วันจันทร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2556

Get rich slow!! แบบ Buffett ตอนที่ 1 by Pawawit


Get rich slow!! แบบ Buffett ...ตอนที่ 1 รวยช้าๆ..มันน่าสนตรงไหน


วันนี้ว่างๆ เลยเอาหนังสือ Buffet มาย่อยดู ...หนังสือ เล่มนี้ "How Buffett Does it" เผอิญ "ป๋ากึ้ง ซื้อมาฝากจากสิงค์โปร์ Trip" เพราะเฮียแก เห็นว่าผมชอบแนวทางของ Buffet แถมตลาดตอนนี้ เริ่มมีภาพขาขึ้นในภาพใหญ่ที่ชัดเจน ...เลยทำให้แนวทาง Buffett มันเริ่มชัดขึ้น ชัดขึ้น (แต่บางคน กลับมองว่า มืดลง มืดลง เพราะตลาดหุ้นบ้านเราเน่ามาตลอดสิบกว่าปีแล้ว แถมไม่ชอบเลขกลมซะด้วยซิ สังเกตได้ว่า รายย่อยปล่อยของออก ตอนนี้เทหุ้นกันเกือบหมด Port ไม่รู้จะเข้าหลัก Demand & Supply หรือเปล่า)

ขยายความกันเต็มๆ ว่า "ตอนนี้รายย่อย ขายทิ้งเอา ทิ้งเอา แต่ตลาดกลับขึ้นสวน ..รึว่า รายย่อยกำลังรู้อะไรที่ รายใหญ่ไม่รู้่ (ชักน่ากลัว ซะแล้วซิ) "ผมประกาศเลย ถ้ารายใหญ่คนไหน ได้มีโอกาสผ่านตา บทความผม จงไปซื้อเสื้อหนาวมาใส่ ..."หนาวแน่!!" ...เอ๋อ!! ว่าแต่ยังไม่รู้ว่าใครจะหนาวกันแน่ ฮิ ฮิ

จากประเด็นหนักๆ กลับมาประเด็นเบาๆ อย่าง Buffett กันดีกว่า (ในหนังสือเล่มนี้ อ่านค่อนข้างง่าย เพราะคนเขียนย่อย แนวคิดของ Buffett ออกมาเป็นข้อๆ ดังนี้)

1. เลือก "ความง่าย" การเล่นหุ้นจริงๆ ไม่มีอะไรซับซ้อน หุ้นขึ้นก็เพราะคนส่วนใหญ่อยากซื้อ ..หุ้นตกก็เพราะคนส่วนใหญ่อยากขาย --- "ไม่รู้จะคิดให้มันซับซ้อนทำไม ...ยิ่งซับซ้อนยิ่งมั่ว !!" คือ Buffett เชื่อว่า ธุรกิจที่น่าลงทุนคือ กิจการที่เข้าใจง่าย ไม่ใช่ซับซ้อน อย่างตัวอย่าง Enron หรือ Lehman Brother มี Complex Derivative , Complicate Warrant /Super Over Option!! เอามารวมกันออกมาเป็น "Bull Shit และก็ เจ๊งบ๊ง อย่างที่เห็น" เอาง่ายๆ เช่น แบบขายของชำ , ซื้อน้ำมันมาแล้วขายไป ..ดีกว่า อิ อิ (อย่าง Buffet จะเลือกธุรกิจที่เข้าใจง่ายเช่น Coke , Gillette , หนังสือพิมพ์, บริษัทประกัน -- ยิ่งยากยิ่งมั่ว โอกาสเสียเงินก็สูงตาม)

2. "ตัดสินใจด้วยตัวเอง" ทำไมน่ะหรือ ก็เพราะถ้าคุณ ตัดสินใจเอง "คุณต้องทำการบ้าน ..ต้องศึกษาธุรกิจนั้นๆอย่างแท้จริง" ซึ่งต่างกับ "แห่ซื้อตามคนอื่น ..มันง่าย คุณไม่ต้องศึกษาอะไร --เขาแห่อะไร เราแห่ตาม (ไทยมุงน่ะ)"--- พวกนี้สุดท้าย "เจ๊งเสมอ"

3. "ควบคุมอารมณ์ (ฟังดูเปี่ยว แต่ไม่ใช่อย่างนั้น!!) ตลาดหุ้น อย่างที่ทราบกันว่า ขับเคลื่อนด้วย Greed & Fear ดังนั้น ถ้าคุณสามารถควบคุมอารมณ์ได้ คุณจะเห็นในสิ่งที่คนอื่นไม่เห็น "ในขณะที่ทุกคนกำลังชุลมุน หากคุณหยุดอยู่นิ่งๆ คุณจะเห็นการเคลื่อนไหวทั้งหมด" ...อ้าว++แล้วถ้าไฟกำลังไหม้อยู่ล่ะ คุณก็ซวยอะดิ (เอ๋อ!!ว่าแล้ว แล้วพี่ ดัน"เสร่อ"ไปนั่งอยู่ในกองไฟทำไมล่ะครับ ..ก็เลือกหุ้นที่มันพื้นฐานดี กิจการไม่ซับซ้อน กำไรมั่นคง แค่นี้คุณก็ไม่อยู่ในกองไฟแล้ว --- จุดนี้ฟังดูง่าย แต่ทำยาก เพราะหุ้นที่ดี ในขณะที่คนส่วนใหญ่ ชุลมุน คุณจะรู้เลยว่า นั่นคือ โอกาสในการเข้าซื้อหุ้นดีในราคาถูก (ดังนั้น ถ้าหุ้นดี !! คุณจงวิ่งเข้าซื้อ ในขณะที่คนอื่น กำลังเทขาย) ..แต่ถ้าหุ้นเน่า "คุณซื้อไปคนเดียวละกัน ผมไม่เอาด้วยครับ ..อิ อิ อิ"

(คำเตือนของ Buffett อันนึงที่ Classic มากคือ "Don't buy a stock if you cannot it losing half its value" ..คือ ถ้าคุณทนเห็นหุ้นที่คุณซื้อ ราคาตกไปกว่าครึ่งไม่ได้ คุณอย่าซื้อหุ้น ...Buffett บอกว่า คุณไปซื้อก๋วยเตี๋ยวกินดีกว่า) ฮ่า ฮ่า ...ตัวอย่าง สุดยอดของ Buffett คือ หุ้น Washington post หลังจากที่เขาซื้อหุ้นนี้หนึ่งปี ราคาหุ้นตกไปต่ออีกครึ่งนึง (แต่ Buffett ไม่ได้ขายซักหุ้น) จากนั้น 30 ปีต่อมา หุ้นตัวนี้ ราคาเพิ่มขึ้นจากจุดที่เขาซื้อครั้งแรก 100 เท่า "นี่คือความไม่ธรรมดา.. Value Investor ต่างจากคนธรรมดาตรงความมั่นใจในตัวเองอย่างสุดโต่ง ดังนั้น การที่ Buffett มองว่า Washington post ราคาถูก ถ้าหุ้นมันตกลงไปกว่าจุดที่เขาซื้อ แสดงว่ามัน "ยิ่งโคตรถูก" ---ดังนั้น ถ้าเขาหาเงินมาได้เพิ่ม เขาก็ควรซื้อหุ้นนั้นเพิ่ม ไม่ใช่ขายตามคนอื่น

ประเด็นคือ สิ่งที่ Value Investor เมืองไทย ..ดร.นิเวศน์ ทำในปี 2008 คือหุ้นที่เขาซื้อ กลับราคาถูกลงไปอีก สิ่งที่ ดร.นิเวศน์ทำคือ เขาใช้ Margin (ซึ่งโดยปกติเขาจะไม่เคยใช้ margin เลย) แต่ด้วยความมั่นใจอย่างสุดโต่งว่า ช่วง Sub-prime หุ้นที่เขาถือ มันถูกลงไปอีก "เขาก็ใช้ Margin เต็มจำนวน ซื้อหุ้นเพิ่มเข้าไปอีก .."ในที่สุด (เขาก็รวย!!) เพราะ Port ของเขาจากที่มีหลักร้อยล้าน ก็กลายเป็นพันล้านหลังจากนั้นไม่นาน "นี่แหละ มั่นใจสุดโต่ง ..หุ้นมันถูก ถ้าถูกกว่าเดิม "มันโคตรถูก" ดังนั้น ซื้อ ซื้อ ซื้อ !!

4. Patient (แปลตรงๆว่า "อึด") Buffett ถามด้วยความยียวนว่า คุณเคยเห็น Day Trade หรือ นักเก็งกำไร คนไหนที่ ในระยะยาว ทำกำไรได้มากกว่า "ผมบ้าง" (ไม่มีเลย!!) จอร์ส โซรอสที่ว่าแน่ เก็งกำไรชนะเงินปอร์น ตีเงินบาทกระจาย แต่ไปตาย เกือบเจ๊งที่ รัสเซีย ...จนแล้วจนรอด ทรัพย์สินของ โซรอส ยังไม่ได้เสี้ยวของ Buffett ด้วยซ้ำ ...คำพูดตลกๆของ Buffett ก็คือ "ให้คิดเสียว่า หวังจากที่คุณซื้อหุ้น ตลาดหุ้นจะปิดทำการ อีกอย่างน้อยห้าปี ...(ขายไม่ได้) ฮ่า ฮ่า"

5. "ให้คิดว่า คุณซื้อธุรกิจ ไม่ใช่ ซื้อหุ้น" เมื่อคุณวิเคราะห์อย่างดีแล้ว ว่ากิจการที่คุณซื้อเป็นกิจการที่ดี มีโอกาสเติบโตในระยะยาว ..และคุณก็ซื้อมันในช่วงราคาถูก เช่น ช่วง Panic Sell หรือช่วงที่ตลาดแย่ๆ ...Buffett กล่าวว่า "ราคา" กับ "มูลค่าที่แท้จริง" ในภาวะปกติมันจะเชื่อมโยงกัน ..แต่ในช่วงที่เกิด Panic มันจะเกิดความสับสนระหว่าง "ราคา" กับ "มูลค่า" ซึ่งทำให้คนขายหุ้นออกมาในราคาถูก ทั้งๆที่หุ้นตัวนั้นมีมูลค่าที่แพง ---"และจุดนี้เองคือ จุดที่คุณควรเข้าซื้อหุ้น!!" ... แต่สิ่งที่ Buffett เตือนไว้อย่างนึงก็คือ "ธุรกิจที่คุณซื้อ จะต้องมี Value หรือมูลค่าที่แท้จริง" ยกตัวอย่าง หุ้น Dot Com ในสมัยที่ Boom มากๆ Buffett ก็ไม่เคยแตะหุ้นเหล่านั้นเลย เพราะ Buffett มองว่า มันไม่ได้มีรายได้ที่แท้จริง ดังนั้น มันไม่มีมูลค่า ..หลังจากนั้นปี 2000 Dot Com Crash "สิ่งที่ Buffett คิด ก็คือความจริง!!"

ธุรกิจที่ Buffett คือ ธุรกิจที่เข้าใจง่าย เขายกตัวอย่าง กิจการที่สิบปีที่แล้ว กับตอนนี้ ก็ยังคงทำธุรกิจเหมือนเดิม เช่น โค้ก ..นี่แหละง่าย ทำให้เราคาดเดาได้ง่ายว่า อนาคตของกิจการคืออะไร (ยิ่งง่าย ยิ่งดี)

ุ6. เลือกลงทุนในกิจการที่โดดเด่น ..."เช่น มีความได้เปรียบอย่างชัดเจน และมีโอกาสในการเติบโตในระยะยาว" ...Buffett ยกตัวอย่าง Petrochina บริษัทน้ำมันผูกขาดประเทศจีน ที่เขาซื้อไว้ตอนราคาต่ำๆ ซึ่งใหญ่พอๆกับ Exxon แต่มูลค่ากิจการกลับถูก (เอ๋!! เหมือน PTT จัง ..ฮ่า ฮ่า ฮ่า (ขำขำ)...ไม่ 400 ไม่ขาย "อย่าคิดมาก"

Get rich slow!! แบบ Buffett ตอนที่2 by Pawawit


Get rich slow!! แบบ Buffett ...ตอนที่ 2 เลือกหุ้นยิ่งเซ็ง ยิ่งกำไร


ข้อคิดเพิ่มเติมจาก Buffett (นักลงทุนผู้ยิ่งใหญ่ตลอดกาล) ดังนี้

"ซื้อหุ้น Low-Tech ไม่ใช่ High Tech" ไอเดียนี้เป็นสิ่งที่ Buffett แนะนำ เพราะเขาเชื่อว่าสิ่งประดิษฐ์ Innovation ต่างๆ มักจะไม่ได้ให้รางวัลแก่คนประดิษฐ์ หรือ คนลงทุน แม้ในความเป็นจริงมันได้สร้างประโยชน์อย่างมหาศาลแก่มวลมนุษย์ก็ตาม

Buffett ยกตัวอย่างประเด็นนี้เหมือนการเลือกภรรยา คุณจะเลือกเที่ยวกับคนฟู่ฟ่า(เพราะมันทำให้คุณตื่นเต้น หรือตื่นตูมในช่วงเวลาสั้นๆ ...One Night Stand ฮ่า ฮ่า)... แต่คนที่คุณเลือกเอามาเป็นภรรยากลับเป็นผู้หญิงอีกแบบนึง ...ซึ่งแน่นอน ธุรกิจ Innovation ที่ซับซ้อนสามารถสร้างความหวือหวาได้ในระยะสั้น แต่โอกาส "แป๊ก" มันก็สูงตาม

"อย่าลงทุนแบบหว่าน--- ให้ Focus" คือ การลงทุน คุณต้องรู้จักหุ้นตัวนั้นๆเป็นอย่างดี เพราะการหว่านลงไป เป็นการทำให้ผลตอบแทนน้อยลง อีกทั้งคุณยังไม่สามารถ Focus ในหุ้นตัวใดๆได้ดีเลย ...การลงทุนที่ดีในมุมของ Buffett คือ ให้คุณเลือกกิจการที่คุณชอบ แล้วก็รอ ...รอจนหุุ้นตัวนั้น มันราคาถูก (เพราะธุรกิจย่อมมีวิกฤตอยู่เสมอ..ดังนั้น คุณจึงมีโอกาสซื้อหุ้นถูกได้เสมอ เพียงแต่คุณต้องรู้จัก "รอ")

"ฝึกความนิ่ง" Buffett บอกว่า "No move is a good move if you already own the right stocks" คือ ถ้าคุณซื้อหุ้นที่ดี ในราคาที่ใช่ "ไม่มีเหตผลที่คุณจะต้องซื้อๆขายๆ ..สู้อยู่นิ่งๆรอให้ หุ้นตัวนั้น ราคาวิ่งขึ้นสะท้อนมูลค่าที่แท้จริง ย่อมได้กำไรมากกว่า ...ประเด็นที่ Buffet ชี้คือ Hidden cost คือราคาแฝงที่เรามองข้ามเช่น ค่า Broker Fee

"อย่าดูราคา" ฟังแล้ว งง Buffett เชื่อว่า การที่คุณอยู่หน้าจอดู Ticker ราคา มันทำให้อารมณ์คุณผันผวน และมันจะทำให้คุณมีโอกาสสูงในการจะซื้อหรือขาย(ด้วยอารมณ์) โดยไม่จำเป็น ... ข้อเตือนใจที่ Buffett กล่าวไว้คือ คุณควรศึกษาสนามแข่ง ไม่ใช่ดูแต่ Scorecard (โดนมาก!!)

"เวลาตลาด Crash ไม่ใช่เวลาสำหรับหนีตาย แต่เป็นเวลาที่คุณควรวิ่งเข้าซื้อต่างหาก"

Buffet มักชอบพูดถึง Mr.Market และก็ Margin of safety แต่หลักสำคัญก็คือ คุณต้องเข้าใจอารมณ์ของนักลงทุนในตลาด เพราะเมื่อใดที่คนในตลาดแสดงความโง่เขลา ..มันเป็นช่วงเวลาที่คุณควรทำตัวให้ฉลาดที่สุดนั่นเอง "ซื้อเวลาคนอื่น แย่งกันขาย" (Be Fearful When Others Are Greedy and Greedy When Others Are Fearful !!)

"คนส่วนมากมักชอบอ่าน ประวัติของผู้ที่สำเร็จ" --- แต่ Buffett ชอบศึกษาความผิดพลาดของคนอื่น เพื่อที่ตัวเองจะได้เตรียมป้องกันได้

ช่างเป็นแนวทางที่น่าเบื่อจริงๆ ---- แต่มันก็เป็นแนวทางที่สร้าง นักลงทุนที่รวยที่สุด และสำเร็จที่สุดตลอดกาล อย่าง Warren Buffett (เป็นวิธีการที่ดูง่าย แต่ทำยาก ...จึงมีน้อยคนที่สามารถทำได้ และนั่นเป็นเหตุผลที่ว่า คนน้อยคนเท่านั้นที่ประสบความสำเร็จอย่างขีดสุดในการลงทุน "ก็เพราะเขาสามารถทำเรื่องง่ายๆ ที่ไม่มีใครทนทำได้นั่นเอง" ....อึด!!

