เปิดเคล็ดลับลงทุน ‘เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์’
18 กันยายน พ.ศ. 2551 00:05:00
ถึงแม้ เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ หน่วยงานที่รัฐบาลประเทศสิงคโปร์อยู่เบื้องหลังจะโด่งดังเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก แต่มีนักลงทุนไทยรู้จักกองทุนแห่งนี้ไม่มากนัก ตลอด 33 ปีการก่อตั้ง
กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ : กองทุนแห่งนี้สร้างผลตอบแทนให้ผู้ถือหุ้นเฉลี่ยสูงถึง 18% ต่อปี นับตั้งแต่ปี 2517 จนถึงปัจจุบัน
นับตั้งแต่มังกรสิงคโปร์ ลีกวนยู ปกครองเกาะสิงคโปร์ตั้งแต่ปี 2502 จนถึงปี 2533 เป็นเวลานานกว่า 31 ปี เขาตระหนักมาตลอดว่า สิงคโปร์ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติ และปัจจัยที่เอื้อให้เติบโตได้ด้วยตัวเอง ลีจึงวางรากฐานให้ประเทศเป็นแหล่งขนถ่ายสินค้า และใช้ศักยภาพทางด้านนี้อย่างเต็มที่ในการพัฒนาประเทศ
อีกด้านหนึ่งก็จัดตั้งกองทุนแห่งชาติขึ้น มีวัตถุประสงค์เพื่อลงทุนในกิจการสำคัญทั้งในและต่างประเทศ
นอกจาก เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ แล้ว ลียังริเริ่มให้จัดตั้ง Government of Singapore Investment Corporation (จีไอซี) ที่เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย “หลายหมื่นล้านบาท”
รายงาน เทมาเส็ก รีวิว 2008 ระบุว่า ในปี 2550 ที่ผ่านมา (สิ้นสุด 31 มีนาคม 2551) เทมาเส็กมีกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 18,000 ล้านเหรียญสิงคโปร์ (4.32 แสนล้านบาท) ขณะที่ในช่วง 5 ปีย้อนหลัง (2546-2550) มีกำไรสะสม 60,000 ล้านเหรียญสิงคโปร์ (1.44 ล้านล้านบาท)
ณ วันที่ 31 มีนาคม 2551 พอร์ตการลงทุนของเทมาเส็ก มีมูลค่า 185,000 ล้านเหรียญสิงคโปร์ (4.44 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้น 13% และมีส่วนผู้ถือหุ้น 144,000 ล้านเหรียญสิงคโปร์ (3.45 ล้านล้านบาท) โดยเงินลงทุน 79% ลงทุนอยู่ในรูปแบบที่เทียบเท่าเงินสด หรือการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ทั้งในและต่างประเทศ
ปัจจุบัน เทมาเส็ก ได้รับเครดิตความน่าเชื่อถือทางการเงินในระดับ AAA จาก Standard & Poor และ Aaa จาก Moody เป็นหน่วยงานการลงทุนที่ทรงประสิทธิภาพสูงยิ่งที่ทั่วโลกไม่อาจละสายตาไปได้
ทั้งนี้ การที่ค่าเงินเหรียญสหรัฐที่อ่อนค่าลง ทำให้ในปีที่ผ่านมา เทมาเส็ก มีการปรับพอร์ตการลงทุนขนานใหญ่ และรุกหลักการลงทุนอย่างกว้างขวาง
มร.ไมเคิล ดี กรรมการผู้จัดการอาวุโสของเทมาเส็ก ระบุว่า เป็นปีของการสร้างฐานให้มั่นคงเพื่อผลตอบแทนระยะยาว การปรับปรุงครั้งใหญ่นี้ ก็ยังทำให้เกิดโอกาสทั้งระยะกลางและระยะยาวด้วย
