วันพฤหัสบดีที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2556

P/BV (พี-บุ๊ก) ซุกอะไรอยู่?


โดย Club VI
ในตอนที่แล้ว ได้อธิบายถึงค่า P/E ว่าเป็นวิธีการวัดความถูกแพงของราคาหุ้นที่ได้รับความนิยมอย่างสูง
อย่างไรก็ตาม ค่า P/E มีจุดอ่อนอยู่บางประการ กล่าวคือ เป็นค่าที่คำนวณมาจาก กำไรสุทธิ ซึ่งกำไรของบางบริษัทอาจมีความไม่แน่นอน ทำให้ P/E Ratio เกิดความผันผวน จนยากที่จะใช้เป็นหลักยึดได้ หรืออย่างในช่วงวิกฤต เช่น วิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540-1 กำไรสุทธิของหลายบริษัทล้วน “ติดลบ” ทำให้ค่า P/E ออกมาเป็นลบ อันถือว่าใช้วัดไม่ได้
ดังนั้น ในตอนนี้ เราจะมาว่ากันถึงอีกวิธีหนึ่งในการวัดความถูกแพงของหุ้น นั่นก็คือ ค่าที่เรียกว่า “P/BV Ratio” (บ้างก็เรียกว่า P/B แต่มักออกเสียงกันว่า “พี-บุ๊ก”) ย่อ มาจาก “Price-to-book-value ratio”
ค่า P/BV หมายถึง อัตราส่วนระหว่าง “ราคาหุ้น” (P) กับ “มูลค่าทางบัญชีของกิจการ” (BV) ซึ่ง BV หรือ “Book Value” ในที่นี้ ก็มีค่าเท่ากับ ส่วนของผู้ถือหุ้น (Equity) นั่นเอง
ในแต่ละปี เมื่อบริษัทมีกำไร ก็จะแบ่งส่วนหนึ่งจ่ายออกไปเป็น “เงินปันผล” ให้ผู้ถือหุ้น และส่วนที่เหลือ จะบันทึกไว้เป็น “กำไรสะสม” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “ส่วนของผู้ถือหุ้น” นั่นหมายความว่า ทุกๆ ปี หากบริษัทมีกำไร Book Value ของบริษัทก็ควรจะโตขึ้นด้วย
ทั้งนี้ ค่า Book Value มักเป็นไปตามผลประกอบการ คือ ถ้าบริษัทมีกำไรดี Book Value ก็มักจะสูงขึ้น แต่นั่นไม่ได้ทำให้ค่า P/BV ต่ำลงเสมอไป เพราะราคาหุ้นมักจะเพิ่มขึ้นตามผลประการของบริษัทอยู่แล้ว (BV โตขึ้น แต่ P ก็โตขึ้นด้วย ค่า P/BV ที่ได้จึงอาจเท่าเดิม)
อย่างไรก็ตาม บางบริษัทนิยมจ่ายปันผลออกมาค่อนข้างมาก และไม่ค่อยเก็บกำไรสะสมไว้ ทำให้ Book Value ไม่โต
เช่น บริษัทที่ทำธุรกิจหนังสือในเมืองไทยบริษัทหนึ่ง ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น “หุ้นปันผล” ชั้นดี การที่กิจการมีเงินทุนหมุนเวียนอย่างล้นเหลือทำให้สามารถจ่ายปันผลออกมาได้เกือบ 100% ของกำไรสุทธิ ผลคือ Book Value แทบจะไม่โต ทั้งที่กำไรของบริษัทเติบโตขึ้นทุกปี
จะเห็นได้ว่า การเติบโตของผลประกอบการมักดึงดูดให้ราคาหุ้นโตขึ้นตามไปด้วย จึงดูเหมือนว่า P/BV โตเร็ว (Book Value โตช้า แต่ P โตเร็ว ทำให้ P/BV สูงขึ้นเรื่อยๆ) และทำให้เข้าใจกันไปว่า หุ้นตัวนั้นๆ “แพงแล้ว”
แต่มองอีกมุมหนึ่ง หุ้นที่เข้าลักษณะนี้อาจไม่แพงเลยก็ได้ เพราะแม้ว่าค่า P/BV จะมากกว่า 1 (P สูงกว่า BV) ซึ่งหมายความว่า ใครจะซื้อก็ต้องจ่ายเงินสูงกว่ามูลค่าทางบัญชีของกิจการ นั่นก็ไม่ใช่เรื่องไร้เหตุผลเสมอไป เพราะผู้ซื้ออาจมีแรงจูงใจบางประการที่ทำให้ยอม “จ่ายแพงกว่า”
