจ่ายเงินไปใน “กิจกรรมลงทุน” ในทางตรงกันข้าม ถ้าบริษัทขายที่ดินทิ้ง ได้เงินสดเพิ่มเข้ามา ก็คือได้เงินจาก กิจกรรมลงทุน
กิจกรรมสุดท้าย ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สำคัญที่สุด คือ “กิจกรรมดำเนินงาน” อันหมายถึงการที่เงินสดของบริษัทเพิ่มขึ้นหรือลดลงตาม “ธุรกิจหลัก” ที่บริษัททำ
เช่น ถ้ากิจการขายของได้ ได้เงินสดเพิ่มเข้ามา เช่นนี้คือ ได้เงินสดมาจาก “กิจกรรมดำเนินงาน” ตรงกันข้าม เมื่อบริษัทมีค่าใช้จ่าย เช่น ซื้อสินค้ามาขาย หรือหยิบเงินสดจ่ายออกไปเป็นเงินเดือนพนักงาน ค่าน้ำค่าไฟ เงินสดจาก “กิจกรรมดำเนินงาน” ก็จะลดลง
และด้วยความที่เงินสด (Cashจากกิจการต่างๆ มีการ “เข้าๆ ออกๆ” อยู่ตลอด เราจึงมีศัพท์คำว่า “กระแสเงินสด” (Cash flowเพื่อให้เห็นถึงความเป็นพลวัต การมีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาของเงินสด
ทีนี้ วิธีที่จะพิจารณาว่ากระแสเงินสดของบริษัทไหนดีไม่ดี ต้องดูอย่างไร?
อันดับแรกคือ ดูที่ กิจกรรมดำเนินงาน โดยบริษัทต้องสามารถ “ผลิตเงินสด” ได้ จากธุรกิจหลักของบริษัท โดยการดำเนินงานของบริษัท ส่งผลให้มีเงินสด “เพิ่มขึ้น” ไม่ใช่ “ลดลง”
เช่น ธุรกิจซื้อมาขายไปทั่วๆ ไป ขายของได้เงินสดมา 100 บาท จ่ายต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่างๆ ไป 80 บาท เช่นนี้คือกระแสเงินสดเป็นบวก 20 บาท
แต่บางธุรกิจขายสินค้าหรือบริการแล้วอาจไม่ได้เงินสดทันที แต่ได้เป็น “ลูกหนี้” (ในทางบัญชีเรียกว่าลูกหนี้การค้า) ก็ต้องดูต่อไปว่า บริษัทสามารถเปลี่ยนลูกหนี้การค้าให้เป็นเงินสดได้หรือไม่ แต่ระหว่างที่ยังเปลี่ยนเป็นเงินสดไม่ได้ ก็ต้องถือว่ายังไม่มีเงินสดเข้ามา ดังนั้น แม้จะขายของได้ เงินสดจากกิจกรรมดำเนินงานก็อาจไม่เพิ่มขึ้น
บางกิจการขายของเป็นเงินเชื่อ แต่ลงทุนหรือจ่ายค่าใช้จ่ายเป็นเงินสดตลอด อย่างนี้กระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงานก็จะเป็น “ลบ” มากกว่า “บวก” ซึ่งถ้าเก็บหนี้ได้ก็ดีไป แต่ถ้าวันหนึ่งเกิดเก็บหนี้ไม่ได้มากๆ เข้า ธุรกิจก็อาจมีปัญหาได้ครับ
คราวที่แล้วเราได้เกริ่นถึงการดู “เงินสด” โดยได้อธิบายไปแล้วว่า เงินสดมีความเคลื่อนไหวผ่านกิจกรรมทั้งสาม ได้แก่ “กิจกรรมดำเนินงาน” “กิจกรรมลงทุน” และ “กิจกรรมจัดหาเงิน” โดยได้พูดถึง “กิจกรรมดำเนินงาน” พอสังเขป ว่าเป็นเรื่องของ “ธุรกิจหลัก” ที่บริษัททำ
ในตอนนี้ เราจะว่ากันต่อจากคราวที่แล้วว่า มีวิธีดูกระแสเงินสดอีกสองตัวที่เหลือ อย่างไร อย่างไหนคือ “ดี” หรือ “ไม่ดี” ดังนี้ครับ
ในส่วนของ “กิจกรรมลงทุน” หลักการคือต้องดูว่า การลงทุนนั้นๆ สอดคล้องกับธุรกิจที่บริษัททำหรือเปล่า เช่น  ถ้าบริษัทผลิตสินค้าอุตสาหกรรม และมีการลงทุนด้วยการซื้อเครื่องจักร เช่นนี้ก็ถือว่าไม่ขัดแย้งกัน
