ปีเตอร์ ลินซ์ ....นักลงทุนแห่งวอลล์สตรีท
ท่องเว็บไปเรื่อย เจอะเจอข้อมูลนักลงทุนชื่อก้อง เอามาแปะอ่านกันเล่นๆ ยามว่าง
ปีเตอร์ ลินซ์ (PETER LYNCH)
Investment Guru
แม้ว่าเราจะไม่สามารถเลียนแบบลักษณะการลงทุนของปีเตอร์ ลินซ์ได้
แต่เขาก็ยืนยันอย่างหนักแน่นว่า นักลงทุนรายย่อยสามารถที่จะวิเคราะห์หุ้น
ได้มีประสิทธิภาพกว่ามืออาชีพหลายๆ คน เราสามารถเลือกที่จะซื้อหรือขาย
ได้อย่างชาญฉลาดกว่า เนื่องจากนักลงทุนรายย่อยมีอิสระในการตัดสินใจ
มากกว่า ในขณะที่ผู้จัดการกองทุนต้องรับฟังความเห็นของคณะกรรมการ
ลักษณะงาน
ปลดเกษียณแล้ว ลินซ์มีชื่อเสียงในการเป็นผู้จัดการกองทุนที่ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์
ระหว่างที่เขาเป็นผู้จัดการกองทุนที่ Fidelity Magellan Fund ระหว่างปี 1977 ถึง 1990
ลักษณะการลงทุน
ลงทุนในหุ้นที่มีลักษณะโดดเด่นหลายชนิด โดยอาศัยการเจริญเติบโตและการฟื้นตัวของธุรกิจ
จะถือหุ้นเป็นระยะเวลาตั้งแต่หลายเดือนจนบางครั้งนานเป็นปี
ประวัติ
ลินซ์ทำงานที่ Fidelity เป็นที่แรกและที่เดียว เริ่มงานในตำเหน่งนักวิเคราะห์ในปี1969
ได้เป็นผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยในปี1974 และเข้ารับตำเหน่งผู้จัดการกองทุน Fidelity Magellan ในปี1977
ในขณะนั้นมูลค่าของกองทุนประมาณ 22 ล้านเหรียญ
ในปี1990 ซึ่งเป็นปีที่เขาตัดสินใจเกษียณเพื่อให้เวลาแก่ครอบครัวมากขึ้น
มูลค่าของกองทุนได้เพิ่มขึ้นเป็น 14 พันล้านเหรียญ
ไม่เคยมีผู้จัดการกองทุนคนใดทำได้อย่างเขามาก่อนในประวัติศาสตร์
ความลับในการบริหารกองทุนของเขาคือ การทำงานหนัก หกวันหรือบางครั้งเจ็ดวันต่อสัปดาห์
ทั้งนี้เพื่อที่เขาจะได้สามารถพบปะกับผู้บริหารของบริษัทต่างๆ ที่เขาลงทุน พูดคุยกับนักวิเคราะห์ทุกวัน
เขามีผู้ช่วยในงานวิเคราะห์เพียงแค่สองคน เขาบริหารหุ้นทั้งหมดใน portfolio เกือบ 1,400 หุ้น
บางบริษัทเขาซื้อที่จุดเริ่มต้นของการเจริญเติบโต
บางบริษัทเริ่มซื้อที่จุดฟื้นตัว และถือเป็นเวลาหลายปี
และหุ้นบางบริษัทที่เขาวิเคราะห์ผิดพลาดจะขายทันทีที่พบ
ผลตอบแทนที่ได้รับ
ระหว่างที่เขาบริหารกองทุนนั้น สามารถสร้างผลตอบแทนเฉลี่ย 29% ทบต้นต่อปีเป็นระยะเวลา 13 ปี ติดต่อกัน
และยังคงเป็นประวัติศาสตร์อยู่จนทุกวันนี้
ความสำเร็จที่สำคัญ
ความสำเร็จที่สำคัญของลินซ์ที่เขาเขียนไว้ในหนังสือของเขามักจะเป็นบริษัทเล็กๆ แต่มีอัตราการเจริญเติบโตที่สูงในตอนที่เขาเลือกลงทุน
วิธีการและแนวทางในการลงทุน
อันดับแรก เปิดหูเปิดตาให้กว้างเพื่อรับฟังแนวคิดใหม่ๆ
แนวคิดหลักของลินซ์คือ เราสามารถเลือกลงทุนได้จากสิ่งรอบตัวเรา
เช่นถ้าเราเลือกที่จะสนใจในสิ่งที่เรารู้และเข้าใจอยู่แล้ว อาจจะเป็นร้านอาหาร ร้านค้า
หรือแม้แต่การสังเกตเพื่อนบ้านที่กำลังถอยรถใหม่ออกมา
หรือเห็นโรงงานข้างทางกำลังขยายโรงงาน สิ่งเหล่านี้อาจจะเป็นตัวช่วย
ให้เราเลือกลงทุนกับบริษัทเหล่านั้นได้อย่างเหมาะสม.