คุณล่ะ "อึดพอไหม"

สรุปความรู้จากการสัมมนาสอนเล่นหุ้นแบบ Super Exclusive


เป็นบทความที่เขียนสรุปจากคุณ earthcu  จาก thaivi ครับ ที่มา http://board.thaivi.org/viewtopic.php?f=1&t=51141

เป็นการสัมนาสัมมนา Super Exclusive ที่จัดขึ้นโดยคุณ hongvalue โดยมีวิทยากรหลัก คือ P’chinn, P’moomoo, K.hongvalue เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2555 ที่ผ่านมา จึงอยากจะสรุปความรู้ที่ได้จากงานครั้งนี้บางส่วน เผื่ออาจจะมีประโยชน์ต่อเพื่อนนักลงทุนท่านอื่นบ้างครับ (ผมขออนุญาตอธิบายตามความเข้าใจของผมครับ ถ้าผมเข้าใจในประเด็นที่วิทยากรสื่อสารคาดเคลื่อน หรือจดในส่วนเนื้อหาไม่ถูกต้อง รบกวนวิทยากรทั้ง 3 ท่านช่วยแนะนำด้วยครับ รวมไปถึงพี่ๆเพื่อนๆท่านอื่นที่ไปร่วมงานในวันดังกล่าวช่วยแนะนำผมด้วยครับ)

ส่วนที่ 1 P’chinn share ความรู้และประสบการณ์การลงทุน
1.สิ่ง ที่สำคัญอย่างนึงสำหรับผู้ที่อยากประสบความสำเร็จด้านการเงินคือ การเขียนเป้าหมายให้ชัดเจน แม้ว่าบางทีเป้าหมายเองนั้นอาจจะดูว่าเป็นไปไม่ได้ก็ตาม และพยายามเขียนแผนเพื่อให้สิ่งนั้นเป็นจริง โดยยกตัวอย่าง P’chinn เองก็จะมีการทำ file excel เพื่อ simulate ว่าในช่วงอายุเท่าไรจะมีมูลค่า port การลงทุนขนาดไหน รวมไปถึงเพื่อเปรียบเทียบว่าเทียบกับเป้าหมายเรายัง OK ไหม แล้วก็พยายามดูเป้าหมายบ่อยๆ เพื่อให้เกิดการซึมซับเข้าไปในจิตใจ ซึ่งจะทำให้เราเองพยายามคิดขวนขวายเพื่อจะให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายดัง กล่าว

2.คนที่จะประสบความสำเร็จนั้น แทบทุกคนจะเป็นคนที่พยายามลงทุนกับวิชาความรู้เป็นหลัก
เรา ควรที่จะเข้ามาตลาดหุ้นโดยที่ไม่ควรที่จะคำนึงถึงเรื่องเงินเป็นหลัก แต่เราควรที่จะนึกถึงความรู้เป็นหลักก่อน เพราะสุดท้ายแล้ว ถ้าความคิดมันใช่ เงินก็จะตามมาเอง

3.อธิบาย Case study เกี่ยวกับหุ้น PSL ในอดีต มีอยู่ช่วงเวลานึงนั้นเศรษฐกิจของจีนกำลังโต ทำให้เรือขาดแคลน จึงทำให้ค่าระวางเรือเองนั้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งช่วงนั้น p’chinn เองก็นำค่าระวางเรือนั้นมาทำ forecase earning เพื่อคำนวณหามูลค่าหุ้น (โดยช่วงที่ p’chinn ลงทุนช่วงนั้นมองว่า Dividend ที่คำนวณได้มากกว่า 10%) ซึ่งหลังจากนั้นราคาหุ้นก็เพิ่มขึ้นไปหลายเท่าตามกำไรของบริษัทที่เพิ่มขึ้น

4.การ ลงทุนนั้น เราไม่ควรที่จะเชื่อใครง่ายๆ การที่จะเชื่ออะไรสักอย่างเราควรต้องพิสูจน์ก่อน รวมไปถึงเราไม่ควรมี bias เกี่ยวกับหุ้นบางตัวเพราะเราอาจจะพลาดโอกาสที่จะได้กำไรจากหุ้นตัวนั้น

5.อธิบาย Case study เกี่ยวกับหุ้น JAS ในอดีต ช่วงนั้น JAS เอง Market cap ประมาณ 8,000 ล้านบาท แต่มีกระแสเงินสดประมาณ 2,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่า JAS เองค่อนข้างถูกมากในช่วงนั้น เปรียบเปรยเหมือนกับการที่เราซื้อตู้ ATM ในราคา 10,000 ล้านบาท แล้วตู้ ATM เองสามารถผลิตเงินสดให้แก่เราได้ปีละ 2000 ล้านบาท ซึ่งถ้าซื้อตู้ ATM นี้เพียงแค่ 5 ปี เราก็สามารถคืนทุนได้

6.ปัจจัย นึงที่ส่งผลให้ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นได้คือการที่บริษัทมีประเด็นหรือมีตัวเร่ง catalyst ยกตัวอย่างเช่นช่วงแรกๆ นั้น JAS ถือว่าเป็นหุ้นที่ถูกและดี เพียงแต่ยังไม่มีประเด็นอะไรที่จะเป็นตัวผลักดันราคาของหุ้น จนกระทั่งการที่บริษัทดึง 3 broadband มาจาก TT&T ได้รวมไปถึง การที่บริษัทเองนั้นมีกระแสเงินสดที่ดีมาก แต่ช่วงนั้นเองก็ยังไม่มีการปันผล เพราะบริษัทเองนั้นยังมีขาดทุนสะสมอยู่ จึงทำให้มีกระแสเรียกร้องจากผู้ถือหุ้นเพื่อให้บริษัทเองทำการลด par เพื่อล้างการขาดทุนสะสมจนกระทั่งทำให้บริษัทเองสามารถปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น รวมไปถึงประเด็นเรื่องการขาย TT&T ซึ่งเป็นตัวถ่วงผลการดำเนินงานของบริษัท (โดยส่วนตัวผมมองว่าสำหรับหัวข้อนี้เพื่อนๆ สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากหนังสือกุญแจ 5 ดอกของการลงทุนแบบเน้นคุณค่าในบทที่ 4 : การระบุถึงตัวเร่ง Catalyst และประสิทธิภาพของตัวเร่ง ครับ)

7.เวลามองอะไร ควรจะมองไปให้เห็นภาพที่เป็นจริงของบริษัท อย่าไปติดกับดักในภาพหลอกของงบการเงิน เช่น JAS การที่บริษัทขาดทุนนั้นเกิดจากการที่ Write off หุ้น TT&T ทำให้กำไรน้อย ซึ่งถ้าปีต่อมาไม่เกิดเหตุการณ์นี้ก็จะทำให้กำไรของบริษัทนั้นโตขึ้น ทั้งๆที่จริงๆแล้วกำไรของบริษัทนั้นดีอยู่แล้ว
หรืออย่างกรณีการมองหนี้ ของบริษัท JAS ในอดีตนั้นเราควรจะมองให้เห็นความจริงว่าหนี้ก้อนไหนที่บริษัทแม่ต้องรับผิด ชอบ หนี้ก่อนไหนที่บริษัทแม่ไม่ต้องรับผิดชอบ

8.Case Study หุ้น DTAC ช่วงต้นปี 2554 P’chinn ทำการหาข้อมูลบริษัทที่ 1.)Dividend yield ดีๆ 2.)เป็นบริษัทที่สามารถทำความเข้าใจได้ง่าย ซึ่งก็เจออยู่ 2 อุตสาหกรรม คือ ไฟฟ้า และสื่อสาร หลังจากทำการศึกษาก็เลือก DTAC เนื่องจากมองไปที่กระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัท รวมไปถึงการมองดูว่าคนรอบข้างเริ่มหันมาใช้ smart phone กันมากขึ้น ตอนนั้น ARPU (Average revenue per user) อยู่ที่ 200 กว่าบาท ซึ่งมีโอกาสปรับตัวได้เพิ่มขึ้นจากกระแสการเล่น internet (ปันผลช่วงนั้นประมาณ 7%) หลังจากทำ forecast แล้วมองว่ามีโอกาสที่ DTAC จะปันผลถึง 10% ณ ราคาตอนนั้น
ส่วนสาเหตุที่ไม่เลือก ADVANC ในช่วงนั้นเนื่องจากมองว่า ADVANC มีการรีดเงินสดโดยการปันผลออกไปเยอะแล้วในขณะที่ DTAC เองมีกำไรสะสมและเงินสดอยู่ในบริษัทเป็นจำนวนมากซึ่งไม่สมเหตุสมผลเท่าไร จึงคาดเดาว่าอาจจะมีปันผลพิเศษ จากกระแสเงินสดที่เหลือมากกว่าจะทำ 3G

9.สิ่ง หนึ่งที่นักลงทุนควรมองให้ละเอียดก่อนการลงทุน คือการพิจารณาเรื่องว่าเราจะปลอดภัยไหมจากการลงทุนนั้นๆโดยมอง Downside risk ของบริษัทให้ดีก่อนการลงทุน นอกจากนี้แล้วโดยปกติ P’chinn เองจะลงทุนในโอกาสที่มั่นใจ 100% (หวดทุกวงสวิง ที่มั่นใจเท่านั้น) หากโอกาสนั้นเป็นเพียงแค่ 50-50 ก็จะไม่พิจารณาลงทุน รวมไปถึงถ้าเราไม่เข้าใจในตัวกิจการที่มากพอ ก็จะไม่ลงทุนในบริษัทนั้นๆ

10.ประเด็น นึงที่ P’chinn เองมักจะใช้ข้อมูลนี้ในการทำ forecast ยอดขายของบริษัท คือการใช้ข้อมูล Demographic โครงสร้างประชากร เพื่อนำข้อมูลนี้มาใช้ในการคำนวณว่าต่อไปผู้บริโภคกลุ่มไหน จะมีจำนวนเพิ่มขึ้น (เช่นประชากรกลุ่ม Generation X,Y รวมไปถึงมองว่าประชากรกลุ่มดังกล่าวเองมีความสนใจในอะไรบ้าง เช่น Gen Y เองอาจจะสนใจใน Technology มากกว่าประชากรที่มีอายุสูงๆ)

11.สิ่ง หนึ่งที่นักลงทุนควรที่จะต้องระวัง คือการที่บางคนนั้นใช้วิธีมองว่าที่ผ่านมากำไรของบริษัทโตขึ้นกี่ % แล้วคิดว่าในปีต่อไปบริษัทเองจะกำไรโตเท่านั้น ซึ่งนักลงทุนเองนั้นควรที่จะทำความเข้าใจในที่มากำไรของบริษัทนั้นๆก่อน ถึงจะสามารถคาดการณ์การเติบโตของกำไรของบริษัทได้ใกล้เคียงขึ้น

12.การ จะเป็นนักลงทุนที่ดีขึ้นนั้น เราควรที่จะฝึกคิดวิเคราะห์จากสิ่งต่างๆที่อยู่รอบๆตัวเรา เช่นการอ่านข่าวนั้นเราควรที่จะคิดตามว่าถ้าเกิดเหตุการณ์นั้นๆจะส่งผลให้ เกิดอะไรขึ้นบ้าง ซึ่งสุดท้ายแล้วบางกรณีอาจเป็นเหตุการณ์ที่จะส่งผลทำให้กำไรของบริษัทในตลาด หลักทรัพย์สามารถเติบโตได้

13.พึงระวังบริษัทที่มีลูกค้าเป็นลูกค้า รายใหญ่ เพราะยิ่งธุรกิจขยายตัวอาจจำเป็นที่ต้องให้ supplier credit เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงวันนึงอาจจะทำให้เกิดเหตุการณ์บริษัทที่เป็นลูกค้านั้นเบี้ยวหนี้ บริษัทที่เราไปลงทุนทำให้เกิดความเสียหายหนักได้ ซึ่งจะค่อนข้างแตกต่างกับบริษัทที่ลูกค้าเป็นผู้บริโภครายย่อย เช่นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพราะต่อให้ลูกค้าบางคนไม่ยอมจ่ายค่าบริการ กำไรของบริษัทเองก็แทบไม่ได้กระทบกระเทือน

14.สำหรับผู้ที่อยากประสบ ความสำเร็จทางด้านการเงินนั้น บางครั้งเราอาจจำเป็นต้องเอาความสุขของเราไว้ทีหลัง (อาจจะเป็นช่วงแรกๆของการลงทุน) โดยพยายามที่จะควบคุมรายจ่ายของตัวเรา เพื่อให้เหลือกระแสเงินสดที่จะสามารถนำมาลงทุนได้

15.นักลงทุนเองไม่ ควรที่จะโลภ เพราะการที่เราไม่โลภก็จะทำให้เราลงทุนด้วยความไม่รีบร้อน ซึ่งก็จะส่งผลทำให้เราเองก็จะลงทุนด้วยความไม่เสี่ยง

16.อย่าเชื่อว่าใครจะพูดอะไร คนที่เก่งกว่าเรานั้นมองยังไง
อย่าเชื่อว่าหุ้นตัวไหนดี หุ้นตัวไหนปั่น
ถ้าสิ่งที่คนอื่นเชื่อนั้นไม่จริง มันคือโอกาสของคุณ

17.ความ เสี่ยงคือ การที่เราไม่รู้ เพราะฉะนั้นวิธีแก้ในประเด็นนี้คือการที่ทำให้มันรู้ โดยศึกษารายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับบริษัทเราให้มากที่สุด เพื่อปิดความเสี่ยง

18.ผู้บริหารและเจ้าของ เป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างนึงในการเลือกหุ้น โดยบางครั้ง ถ้าเรารู้ว่าสัดส่วนการถือหุ้นของผู้บริหารและเจ้าของเป็นยังไง ก็อาจจะทำให้เรารู้แรงจูงใจของพวกเขาในในบริษัท โดยถ้าผู้บริหารถือหุ้นในสัดส่วนที่เยอะก็มีโอกาสที่จะมีแรงจูงใจสูง

19.คนที่จะลงทุนโดยใช้ margin นั้น สิ่งที่สำคัญมากคือคุณควรที่จะมี Exit Plan ไม่งั้นคุณอาจจะพังพินาศเพราะการใช้ margin

20.พึง ระวังการใช้กำไรสุทธิเพียง อย่างเดียวในการวิเคราะห์หุ้น เพราะบางบริษัทอาจจะมีกำไรสุทธิเป็นบวก แต่ขาดกระแสเงินสดในการดำเนินงานทำให้บริษัทอาจจะล้มละลายได้

21.หนังสือ เล่มนึงที่ P’chinn อ่านแล้วมีความประทับใจนั้นคือหนังสือชื่อ good luck เป็นหนังสือที่คุณอ่านแล้วอาจจะได้เรียนรู้วิธีการสร้างโชคดีด้วยตัวคุณเอง (หนังสือเล่มเล็กๆสีฟ้าๆ เป็นหนึ่งในหนังสือที่ผมชื่นชอบเช่นเดียวกันครับ)

22. ถ้าคุณอยากจะหาหุ้นตีแตกนั้น เราควรที่จะทำอะไรที่ละเอียดมากขึ้นไปอีก ซึ่งจะเป็นการปิดความเสี่ยงต่างๆ ทำให้เราสามารถที่จะถือหุ้นอย่างสบายใจ เช่นศึกษาผู้ถือหุ้นใหญ่, พรบ, กฎหมายต่างๆที่เกี่ยวข้อง (และเราควรที่จะต้องเขียนเป้าหมายว่าเราหวังอะไรจากบริษัทนั้น เช่น Dividend เองจะเพิ่มขึ้นเท่าไร แล้วเอาเป้าหมายนั้นมาดูในเวลาที่มีความผันผวนของราคาหุ้นของบริษัทสูงๆ เพื่อป้องกันการขายหุ้นนั้นเพราะความตกใจกลัว)

23.สำหรับการทำ valuation ของหุ้นนั้น ถ้าเป็นไปได้เราควรที่จะลอง simulate เหตุการณ์หลายๆกรณี เช่นการ valuation หุ้นบริษัทสื่อสารนั้น ถ้าประมูล 3G ปี 2555,2556,2557 จะส่งผลยังไง หรือถ้าไม่มีการประมูล 3G เกิดขึ้น มูลค่าหุ้นของบริษัทเองนั้นยังคุ้มที่จะลงทุนอยู่รึไม่

24.สำหรับ step การเลือกหุ้นมีดังนี้
หา Idea การลงทุน เริ่มหาข้อมูลบริษัท  ทำ forecast งบการเงิน จากข้อมูล 56-1 หรือการสอบถาม IR  ทำความเข้าใจบริษัท เพื่อปิดความเสี่ยงทั้งหมด หาคนตรวจสอบ idea การลงทุนคุณ ทำการตรวจแก้ model การลงทุนจากข้อมูลใหม่ที่ได้รับ  เลือกลงทุนในบริษัท


สำหรับใน ส่วนที่ 2 ของ P’moomoo (P’หมง) share ประสบการณ์เกี่ยวกับการใช้ Margin รวมไปถึงการกู้เงินเพื่อมาซื้อหุ้นในอดีตนั้น ผมขออนุญาตนำกระทู้ที่ P’moomoo เคย post มา share เพื่อนๆ อีกรอบครับ น่าจะอธิบายได้เห็นภาพชัดเจนกว่าครับ (ขอบพระคุณ P’moomoo เป็นอย่างสูงครับ)

“ของ ผมเริ่มเข้าตลาดก่อน subprime 1 ปีครับ เข้ามาเปิดดูในเวป thaivi ครับ ศึกษาข้อมูลย้อนหลังได้อ่านบทความและอดีตเห็น 3 ทหารเสือชุดแรกขึ้นเป็นหลายเท่าครับ ต่อมาหลังจากสามทหารเสือชุดแรก ผมก็มาได้อ่านเจอสามทหารเสือชุดที่สองครับ ผมเลือก ptl ถ้าจำไม่ผิดผมมาเริ่มซื้อตอนเริ่มแพงแล้วครับ ราคาประมาณ 6 บาทและเริ่มเก็บเพิ่มไปเรื่อย ๆ ครับ เก็บไปจนถึง 7 บาทกว่าครับ เก็บจนเงินหมด ไม่ซื้อตัวอื่นเลยครับ (นิสัยเสียมาก ๆ ครับ) ตอนนั้นทุกคนในเวปมองกันว่าน่าจะได้เห็นสองหลักครับ ทุกอย่างดูดีไปหมดครับ ทำไงดีตังค์หมดก็เปิดมาร์จิ้นเลยสิครับ ให้ MM 50% ด้วยครับ ยิ้มเลยครับ อัดเต็มพอร์ตซื้อไปจนถึง 7.5 บาทครับก่อนประกาศผลประกอบการ 1 วันครับ ประกาศเสร็จผมยังไม่รู้เลยครับ ว่ามันแย่ลงเห็นว่ากำไรน้อยลงนิดหน่อยไตรมาสหน้าจะดีขึ้น เปิดเช้ามาที่ 7.2 ครับหลังจากนั้นก็ลงมาตลอดครับ ไม่เป็นไรเราไม่ขาย ธุรกิจยังโอเค ไม่เป็นไรถือได้ (ลืมบอกครับว่าตอนนั้นผมเป็นบ้าขนาดเอาวงเงิน OD มาซื้อด้วยครับ เพื่อน ๆ ที่เคยคุยด้วยก็เตือนนะครับว่าถ้าเกิดอะไรขึ้นจะทำยังไง ผมก็หลงตัวเองบอกว่ายังไงก็ไม่ต่ำกว่า 5.8 อยู่แล้ว เพราะถ้าต่ำกว่าจะโดน Call ครับ ถือได้ปีเศษเกิด subprime หุ้นลงอย่างรวดเร็วภายใน 1 เดือน โดน call แน่ยังมั่นใจอีก เอาที่ดินที่มีไปจำนองแบงค์แบบเร็วมาซื้อหุ้นเพิ่มครับ เพราะเห็นว่าแค่ 5 บาทกว่าถูกจะแย่ซื้อเสร็จยังโอนเข้าไปค้ำประกันได้ 2/3 ของเงินสดอีกแนะ เรื่องอะไรหุ้นถูกขนาดนี้จะเอาไปใช้หนี้ สู้ดีซื้อหู้นดีกว่า คิดได้ดังนั้นก็ซื้อตลอดทางครับ ยิ่งซื้อยิ่งลง ตังค์หมดเอาตึกที่ร้านไปจำอีก ทำเหมือนเดิมครับเพราะไม่คิดว่าขนาด 4 บาทกว่าจะถูกขนาดนี้ ใครขายมาเนี่ยโง่จัง เราฉลาดจัง เป็นไงหล่ะครับ เหลือสามบาทกว่า เอารถสามคันไปจำแบบไฟแนนซ์นอกครับ ดอกแพงกว่าแบบในระบบเท่าตัวแต่ได้เงินภายในวัน แต่ต้องจอดรถกับเค้าไว้เลยครับ ลืมบอกไปผมเปิดร้านขายคอมตอนนั้นก็ดึงเงินจากหน้าร้านซื้อหุ้นเพิ่มทุกวัน เพื่อที่จะโอนหุ้นเข้าครับ สิ่งที่ได้ประสบการณ์คือยิ่งโอนหุ้นเข้าค้ำ เวลาหุ้นยิ่งลงตัวเงินที่โดน Call ยิ่งต้องจ่ายเพิ่มขึ้นครับ เพราะหุ้นที่โอนเข้าไปค้ำมูลค่าลดลงครับ ตอนนั้นผมเจรจาหยุดจ่ายเจ้าหนี้การค้าทุกคนเลยครับ เป็นเวลาสองเดือน ยอมจ่ายดอกเบี้ยแต่ไม่หนี้นะครับ ผมโทรหาเจ้าหนี้ทุกคนแต่บอกไม่ได้ว่าเสียหุ้นครับ จนกระทั่งลงไปเหลือ 2.88 ครับราคานี้จำได้ดีเพราะผมจำนำและขายทุกอย่างเท่าที่ขายได้หมดแล้ว ผมทำได้สองทางครับ จะไล่ราคาหุ้นกลับเพื่อให้ไม่ต้องโดน force sell หรือจะขาย ผมตัดสินใจไล่ราคากลับครับ เพราะวอลุ่มบางครับ ถ้าผมขายราคาลงต่อก็โดน force sell อยู่ดีครับ ปัญหาอยู่ตรงนี้ครับ สมมติเริ่มต้นผมมี 100 บาทกู้มาร์จิ้น 100 บาท วันที่ราคาเหลือ 2.88 เงินผมเหลือแค่ 8 บาทครับ เพราะผมซื้อหุ้นแล้วโอนเข้าค้ำแทนที่จะใช้หนี้ตลอดทางขาลง ผมตัดสินใจผิดมหันต์ครับ เพราะไม่คิดว่าหุ้นจะลงได้ลึกขนาดนี้ บริษัทก็ดี ไม่ได้แย่ลง แต่ลืมนึกว่าตอนนั้นทุกคนต้องขาย บ้างก็โดน force ถ้าเงินใส่ไม่ได้ วันนั้นผมเลยตัดสินใจไล่ราคากลับครับ วัดดวงครั้งสุดท้าย จนราคาไปปิดประมาณ 3 บาทนิด ๆ ผมรอด force ครับ แต่ผมมีเวลา 5 วันในการหาเงินมาใส่ เพราะโดน call ครับ และมีเวลา 3 วันที่จะมาจ่ายค่าหุ้นที่ไล่ราคาครับ เพื่อน ๆ คงงงว่าทำไมผมไม่ตัดสินใจขายเพราะถ้าขาย ณ ตอนนั้น ราคาลดผมก็โดน force อยู่ดีครับ ยิ่งขายยิ่งแย่ดู่แล้วถ้าตอนนั้นหุ้นหมดแต่หนี้มาร์จิ้นหมดผมก็ยอมครับ แต่ดูแล้วถ้าโดน force หมดผมคงติดลบอีกบาน ต้องหาเงินใช้หนี้อีกทั้งชีวิตครับ สรุปว่าหาเงินจ่ายตลอด 2 เดือนครับ หยุดจ่ายเจ้าหนี้ จำนำและขายทุกอย่าง ขนาดทองหมั้นแม่ผมรู้ยังเอาทองของแฟนไปไว้ที่แบงค์กลัวผมเอาไปขายเลยครับ ผมโชคดีที่แฟนไม่ว่าอะไรซักคำ ไม่ด่าและช่วยเป็นกำลังใจให้ครับ หลังจากไล่กลับมาสามบาทเศษวันนั้น หุ้นก็ค่อย ๆ ปรับขึ้นวันละนิดครับ ผ่านไป 5 วันราคาก็ขึ้นมาเกินจาก call ครับ
ประสบการณ์ครั้งนี้เป็นบท เรียนสอนให้รู้ว่าอย่ามั่นใจอะไรมากเกินไป อย่าโลภ อย่าลงทุนเกินตัว ถ้าผมกินเงินเดือนป่านนี้คงหมดตัวแล้วครับ ดีแต่ว่าค้าขายยังดึงเงินหน้าร้านมาจ่ายได้ สมมติว่าถ้าหุ้นฟื้นช้ากว่านี้อีกแค่สองวันหรือมีคนโดน force ลงมาอีกตอนนี้ผมคงเป็นคนล้มละลายแล้วครับ ขอเป็นประสบการณ์ให้คนที่ได้กำไร ณ ตอนนี้ระวังเรื่องมาร์จิ้นด้วยนะครับ อันตรายถึงชีวิตครับ และอย่าใส่ไข่ในตระกร้าใบเดียวครับ เพราะเวลาหุ้นลงสภาพคล่องหายขายไม่ได้ อยากขายก็ขายไม่ได้ครับ ตอนซื้อซื้อเยอะก็ต้องซื้อแพงอีกไม่มีอะไรดีเลยครับ ผมถือว่าผมยังโชคดีนะครับ แต่ผมไม่รู้ว่ารอบหน้าจะโชคดีแบบนี้อีกหรือไม่ หลังจากรอบนี้ผมตั้งใจจะเปลี่ยนทั้งเรื่องมาร์จิ้น เรื่องซื้อหุ้นตัวเดียว เรื่องมั่นใจในตัวเอง แล้วครับ”

