วันเสาร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2556

การลงทุนโดยพิจารณามูลค่า - การวิเคราะห์เชิงคุณภาพ


การลงทุนที่ในหลักทรัพย์ที่ปลอดภัยวิธีหนึ่งก็คือ การลงทุนที่เราได้พิจารณาตีราคาสิ่งที่เราลงทุนเรียบร้อยแล้ว เปรียบเทียบไปก็เหมือนกับการซื้ออสังหาริมทรัพย์ไว้เพื่อขายต่อ หากเราเห็นบ้านหรือที่ดินที่เจ้าของอยากขายโดยเร็ว ร้อนเงิน หรืออยู่ในสภาพที่ทรุดโทรมนิดหน่อย แต่อยู่ในบริเวณที่มีสิ่งแวดล้อมที่ดี และเราได้ศึกษาแล้วว่าราคาปกติของทรัพย์สินนั้นควรจะเป็นเท่าไร แต่ถ้ามีใครขายให้เรา ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดในราคาที่ต่ำกว่า แล้วเราได้ซื้อไว้เพื่อเก็งกำไรขายต่อ (หรือให้เช่าก็ตามที) โอกาสที่จะขาดทุนย่อมน้อยลง


กับหลักทรัพย์หรือที่เรียกว่า หุ้น ก็เช่นเดียวกัน หากผู้ลงทุนได้คิดคำนวณแล้วว่าราคาที่เหมาะสมของหลักทรัพย์ของบริษัทหนึ่งๆ ควรเป็นเท่าไร ก็จะทำให้สามรถตัดสินใจได้ง่ายขึ้นและถูกต้องมากขึ้นได้เมื่อถึงเวลาที่จะต้องซื้อหรือขาย การตัดสินใจลงทุนด้ยการพิจารณามูลค่าของบริษัทอย่างนี้ มีคำเรียกเป็นพิเศษว่า Value Investment ครับ

ในหนังสือหรือตำราหลายๆ เล่มมักจะแปลออกมาเป็น การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ผมก็ไม่แน่ใจว่าเพื่อนๆ ท่านอื่นฟังแล้วรู้สึกเหมือนผมหรือเปล่า คือ แว่บแรกนั้น ไม่เข้าใจว่า "คุณค่า" หมายถึงอะไร เพราะในหลายๆ โอกาส การใช้คำว่า คุณค่า ในความหมายส่วนใหญ่นั้นมักเกี่ยวข้องกับของที่จับต้องไม่ได้ แต่สำหรับการลงทุนนั้น "ค่า" ของบริษัทเรามักจะตีความออกมาจนจับต้องได้ ไม่ว่าจะเป็นค่าทางด้าน Subjective/Qualitative (เช่น การได้รับความนิยม, การเป็นผู้นำ, การมีข้อแตกต่างจากผู้อื่น, การผูกขาดโดยทางอ้อม เป็นต้น) หรือด้าน Quantitative (งบการเงินที่แข็งแกร่ง, ตัวเลขสัดส่วนทางการเงินที่ดี เป็นต้น) ผมจึงพยายามหาคำที่ดูจะเหมาะสมขึ้นอีกสักนิดก็คือคำว่า "มูลค่า" ครับ

ดังนั้นหากเราจะเรียกว่า Value Investment คือการลงทุนที่เน้นมูลค่าของสิ่งที่เราลงทุนไป ก็คงไม่ผิดอะไรนะครับ หรืออาจจะฟังดูตรงความหมายกว่าด้วยก็เป็นได้ แต่จะอย่างไรก็ตาม ขอให้เพื่อนๆ เข้าใจว่า เป็นของอย่างเดียวกันนะครับ

เมื่อผมเขียนบทความเพิ่มเติมในส่วนนี้ จะแจ้งให้เพื่อนๆ ทราบที่หน้าแรกนะครับ แต่อย่างไรก็ตาม ข้อเขียนที่หน้าแรกอาจจะตกเร็ว (คือแบบว่า ผมเขียนบ่อยเกิ๊น) เพื่อนๆ อาจจะเข้ามาติดตามอ่านในนี้ได้ตลอดเวลานะครับ

ตอนที่ 1 (27 ม.ค. 54)
การลงทุนในหุ้น เทียบกับ การลงทุนอื่นๆ

คนเราทุกๆ คน เมื่อพอที่จะหาเงินรับประทานได้ ก็คงมีเป้าหมายทางด้านการเงินด้วยกันทุกคน ไม่ว่าเราจะรู้ตัวหรือไม่ (เอ๊ะ หรือว่าบางคนอาจะจไม่มีเป้าหมายอะไร ก็เป็นได้เหมือนกันนะครับ) เช่น ต้องการอยู่ดีกินดี มีเงินเหลือ สามารถจุนเจือครอบครัว พ่อแม่ ต้องการส่งลูกเรียนหนังสือให้มีวิชาความรู้ดีๆ มีเงินสำหรับทำกิจการหรือขยายกิจการให้ใหญ่ขึ้น เป็นต้น แต่เป็นที่ทราบกันว่า การที่เรามีเงินรายรับมากกว่ารายจ่ายแค่นั้น ไม่เพียงพอที่จะทำให้เราบรรลุสิ่งที่ต้องการได้ ตัวช่วยหนึ่งก็คือเราสามารถนำเงินส่วนที่เหลือและไม่ได้ใช้นี้ ไปลงทุนให้เกิดผลงอกเงยขึ้น อย่างไรก็ตาม การที่เราจะลงทุนได้โดยมีโอกาสประสบความสำเร็จได้สูงนั้น สิ่งที่เราต้องมีนอกเหนือไปจาก เงินส่วนเหลือ ก็คือ ความรู้ และ ประสบการณ์ ซึ่งโดยในโอกาสของความน่าจะเป็นแล้ว ถ้าเราทำสิ่งที่มีโอกาสประสบความสำเร็จได้สูง ด้วยวิธีของผู้ที่ทำแล้วมีโอกาสประสบความสำเร็จได้สูง นั่นหมายความว่า เป็นวิธีแบบที่ใครๆ ก็ทำได้ ไม่ต้องอาศัยความสามารถพิเศษพรสวรรค์๋แต่กำเนิด และเราก็ทำแบบนี้หลายๆ ครั้งซ้ำแล้วซ้ำอีก โอกาสที่เราจะประสบความสำเร็จโดยรวมในบั้นปลายนั้น ย่อมที่จะสูงไปด้วย ทั้งนี้ ผมไม่ได้หมายความว่า ในการทำอะไรในแต่ละครั้ง ทุกๆ ครั้ง จะต้องประสบความสำเร็จเสมอไป ในบางครั้งอาจะไม่สำเร็จบ้าง หรือสำเร็จช้ากว่าวิธีที่ดีบ้าง แต่นั่นก็ต้องอยู่ในกรอบที่ว่า เมื่อเกิดความผิดพลาดแล้ว จะต้องไม่เสียหายจนทำให้ชีวิตทางด้านการเงินโดยรวมเสียหายจนไม่สามารถแก้ไขได้ และจะต้องไม่หยุดทำ ไม่ใช่ว่า นำเงินทั้งหมดไปลงทุนในของอย่างเดียว แม้ของอย่างนั้นจะมีโอกาสประสบความสำเร็จได้ 80% แต่ก็ยังมีอีก 20% ที่อาจจะล้มเหลวได้ ดังนั้นการนำเงินทั้งหมดไปทำเช่นนั้น ย่อมไม่เป็นวิธีที่ดีอย่างแน่นอน

ตอนที่ 2 (29 ม.ค. 54)
หุ้นคืออะไร

บางที ความเข้าใจหรือความรู้สึกผิดๆ เกี่ยวกับหุ้นก็คือ หุ้นคืออะไรก็ไม่ทราบได้ อาจจะเป็นกระดาษหนึ่งแผ่นที่สามารถซื้อขายได้ และมีราคาเปลี่ยนแปลงไปได้ อาจะขึ้นหรือลงก็ได้ และในปัจจุบันนี้ เมื่อพูดถึงหุ้นอาจจะนึกไปถึงตัวอักษรและตัวเลขต่างๆ ที่วิ่งอยุ่บนหน้าจอ และสามารถกดปุ่มซื้อขายเปลี่ยนมือจากคนนี้ไปคนนั้นได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดจากความเป็นจริงไปมาก เพราะในเรื่องของการลงทุนในหุ้นแล้ว การซื้อขายหุ้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ในระหว่างทาง แต่ว่าไม่ใช่จุดสิ้นสุดแค่นั้น

ในความเป็นจริง หุ้น แสดงถึงความเป็นเจ้าของในบริษัทที่เราสนใจ ถ้าเปรียบเทียบให้เห็นภาพโดยทั่วไป ธุรกิจเล็กๆ นั้นเกิดขึ้นด้วยการนำเงินส่วนตัวของคน อาจจะเป็นหนึ่ง สอง สาม หรือกี่คนก็ได้ นำเงินมารวมกัน แล้วทำธุรกิจนั้น ส่วนของความเป็นเจ้าของของแต่ละคนก็ขึ้นกับสัดส่วนในการนำเงินมาลงในธุรกิจนั้น ในลักษณะแบบนี้ ธุรกิจแบบนี้ได้ชื่อว่าเป็น "บริษัทเอกชน" หรือยังคงมีความเป็นส่วนตัวอยู่ และเมื่อธุรกิจใหญ่ขึ้นเติบโตขึ้น ก็อาจจะปรับตัวไปเป็น "บริษัทมหาชน" และมีการขายบางส่วนออกมาให้กับผู้ที่สนใจลงทุน นี่คือต้นตอที่ทำให้ต้องมี "หุ้น" เกิดขึ้น

