วันพฤหัสบดีที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2556

"กำไรสะสม" กับ "เงินสด"


"กำไรสะสม" กับ "เงินสด"

คำถาม
อาจารย์ครับ กำไรสะสม นี้มันคือ อยู่ในรูปเงินสดหรือเปล่าครับ

คำตอบ
"กำไรสะสม" ก็คือกำไรสะสม "เงินสด" ก็คือเงินสด อยู่คนละฝั่งในสมการบัญชีค่ะ แม้จะเกี่ยวข้องกัน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะสะท้อนภาพเดียวกัน

คำอธิบายเพิ่มเติม
กำไรสะสมเป็นส่วนหนึ่งของ "ส่วนทุน" ถือว่าเป็นส่วนทุนที่บริษัทสร้างจากความสามารถของบริษัทเองและสะสมไว้ในบริษัทตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน การที่ "กำไรสะสม" เพิ่มขึ้นทำให้เราคาดการณ์ว่า "เงินสด" ของบริษัทต้องเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว (ถ้ารู้สมการบัญชี เราจะเข้าใจว่า ส่วนทุนอยู่ด้านขวาของสมการ เมื่อด้านขวาเพิ่ม ด้านซ้ายของสมการต้องเพิ่มตาม ด้านซ้ายของสมการในที่นี้ เรามักคิดถึง "เงินสด" ดังนั้น เมื่อกำไรสะสมเพิ่ม เงินสดของบริษัทควรเพิ่มตาม แต่นั่น... ไม่จริงเสมอไป)

เมื่อกำไรสะสมเพิ่ม เรามักคาดหวังว่า "เงินสด" ของบริษัท (ซึ่งเป็นสินทรัพย์ชนิดหนึ่ง) จะเพิ่มขึ้นบาทต่อบาท แต่ในความเป็นจริง บริษัทอาจไม่ได้ค้าขายด้วยเงินสดเพียง อย่างเดียว ในการสร้างกำไร บริษัทอาจให้ลูกค้าแปะโป้งไว้ เรียกว่า "ลูกหนี้การค้า" (เงินสดยังไม่ได้รับ แต่กำไรรับรู้เข้ากำไรสะสมไปแล้ว) ลูกหนี้บางส่วนเบี้ยวหนี้ทำให้เกิด "ค่าใช้จ่าย" ที่เรียกว่า "หนี้สงสัยจะสูญ" ซึ่งจะกลายเป็น "ค่าใช้จ่าย" ที่จะนำไปหักจากกำไรสะสมในงวดต่อๆ ไป จากตัวอย่างนี้ เราจะเห็นว่า "กำไรสะสม" ทางด้านขวาของสมการ สามารถทำให้เกิดรายการทางด้านซ้ายของสมการได้ 3 รายการแล้ว นั่นคือ 1. เงินสด 2. ลูกหนี้การค้า 3. ค่าใช้จ่ายหนี้สงสัยจะสูญ

ไม่ใช่เพียงเท่านั้น...

สมมุติต่อว่า บริษัทได้รับเงินสดมาจากการขายสินค้าทั้งหมด จ่ายค่าใช้จ่ายด้วยเงินสดทั้งหมด เหลือกำไรเป็นเงินสดทั้งหมด แล้วโอนไปเข้าที่กำไรสะสม นั่นหมายความว่า บริษัทได้ "เงินสด" มาจาก "กำไรสะสม" บาทต่อบาท แต่ต่อมาบริษัทอาจไม่อยากกำ "เงินสด" ไว้นาน เพราะมีเรื่องที่ต้องใช้ เช่น จ่ายค่าเช่าล่วงหน้า เงินสดนั้นจะแปลงสภาพไปเป็น "ค่าเช่าจ่ายล่วงหน้า" ซึ่งถือเป็นสินทรัพย์รายการหนึ่งในงบดุล (งบแสดงฐานะการเงิน) หรือซื้อหุ้นของบริษัทอื่นมาเก็งกำไร (บันทึกเป็น "เงินลงทุน") หรือให้บริษัทอื่นกู้ยืมเงิน (บันทึกเป็น "เงินให้กู้ยืม" โดยเฉพาะกับกิจการที่เกี่ยวข้องกัน) หรือซื้อสินทรัพย์ที่ใช้ในการดำเนินงานที่มีอายุการให้ประโยชน์เกิน 1 (บันทึกเป็น "ที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์) ฯลฯ

ดังนั้น เราจะเห็นว่า "เงินสด" ที่บริษัทได้มาจาก "กำไรสะสม" นั้น อาจแปลงสภาพไปเป็นสินทรัพย์รายการอื่น เป็นค่าใช้จ่าย หรือนำไปลดหนี้สิน จนหมดไปจากคลังแล้ว บางครั้ง บริษัทสุรุ่ยสุร่ายหาเงินมาเท่าไรก็ไม่พอใช้ พอบริษัทจะประกาศจ่ายปันผลให้ผู้ถือหุ้น บริษัทก็ต้องไปกู้หนี้ยืมสินมาจ่ายปันผล (เมื่อสุรุ่ยสุร่าย ไม่มีวินัยการคลัง ก็ต้องกู้เงินเพิ่มหรือปิดโรงเรียนเล็ก.. เริ่มนอกเรื่อง)

สรุปก็คือ... คำว่า "กำไรสะสม" กับ "เงินสด" นั้นมีความหมายต่างกัน อาจเกี่ยวข้องกันในบางเรื่อง แต่มักไม่สะท้อนภาพเดียวกัน เช่น บริษัทมี "กำไรสะสม" มาก แต่อาจไม่มี "เงินสด" เพราะใช้หมดแล้ว หรือบริษัทมี "เงินสด" มาก แต่อาจไม่มี "กำไรสะสม" เพราะค้าขายขาดทุน และเงินสดที่มีอยู่ก็กู้เขามาทั้งนั้น (แล้วจะเอาเงินที่ไหนไปจ่ายคืน เพราะเล่นกู้เงินมาโกงกัน ตัวเองโกงไม่พอ เอาญาติตัวเองมาช่วยโกง เอาญาติตัวเองมาไม่พอ ไปชวนพวกมาช่วยโกง แล้วพวกก็ชวนญาติมาช่วยโกงต่อ พอเหลือแต่กระดูก ผู้บริหารก็ยังสุขสำราญ บาปได้กับนักลงทุนกับประชาชนค่ะ)