โดยสรุปของ p’moomoo คือ
1.)ไม่ต้องรีบรวย ถ้ายังไม่เคยเจอวิกฤติในชีวิต

2.)การใช้ margin นั้นจะทำให้คุณจนลงได้อย่างรวดเร็ว ถ้าคุณเลือกหุ้นผิดตัว

3.)การ ใช้ margin แล้วคุณลงทุนหุ้นเพียงแค่ตัวเดียวนั้น ถ้าหุ้นเองมีปัญหาเรื่องสภาพคล่องแล้วเกิดวิกฤตินั้นจะทำให้น่ากลัวมาก รวมไปถึงคุณเองอาจจะไม่สามารถที่จะ switch port ได้

4.)การที่ราคาหุ้นยิ่งลง แล้วเราจะยิ่งขายนั้น เป็นเรื่องที่ยากในการทำใจของนักลงทุนทั่วไป


สำหรับส่วนที่ 3 นั้น K.hongvalue share ความรู้มีรายละเอียดบางส่วนดังนี้ครับ

1.ข้อควรที่จะต้องสนใจเป็นพิเศษเกี่ยวกับการใช้ margin
-Business ความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจควรจะต้องต่ำ
-Financial Risk ความเสี่ยงทางด้านการเงินของบริษัทเองควรจะต้องต่ำ เช่นเดียวกัน
-Market Risk ซึ่งนักลงทุนหลายๆคนที่ไม่เคยผ่านช่วงวิกฤติเศรษฐกิจเองอาจจะไม่ได้สนใจใน ประเด็นนี้ ซึ่งจริงๆแล้วการที่มีความไม่แน่นอนตรงนี้นั้นอาจจะทำให้หลายๆท่านที่ไม่ได้ คำนึงถึงจุดนี้อาจจะล้มละลายได้ครับ

2.K.hongvalue อธิบายเกี่ยวกับแง่คิดในการใช้ชีวิตว่า เรานั้นควรจะมองหาแง่ดีๆของคนที่ประสบความสำเร็จเพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับตัว เราเอง เพื่อที่จะทำให้เราได้พัฒนาให้ดียิ่งขึ้น

3.Criteria ที่สำคัญสำหรับการเลือกหุ้น Super Stock มีดังนี้ครับ
-Market Share
-Market Growth
-Profit Margin
โดย มองว่าบริษัทเองควรอยู่ในอุตสาหกรรมที่เติบโต และควรที่จะต้องมี net margin ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยยกตัวอย่าง LH (ในอดีต) ใช้นโยบายสร้างบ้านเสร็จก่อนขาย ในช่วงที่หลังเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง ซึ่งช่วงนั้นเองผู้บริโภคเป็นจำนวนมากกลัวว่าจะซื้อบ้านแล้วจะไม่ได้รับบ้าน เนื่องจาก ช่วงนั้นบริษัทอสังหาริมทรัพย์เองก็ล้มละลายเป็นจำนวนมาก ซึ่งหลังจากที่ LH ใช้นโยบายดังกล่าวก็ส่งผลดีต่อบริษัทเป็นอย่างมาก ทำให้มีลูกค้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้ market share เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รวมไปถึง market growth ขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งในส่วนของ gross profit margin และ net profit margin ก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกัน ทำให้กำไรสุทธิของบริษัทสามารถโตได้อย่างต่อเนื่องหลายปีในช่วงเวลาดังกล่าว
ตัวอย่าง MINT (ในอดีต)
ใน อดีต MINT เองมีธุรกิจอาหารที่เติบโตสูง รวมไปถึงยอดนักท่องเที่ยวที่เติบโตสูงทำให้อีกธุรกิจหลักนึงของบริษัท MINT ซึ่งก็คือ ธุรกิจโรงแรมเองนั้นมี occupancy rate ประมาณ 80% ซึ่งถือว่าสูง รวมไปถึงช่วงนั้น MINT เองก็เริ่มมีการพัฒนา brand อนันตรา เพื่อรับจ้างบริหารธุรกิจโรงแรม ซึ่งเป็นการใช้ Asset ที่ไม่มีตัวตนเพื่อใช้ในการหารายได้ของบริษัทอีกทางนึง ซึ่งจากหลายปัจจัยดังกล่าวก็ส่งผลต่อการเติบโตของกำไรของบริษัท ซึ่งสุดท้ายก็ส่งผลทำให้ราคาหุ้นของบริษัทเพิ่มขึ้นไปหลายเท่า
CPALL เองก็โตจากการกิน market share ของโชวห่วย และการขยายสาขาของ 7-11 รวมไปถึงการที่ Profit margin ของบริษัทเองก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆจากการที่บริษัทมุ่งเน้นไปยังธุรกิจการขาย สินค้าประเภทอาหารทำให้กำไรของบริษัทก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆเช่นเดียวกัน

4.)การ ที่จะซื้อหุ้น super stock นั้นสิ่งนึงที่สำคัญก็คือการที่ซื้อหุ้นของบริษัทในช่วงที่ราคาไม่แพงจนเกิน ไป เพราะถ้าไปซื้อในช่วงที่ราคาสูงจนเกินไปนั้นก็อาจทำให้เราขาดทุนได้ ถ้ากำไรของบริษัทเองไม่ได้เพิ่มตามระดับความคาดหวังของนักลงทุน

สุด ท้ายนี้ขอขอบคุณ P’chinn สำหรับการให้ความรู้ที่มากมายกับเพื่อนๆนักลงทุน ขอขอบคุณ K.hongvalue สำหรับความเสียสละเพื่อที่จะจัดสัมมนาที่มีเนื้อหาดีๆครับ รวมไปถึงความรู้ที่มอบให้เพื่อนๆ ขอขอบคุณ p’moomoo สำหรับประสบการณ์อันล้ำค่าที่นำมา share ให้น้องๆทุกคนครับ และขอขอบคุณ web thaivi ด้วยครับที่ทำให้ผมได้เรียนรู้ความรู้มากมายเกี่ยวกับการลงทุนครับ

วันอังคารที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2556

ส่วนเกินมูลค่า


โดยปกติบริษัทที่เข้ามาระดมทุนในตลาดจะเป็นกิจการที่ต้องใช้เงินลงทุนเยอะๆ บางที่ก็กู้จนเต็มเพดานธนาคารไม่ให้กู้เพิ่ม การระดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์ ถือเป็นทางเลือกการระดมทุนของบริษัทแทนที่จะเสี่ยงอยู่คนเดียวก็หาพรรคพวกมาร่วมแชร์ความเสี่ยงด้วย
รู้จักส่วนเกินมูลค่าหุ้น
เวลาระดมทุน
  • ทุนจะทะเบียน ก็คือ ราคาพาร์ x จำนวนหุ้น
  • ส่วนเกินมูลค่าหุ้น ก็คือเงินที่นักลงทุนจ่ายเกินกว่าราคาพาร์
วิธีบันทึกบัญชีถ้ามีส่วนเกินมูลค่าหุ้น โดยอาจารย์ อ.มานพ สีเหลือง
ถ้าบริษัทนำเงินไปลงทุนเกิดผลประโยชน์งอกเงยเป็นกำไรก็จะมาทบเป็นกำไรสะสมพอกพูนความมั่งคั่งของผู้ถือหุ้น ส่วนของเจ้าของก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ทำไมนักลงทุนจึงยอมจ่ายเงินซื้อหุ้นสูงกว่าราคาพาร์
สมมติฐาน
  • สมมตินักลงทุน A มีผลตอบแทนที่คาดหวัง = 3%
  • นาย B เป็เจ้าของบริษัทแห่งหนึ่งมีทุนทะเบียน 1 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 100,000 หุ้น หุ้นละ 10 บาท (ราคาพาร์)
  • บริษัทแห่งนี้มีเงินปันผลคงที่ปีละ 90,000 บาท
จากแบบจำลองคิดลดเงินปันผล นักลงทุน A จะยอมซื้อหุ้นจากนาย B สูงสุด = 90,000/0.03 = 3,000,000 บาท หรือหุ้นละ 30 บาท เกิดส่วนล้ำมูลค่าหุ้นทันทีหุ้นละ 20 บาท (30 - 10) เพราะที่ราคานี้นักลงทุน A จะได้ผลตอบแทนจากการลงทุนเท่ากับผลตอบแทนที่คาดหวัง 3% พอดี ถ้าจ่ายมากกว่านี้แม้แต่บาทเดียวก็จะไม่ลงทุน
นาย B เห็นดังนี้ก็จะรู้ว่าสามารถเรียกระดมทุนได้ในราคาหุ้นตั้งแต่ราคาพาร์ 10 บาท จนสูงสุดที่ 30 บาท ก็ยังมีคนใส่เงินเพิ่ม
ส่วนเกินมูลค่าหุ้นมีปรโยชน์อย่างไร
  • ถ้านาย B ต้องการระดมทุน 500,000 บาท เอาหุ้นขายนักลงทุน A ที่ราคาพาร์ 10 บาทจำนวน 50,000 หุ้น สัดส่วนการถือหุ้นของนาย B จะเหลือเพียง 100,000หุ้น/150,000หุ้น = 0.66 หรือคิดเป็น 66%
  • จากเมื่อกี้เรารู้ว่านักลงทุน A ยอมจ่ายเงินซื้อบริษัทนี้ที่ราคาสูงสุด 30 บาทต่อหุ้น บริษัท A ก็ลดราคามาหน่อยเป็น 20 บาทต่อหุ้น จำนวน 25,000 หุ้น ได้เงินเข้าบริษัท 500,000 บาทเหมือนกันแต่ที่ราคานี้สัดส่วนการถือหุ้นของนาย B จะเหลือ 100,000หุ้น/125,000หุ้น = 0.80 หรือคิดเป็น 80%
จะเห็นว่าการระดมทุนที่ราคาที่มีส่วนเกินมูลค่าหุ้นจะทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของนักลงทุนเดิมลดลงไม่มาก นักลงทุนใหม่ที่เอาเงินมาลงก็ยัง happy เพราะได้ผลตอบแทนที่มากกว่าผลตอบแทนที่คาดหว้ง
นอกจากนั้นถ้าวันไหนบริษัทเกิดขาดทุนสะสมจ่ายปันผลไม่ได้ ก็สามารถนำส่วนเกินมูลค่าหุ้นมาล้างขาดทุนสะสมได้ กลับมาจ่ายเงินปันผลได้เหมือนเดิม