เมื่อเราซื้อหุ้น เราก็จะกลายเป็นเจ้าของธุรกิจ - จบข่าว (โห ง่ายซะ) ในระยะเวลานานผ่านไป มูลค่าในการเป็นเจ้าของธุรกิจนั้นจะขึ้นหรือลงก็ขึ้นอยุ่กับความสำเร็จหรือล้มเหลวของการดำเนินธุรกิจของบริษัทนั้น ถ้าธุรกิจดำเนินไปได้ดีมีกำไรมากหนี้สินน้อยลง มูลค่าของความเป็นเจ้าของก็จะสูงขึ้น

ทำไมเราจึงลงทุนในหุ้น

การลงทุนในหุ้น หรือหุ้นสามัญนั้น เป็นเพียงวิธีหนึ่งในหลายๆ วิธีของการลงทุนจากเงินที่เราเหนื่อยยากหามาได้ ยังมีวิธีอื่นๆ อีกที่บางทีอาจจะฟังดูเหมือนว่าไม่ได้เป็นการลงทุนเช่น การซื้อของสะสมมาเก็บไว้ เช่นพระเครื่อง เหรียญเก่าๆ รถยนต์รุ่นเก่าๆ เป็นต้น เหตุผลนั้นง่ายมากก็เพราะว่า นักลงทุนที่มีความสามารถดีนั้นทราบดีว่า การลงทุนในหุ้นเป็นวิธีที่ทำให้ได้ผลตอบแทนสูงที่สุด และในระยะเวลานาน (ย้ำ) การลงทุนในหุ้นเป็นวิธีที่ให้ผลตอบแทนได้สูงที่สุด

เรามาดูในด้านที่ไม่ดีบ้าง การลงทุนในหุ้นก็เป็นการลงทุนที่อาจจะไม่แน่นอนได้ เช่นมูลค่าของหุ้นสามารถที่จะตกลงได้ในบางช่วงเวลา บางครั้งราคาหุ้นอาจะจตกลงมาเป็นเวลานาน ความโชคร้าย หรือว่าการเข้าซื้อหุ้นที่ผิดราคาผิดเวลา สามารถทำให้เราได้รับผลตอบแทนที่่ต่ำได้ แต่เราสามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีการวางแผนในการลงทุนระยะยาว แต่ (โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง) สำหรับหุ้นแต่ละตัวที่นักลงทุนได้เลือกลงทุนแล้ว ไม่มีอะไรเป็นการรับประกันได้ว่าจะมีกำไรทุกครั้งไป ถ้านักลงทุนโชคร้ายจริงๆ หรือว่าเลือกหุ้นที่มีราคาลดลงเรื่อยๆ (มันมีเหตุ ที่ทำให้เป็นแบบนั้น ซึ่งเราหลีกเลี่ยงได้) นักลงทุนก็สามารถขาดทุนได้เช่นกันแม้ในระยะเวลานาน

ถ้าพวกเราได้อ่านบทความของผมไปเรื่อยๆ และเพิ่มพูนความรู้ความสามารถขึ้นไปเรื่อยๆ ท่านก็จะสามารถตัดสินใจลงทุนโดยมีความเสี่ยงที่ยอมรับได้และมีผลตอบแทนที่สูงได้ (low risk, high return) บทความนี้จะเป็นตัวช่วยทำให้พวกเรามีโอกาสเลือกหุ้นได้ถูกตัว ก็คือเลือกธุรกิจที่ดี และหลีกเลี่ยงหุ้นที่เราไม่ควรจะซื้อ (คือธุรกิจที่ไม่ดี) ซึ่งเป็นเรื่องที่นักลงทุนจะต้องทำงานคัดเฟ้นหาบริษัทเหล่านี้ แต่ก็เป็นเรื่องที่คุ้มค่าเพราะจะเป็นวิธีที่ทำให้เงินของเราทำงานให้กับเราได้ดีกว่าการนำเงินไปทำอย่างอื่น

ตอนที่ 3 (30 ม.ค. 54)
การเลือกลงทุนที่เกี่ยวข้องกับหุ้นในรูปแบบต่างๆ

ทีนี้เราลองมาดูกันนะครับว่า ถ้าจะลงทุนในหุ้นแล้ว มีกี่วิธีที่ทำได้บ้าง

- กองทุนรวมหุ้น
กองทุนพวกนี้สามารถที่จะให้ผลตอบแทนได้เหมือนกับการที่เราลงทุนเอง โดยที่เราไม่ต้องทำงานอะไรเป็นพิเศษนัก เมื่อเรานำเงินส่วนของเราซื้อหน่วยลงทุน เงินของเราก็จะผสมเข้ากับเงินของนักลงทุนคนอื่น และมีผู้จัดการกองทุนที่เป็นมืออาชีพทำหน้าที่เลือกและซื้อขายหุ้นให้กับเรา นอกเหนือไปจากการที่ไม่ต้องใช้ความพยายามหรือความสามารถพิเศษในการดูแลแล้ว การลงทุนผ่านกองทุนรวมที่มีการคัดเลือกเป็นเจ้าของหุ้นจำนวนหลายๆ ตัวมักจะมีความเสี่ยงที่ต่ำกว่าการที่ลงทุนแยกต่างหาก และนอกเหนือไปจากนั้น (สมมติว่า) ถ้านักลงทุนคนใดคนหนึ่งลงทุนในหุ้นเพียงตัวเดียวของบริษัทเดียว บริษัทนั้นอาจจะล้มละลายทำให้หุ้นมีมูลค่าเป็นศูนย์ได้ แต่กองทุนที่ถือหุ้นของบริษัทจำนวน 40-50 บริษัท ก็ย่อมมีโอกาสน้อยมากที่จะทำให้ทุนทั้งหมดกลายเป็นศูนย์ได้

ในทางตรงกันข้ามของการที่่มีความเสี่ยงต่ำนี้ การลงทุนผ่านกองทุนที่ลงทุนในหุ้นจำนวนหลายๆ บริษัทมาก ก็อาจจะได้ผลตอบแทนที่น้อยกว่าการลงทุนในหุ้นเพียงไม่กี่บริษัท ถ้าการลงทุนในหุ้นเพียงไม่กี่บริษัทนั้นได้รับการคัดเลือกมาอย่างถูกต้อง และที่สำคัญก็จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นและนักลงทุนก็จะต้องลงมือลงแรงในการเฟ้นหาหุ้นของบริษัทที่ดีและมีโอกาสที่จะเติบโตสูงต่อไปในอนาคต

จริงๆ แล้วการเลือกกองทุน ก็เหมือนกับการเลือกหุ้นนั่นแหละครับ คือถ้าเลือกผิด ก็อาจจะขาดทุนได้เหมือนกัน พูดง่ายๆ ก็คือไม่มีการรับประกันว่าจะได้กำไร (หรือแม้แต่เท่าทุน) ดังนั้นวิธีการหนึ่งในการลงทุน นักลงทุนอาจจะใช้วิธีผสมผสานกันก็ได้ โดยลงทุนเองด้วยการคัดเลือกหุ้นเอง และลงทุนผ่านกองทุนรวมผสมกันไปก็ไม่มีใครว่าอะไรนะครับ

- ตราสารหนี้
ถ้าว่ากันโดยพื้นฐานสุดๆ แล้ว ตราสารหนี้ก็คือเอกสารแสดงความเป็นเจ้าหนี้ของผู้ซื้อ (และลูกหนี้ - ผู้ออก) นั่นเอง เมื่อเราซื้อตราสารหนี้ เราก็กลายเป็นผู้ให้กู้ยืมเงินแก่สถาบันอะไรสักอย่างหนึ่ง (เช่นบริษัท, รัฐบาล - เรียกว่าพันธบัตร) และผู้ที่กู้เงินไปก็มีหน้าที่ที่จะต้องจ่ายดอกเบี้ยให้กับเรา และถ้าผู้กู้ไม่ล้มละลาย ล้มหายตายจากหมดสตางค์เสียก่อนล่ะก็ เมื่อหมดระยะเวลาของตราสารแล้ว (เรียกว่า maturity date) ก็มีหน้าที่ที่จะต้องจ่ายเงินคืนให้กับผู้ให้กู้หรือผู้ที่ถือตราสารนี้นั้นไว้ และก็จะจ่ายเป็นเงินเท่านั้น ไม่มากไปกว่านั้น ไม่น้อยไปกว่านี้ (อืม... เหมือนเพลงเลย) นั่นก็คือ ไม่มีกำไรหรือขาดทุนจากมูลค่าที่ตราไว้นั้น

ตราสารหนี้ก็มีสองประเภทคือ ที่ออกโดยเอกชนก็เรียกว่าตราสารหนี้หรือหุ้นกู้บริษัทเอกชน หรือถ้าออกโดยรัฐบาลเราก็เรียกว่าพันธบัตรรัฐบาล ภาษาอังกฤษก็เรียกว่า Treasury bill หรือ T-Bill นะครับ สำหรับหุ้นกู้บริษัทเอกชน ย่อมจะมีความเสี่ยงมากกว่า (เสี่ยงว่าบริษัทอาจจะเจ๊ง) ก็มักจะต้องให้อัตราดอกเบี้ยสูงกว่าพันธบัตรรัฐบาลซึ่งถือว่ามีความมั่นคงมากกว่า

