วันพฤหัสบดีที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2556

Moneyball บทพิสูจน์ “วีไอ” ชนะได้ทุกเกม


Moneyball11
โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช
มีใครเคยดูหนังเรื่อง Moneyball บ้างครับ?
ผมว่าคนทั่วไปที่เคยชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ส่วนใหญ่ก็น่าจะชอบอยู่แล้ว ยิ่งถ้าท่านเป็นวีไอ ดีกรีความประทับใจของท่านก็ยิ่งน่าจะมากกว่าคนอื่นๆ
Moneyball เป็นหนังที่สร้างขึ้นมาจากเรื่องจริง (มีดัดแปลงเนื้อเรื่องและชื่อตัวละครบางตัวเพียงเล็กน้อย) เป็นเรื่องราวในวงการเบสบอลอาชีพ พระเอกของเรื่อง คือ “บิลลี่ บีน” (แบรด พิตต์) ผู้จัดการทีม โอ๊คแลนด์ แอตเลติคส์ ทีมดังใน Major League Baseball
บีน เคยเป็นผู้เล่นอาชีพระดับแถวหน้ามาก่อน ในปี 1980 เขาถูกหลายๆ ทีมหมายมั่นปั้นมือว่าจะเลือกเป็น First pick ก่อนจะไปลงเอยในฐานะผู้เล่นของ New York Mets ซึ่งในปีนั้นได้เลือกผู้เล่นเป็นทีมแรก
แต่แล้ว บีนกลับไม่ประสบความสำเร็จในฐานะนักเบสบอล จนต้องผันตัวมาเป็น Scout (แมวมอง) โดยมาร่วมงานกับ โอ๊คแลนด์ แอตเลติคส์ และไต่เต้าสู่ตำแหน่งผู้จัดการทีมในอีกหลายปีต่อมา
ในช่วงต้นทศวรรษ 2000 เขาเกิดความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงทีม หลังจากโอ๊คแลนด์ไม่ประสบความสำเร็จมาหลายฤดูกาล เพราะเจ้าของทีมไม่ยอมทุ่มเงินเหมือนทีมยักษ์ใหญ่อื่นๆ
บีนตัดสินใจที่จะ “ปฏิวัติ” (Revolutionize) ทีม โดยใช้หลักที่เรียกกันว่า “Sabermetrics” ซึ่งหมายถึง การใช้สถิติในการวิเคราะห์ผู้เล่น
ผู้ที่คิดค้นหลักการนี้ คือ บิล เจมส์ นักสถิติ นักประวัติศาสตร์ และนักเขียนเกี่ยวกับเบสบอล หลักการของเขา ทำให้วิเคราะห์ออกมาได้ว่าเหตุใดแต่ละทีมจึงชนะหรือแพ้ และช่วยให้ค้นพบ “มูลค่า” ที่แท้จริงของผู้เล่นได้  (เปรียบได้กับ เบนจามิน เกรแฮม ของวอลล์สตรีท ยังไงยังงั้น)
ปีเตอร์ แบรนด์ บัณฑิตหนุ่มจากเยล ผู้ช่วยที่บีนดึงตัวมาทำทีม และเป็นคนที่แนะนำให้เขารู้จักกับหลัก Sabermetrics ชี้ให้บีนเห็นว่า มีผู้เล่นมากมายในลีกอาชีพ ที่ถูกประเมินมูลค่าต่ำไป ผู้เล่นบางคน ค่าตัวถูกนิดเดียว แต่ไม่ค่อยมีใครสนใจ บ้างก็ถูกบดบังด้วยเหตุผลไร้สาระบางประการ เช่น “มีท่าวิ่งเหมือนเป็ด”
ฉากหนึ่งที่ผมชอบมากในหนังเรื่อง Moneyball คือตอนที่ แบรนด์ เรียก บีน ไปดู วีดีโอเทปการเล่นของ แชด แบรดฟอร์ด ผู้เล่นตำแหน่ง “พิตเชอร์สำรอง” หรือ Relief Pitcher (พิตเชอร์ คือ ผู้เล่นที่เป็นคนขว้างลูก ส่วน Relief Pitcher คือพิตเชอร์สำรอง เอาไว้ขว้างแทนเวลามือหนึ่งเจ็บ หรือเล่นไม่ดี หรือถูกเปลี่ยนตัวออกตามแท็คติก)
ปีเตอร์บอกบิลลี่ว่า แบรดฟอร์ด คือ ผู้เล่นที่ถูกประเมินค่าต่ำเกินไปมากที่สุด (Most undervalued player) ในวงการเบสบอล ทั้งๆ ที่จุดอ่อนของเขามีอย่างเดียว คือ เขามีท่าขว้างบอลที่ “ตลก” ทำให้ทีมใหญ่ๆ ไม่สนใจ และหากได้ตัวแบรดฟอร์ดมา เขาจะไม่ใช่เพียงพิตเชอร์สำรองที่เก่งที่สุดของทีมเรา แต่จะเป็นพิตเชอร์ที่เก่งที่สุดในวงการเบสบอล เลยทีเดียว
ที่สำคัญคือ จาก “มูลค่าแท้จริง” ของแบรดฟอร์ด ซึ่งควรจะอยู่ที่ 3 ล้านเหรียญ เราสามารถซื้อตัวเขา ด้วยค่าตัวเพียง 237,000 เหรียญเท่านั้น!!
