วันพฤหัสบดีที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2556

หนี้และการใช้หนี้ของกิจการ


โดย Club VI
คราวที่แล้วได้อธิบายถึงค่า ROE และ ROA ซึ่งเป็นตัวเลขที่มีพลัง บ่งบอกถึงศักยภาพในการสร้างกำไรของธุรกิจไปแล้ว วันนี้มาว่ากันเรื่อง “หนี้” ซึ่งมีความสำคัญ เปรียบเสมือน “ภาระบนบ่า” ของกิจการที่เราจะมองข้ามเสียไม่ได้เลย
“โครงสร้างเงินทุน” ของบริษัท เป็นสิ่งที่จะบอกเราว่า ธุรกิจมีการก่อหนี้สินมากเกินไปหรือไม่
ปกติแหล่งเงินทุน (Sources of funds) ของบริษัทจะมาจากสองส่วน คือ “ส่วนของผู้ถือหุ้น” (Equity) และ “หนี้สิน” (Debt)
เงินทุนจากสองแหล่งดังกล่าว คือเงินที่กิจการนำมาใช้ซื้อ “สินทรัพย์”  หรือเอาไปทำให้เกิดสินทรัพย์
ดังนั้น สมการที่ได้คือ “สินทรัพย์ = หนี้สิน + ส่วนของผู้ถือหุ้น”
สิ่งที่นักลงทุนต้องสนใจก็คือ สินทรัพย์ของบริษัทนั้น หนักไปทาง “หนี้” หรือหนักไปทาง “ทุน” มากกว่ากัน ถ้า “หนี้” มากกว่า “ทุน” ก็แปลว่ากิจการมี “ภาระผูกพัน” ค่อนข้างเยอะ
การเปรียบเทียบระดับของหนี้กับทุนนั้น หาได้โดย “ค่า D/E” หรือชื่อเต็มคือ อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนนั่นคือเอาค่า “D” (หนี้สิน) หารด้วย “E” (ส่วนของผู้ถือหุ้น) หากค่า D/E ไม่เกิน 1 แปลว่าบริษัทนั้น มีทุนมากกว่าหนี้สิน แต่ถ้าค่า D/E เกิน 1 แปลว่า บริษัทนั้น มีหนี้สินมากกว่าทุน ซึ่งเราต้องระวังให้ดี
การที่ธุรกิจมี “ทุนมาก-หนี้น้อย” ก็เหมือนกัน “คนตัวใหญ่แบกของเบา” คนคนนั้นย่อมจะเดินต่อไปได้เรื่อยๆ ไม่หมดแรง ตรงกันข้ามกับการมี “ทุนน้อย-หนี้มาก” ซึ่งเหมือนกับ “คนตัวเล็กแบกของหนัก” ซึ่งไม่แน่ว่าจะเดินไปได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่ ดีไม่ดีอาจหมดแรงล้มพับลงกลางทางเสียก่อน
การที่กิจการมีหนี้เยอะ จึงหมายถึงความเสี่ยงที่สูงขึ้นตามไปด้วย โดยความเสี่ยงที่ว่าก็คือโอกาสที่บริษัทจะหาเงินมาชำระหนี้ไม่ทัน ซึ่งจะมีปัญหาตามมาอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นการโดนฟ้องร้อง เสียชื่อเสียง ถูกลดอันดับเครดิต
…. หรือเลวร้ายที่สุดคือต้องเลิกกิจการ!!
เพื่อที่จะทราบถึงระดับของความเสี่ยงดังกล่าว เราต้องมาดูก่อนว่าหนี้สินของบริษัทเป็น “หนี้สินหมุนเวียน” และ “หนี้สินไม่หมุนเวียน” อย่างละเท่าไร
ทั้งนี้ หนี้สินหมุนเวียน คือหนี้สินที่ครบกำหนดชำระภายในหนึ่งปี ซึ่งบริษัทต้องหาเงินมาชำระให้ทัน อีกประเภทคือ หนี้สินไม่หมุนเวียนหมายถึงหนี้สินที่มีกำหนดชำระเกินกว่าหนึ่งปี ซึ่งกิจการยังพอมีเวลาที่จะหายใจหายคอได้บ้าง
จะเห็นได้ว่า หนี้สินหมุนเวียน ก่อให้เกิดความเสี่ยงได้มากกว่า เพราะมีเรื่องของเวลามาบีบคั้น ดังนั้น แม้จะได้ค่า D/E แล้ว เรายังต้องเอาตัว D มาชำแหละดูอีกที ว่าเป็นหนี้สินประเภทไหน และกิจการมีความสามารถที่จะชำระหนี้นั้นๆ ได้หรือไม่
การที่จะหาความสามารถของบริษัทในการชำระหนี้สินหมุนเวียน ก็ขึ้นอยู่กับ “สภาพคล่อง” ที่บริษัทมี ซึ่งวัดได้โดยใช้อัตราส่วนสภาพคล่อง (Current Ratio) โดยเอา “สินทรัพย์หมุนเวียน” หารด้วย “หนี้สินหมุนเวียน”
โดย “สินทรัพย์หมุนเวียน” ก็มีจุดร่วมเดียวกับ “หนี้สินหมุนเวียน” คือเป็นสินทรัพย์ที่สามารถแปลงเป็นเงินสดได้ภายใน 1 ปี ซึ่งจะสอดคล้องกับหนี้สินหมุนเวียน ที่กิจการต้องเอาเงินสดไปชำระให้กับเจ้าหนี้ภายใน 1ปี
เพราะฉะนั้น หากกิจการใดมีค่า Current Ratio มากกว่า 1 ก็เชื่อได้ว่าบริษัทมีสภาพคล่องค่อนข้างดี น่าจะหาเงินมาจ่ายหนี้ได้ทัน คงไม่เกิดปัญหา “เงินขาดมือ” ซึ่งทำให้วางใจได้ในพอสมควร
นี่คือเรื่องของหนี้และความสามารถในการใช้หนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่นักลงทุนต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่งครับ