Credit http://value.exteen.com

วันจันทร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2556

ทฤษฎีการแกะรอย บันทึกจาก ฟิลลิป ฟิชเชอร์ ถึง วอร์เรน บัฟเฟตต์


“อันความรู้รู้กระจ่างแต่อย่างเดียวแต่ให้เชี่ยวชาญเถิดจะเกิดผล” ผมขอเริ่มต้นบทความผมด้วยสุภาษิตไทยบทนี้ กับภาวะของตลาดหุ้นไทยในปัจจุบัน ภาวะตลาดหุ้นไทยในกระแสวีไอ นักลงทุนรุ่นใหม่มาแรงครับ คนเล่นหุ้นหน้าใหม่เมื่อเริ่มเล่นหุ้นก็อยากเป็นวีไอ ไว ไว เสือเฒ่าเก๋าเกมส์ก็สวมวิญญาณวีไอ กันก็มี นักเก็งกำไรปล่อยข่าวก็แอบใส่หน้ากากวีไอ ก็ไม่ใช่น้อย เม่าน้อยกับคำถามว่า พี่ NB ครับ เราควรใช้ พีบี พีอี พีเอสอาร์ พีโน่น พีนี่ พีนั่น มาวิเคราะห์ดีมั๊ยครับ? จะใช้ตัวอะไรก่อน อะไรมากดี น้อยดีมั๊ย จะใช้สัมพันธ์กันอย่างไร จะยังไงดีครับพี่?
 พี่ครับ พี่ครับ! สัปดาห์ที่แล้วผมวิเคราะห์ได้หุ้นมาตัวนึง พีอี ต่ำผมเลยซื้อไว้ใส่พอร์ต สัปดาห์นี้ได้หุ้นใหม่มาอีกตัวครับพี่ แหมตัวนี้พีอีต่ำกว่าเดิมอีก ผมเลยรีบขายตัวเดิมเลยครับพี่มาใส่ตัวใหม่แบบนี้ผมเป็นวีไอแล้วใช่มั๊ยครับพี่ แล้ว พีบี, พีอีจี แล้วเอ่อ พีอาร์อาร์ พีเอสอาร์ แล้วต้องดูประกอบกันยังไงครับพี่ แหม ผมใจร้อนอยากเป็นวีไอเร็ว ๆ อยากรวยเร็ว ๆ
 เอ่อ น้องครับใจเย็น ทั้งนี้เมื่อประเทศของเรามีเศรษฐกิจดีขึ้น ตลาดหุ้นมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีคนรุ่นใหม่เข้าสู่ตลาดหุ้นมากขึ้น นักลงทุนแนววีไอ ก็มากขึ้น ทฤษฎีวีไอ โดนตีความกันไปหลากหลาย ทั้งเชิงปริมาณ เชิงคุณภาพ แล้วนักเก็งกำไรหายไปไหนครับ? นักเก็งกำไรหายไปจากตลาดหุ้นแล้วหรือ ไม่เชิงหรอกครับ นักเล่นม้าเมื่อสนามม้าเปิดพวกเค้าก็พร้อมจะมาเจอกัน นักเล่นหุ้นก็เช่นเดียวกัน วอร์เรน บัฟเฟตต์ เคยเปรียบเปรยไว้ว่า
 นักแทงม้านั้นแยกออกเป็นสองกลุ่ม ความเร็วและสายพันธ์ นักเล่นที่พนันบนความเร็วต้องการตัวเลขในการวิเคราะห์ เค้าจะจดจ่อกับทุกอนูของตัวเลขเพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายความเร็วสูงสุดที่ม้า ตัวนั้นจะทำได้ในการแข่งขัน บนเงื่อนไขของพื้นสนาม น้ำหนักที่ม้าต้องแบก ฯลฯ ส่วนนักพนันที่เล่นบนสายพันธ์ม้านั้นแทบจะไม่สนใจตัวเลขเลย กลับดูหมิ่นด้วยซ้ำ เค้ามักจะกล่าวซ้ำ ๆ ว่า “สิ่งที่ผมต้องการรู้ก็คือสายพันธ์ม้าและคู่แข่งในอดีตของมันเท่านั้นเอง”
 น่าแปลกที่หลักการทั้งสองสิ่งนี้มีเช่นเดียวกันในโลกแห่งการลงทุน เช่นเดียวกันเราก็มีนักลงทุนที่มุ่งเน้นในเชิงตัวเลข และมุ่งเน้นในเชิงคุณภาพของธุรกิจ เฉกเช่นปรัชญาการลงทุนของ ฟิลลิป ฟิชเชอร์
 นักวิเคราะห์ตัวเลขกล่าวว่า “ซื้อหุ้นราคาถูกและวัดผลงานของมันด้วยดัชนีต่าง ๆ เช่น พีอี พีบี ยิลด์ ฯลฯ”
 ส่วนนักวิเคราะห์เชิงคุณภาพกล่าวว่า “ซื้อหุ้นในกิจการที่ดีที่สุด, ประกอบด้วยผู้บริหารที่เก่งที่สุด และก็ไม่ต้องไปกังวลกับตัวเลขต่าง ๆ”
 น่ามีความสุขครับ, ทาง ไปสวรรค์มีหลายทาง ทักษะและมุมมองของผู้มีประสบการณ์นำทางไปสู่ความสำเร็จ วอร์เรนโชคดีครับที่ได้ผู้ชี้ทางผู้ยิ่งใหญ่ที่นำพาเค้าไปสู่ผลสำเร็จมหาศาล อันเนื่องมาจากการชี้นำของฟิชเชอร์ หลังจากอ่านหนังสือของ ฟิล ฟิชเชอร์ Common Stocks and Uncommon Profits และอีกเล่ม Paths to Wealth Through Common Stocks ในช่วงต้นปี 1960 วอร์เรนก็ตั้งใจจะเข้าไปพบ ฟิล ฟิชเชอร์ ให้ได้
 เมื่อ วอร์เรนพบเค้าครั้งแรก เค้าค้นพบว่า ฟิล มีความละม้ายคล้ายกับอาจารย์เบน แกรม อย่างมาก ฟิชเชอร์เป็นคนถ่อมตัว ใจกว้าง และก็เชี่ยวชาญในการสอนคน วอร์เรนเรียนรู้เรื่องทฤษฎีการแกะรอย (Scuttlebutt) มาจากจุดนี้
 ”เราต้องออกไปเสาะหาข้อเท็จจริงของธุรกิจ จากการสืบค้น พูดคุยกับแหล่งข้อมูล ไม่ว่าจะเป็น คู่แข่ง, ซัพพลายเออร์, ลูกค้า เพื่อที่จะสืบเสาะดูว่าการดำเนินงานของบริษัท แท้จริงแล้วเป็นอย่างไร?”
 ความเข้าใจอันละเอียดถี่ถ้วนซึ่ง ฟิล ฟิชเชอร์ สอนให้วอร์เรนประกอบกับการวิเคราะห์เชิงปริมาณที่ เค้าเรียนรู้มาจาก อาจารย์เบน ช่วยให้ยึดมั่นในเส้นทางแห่งการลงทุนด้วยสติปัญญา และนั่นเป็นเส้นทางแห่งความสำเร็จของนักลงทุนผู้ยิ่งใหญ่คนนี้
 “ลงทุนด้วยสติปัญญา” คำ ๆ นี้เป็นคำสำคัญ เมื่อวอร์เรน บัฟเฟตต์เลือกบริษัทลงทุนเค้าให้น้ำหนักกับตัวเลขหรือคุณภาพกิจการมากกว่า กัน วอร์เรนพูดไว้ละเอียดครับเมื่อครั้งเค้าไปบรรยายที่ University of Florida Business School ช่วงวันที่ 15 ตุลาคม 2540
 “อย่า! ซื้อเพียงเพราะตัวเลขมันบอกคุณให้ซื้อ” ถึงแม้ตัวเลขมันจะบอกคุณให้ซื้อและคุณซื้อมามันก็ยังไม่นับว่าเป็นการลงทุนที่ดี จงซื้อเพราะคุณมั่นใจในสินค้า ผลิตภัณฑ์ของเค้า ไม่ใช่เพียงเพราะมันถูก ครั้งหนึ่งวอร์เรนก็เคยซื้อบริษัททำกังหันลม (windmill) เป็นการลงทุนแบบก้นบุหรี่ เค้าซื้อมันมาราคาถูกมากในราคาเพียงหนึ่งในสามของเงินทุนหมุนเวียน และแน่นอนมันทำกำไร แต่มันก็แค่ครั้งเดียวและมันไม่เกิดขึ้นอีก มันไม่ใช่สิ่งที่ควรทำ ชีวิตวอร์เรน บัฟเฟตต์ผ่านเรื่องพวกนี้มาหมดแล้วบริษัทรถรางเค้าก็ซื้อมาแล้ว
 กลับกันในเชิงคุณภาพ วอร์เรนแทบจะสามารถตีแตกเกือบทุกครั้งแค่เพียงแค่พูดคุยโทรศัพท์เพียงห้านาที หรือสิบนาที !
 “But if you don’t know enough to know about the business instantly, you won’t know enough in a month or in two months.”
 ถ้ามันเป็นธุรกิจที่ยากเย็น ฟังคำอธิบายสั้น ๆ แล้วคุณไม่เข้าใจ ต่อให้คุณใช้เวลาอีกเดือนหรือสองเดือนคุณก็ไม่เข้าใจมันอยู่ดี คุณต้องมองตัวเองให้ออกว่าสิ่งใดเรารู้สิ่งใดเราไม่รู้ สิ่งใดเราเข้าใจสิ่งใดเราไม่เข้าใจ นั่นคือหัวใจสำคัญของการลงทุน แต่กว่า วอร์เรน จะมาถึงจุดนี้ได้มันไม่ใช่ง่าย
 “ลงทุนภายใต้ขอบเขตความรู้ของตนเอง” มันไม่สำคัญหรอกว่าคุณจะรู้มากรู้น้อยเป็นพหูสูตรมาจากไหน คุณไม่จำเป็นต้องเป็นวอร์เรน บัฟเฟตต์คนที่สอง คุณไม่ต้องเป็น ดร.นิเวศน์ คนที่สอง มันไม่สำคัญ มันสำคัญที่ว่าสิ่งใดที่คุณไม่รู้ไม่เข้าคุณอย่าไปยุ่ง ไม่จำเป็นต้องรู้จักหุ้นหมดทุกตัวในตลาดสมมติคุณรู้แค่ 30 ตัวในตลาดรู้แบบรู้จริงนะ คุณก็โอเคแล้วครับ เมื่อคุณรู้จักธุรกิจนั้น ๆ เป็นอย่างดีคุณก็ใช้เวลาในการทำความเข้าใจน้อยลง จุดนี้ทำให้ผมนึกไปถึงสุภาษิตไทยที่ว่า “อันความรู้รู้กระจ่างแต่อย่างเดียวแต่ให้เชี่ยวชาญเถิดจะเกิดผล” แต่กว่าเราจะ “รู้กระจ่าง” ในธุรกิจนั้น ๆ เราต้องทำอย่างไร วอร์เรน เองเค้าก็ไม่ได้เก่งมาแต่เกิดหรือเริ่มลงทุน เค้าทำอย่างไร?
 วอร์เรนทำงานหนักอย่างมากเพื่อให้รู้ลึกในบริษัทที่เค้าลงทุนและเค้าใช้ Scuttlebutt Approach  หรือทฤษฎีการแกะรอยครับ
 I would go out and talk to customers, suppliers, and maybe ex-employees in some cases. Everybody. Everytime I was interested in an industry, say it was coal, I would go around and see every coal company.
 วอร์เรนจะไปพูดคุยกับลูกค้าของบริษัท ซัพพลายเออร์ของบริษัท และพนักงานเก่า คือ ทุกคน ทุกที่ นั่นหล่ะครับ ถ้าเค้าสนใจในธุรกิจเหมืองเค้าก็จะไปดูบริษัทเหมืองทุกๆ ที่ เค้าจะไปคุยกับซีอีโอว่า “ถ้าคุณจะซื้อสต๊อกของบริษัทเหมืองบริษัทอื่นที่ไม่ใช่คุณ คุณคิดว่าใครน่าสนใจ?” ทำไมครับ? คุณเก็บข้อมูลเหล่านี้ รวบรวมข้อมูลเหล่านี้ทีละนิดทีละน้อย และคุณก็จะได้เรียนรู้เติมเต็มภาพของธุรกิจจนคุณเกิดความรู้ความเข้าใจขึ้นมา
 แล้วคู่แข่งล่ะ ถ้าคุณมีปืนอยู่ในมือและคุณยิงใครทิ้งก็ได้โดยไม่ผิดกฎหมายคุณอยากซัดใคร? ทำไม? ลองถามซีอีโอ ด้วยประโยคเหล่านี้และคุณจะได้รับคำตอบที่เต็มไปด้วยความลึกซึ้งของคนที่อยู่ในธุรกิจจริง ๆ เชื่อผมเถอะความรู้จะติดตัวเราไปจนวันตาย เมื่อเราเรียนรู้สิ่งใดแล้วสิ่งนั้นก็จะเป็นองค์ความรู้ให้เราต่อยอดไปได้เรื่อย ๆ นั่นทำให้คุณได้เรียนรู้ รู้ลึก รู้จริง “รู้กระจ่าง”
 น้องไวไว อยากเป็นวีไอ ซื้อปั๊บขึ้นปุ๊บกำไรเลยเดือนหน้า หรืออีกสองเดือน ค่อยหาตัวใหม่ให้พีอีต่ำ ๆ ไว้ ผมคิดว่านั่นยังไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องสักเท่าไรครับ นักลงทุนรุ่นใหม่ควรใช้เวลาให้ลึกกับธุรกิจ อ่านรายงานประจำปี 56-1 ฟัง Oppday ประชุมผู้ถือหุ้น คุยกับ IR หาข้อมูลจากเน็ต จากการพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม เปรียบเทียบงบการเงินของลูกค้า คู่แข่ง หลาย ๆ บริษัท ถามตัวเองว่าทำไม เค้ากำไรมากกว่า ทำไมคู่แข่งมาร์เก็ตแชร์มากกว่า ผู้บริหารให้สัมภาษณ์อะไรไว้บ้าง นั่นเป็นเส้นทางวีไอที่ถูกต้อง และจะทำให้พวกเราประสบความสำเร็จบนเส้นทางนี้ได้ยั่งยืนกว่าครับ

ที่มา Thaivi

หุ้น “เติบโต” หรือ “ติดดิน”


หุ้นที่มีกำไรเติบโต (Growth Stock) นับว่าเป็นหุ้นที่ทำกำไรให้กับนักลงทุนดีที่สุดประเภทนึง เพราะหุ้นกลุ่มนี้นอกจากจะมีกำไรที่เติบโตขึ้นรวดเร็วแล้ว ตลาดมักจะให้ราคาหุ้นประเภทนี้สูงกว่าตลาดด้วย อย่างไรก็ตาม ก็ใช่ว่าทุก Growth Stock จะดีเหมือนกันทุกบริษัท หลายบริษัทที่ตอนแรกๆอาจจะดูเหมือนเป็น “หุ้นเติบโต” แต่พอเวลาผ่านไปกลับกลายเป็น “หุ้นติดดิน”
คำถามที่นักลงทุนทุกคนควรจะต้องถามคือ เราจะรู้ได้อย่างไรว่า Growth Stock ตัวไหนจะสามารถเติบโต “ได้จริง” อย่างมีคุณภาพ
ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจถึงประเภทของการเติบโตก่อน ผมขอจับไว้เป็นคู่ๆเพื่อให้เข้าใจง่ายแล้วกันครับ
Volume Growth vs. Price Growth
ในบางธุรกิจที่มีอำนาจในการต่อรองราคาของบริษัทต่อลูกค้าสูง (High Negotiating Power) จะสามารถปรับราคาสินค้าขึ้นได้ทุกปี ตัวอย่างเช่นกลุ่มธุรกิจโรงพยาบาล ร้านสะดวกซื้อ การเติบโตจากการเพิ่มขึ้นของ “ราคา” สามารถทำได้ง่ายกว่าการเติบโตของ “ปริมาณการขาย” มากเพราะแทบจะไม่มีต้นทุนเพ่ิมขึ้นเลย ในขณะที่การขยายกำลังการผลิตหรือการให้บริการต้องมีการลงทุนเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังมีความเสี่ยงในการที่จะต้องหาลูกค้าเพิ่มขึ้นเพื่อมาซื้อสินค้่า
อย่างไรก็ตามการเติบโตจากการขึ้นราคาอาจจะมีข้อจำกัดจากเรื่องการแข่งขัน กฏหมายควบคุมราคา (เช่นในกรณีร้านสะดวกซื้อ) หลายบริษัทจึงใช้วิธีในการปรับ Product Mix เพื่อเพิ่มราคาสินค้าแทน เช่นธุรกิจโรงพยาบาลที่ มีการนำเสนอแผนการรักษาใหม่ๆ หรือเน้นการให้การรักษาในโรคร้ายแรงมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ยอดค่าใช้จ่ายต่อคนสูงขึ้น
Industry Growth vs. Market Share Growth
ธุรกิจที่อยู่อุตสาหกรรมที่เติบโตเร็ว เช่นธุรกิจที่มี penetration rate ต่ำๆ และมีปัจจัยทางโครงสร้างเอื้อหนุน จะสามารถสร้างรายได้และกำไรให้เติบโตได้ง่ายกว่าธุรกิจที่เติบโตด้วยการแย่งส่วนแบ่งการตลาดจากคู่แข่งในอุตสาหกรรมที่เติบโตช้า เพราะในอุตสาหกรรมที่เติบโตเร็ว ความจำเป็นในการแข่งขันในด้านราคาจะมีน้อย อีกทั้งต้นทุนในการหาลูกค้ารายใหม่ๆถูกกว่า เพราะไม่ต้องแย่งลูกค้ากัน
ในทางตรงกันข้ามการที่บริษัทผลิตกระเบื้องแห่งหนึ่งมีแผนที่จะเพ่ิมส่วนแบ่งการตลาด 1% ทุกปี (ตลาดกระเบื้องเติบโตในระดับใกล้เคียงกับ GDP ซึ่งถือว่าค่อนข้างต่ำ) การเติบโตอาจจะทำได้จริงแต่อาจจะไม่ยั่งยืนเนื่องจากคู่แข่งรายอื่นๆก็จะไม่ปล่อยให้บริษัทถูกแย่งส่วนแบ่งการตลาดไป การแข่งขันจะรุนแรงยิ่งขึ้นถ้าอุตสาหกรรมนั้นๆเติบโตได้ช้า เพราะบริษัทต้องดิ้นรนมากขึ้นเพื่อที่จะเพิ่มยอดขายให้ทันกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นทุกๆปี อาจจะเกิดภาวะที่เรียกว่าสงครามราคา (Price War) ได้ ซึ่งจะมีผลแย่ต่อทุกบริษัทในอุตสาหกรรมนั้นๆ
One-off vs. Recurring
ธุรกิจที่เติบโตแบบครั้งเดียวจบ หมายถึงธุรกิจที่มีลักษณะการรับงานแบบเป็น Project มีสัญญาที่ระยะเวลาสั้นๆ งานที่ได้รับในปีนี้จะไม่ได้รับการการันตีอีกในปีหน้า (คือรับงานเป็นปีๆไป) มีจำนวนลูกค้าน้อยราย หรือ ปริมาณความต้องการของลูกค้ามีการเปลี่ยนแปลงบ่อย ตัวอย่างเช่น ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ธุรกิจรับจ้างผลิตต่างๆ ธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กโทรนิกส์ เกษตร รถยนต์ โฆษณา เป็นต้น
สำหรับการเติบโตแบบยั่งยืน คือการเติบโตของกำไรที่ต่อยอดไปเรื่อยๆจากการขยายสาขา ขยายฐานลูกค้าที่มีสัญญาในระยะยาวกับบริษัท เช่นธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจที่ขายสินค้าอุปโภคบริโภค (มีลูกค้าหลายแสนราย จึงมีโอกาสเปลี่ยนแปลงได้ยากกว่า)
Existing vs. New Business
ในปัจจุบันหลายธุรกิจในตลาดหลักทรัพย์ อยู่ใน Sunset Industry หรือธุรกิจที่กำลังตกต่ำ ฉะนั้นหลายบริษัทจึงพยายาม “แตกไลน์ธุรกิจ” ไปยังโอกาสใหม่ๆ  ในการคาดการณ์การเติบโตของบริษัท นักลงทุนต้องมองให้ออกว่า แผนการเติบโตของบริษัทมากจากธุรกิจใด หลายครั้งที่ทางผู้บริหารอาจจะไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตัวธุรกิจใหม่อย่างเพียงพอ (ไม่ใช่ไม่เก่งแต่อาจจะไม่มีประสบการณ์) ผู้บริหารจึงไม่สามารถคาดการณ์ถึงการแข่งขันที่อาจจะเกิดขึ้น รวมถึงถึงอุปสรรคต่างๆในการทำธุรกิจ จึงทำให้ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ได้ 
นอกจากการขยายไปยังธุรกิจใหม่แล้ว การขยายไปยังตลาดใหม่ๆก็นับว่ามีความเสี่ยงเช่นกัน หลายบริษัทเลือกที่จะขยายกิจการไปต่างประเทศ (โดยไม่ได้มีประสบการณ์ในประเทศนั้นๆมาก่อน) มักจะประสบกับปัญหาต่างๆ เช่น ความล่าช้าของการขอใบอนุญาต/การก่อสร้าง สินค้าไม่ถูกใจลูกค้าในประเทศนั้นๆ ซึ่งมักจะทำให้รายได้ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย และมักจะมีผลขาดทุน
Small vs. Large
Peter Lynch เคยบอกไว้ว่าในระยะยาวแล้วหุ้นขนาดเล็กจะสามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าหุ้นขนาดใหญ่เนื่องจากสามารถเติบโตได้ในอัตราที่สูงกว่าในระยะยาว เพราะฉะนั้นถ้าเราอยากจะหาหุ้นมีอัตราการเติบโตที่สูงอาจจะต้องหาจากบริษัทที่มีขนาดเล็ก (ทั้งในเชิงมูลค่าตลาด ยอดขาย ส่วนแบ่งการตลาด รวมถึงอัตราในการทำกำไร) ซึ่งจะมีโอกาสในการเติบมากกว่าบริษัทที่มีขนาดใหญ่กว่า อย่างไรก็ตามธุรกิจขนาดเล็กก็อาจจะมีความเสี่ยงมากกว่าธุรกิจที่ครองความเป็นเจ้าตลาดมาเป็นระยะเวลานาน
Top line vs. Bottom Line
ประเด็นนี้จะเป็นประเด็นที่นักลงทุนมักจะมองข้าม เพราะหลายๆครั้งการเติบโตของยอดขายต้องแลกมาด้วยการให้โปรโมชั่นเยอะๆ (ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นลดลง) ค่าใช้จ่ายการตลาดที่เพิ่มขึ้น เงินลงทุนในเครื่องจักรหรือขยายสาขาใหม่ (ที่มาพร้อมค่าเสื่อมที่เพิ่มขึ้น) การที่ยอดขายเติบโตแต่กำไรไม่โตตามอาจจะเป็นเพราะบริษัทอยู่ในอุุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูง คู่แข่งรายใหม่อาจจะอยากได้ส่วนแบ่งการตลาดโดยไม่สนใจภาพรวมของอุตสาหกรรม ตัวอย่างเช่น บริษัทสื่อสารที่ตัดสินใจลดราคา เพื่อดึงลูกค้าใหม่ๆ ทำให้มีผลต่อการปรับราคาของคู่แข่งรายอื่นๆ
เงินลงทุนก็เป็นประเด็นสำคัญ ฉะนั้นทุกครั้งที่ผู้บริหารเล่าถึงแผนที่จะขยายธุรกิจเราก็ต้องอย่าลืมที่จะถามถึงค่าใช้จ่ายหรือเงินลงทุนที่ต้องใช้ด้วย ถ้าเราอยากรู้ว่าเงินลงทุนอันนั้นจะมีผลต่อกำไรในอนาคตอย่างไร ก็ต้องประเมินว่าปรกติแล้วสินทรัพย์นั้นๆตัดค่าเสื่อมกี่ปี (ส่วนใหญ่ผู้บริหารจะตอบถ้าเราถาม) เราก็พอจะรู้คร่าวๆว่ากำไรที่ได้มาเพิ่มจะคุ้มค่ากับเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปีหรือเปล่า 
สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ…
การเติบโตของบริษัทล้วนแต่เป็นการ “คาดการณ์อนาคต” ซึ่งจะแม่นยำหรือไม่ต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง แต่ส่ิงที่สำคัญที่สุดคือผู้บริหารที่สามารถประเมินสถานการณ์ได้ตามความเป็นจริง สามารถ “ทำ” ได้เท่ากับที่ “พูด” ซึ่งการที่จะดูให้ได้อย่างนั้นเราต้องมองย้อนไปในอดีต ตัวอย่างเช่นบริษัทผลิตอาหารทะเลแห่งหนึ่งที่เคยบอกไว้ว่าจะมียอดขายหลายพันล้านเหรียญ ภายในปีนั้นปีนี้ แล้วทำได้ตรงตามที่สัญญาไว้ตลอด เรียกได้ว่าพูดคำไหนคำนั้น
ซึ่งเราอาจจะเรียกหุ้นแบบนี้ได้อีกอย่างว่า “ทำได้จริง ไม่ได้โม้…”
ที่มา Thaivi

