วันพฤหัสบดีที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ชาร์ลี มังเกอร์ ที่สอง..ที่โลกต้องจดจำ



ชาร์ลี มังเกอร์
(1924-ปัจจุบัน)
By Club VI
ชาร์ลี มังเกอร์ เป็นรองประธานบริหารของเบิร์คไชร์ ฮาแธเวย์ เขาเป็นคู่หูของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จที่สุดในโลก และเป็นผู้ร่วมก่อร่างสร้างเบิร์คไชร์จนกลายเป็นมหาอาณาจักรการลงทุนที่ยิ่งใหญ่
มังเกอร์เกิดเมื่อปี 1924 ที่โอมาฮา เช่นเดียวกับบัฟเฟตต์ โดยเขาแก่กว่าวอร์เรน 6 ปี สมัยวัยรุ่น เขาเคยทำงานในร้านขายของชำของคุณปู่ของวอร์เรน และถูกใช้งานหนักมาก แต่ก็ได้เรียนรู้เรื่องธุรกิจมากมายจากการรับจ็อบที่ร้านของครอบครัวบัฟเฟตต์ในครั้งนั้น
คู่หูของบัฟเฟตต์ผู้นี้ เป็นคนเฉลียวฉลาดและเชื่อมั่นในตัวเอง อุปนิสัยติดดิน กินง่ายอยู่ง่ายเช่นเดียวกับปู่บัฟฟ์ ที่ต่างกันคือปู่มังก์มีบุคลิกโผงผาง พูดจาขวานผ่าซากจนหลายคนมองว่าหยาบคาย ต่างจากบัฟเฟตต์ที่สุภาพ พูดจาดี และน่าคบหากว่า
หลังจบมัธยมฯ มังเกอร์เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยมิชิแกนในสาขาคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ แต่แล้วเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง เขาก็ต้องพักการเรียนและถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารในกองทัพเช่นเดียวกับคนหนุ่มในยุคนั้น โดยประจำการอยู่ที่อลาสก้าในตำแหน่งนักอุตุนิยมวิทยา พอสงครามยุติลง เขาไม่ได้กลับไปเรียนที่มิชิแกน แต่เบนเข็มไปเรียนที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด คณะนิติศาสตร์ และจบปริญญาตรีในปี 1948 ด้วยดีกรีเกียรตินิยม
หลังจากจบฮาร์วาร์ด มังเกอร์ร่วมกับเพื่อนอีก 6 คน ตั้งสำนักงานกฎหมายของตัวเอง ชื่อ มังเกอร์, โทลส์ แอนด์ โอลสัน โดยตัวเขาเป็นทนายความด้านอสังหาริมทรัพย์ พอถึงปี 1965 เขาวางมือจากการด้านกฎหมาย และหันมาทำงานด้านการลงทุนเต็มตัว โดยร่วมหุ้นกับเพื่อนเปิดบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และบริษัทการลงทุน
วอร์เรน บัฟเฟตต์ เคยเขียนเล่าไว้ว่า ตั้งแต่ปี 1962-75 บริษัทการลงทุนของมังเกอร์ทำผลตอบแทนทบต้นได้ถึง 19.8% ต่อปี ขณะที่ ดาวโจนส์ ให้ผลตอบแทนเพียง 5% จนฐานะของมังเกอร์ในเวลานั้น ถือว่าเข้าขั้น “เศรษฐี” เลยทีเดียว
นั่นหมายความว่า ชาร์ลี มังเกอร์ “เก่ง” และ “รวย” ตั้งแต่ก่อนที่จะมาเจอบัฟเฟตต์ ไม่ใช่รวยเพราะมาทำงานกับปู่บัฟฟ์เหมือนที่หลายคนเข้าใจ
ที่จริงแล้ว การพบกันครั้งแรกของมังเกอร์และบัฟเฟตต์เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1959 ระหว่างที่มังเกอร์ยังทำงานด้านกฏหมายอยู่ โดยเพื่อนของพวกเขานัดให้มารับประทานอาหารกลางวันกัน ปรากฏว่าทั้งสองถูกชะตากันตั้งแต่แรกพบ และรู้สึกทันทีว่าอีกฝ่ายมีอะไรที่คล้ายคลึงกับตนเอง
