วันพฤหัสบดีที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ROA กับ ROE


โดย Club VI
คราวที่แล้วพูดถึง “กำไร” ในแต่ละประเภทจนครบถ้วนกระบวนความไปแล้ว ในวันนี้จะพูดถึงตัวเลขที่น่าสนใจมากๆ อันต่อเนื่องจากเรื่องของกำไรกันนะครับ
ตัวเลขแรกที่จะอรรถาธิบายให้ท่านได้รู้จักในวันนี้ คือ ROA ย่อมาจาก Return on Assets หรือ “ผลตอบแทนต่อสินทรัพย์”
ROA เป็นตัวเลขที่จะทำให้เห็นภาพใหญ่ว่า บริษัทนั้นๆ เอาสินทรัพย์ที่มีไป “สร้างกำไร” ได้มากน้อยเพียงใด โดย เอา “กำไรสุทธิ” (ต้องเป็น “กำไรสุทธิ” นะครับ ไม่ใช่ “รายได้” หรือกำไรประเภทอื่นๆ) หารด้วย “สินทรัพย์ทั้งหมด” ของบริษัท
เช่น บริษัทยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคแห่งหนึ่ง มีสินทรัพย์ 30,000 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 2,000 ล้านบาท ROA ของบริษัทนี้จึงเท่ากับ 2,000 ลบ./ 30,000 ลบ.= 6.7%
ในขณะเดียวกัน มีอีกบริษัทหนึ่ง ทำธุรกิจเดียวกับบริษัทแรก คำนวณค่า ROA ได้เท่ากับ 4% แสดงว่าบริษัทที่สองนี้เอาสินทรัพย์ไปสร้างกำไรได้น้อยกว่า
ตัวเลขต่อไปคือ ROE ย่อมาจาก “Return on Equity” หาได้โดยเอา “กำไรสุทธิ” หารด้วย “ส่วนของผู้ถือหุ้น” (Equity)
ขอขยายความอีกนิดหนึ่ง เผื่อบางท่านอาจจะยังไม่แน่ใจในเรื่องของ “ส่วนของผู้ถือหุ้น” คำว่า “ส่วนของผู้ถือหุ้น” ภาษาอังกฤษคือ “Equity”
Equity อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ คือ เป็น สินทรัพย์ที่ตัดหนี้สินทั้งหมดออกไปแล้ว จนกลายเป็น “Net Asset” หรือ “สินทรัพย์สุทธิ” ของกิจการ (Equity = Net Asset)
ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า ROE คือ “กำไรที่ปราศจากภาระ” ของกิจการ คือสร้างขึ้นจาก “หน้าตัก” ของเจ้าของล้วนๆ ไม่ได้ไปกู้หนี้ยืมสินมา
ตัวอย่างเช่น บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคบริษัทเดิม มีสินทรัพย์ทั้งหมด 30,000 ล้านบาท มีหนี้สิน 18,000 ล้านบาท ก็เท่ากับว่าเป็นส่วนของผู้เป็นเจ้าของ 30,000 – 18,000 = 12,000 ล้านบาท 
จึงคำนวณ ROE ได้เท่ากับ 2,000/ 12,000 (กำไรสุทธิ/ ส่วนของผู้ถือหุ้น) = 16.7% 
วิธีดูว่า ROE และ ROA ของบริษัทไหนมากหรือน้อยอย่างไร ก็ควรจะเทียบกับบริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกัน จึงจะเห็นได้ถึงศักยภาพในการแข่งขันของบริษัทนั้นๆ เมื่อเปรียบกับคู่แข่ง 
ในขณะเดียวกัน หากเปรียบเทียบกันระหว่างอุตสาหกรรม เราจะเห็นได้ว่า บางอุตสาหกรรมใช้สินทรัพย์น้อย แต่สามารถสร้างกำไรได้เป็นจำนวนมาก
เช่น อุตสาหกรรมบันเทิง ที่สินทรัพย์เป็นเรื่องของ “มันสมอง” หรือ “ทักษะ-พรสวรรค์” ของบุคลากร โดยไม่ต้องพึ่งเงินทุนจำนวนมาก ทำให้ค่า ROA ค่อนข้างสูง โดยอาจสูงถึง 30-40% สำหรับบางบริษัท
ทว่าบางอุตสาหกรรม กว่าจะสร้างกำไรได้ ก็ต้องมีการลงทุนขนาดใหญ่ เช่น สร้างโรงงาน สร้างระบบขนส่งที่เข้มแข็ง ฯลฯ ROA ของบริษัทในอุตสาหกรรมนี้จึงอยู่ราวๆ 8-12% เท่านั้น
นี่คือเรื่องราวของ ROE และ ROA ที่เป็นค่าที่มีประโยชน์มากๆ และทำให้เห็นศักยภาพในการแข่งขันและความเข้มแข็งของกิจการได้อย่างชัดแจ้งครับ