ดูงบการเงินอย่างง่ายๆ
เรื่องนี้ต้องยกความไว้วางใจให้กับทีมผู้บริหาร รวมทั้งแนวโน้มธุรกิจที่เราตัดสินใจไปลงทุน ซื้อหุ้นบริษัทที่นักลงทุนเลือกแล้ว กระบวนการเลือก การตัดสินใจ ดิฉันขอให้เป็นเรื่องที่แต่ละท่านมองทะลุกันได้เอง ยุคนี้นักลงทุนฉลาดมากคะ เข้าใจไปสืบเสาะหาข้อมูลและมีมุมมองที่ละเอียดอ่อน จนคาดกันไม่ถึง เพราะมีแบบอย่างจากเพื่อนๆ นักลงทุนด้วยกัน มีข้อมูลที่หาได้ไม่ยาก หรือง่ายมากๆ ด้วยซ้ำไป อย่าง พ็อกเก็ตบุ๊ค จากกูรูหลายคน ทั้งคนไทย ทั้งคนต่างชาติ ที่ต่างอยากออกมาเล่าประสบการณ์การลงทุน ทั้งที่ประสบผลสำเร็จและที่ล้มเหลว เป็นโลกของข้อมูลข่าวสารจริงๆ
ในส่วนของตัวเลขของบริษัท หรือเราเรียกว่างบการเงินประจำปี ที่แสดงออกมาเป็นรายไตรมาส และสุดท้ายมาบรรจบเป็นรายปีนั้น นับเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่สะท้อนสุขภาพของกิจการ บรรทัดสุดท้ายที่นักลงทุนควักหัวใจออกมาดู คือ จะจ่ายปันผลให้ฉัน กี่บาทต่อหุ้น จะคุ้มค่ากับการถือรอ จะมีส่วนต่างขอราคา หรืออกหักผิดหวัง พาลขายทิ้งซะเลย
ตัวเลขทางการเงินของบริษัท จะว่าดูยากก็ยาก จะว่าย่อส่วนเจาะดูสาระสำคัญก็ทำได้ไม่ยาก เพราะอย่างน้อยมีนักการเงิน ผู้สอบบัญชีมืออาชีพช่วยกลั่นกรอง การแยกประเภท สอบเช็ค ตรวจทานความถูกต้องมาแล้ว นักลงทุนจึงต้องดูว่าบริษัทนั้น มีใครเป็นผู้สอบบัญชี เชื่อถือได้มากน้อยเพียงใด และยังมีหน่วยงานกำกับดูแล อย่าง กลต. อย่างตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คอยกำกับไว้ให้อีกชั้น เรื่องต้นทางพอวางใจได้ ส่วนเรื่องปลายทาง หมายถึง การอ่าน ทำความเข้าใจงบการเงิน นี่ซิ เป็นเรื่องส่วนบุคคลของผู้ลงทุนที่ต้องเติมความรู้ให้ตัวเอง
เรื่องนี้ดิฉันพอมีข้อแนะนำง่ายๆ เพื่อลดความกังวลของท่านนักลงทุนที่ยังอ่านงบการเงินไม่เป็น และไม่เข้าใจเลย จะทำอย่างไรดีล่ะ ลองมาแกะตัวเลขด้วยเทคนิคการวิเคราะห์งบการเงินอย่างง่ายๆ สัก 4 จุด เช่น
จุดแรก : กวาดตาไปดูที่กำไรสุทธิ เพราะจะเป็นตัวชี้วัดต่อไปยังกำไรต่อหุ้น เงินปันผลต่อหุ้น ต่อไปถึงราคาหุ้น เทคนิคคือ ต้องเปรียบเทียบกับงวดที่ผ่านมา ว่าเปลี่ยนแปลงมากน้อยเพียงใด จากนั้นย้อนกลับไปดูว่ากำไรนั้นเกิดจากอะไร ที่มา มาจากไหน บางครั้งก็ไม่ใช่กำไรจากรายการปกติ แต่เป็นกำไรจากรายการพิเศษ ซึ่งจะเกิดขึ้นตูมตามเพียงครั้งเดียว