วันศุกร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2556

David Ryan ลงทุนในหุ้น เหมือนกับการล่าสมบัติ



David Ryan ลงทุนในหุ้น เหมือนกับการล่าสมบัติ

David Ryan
David Ryan เป็นศิษย์เอกของ William O’Neil ผู้มีความสนใจในการลงทุน เริ่มลงทุนตั้งแต่เด็ก และเข้าอบรมสัมมนาของโอนีลตั้งแต่อายุ 16 ปี หลังจากจบการศึกษาเขาขอสมัครเข้าทำงานที่ William O’Neil & Co โดยขอทำในตำแหน่งอะไรก็ได้ โดยไม่สนว่าจะได้เงินเดือนเท่าไหร่ ขอแค่ให้ได้ทำงานกับโอนีลก็พอใจแล้ว
หลังจากทำงานได้ 3 ปี ไรอันเข้าแข่งขัน U.S. Investing Championship และได้อันดับ 1 ในปีแรกที่เข้าแข่งขันด้วยผลตอบแทน 161%, ไรอันพิสูจน์ตัวเองว่าผลงานเขาไม่ได้มาจากโชคช่วย โดยการได้อันดับ 2 ในปีถัดมาด้วยผลตอบแทน 160% และกลับมาคว้าอันดับ 1 ในปีที่ 3 ด้วยผลงาน 118% รวมผลตอบแทน 3 ปีถึง 1,379% หลังจากทำงานไป 4 ปีใน William O’Neil & Co ไรอันได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็น VP รับผิดชอบเป็น portfolio manager และมือขวาในการเลือกหุ้นของโอนีลเองโดยใช้ CANSLIM อย่างเคร่งครัด
ในบรรดาเทรดเดอร์ที่ได้สัมภาษณ์มาทั้งหมดนั้น Jack Schwager กล่าวว่าไม่มีใครที่มีความน่าสนใจเท่าไรอัน เขาเป็นคนที่ไม่เรื่องมาก อยู่ง่ายและไม่ได้สนใจสิ่งตกแต่งหรูหรา ที่ทำงานของไรอันเป็น cubicle ที่เรียบง่ายและเล็กจนน่าแปลกใจต่างจากเทรดเดอร์ฝีมือดีคนอื่น นอกจากนี้ไรอันยังมีความกระตือรือร้นในการทำงานมาก โดยเขาเปรียบเทียบการลงทุนของเขาเสมือนกับเกมส์ล่าสมบัติ ที่นอกจากจะสนุกแล้วยังได้ผลตอบแทนเป็นรางวัลด้วย
ต่อไปจากนี้เป็นการสรุปหลักการสำคัญที่ไรอันให้ไว้ในการสัมภาษณ์
1. ไรอันแนะนำตัวอย่างหนังสือหลายเล่มสำหรับ stock trader เช่น How to make money in stocks (ของโอนีล), How I made $2 million in the stock market (Nicholas Darvas), Reminiscences of a stock operator (Edwin Lefevre), Super performance stocks (Richard Love) และอื่น ๆ อีกหลายเล่ม แต่เหนืออื่นใด ไรอันบอกว่าเขาเรียนรู้มากที่สุดจากตลาดนั่นเอง เขาจะมี trade diary เพื่อจะจดว่าทุกครั้งที่เขาซื้อหุ้น เขาซื้อเพราะเหตุผลอะไร เมื่อเอามาศึกษาซ้ำอีกครั้ง จะช่วยตอกย้ำแนวคิดของตนเองถึงการศึกษาลักษณะหุ้นที่เป็น winning stocks ในขณะเดียวกันก็จะได้เรียนรู้จากความผิดพลาดของตนเอง
2. สิ่งที่เขาเรียนรู้จาก trade diary มีหลายอย่าง เช่น ไม่ควรซื้อหุ้นที่มีลักษณะ overextended price, ใช้เกณฑ์การคัดเลือกหุ้นที่เคร่งครัด และต้องมีวินัยในการลงทุน ยิ่งวินัยสูงไม่แหกกฏมากเท่าใด จะได้ผลตอบแทนดีขึ้นเท่านั้น แต่ถ้ายิ่งฟังข่าวหรือข่าวลือ จะยิ่งมีผลตอบแทนแย่ลง