อาทิ กิจการนั้นเป็นกิจการที่กำลังเติบโต นักลงทุนจึงยอมควักเงินเพื่อ “ซื้ออนาคต” หรือนักลงทุนอาจเล็งเห็นว่า บริษัทนั้นๆ มีสินทรัพย์บางอย่างที่ไม่ได้รวมอยู่ในมูลค่าทางบัญชี หรือไม่สามารถวัดออกมาเป็นตัวเลขทางบัญชีได้อย่างเหมาะสม
ในทางกลับกัน ถ้า P/BV ต่ำกว่า 1 (P ต่ำกว่า BV) นั่นหมายความว่า นักลงทุนสามารถซื้อหุ้นตัวนี้ ได้ในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี ซึ่งที่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น อาจเป็นเพราะตลาดมองว่าบริษัทนี้มีการเติบโตค่อนข้างน้อย หรืออนาคตดูจะไม่สดใสเท่าไรนัก หุ้นของบริษัทจึงไม่ค่อยได้รับความนิยม
โดยหลักการ มักถือกันว่า ค่า P/BV ต่ำ แปลว่านักลงทุน “ได้ของถูก” ทว่ามาตรฐานของแต่ละคนมักไม่เท่ากัน บางคนยึดหลักว่าค่า P/BV ไม่เกิน 2 เท่า บางคนยึดหลักซื้อเฉพาะ “ของถูกมาก” จึงซื้อเฉพาะหุ้นที่ค่า P/BV ต่ำกว่า 1 เท่านั้น
ในทางปฏิบัติแล้ว หุ้นบางตัวมี P/BV สูง แต่ก็คุ้มค่าที่จะเข้าไปลงทุน เพราะมูลค่าบางอย่างไม่ได้แสดงออกมาในทางบัญชี อาทิ วิสัยทัศน์ของผู้บริหาร นโยบายการเติบโต สิ่งเหล่านี้ล้วนมีค่ายิ่ง แต่ไม่สามารถที่จะตีเป็นตัวเลขได้เลย
นอกจากนี้ พวกกิจการที่ใช้ทุนต่ำ (low-capital) เช่น ธุรกิจบันเทิง มักมีค่า P/BV ค่อนข้างสูง ทั้งนี้เพราะ Book Value ของบริษัทอาจจะน้อย (BV ต่ำ) เนื่องจากสินทรัพย์ส่วนหนึ่งไม่ได้มีมูลค่าทางบัญชี แต่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงมาก เช่น มันสมอง-ความสร้างสรรค์ของบุคลากร ชื่อเสียงของดาราในสังกัด ฯลฯ
การที่บริษัทใช้ “ทุนที่ประเมินค่าเป็นเงินไม่ได้” (แต่มองเห็นได้) กลั่นออกมาเป็นผลประกอบการที่ดีเยี่ยม ส่งผลให้ราคาหุ้นโตตามไปด้วย (P สูง) ครั้น P โต แต่ BV โตช้า ค่า P/BV จึงสูง จะเห็นได้ว่าบริษัทบันเทิงยักษ์ใหญ่ในเมืองไทยบางบริษัทมี P/BV สูงถึง 4-6 เท่า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าบริษัทนั้นไม่น่าลงทุนแต่อย่างใด
ทั้งนี้ทั้งนั้น การประเมินว่า P/BV เท่าไรจึงจะเรียกว่าถูก บางครั้งเราก็เทียบกับบริษัทอื่นๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกัน ซึ่งก็พอทำได้ในระดับหนึ่ง แต่ต้องไม่ลืมว่า แต่ละบริษัทล้วนมีความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการจ่ายปันผล ระยะเวลาที่ทำธุรกิจมา ฯลฯ
จะเห็นได้ว่า P/BV มีจุดเด่น คือ มีความเสถียร ไม่ค่อยผันผวน ต่างจากค่า P/E ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่ข้อเสียคือ อาจสะท้อนอนาคตของธุรกิจได้ช้ากว่า
โดยสรุปแล้ว ค่า P/BV มีประโยชน์อยู่ไม่ใช่น้อย แต่ไม่ควรใช้เป็นหลักยึดตายตัว โดยควรดูค่าอื่นๆ ประกอบกันไปด้วย มิฉะนั้น อาจทำให้เสียโอกาสงามๆ ในการลงทุนได้ครับ