ดูเผินๆ การลงทุนในตราสารหนี้ไม่มีความเสี่ยง (ถ้าตัดเรื่องบริษัทจะล้มละลายจ่ายเงินคืนไม่ได้ทั้งต้นทั้งดอกนะครับ) แต่จริงๆ แล้วไม่ได้เป็นแบบนั้นนัก การลงทุนในตราสารหนี้ก็มีความเสี่ยงในเรื่องของอัตราดอกเบี้ย คือถ้าอัตราดอกเบี้ยทั่วไป (เช่นเงินฝากธนาคาร ที่ถือว่ามีความเสี่ยงต่ำ และคงจะต่ำกว่าตราสารหนี้ของบริษัทเอกชนโดยทั่วไปด้วย) มีอัตราที่สูงขึ้น ราคาซื้อขายของตราสารหนี้ย่อมจะต้องลดลง ถ้าจะยกตัวอย่างให้เห็นเป็นตัวเลขก็เช่นว่า บริษัทเอ ออกตราสารหนี้ระยะเวลา 1 ปี (ยกตัวอย่าง สั้นๆ นะครับจะได้ง่ายหน่อย) มีอัตราดอกเบี้ย 5% ในขณะนั้นอัตราดอกเบี้ยทั่วไปอยู่ที่ 2.5% ก็คงไม่มีอะไรเกิดขึ้นกับคุณสมชายที่ซื้อตราสารหนี้นี้มาด้วยราคา 1,000,000 บาท (รับปันผลปีละ 50,000 บาท) แต่หากว่า อัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารแบบประจำ 12 เดือนขยับขึ้นไปเรื่อยๆ จนเป็น 10% (สมมติครับ สมมติ) ในเวลาอย่างนี้ หากมีความจำเป็นรีบร้อนเร่งด่วน คุณสมชายจะไม่สามารถขายตราสารหนี้ด้วยราคา 1,000,000 บาทอีกต่อไป เพราะว่าคนที่มีเงิน 1,000,000 บาทก็คงจะเลือกเอาเงินไปฝากธนาคารด้วยดอกเบี้ยปีละ 100,000 บาทน่าจะดีกว่า ดังนั้นคุณสมชายก็จะขายตราสารหนี้ได้เพียงราคา 950,000 บาทเท่านั้น (ว่ากันเพียงโดยประมาณเพื่อเป็นตัวอย่างเท่านั้นนะครับ) เพราะว่าจะต้องชดเชยกับเงินจำนวน 50,000 บาทที่หายไปจากการได้รับดอกเบี้ยที่อัตราเพียง 5% พอนึกภาพออกนะครับ ว่าก็ยังคงมีความเสี่ยงอยู่เช่นกัน แต่แน่นอนล่ะครับ เมื่อเป็นแบบนี้แล้ว คุณสมชายก็คงจะเลือกที่จะถือตราสารนั้นไปจนครบอายุ และไปรับเงินคืน 1,000,000 บาทจากผู้ออก (ผู้กู้) มากกว่าที่จะขายทิ้งไปนะครับ

และก็เหมือนกับหุ้นที่มีกองทุนสำหรับหุ้น ตราสารหนี้ก็มีกองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้เช่นกัน แต่ว่าโดยทั่วไปแล้วถือว่ามีผลตอบแทนที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับการลงทุนในหุ้นสามัญในระยะเวลานาน

ตอนที่ 4 (31 ม.ค. 54)
การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ 

บ้าน คือวิมานของเรา เป็นดังว่านี้แหละครับ คนเราจะต้องมีที่อยู่อาศัย มีบ้านหรือคอนโด อะไรก็ได้ล่ะครับไว้พักอาศัยหลับนอน ไม่ว่าจะกับครอบครัวหรือว่าอยู่เพียงลำพังคนเดียว และโดยทั่วไปแล้ว ราคาของบ้านและที่ดินก็มักจะเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป (อาจจะเป็นเพราะว่า จำนวนประชากรมากขึ้น หรือเกิดการย้ายถิ่นฐานจากบริเวณวงกว้าง เพื่อเข้ามาอยู่ในบริเวณที่จำกัด) แต่ถ้าเราจะซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อการเก็งกำไร ก็จะต้องนึกถึงสิ่งต่างๆ บางเรื่องต่อไปนี้ไว้ในใจเช่นกัน

ตัวอย่างหนึ่งก็คือ แม้ว่าราคาของอสังหาริมทรัพย์โดยมากแล้ว จะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ แต่ก็เป็นไปได้ที่ราคาจะลดลงเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้ลงทุนได้ซื้ออสังหาริมทรัพย์เข้ามาในราคาที่สูงเกินจริง หรือว่าเป็นช่วงของฟองสบู่ และการที่มีที่ดินมากกว่าที่จำเป็นต้องอยู่อาศัย ผู้ลงทุนก็จะต้องจ่ายเงินภาษีด้วย และถ้าให้คนอื่นเช่า ก็จะต้องคอยดูแลผู้เช่า คอยเก็บค่าเช่าตลอดจนซ่อมแซมตัวบ้านหรืออสังหาริมทรัพย์นั้นๆ และท้ายที่สุดก็คืออสังหาริมทรัพย์มีสภาพคล่องที่ต่ำมาก และไม่สามารถแบ่งขายเป็นส่วนๆ เล็กๆ ได้ (เช่น ซื้ออพาร์ทเมนต์มาให้เช่า แต่ว่ามีความจำเป็นต้องใช้เงิน ก็ไม่สามารถจะแบ่งขายอพาร์ตเม้นท์ออกไป สองห้อง ได้ เป็นต้น)

การฝากเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร

อย่างที่รู้กันดีอยู่แล้วว่า การฝากเงินในบัญชีเงินฝาก จะเป็นสิ่งที่ได้ผลตอบแทนต่ำมาก แต่ก็แลกมาด้วยความเสี่ยงที่ต่ำมากคือตัวเงินต้นก็น่าจะสามารถคงอยู่ได้ การฝากเงินไว้ถือว่าเป็นการเก็บเงินไว้เผื่อยามฉุกเฉินมากกว่า แต่ไม่ใช่วิธีการลงทุนที่ดี เพราะบางที (อย่างในปัจจุบันนี้ ปี 2552-2554) ผลตอบแทนที่ได้ก็ยังแพ้่อัตราเงินเฟ้อด้วยซ้ำไป

โดยสรุปแล้ว แม้ว่าการลงทุนในหุ้นอาจจะต้องการการดูแลจากผู้ลงทุน และมีงานที่ผู้ลงทุนจะต้องศึกษา ทำความเข้าใจ และตัดสินใจ และมีความเสี่ยงมากกว่าการลงทุนในอีกหลายๆ ด้าน แต่นักลงทุนก็ต้องไม่ลืมว่า การลงทุนในหุ้นเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่สูงมาก และในตอนต่อไป เราจะสามารถคำนวณได้ว่า ในระยะยาวแล้ว อัตราผลตอบแทนที่มากกว่าเพียงเล็กน้อยในแต่ละปี สามารถสร้างเป็นเงินก้อนจำนวนใหญ่มากให้กับนักลงทุนได้เลยทีเดียว

ตอนที่ 5 (1 ก.พ. 54)
การวิเคราะห์ธุรกิจด้วยตัวเอง

การลงทุน ไม่ใช่เรื่องของการร่ำเรียนมาทางด้านการเงิน การบัญชี แล้วก็ทำการคำนวณตัวเลขอัตราส่วนสารพัด แล้วนำไปใช้งานแค่นั้น แต่เป็นเรื่องของการรอบรู้ ที่จะต้องคอยสังเกตความเป็นไปและความเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวของเรา การลงทุนเป็นเรื่องของการคอยจับตาดูแนวโน้มของสิ่งต่างๆ และพิจารณาว่าแนวโน้มเหล่านั้นจะมีผลอะไรต่อธุรกิจอะไรบ้างหรือไม่อย่างไร

นักวิเคราะห์ธุรกิจชั้นดี จะมีแนวทางการวิเคราะห์อย่างเป็นระเบียบแบบแผน ถ้าเราสามารถทำการวิเคราะห์ธุรกิจได้อย่างที่นักวิเคราะห์ฝีมือดีทำ ผลที่ได้ก็น่าจะสามารถนำไปใช้ได้จริงในระดับหนึ่ง แนวทางการวิเคราะห์ที่ดี จะมีหลักการในการสังเกตดูความเปลี่ยนแปลงของโลกรอบๆ ตัวเรา คนเราทุกคนล้วนมีทักษะในการวิเคราะห์ อย่างไรก็ตาม แต่ละคนก็มีความสามารถไม่เท่ากัน และที่สำคัญ คนเราจะต้องมีความสามารถในการเลือกที่จะวิเคราะห์อะไร อย่างไร เพราะทุกวันนี้เราถูกล้อมรอบด้วยข้อมูลต่างๆ เต็มไปหมดตั้งแต่ตื่นจนกระทั่งนอนหลับไป

ลองยกตัวอย่างกันให้เห็นนะครับ อย่างเช่นร้านอาหารละกัน จะเห็นว่า บางย่าน มีร้านอาหารเต็มไปหมด เช่นริมถนนเลียบทางด่วนรามอินทรา หรือว่าถนนเกษตร-นวมินทร์ เป็นต้น เราก็คงจะต้องลองคิดเล่นๆ นะครับว่า ทำไมถึงเป็นแบบนั้น ไปเปิดที่อื่นกันบ้างไม่ได้หรือ หรือว่าถ้าร้านนี้ ไปเปิดข้างๆ ร้านนั้น จะเกิดอะไรขึ้น ทำนองนี้