คำแนะนำเวลาหุ้นตก โดยเซียนหุ้น

ปีเตอร์ลินซ์

“หุ้นร่วงหนัก หวั่นวิกฤติลามทั่วโลก นักลงทุนแห่ทิ้งหุ้น”     แน่นอน พาดหัวข่าวเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องที่น่าพิสมัยสำหรับนักเล่นหุ้นส่วนใหญ่   เพราะไม่มีใครอยากเห็นหุ้นแดงทั้งกระดาน ให้รันทดจิตใจ   ไม่มีใครอยากให้ “กำไร” ที่เคยได้ กลับกลายเป็น “ขาดทุน” ไปต่อตา และคำถามยอดฮิตที่ตามมาในภาวะที่หุ้นตกก็คือ “หุ้นตกอย่างนี้ ควรทำอย่างไร?” ในสายตาของเซียนหุ้นบันลือโลกอย่าง “ปีเตอร์ ลินซ์” มองว่า หุ้นตกเป็นเรื่องปกติธรรมดาของการลงทุนในตลาดหุ้น   “การตกต่ำของตลาดหุ้นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำ ไม่ต่างไปจากการเกิดพายุหิมะในเดือนมกราคมที่รัฐโคโลราโด ถ้าคุณมีการเตรียมตัว มันจะไม่สามารถทำร้ายคุณได้” และยังเตือนสตินักลงทุนที่กำลัง “จิตตก” ว่า ถ้ากลัวหุ้นตกก็อย่าเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น   “หากคุณมีแนวโน้มที่จะขายทุกสิ่งทุกอย่างออกไปในภาวะตื่นตระหนก คุณควรหลีกเลี่ยงการลงทุนในหุ้น รวมทั้งการลงทุนในกองทุนหุ้นด้วย” “ปีเตอร์ ลินซ์” ถือว่า “หุ้นตก” เป็น “โอกาส” เขาบอกว่า “การตกลงของตลาดหุ้นจะเป็นโอกาสอันยิ่งใหญ่ของการเข้าไปซื้อหุ้นในราคาถูก ซึ่งนักลงทุนที่ตื่นตระหนกเทขายออกมา”
   “ลินซ์” เคยเล่าไว้ในหนังสือ “One Up on Wall Street” ว่า ตอนที่เขาได้รับหน้าที่บริหารกองทุนฟิเดลลิตี้แม็คเจ็ลลันในปี 1977 ดัชนีตลาดหุ้นร่วงจาก 899 จุด ลงมา  เหลือ 801 จุด ร่วงลงมาเกือบ 100 จุด ตอนนั้นเจ้านายของเขาแนะนำว่า ควรลดจำนวนหุ้นในพอร์ตของกองทุน จาก 40 ตัว ให้เหลือแค่ 25 ตัวก็พอ แทนที่ “ลินซ์” จะทำตามที่เจ้านายบอก เขากลับทำตรงกันข้าม ออกไปซื้อหุ้นเข้ากองทุนเพิ่มเป็น 60 ตัว  เท่านั้นยังไม่พอ ! อีก 6 เดือนต่อมาซื้อเพิ่มเป็น 100 ตัว และหลังจากนั้นก็ซื้อเพิ่มอีกเป็น 150 ตัว  ทำตัวเหมือนกับเป็นลูกน้องหัวดื้อ ไม่เชื่อฟังผู้บังคับบัญชา แต่ “ลินซ์” มีเหตุผล เขาบอกว่า ที่กล้าตัดสินใจซื้อหุ้นสวนทางกับคำแนะนำของเจ้านายก็เพราะ ช่วงเวลานั้นมีหุ้นดีๆราคาถูกเต็มไปหมด จนเขาอดใจไม่ไหวที่จะซื้อมาไว้ในพอร์ต
    โชคดีของ “ลินซ์” ที่มีเจ้านายใจกว้าง และเคารพการตัดสินใจของเขา จึงทำให้ “ลินซ์” สามารถสร้างผลงานการลงทุนที่ยอดเยี่ยม จากกองทุนที่มีทรัพย์สิน 20 ล้านเหรียญ เติบโตขึ้นเป็นกองทุนขนาดใหญ่มีมูลค่าทรัพย์สินถึง 9,000 ล้านเหรียญ และต่อมาเมื่อเขาตัดสินใจเกษียณจากการบริหารกองทุนในปี 1990 มูลค่ากองทุนได้เพิ่มขึ้นเป็น 14,000 ล้านเหรียญ อย่างที่ไม่เคยมีผู้จัดการกองทุนคนไหนทำได้มาก่อน  ส่วนเซียนหุ้นผู้ยิ่งใหญ่อย่าง “วอร์เรน บัฟเฟตต์” เคยกล่าวถึงกรณี “หุ้นตก” เอาไว้ว่า “ถ้าคุณไม่สามารถดูหุ้นที่คุณถืออยู่ตกลงไป 50% ได้ โดยไม่รู้สึกขวัญผวา คุณก็ไม่ควรอยู่ในตลาดหุ้น” ได้ยินอย่างนี้หลายคนคงแย้งว่า ไม่ต้องให้หุ้นตกถึง 50% หรอก แค่ตกลงมา 10-15% ก็เผ่นพันลี้ ขายหุ้นทิ้งแทบไม่ทันแล้ว   


บัฟเฟตต์

เพื่อให้เป็นกรณีศึกษา “บัฟเฟตต์” ได้หยิบยก “โคคา-โคล่า” หุ้นโปรดของเขาที่เคยติดลบ 50% มาบอกเล่าเป็นตัวอย่าง
    “โคคา-โคล่าเข้าสู่ตลาดหุ้นในปี 1919 ราคาอยู่ที่ 40 เหรียญต่อหุ้น ในปีต่อมามันลดลงเหลือ 19 เหรียญ หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ราคาน้ำตาลได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก คุณคงจะเสียเงินไปมากกว่าครึ่งหากคุณซื้อหุ้นตอนที่มันเพิ่งเข้าสู่ตลาด แต่ถ้าคุณยังถือหุ้นอยู่จนถึงทุกวันนี้ และนำเงินปันผลที่ได้รับกลับไปลงทุนอย่างต่อเนื่อง มันจะมีค่าประมาณ 1.8  ล้านเหรียญ
    เราเจอสภาพเศรษฐกิจตกต่ำหลายครั้ง ภาวะสงครามหลายหน ราคาน้ำตาลขึ้นๆลงๆ มีเรื่องต่างๆเป็นล้านๆเรื่องเกิดขึ้น การพิจารณาว่าสินค้าตัวนั้นดีจริงหรือไม่ และสถานะทางการเงินของกิจการนั้นจะเอาตัวรอดได้หรือไม่ จะเป็นประโยชน์กับเรามากกว่าการที่เรามัวแต่จะคิดว่า เราจะกระโจนเข้าหรือจะกระโจนออกจากหุ้นตัวนั้น” ถ้าราคาหุ้นตกต่ำโดยที่พื้นฐานของกิจการไม่ได้แย่ลง “บัฟเฟตต์” ถือว่า นั่นคือ “โอกาส” ไม่ใช่ “วิกฤติ”  “ตราบเท่าที่คุณยังรู้สึกดีเกี่ยวกับธุรกิจที่คุณเป็นเจ้าของ คุณควรยินดีกับราคาหุ้นที่ต่ำลง ในแง่ที่คุณจะสามารถซื้อหุ้นเพื่อทำกำไรเพิ่มขึ้น”   ดังนั้นในช่วงที่เกิดวิกฤติใหญ่ๆ เราจะได้ข่าวว่า “วอร์เรน บัฟเฟตต์” ออกมาซื้อ “ของดี ราคาถูก” อยู่เสมอ เพราะหุ้นตกหนักๆแต่ละครั้ง มันก็เหมือนกับเทศกาล “แกรนด์เซลล์” สำหรับบรรดาเซียนหุ้นนั่นเอง

คำแนะนำดีๆจากนักลงทุนผู้ยิ่งใหญ่ ปีเตอร์ ลินช์



คำแนะนำดีๆจากนักลงทุนผู้ยิ่งใหญ่ ปีเตอร์ ลินช์ (Peter Lynch)
ซึ่งเป็นผู้บริหารกองทุนแม็คเจ็ลลัน โดยสามารถสร้างผลตอบแทนที่สูงมากในระดับ 29%
แบบทบต้นในระยะเวลา 13 ปีที่เขาบริหารงานอยู่ กลยุทธ์ของปีเตอร์ ลินช์
มีหลายแบบ หนึ่งในนั้นคือ 25 กฎเหล็กในการลงทุนของปีเตอร์ ลินช์
ซึ่งมีความน่าสนใจไม่น้อย และน่าจะมีประโยชน์กับนักลงทุน
25 กฎเหล็กในการลงทุนของปีเตอร์ ลินช์มีดังนี้




1. การลงทุนนั้นสนุก ตื่นเต้น และอันตรายมากถ้าคุณไม่ศึกษาหรือวิเคราะห์ก่อนลงทุน

2. ความเก่งหรือความสามารถในการลงทุนของคุณนั้น ไม่ใช่จะได้มาจากนักวิเคราะห์หลักทรัพย์หรือผู้รู้ในตลาดหุ้น แต่ความเก่งหรือความสามารถในการลงทุนของคุณนั้นอยู่ในตัวคุณอยู่แล้ว คุณจะสามารถชนะตลาดหุ้นได้ ถ้าคุณลงทุนในบริษัทหรืออุตสาหกรรมที่คุณเข้าใจอยู่แล้ว

3. 30 ปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นถูกโน้มน้าวหรือถูกควบคุมโดยนักลงทุนมืออาชีพ ซึ่งคนกลุ่มนี้มีผลต่อตลาดมาก อย่างไรก็ตาม ถ้านักลงทุนรายใหม่อยากชนะตลาดก็ควรวิเคราะห์ หรือศึกษาการลงทุนจะดีกว่าที่จะฟังคนอื่นบอกมาอีกที

4. ติดตามบริษัทที่คุณได้ทำการลงทุนไปอย่างสม่ำเสมอ

5. ผลประกอบการของบริษัทและราคาหุ้นอาจจะไม่มีความสัมพันธ์ในระยะสั้น หนึ่งเดือนหรือสองเดือน แม้กระทั้งสองหรือสามปี แต่ในระยะยาวผลประกอบการของบริษัทและราคาหุ้นมีความสัมพันธ์กัน 100 เปอร์เซ็นต์

6. คุณต้องรู้ว่าคุณเป็นเจ้าของหุ้นอะไร และเหตุผลว่าทำไมถึงเลือกเป็นเจ้าของหุ้นตัวนี้

7. การวิเคราะห์การลงทุนในระยะยาวเกินไป บ่อยครั้งที่จะคลาดเคลื่อนจากที่คิดไว้

8. การมีหุ้นนั้นเปรียบได้เหมือนมีลูก อย่าไปมีหุ้นมากเกินกว่าแรงของตัวเองจะรับไหว

9. ถ้ายังหาหุ้นที่น่าลงทุนไม่ได้ จงอย่าลงทุนและนำเงินไปฝากธนาคารจนกว่าจะหาเจอ

10. จงหลีกเลี่ยงหุ้นที่ร้อนในอุตสาหกรรมที่แรง และควรลงทุนหุ้นที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่เติบโตน้อยจะเป็นผู้ชนะในส่วนมาก

11. ถ้าพูดถึงบริษัทขนาดเล็กคุณควรจะรอจนกว่าบริษัทมีความสามารถทำกำไรสม่ำเสมอ แล้วค่อยตัดสินใจลงทุน

12. ถ้าคุณอยากลงทุนในอุตสาหกรรมที่กำลังอยู่ในช่วงวิกฤต จงลงทุนในบริษัทที่มีโอกาสที่จะรอดจากช่วงวิกฤตได้

13. ถ้าคุณลงทุน $1,000 ในตลาดหุ้น คุณมีโอกาสที่จะขาดทุนมากที่สุดเท่ากับ $1,000 แต่มีโอกาสทำกำไรมากถึง $10,000 หรือ $50,000 ถ้าคุณใจเย็นและมีความรู้ในการลงทุน

14. ในทุกอุตสาหกรรมนักลงทุนสมัครเล่นสามารถหาบริษัทที่ดีเยี่ยมก่อนนักลงทุนมืออาชีพนานเลยทีเดียว

15. ตลาดหุ้นตกเป็นเรื่องธรรมชาติเปรียบเหมือนฝนที่ต้องตกทุกปี

16. นักลงทุนทุกคนมีความสามารถที่จะทำกำไรในตลาดหุ้น แต่ไม่ทุกคนที่มีความกล้า ถ้าคุณเป็นนักลงทุนประเภทที่ต้องขายหุ้นในช่วงเวลาหุ้นตกหรือช่วงตกใจ จงอย่าลงทุนในหุ้น

17. อย่าวิตกกังวลในปัจจัยภายนอกมากเกินไป นักลงทุนควรขายหุ้นทำกำไรก็ต่อเมื่อปัจจัยพื้นฐานของบริษัทนั้นแย่ลง

18. ไม่มีใครสามารถทำนายอัตราดอกเบี้ย แนวโน้มเศรษฐกิจหรือตลาดหุ้นได้ ดังนั้นจงติดตามบริษัทที่คุณได้ทำการลงทุนไปอย่างสม่ำเสมอ

19. ถ้าคุณวิเคราะห์ 10 บริษัท คุณจะเจอ 1 บริษัทที่เด่นกว่าที่คุณคิดไว้ ถ้าคุณวิเคราะห์ 50 บริษัทคุณจะเจอ 5 บริษัทที่ดีเยี่ยม

20. ถ้าคุณไม่ศึกษาหรือวิเคราะห์การลงทุนในหุ้น ก็ไม่ต่างอะไรกับการเล่นไพ่โป๊กเกอร์แบบไม่ดูไพ่

21. ถ้าเวลาอยู่ข้างเดียวกับคุณ หากคุณลงทุนในบริษัทชั้นดีคุณสามารถที่จะรอได้ แต่หากคุณพลาดการลงทุนในหุ้น Wal-Mart มันก็ยังเป็นหุ้นที่น่าซื้ออยู่ดี แต่เวลาจะเป็นศัตรูกับคุณถ้าคุณซื้อออปชั่น

22. ถ้าคุณอยากลงทุนแต่คุณไม่มีเวลาทำการบ้าน คุณควรจะซื้อกองทุนที่มีการกระจายความ
เสี่ยงและกองทุนหลายประเภท

23. ภาษีที่คิดจากส่วนต่างของราคาจะส่งผลในเชิงลบกับนักลงทุนที่สับเปลี่ยนกองทุนบ่อยครั้งเกินไป หากคุณลงทุนในกองทุนหนึ่งกองหรือหลายกองที่ให้ผลตอบแทนดีๆ จงอย่าขายพวกมันออกไปแบบใช้อารมณ์ จงถือกองทุนเหล่านั้น

24. ในบรรดาตลาดหุ้นทั่วโลก ตลาดหุ้นที่อเมริกาให้ผลตอบแทนรวมในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาสูงเป็นอันดับแปดของโลก คุณจะสามารถหาประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วกว่าโดยการนำเงินไปลงทุนต่างประเทศที่มีผลตอบแทนที่ดี

25. ในระยะยาวแล้ว พอร์ตการลงทุนที่ประกอบด้วยหุ้นและกองทุนหุ้นที่ดีจะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าพอร์ตที่ประกอบด้วยตราสารหนี้หรือการลงทุนในตลาดเงิน อย่างไรก็ตามในระยะยาว พอร์ตที่ประกอบด้วยหุ้นและกองทุนหุ้นแบบแย่ๆ จะไม่สามารถให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าเงินที่ถูกเก็บเอาไว้ใต้ที่นอนได้




