วันพฤหัสบดีที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2556

วัดความสำเร็จแบบ VI



การวัดความสำเร็จในตลาดหุ้นไม่ใช่เรื่องยาก คนส่วนมากวัดจาก "กำไร" หรือไม่ก็ "ความมั่งคั่ง" ที่พวกเขามี แต่นั่นเป็นหนทางที่ถูกต้องแล้วหรือ?

เราจะมาดูกันว่า ตัวชี้วัดความสำเร็จที่ไม่เหมาะสมมีส่วนสำคัญกับอนาคตทางการลงทุนของเราอย่างไร ไม่ว่าเราจะเป็นนักเล่นหุ้นเก็งกำไรรายวัน หรือนักลงทุนแบบเน้นคุณค่า (VI) ก็ตาม และที่สำคัญ มีคนจำนวนไม่น้อยที่ใช้มาตรวัดความสำเร็จผิดๆ อยู่อย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัวด้วย ... แต่จะเป็นเราหรือเปล่าหนอ?


ตัววัดของนักเล่นหุ้นทั่วไป


ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า นักเล่นหุ้นระยะสั้นที่มีความเชื่อในการ "เข้าเร็ว ออกเร็ว" มักให้ความสำคัญกับ "กำไร" มากเป็นพิเศษ และวัดความสำเร็จของตัวเองจากเจ้ากำไรนี่เอง กำไรที่ว่านี้เป็นกำไรของตัวเองนะครับ ไม่ใช่กำไรของบริษัท ดังนั้น พวกเขาจึงไม่ได้สนอกสนใจว่าบริษัทจะมีความแข็งแกร่งหรือมีผลประกอบการเติบโตมากนัก ตราบเท่าที่หุ้นวิ่ง...

เมื่อพูดถึงการวิ่งของราคาหุ้น เรากำลังพูดถึง "change" เพราะฉะนั้นขอแค่ให้บริษัท "ดูดีกว่าเมื่อวาน" ราคาหุ้นก็พร้อมที่จะวิ่งแล้ว ไม่จำเป็นว่าบริษัทต้องแข็งแกร่งหรือมีศักยภาพในระยะยาวแต่อย่างใด นักลงทุนกลุ่มนี้ไม่สนใจพื้นฐานของตัวกิจการในระยะยาว เพราะถือว่ามันยาวไกลเกินไป ซึ่งถ้าคิดจากมุมของพวกเขา มันก็ถูก คุณจะสนใจผลประกอบการในอีก 10 ปีข้างหน้าหรือ ในเมื่อจะขายมันอยู่รอมร่อวันนี้พรุ่งนี้แล้ว

การเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นก็คือ "กำไร" ของพวกเขา จึงไม่น่าแปลกใจที่นักเล่นหุ้นระยะสั้นจะเฝ้าติดตามราคาหุ้นอย่างใจจดใจจ่อ รวมทั้งคอยเช็ค "ต้นทุน" ของพวกเขาอยู่ตลอด และสิ่งที่พวกเขาคิดก็คือ

กำไร = ราคาหุ้น - ต้นทุน


จะเห็นว่ากำไรของพวกเขาจะสูงได้ ถ้า ราคาหุ้น พุ่งแรงๆ ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงพยายามเข้าซื้อหุ้นตัวที่ "น่าจะวิ่ง" และกลายเป็นการเสาะแสวงหาหุ้นปั่นหรือหุ้นในกระแสไปโดยปริยาย ความพยายามนี้บีบพวกเขาให้เข้าไปจับหุ้นร้อนที่วิ่งมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ก็ยังมีโอกาสวิ่งต่อไป อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้แปลว่ามีคนอีกกลุ่มหนึ่งในตลาดที่ถือหุ้นตัวนี้ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าพวกเขา (ต่ำกว่ามากๆ) และพร้อมที่จะ "ปล่อย" เพื่อทำกำไรแทบจะทุกราคา

ในอีกทางหนึ่งจากระบบความคิดนี้ กำไรของพวกเขาจะสูงได้เหมือนกันถ้า ต้นทุน ของพวกเขาต่ำ เราจึงเห็นนักเล่นหุ้นจำนวนมากที่พยายามซื้อหุ้นถัวเฉลี่ย เพื่อกดให้ต้นทุนของพวกเขาลดลง ทั้งๆ ที่บางครั้งกลายเป็นการทยอยซื้อหุ้นเน่าเข้าพอร์ต และยิ่งทำให้พอร์ตของพวกเขาแย่ลงเรื่อยๆ นอกจากนี้การหมกมุ่นอยู่กับต้นทุนมีส่วนทำให้เราหลงลืมที่จะตรวจสอบว่าราคาหุ้นยังคงมีทิศทางเป็นขาขึ้นอยู่หรือไม่ บางทีเราลดต้นทุนได้จริง แต่ราคาหุ้นก็กลับทิศไปเสียแล้ว