คำถามพื้นฐาน 4 ข้อเมื่อเราพิจารณาธุรกิจ
เมื่อเราเกิดความสงสัยในธุรกิจอะไร อย่างที่ยกตัวอย่างเรื่องภัตตาคารที่ผ่านมา ลองถามคำถามข้างล่างนี้ดูเช่น
1. เป้าหมายของธุรกิจนั้น คืออะไร
2. ธุรกิจนั้น จะมีรายได้ หรือกำไร มาได้อย่างไร
3. ธุรกิจนั้น มีผลการดำเนินงานที่ดีหรือไม่ หรือว่า มีฝีมือการทำธุรกิจดีหรือไม่
4. เมื่อเทียบกับคู่แข่งแล้ว ธุรกิจนั้นมีความพิเศษแตกต่างจากคู่แข่งหรือไม่

เมื่อเราเริ่มที่จะถามคำถามเหล่านี้ นั่นคงเราเริ่มคิดแบบนักวิเคราะห์ชั้นดีแล้ว และจะทำให้เราต้องเพิ่มการสังเกตเกี่ยวกับธุรกิจที่เราสนใจ ลึกลงไปอีก การฝึกตัวเองให้ถาม ให้สังเกต ให้คิด บ่อยๆ อย่างนี้ ทำให้เราลับคมความคิดของเราขึ้นทุกวันๆ และทำให้เรามีความสามารถในการหาโอกาสในการลงทุน ในการทำเงิน ได้ดีขึ้น

ตอนที่ 6 (2 ก.พ. 54)

ย้อนกลับไปเรื่องของภัตตาคาร เป้าหมายหรือหน้าที่ของธุรกิจภัตตาคาร ก็คือทำอาหารให้คนกิน (อ้าว... จะให้เติมลมยางรถให้หรือจ๊ะ) ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของธุรกิจนี้ แม้ว่าภัตตาคารหรือผับ (หรือจะผับๆ อะไรก็ตามเถิดจ้า) บางที่จะมีวงดนตรี พนักงานเสริฟ น้องๆ เด็กเชียร์เบียร์ แม้แต่โคโยตี้ อะไรก็ตามแต่ รวมเข้ามาไว้ในร้านนั้นด้วย ในบางครั้ง การพิจารณาว่าหน้าที่หรือเป้าหมายของธุรกิจหนึ่งๆ นั้นคืออะไร อาจจะไม่ใช่เรื่องงานก็ได้ เพราะว่าอาจจะเกิดการผสมกันของบริการ/สินค้า หลายๆ อย่าง แต่ก็เป็นหน้าที่ของนักลงทุนอย่างพวกเราที่จะต้องพิจารณาว่า การมีสินค้า/บริการแปลกๆ ปนๆ มาในธุรกิจนั้น เป็นเรื่องที่ถูกต้องเหมาะสม หรือว่าเข้าท่า หรือไม่ครับ

เมื่อเรารู้แล้วว่า เป้าหมายหรือหน้าที่ของธุรกิจที่เราสนใจนั้นคืออะไรกันแน่ ก็ลองมาดูที่การทำเงินของธุรกิจกันบ้าง ว่ามีวิธีอย่างไรที่จะหาเงินและทำให้เกิดกำไรจากการดำเนินงานขึ้นมาได้ ในตัวอย่างเรื่องภัตตาคารหรือร้านอาหาร นักลงทุนอาจจะลองคิดดูว่า ต้นทุนของอาหารต่างๆ ที่อยู่ในร้านนั้นเป็นเท่าไร และร้านสามารถคิดราคาแพงเป็นพิเศษเพราะว่ามีดนตรี เด็กเสริฟ เด็กเชียร์เบียร์ ฯลฯ อยู่ในร้านด้วย ได้หรือไม่ และแนวทางการทำธุรกิจเป็นแบบ ต้องการขายราคาถูกแต่จำนวนมาก หรือว่าขายจำนวนน้อยแต่ว่าราคาสูง เป็นต้น

จากนั้นก็ ลองถามตัวเองดูว่า ร้านอาหารหรือภัตตาคารที่เรากำลังสนใจอยู่นั้น ทำมาค้าขายเป็นอย่างไรบ้าง อย่าเพิ่งไปกังวลกับการขุดคุ้ยค้นหาพวกงบการเงินอะไรมาดู ขั้นตอนนี้ ยังไม่ต้องก็ได้ ลองดูแค่สภาพทั่วๆ ไปก่อนที่เราเห็นเกี่ยวกับธุรกิจนั้น เช่นว่า ถ้าเป็นเรา (หรือเพื่อนๆ เรา) เราจะเลือกภัตตาคารอย่างไร เราจะเลือกอันไหนเพราะว่าอะไร เราเปลี่ยนภัตตาคารบ่อยๆ ไหม (อาจจะเพราะว่าเบื่อนักร้อง รำคาญนักดนตรี ไม่มีโคโยตี้ อะไรก็แล้วแต่) หรือว่าเรากินไม่เลือก อันไหนก็ได้ที่สะดวก มีคนมาใช้บริการกันเยอะไหม ที่จอดรถแน่นตลอดหรือเปล่า หรือว่าไปทีไรก็ว่างตลอดจอดได้สบายลุกนั่งสะดวกแม่ครัวนั่งหลับเด็กผับนั่งหาว หรือว่ามีลูกค้าเก่าๆ แวะเวียนมาเป็นประจำเรียกว่าเป็นเหมือนบ้านหลังที่สี่ (เออ สองกับสาม ไปไหนล่ะ) การตกแต่งภายในเป็นอย่างไร พนักงานต้อนรับดีไหม อาหารดีดนตรีไพเราะนักร้องอร่อย (คือคุยอร่อย สนุก ครับ อย่าคิดเป็นอื่น) หรือเปล่า เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่่น่าสนใจจะต้องวิเคราะห์ทั้งสิ้น

ถ้าเราคิดว่า เราเข้าใจธุรกิจที่เราสนใจนั้นได้ในระดับหนึ่งแล้ว (อย่างน้อยก็ในฐานะของผู้สังเกตการณ์ล่ะ) ลองใช้เวลาสักนิด พิจารณาว่า ธุรกิจนั้นเป็นอย่างไรในสภาพการแข่งขันในปัจจุบัน (และอนาคต) อ่ะพูดกันง่ายๆ ก็คือ มีดีอะไรมากกว่าคนอื่นหรือคู่แข่งบ้าง

อย่างแรกที่เราต้องดูคือ มีการแข่งขันมากไหมในอุตสาหกรรมนั้น ยกตัวอย่างของภัตตาคาร จะเห็นว่าผู้บริโภคมีทางเลือกมากมาย คือมีหลายร้านให้เลือกเหลือเกิน แต่ถ้าเป็นธุรกิจอื่นๆ เช่นคอมพิวเตอร์ล่ะ ในโลกนี้มีคอมพิวเตอร์มากมายสักกี่ยี่ห้อที่เราสามารถเลือกซื้อกันได้บ้าง ก็คงมีไม่มาก อ่ะ นี่ก็แสดงว่าการแข่งขันของคอมพิวเตอร์นั้นมีน้อยกว่าภัตตาคารมากล่ะสิ - ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนั้นหรอก แต่อาจจะเป็นเพราะว่าการจะเปิดบริษัทคอมพิวเตอร์ หรือสร้างคอมพิวเตอร์ขึ้นมานั้น จะต้องใช้เงินทุนมากกว่าการเปิดภัตตาคารมาก หรือไม่ก็เป็นเพราะสภาพการแข่งขันนั้นดุเดือดอยู่แล้ว จนไม่มีใครอยากเข้ามาใหม่ เนื่องจากมีความเสี่ยงสูง ซึ่งแตกต่างจากภัตตาคารที่ไม่ต้องใช้เงินจำนวนมากในการเปิดร้าน หรืออาจจะเป็นเพราะว่าการหาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ มาขายนั้นยากกว่าเยอะ หรือว่าเป็นธุรกิจที่จะต้องต่อสู้กันด้วยราคาแต่เพียงอย่างเดียว (จริงๆ แล้ว ไม่มีธุรกิจไหนที่ต่อสู้กันด้วยราคาเพียงอย่างเดียวหรอก มีแต่คนเรานี่แหละที่คิดว่าลูกค้าจะต้องชอบของที่ถูกกว่าเสมอ) การถามคำถามเพวกนี้กับตัวเราเอง จะทำให้เราเห็นภาพว่า ในวันนี้หรือวันข้างหน้าถ้าธุรกิจจะต้องมีคู่แข่ง ธุรกิจนั้นจะทำอย่างไรในการเอาตัวรอดและชนะคู่แข่งได้

การถามคำถามพวกนี้มากๆ เข้า อาจจะทำให้ดูเหมือนเราเริ่มเพี้ยน แต่การคิดแบบนักวิเคราะห์เป็นการถามเพื่อทำความเข้าใจว่าธุรกิจอะไร ทำงาน ทำเงินได้อย่างไร มากน้อยแค่ไหน มีการเติบโตหรือไม่อย่างไร และสามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้หรือไม่ หรือว่าคู่แข่งทำธุรกิจนั้นได้ดีกว่า เรื่องพวกนี้ในหลายๆ ครั้งก็ถูกแสดงออกมาในงบการเงินด้วยเช่นกัน และก็ยังมีผู้ชำนาญการได้ทำการวิเคราะห์เรื่องพวกนี้ไว้ให้เราอยู่แล้ว เราก็มีหน้าที่ติดตามดูและพิจารณาว่าน่าจะเป็นจริงตามนั้นหรือไม่