หากเป็นอย่างนั้นจริง ต้องตัดรายการนั้นออกไปก่อน โดยต้องไม่นำเข้ามาพิจารณา และยังตามติดดูต่อลงไปอีกด้วยว่ากำไรที่เพิ่มขึ้นมาจากยอดขายที่เพิ่มขึ้น หรืออัตรากำไรที่เพิ่มขึ้น เพราะจะสามารถบอกได้เกิดจากราคาที่ทำได้ดี หรือมาจากการควบคุมต้นทุนได้ดี ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นพื้นฐานที่สำคัญช่วยให้สามารถคาดการณ์กำไรของกิจการในอนาคตได้ใกล้เคียงมากขึ้น
จุดที่สอง : ดูอัตรา ROA-Return On Asset จะมองเห็นประสิทธิภาพของกิจการในการบริหารจัดการสินทรัพย์ และเงินทุน โดยเฉพาะกิจการที่ต้องมีการลงทุนในสินทรัพย์สูง เพื่อให้ได้มาซึ่งความสามารถในการทำกำไรที่เพิ่มขึ้น หากแม้กิจการนั้นๆ จะมีกำไรดี เติบโตต่อเนื่อง แต่ ROA กลับลดลง หรือคงที่ ก็อาจหมายความว่ากิจการนั้น มีการบริหารจัดการสินทรัพย์ที่แย่ลง สินทรัพย์ชิ้นใหม่ก่อให้เกิดกำไรน้อยกว่าสินทรัพย์ชิ้นเก่า หรือในกรณีที่เลวร้ายที่สุดการที่ ROA ลดลงอาจสะท้อนให้เห็นถึงการตัดสินใจในการลงทุนที่ผิดพลาดของบริษัทได้เช่นกัน
จุดที่สาม : ดูอัตรา ROE-Return On Equity จะสะท้อนถึงผลตอบแทนต่อส่วนทุนที่ผู้ถือหุ้นลงทุนไป การลดลงของ ROE ก็อาจสะท้อนถึงการบริหารจัดการเงินทุนที่ไม่ดี เช่น การกู้ยืมที่น้อยเกินไป เป็นต้น
จุดสุดท้าย : ที่มีความอ่อนไหวคือ Working Capital-เงินทุนหมุนเวียน และ Cash cycle-วงจรเงินสด ซึ่งสะท้อนความสามารถในการบริหารจัดการเงินทุนระยะสั้นของกิจการ เช่น หากกิจการมีจำนวนวันการเก็บหนี้เพิ่มขึ้นมาก ก็อาจหมายถึงกิจการอาจกำลังมีปัญหาด้านคุณภาพลูกหนี้ ซึ่งถ้าหากกิจการไม่สามารถเก็บหนี้ได้ก็จะหมายความว่าตัวเลขกำไรที่แสดงออกมาในงบการเงินตามเกณฑ์คงค้างจะไม่สะท้อนกำไรที่แท้จริงของบริษัท หรือถ้ากิจการมีจำนวนวันสินค้าคงคลังเพิ่มมากขึ้น ก็อาจหมายความว่ากิจการอาจมีปัญหาในเรื่องการขายสินค้า ในกรณีที่เลวร้ายที่สุดอาจหมายถึงสินค้าของกิจการตกยุค ไม่สามารถขายได้อีกต่อไป
เห็นไหมคะว่า ไม่ยากเพียงแต่อาจจะต้องมีข้อสังเกตเล็กๆ น้อยๆ เหมือนการใช้ชีวิตประจำวันของเรา มองว่า วันนี้มีเงินในกระเป๋าเท่าไหร่ พรุ่งนี้จะมีเพิ่มหรือลดลงยังไง ต่างเพียงกิจการเป็นภาพขยายที่โตขึ้น เราจึงต้องส่องกล้องมองเป็นจุดๆ แล้วนำมาเชื่อมต่อเป็นภาพเดียว ในการตัดสินใจว่า จะซื้อเพิ่ม จะขายทิ้ง การตัดสินใจเป็นของตัวท่านเองค่ะ