ในเดือนกรกฎาคม 2551 ที่ผ่านมา เทมาเส็ก เข้าไปพยุงฐานะของ เมอร์ริล ลินช์ (Merrill Lynch) โดยเข้าซื้อหุ้นใหม่มูลค่า 4,900 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 9% ของทุนจดทะเบียน และใส่เงินเพิ่มไปอีก 3,400 ล้านเหรียญสหรัฐ รวมทั้ง ได้ลงทุน 975 ล้านปอนด์ (2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ) ในธนาคารบาร์เคลย์ และเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในธนาคาร สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ขึ้นเป็น 19%
นอกจากนี้ ยังลงทุนใน บริษัท ภารตี อินฟาร์เทล บริษัทด้านโทรคมนาคมของอินเดีย บริษัท ทาทา สกาย บริษัทด้านสื่อของอินเดีย บริษัท อินเตอร์ฟาร์มา อินเวสเม้นท์ ประเทศแคนาดา และบริษัท สแต็ทส์ ชิพแพ็ค ผู้ให้บริการสารกึ่งตัวนำ ในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์
สำหรับการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เทมาเส็ก เข้ามาลงทุนโดยผ่านบริษัทต่างๆ หลายแห่งที่ไม่ค่อยถูกเปิดเผย ทั้งนี้ เมื่อต้นปี 2549 เข้ามาซื้อหุ้น บมจ.ชิน คอร์ปอเรชั่น (SHIN) จากตระกูลชินวัตร โดยปัจจุบันถือหุ้นผ่าน บริษัท ซีดาร์ โฮลดิ้งส์ จำนวน 1,742.40 ล้านหุ้น สัดส่วน 54.43% และถือหุ้นทางอ้อมผ่าน บริษัท แอสเพน โฮลดิ้งส์ อีก 1,334.35 ล้านหุ้น สัดส่วน 41.68%
คิดเป็นมูลค่าการลงทุนในหุ้น SHIN ทั้งหมดประมาณ 1.5 แสนล้านบาท หรือที่หุ้นละ 49.25 บาท และถอนทุนคืนโดยวิธีการจ่ายเงินปันผลอย่างดุเดือด เพียง 2 ปีครึ่ง (2549-ครั้งปี 2551) ก็ผันเงินสดจากชินคอร์ป กลับบ้านไปแล้วประมาณ 2 หมื่นล้านบาท
ก่อนหน้านั้น เทมาเส็ก ได้เข้ามาลงทุนใน บมจ.โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ (BH) ของกลุ่มโสภณพนิช ผ่านบริษัทในเครือ ได้แก่ Istithmar PJSC, Aranda Investments Pte Ltd. และ TLS Alpha Pte Ltd. ถือหุ้น BH รวมกัน 11.88% และมีสิทธิในการส่งกรรมการเข้ามาเป็นตัวแทนหนึ่งคน
ข้อสงสัยเรื่องกลยุทธ์การลงทุนของเทมาเส็ก แท้จริงแล้วเขายึดมั่นในหลัก 4 ประการ ใน 9 อุตสาหกรรมหลัก ถือเป็นนโยบายการลงทุนที่เคร่งครัด
มร.เอส ธนาบาลัน ประธานกรรมการของเทมาเส็ก ระบุว่า กลยุทธ์การลงทุนของเทมาเส็ก จะตั้งมั่นอยู่ในหลักการ “สี่ประการ” คือ 1.เศรษฐกิจที่กำลังเปลี่ยนแปลง 2.ประชาชนชั้นกลางที่กำลังเติบโต 3.มีความได้เปรียบเชิงธุรกิจสูง และ 4.กำลังจะเป็นผู้นำในธุรกิจ
นอกจากนี้ การลงทุนของเทมาเส็ก ยังโฟกัสอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเพียง “เก้าชนิด” ได้แก่ 1.การบริการทางการเงิน (สถาบันการเงิน) 2.การโทรคมนาคมและสื่อสาร 3.การขนส่งและโลจิสติกส์ 4.อสังหาริมทรัพย์ 5.โครงสร้าง(สาธารณูปโภค)พื้นฐาน 6.อุตสาหกรรมและวิศวกรรม 7.พลังงานและทรัพยากร 8.เทคโนโลยีวิทยาศาสตร์ชีวภาพ และ 9.สินค้าอุปโภคบริโภคและการดำเนินชีวิต