ตอนที่ 7 (3 ก.พ. 54)
การพิจารณาโครงสร้างธุรกิจ: เกราะป้องกันธุรกิจ

ในการพิจารณาวิเคราะห์ด้านการลงทุน สิ่งที่ต้องดูเป็นพื้นฐานก็คือตัวธุรกิจเอง ไม่ใช่เพียงแค่ตัวเลขต่างๆ ในงบการเงิน และหน้าที่ของนักลงทุนก็คือ ต้องหาบริษัทชั้นเลิศที่แตกต่างจากบริษัทธรรมดาๆ ทั่วๆ ไปให้ได้ หลักการหนึ่งที่มีประโยชน์ก็คือการเสาะหา "เกราะป้องกัน" ของธุรกิจ แม้ว่าพวกเราจะไม่ค่อยได้ยินคำๆ นี้บ่อยนักเหมือนกับคำเช่นอัตราส่วน P/E หรือ กำไรจากการดำเนินงาน, กำไรสุทธิ อะไรก็แล้วแต่ แต่ว่า "เกราะป้องกัน" นี้เป็นสิ่งที่สำคัญในการประเมินค่าของธุรกิจเลยทีเดียว

"เกราะป้องกัน" เหล่านี้ พูดง่ายๆ ก็คือลักษณะที่ทำให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขันในระยะยาว ที่จะทำให้ธุรกิจสามารถสร้างรายได้และกำไรในระยะเวลานานต่อไปในอนาคต เรื่องนี้เป็นเรื่องที่นักลงทุนระดับโลกอย่าง วอร์เรน บัฟเฟตต์ ได้ให้ความสำคัญในการพิจารณาลงทุนในบริษัทที่มีความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว ยิ่งถ้าเป็นบริษัทที่มีความเฉพาะ และมีกำแพงป้องกันตัวเองจากการแข่งขันแล้ว บริษัทหรือธุรกิจนั้นก็มีโอกาสที่จะสร้างตัวเองให้เติบโตต่อไปได้เรื่อยๆ ในอนาคต

เรื่องของเกราะป้องกันนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะไม่ว่าเมื่อใดที่บริษัทหนึ่งออกผลิตภัณฑ์หนึ่งขึ้นมา ในไม่ช้าไม่นานก็จะมีคู่แข่งออกผลิตภัณฑ์อย่างเดียวกันออกมา ซึ่งถ้าไม่มีประสิทธิภาพดีเท่ากัน ก็มักจะดีกว่า เรียกง่ายๆ ว่าสามารถที่จะถูกเลียนแบบได้ง่าย หรือหัวเราะทีหลังย่อมดังกว่า หรือว่าคลื่นลูกใหม่ย่อมแรงกว่าคลื่นลูกเก่า อะไรก็ตามทีเถิดครับ ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์เบื้องต้นบอกไว้ว่า ในตลาดที่มีการแข่งขันอย่างสมบูรณ์ คู่ต่อสู้จะทำให้กำไรส่วนที่มากกว่าของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จนั้นหดเหลือน้อยลงๆ หรือพูดง่ายๆ อีกอย่างได้ว่า การแข่งขันทำให้บริษัทส่วนใหญ่ไม่สามารถมีการเติบโตของรายได้และกำไรสูงๆ เป็นเวลานานๆ ได้เนื่องจากความได้เปรียบนั้นจะถูกเลียนแบบได้

คราวนี้เรามาลองพิจารณาว่าบริษัทหนึ่งๆ มีเกราะป้องกันธุรกิจของเขาหรือไม่อย่างไรกันดู โดยลองดูตามขั้นตอนต่อไปนี้

1. ลองดูความสามารถในการทำกำไรของบริษัทในอดีต ดูว่าสามารถมี ROA และ ROE สูงได้ตลอดเวลาหรือไม่ ตัวเลขพวกนี้เป็นสิ่งสำคัญที่จะบอกได้ว่า บริษัทมีความพิเศษและสามารถใช้ความพิเศษนั้นให้คงอยู่ได้เสมอต้นเสมอปลายหรือเปล่า จริงๆ แล้วการวิเคราะห์เรื่องของเกราะป้องกันธุรกิจนี้ เป็นเรื่องของ qualitative (เชิงคุณภาพ) แต่ว่าผลของมันก็จะสะท้อนออกมาในรูปของตัวเลขทางการเงินด้วย

2. สมมติว่า บริษัทที่เราสนใจ มีตัวเลขทางการเงินดีมาสม่ำเสมอ ก็ลองพิจารณาต่อไปอีกว่า กำไรต่างๆ ที่ได้มานั้น มาจากความได้เปรียบเป็นพิเศษของตัวบริษัทนั้นหรือเปล่า หรือว่าเป็นสิ่งที่สามารถเลียนแบบกันได้ง่ายจากคู่แข่ง ยิ่งการเลียนแบบทำได้ยากแค่ไหน การรักษาความได้เปรียบของธุรกิจไว้ก็ยิ่งง่ายเท่านั้น

ตอนที่ 8 (4 ก.พ. 54)

3. ลองพิจารณาดูว่า ใช้เวลาอีกนานแค่ไหน ที่บริษัทจะยังคงได้เปรียบอยู่ ว่ากันง่ายๆ คือ คู่แข่งยังโงหัวไม่ขึ้น (อืม ภาษาชาวบ้านมากๆ ขออภัย) เราเรียกช่วงเวลานี้ว่า ช่วงเวลาที่บริษัทยังคงมีความได้เปรียบอยู่ ซึ่งอาจจะสั้นแค่ไม่กี่เดือน หรือยาวนานเป็นหลายสิบปีก็ได้ ยิ่งนานยิ่งดีครับ

4. ลองคิดถึงเรื่องโครงสร้างการแข่งขันของอุตสาหกรรมดู มีการแข่งขันในระดับสูงหรือเปล่า อุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูง มักจะไม่สามารถมีการเติบโตของกำไรได้สูงมากในระยะเวลาติดต่อกันนานๆ คือบางปีอาจจะมีกำไรมาก บางปีอาจจะกำไรน้อย เป็นต้น

จากการลองพิจารณาศึกษา สารพัดธุรกิจต่างๆ จะสรุปได้ว่า
เกราะป้องกันธุรกิจนั้นมีอยู่ด้วยกัน 4-5 อย่างคือ


ก) การเป็นผู้ผลิตที่มีต้นทุนต่ำ อันนี้เรียกได้ว่าเอาราคาเข้าสู้ หรือเข้าขู่ ก็แล้วแต่ล่ะครับ ธุรกิจประเภทนี้ จะมีขนาดใหญ่ยอดขายสูง แต่ว่าอัตรากำไรไม่สูง เรียกว่าเอาราคาเข้าสู้ ได้การประหยัดจากปริมาณการผลิตหรือการขายที่สูง (economics of scale) คู่ต่อสู้รายใหม่ๆ ก็ไม่กล้าเข้ามา เนื่องจากปริมาณการขายไม่มากเท่ากับเจ้าเก่าที่ทำอยู่ ตัวอย่างเช่นห้างขายสินค้าแบบยกเข่งขนาดใหญ่ๆ ที่ขายด้วยราคาที่ต่ำมาก เพราะว่าได้สินค้ามาในราคาต่ำกว่าเนื่องจากซื้อมาทีละมากๆ ทำให้มีอำนาจต่อรองสูงได้

ข) การเป็นผู้ที่มีสินค้าและบริการที่เป็นพิเศษจริงๆ เหนือกว่าคนอื่น เช่นมีเทคโนโลยีที่เหนือกว่า หรือว่ามีสิทธิบัตรพิเศษที่คนอื่นไม่มี แต่อย่างที่บอกไว้ข้างต้นว่า เรื่องนี้ต้องระวังเหมือนกัน เนื่องจากคนเทคโนโลยีมีการพัฒนาตลอดเวลา และสิทธิบัตรที่เป็นเรื่องที่ค้นคิดกันอยู่ตลอดเวลาที่ได้เปรียบอยู่ในวันนี้ อาจจะเสียเปรียบในวันหน้าก็ได้

ค) จับตัวลูกค้าเอาไว้ ด้วยการที่ให้บริการสินค้าหรือบริการที่มีค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนแปลงสูง ค่าใช้จ่ายนี้ เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนจากสินค้าและ/หรือบริการที่ใช้อยู่อย่างหนึ่งจากผู้ขายคนหนึ่ง ไปเป็นอีกอย่างหนึ่งจากผู้ขายอีกคนหนึ่ง แบบนี้ ผู้ใช้สินค้าหรือบริการ ก็ไม่อยากจะเปลี่ยนแปลงอะไร เพราะว่าต้องเสียเงินและเสียเวลามากในการเปลี่ยน

ตอนที่ 9 (5 ก.พ. 54)