หรือหากบริษัทมีการซื้อที่ดิน เราก็ต้องตามไปดูต่อว่า บริษัทซื้อไปเพื่ออะไร ถ้าซื้อที่ดินเพื่อขยายกิจการ เช่น เอาไปสร้างคลังสินค้า หรือเปิดโชว์รูมใหม่ ก็ถือว่าโอเค (แต่จะสอดคล้องกับแผนงานของบริษัทหรือไม่ขนาดไหน ก็แล้วแต่จะพิจารณา)
แต่ถ้าเป็นที่ดินที่เจ้าของอยากได้ จึงไปซื้อเก็บไว้เฉยๆ โดยไม่เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจ เช่นนี้ไม่เข้าท่าแน่นอน เพราะเป็นการเอาเงินสดของกิจการไปใช้เพื่อสนองความต้องการส่วนตน
ถ้ากิจกรรมลงทุนนั้นๆ ทำไปโดยไม่สอดคล้องกับธุรกิจหลักของบริษัท เช่น เป็นบริษัททำบ้านจัดสรร แต่กลับไปซื้อสนามกอล์ฟ โดยอ้างว่าเป็นโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ทว่าเมื่อดูลึกไปในรายละเอียดกลับพบว่า สนามกอล์ฟนั้นเป็นสมบัติของตระกูลของเจ้าของ เช่นนี้เราก็ต้องตั้งคำถามให้จงหนัก ว่าการใช้เงินสดครั้งนี้เป็นไปเพื่อประโยชน์บริษัทจริงหรือไม่อย่างไร
นอกจากนี้ ยังมีบางกรณี เช่น บริษัทเอาเงินสดที่เหลือไปซื้อพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งแม้ดูเหมือนจะเป็นการลงทุนที่ปลอดภัย แต่นั่นก็ยังไม่ใช่ธุรกิจหลักของบริษัท นักลงทุนจึงต้องตั้งคำถามกับผู้บริหารว่าเหตุใดจึงลงทุนเช่นนั้น
โดยหากผู้บริหารเอาเงินสดไปซื้อพันธบัตร ด้วยเจตนาที่จะเก็บเงินไว้เพื่อเตรียมลงทุนในระยะเวลาอันใกล้ ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้
แต่ถ้าไม่มีแผนการลงทุนที่ชัดเจน แทนที่จะเอาเงินสดไปแช่ไว้ในพันธบัตรหลายๆ ปี สู้จ่ายออกมาเป็นเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นหรืออย่างน้อยก็เอาไปชำระหนี้ของบริษัทจะดีกว่าหรือไม่ นี่เป็นสิ่งที่สมควรถูกตั้งคำถามทั้งสิ้น
สุดท้ายก็เป็นเรื่องของ “กิจกรรมจัดหาเงิน” ซึ่งหลักๆ ก็คือ “การกู้เงิน” กับ “การจ่ายเงินปันผล” ซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง
หากบริษัทมีการจ่ายปันผล แปลว่า บริษัทมีเงินสดที่จะจ่ายให้ผู้ถือหุ้นได้ (เงินสดออกจากบริษัท) ตรงข้ามกับการที่บริษัทไปกู้เงินมา (เงินสดเข้าบริษัท) แน่นอนว่าจะมีเงินสดเพิ่มขึ้น แต่หนี้สินก็เพิ่มด้วย
ดังนั้น พอสรุปได้ว่า สำหรับ “กิจกรรมจัดหาเงิน” ถ้าเงินสด “ออก” จากบริษัท หรือเป็น “ลบ” แปลว่า “ดี” เพราะนั่นหมายความว่าบริษัทไม่ต้องหาเงินจากภายนอก หรือแปลความได้ว่ากิจการ “ไม่ร้อนเงิน”
แต่ถ้าเงินสด “เข้า” มาในบริษัท หรือเป็น “บวก” แปลว่าบริษัทกำลังต้องการเงิน จึงต้องไปกู้หนี้ยืมสิน เพิ่มทุน หรือใช้วิธีอื่นใดเพื่อให้ได้เงินเข้ามา
ยังมีกรณีอื่นๆ อีกเช่น บริษัทไปกู้เงินธนาคารไว้ ครั้นกิจการทำกำไรได้ มีเงินสดเหลือ จึงเอาเงินสดใช้หนี้ธนาคาร เช่นนี้กระแสเงินสดจะเป็น “ลบ” ซึ่งก็ถือว่า “ดี” อีกเช่นกัน เพราะหากกิจการไม่อยู่ในสถานะที่ดี คงหาเงินมาใช้หนี้แบงก์ไม่ได้
นี่คือภาพรวมๆ ของการดูงบกระแสเงินสด ซึ่งเป็นสิ่งที่วีไอทุกคนควรรู้เป็นอย่างยิ่งครับ