3. เขาเลือกหุ้นโดยการ screen ด้วย chart ก่อน จดหุ้นที่มี strong technical action แล้วรวบรวมเป็นลิสต์ เขาไม่ชอบหุ้นที่ราคาถูกเกินไปเพราะเชื่อว่าหุ้นประเภทนี้มีเหตุผลที่ราคา ของมันเป็นอย่างนั้น
4. หลังจากนั้นเขาจะศึกษางบของหุ้นในลิสต์ โดยดูที่ earning ย้อนหลัง 5 ปี และเทียบ earning ของ 2Q ล่าสุด โดยดูว่ามีการลดลงของอัตราการเติบโตของกำไรในแต่ละ Q หรือไม่ ถ้ามีอาจแสดงว่าระยะการเติบโตกำลังจะหมดลง นอกจากนี้เขายังใช้ EPS เทียบกับ EPS เฉลี่ยของกลุ่มว่าควรอยู่ในลำดับสูง
5. คนทั่วไปมักเชื่อว่าการซื้อหุ้นหลังจาก EPS ประกาศแล้วนั้นช้าเกินไป แต่เขาพบว่าหุ้น biggest winners จำนวนมากนั้น ประกาศ EPS ออกมาดีมากเป็นเวลานานพอสมควร ก่อนที่ราคาหุ้นจะพุ่งขึ้นไป เหตุที่ราคาหุ้นยังไม่ไปไหนในช่วงแรก อาจเป็นเพราะนักลงทุนไม่เชื่อว่าบริษัทจะยังทำ EPS ได้ดีต่อไปอีก (investor’s perception) หรือเป็นเพราะสภาพตลาดไม่เอื้อในขณะนั้น (market condition)
6. ปัจจัยสำคัญยิ่งกว่า EPS คือ relative strength (relative ROC เมื่อเทียบกับหุ้นทั้งตลาด) อย่างน้อย 80 และถ้าเกิน 90 จะชอบมาก หุ้นหลายตัวมีค่า RS สูงขึ้น ก่อนจะมี EPS break out ด้วยซ้ำ
7. คนส่วนใหญ่เชื่อว่า RS สูงแสดงว่าหุ้นขึ้นมากเกินไป และหุ้นส่วนใหญ่จะดอยเมื่อ RS อยู่ในระดับสูง แต่เราสามารถเลี่ยงสิ่งนี้ได้โดยการศึกษา chart โดยไม่เลือกหุ้นที่ overextended จาก base. หุ้นจำนวนไม่น้อยที่มี RS ทรงตัวในระดับสูงมาก สามารถ outperform ตลาดได้เป็นเวลานานหลายเดือน นอกจากนี้ ถ้า industry RS สูง จะยิ่งดีขึ้นไปอีก
8. เขาชอบหุ้นที่ RS สูง ๆ ยิ่งสูงยิ่งดี แต่ให้ระวังหุ้นที่ RS เริ่มลดลง แม้ว่าจะยังสูงกว่า 80
9. หลังจาก screen EPS และ RS แล้ว ขั้นถัดไปไรอันจะพิจารณากิจการที่มีหุ้นในตลาดน้อยกว่า (เช่น ไม่เกิน 30 ล้านหุ้น ถ้ามีแค่ 5-10 ล้านหุ้นยิ่งดี) กิจการที่มีจำนวนหุ้นมากมักจะ mature กว่าหรือมีการเพิ่มทุนหรือแตกหุ้นมาหลายหน ทำให้มี supply มาก
10. สำหรับ institutional ownership ถ้ามีก็ขอแค่ 1-20%
11. หุ้นที่น่าสนใจ ควรจะมีความแข็งแกร่งบางอย่างใหม่ ๆ เกิดขึ้นกับกิจการ เช่นผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือเป็นผู้นำในตลาด และผลิตภัณฑ์ใหม่ของหุ้นระดับ SME น่าสนใจกว่าหุ้นกิจการใหญ่
12. ด้วยเกณฑ์ที่ใช้ข้างต้น จะมีจำนวนหุ้นที่เข้าตาเพียงน้อยนิด เช่นไม่เกิน 70 จากจำนวนหุ้นทั้งตลาด 7,000 ตัว และเมื่อเลือกตามเกณฑ์ทั้งหมดอาจเหลือหุ้นเพียง 7 ตัว
13. เขาชอบหุ้นที่มีการวิ่งของราคาไปซักระยะ มากกว่าหุ้นที่แบนราบเรียบอยู่บน base เพราะนั่นหมายถึงหุ้นนั้นมีบางอย่างน่าสนใจในสายตาของนักลงทุน