ง) ผลดีที่เกิดจากเครือข่ายที่มีผู้ใช้จำนวนมาก ข้อได้เปรียบนี้เกิดขึ้นเมื่อยิ่งมีจำนวนผู้ใช้หรือลูกค้าของธุรกิจนั้นมากขึ้น ธุรกิจนั้นยิ่งมีข้อแข็งแกร่งมากขึ้นๆ เพราะเครือข่ายใหญ่ขึ้นเป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้ธุรกิจนั้น ยกตัวอย่างเช่นเว็ปไซต์ ebay ยิ่งมีคนขายและคนซื้อมากขึ้น ตัว ebay เองก็ยิ่งแข็งแกร่งมากขึ้น เพราะทั้งผู้ซื้อ จะหาอะไรก็พบได้เพราะมีผู้ขายจำนวนมาก คนขาย จะขายอะไรก็ขายได้เพราะว่ามีคนจำนวนมากมาหาของสารพัดชนิด เป็นต้น

จ) สินทรัพย์ไม่มีตัวตนอื่น บางบริษัทมีข้อได้เปรียบเหนือว่าคู่แข่งเนื่องจากมีคุณสมบัติอื่นเป็นพิเศษ ซึ่งไม่ได้เป็นของที่จับต้องได้ ตัวอย่างเช่น ยี่ห้อ ตราสินค้า ลิขสิทธิ์ สัมปทาน หรือข้อได้เปรียบทางด้านภูมิศาสตร์ ในบางกรณี คู่แข่งทุกๆ เจ้าในอุตสาหกรรมนั้นอาจจะอยู่ได้ หรือขายได้ด้วยสิ่งที่เป็นสินทรัพย์ไม่มีตัวตนเหล่านี้ ตัวอย่างเช่นสินค้าโภคภัณฑ์บางอย่างที่อาศัยยี่ห้อในการขาย หรือสามารถขายได้ด้วยราคาที่สูงกว่าปกติได้เป็นต้น ตัวอย่างเช่น กระเป๋าสตรี ไม่ว่าจะยี่ห้อหลุยส์ กุ๊ชชี่ หรือแว่นตา ทำไมต้องเป็นเรย์แบน หรือยี่ห้ออื่นๆ ที่ราคาสูงลิ่ว เป็นต้น

ฉ) คู่แข่งถูกกันเอาไว้ ไม่ให้สามารถเข้ามาได้ เช่นการที่มีสิทธิบัตรหรือใบอนุญาตต่างๆคุ้มครองอยู่ การที่มีค่าใช้จ่ายสูงมากในการเข้ามาร่วมทำธุรกิจ หรือการที่เป็นธุรกิจที่ได้รับสัมปทาน มีลูกค้าจำนวนจำกัดและแข็งแกร่งกันอยู่แล้ว แม้กระทั่งมีอัตรากำไรที่ต่ำแม้จากยอดขายที่สูง (จุดคุ้มทุนสูง) พวกนี้จะเป็นการกันไม่ให้คู่แข่งรายใหม่ๆ เข้ามาได้ง่ายนักในอุตสาหกรรม

อีกอย่างหนึ่งที่ผมอยากจะเสริมก็คือ เป็นไปได้ที่ บริษัทหนึ่งๆ สามารถจะมีเกราะป้องกันธุรกิจหลายแบบได้ ตัวอย่างเช่นบริษัทหนึ่งอาจจะใช้ผลจากเครือข่ายในขณะที่ใช้ผลดีจากการประหยัดด้วยขนาดคือมีต้นทุนราคาต่ำกว่าไปพร้อมๆ กัน หลักการโดยทั่วๆ ไปคือ ยิ่งบริษัทหรือธุรกิจมีเกราะป้องกันหลายอย่างเท่าไร ก็ยิ่งทำให้ปลอดภัยจากการแข่งขันมากเท่านั้น

การลงทุนที่จะประสบความสำเร็จในระยะยาว เกี่ยวข้องไปมากกว่าการมองหาธุรกิจที่แข็งแกร่ง หรือหาธุรกิจที่กำลังเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว หรือซื้อหุ้นที่ราคาถูกกว่าความจริง การลงทุนที่ประสบความสำเร็จ จะต้องขึ้นกับการได้เลือกลงทุนในธุรกิจที่สามารถยืนยงต่อสู้ฟันฝ่าอุปสรรคในระยะเวลานานได้อีกด้วย เกราะป้องกันธุรกิจชนิดต่างๆ เป็นปัจจัยสำคัญที่ควรนำมาใช้ในการพิจารณาเลือกธุรกิจที่จะลงทุน การมองหาและพิจารณาเรื่องพวกนี้อาจจะต้องใช้แรงมากกว่าการดูตัวเลขทางบัญชีต่างๆ อีกสักหน่อยแต่ก็เป็นเรื่องที่สำคัญและควรทำเนื่องจากเป็นการสร้างความแข็งแกร่งที่ยั่งยืนในการลงทุน และการที่กิจการสามารถทำกำไรได้ดีได้มาก สุดท้ายก็จะสะท้อนออกมาที่ราคาหุ้นนั่นเอง

ตอนที่ 10 (7 ก.พ. 54)
เพิ่มเติมในเรื่องของความสามารถในการแข่งขัน

ที่ผ่านมา เราได้คุยเรื่องของเกราะที่ทำหน้าที่ป้องกันธุรกิจแบบต่างๆ กัน ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เกราะเหล่านี้ของแต่ละบริษัทก็มีไม่เหมือนกันและมีคุณภาพไม่เหมือนกัน (เปรียบไปก็เหมือนกับเกราะที่นักรบโบราณเขาใส่กันแหละครับ มีทั้งทำจากหนังสัตว์หรือโลหะชั้นดี หรือมีความหนาต่างกัน ดังนั้นก็สามารถป้องกันศาสตราวุธได้ไม่เหมือนกัน) การที่จะดูว่าบริษัทมีเกราะป้องกันธุรกิจของตัวเองดีแค่ไหนนั้นเป็นเรื่องไม่ง่าย และเป็นกระบวนการที่อาจจะพิสดารสักหน่อย มาคราวนี้เราจะมาลองพิจารณาแบบจำลองที่อาจจะบอกได้ถึงความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจต่างๆ ได้ชัดเจนยิ่งขึ้นกัน

พลังขับดัน 5 ประการของ Micheal E. Porter

ในหนังสือเรื่อง กลยุทธ์การแข่งขันของไมเคิล อี พอร์เตอร์ ที่ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1980 กล่าวถึงเรื่องของการแข่งขันในอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งวางรากฐานของการมองสภาพการแข่งขันระหว่างธุรกิจหนึ่งๆ กับคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน และพิจารณาดูว่าตำแหน่งของธุรกิจนั้นๆ อยู่ในสภาพอย่างไรในอุตสาหกรรม (สามารถแข่งขันกับคนอื่นได้หรือไม่อย่างไร) ส่วนใหญ่แล้วก็เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับเรื่องของเกราะป้องกันธุรกิจอยู่มาก และทำให้เข้าใจสภาพการแข่งขันของธุรกิจว่าเป็นอย่างไร

1) อุปสรรคในการเข้าทำธุรกิจของผู้เล่นรายใหม่ (Entry Barrier) ยิ่งมีอุปสรรคมาก คือไม่ใช่ใครก็สามารถเข้ามาทำได้ ยิ่งดี เช่นต้องอาศัยเงินทุนมหาศาล มีจุดคุ้มทุนยาวไกล หรือว่าต้องได้รับสัมปทานหรือสัญญาซื้อในระยะยาว ตัวอย่างเช่นการสร้างมหาวิทยาลัย หรือสร้างโรงกลั่นน้ำมัน บริษัทขุดเจาะน้ำมัน บริษัทให้บริการกิจการสื่อสารโทรคมนาคมบางประเภท เป็นต้น ธุรกิจเหล่านี้ไม่ได้เริ่มกันได้ง่ายๆ สำหรับผู้เข้าแข่งขันรายใหม่ๆ

2) กำลังของผู้ซื้อ (Customer's Bargaining Power) ถ้าผู้ซื้อมีอำนาจต่อรองมาก ธุรกิจอาจจะตกอยู่ในที่นั่งลำบาก หรือผู้ซื้อสามารถซื้อใครก็ได้ ไม่มีค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนระบบก็เป็นสิ่งที่ไม่ดีกับธุรกิจ ยิ่งผู้ซื้อมีอำนาจต่อรองน้อย ยิ่งเป็นผลดีกับธุรกิจ

ตอนที่ 11 (8 ก.พ. 54)

3) กำลังของผู้ที่เตรียมวัตถุดิบหรือบริการสำคัญให้ ซึ่งเกี่ยวกับการควบคุมค่าใช้จ่ายของบริษัท ยิ่งผู้ซื้อมีอำนาจต่อรองน้อยยิ่งดี

4) การรุกรานของสิ่งที่ทดแทน สมมติว่าบริษัทผลิตอุปกรณ์อย่างหนึ่งที่ใช้การได้ดี แต่เมื่อถึงวันหนึ่ง อุปกรณ์นั้นกลับล้าหลังไปแล้วถูกทดแทนด้วยของที่ใหม่กว่า เช่นนี้ธุรกิจก็ตกอยู่ในที่นั่งลำบาก เรื่องนี้ต้องดูว่า มีสิ่งที่จะมาทดแทนได้ด้วยราคาที่ถูกกว่าหรือคุณภาพดีกว่าหรือไม่ ธุรกิจประเภทเทคโนโลยีชั้นสูง จะตกอยู่ในสภาพอย่างนี้คือ ไม่นานผลิตภัณฑ์ก็ล้าสมัยไปได้เร็ว