หลังจาก  บีน ตัดสินใจซื้อ “ผู้เล่นเน้นคุณค่า” มาร่วมทีมหลายคน คณะที่ปรึกษาของทีมต่างก็ตกตะลึง หลายคนไม่เข้าใจว่าเขากำลังทำอะไรอยู่
การ “ฝ่ากระแสหลัก” ครั้งนั้น ทำให้บีนโดนมองว่า “บ้า” และจะฉุดทีมลงเหวในท้ายที่สุด แม้แต่เฮดโค้ชของทีมก็ไม่เชื่อฟัง ไม่ยอมใช้ “ผู้เล่นเน้นคุณค่า” ที่บีนซื้อมา ดึงดันจะใช้แต่ผู้เล่นระดับสตาร์ลงสนาม
สุดท้าย บีน ต้องใช้ “ไม้แข็ง” เขาตัดสินใจไล่คณะที่ปรึกษาของทีมที่ขวางทางเขาออก และ “โละ” ผู้เล่นระดับสตาร์หลายคน เพื่อให้ผู้เล่นที่เขาซื้อตัวมาได้ลงเล่น ทีมจะได้เดินไปในทิศทางที่เขาต้องการ 
เมื่อเห็นบิลลี่ “กล้า” ขนาดนั้น ปีเตอร์ ซึ่งเป็นคนเอาแนวคิดนี้มาเสนอเขาเอง ยังเตือนว่า “ที่ทำอยู่นี่ แน่ใจแล้วหรือ?” บิลลี่ย้อนถามปีเตอร์ว่า “แล้วนายมั่นใจหรือเปล่าว่าเรามาถูกทาง?” ปีเตอร์บอกว่า “ถูกแน่นอน เพียงแต่เราจะอธิบายกับคนอื่นได้ยาก” 
บิลลี่จึงบอกว่า “ถ้างั้น นั่นไม่ใช่ปัญหาเลย ปัญหาของคนเรา หลายครั้งไม่ได้อยู่ที่การทำในสิ่งที่ถูก แต่อยู่ที่ต้องคิดว่าจะ “อธิบาย” กับคนอื่นยังไง ซึ่งมันไร้สาระมาก” 
สุดท้าย บีน ก็ทำสำเร็จ หลังจากแพ้อยู่หลายเกม โอ๊คแลนด์ก็คว้าชัยชนะติดต่อกัน 20 ครั้ง เป็นสถิติใหม่ในรอบ 100 ปี ของวงการเบสบอล จนตัวเขาถูกทาบทามให้ไปเป็นผู้จัดการทั่วไปของ Boston Red Sox ทีมยักษ์ใหญ่  ด้วยค่าจ้างมหาศาลกว่า 12 ล้านเหรียญต่อปี
ทว่าบีนก็ปฏิเสธไป ด้วยเหตุผลว่า ตัวเขาอุตส่าห์เอาชนะ “เงิน” ได้แล้ว และไม่อยากพ่ายแพ้ต่อ “เงิน” อีกครั้งหนึ่ง (เห็นมั้ยว่า “แนว” ขนาดไหน)
หากจะเปรียบไป หลัก Sabermetrics ก็คือ Value Investment ดีๆ นี่เอง มันคือการวิเคราะห์ตัวเลข วิเคราะห์สถิติ มุ่งค้นหามูลค่าผู้เล่น ไม่ได้แตกต่างวีไอพันธุ์แท้ ที่มุ่งวิเคราะห์-ประเมินมูลค่าหุ้นเลยแม้แต่น้อย
บทเรียนจากหนังเรื่องนี้ ทำให้เราได้รู้ว่า หลัก Value Investment นั้น ใช้ได้ในหลากหลายสถานการณ์ ในแทบทุกการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นโลกของการลงทุน หรือแม้กระทั่งเกมกีฬา
สิ่งสำคัญยิ่งกว่าก็คือ ผู้ที่นำมันไปใช้ ต้องตระหนักด้วยว่า ตัวเองกำลังเดิน “สวนกระแส” แต่เป็นการ “สวน” อย่าง “มั่นคง” ด้วย “หลักวิชาการ”
หากมุ่งมั่นที่จะเป็นวีไอ ก็ต้องมั่นใจ อย่าหวั่นไหวไปตามฝูงชน พึงยึดโยงอยู่กับพื้นฐาน แล้วจะ “ชนะ” ได้ในท้ายที่สุดครับ 
————————
ภาพประกอบ จาก en.wikipedia.org
Credit : Club VI