อ้วน - ผอม - สูง โดย ดร.นิเวศน์



นักลงทุนจำนวนมากชอบลงทุนในบริษัทที่  “โตเร็ว”    โดยที่คำว่าโตเร็วนั้น   ส่วนมากก็จะดูว่ากำไรโตแบบก้าวกระโดดจากปีก่อน   หุ้นที่  “โตเร็ว”  เหล่านี้จำนวนมากก็จะมีราคาพุ่งขึ้นไปทำให้มูลค่าตลาดของหุ้นเพิ่มสูงขึ้น    คนที่เข้าไปซื้อหุ้นที่  “โตเร็ว”  ก่อนคนอื่นก็มักจะได้กำไรไปเป็นกอบเป็นกำ     แต่คนที่เข้าไปซื้อหุ้น  “โตเร็ว”  หลังจากที่ราคาหุ้นขึ้นไปแล้วในหลาย ๆ  ครั้งกลับขาดทุน  บางครั้งขาดทุนอย่างหนัก  เพราะหุ้น  “โตเร็ว”   หลาย ๆ  ตัวนั้น   เมื่อเวลาผ่านไป   กลับโตช้าลงมาก   บางตัวกำไรถดถอยลง   และราคาหุ้นก็ตกต่ำลง   บริษัทมีมูลค่าหุ้นน้อยลงไปมาก    คนที่เข้าไปลงทุนในหุ้น  “โตเร็ว”  ที่ขาดทุนหนักนี้   บางทีอาจจะติด   “กับดัก”  ของหุ้น  “โตเร็ว”   ลองมาดูกันว่าเกิดอะไรขึ้น  และอะไรคือ  “กับดัก”
สมมุติว่าเรามีข้อมูลน้ำหนักของคน ๆ หนึ่งซึ่งเราไม่เคยเห็นตัวเลยและไม่รู้ข้อมูลอย่างอื่นเลย    เวลาต่อมา   เราพบว่าน้ำหนักของคน ๆ  นี้เพิ่มขึ้น  จาก 50  เป็น 60 กิโลกรัม   สิ่งที่เรามักจะบอกก็คือ   เขาโตขึ้นหรือหนักขึ้น   แต่การที่เขาโตขึ้นนั้น   อาจจะเป็นเพราะเขาอ้วนขึ้นหรือสูงขึ้นก็ได้    ในอีกกรณีหนึ่ง   ถ้าเวลาผ่านไป   น้ำหนักเขาไม่เพิ่มขึ้นเลย   สิ่งที่เราน่าจะสรุปก็คือ   เขาไม่โตเลย   แต่นี่อาจจะเป็นข้อสรุปที่ผิดก็ได้   เพราะเขาอาจจะสูงขึ้นแต่ผอมลงน้ำหนักจึงเท่าเดิม   กรณีสุดท้ายก็คือ  น้ำหนักเขาน้อยลง   สิ่งที่เรามักจะคิดก็คือ  เขาคงผอมลง  คำตอบนี้คงจะถูกมากกว่าผิด   แต่จริง ๆ  แล้ว  คนก็อาจจะเตี้ยลงได้ถ้าเขาเริ่มแก่ตัวลง
ผมยกเรื่องน้ำหนักของคนมาพูดนั้น   เพื่อที่จะบอกว่า   การโตนั้น  มีทั้งแบบที่มี  “คุณภาพ”  นั่นก็คือ   เป็นการโตแบบ  “สูง” ซึ่งจะเป็นการโตแบบ  “ยั่งยืน”  คือโตแล้วโตเลย   น้ำหนักของคนที่สูงนั้น   โดยทั่วไปก็มักจะหนักกว่าคนที่ตัวเตี้ยกว่า   ดังนั้น   ในระยะยาวแล้ว  คนที่ตัวสูงก็จะมีน้ำหนักมากกว่าคนตัวเตี้ย   คนสูง 180 เซนติเมตรนั้น  โดยทั่วไปอย่างน้อยก็มักจะมีน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 70-80 กิโลกรัม  และในบางกรณีอาจจะหนักได้ถึง 100 กิโลกรัมขึ้นไป   แต่คนที่สูงเพียง 160 เซนติเมตรนั้น  ส่วนใหญ่ก็มักจะหนักประมาณ  5-60 กิโลกรัมโอกาสที่จะหนักถึง 70 กิโลกรัมก็จะน้อย   แม้ว่าบางครั้งอาจจะหนักถึง 80 กิโลกรัมขึ้นไปก็มีแต่ก็ยากที่จะหนักเป็น 100 กิโลกรัม   นั่นก็คือ  คนตัวเตี้ยบางคนอาจจะอ้วนเป็นพิเศษในบางช่วงเวลา   แต่สุดท้ายก็มักจะผอมลงและน้ำหนักกลับมาอยู่ในภาวะปกติ   ข้อสรุปสั้น ๆ  ก็คือ  ศักยภาพในด้านของน้ำหนักของคนตัวเตี้ยนั้นมีจำกัด     ดังนั้น   ถ้าจะหาคนที่มีน้ำหนักมากขึ้นและมากขึ้นเรื่อย ๆ  เราต้องมองหาคนที่จะสูงขึ้นเรื่อย ๆ   ไม่ใช่คนที่อ้วนขึ้นเรื่อย ๆ    เพราะคนที่อ้วนขึ้นนั้น   ส่วนใหญ่มักจะเกิดจากภาวะที่อาหารอุดมสมบูรณ์เป็นพิเศษ   แต่ในอนาคตเมื่อเกิดภาวะขาดแคลน   คน ๆ  นั้นก็จะผอมลง
เมื่อเปรียบเทียบกับหุ้นหรือบริษัท    หุ้นที่ “อ้วน” ขึ้น  ก็คือบริษัทที่มีกำไรมากขึ้น    แต่กำไรนั้นเป็นกำไรที่เกิดขึ้นจากภาวะ  “อาหารอุดมสมบูรณ์”  เช่น   ราคาผลิตภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้นโดยที่ต้นทุนอาจจะปรับตัวน้อยกว่า   ทำให้กำไรดีขึ้นมาก   แต่ปริมาณหรือหน่วยการผลิตหรือการขายอาจจะเท่าเดิม    ลักษณะแบบนี้   ถ้าราคาสินค้าปรับตัวกลับลงมาเท่าเดิมในปีต่อมา  กำไรก็จะถดถอยลงได้ซึ่งก็จะเหมือนกับว่า  บริษัท  “ผอมลง”   ดังนั้น   หุ้นที่โตขึ้นเพราะ “อ้วน”   ในที่สุดก็อาจจะหดตัวลงเพราะ “ผอม”    คนที่ลงทุนตอนที่บริษัท  “ผอม”  และขายตอนที่บริษัท  “อ้วน” จะได้กำไรมาก   ตรงกันข้าม  คนที่ลงทุนตอนบริษัท  “อ้วน”  มักจะขาดทุนเพราะในไม่ช้าบริษัทก็มักจะ “ผอม” ลง และนี่ก็คือ  กับดักของหุ้นที่  “โตแบบอ้วน” 
บริษัทที่จะเติบโตอย่างแท้จริงนั้น  จะต้องเติบโตแบบ  “สูง”  นี่ก็คือ  การที่ยอดขายและกำไรของบริษัทจะต้องเพิ่มขึ้นทั้งด้านของเม็ดเงินและจำนวนหน่วยการขาย    นอกจากนั้น  การเติบโตนั้น   จะต้องเป็นการเติบโตที่  “ยั่งยืน”   ต่อเนื่องเป็นเวลาหลาย  ๆ   ปี    ประเด็นสำคัญก็คือ    ยอดขายที่เกิดขึ้นนั้น   แต่ละปีจะต้องเพิ่มขึ้นไม่ลดลง  โดยที่ปัจจัยภายนอกจะต้องมีอิทธิพลค่อนข้างน้อยมาก    ข้อที่ควรสังเกตก็คือ  การเติบโตแบบ  “สูง”  นั้น  มักจะไม่เร็วมาก   การ “สูง”  ขึ้นปีละ 10 %  ถือว่าอยู่ในขั้นใช้ได้   การสูงขึ้นปีละ 15%  นั้นถือว่าค่อนข้างดีมาก   และการสูงถึงปีละ 20%  ในระยะยาวนั้น  แทบเป็นไปไม่ได้สำหรับบริษัทในประเทศไทย   ส่วนการ      “อ้วน”   นั้น  เกิดขึ้นได้ง่ายกว่ามากและหลายบริษัทอาจจะอ้วนได้เป็นหลายสิบเปอร์เซ็นต์ในเวลาสั้น ๆ     แต่ตราบใดที่บริษัทไม่  “สูง” ขึ้น  โอกาสที่บริษัทจะหดตัวลงก็เกิดขึ้นได้เสมอ
ก่อนที่จะจบเรื่องของหุ้นโตเร็วนี้   ผมคงต้องเพิ่มเติมประเด็นสำคัญที่จะต้องดูอีกอย่างน้อย 2-3 เรื่องก็คือ    การเติบโตทั้งหมดที่พูดถึงนี้   ต้องเป็นการเติบโตจากภายในบริษัทเอง   นั่นก็คือ  โตขึ้นจากเงินกำไรสะสมของบริษัท  ไม่ใช่เป็นการที่บริษัทเพิ่มทุนหรือกู้เงินเข้ามามากกว่าปกติเพื่อ  “เบ่ง”  ให้บริษัทโตขึ้น   นอกจากนั้น   การเติบโตของบริษัทจะต้องให้ผลกำไรที่คุ้มค่ากับเม็ดเงินที่ลงทุน   นั่นก็คือ  กำไรต่อส่วนของผู้ถือหุ้นต้องอยู่ในระดับอย่างน้อย 10- 15% ต่อปีขึ้นไป  มิฉะนั้นแล้ว   การเติบโตก็จะไม่เป็นประโยชน์กับผู้ถือหุ้น
ในฐานะของ  Value Investor  ถ้าเราจะไม่ติดกับดักของหุ้นโตเร็ว   เราจะต้องสามารถแยกแยะได้ว่า  บริษัทที่เรากำลังวิเคราะห์อยู่นั้น  กำลังจะโตหรือไม่และเป็นการโตแบบอ้วนหรือเป็นการโตแบบสูง   หรือทั้งสูงทั้งอ้วนและสูงเท่าไรอ้วนเท่าไร    การให้มูลค่าหรือให้คุณค่าของการเติบโตนั้นก็เป็นเรื่องที่สำคัญมากเช่นกัน   เราควรให้คุณค่าแก่ความสูงมากกว่าความอ้วนมาก  เพราะความสูงเป็นสิ่งที่จะอยู่ต่อไป   แต่ความอ้วนนั้น  เป็นสิ่งที่มักจะเกิดชั่วคราว  ดังนั้น  คุณค่าที่เราให้ควรจะน้อย   และนี่ก็คือเรื่องของค่า  PE  ของหุ้น    นั่นหมายความว่า   หุ้นที่โตเพราะอ้วนนั้น  ค่า PE  อาจจะให้ได้ไม่เกิน 5-10 เท่า   ในขณะที่ค่า PE  ของหุ้นที่โตเพราะสูงอาจจะให้ค่า PE  ได้ถึง 10-15 เท่า    เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของศิลปะของนักลงทุนแต่ละคน   ข้อเตือนใจสุดท้ายของผมก็คือ  จงระวังหุ้นอ้วน

วันอาทิตย์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2556

งบการเงินสำหรับนักลงทุน โดย นรินทร์ โอฬารกิจอนันต์

Posted on August 3, 2012
http://www.thaisa.org/?p=326

ตอนที่ 1: Overview

ที่ผ่านมามีหลายท่านอยากให้ผมเขียนหนังสือเกี่ยวกับการวิเคราะห์งบการเงินบ้าง เพราะหาหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่อ่านง่ายๆ ไม่ได้เลย แต่ผมเองนั้นมิใช่นักบัญชี ความรู้บัญชีที่มีอยู่ก็เป็นเพียงแค่ความรู้ที่สะสมมาเพื่อใช้เอาตัวรอดในตลาดหุ้นเท่านั้น หลายปีผ่านไป ก็ยังมีคนถามเรื่องนี้อยู่ ไม่ทราบจะทำอย่างไรเหมือนกัน เอาเป็นว่าผมจะใช้บล็อกเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้สักพักก็แล้วกัน เป็นแค่การเล่าให้ฟังว่าตัวผมเองดูอะไรในงบการเงินบ้างเวลาลงทุน

เรื่องงบการเงินนั้น ผมยอมรับว่า ผมเองไม่ได้ให้น้ำหนักมากนัก เพราะผมตัดสินใจลงทุนจากเหตุผลเชิงคุณภาพเป็นหลัก (ธุรกิจมีอนาคตที่สดใส บริษัทมีกลยุทธ์การเติบโตที่ดี บริษัทมีข้อได้เปรียบที่ชัดเจน ฯลฯ) ผมจะใช้งบการเงินเป็นแค่การตรวจสอบอีกชั้นหนึ่งเพื่อให้แน่ใจว่า ตัวเลขต่างๆ สอดคล้องกับสิ่งที่เราคิดหรือไม่ และใช้ดูว่าบริษัทยังมีอะไรอย่างอื่นที่เราต้องกังวลอีกหรือเปล่า ผมถือว่า ผมเน้นลงทุนแต่ในบริษัทที่มีความน่าเชื่อถือระดับหนึ่งแล้วเท่านั้น และอาศัยการกระจายการลงทุน แทนการวิเคราะห์งบการเงินแบบเจาะลึก นักลงทุนบางคนอาจใช้งบการเงินเป็นเครื่องมือหลักในการเลือกหุ้น เช่น คนที่ลงทุนในแนว Asset Play แต่ผมก็ไม่เคยลงทุนในแนวนั้นเลย ผมคิดว่าผมคงไม่ได้รู้บัญชีลึกซึ้งมากขนาดที่จะขุดพบสิ่งที่ซ่อนอยู่ในงบการเงินที่คนทั่วไปมองไม่เห็นออกมาได้ งบการเงินเป็นสิ่งที่บอกอดีตและปัจจุบันของบริษัทได้ดี แต่บอกอนาคตได้น้อย ผมจึงให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์เชิงคุณภาพมากกว่า

สาระสำคัญของงบการเงินของบริษัทมหาชนนั้นอยู่ในงบสามตัวใหญ่ ได้แก่ งบดุล งบกำไรขาดทุน และงบกระแสเงินสด ส่วนหมายเหตุประกอบงบการเงิน และงบแสดงส่วนเปลี่ยนแปลงของผู้ถือหุ้นนั้น เป็นส่วนของรายละเอียดเพิ่มเติม ถ้าจะให้ดีเวลาอ่านงบการเงินควรพลิกไปอ่านความเห็นของผู้สอบบัญชีด้วยสักนิด งบการเงินที่ดีควรเป็นงบที่ผู้สอบบัญชีแสดงความเห็นแบบไม่มีเงื่อนไข ถ้าหากผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็น หรือแสดงความเห็นอย่างมีเงิ่อนไข มักทำให้ผมไม่ค่อยอยากอ่านงบการเงินของบริษัทนั้นต่อแล้ว เพราะไม่รู้ว่า สิ่งที่แสดงอยู่ในงบการเงินนั้นจะเชื่อถือได้มากแค่ไหน และพาลให้อยากเลิกคิดลงทุนในบริษัทนั้นไปด้วยเลย เพราะไม่รู้ว่าเราจะเสี่ยงลงทุนกับบริษัทที่ไม่สามารถแสดงงบการเงินในแบบที่เรียบร้อยตามหลักบัญชีให้นักลงทุนดูได้ไปทำไม ในเมื่อเรายังมีตัวเลือกอื่นดีๆ อีกมากมายในตลาด

และเช่นเดียวกัน การเป็นนักลงทุนนั้น ที่จริงแล้วไม่จำเป็นต้องเก่งบัญชีมากๆ แต่ควรเข้าใจภาพใหญ่ๆ ของการดูงบการเงิน เวลาที่เจองบการเงินของบริษัทที่ซ้บซ้อนมากๆ มีรายการพิเศษเยอะๆ แทนที่เราจะต้องพยายามแกะให้ได้ เราสามารถเปลี่ยนไปลงทุนในบริษัทอื่นที่มีงบการเงินที่เข้าใจได้ง่ายกว่าแทนก็ได้ มีให้เลือกอีกเยอะแยะในตลาด วอเรนบัฟเฟตกล่าวว่า บริษัทที่เขียนงบการเงินให้คนอ่านเข้าใจยากๆ เหมือนไม่อยากให้คนเข้าใจนั้น แสดงว่าอาจมีอะไรบางอย่างที่ไม่ดีที่เขาจะต้องแอบซ่อนเอาไว้ ถ้าธุรกิจดีจริงๆ เขามักจะอยากโชว์

แนวคิดอย่างแรกที่อยากให้นักลงทุนมองเวลาที่เริ่มต้นอ่านงบการเงินคือ งบดุลเป็นบัญชีที่แสดง “ฐานะการเงินของบริษัท” ณ วันสิ้นงวด พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ สมมติว่าหยุดกิจกรรมทุกอย่างไว้ชั่วคราว ณ วันสิ้นงวด แล้วลองนับดูว่าบริษัทมีสมบัติอะไรติดตัวบ้าง มีหนี้เท่าไร (เอาสินทรัพย์หักหนี้สินจะเหลือเป็นส่วนที่เป็นของบริษัทจริงๆ) ส่วนงบกำไรขาดทุนนั้นคือบัญชีที่แสดง ผลงานของบริษัท “ตลอด” งวดบัญชีนั้น กล่าวคือ ตลอดช่วงเวลาของรอบบัญชีนั้น บริษัททำรายได้ไปได้เท่าไร หักค่าใช้จ่ายแล้วเหลือกำไรเท่าไร (รายได้หักค่าใช้จ่ายเท่ากับกำไร) งบดุลจึงเป็นเหมือนภาพนิ่งเมื่อวันจบงวด ส่วนงบกำไรขาดทุนนั้นเป็นผลงานรวมตลอดระยะเวลาทั้งหมดเฉพาะในรอบบัญชีนั้น

ส่วนงบกระแสเงินสดนั้นเป็นบัญชีที่แสดงการไหลเข้าออกของเงินสดระหว่างรอบบัญชีนั้น นักบัญชีบังคับให้บริษัทมหาชนต้องแสดงการไหลเข้าออกของเงินสดด้วยเพื่อ “กันเหนียว” กล่าวคือ เวลาคิดกำไรขาดทุนตามหลักบัญชีนั้นอาจมีช่องว่างบางอย่างที่ทำให้บริษัทฉายภาพว่าธุรกิจไปได้ดีทั้งที่จริงๆ แล้วมีปัญหา การบังคับให้ต้องแสดงงบกระแสเงินสดด้วยนั้น จะช่วยทำให้บริษัทหาช่องว่างได้ยากขึ้น บางคนบอกว่างบกระแสเงินสดสำคัญ งบกำไรขาดทุนไม่สำคัญ บางคนบอกว่างบกำไรขาดทุนสำคัญ งบกระแสเงินสดไม่สำคัญ แต่ที่จริงแล้ว เวลาดูงบการเงินควรดูทั้งสามงบประกอบกันว่าสอดคล้องกันหรือไม่ถึงจะชัวร์ สรุปก็คือสำคัญทั้งสามงบ

นอกจากนี้ในแต่ละงบยังแยกออกเป็นสองชุดคือ งบการเงินเฉพาะบริษัท และงบการเงินรวม ด้วย เพราะบริษัทหนึ่งๆ อาจประกอบด้วยบริษัทร่วมและบริษัทย่อยหลายบริษัท เช่น พวกโฮลดิ้งคอมปะนี งบการเงินรวมคืองบที่รวมงบการเงินของบริษัทร่วมและบริษัทย่อยเข้าด้วยกันให้เหมือนเป็นบริษัทเดียวกัน จะได้เห็นสถานะการเงินทั้งหมดของบริษัท มีคำถามเสมอว่า เราควรดูงบการเงินเฉพาะของบริษัทหรืองบการเงินรวมดี บ่อยครั้งที่บริษัทมหาชนต้องการให้แต่ละหน่วยธุรกิจบริหารจัดการตัวอย่างแบบเป็นเอกเทศจึงทำให้ต้องมีโครงสร้างเป็นบริษัทร่วมและบริษัทย่อย แต่ในมุมของผู้ถือหุ้นแล้ว ไม่ว่าจะซอยยังไงก็เป็นสมบัติของผู้ถือหุ้นเหมือนกัน การที่ต้องจัดทำงบการเงินรวมก็เป็นวิธีการทางบัญชีที่จะช่วยทำให้กลุ่มธุรกิจดูเหมือนเป็นก้อนเดียวกัน โดยปกติแล้ว ผมจึงดูแต่งบการเงินรวมเป็นหลัก มีบางกรณีเหมือนกันที่เราควรจะดูงบการเงินเฉพาะของบริษัทมากกว่างบการเงินรวม แต่เป็นกรณีที่น้อยมากครับ ไม่อยากขยายความให้ชวนปวดหัว

เอาแค่นี้ก่อนนะครับสำหรับการ overview เอาไว้ตอนหน้าจะมาลงรายละเอียดทีละงบว่า เราควรดูอะไรในงบเหล่านั้นบ้าง

ตอนที่ 2: งบกำไร/ขาดทุน

ในฐานะ growth investor ถ้าผมเปิดงบกำไรขาดทุนขึ้นมาดู สิ่งแรกที่ผมมักจะดูก่อนเสมอคือการเติบโตของรายได้ครับ บริษัทที่ปกติดีควรมีรายได้เพิ่มขึ้นเสมอเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนจะเพิ่มมากหรือน้อยก็แล้วแต่ แต่ไม่ควรจะลดลงอย่างยิ่ง ที่ต้องเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน แทนที่จะเทียบกับงวดที่แล้วก็เพราะธุรกิจมักมีเรื่องของฤดูกาลเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงควรเทียบผลงานในช่วงเดียวกันของทุกปี และผมมักจะสนใจเฉพาะการเติบโตของรายได้ที่มาจากธุรกิจหลัก ไม่ใช่รายได้รวม เพราะรายได้อื่นๆ เป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนและมักไม่ใช่แก่นของธุรกิจของบริษัท จึงไม่ควรนำมาเกี่ยวข้องเวลาประเมินสภาวะของกิจการ