แหล่งข้อมูลที่คุณสามารถหาได้ดีที่สุด :
งานของคุณ ซึ่งมันทำให้คุณคุ้นเคยกับธุรกิจ และคุณสามารถเข้าใจลูกค้า และผู้ขายวัตถุดิบอยู่แล้ว
เช่นหากคุณเป็นแพทย์ คุณจะเข้าใจโรงพยาบาล เข้าใจผู้ป่วย และบริษัทเวชภัณฑ์
ว่าเขาทั้งหมดต้องการอะไร และโรงพยาบาล และบริษัทเวชภัณฑ์
สามารถสนองความต้องการของผู้ป่วยได้หรือไม่
งานอดิเรกและ การพักผ่อนของคุณ เช่นกีฬาที่เล่น สถานที่ที่เล่น ห้างสรรพสินค้า
สินค้าที่คุณ และเพื่อนๆของคุณนิยมซื้อกัน ครอบครัวของคุณและของเพื่อนฝูง พวกเขาก็จะมีงาน
และงานอดิเรกของเขาซึ่งคุณสอบถามข้อมูลจากเขาได้การสังเกต
และประสบการณ์ของคุณที่มีต่อบริษัทที่คุณรู้จัก
อันดับที่สอง จัดหมวดหมู่ความคิดของคุณ
บริษัทต่างๆสามารถจัดประเภทได้ 6 ประเภทหลักๆ ดังนี้
1. ประเภทอุ้ยอ้าย (Slow growers) การเติบโตของกำไรจะสูงกว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเล็กน้อย ประมาณ 2-4% ต่อปี
2. ประเภทแข็งแกร่ง (Stalwarts) บริษัทที่ดีมีอัตราการเติบโตประมาณ 10-20% ต่อปี
3. ประเภทโตเร็ว (Fast growers) บริษัทเล็กๆที่มีอัตราการเติบโตที่สูงมากประมาณ 20 -25% ต่อปี
4. ประเภทขึ้นลงตามวัฎจักร (Cyclicals) บริษัทที่กำไรขึ้นลงตามสภาวะเศรษฐกิจ
5. ประเภทเริ่มฟื้นตัว (Turnarounds) บริษัทที่ประสบปัญหา แต่มีสัญญาณแห่งการฟื้นตัวที่ชัดเจน
6. ประเภทสินทรัพย์แฝง (Asset plays) บริษัทที่ราคาหุ้นต่ำกว่ามูลค่าของสินทรัพย์ หรือมูลค่าตามบัญชีที่เราทราบแต่อีกหลายคนในตลาดยังไม่ทราบ เช่นที่ดินที่มีอยู่อาจมีมูลค่าสูงมาก ในบริษัทประกันภัยที่ตั้งสำรองเงินประกันสูงๆ
ใช้ความพยายามที่มีอยู่ในการหาหุ้นประเภทโตเร็ว เพราะหากซื้อที่ราคาที่เหมาะสม
อาจทำให้เราได้รับผลตอบแทนสูงถึงสิบเท่าตัว
นอกจากนั้นให้มองหาหุ้นประเภทกำลังฟื้นตัว และบางครั้งควรเป็นประเภทมีสินทรัพย์แฝง.