อย่างไรก็ตาม เทมาเส็กกลับเลือกที่จะเทน้ำหนักการลงทุนไปใน 2 หมวดหลัก ได้แก่ สถาบันการเงิน และโทรคมนาคม คิดเป็นสัดส่วน 64% ของการลงทุนทั้งหมด โดยมองว่า 2 หมวดนี้ เป็นตัวแทนที่บ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ และสะท้อนถึงกลุ่มคนชนชั้นกลางที่กำลังเติบโตได้ดีที่สุด และการลงทุนตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา เทมาเส็กได้เพิ่มน้ำหนักการลงทุนไปในประเทศเกิดใหม่ของเอเชีย ค่อนข้างมาก
น.พ.บุญ วนาสิน ประธานกรรมการเครือราชธานี กรุ๊ป และเจ้าของเครือโรงพยาบาลปิยะเวท เคยเล่าให้ฟังว่า การลงทุนของเทมาเส็ก มักจะมี “อินไซด์” ทางการเมืองด้วยว่า รัฐบาลจะให้น้ำหนักการส่งเสริมไปในอุตสาหกรรมไหน และเขาจะเลือกลงทุนในกิจการที่เป็น “หัวใจ” ทางเศรษฐกิจ แต่ที่ผ่านมาเลือกข้างผิดไปหน่อย
ในรายงานเทมาเส็ก รีวิว 2008 มร.เอส ธนาบาลัน ประธานกรรมการ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ความไม่แน่นอนยังอยู่ในระดับสูง และจะแพร่ระบาดไปยังเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ยุโรป และเอเชีย ซึ่งการขยายตัวของวิกฤตสินเชื่อซับไพร์ม จะยังคงมีผลร้ายต่อเศรษฐกิจโลกในอีก 24 เดือนข้างหน้า ขณะที่ราคาน้ำมัน และอาหารที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจะเป็นปัจจัยทดสอบตัวเลขเงินเฟ้อที่คาดการณ์กันไว้
“พวกเราเป็นห่วงว่า ความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้นของเศรษฐกิจที่มีทั้งเงินเฟ้อ และการชะลอตัวลงของภาวะเศรษฐกิจในเวลาพร้อมๆ กัน หรือที่เรียกว่าภาวะ Stagflation ปัญหาอันใหญ่หลวงทางสังคม และการเมือง พร้อมๆ กับความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจในอีก 3- 5 ปีข้างหน้า ล้วนเป็นภาพที่จะทำให้โอกาสในการทำกำไรลดน้อยถอยลง เมื่อมองไปข้างหน้า เทมาเส็กจะยังคงเน้นหนักที่การลงทุนที่สามารถสร้างผลกำไรสูงสุดในระยะยาวให้กับผู้ถือหุ้น
เรามีงบดุลที่ดีโดยใช้เงินลงทุนในสัดส่วนที่ต่ำ และมีความคล่องตัวสูงที่จะพุ่งเป้าการลงทุนไปสู่จุดหนึ่งจุดใดได้ในรูปแบบการลงทุนอันเหมาะสม หรือเลือกที่จะถือเป็นเงินสด ขณะที่จุดสนใจหลักของเทมาเส็กยังคงอยู่ที่เอเชีย แต่ก็ได้เปิดตลาดการลงทุนกว้างออกไป เช่นรัสเซีย และละตินอเมริกา มากขึ้น”
ล่าสุด ทรัพย์สินของเทมาเส็กอยู่ภายนอกเอเชีย 26% ของเงินลงทุนทั้งหมด ส่วนการลงทุนในสิงคโปร์ได้ลดลงเป็นครั้งแรกจาก 62,000 ล้านเหรียญสิงคโปร์ เหลือ 60,000 ล้านเหรียญสิงคโปร์