วันพฤหัสบดีที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2556

วงจรเงินสดแบบสรุป



เอาสั้นๆ ง่ายๆ แบบ common sense ไม่ต้องท่องจำนะครับ

"วงจรเงินสด" มีไว้สำหรับตามดูการ "ใช้" เงินสดในกิจการของเรา โดยดูว่าแต่ละกิจกรรมมีการใช้เงินสดไปกี่วันบ้าง


จัดซื้อ


ในการจัดซื้อวัตถุดิบ ถ้าจ่ายสดแบบหมูไปไก่มาก็ถือว่า "ไม่มีหนี้การค้า" (ระยะเวลาชำระหนี้ = 0 วัน) แต่โดยทั่วไปเราจะซื้อเป็นเงินเชื่อ คือ ได้ของมาก่อนแล้วค่อยจ่ายเงินตามหลัง การซื้อของเป็นเงินเชื่อจึงเหมือนกับการที่เรา "ถือเงิน" ของคู่ค้าเอาไว้เป็นการชั่วคราว เพราะของก็ได้มาแล้ว เงินก็ยังถืออยู่

ดังนั้น เมื่อพิจารณาในวงจรเงินสดจึงกลายเป็นว่าเรา "ได้เงิน" แทนที่จะ "ใช้เงิน"

สรุป ระยะเวลาชำระหนี้ ยิ่งนานก็ยิ่งดี แต่อย่านานเกิน เดี๋ยวไม่มีใครอยากค้าขายด้วย

ผลิตสินค้าและรอขาย


นับตั้งแต่วันที่เราได้วัตถุดิบจนถึงวันที่เราขายสินค้าได้ นี่คือช่วงเวลาที่เงินของเรา "เปลี่ยนสภาพ" ไปเป็นสินค้าคงเหลือ และมันจะไม่เปลี่ยนกลับมาเป็นเงินสดจนกว่าเราจะขายสินค้าได้

ในวงจรเงินสด นี่คือการ "ใช้เงิน" ที่ชัดเจนมาก และยิ่งขายช้า เงินของเราก็ยิ่งจม ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ดีแน่นอน

สรุป ระยะเวลาขายสินค้า ยิ่งสั้นยิ่งดี ผลิตเร็ว-ขายไว ... เยี่ยม!

ขายสินค้าได้


เมื่อเราขายสินค้าได้ เงินลอยมาแล้ว... แต่เดี๋ยวก่อน! เราจะยังไม่ได้เงินก้อนนี้จนกว่าจะตามเก็บหนี้จากลูกค้าได้สำเร็จ (ยกเว้นบางกิจการที่ขายสินค้าแล้วได้รับเงินสดทันที เช่น ค้าปลีก) ซึ่งเท่ากับว่าลูกค้าได้ถือเงินแทนเราเป็นการชั่วคราว

และกิจกรรมนี้ก็ถือเป็นการ "ใช้เงิน" ในวงจรเงินสดด้วย

สรุป ระยะเวลาเก็บหนี้ ยิ่งสั้นยิ่งดี แต่ถ้าไปบีบคอมากๆ ลูกค้าจะไม่แฮปปี้นะครับ




หมายเหตุ ภาพประกอบจาก www.strategy-at-risk.com ครับ ภาพนี้อาจจะ advance ขึ้นมาอีกหน่อย "วงจรเงินสด" ที่เราพูดถึงก็คือ Cash Conversion Cycle ในภาพ ซึ่งผมคิดว่าแผนภาพนี้ให้รายละเอียดไว้ดีมาก เลยขอนำมาให้ดูกัน

วงจรเงินสด


วงจรเงินสด (วัน) = [ระยะเวลาขายสินค้า] + [ระยะเวลาเก็บหนี้] - [ระยะเวลาชำระหนี้]


ทั้งนี้ต้องไม่ลืมด้วยว่ากิจกรรมจัดซื้อนั้น เรา "ได้เงิน" จึงต้องใช้เครื่องหมายลบ

สมการนี้จะบอกได้ว่า "เงินสด" ของเราหายหน้าไปกี่วัน ถึงจะออกมาสร้างเป็นผลกำไรให้กับกิจการได้ และเงินสดก็เหมือนคนรักครับ หายหน้าไปนานๆ ก็ถือว่าไม่ดี