14. ขนาดใช้เกณฑ์เข้มข้นแบบนี้ winning rate ของไรอันตกอยู่ราว ๆ 50% เขาใช้ cut loss ที่ 7% เสมอ
15. หุ้นที่เป็น winner ถ้าหุ้น strong โดยเฉลี่ยจะมีระยะเวลาถือ 6-12 เดือน, หุ้น weak มีระยะเวลาถือเฉลี่ย 3 เดือน แต่ถ้าเป็น loser ถือยาวแค่ 2 สัปดาห์
16. เขาไม่ชอบตั้งราคา bid เวลาซื้อหรือ offer เวลาขาย แต่เขาจะเคาะเลย
17. หุ้น new high เป็นหุ้นที่น่าสนใจเสมอ เพราะไม่มี overhead resistance การพยายามเลี่ยง whipsaw ในกรณีเช่นนี้ จะทำได้โดยการดู volume ยิ่ง volume เมื่อ break out เพิ่มกว่าปกติ 2 เท่าขึ้นไปจะยิ่งมีโอกาส whipsaw น้อย
18. ถ้าเลือกหุ้นได้ดี และเลือกจุดเข้าซื้อดี เราควรจะได้กำไรตั้งแต่ไม้แรกที่ซื้อ
19. หุ้น uptrend ที่อยู่ในระยะ consolidating จะต้องเห็น volume dry-up (downtrend in volume) ไม่เช่นนั้นอาจกลายเป็นจุดเปลี่ยน trend เป็นขาลง
20. Original CANSLIM โอนีลย้ำว่า P/E ไม่ใช่สิ่งสำคัญในการเลือกหุ้น แต่ไรอันเห็นต่าง เขาคิดว่าโอกาสลงทุนจะสำเร็จมากขึ้นถ้าหุ้นในลิสต์มี P/E ต่ำ ค่าที่ต่ำเขาหมายถึงไม่เกิน 1x-2x ของ P/E ตลาด ยกเว้นว่า P/E ของหุ้นกลุ่มนั้นสูงทั้งกลุ่ม กรณีนี้สามารถเลือกหุ้นที่มี P/E ใกล้เคียงหรือน้อยกว่ากลุ่มจะดีกว่า อย่างไรก็ดี ค่า P/E นั้นไม่สำคัญเท่ากับปัจจัยอื่นข้างต้น
21. เกณฑ์ทางทฤษฎีในการ short ของไรอันนั้นง่ายมาก แค่เอาเกณฑ์ CANSLIM มาใช้ในทางตรงข้าม ในการเลือกหุ้นที่จะ short แต่ในทางปฏิบัติ การ short นั้นโอนีลว่ายากกว่า long ราว 3 เท่า ดังนั้นสิ่งที่ดีที่สุดในตลาดหมีสำหรับคนส่วนใหญ่ คือการนั่งดูอยู่ข้างสนามเฉย ๆ
22. การดูตลาดหมีที่ง่ายที่สุดคือ การดูพฤติกรรมหุ้นที่ตนเองถืออยู่ ในขณะที่ตลาดยังเป็นกระทิงอยู่ แต่ leading stocks เริ่มอ่อนแรง อาจหมายความว่าหมีกำลังมาเยือน ถ้าหุ้นในพอร์ทถึงจุด stop หลาย ๆ ตัวในระยะเวลาใกล้เคียงกัน เป็นจุดให้เราระวังตัวและพร้อมจะออกจากตลาดได้เสมอ
23. Market rally ที่ดีควรจะมาพร้อมกับ volume ที่สูง และมีหุ้นที่ rally ทั่วไปทั้งตลาด จงระวัง rally ที่ไม่มีลักษณะทั้งสองอย่าง
24. Trader ที่ดีควรจะเรียนรู้จากประสบการณ์ของตนเอง ทั้งในด้านที่ประสบความสำเร็จ และความล้มเหลว แล้วนำมาปรับปรุงหลักการลงทุนของตนเองให้ดียิ่งขึ้นไปเรื่อย ๆ
25. หัวใจสำคัญของความสำเร็จของเขาเอง เขาบอกว่าเกิดจากความชอบในสิ่งที่ทำ มองหาความสนุกและความท้าทายจากการลงทุนและตลาดอยู่เสมอ ถ้าเราชอบและมีความสุขกับสิ่งที่เราทำ เราจะประสบความสำเร็จได้มาก