บัฟเฟตต์พยายามหว่านล้อมมังเกอร์ว่าเขาน่าจะทำอย่างอื่นกับชีวิตแทนที่จะเป็นนักกฏหมาย โดยชี้ให้เห็นว่าการลงทุนเป็นอาชีพที่ดีและทำเงินได้เยอะกว่ามาก เป็นไปได้ว่าคำแนะนำของบัฟเฟตต์ครั้งนั้นน่าจะมีอิทธิพลให้มังเกอร์เปลี่ยนอาชีพมาเป็นนักลงทุนเต็มตัวในเวลาต่อมา
หลังจากนั้น ทั้งคู่ยังติดต่อกันเป็นครั้งคราว ก่อนจะมาร่วมงานกันอย่างเป็นทางการในปี 1978  โดยบัฟเฟตต์ชวนให้มังเกอร์มารับตำแหน่งรองประธานของเบิร์คไชร์ ฮาแธเวย์ ซึ่งตัวเขาเป็นประธานอยู่
พอได้มาร่วมงานกัน มังเกอร์และบัฟเฟตต์กลายเป็นสองคน สองคม ต่างรู้อกรู้ใจ เติมเต็มความคิดซึ่งกันและกัน ทำงานเข้าขา จนเบิร์คไชร์เติบใหญ่ต่อเนื่องกลายเป็นองค์กรขนาดยักษ์อันดับต้นๆ ของโลก ต้องถือว่าเป็นคู่หูที่ฟ้าลิขิตให้มาเจอกันโดยแท้
ที่สำคัญที่สุดคือ มังเกอร์ได้ทำให้บัฟเฟตต์ มาถึง “จุดก้าวกระโดด” สำคัญของชีวิต โดยเขาเป็นผู้ทำให้ “เทพเจ้าแห่งโอมาฮา” สลัดตัวเองหลุดจากกฏเกณฑ์ในการเลือกหุ้นอันเข้มงวดของเบนจามิน เกรแฮม และหันมาให้ความสำคัญกับปัจจัยเชิงคุณภาพ โดยเฉพาะสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตนมากขึ้น อันเป็นแนวทางของฟิลิป ฟิชเชอร์ กูรูการลงทุนอีกคนหนึ่ง อันถือเป็นการ “เปิดโลกใหม่” ให้กับบัฟเฟตต์เลยก็ว่าได้
หลายคนมองว่า หากไม่ได้มังเกอร์ บัฟเฟตต์คงพลาดโอกาสงามๆ ในการลงทุนอีกมาก ซึ่งรวมถึง โคคา โคล่า, พีแอนด์จี ฯลฯ แม้บัฟเฟตต์เองยังยอมรับว่า เขาเป็น “หนี้ความรู้” มังเกอร์ โดยบอกว่าตัวเขาคง “จน” กว่านี้เยอะ ถ้าฟังแต่ เบนจามิน เกรแฮม เพียงคนเดียว
หลักในการลงทุนข้อใหญ่ๆ ของมังเกอร์ ค่อนข้างคล้ายคลึงกับบัฟเฟตต์ โดยให้เน้นธุรกิจที่มีคุณภาพ มีความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืน ฐานะทางการเงินดี มีความสามารถในการทำกำไร มีส่วนต่างแห่งความปลอดภัย มีผู้บริหารที่เก่งและซื่อสัตย์
ทั้งนี้ มังเกอร์เป็นคนทำให้บัฟเฟตต์เลิกค้นหา “บริษัทระดับปานกลางในราคาถูก” แต่ให้หา “บริษัทยอดเยี่ยม ในราคายุติธรรม” อันเป็นหลักคิดที่พิสูจน์แล้วว่าถูกต้องอย่างยิ่ง
ทุกวันนี้ มังเกอร์ยังทำงานกับบัฟเฟตต์ด้วยความสนุกสนานในออฟฟิศเล็กๆ ของเบิร์คไชร์ ในโอมาฮา เหมือนที่เป็นมาตลอดหลายสิบปี บัฟเฟตต์บอกว่า เขาและมังเกอร์จะทำงานต่อไปจนกว่าจะจำกันและกันไม่ได้
นอกจากนี้ ในการประชุมประจำปีของเบิร์คไชร์ทุกครั้ง มังเกอร์จะนั่งเคียงข้างบัฟเฟตต์บนเวที ต่อหน้านักลงทุนหลายหมื่นคนที่หลั่งไหลกันมาจากทั่วโลก เพื่อตอบคำถามและพบปะกับพวกเขาเหล่านั้นเป็นเวลาหลายต่อหลายชั่วโมง
แม้ว่า “ที่สอง” มักไม่ค่อยเป็นที่จดจำของผู้คน แต่หากไม่มี “ที่สอง” อย่างมังเกอร์ ก็อาจไม่มี “ที่หนึ่ง” อย่าง วอร์เรน บัฟเฟตต์ ในวันนี้ก็เป็นได้
นั่นทำให้เราควรยกย่อง ชาร์ลี มังเกอร์ รองประธานของเบิร์คไชร์ ฮาแธเวย์ ในฐานะ “ที่สอง ที่โลกต้องจดจำ” และจารึกชื่อของเขาไว้ในทำเนียบสุดยอดนักลงทุนโลกอย่างเต็มภาคภูมิ!!
ข้อมูลอ้างอิง: 4 Investment Gurus, The Great Investors, The Essays of Warren Buffett, Wikipedia
Credit : Club VI