การที่เราจับจ้องอยู่ที่ "กำไร" ย่อมทำให้เราคอยแต่จะคิดว่า กำไรเพิ่ม กำไรลด ขาดทุน ได้เงิน เสียเงิน ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นความคิดที่มาเขย่าสมองส่วนที่ใช้เหตุผลทั้งสิ้น บางครั้งเราจึงตัดสินใจผิดพลาด เช่น take profit เร็วเกินไป หรือไม่ยอม cut loss แม้จะรู้ว่าผิดทาง เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้ระบบความคิดที่ยึดกำไรเป็นศูนย์กลางจึงมักกลายเป็นการทำลายตัวเอง และยิ่งถ้านับต้นทุนที่ไม่ใช่เงิน เช่น ความเครียด และเวลาที่สูญเสียไป เข้ามารวมด้วยแล้ว ต้นทุนรวมของการเก็งกำไรระยะสั้นก็คงสูงกว่าที่เราเห็นมาก


ตัววัดของ VI


การยึดกำไรเป็นศูนย์กลางไม่ใช่แนวทางที่ดีสำหรับนักเก็งกำไร และแน่นอนว่าไม่ใช่สำหรับ VI ด้วย ถ้าอย่างนั้น VI ควรเอาอะไรเป็นตัวชี้วัดดีล่ะ?

เท่าที่ผมทราบมา VI หลายคนวัดความสำเร็จของตัวเองจาก "ขนาดพอร์ต" และตั้งเป้าจะมีพอร์ตสิบล้าน ร้อยล้าน ซึ่งก็ฟังดูน่าตื่นเต้นดี แต่ปัญหาคือ ขนาดพอร์ตขึ้นอยู่กับราคาหุ้น เพราะฉะนั้นตอนหุ้นขึ้นพอร์ตก็โต พอหุ้นลงพอร์ตก็แฟบ เบ็ดเสร็จแล้วเดี๋ยวโตเดี๋ยวแฟบ

ในจังหวะที่ตลาดหุ้นบูม ราคาหุ้นมักเกินมูลค่าที่แท้จริงไปมาก หากเขาคำนวณขนาดพอร์ตของเขาในตอนนั้นก็คงนั่งยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ไปกับสิ่งที่ไม่มีแก่นสาร หรือในเวลาที่ตลาดตกต่ำ เขาก็อาจหดหู่ไปกับสิ่งที่ไม่มีแก่นสารอีกเหมือนกัน

กลายเป็นว่าปากบอกสนใจ "มูลค่า" แต่กลับวัดความสำเร็จจาก "ราคา" เลยเป็นพวกมือถือสาก ปากถือศีลไป แล้วเก่งกว่าแมงเม่าตรงไหนเนี่ย?!

การจดจ่ออยู่กับขนาดพอร์ตทำให้เรามัวสนใจแต่ "การเติบโตของราคาหุ้น" โดยอาจละเลยเรื่องอื่นๆ ที่สำคัญไป เช่น ค่า P/E ที่สูงลิ่ว, การก่อหนี้ของบริษัท หรือเงินปันผล เป็นต้น ซึ่งบ่อยครั้งที่ราคาหุ้นเติบโตดีเฉพาะในตลาดขาขึ้น แต่พองานเลี้ยงเลิก ราคาหุ้นก็ปักหัวลง แล้วเราถึงค่อยมาคิดได้ว่า "เราไม่ได้รวยอย่างที่คิดนี่หว่า"

ตัวชี้วัดที่แนะนำ


ผมเห็นว่า VI ที่ดีไม่ควรวัดความสำเร็จของตัวเองจากขนาดพอร์ต แต่ควรวัดจากอะไรที่มีแก่นสารมากกว่านั้น หากคุณเป็น VI ที่เก่งจริงๆ และมั่นใจกับการคำนวณมูลค่า ตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ คือ

มูลค่าที่แท้จริงของหุ้น x จำนวนหุ้น


จากนั้นจับหุ้นทุกตัวบวกกัน ก็จะได้มูลค่าที่แท้จริงของพอร์ต

หรือไม่อย่างนั้นก็ใช้ตัวเลขกำไร (earning per share) ของหุ้นแต่ละตัวก็ได้ เช่น

EPS x จำนวนหุ้น


จับหุ้นทุกตัวบวกกัน ก็จะได้ total earning ของพอร์ต ซึ่งคิดเสมือนว่าคุณสามารถ "ชักส่วนแบ่ง" กำไรจากที่บริษัททำมาหาได้มาเป็นของคุณเองโดยตรง

หรือไม่ก็หาตัวเลขกระแสเงินสดจากเงินปันผล (dividend per share)  เช่น

DPS x จำนวนหุ้น


พอจับทุกตัวบวกกัน ก็จะได้กระแสเงินสดที่จะเข้ากระเป๋าของเราในแต่ละปี อันนี้จับต้องได้ด้วย หรือถ้าใครอยากใช้กระแสเงินสดอื่นๆ เช่น free cash flow ก็ได้เช่นกัน

สังเกตว่าตัวชี้วัดความสำเร็จที่ผมแนะนำมานี้ ไม่สั่นไหวไปกับราคาหุ้นหรือสภาวะตลาด จึงเหมาะสมกับ VI มากกว่าการใช้ขนาดพอร์ตแบบเสี่ยหุ้นทั่วไป ชอบแบบไหนก็ลองหยิบไปใช้ดูได้ครับ