อย่าถือเงินสด ทางที่ดีคือ นำเงินสดที่เหลืออยู่ไปลงทุนในหุ้นประเภทที่แข็งแกร่ง(Stalwarts)
เพราะคุณจะไม่พลาดเมื่อตลาดหุ้นปรับตัวสูงขึ้น
หลีกเลี่ยง หุ้นประเภทอุ้ยอ้าย(กำไรน้อยเกินไป) กับหุ้นประเภทขึ้นลงตามวัฎจักรที่กำลังแย่ลง
อันดับที่สาม สรุปเรื่องราวต่างๆเกี่ยวกับบริษัทที่เลือกได้
เหตุผลที่สนใจในบริษัทนี้
อะไรเป็นสิ่งที่ทำให้บริษัทนี้ประสบความสำเร็จ
อุปสรรคที่จะทำให้บริษัทล้มเหลวได้ ต้องแน่ใจว่าเรื่องราวเกี่ยวกับบริษัทนั้น
ง่ายต่อการทำความเข้าใจ ถูกต้อง เชื่อถือได้ และสามารถจัดลงในประเภทดังที่กล่าวมาแล้ว
ตัวอย่างคำถามง่ายๆที่ควรจะถามตัวเองเสมอเช่น
ถ้าบริษัทนี้จัดเป็นประเภทโตเร็ว แล้วสิ่งใดที่ทำให้มันเติบโตอย่างต่อเนื่อง?"
อันดับที่สี่ ตรวจสอบตัวเลขที่สำคัญ (Check the key numbers)
ถ้าคุณสนใจในสินค้าและบริการใดในบริษัท ให้ตรวจสอบว่ายอดขายต้องมากเท่าไร
จึงจะสามารถมีกำไรในจำนวนมากได้ (ตรวจสอบ Profit Margin)
ให้ความสำคัญกับบริษัทที่อัตราส่วน P/E ต่ำกว่าอัตราการเจริญเติบโตของกำไรต่อหุ้น (ให้ตรวจสอบ PEG)
ให้ความสำคัญกับบริษัทที่มีเงินสดจำนวนมากพอที่จะทำให้ธุรกิจแข็งแกร่ง
ให้ระวังบริษัทที่มีหนี้สินต่อทุนสูง (D/E หรือ Gearing สูง) โดยเฉพาะหนี้ที่มาจากวงเงินเบิกเกินบัญชี ซึ่งจะต้องจ่ายเมื่อถูกทวง
ซึ่งไม่เหมือนกับหุ้นกู้ที่มีระยะเวลากำหนดแน่นอน (ถ้าเป็นหนี้ชนิดหุ้นกู้จะดีกว่าเพราะตราบใดที่ยังจ่ายดอกเบี้ยได้
เจ้าหนี้จะเอาเงินคืนก่อนกำหนดไม่ได้)
หากเป็นบริษัทประเภทแข็งแกร่งหรือโตเร็ว ให้เลือกบริษัทที่มีกำไรก่อนภาษีสูงๆ
หากเป็นบริษัทประเภทเริ่มฟื้นตัว ให้เลือกบริษัทที่ราคาต่ำแต่มีศักยภาพที่จะกลับมาสูง.
อันดับที่ห้า ไม่ต้องไปสนใจการขึ้นลงของตลาด ให้ใช้เหตุผลในการซื้อขายเท่านั้น
จำไว้เสมอว่า กำไรขาดทุนที่จะได้รับไม่ได้ขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจโดยรวม
แต่จะขึ้นอยู่กับปัจจัยเฉพาะของธุรกิจที่บริษัทดำเนินการอยู่ ดังนั้นไม่ต้องไปสนใจการขึ้นลงของตลาดหุ้น .
ซื้อหุ้นเมื่อแน่ใจในเหตุผลที่อยู่เบื้องหลัง ที่ราคาที่เหมาะสม ลงทุนเต็มที่ตลอดเวลา
ขายหุ้นประเภทแข็งแกร่ง เมื่อ PEG สูงประมาณ 1.2 1.4 หรือเห็นแนวโน้มว่าการเติบโตเริ่มลดลง
ขายหุ้นประเภทโตเร็ว เมื่อเห็นสัญญาณว่าจะไม่มีทางขยายการลงทุนได้อีกแล้ว หรือการขยายกิจการนั้นเริ่มทำให้การขยายตัวลดลง
หรือเมื่อ PEG สูงประมาณ 1.5 2.0
ขายหุ้นประเภทมีสินทรัพย์แฝง เมื่อมีการซื้อกิจการเกิดขึ้น หรือเมื่อกิจการขายสินทรัพย์ได้ต่ำกว่าราคาที่ควรจะเป็น
ที่มา : One Up on Wall Street, P Lynch, 1989