ที่จริงผมให้ความสำคัญกับการเติบโตของรายได้หลักมากกว่ากำไรเสียอีก เพราะการทำธุรกิจนั้นกำไรย่อมต้องมีความผันผวนบ้างเป็นเรื่องธรรมดาของการทำธุรกิจที่ต้องมีความไม่แน่นอน บริษัทที่กำไรเพิ่มขึ้นได้อย่างสม่ำเสมอเป็นเส้นตรง คงมีแต่บริษัทที่แต่งบัญชีเองเท่านั้น ดังนั้นถ้ากำไรของบริษัทลดลงบ้างในบางช่วง ผมไม่ถือว่าคอขาดบาดตาย และไม่มีความจำเป็นต้องรีบขายหุ้นหนี ซึ่งจะต่างกับคนที่เล่นหุ้นระยะสั้นด้วยวิธีการเก็ง EPS เป็นรายไตรมาส กลุ่มนี้ถ้าเขารู้ว่า EPS ไตรมาสหน้ากำลังจะลดลง ปกติเขาจะรีบหนีทันที แต่สำหรับผม ถ้ารายได้ยังเติบโตได้อยู่ สุดท้ายแล้วกำไรก็จะกลับมาสร้างจุดสูงสุดใหม่ได้อีก

แต่ถ้าหากรายได้ลดลงนั้น น่าเป็นห่วงมากกว่า เพราะปกติแล้วถ้าธุรกิจแย่ลงชั่วคราว บริษัทมักเลือกที่จะรักษารายได้เอาไว้ แล้วยอมลดกำไรลง มากกว่าที่จะปล่อยให้รายได้ลดลง เพราะถ้าโวลู่มขายลดลง ต้นทุนต่อหน่วยมักจะเพิ่มขึ้น ทำให้บริษัทแข่งขันไม่ได้ด้วย รักษาโวลุ่มไว้ก่อนดีกว่า ดังนั้นถ้าหากรายได้ถึงขั้นลดลง แสดงว่าปัญหาของบริษัทน่าจะไม่ธรรมดา ธุรกิจอาจจะกำลังหมดยุค หรือบริษัทกำลังเสียความสามารถในการแข่งขันไปอย่างถาวร

เว้นแต่พวกที่ขายสินค้าคอมโมฯ ที่ราคาตลาดผันผวนสูงๆ เช่น ถ่านหิน โรงกลั่น ฯลฯ พวกนี้บางทีราคาตลาดผันผวนแรงมากๆ ก็อาจทำให้รายได้ลดลงได้โดยที่ปริมาณการขายไม่ได้ลด ดังนั้นถ้าหากบริษัทเหล่านี้มีรายได้ลดลง ควรรีบตรวจสอบดูว่า ปริมาณการขายลดลงด้วยหรือไม่

ถัดจากการเติบโตของรายได้ ผมจะตรวจสอบดูว่า Gross Margin ของบริษัทเปลี่ยนไปอย่างไร Gross Margin ก็คือ (รายได้-ต้นทุนขาย) หารด้วย รายได้ หรืออาจจะตรวจดูว่าต้นทุนขายเพิ่มขึ้นมากกว่าหรือน้อยกว่ารายได้ที่เพิ่มขึ้นก็ได้ (ความหมายจะเหมือนกัน) ถ้า Gross Margin ไม่ต่ำลง แสดงว่า ไม่มีอะไรผิดปกติ ถ้าหากต่ำลง แสดงว่า ต้นทุนสินค้าสูงขึ้น หรือมิฉะนั้น อาจเกิดจากบริษัทยอม dump ราคาลงมา เพื่อดึงยอดขายเอาไว้ ก็ได้

นอกจากนี้ ถ้าอยู่ดีๆ Gross Margin ของบริษัทเพิ่มขึ้น อาจเป็นสัญญาณที่แสดงว่าพื้นฐานของบริษัทกำลังจะดีขึ้นได้ด้วย เช่น ตลาดอยู่ในช่วงเติบโตสูง หรือสินค้าใหม่ของบริษัทอาจสร้างความแตกต่างได้มากกว่าเดิมทำให้บริษัทมี market power มากขึ้น สามารถ command pricing ได้มากกว่าเดิม มีให้เห็นอยู่บ่อยๆ ครับว่า หุ้นที่กำลังจะทะยาน Gross Margin มักกระตุ้นขึ้นให้เห็นก่อน

ถัดจาก Gross Margin ผมจะดู Operating Margin ซึ่งได้แก่ EBIT หารด้วย รายได้ ครับ ถ้า Operating Margin ดีขึ้น แสดงว่าบริษัทอาจบริหารจัดการได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หรืออาจเป็นรายได้สูงขึ้น ทำให้ค่าโสหุ้ยต่อหน่วยลดลง ซึ่งเป็นเรื่องดีทั้งนั้น

สังเกตว่าผมจะสนใจ Operating Margin มากกว่า Net Profit Margin เพราะ Net Income นั้นนับรวมภาษีและดอกเบี้ยด้วย ทั้งสองรายการนี้ขึ้นอยู่กับโครงสร้างทางการเงินของบริษัทและการบริหารภาษี ฉะนั้นจึงไม่ค่อยเกี่ยวกับพื้นฐานของธุรกิจที่เปลี่ยนไปเท่าไร ทำให้เมื่อนำมารวมแล้ว อาจให้ภาพที่บิดเบื่อนเกี่ยวกับพื้นฐานของบริษัทได้ครับ วัดกันแฟร์ๆ เฉพาะรายการที่เกี่ยวกับ operation ไปเลยแมนกว่าครับ

อีกเรื่องที่ต้องระวังคือ เราไม่สามารถสรุปได้ว่าธุรกิจไหนดีด้วยการดูว่า Margin สูงหรือต่ำ เพราะขึ้นอยู่กับ economic ของแต่ละธุรกิจด้วย อย่างธุรกิจค้าปลีกนั้นมี Net Margin แค่ 3% เท่านั้น แต่อาจเป็นธุรกิจที่ดีกว่าธุรกิจผลิตเครื่องสำอางค์ที่มี Net Margin 10% เพราะว่า Turnover มันสูงกว่ากันมาก ในการเปรียบเทียบ Margin ข้ามบริษัทนั้น เราเปรียบเทียบได้แค่กับบริษัทอื่นที่ทำธุรกิจที่เหมือนกันเปี๊ยบ หาก Margin สูงกว่าก็แสดงว่า บริษัทมีความสามารถในการแข่งขันมากกว่าคู่แข่ง แต่ปกติแล้ว แม้แต่ธุรกิจแบบเดียวกัน ก็ยังไม่เหมือนกันเปี๊ยบเลย อย่างเช่น บริษัทบ้านบางบริษัทเน้นทำบ้านหรู บางบริษัทเน้นทำบ้านตลาดล่าง การที่บริษัทเน้นทำบ้านหรูมี Margin สูงกว่าอาจไม่ได้แปลว่าดีกว่าเสมอไป เพราะเป็นเรื่องปกติอยู่แล้วที่บ้านหรูควรจะมีมาร์จิ้นสูงกว่าบ้านตลาดล่าง การเปรียบเทียบ Margin ข้ามบริษัทจึงเป็นสิ่งที่ควรระวัง แค่เปรียบเทียบกับตัวเองในอดีตน่าจะดีกว่า

ตอนที่ 3: งบดุล

งบดุลคือบัญชีแสดง “ฐานะทางการเงิน” ของบริษัท กล่าวคือ สมมติว่าหยุดกิจกรรมทั้งหมดเอาไว้ชั่วคราว ณ วันปิดบัญชี บริษัทเป็นเจ้าของสินทรัพย์อะไรบ้าง มีหนี้สินอยู่เท่าไร ส่วนต่างระหว่างสินทรัพย์กับหนี้สินทั้งหมดของบริษัทนั้นเรียกว่า ส่วนของเจ้าของ ซึ่งหมายถึงส่วนของสินทรัพย์ที่ผู้ถือหุ้นเป็นเจ้าของจริงๆ ถ้าหากหักหนี้ออกหมดแล้ว ตามสมการ สินทรัพย์ = หนี้สิน + ส่วนของเจ้าของ

ในการตรวจสอบงบดุลตามปกติ ผมมักจะเริ่มต้นด้วยการตรวจดูลูกหนี้การค้าก่อน ลูกหนี้การค้าควรเพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนในสัดส่วนที่น้อยกว่าหรือเท่ากับรายได้ที่โตขึ้น เพราะถ้าเพิ่มขึ้นมากกว่า อาจเป็นสัญญาณที่แสดงว่า บริษัทเร่งยอดขายด้วยการปล่อยเครดิตให้แก่ลูกค้ามากขึ้นเพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าอยากซื้อ ซึ่งเป็นการเร่งยอดขายในระยะสั้น ที่อาจนำมาซึ่งปัญหาหนี้เสียในระยะยาวได้ ถ้าหากเห็นว่าไม่ปกติให้เปิดไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมในหมายเหตุประกอบงบการเงินเพื่อดูว่าจำนวนลูกหนี้การค้าแบ่งแยกตามระยะเวลาค้างจ่ายทอดยาวออกไปมากขึ้นหรือไม่ มีลูกหนี้การค้าที่สงสัยว่าจะเก็บเงินไม่ได้มากน้อยแค่ไหน ถ้ามี บริษัทได้มี่การตั้งสำรองไว้แล้วเพียงพอหรือไม่ ลูกหนี้การค้าเป็นรายการที่สำคัญมากในธุรกิจประเภทซื้อมาขายไป บ่อยครั้งที่บริษัทเหล่านี้ทำยอดขายให้ดูดีด้วยการผ่อนคลายเรื่องเครดิต แต่สุดท้ายแล้วรายได้ที่เพิ่มขึ้นนั้นตามเก็บเงินไม่ได้ กลายเป็นหนี้เสีย

ถัดจากลูกหนี้การค้าก็คือสินค้าคงคลังที่ควรเพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีที่แล้วในสัดส่วนที่น้อยกว่าหรือเท่ากับต้นทุนขาย (การค้าใหญ่ขึ้นก็ต้องสต๊อกสินค้ามากขึ้นได้แต่ควรจะไม่มากกว่า)

การทำบัญชีสินค้าคงคลังนั้น หลักบัญชียอมให้บริษัทเลือกวิธีลงบัญชีได้หลายแบบ (LIFO, LIFO, average cost) เพื่อให้สะท้อนความเป็นจริงได้มากที่สุด แต่ในทางตรงกันข้ามก็เป็นช่องโหว่ที่บริษัทอาจใช้เพื่อบริหารงบให้ดูดีได้ด้วย ถ้าหากเป็นธุรกิจที่ขายสินค้าที่ราคาเปลี่ยนแปลงเร็ว เช่น สินค้าไอที หรือราคาเปลี่ยนแปลงช้า แต่สินค้ามักสต็อกไว้นานกว่าจะขายออกไปจนทำให้ราคาทุนต่างกับราคาปัจจุบันมากๆ อย่างเช่น ที่ดิน วิธีตัดสินค้าคงคลังเวลาเกิดยอดขายที่แตกต่างกันนั้นจะทำให้ต้นทุนขายแตกต่างกันได้อย่างมาก ยิ่งถ้ามีการปรับเปลี่ยนวิธีระหว่างงวด หรือมี LIFO Liquation ตัวเลขต้นทุนขายในงวดนั้นอาจสื่ออะไรไม่ได้เลย ตัวเลขกำไรของธุรกิจที่ขายสินค้าที่มีราคาต้นทุนเปลี่ยนแปลงได้บ่อยจึงใช้วัดอะไรได้น้อยเหมื่อนกัน การเปรียบเทียบผลงานระหว่างคู่แข่งยิ่งต้องระวังเข้าไปใหญ่ เพราะไม่รู้ว่าวิธีการตัดจ่ายสินค้าคงคลังของสองบริษัทต่างกันมากแค่ไหน

สินทรัพย์ไม่หมุนเวียนของบริษัทที่สำคัญได้แก่ เครื่องจักร อาคารและที่ดิน สินทรัพย์เหล่านี้ส่วนใหญ่จะลงบัญชีที่ราคาทุนและตัดจ่ายค่าเสื่อมไปเรื่อยๆ ระยะเวลา (ถ้ามี) ซึ่งอาจไม่ได้สื่อความหมายอะไรมากนัก เพราะมูลค่าตลาดที่แท้จริงของสินทรัพย์เหล่านี้มักต่างกับมูลค่าทางบัญชีมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นสินทรัพย์ที่ซื้อมานานแล้ว โดยมากแล้วผมไม่ได้สนใจรายการเหล่านี้มากนักครับ

ลองตรวจดูว่าบริษัทมีสินทรัพย์อื่นๆ อะไรบ้าง กิจการที่ดีไม่ควรจะมีสินทรัพย์อื่นๆ มากนักโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากไม่ได้แจงไว้ด้วยว่าสินทรัพย์เหล่านั้นคืออะไร เพราะสินทรัพย์อื่นๆ คือบรรทัดที่บริษัทสามารถซุก non-productive assets ทั้งหลายเอาไว้ รวมทั้งพวกรายการสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับบริษัท เช่น เงินกู้กรรมการบริษัท/ผู้ถือหุ้นใหญ่บางคน รายการทำนองนี้ไม่ควรจะมีเลยเพราะอาจบ่งชี้ถึงความไม่โปร่งใส ธรรมภิบาลที่ไม่ดี และการมี conflict of interest ของบริษัทมหาชน อย่างไรก็ตาม ถ้าหากรายการเหล่านี้มีมูลค่าน้อยกว่า 5% ของสินทรัพย์ทั้งหมด ก็พอจะยอมรับได้ แต่ถ้ามากกว่านั้นก็อาจเป็นเรื่องที่เราต้องกังวล

อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญเวลาดูงบดุลก็คือการตรวจสอบความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัท เวลามองเรื่องหนี้นั้นเรามักสนใจแค่ว่าบริษัทมีหนี้มากหนี้น้อยเมื่อเทียบกับทุน แต่ที่จริงแล้วเรื่องที่สำคัญกว่านั้นมากคือ เรื่องสภาพคล่อง บริษัทจะมีหนี้มากหรือน้อยแต่ถ้าขาดสภาพคล่องที่จะจ่ายหนี้ในระยะอันใกล้ก็น่ากลัวเท่ากัน ลองดูว่าบริษัทมีเงินสดมากเท่าไรเมื่อเทียบกับดอกเบี้ยที่จ่ายอยู่ในแต่ละปีรวมทั้งเงินต้นส่วนที่มีกำหนดจะต้องชำระคืนภายในไม่เกินหนึ่งปีข้างหน้า ซึ่งบริษัทจะต้องแยกไว้ให้เห็นในงบดุล ถ้าหากบริษั่ทมีเงินสดน้อยเมื่อเทียบกับภาระหนี้ในระยะสั้น บริษัทอาจหวังใช้ลูกหนี้การค้าที่กำลังจะถูกเปลี่ยนเป็นเงินในอนาคตในการชำระหนี้ก็ได้ (หมุนเงินเอา) ลองเปรียบเทียบสัดส่วนระหว่างภาระหนี้ในระยะสั้นกับสินทรัพย์หมุนเวียนเหล่านี้ดูก็แล้วกัน เรื่องพวกนี้เอาไว้ผมจะพูดถึงอีกทีตอนที่พูดถึงเรื่อง ratio analysis ก็แล้วกันครับ

สุดท้ายควรเช็คดูในหมายเหตุประกอบงบการเงินว่าบริษัทมีหนี้สินที่อยู่นอกงบดุลอื่นๆ ด้วยหรือไม่ ที่สำคัญได้แก่ ความเสี่ยงที่จะโดนฟ้องร้องในอนาคต สัญญาที่มีภาระผูกผันทางการเงินต่างๆ และพวก lease obligation ทั้งหลาย สิ่งเหล่านี้ที่จริงแล้วถือเป็นส่วนหนึ่งของหนี้สินของบริษัทด้วย แต่ไม่ได้รวมไว้ในงบดุลตามหลักบัญชี ซึ่งเราก็ไม่ควรจะมองข้าม อีกเรื่องหนึ่งที่ผมชอบตรวจดูในหมายเหตุประกอบงบการเงินด้วยคือ บริษัทยังมีวงเงินเหลืออยู่กับสถาบันการเงินอีกเท่าไรที่ยังไม่ได้กู้จริง ตรงนี้ถือว่าเป็น buffer ที่สำคัญอย่างหนึ่งของธุรกิจ บริษัทที่ทำธุรกิจด้วยกู้จนเต็มวงเงินตลอดเวลาย่อมแสดงถือวัฒนธรรมการบริหารงานที่ค่อนข้าง aggressive เกินไป เวลาเกิด market shock มักกระทบรุนแรง อีกทั้งเวลาเจอโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจก็อาจไม่สามารถ take opportunity ได้ทันท่วงที เพราะไม่มีสภาพคล่องส่วนเกินที่จะนำมาใช้ลงทุนได้ทันทีครับ

ตอนที่ 4: งบกระแสเงินสด

งบกระแสเงินสดเป็นบัญชีที่แสดงการไหลเข้าออกของเงินสดที่เกิดขึ้นสะสมในกิจการระหว่างรอบบัญชีนั้น ในทางบัญชีเราแบ่งกระแสเงินสดออกเป็นสามจำพวกคือ กระแสเงินสดที่เกี่ยวกับการดำเนินงาน กระแสเงินสดที่เกี่ยวกับการลงทุน และกระแสเงินสดด้านการเงิน โดยที่เมื่อนำกระแสเงินสดทั้งสามจำพวกมารวมกันจะต้องเท่ากับเงินสดที่เปลี่ยนแปลงไปในรอบบัญชีนั้นพอดี เพราะกระแสเงินสดมีแค่สามอย่าง ถ้านำมาบวกกันก็ต้องเท่ากับเงินสดที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงในบริษัทระหว่างงวดนั้นนั่นเอง

ในงบกระแสเงินสด จะแสดงกระแสเงินสดทั้งสามประเภทให้ดูทีละประเภท ถ้าลองนำกระแสเงินสดทั้งสามประเภทมาบวกกันจะพบว่าต้องเท่ากับผลต่างระหว่างเงินสดตอนปลายงวดกับต้นงวดที่โชว์อยู่ในงบดุลของบริษัทนั้นพอดีด้วย

ในหมวดกระแสเงินสดเกี่ยวกับการดำเนินงานนั้นจะดูแล้วงงๆ นิดหน่อย เพราะปกติแล้วการทำบัญชีเพื่อโชว์กระแสเงินสดรับหรือจ่ายของกิจกรรมที่เกี่ยวกับการดำเนินงานให้ดูเป็นอย่างๆ (เช่น เงินสดรับจ่ายจากลูกค้า เงินสดรับจ่ายจากซัพพลายเออร์) นั้นค่อนข้างจะยุ่งยาก หลักบัญชีจึงยอมให้บริษัทแสดงกระแสเงินสดเกี่ยวกับการดำเนินงานทางอ้อม (INDIRECT METHOD) โดยเริ่มต้นจากกำไรสุทธิ แล้ว reconcile กลับด้วยรายการที่ไม่เกี่ยวกับเงินสดต่างๆ จนกระทั้งกลายเป็นกระแสเงินสดเกี่ยวกับดำเนินงาน

