สินค้าคงเหลือ “พระรอง” ที่ไม่ควรมองข้าม
Posted on October 30, 2012
ในการพิจารณางบการเงินของบริษัท คนส่วนใหญ่มักให้ความสำคัญกับ รายได้ กำไร หรือกระแสเงินสด ฯลฯ ซึ่งแทบจะเป็น “พระเอก” ที่ถูกจับจ้องมองดูเป็นอันดับแรกๆ แต่หลายคนอาจมองข้ามรายการบางรายการ เช่น สินค้าคงเหลือ ลูกหนี้การค้า ฯลฯ ที่ดูเหมือนจะเป็นแค่ “พระรอง” แต่เชื่อไหมครับว่าพระรองเหล่านี้ อาจเป็น “สัญญาณบอกเหตุ” ให้กับเราได้อย่างดีทีเดียว
ในที่นี้ เราจะมาพูดถึง “พระรอง” ที่มีชื่อว่า “สินค้าคงเหลือ” กันก่อนนะครับ
โดยมากแล้ว เรามักรู้จัก “สินค้าคงเหลือ” ในฐานะของ “สินค้าที่ยังขายไม่ออก” (ถ้าขายไปแล้ว จะกลายเป็น “ยอดขาย”) แต่ที่จริง คำๆ นี้มีความหมายกว้างกว่านั้น
ในกรณีของธุรกิจการผลิต เช่น ผลิตกระเบื้องมุงหลังคาหรือผลิตเฟอร์นิเจอร์ สินค้าคงเหลือจะกินความหมายตั้งแต่ วัตถุดิบ งานระหว่างทำ ไปจนถึงสินค้าที่ทำเสร็จแล้ว และสำหรับบางกิจการที่มีโชว์รูม สินค้าตัวโชว์ก็ถือว่าเป็นสินค้าคงเหลืออย่างหนึ่งด้วย
สิ่งที่เราควรทำก็คือ ต้องเปิดดูรายงานประจำปี และเจาะลึกลงไปในงบดุล (ปัจจุบันศัพท์ทางบัญชีเปลี่ยนเป็น งบแสดงฐานะการเงิน) โดยดูว่า “สินค้าคงเหลือ” กับ “ยอดขาย” มีความสอดคล้องกันหรือไม่ ถ้ายอดขายไม่โตขึ้นเลย แต่สินค้าคงเหลือเพิ่มขึ้นมาก อย่างนี้เราต้องตั้งคำถามแล้วว่าเกิดอะไรขึ้น
ปกติในงบดุลจะมีตัวเลขกำกับไว้ว่า รายละเอียดของสินค้าคงเหลือตรงกับ “หมายเหตุประกอบงบการเงิน” ข้อใด อย่างงบในมือผมนี้ สินค้าคงเหลือตรงกับหมายเหตุฯ ข้อ 8 (โปรดดูภาพประกอบ)
พอตามไปดูในหมายเหตุฯ ข้อ 8 ผมก็พบว่า สิ่งที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ “วัตถุดิบ” และ “สินค้าสำเร็จ” แต่การบ้านของผมยังไม่จบแค่นี้ เพราะผมต้องการหาด้วยว่า … มันเพิ่มขึ้นเพราะอะไร?!!
เมื่อเปิดดูคำอธิบายของบริษัท ผมก็พบข้อมูลว่า บริษัทได้ซื้อวัตถุดิบมาเก็บไว้ในปริมาณที่มากขึ้นเพื่อลดความเสี่ยง ในส่วนของสินค้าสำเร็จที่เพิ่ม ก็มาจากการขนส่งสินค้าที่หยุดชะงักในช่วงปลายปีเนื่องจากเหตุการณ์มหาอุทกภัย จึงสรุปได้ว่าสินค้าคงเหลือที่เพิ่มขึ้นในกรณีนี้ไม่ได้มีอะไรผิดปกติ … แบบนี้ถือว่าผ่าน
สิ่งที่นักลงทุนควรตระหนักก็คือ สินค้าคงเหลือมีความสำคัญต่อกิจการต่างๆ ไม่เท่ากัน!!
ธุรกิจบริการ เช่น โรงพยาบาล อาจมีสินค้าคงเหลืออยู่บ้าง เป็นพวกยาและเวชภัณฑ์ต่างๆ แต่สิ่งเหล่านี้ก็เป็นเพียง “ส่วนเติมเต็ม” ของธุรกิจหลัก ซึ่งก็คือ “การบริการ” เพราะฉะนั้น สำหรับธุรกิจประเภทนี้ เราอาจดูสินค้าคงเหลือประกอบ แต่ไม่ต้องซีเรียสกับมันมากนัก
ทว่าสำหรับธุรกิจบางประเภท เช่น ธุรกิจการผลิตที่ได้ยกตัวอย่างมาแล้วข้างต้น รวมถึงธุรกิจซื้อมาขายไป เราควรเน้นความสำคัญของสินค้าคงเหลือ และต้องระวัง “การด้อยค่า” ของสินค้า ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจอย่างรุนแรงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากสินค้านั้นล้าสมัยเร็ว อาทิ สินค้าเทคโนโลยี สินค้าแฟชั่น ฯลฯ
หากสินค้ามีการด้อยค่า บริษัทอาจบันทึกมูลค่าที่ด้อยลงนั้นเป็น “ค่าใช้จ่าย” ใน “งบกำไรขาดทุน” แล้วลดมูลค่าของสินค้า ซึ่งก็คือ “สินทรัพย์” ใน “งบดุล” ลงไป อันจะส่งผลให้บริษัทมีสินทรัพย์ลดและมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม ซึ่งแน่นอนว่ากำไรย่อมลดลงตามไปด้วย
ดังนั้น การมีสินทรัพย์ที่ด้อยค่าลงเป็นจำนวนมาก ย่อมไม่ใช่เรื่องดีต่อธุรกิจแน่นอน ส่วนจะบันทึกการด้อยค่าเท่าไรอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้บริหารเป็นสำคัญ
ทั้งนี้ บางบริษัทจะคำนวณ “ระยะเวลาขายสินค้าเฉลี่ย” เอาไว้ เราจึงควรติดตามดูว่าตัวเลขนี้เพิ่มสูงขึ้นจนผิดสังเกตหรือไม่ ถ้าสูงขึ้นมาก แปลว่าบริษัทเริ่มระบายสินค้าได้ช้าลง ซึ่งบ่งชี้ว่าธุรกิจกำลังมีปัญหา
โดยปกติแล้ว สินค้าที่ล้าสมัยเร็ว บริษัทต้องเคลียร์สต๊อกให้ไว เพราะยิ่งเก็บไว้ก็ยิ่งขายยากและได้ราคาต่ำ เผลอๆ จะขายไม่ออกเลยด้วยซ้ำ
เอาง่ายๆ นะครับ ถ้าโทรศัพท์ไอโฟน 5 ออกมาวางขายแล้ว เคสหุ้มไอโฟน 4 ก็เริ่มนับถอยหลังรอวันตายได้เลย เพราะขนาดตัวเครื่องไม่เท่ากัน พอคนทยอยเปลี่ยนเครื่อง อีกหน่อยเคสไอโฟน 4 ก็คงขายได้น้อยลงเรื่อยๆ
จากที่ได้อรรถาธิบายมาทั้งหมด เห็นหรือยังครับว่า เรื่องราวของสินค้าคงเหลือนั้นสำคัญไม่ใช่เล่นเลย แม้บทบาทของมันจะเป็นเพียง “พระรอง” แต่ก็ไม่ควรถูกมองข้ามด้วยประการทั้งปวงครับ