26. สาเหตุที่นักลงทุนส่วนใหญ่ในตลาดล้มเหลว ที่พบบ่อยสุดคือ เขาเหล่านั้นไม่เจอระบบของตนเอง ที่ตนเองสามารถทำตามได้ดีโดยเคร่งครัด ข้อแนะนำที่ดีที่สุดของเขาสำหรับนักลงทุนมือใหม่คือ จงเรียนรู้จากความผิดพลาดของตนเอง นี่เป็นหนทางเดียวที่จะเปลี่ยนตนเองให้เป็นนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จ
27. สิ่งที่เยี่ยมยอดที่สุดของตลาดคือ ตลาดเปิดโอกาสให้เราค้นหาหุ้น big winner ตัวใหม่ ๆ ได้เสมอ หน้าที่ของเราคือ แปลงการลงทุนให้เป็นการล่าสมบัติ … มองไปในตลาด มองไปใน chart ทั้งหลายแล้วคิดเสมอว่าหนึ่งในนี้คือ big winner และเรากำลังค้นหามันอยู่ … จงสนุกกับมัน หมั่นคอยติดตาม ค้นหาหุ้นที่มีคุณสมบัติตรงตามที่ตนเองคาดไว้ว่านี่คือหุ้น big winner ตัวต่อไป เลือกลงทุนกับมัน และดีใจกับความสำเร็จในการลงทุนเมื่อสิ่งที่เราคิดและทำนั้นถูกต้อง
ความสำเร็จของไรอัน เป็นผลมาจากการใช้วิธีการลงทุนที่แม่นยำ ได้ผลดี และมีวินัยในการปฏิบัติตามวิธีดังกล่าวอย่างสูงยิ่ง ผลงานของไรอันได้พิสูจน์ให้เห็นว่าวิธีการลงทุนนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นวิธี ใหม่ที่คิดค้นขึ้นมาเองก็สามารถประสบความสำเร็จได้ เขาพูดเสมอว่าวิธีการเกือบทั้งหมดนั้นได้มาจากหลักการ CANSLIM ของโอนีล และผนวกกับการทำงานหนัก เอาใจใส่กับการลงทุน ทำให้เขาสามารถประยุกต์หลักการดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพ
ความจริงอันหนึ่งในการลงทุนที่เห็นได้ชัด ได้แก่ นักลงทุนส่วนใหญ่จะขาดทุน เมื่อเขาเบี่ยงเบนจากหลักการของตนเอง ไรอันก็ไม่ใช่ข้อยกเว้นต่อความจริงนี้ ในช่วงปี 1983-1984 ผลตอบแทนจากการลงทุนของเขาแย่มาก จากความประมาท เพราะผลงานอันยอดเยี่ยมที่ผ่านมา ทำให้เขาทะนงตนและเลือกจะแหกกฏหนึ่งของตนเองคือ การเข้าซื้อหุ้นที่พุ่งขึ้นสูงเกิน base ไปมากแล้ว (overextended stock)
สำหรับ trade diary ของไรอัน จะเป็น chart ของหุ้นตัวนั้นที่พิมพ์ออกมา และเขาจะ mark จุดเข้าซื้อพร้อมกับเหตุผลที่ซื้อไว้ เมื่อเขาเพิ่ม position หรือขายหุ้น ก็จะ update chart พร้อมกับเหตุผลที่ทำเช่นนั้นไว้เสมอ วิธีนี้ช่วยย้ำเตือนตัวเองถึงลักษณะของหุ้นที่เลือกในลิสต์ จุดเข้าซื้อ จุดเพิ่ม และจุดขาย และเหนือกว่านั้น วิธีนี้จะเป็นการช่วยให้เขากลับมาศึกษา เพื่อเลี่ยงความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคตด้วย หลักการพื้นฐานของการลงทุนของเขาเหมือนกับโอนีล คือซื้อเพราะพื้นฐานของกิจการ (value) และความแข่งแกร่งของราคาหุ้น (strength) เขายังเชื่อในการเลือกหุ้นที่ดีที่สุดแล้วถือมัน มากกว่าการลดความเสี่ยงโดยการกระจายหุ้นเป็นหลาย ๆ ตัว และการมีจุดตัดขาดทุนที่ชัดเจนไม่เปลี่ยนไปมาถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของการลงทุนที่ประสบความสำเร็จ