5) สภาพการแข่งขันกันเองภายในอุตสาหกรรมนั้น ต้องดูว่าสภาพการแข่งขันเป็นอย่างไร บริษัทแต่ละบริษัทใช้สารพัดกลยุทธ์เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดมาโดยยอมลดราคาหรือได้กำไรน้อยลงหรือไม่ หรือว่าอุตสาหกรรมมีกำลังผลิตที่เหลือมากและแต่ละบริษัทมีจุดคุ้มทุนที่ยอดขายสูง หากเป็นแบบนี้ย่อมทำให้สภาพการแข่งขันในอุตสาหกรรมหรือตลาดนั้นสูงมากอย่างแน่นอน

เมื่อเรานำหลักการเรื่องแรงขับดัน (หรือแรงขัดขวางความเจริญ ก็แล้วแต่มุมมองนะครับ) ทั้ง 5 ประการของพอร์เตอร์มาพิจารณา ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะสามารถพิจารณาได้ว่าธุรกิจมีเกราะป้องกันได้ดีแค่ไหน และเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับผู้เล่นที่อยู่ในอุตสาหกรรมนั้นๆ เราก็จะพอคาดเดาสภาพในอนาคตของบริษัทหนึ่งๆ ได้ ยิ่งถ้าหากบริษัทมีเกราะป้องกันที่ไม่แข็งแรง ในขณะที่มีคู่แข่งที่เข้มแข็ง แข็งแรง และมีเงินทุนหนารวมทั้งต้องการฟาดฟันคู่ต่อสู้อื่นให้ล้มหายตายจากไป ธุรกิจก็ย่อมอยุ่ในสภาพที่ลำบากอย่างแน่นอน

เมื่อนักลงทุนคัดเลือกบริษัทที่ตัวเองสนใจออกมาแล้ว การพิจารณาอีกชั้นหนึ่งว่าธุรกิจนั้นมีความสามารถในการแข่งขันดีหรือไม่เพียงใด เป็นสิ่งที่จะทำให้ตัดสินใจลงทุนได้ดีขึ้น การที่ธุรกิจมีความสามารถในการแข่งขันต่ำ อาจจะไม่เลวร้ายขนาดที่จะทำให้ธุรกิจต้องล้มหายตายจากไป แต่ว่าจะทำให้ประสิทธิภาพในการทำกำไรต่ำลงๆ เนื่องจากถูกคุกคาม สุดท้ายก็จะเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่แย่กับนักลงทุนมากกว่า

อาจจะมีนักลงทุนบางส่วนที่เก่งพอที่จะเข้าซื้อหุ้นในช่วงจังหวะเวลาที่หุ้นตกลงอย่างรุนแรง และถือไว้เพียงในระยะเวลาสั้น แล้วก็ขายหุ้นนั้นไป แต่ในฐานะของนักลงทุนแบบยั่งยืนในระยะยาวแล้ว วิธีการแบบนั้นอาจจะไม่ใช่วิธีที่นักลงทุนแบบนี้เลือกจะทำ เนื่องจากนักลงทุนระยะยาวคิดว่า การยอมเสียเวลาคัดเลือกบริษัทชั้นเลิศจะให้ผลตอบแทที่ดีกว่าในระยะเวลายาวกว่า และโดยเฉพาะอย่างยิ่งมีความเสี่ยงที่ต่ำกว่า

ตอนที่ 12 (9 ก.พ. 54)
การพิจารณาคุณภาพในการบริหารจัดการ

เป็นไปไม่ได้ที่บริษัทต่างๆ จะดำเนินธุรกิจไปได้ด้วยตัวมันเองโดยปราศจากคน ดังนั้นจะกล่าวในอีกมุมหนึ่งได้ก็คือว่า ธุรกิจก็คือคนที่กำลังทำหน้าที่บริหารจัดการมันอยู่นั้นเอง การที่เราระลึกไว้เสมอว่า "ผู้บริหารและบุคคลากรของบริษัท" เป็นคนทำให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ต่างหาก จะทำให้เราไม่ลืมว่ายังมีแง่มุมนี้ด้วยที่นักลงทุนจะต้องพิจารณา ในท้ายของเรื่องนี้เราจะมีตัวอย่างของคำถามหรือจุดที่จะต้องพิจารณาเมื่อเราต้องการเลือกลงทุนในบริษัทหนึ่งๆ

ทำไมผู้บริหารจึงมีความสำคัญ 

ผู้บริหารเป็นบุคคลที่ใกล้ชิดมากกับการบริหารจัดการ และเรื่องราวภายในต่างๆ ของบริษัท หากได้บุคคลที่ไม่มีความสามารถ หรือเลวร้ายกว่านั้นคือคนที่ไม่ซื่อสัตย์ ผู้บริหารเหล่านี้มีวิธีมากมายที่จะหาผลประโยชน์ใส่ตัวเองและพรรคพวกได้ (โดยที่ไม่ผิดกฏหมายด้วย) ดังนั้นนักลงทุนควรจะต้องหาข้อมูลเกี่ยวกับผู้บริหารใได้มากที่สุดโดยการพูดคุยกับบุคคลต่างๆ ที่อยู่ในอุตสาหกรรมนั้นๆ หรือแม้แต่ในธุรกิจนั้นเอง อาจจะโดยการเข้าพบเป็นการส่วนตัว พูดคุยกับพนักงานของบริษัท คุยกับบริษัทคู่แข่งขัน คุยกับลูกค้าของบริษัท ตลอดจนผู้ที่ขายวัตถุดิบให้กับบริษัทเป็นต้น ในมุมมองของนักวิเคราะห์มืออาชีพแล้ว เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องจำเป็นและเป็นข้อมูลที่จะต้องทราบ แต่ในฐานะของนักลงทุนรายย่อย ข้อมูลพวกนี้เราอาจจะหาได้ไม่ง่ายนัก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าหาไม่ได้เลย

สุดท้ายแล้ว นี่คือเรื่องของความเชื่อถือและไว้ใจ นั่นคือในฐานะนักลงทุน เราต้องถามตัวเองด้วยว่า เราสามารถเชื่อและไว้ใจให้ผู้บริหารเหล่านี้ ดำเนินกิจการแทนเราได้หรือไม่??

ตอนที่ 13 (10 ก.พ. 54)

เราในฐานะนักลงทุนรายย่อย สามารถที่จะทำความเข้าใจและรู้จักผู้บริหารต่างๆ ได้จากข้อมูลส่วนตัว ผลงานที่ผ่านมา ประวัติการทำงาน ในเว็ปไซต์ของตัวบริษัทเอง ตลอดจนดูวิธีการตอบคำถามของนักลงทุนและนักวิเคราะห์ต่างๆ แล้วก็มาพิจารณาว่า เราสามารถที่จะเชื่อถือไว้ใจให้กลุ่มผู้บริหารนี้ทำงานดูแลกิจการแทนเราหรือไม่ แต่ในหลายๆ กรณี ผู้บริหารก็เติบโตมากับบริษัทและข้อมูลต่างๆเหล่านี้ก็ไม่ได้สามารถหาได้ง่ายนัก แต่จุดหนึ่งที่สำคัญและนักลงทุนควรสังเกตคือ ดูว่าผู้บริหารเหล่านี้มีวิธีการทำงานและวัดผลการทำงานของพวกเขาอย่างไร หรือว่าได้ทำตามที่สัญญาต่างๆ เอาไว้อย่างสม่ำเสมอหรือไม่ เป็นต้น

การซื้อธุรกิจ 

การซื้อหุ้น ก็เหมือนเป็นการซื้อบางส่วนของธุรกิจนั่นเอง คือผู้ถือหุ้นก็คือเจ้าของส่วนของธุรกิจ และสมมติว่าเราได้ซื้อธุรกิจเอาไว้ และต้องการถือหุ้นนั้นไว้ คือเป็นเจ้าของธุรกิจนั้นๆ เป็นเวลานานแสนนาน เราจะดูได้อย่างไรล่ะว่า ผู้บริหารต้องการที่จะทำธุรกิจร่วมกันกับเรา?

นักลงทุนควรจะมองหาบริษัทที่ให้ข่าวสาร หรือติดต่อสื่อสารกับนักลงทุนอย่างโปร่งใส มีการแยกแยะอย่างชัดเจนออกจากกันระหว่างเรื่องงานทางธุรกิจและเรื่องผลประโยชน์หรือความคิดส่วนบุคคล มีการตั้งเป้าหมายในการทำงานและประเมินอย่างตรงไปตรงมา การดูการตั้งเป้าหมายและการให้ผลประโยชน์ตอบแทนกับพรรคพวกตัวเอง เป็นสิ่งที่นักลงทุนสามารถสังเกตได้ว่าผู้บริหารเหล่านั้นมีความจริงใจในการทำงานเพื่อตอบแทนผู้ถือหุ้น (ซึ่งคือเจ้าของบริษัท) หรือไม่อย่างไร

ถึงแม้ว่าจะเป็นการยากที่ผู้ถือหุ้นรายย่อยจะเข้าไปสืบเสาะแสวงหาดูลักษณะการทำงาน หรือการบริหารจัดการว่าทำได้ดีหรือไม่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราควรจะปล่อยยกเลิกความตั้งใจส่วนนี้ไปเสียเลย แต่นักลงทุนก็ยังมีทางเลือกอื่นโดยการดูจากข้อมูลข่าวสารที่ได้รับการเปิดเผยสู่สาธารณชนในการที่จะประเมินความสามารถหนึ่งที่ถือได้ว่าเป็นนามธรรมสุดๆ อย่างหนึ่งก็คือเรื่องของการบริหารจัดการนี้ โดยสิ่งที่เราต้องจับตาดูก็คือความโปร่งใสในการบริหาร (Good Governance) เนื่องจากคงต้องยอมรับว่า ในปัจจุบันนี้ยังคงมีผู้บริหารของบริษัทบางบริษัท มองเห็นที่ทำงานของตัวเองเป็นเหมือนกับธนาคารส่วนตัว (ที่ไม่ต้องฝากเงิน แต่มีเงินให้ถอนได้ตลอด) อยู่