คนที่ไม่ใช่นักบัญชีเวลาอ่านรายการในกระแสเงินสดเกี่ยวกับการดำเนินงานแล้วพยายามจะนึกภาพตามว่าจริงๆ แล้วแต่ละบรรทัดมันเกิดขึ้นอย่างไรเลยมักจะงง เพราะจริงๆ แล้ว รายการพวกนี้เป็นเพียงแค่ item ที่มา reconcile ทางบัญชีให้กำไรสุทธิถอยกลับมาเป็นกระแสเงินสดเท่านั้น สรุปก็คือเห็นแล้วก็ไม่ต้องไปคิดอะไรมาก เหลือบไปดูบรรทัดสุดท้ายที่เขียนว่า เงินสดสุทธิจากกิจกรรมดำเนินงาน เลยดีกว่า ตัวนี้เป็นเสมือนตัวเลขที่บอกว่า ธุรกิจนี้ผลิตเงินสดไปได้เท่าไรตลอดรอบบัญชีนั้น ซึ่งควรจะเป็นบวก (ถ้าเป็นลบแสดงว่ายิ่งขยันยิ่งขาดทุน) และจะให้ดีควรมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงจากงวดที่แล้วไปในทิศทางเดียวกันกับกำไรสุทธิในงบกำไรขาดทุนของบริษัทด้วย ถ้าหากกำไรวิ่งไปทาง กระแสเงินสดวิ่งไปอีกทาง อาจเป็นไปได้ว่าบริษัทอาจกำลังสร้างภาพอะไรบางอย่างอยู่รึเปล่า

บางบริษัทชอบ capitalize ค่าใช้จ่ายต่างๆ เอาไว้ในงบดุลแทนที่จะตัดจ่ายออกมาเพื่อทำให้กำไรที่โชว์ออกมาดูสูง (ค่าใช้จ่ายน้อย) เช่น พวกค่าสิทธิ์ต่างๆ ค่าพัฒนาซอฟต์แวร์ ค่าซื้อกิจการ หรือแม้แต่ค่าโฆษณา บริษัทชอบอ้างว่าค่าใช้จ่ายเหล่านี้เป็นสินทรัพย์ไม่มีตัวตนเหล่านี้ที่มี future benefit เลยขอตั้งเป็นสินทรัพย์เอาไว้ก่อนแล้วค่อยทยอยตัดจ่ายออกมาทีหลัง เพื่อให้กำไรในระยะสั้นดูดี พอนานๆ ไปก็ค่อยตัดด้อยค่าเป็นรายการใหญ่ๆ ออกมา แล้วบอกว่านักลงทุนไม่ต้องไปสนใจ เพราะเป็นรายการพิเศษเกิดขึ้นครั้งเดียว แต่ทำเช่นนี้อยู่เนื่องๆ ทำให้กำไรในยามปกติดูสูงกว่าที่ควรจะเป็น ถ้าหากเราดูแต่งบกำไรขาดทุนอย่างเดียว ไม่ตรวจกระแสเงินสดด้วยว่าไปในทิศทางเดียวกันหรือเปล่าก็จะถูกบริษัทตบตาด้วยวิธีการแบบนี้ได้

กระแสเงินสดกลุ่มถัดมาคือกระแสเงินสดจากกิจกรรมการลงทุน อันนี้หมายถึงบริษัทได้จ่ายเงินออกไปเพื่อสร้างอนาคตอะไรบ้างระหว่างงวด เช่น ลงทุนซื้อที่ดิน เครื่องจักร อาคาร หรือกิจการต่างๆ กระแสเงินสดในกลุ่มนี้เราแยกออกมาจากกระแสเงินสดเกี่ยวกับการดำเนินงาน เพราะเป็นรายการที่จ่ายไปเพื่ออนาคต รายได้ยังไม่ได้เข้ามาจริงในงวดปัจจุบัน ถ้านำมารวมกันจะทำให้ดูเหมือนธุรกิจมีรายจ่ายสูงเกินจริง เพราะที่จริงแล้วพวกนี้เป็นรายจ่ายเพื่อสร้างอนาคต โดยปกติแล้วเงินสดสุทธิในกิจกรรมการลงทุนมักเป็นเลขติดลบ เพราะเป็นการจ่ายเงินออกไปเพื่อลงทุนซื้อสิ่งของต่างๆ

กลุ่มสุดท้ายในงบกระแสเงินสดคือกระแสเงินสดจากกิจกรรมจัดหาเงิน ได้แก่ รายรับรายจ่ายทั้งหลายที่เกี่ยวกับเจ้าหนี้และผู้ถือหุ้นของบริษัท เช่น เงินกู้รับ เงินจ่ายคืนหนี้ เงินปันผล เงินเพิ่มทุนรับ เป็นต้น รายการเหล่านี้ถูกแยกออกมาอีกหมวดหนึ่งต่างหากก็เพราะไม่ได้เกิดจากการทำธุรกิจ บางบริษัทอาจมีกระแสเงินสดดีเยี่ยม เพราะว่ากู้แหลก หรือเจ้าของรวยใส่เงินอุดตัวแดงเข้ามาเรื่อยๆ แต่ที่จริงแล้วตัวธุรกิจเองขาดทุนย่อยยับไม่ทำเงิน

โดยมากแล้วเวลาดูงบกระแสเงินสดผมก็เพียงแต่ดูกระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงานว่าเป็นบวกและไปในทิศทางเดียวกันกับกำไรสุทธิในวบกำไรขาดทุนหรือไม่ บางคนบอกว่า กระแสเงินสดดำเนินงานบวกกระแสเงินสดลงทุนจะต้องเป็นบวกด้วย แต่สำหรับผมคิดว่าไม่จำเป็น เพราะถ้าหากธุรกิจมีโอกาสในการเติบโตสูง บริษัทอาจลงทุนมากกว่ากระแสเงินสดที่ผลิตได้เอง ทำให้กระแสเงินสดติดลบ (ต้องอาศัยกระแสเงินสดจากกิจกรรมจัดหาเงินช่วย) แต่ไม่น่าห่วง เพราะเป็นการลงทุนเพิ่มการเติบโตในอนาคต (รายได้ของบริษัทควรเติบโตสูงด้วยจึงจะน่าเชื่อถือ) เว้นแต่ว่า เราไม่เชื่อว่าธุรกิจนี้จะเติบโตได้อีกและควรที่จะจ่ายเงินสดออกมาตอบแทนผู้ถือหุ้น (ปันผล) มากกว่าที่จะนำเงินกลับไปลงทุนเพิ่มในธุรกิจอีก

ตัวเลขอีกตัวหนึ่งที่มีประโยชน์กับเราในงบกระแสเงินสดคือ “ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจ่าย” เพราะเป็นตัวเลขที่ทำให้เรารู้ว่าในรอบบัญชีนั้นบริษัทได้ตัดจ่ายค่าเสื่อมไปเป็นค่าใช้จ่ายเท่าไร ส่วนใหญ่แล้วตัวเลขนี้มักอยู่ในบรรทัดต่อจากกำไรสุทธิในกลุ่มกระแสเงินสดดำเนินงาน ถ้าเราเอา EBIT ในงบกำไรขาดทุนมาบวกกลับด้วยตัวเลขนี้จะได้เป็นสิ่งที่เรียกว่า EBITDA ซึ่งนักวิเคราะห์นิยมนำมาใช้เป็นตัวแทนของ “กำไรที่เป็นเงินสด” ของบริษัท บางคนนิยมมอง EBITDA มากกว่า EBIT เพราะค่าเสื่อมเป็นอะไรที่เกี่ยวกับนโยบายทางบัญชีมากอาจเป็นช่องโหว่ของการตบตานักลงทุนได้ ทำให้ได้ภาพที่ไม่ชัดเจนเกี่ยวกับผลประกอบการในงวดปัจจุบัน การเอาค่าเสื่อมออกไปแล้วดูเฉพาะ EBITDA แทนอาจได้ภาพที่ดูสะอาดกว่า บางคนเรียก EBITDA ว่า Earnings before I tricked dumb analysts (แต่จริงๆ EBITDA ก็มีข้อเสียในแง่อื่นด้วย ดูประกอบไปทั้งสองอย่างนั้นแหละชัวร์กว่า)

นี่อาจเป็นอีกเหตุผลหนึ่งด้วยที่ทำให้ผมสนใจตัวเลขรายได้ในงบการเงินมากกว่าตัวเลขอื่นเพราะมันเป็นตัวเลขในบรรทัดเริ่มต้น (topline) ที่ยังไม่ได้ผ่านการถูกบิดเบือนโดยนโยบายบัญชีมากนัก ยิ่งตัวเลขที่อยู่ต่ำลงมาในงบการเงินเท่าไรมันก็ยิ่งถูกบิดเบือนได้ง่ายด้วยนโยบายทางบัญชีต่างๆ กำไรสุทธิที่เราสนใจกันมากที่สุดนั้นอยู่ในบรรทัดสุดท้าย (bottom line) ของงบการเงินเลย จึงไม่รู้ว่าตลอดทางที่ผ่านมาในแต่ละบรรทัดมันถูกบิดเบือนโดยตัวเลขในบรรทัดบนๆ ไปมากขนาดไหนแล้ว

ตอนที่ 5: Ratio Analysis

วิธีตรวจงบการเงินที่ง่ายที่สุดคือ การวัดอัตราส่วนทางการเงินต่างๆ หรือที่เรียกว่า Ratio Analysis อัตราส่วนทางการเงินนั้นมีอยู่ด้วยกันมากมายหลายตัวมาก เราอาจตรวจดูอัตราส่วนหลายๆ ตัวพร้อมกันเพื่อเป็นการตรวจสุขภาพโดยทั่วไปของบริษัทก็ได้ ต่อไปนี้เป็นอัตราส่วนสำคัญ 6 ตัว ที่ผมแนะนำให้ลองตรวจสอบดูก็จะได้ภาพของธุรกิจที่ครอบคลุมพอสมควร

1. Quick Ratio = (เงินสดและเทียบเท่า + ลูกหนี้การค้า + ตราสารการเงินระยะสั้น)/หนี้สินหมุนเวียน

Quick Ratio ใช้เช็ค “สภาพคล่อง” ของบริษัท โดยลองสมมติว่าถ้าเจ้าหนี้ระยะสั้น (หนี้สินหมุนเวียน) ทั้งหมดมาทวงหนี้พร้อมกัน บริษัทจะยังสามารถหมุนเงินสด (จากสินทรัพย์หมุนเวียนที่หมุนได้เร็ว) มาใช้คืนได้หรือไม่ โดยสามารถสำนึก Quick Ratio ก็ควรมากกว่า 1.0 และยิ่งมากก็ยิ่งดี ที่จริงแล้วมีอัตราส่วนอีกตัวที่คล้ายกันชื่อ Current Ratio ซึ่งนับรวมสินทรัพย์หมุนเวียนทั้งหมดของบริษัทว่าเป็นสินทรัพย์ที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้เร็ว แต่ผมไม่ชอบ เพราะไม่รู้ว่าสินทรัพย์หมุนเวียนอื่นๆ คืออะไรบ้าง และเวลาบริษัทขาดสภาพคล่องส่วนใหญ่แล้วสินค้าคงคลังมักจะหมุนไม่ค่อยออก เลยชอบดู Quick Ratio มากกว่าครับ
2. Return on Assets (ROA) = EBIT *(1-Taxrate)/สินทรัพย์เฉลี่ย

ROA ใช้วัดผลตอบแทนของธุรกิจ เพราะวัดกำไร (EBIT)ที่ทำได้เทียบกับเงินทุนที่จมอยู่ในสินทรัพย์ทั้งหลายของกิจการ (ต้องเฉลี่ยต้นปีกับท้ายปีเอา เพราะว่าไม่เท่ากัน) โปรดสังเกตว่าผลตอบแทนของธุรกิจที่แท้จริงนั้นต้องวัดเทียบกับสินทรัพย์มิใช่รายได้ เพราะสุดท้ายแล้วต้นทุนจริงๆ ของผู้ถือหุ้นคือเงินทุนที่จมอยู่ในรูปของสินทรัพย์ของบริษัทแทนที่จะเอาเงินนั้นไปหาผลตอบแทนอย่างอื่น บางคนใช้ Net Income แทนกำไร แต่ผมคิดว่าควรใช้ EBIT มากกว่า เพราะสินทรัพย์เป็นของเจ้าหนี้และผู้ถือหุ้นรวมกัน แต่ Net Income เป็นผลตอบแทนของผู้ถือหุ้นเท่านั้น เพราะหักดอกเบี้ยออกไปแล้ว ส่วนเหตุที่ต้องคูณด้วย 1-TaxRate เป็นเพราะ EBIT นั้นยังไม่ได้หักภาษีซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายของบริษัทออก มีอัตราส่วนอีกตัวหนึ่งที่คล้ายกันคือ ROE ซึ่งวัดผลตอบแทนของผู้ถือหุ้นอย่างเดียว แต่ผมเห็นว่า ROA นั้นดีกว่า ROE เพราะธุรกิจอย่างเดียวกัน อาจมี ROE ต่างกันได้ด้วยการกู้เงิน ถ้าอยากวัดศักยภาพของธุรกิจจริงๆ โดยไม่เกี่ยวกับการกู้เงิน ต้องดูกันที่ ROA ธุรกิจทั่วไปควรมี ROA อย่างน้อย 10% เฉลี่ยในระยะยาว ยกเว้นพวกสถาบันการเงินซึ่งไม่มีทางทำ ROA สูงเท่ากับ Real Sector ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่ดี

3. Debt to equity Ratio = หนี้สิน/ส่วนของทุน

D/E ratio คือ อัตราส่วนมาตรฐานที่ใช้ตรวจดู Leverage ของบริษัท หมายความว่า บริษัทใช้หนี้มากขนาดไหนในการเร่งผลตอบแทน เพราะบริษัทสองบริษัทที่ทำผลตอบแทนทางธุรกิจได้เท่ากัน บริษัทที่มีหนี้มากกว่าจะทำผลตอบแทนกลับสู่ผู้ถือหุ้นได้สูงกว่า (ROE มากกว่า) เนื่องจากใช้เงินทุนของผู้ถือหุ้นน้อย แล้วอาศัยการกู้เงินมาทุนแทน การที่บริษัทมี D/E ratio ที่สูงเกินไปจึงแสดงถึงความเสี่ยงที่ซ่อนอยู่ในผลตอบแทนที่มากกว่า เพราะถ้าธุรกิจสะดุด บริษัทที่มีหนี้มากกว่าย่อมเดือดร้อนมากกว่า อย่างไรก็ตาม การที่บริษัทไม่มีหนี้เลยไม่ได้แปลว่าเป็นสิ่งที่ดีเสมอไป บริษัทที่มีธุรกิจมั่นคงในระดับหนึ่งแล้ว และมีสินทรัพย์ถาวรที่สามารถใช้ค้ำประกันหนี้ได้ การมีหนี้น้อยเกินไปเท่ากับเป็นการละทิ้งโอกาสที่จะประหยัดภาษี เพราะหนี้เป็น Tax-shield อย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นการมีหนี้บ้างไม่ใช่เรื่องเสียหาย อาจเป็นเรื่องที่ควรกระทำเสียด้วยซ้ำ แต่ที่เราต้องระวังคือการมีหนี้มากจนเกินไปจนทำให้ธุรกิจเกิดความเสี่ยงมากกว่าที่จะช่วยทำให้ประหยัดภาษี สำหรับธุรกิจทั่วไปควรมี D/E ไม่เกิน 1.0 ถ้าเป็นธุรกิจซื้อมาขายไปอาจมี D/E ได้ถึง 3.0 ยกเว้นพวกสถาบันการเงินที่จะต้องมี D/E ที่สูงกว่านั้นมากครับ

4. Interest Coverage Ratio = EBIT/ดอกเบี้ยจ่าย

Interest Coverage Ratio ใช้ประมาณความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งแหล่งเงินภายนอกบริษัท เพราะถ้าบริษัทมีภาระจ่ายดอกเบี้ยต่อปีน้อยกว่ากำไรที่ได้จากธุรกิจมากๆ บริษัทก็สามารถรับผิดชอบภาระดอกเบี้ยได้ด้วยผลกำไรจากธุรกิจเอง นับว่าเป็นความมั่นคงอย่างหนึ่งของธุรกิจในแง่ของสภาพคล่อง บริษัทที่มีค่านี้น้อยกว่า 2.0 แสดงว่าผลตอบแทนส่วนใหญ่ของธุรกิจตกอยู่ในมือเจ้าหนี้ แทนที่จะเป็นของผู้ถือหุ้น ซึ่งอาจแสดงถึงการกู้เงินที่มากเกินไปด้วย

5. Asset Turnover = รายได้/สินทรัพย์

Asset Turnover ใช้วัด “ประสิทธิภาพ” ของธุรกิจ เพราะวัดว่าภายใต้สินทรัพย์ที่มีอยู่จำนวนหนึ่ง บริษัทสามารถสร้างรายได้ได้มากแค่ไหน ยิ่งสร้างรายได้ได้มากแสดงว่าสินทรัพย์ของบริษัทถูกนำไปใช้อย่างคุ้มค่า เพราะนำไปหมุนให้เปลี่ยนเป็นเงินได้เร็ว บางบริษัทขายของกำไรน้อยมาก แต่สินค้าหมุนเวียนเร็ว ก็สามารถสร้างผลตอบแทนทางธุรกิจที่สูงกว่าได้เหมือนกัน Asset Turnover จึงเป็นตัวเลขที่ไม่ควรมองข้าม ครั้งหนึ่งผมเคยเปรียบเทียบมาร์จิ้นของบริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกันแล้วเห็นว่าเหมือนๆ กันหมด แต่พอลองดู Asset Turnover ก็เห็นว่าแตกต่างกันมาก ทำให้ผมเกิดความสนใจบริษัทที่มี Asset Turnover สูงกว่าเพื่อน เพราะแสดงว่าจริงๆ แล้วบริษัทนี้ใช้สินทรัพย์ได้มีประสิทธิภาพมากกว่า แต่เวลาดูมาร์จิ้นแล้วไม่เห็นความแตกต่างเป็นเพราะลูกค้าของอุตสาหกรรมนี้ค่อนข้างมีการเปรียบเทียบราคาสูงมากทำให้ไม่มีบริษัทไหนสามารถเอากำไรเกินตลาดได้ แล้วในที่สุดก็ทำให้ผมได้ค้นพบหุ้นชั้นยอดในเวลาต่อมา ถ้าเราดูแต่มาร์จิ้นเราจะไม่พบความแตกต่างตรงนี้ครับ

6. Inventory Turnover = ต้นทุนสินค้าขาย/สินค้าคงคลังเฉลี่ย

อันนี้เหมือน Asset Turnover แต่วัดกันที่การหมุนสินค้าคงคลังอย่างเดียวเลย เป็นการเช็คว่าสินค้าของบริษัทหมุนเวียนดีหรือไม่ มี dead stock ที่อาจเสื่อมค่าในอนาคตได้เยอะหรือไม่ เป็นตัวเลขที่สำคัญมากสำหรับธุรกิจที่ขายสินค้าที่แตกต่าง เพราะแม้ว่าสินค้าที่แตกต่างมักจะทำมาร์จิ้นได้สูง แต่ถ้ามีส่วนที่ขายไม่ออกเยอะมาก (ซึ่งปกติต้องมีส่วนหนึ่งอยู่แล้ว) ถึงเวลาต้องมาตัดขาดทุนทิ้ง ทำให้สรุปแล้วอาจทำกำไรได้น้อยหรือขาดทุนเลยก็ได้ ถ้าเอา 365 ตั้งหารด้วย Inventory Turnover จะได้อัตราส่วนใหม่ที่เรียกว่า Days Inventory Turnover มีหน่วยเป็น วัน ซึ่งหมายถึงระยะเวลาโดยประมาณที่สินค้าของบริษัทจะค้างอยู่ในคลังก่อนที่จะทำยอดขายให้บริษัทได้ ถ้ายิ่งมีค่าน้อยก็แสดงว่าสินค้าซื้อง่ายขายคล่อง ขายได้แบบแทบไม่ต้องขนขึ้นบ้านเลย เป็นต้น