ตอนที่ 14 (11 ก.พ. 54)
จุดที่ต้องลองตรวจสอบ
เหมือนกับเล่นเกม 20 คำถามล่ะครับ เพื่อที่จะดูว่าการบริหารจัดการเป็นอย่างไร มีฝีมือหรือไม่ และผู้บริหารตั้งใจที่จะทำงานเพื่อสร้างผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้นหรือไม่ ลองดูกันนะครับว่าพวกเราควรจะต้องดูอะไรบ้าง จุดที่ต้องพิจารณาบางจุดอาจจะต้องใช้ความรู้ทางด้านบัญชีนิดหน่อย แต่คงไม่เกินความสามารถของพวกเรานักลงทุนที่จะเรียนรู้

เรื่องของความโปร่งใส
1. มีการใช้ตัวเลขประเภท "ค่าใช้จ่ายที่เปิดขึ้นเพียงครั้งเดียว" มากเกินไปหรือเปล่า ทุกอย่างที่ทำและประกาศผลทางการเงินออกมา เป็นการประกาศสิ่งที่คิดคำนวณตามมาตรฐานทางบัญชีที่ได้รับการยอมรับโดยทั่วไปหรือไม่ พุดอีกอย่างคือ มีปัญหากับผู้สอบบัญชีที่จะต้องมีข้อสังเกตบ่อยๆ หรือเปล่า
2. บริษัทมีมาตรฐานทางบัญชีที่มั่นคงหรือเปล่า หมายความว่า เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาบ่อยไหม การทำแบบนั้นบ่อยๆ อาจจะแสดงให้เห็นว่าบริษัทกำลังหลบซ่อนอะไรบางอย่างได้
3. บริษัทประกาศเปลี่ยนตัวเลขทางบัญชีไปมาโดยไม่เกี่ยวข้องกับการปรับมาตรฐานทางบัญชีหรือเปล่า หรือว่ามีอาการออกงบการเงินช้า ไม่ยอมออกสักที ออกแล้วก็แก้อีก อะไรทำนองนี้เป็นต้น
4. มีการจ่ายเงินกันเองเช่นเงินโบนัสพิเศษมากเกินไปหรือไม่ (เมื่อเทียบกับบริษัทคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน) ถ้าเป็นแบบนี้อาจจะเรียกว่า ชงเอง ยิงเอง เอาเงินเข้ากระเป่ากันเอง ต้องระวังให้ดีนะครับ

ตอนที่ 15 (12 ก.พ. 54)
ความเป็นมิตรกับผู้ลงทุน
5. มีการใช้ข้อมูลภายในในการออกเสียงหรือเปล่า
6. บริษัทได้จัดการป้องกันการครอบงำกิจการที่หากเกิดขึ้นแล้วจะมีผลให้เกิดการลดสัดส่วนการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นรายย่อยมากกว่าส่วนของเจ้าของเดิมหรือผู้บริหารหรือไม่
7. คะแนนเสียงข้างมากของผู้ถือหุ้นถูกต่อต้าน โดยสิ่งต่อไปนี้หรือไม่ ก) ความขี้เกียจหรือชักช้าของผู้บริหาร ข) การแทรกแซงของผู้บริหารในกระบวนการลงคะแนนเสียง ค) การรวมกลุ่มกันของผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ (คือ ผู้ถือหุ้นส่วนน้อยโหวตอย่างไรก็ไม่ชนะแน่)
8. ประธานกรรมการกับประธานบริษัทเป็นคนเดียวกันหรือเปล่า
9. คณะกรรมการหรือผู้บริการมีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้ที่การทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกัน ที่เป็นที่ต้องสงสัยว่าจะทำการรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นเอาไว้เป็นหลักหรือเปล่า

ตอนที่ 16 (13 ก.พ. 54)
ค่าตอบแทน, การเป็นเจ้าของ, และการบริการดูแล
10. คณะกรรรมการมีการจัดการค่าตอบแทนในลักษณะของการทำงานในฐานะลูกจ้างเท่านั้นหรือไม่ หรือว่ามีการใช้รางวัลอย่างอื่นในการตัดสินใจที่ทำให้เกิดประโยชน์อื่นๆ แต่บริษัทเพิ่มเติมเข้าไปอีก
11. ในสามสี่ปีที่ผ่านมานี้ บริษัทได้มีการแจกหุ้นสำหรับพนักงานมากกว่า 3% ในแต่ละปีหรือไม่
12. ในยามที่สถานการณ์ไม่ดี เช่นผลประกอบการออกมาไม่ดีนัก มีผู้บริหารได้รับโบนัสพิเศษที่จะทำให้ไม่ลาออกหนีไปไหน หรือว่ามีการเปลี่ยนแปลงเป้าหมายแบบหักดิบกลางปล้องหรือว่าได้รับผลประโยชน์อื่นใดเป็นพิเศษหรือเปล่า เรียกว่า นอกจากผลงานการดำเนินธุรกิจของบริษัทจะแย่อันอาจจะเนื่องมาจากสภาพแวดล้อมภายนอกไม่ดีแล้ว ศึกภายในยังจะกัดกินบริษัทซ้ำเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง
13. ส่วนของการเป็นเจ้าของของผู้บริหารระดับสูงมีน้อยเกินไปหรือไม่ คือน้อยเสียจนคิดว่าไม่ได้มีส่วนได้เสีย หรือว่าไม่มีความรู้สึกร่วมว่าเป็นเจ้าของเหมือนกับผู้ถือหุ้นอื่นๆ ด้วย
14. บรรดาผู้บริหารได้รับผลตอบแทนเป็นเงินจำนวนมากๆๆๆ หรือไม่ (สังเกต ว่ามี "ๆ" เยอะ) คือเอาเงินส่วนที่เป็นเงินสด มาแจกกันเองมากกว่าที่จะได้เป็นหุ้น (และบังคับว่าจะต้องเก็บไว้เป็นระยะเวลานานหนึ่งๆ) หรือเปล่า
15. การตั้งเป้าหมายในการบริหารงาน เป็นการดูจำเพาะในช่วงระยะเวลสั้น (ผลระยะสั้น) แทนที่จะเป็นผลระยะยาวที่จะทำให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้อย่างมั่นคงหรือไม่ หรือว่า การเปิดเผยข้อมูลของคณะกรรมการไม่ชัดเจน ไม่โปร่งใสพอที่จะทำให้กิดข้อสงสัยในเรื่องดังกล่าวนี้หรือไม่

ตอนที่ 17 (14 ก.พ. 54)
จากทั้ง 15 ข้อข้างต้น ที่เป็นคำถามหรือข้อสงสัยนี้ มีน้ำหนักไม่เท่ากัน บางอันก็เป็นข้อสังเกต แต่บางข้อก็ถึงกับเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องจับตาดูอย่างเคร่งครัด ข้อหนึ่งที่นักลงทุนจะต้องจับตาดูเป็นพิเศษคือข้อ 9 เนื่องจากอาจจะเป็นการแสดงถึงการบริหารจัดการที่ไม่โปร่งใสไม่มีธรรมาภิบาลได้ การทำผิดบ่อยๆ หรือทำอะไรเป็นที่ต้องสงสัยบ่อยๆ จะเป็นจุดหรือการกระทำที่นักลงทุนจะต้องจับตาดูว่ามีอะไรผิดปกติกับกลุุ่มผู้บริหาร ที่เห็นประโยชน์ส่วนตัวเป็นสำคัญมากกว่าประโยชน์ที่จะเกิดกับผู้ถือหุ้น ตัวอย่างเรื่องแบบนี้ก็เช่น บริษัทได้จัดจ้างให้บริษัทย่อยของผู้ถือหุ้นหรือผู้บริหารให้ทำงานอะไรบางอย่าง และจ่ายเงินให้เป็นจำนวนมากอย่างไม่สมเหตุผล หรือบริษัททำการซื้อทรัพย์สินของใครบางคนที่มีอำนาจอิทธิพลควบคุมบริษัท ในราคาสูงและ/หรือทรัพย์สินนั้นไม่ได้มีประโยชน์อะไรกับการดำเนินธุรกิจของบริษัทเลย เป็นต้น

สรุป
แม้ว่าความสามารถในการแข่งขันของบริษัท เป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญมากในการดำเนินธุรกิจในระยะยาวเพื่อที่จะสามารถเจริญเติบโตได้ต่อไป แต่ความสามารถและความโปร่งในการบริหารงานก็เป็นส่วนที่สำคัญมากด้วยเช่นกัน เพราะหากผู้บริหารไม่โปร่งใสแล้ว การที่นักลงทุนจะนำเงินไปดำเนินกิจการด้วย หรือฝากเงินให้คนเหล่านี้เป็นผู้บริหารดูแล ก็เป็นสิ่งที่เสี่ยงมาก จุดสังเกตต่างๆ ข้างบนเป็นสิ่งที่นักลงทุนจะต้องตรวจดูก่อนทำการลงทุนครับ

credit http://muegao.blogspot.com