สินทรัพย์ ค่าเสื่อมราคา กับ “ภาพลวงตา” ทางบัญชี
สินทรัพย์ ค่าเสื่อมราคา กับ “ภาพลวงตา” ทางบัญชี
Posted on October 11, 2012
by Club VI
“สินทรัพย์” (Asset) คือรายการแรกใน “งบดุล” ของกิจการ อันหมายถึงคือ ทรัพย์สมบัติที่กิจการมี โดยเราสามารถแบ่งสินทรัพย์ออกเป็นสองประเภท คือ สินทรัพย์หมุนเวียน กับ สินทรัพย์ไม่หมุนเวียน
สินทรัพย์หมุนเวียน ( Current Assets) หมายถึงสินทรัพย์ที่มีอายุไม่เกิน 1 ปี เช่น เงินสด ลูกหนี้การค้า สินค้าคงเหลือ ฯลฯ
ส่วน สินทรัพย์ไม่หมุนเวียน (Non-current Assets) เรียกอีกอย่างว่า “สินทรัพย์ถาวร” หมายถึงสินทรัพย์ที่มีอายุเกิน 1 ปี เช่น ที่ดิน อาคาร อุปกรณ์ เงินที่ให้บริษัทลูกกู้ยืมระยะยาว ฯลฯ
ในส่วนของสินทรัพย์ถาวร บางรายการเป็นสินทรัพย์ที่เราซื้อมาเพื่อใช้งาน ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
ปกติเวลาคนทั่วไปซื้อทรัพย์สิน เช่น เราซื้อคอมพิวเตอร์มาหนึ่งเครื่อง ราคา 3 หมื่นบาท เรามักจะบันทึกบัญชีส่วนตัวเป็น “ค่าใช้จ่าย 3 หมื่นบาท” ใช่ไหมครับ?
แต่หลักการบัญชีสำหรับธุรกิจ จะไม่บันทึกเช่นนั้น ด้วยหลักคิดที่ว่า เมื่อเราซื้อของเข้ามา เรายังไม่ได้เสียอะไรไป เราเพียงแต่แปลงสภาพจาก “สินทรัพย์อย่างหนึ่ง” คือ “เงินสด” ไปเป็น “สินทรัพย์อีกอย่างหนึ่ง” คือ “เครื่องคอมพิวเตอร์” เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม เครื่องคอมพิวเตอร์ย่อมมีอายุใช้งานจำกัด และเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา เพราะฉะนั้น ในแต่ละปีที่ผ่านไป มูลค่าของคอมพิวเตอร์เครื่องนั้นย่อมลดลงเรื่อยๆ เราจึงต้องทยอย “ตัดค่าเสื่อมราคา” ออกไปในแต่ละปี
“ค่าเสื่อมราคา” ถือเป็น “ค่าใช้จ่าย” อย่างหนึ่ง โดยการบันทึกค่าเสื่อมราคา จะแตกต่างกันไปตามอายุการใช้งานของสินทรัพย์นั้นๆ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ตามตัวอย่างข้างต้น มีอายุการใช้งาน 5 ปี ก็เอามูลค่าของมันคือ 30,000 บาท หารด้วย 5
ดังนั้น ในแต่ละปี กิจการจึงมี “ค่าเสื่อมราคา” ของคอมพิวเตอร์เครื่องนี้ 6,000 บาท (30,000/5) เป็นรายการประเภท “ค่าใช้จ่าย” ในงบกำไรขาดทุน
ทั้งนี้ หลักการบันทึกค่าเสื่อมราคาของสินทรัพย์จะมีมาตรฐานทางการบัญชีกำหนดไว้ อาทิ เครื่องใช้สำนักงาน มีอายุ 3-5 ปี, ยานพาหนะ 5 ปี, เครื่องจักรและอุปกรณ์โรงงาน 5-20 ปี, อาคารและสิ่งปลูกสร้าง 5-20 ปี (ยกเว้น “ที่ดิน” ที่ไม่มีการตัดค่าเสื่อมฯ เพราะในทางบัญชีถือว่าไม่มีการเสื่อมสภาพ) เป็นต้น โดยแต่ละบริษัทอาจกำหนดการใช้งานของสินทรัพย์ต่างๆ กันไป ขึ้นอยู่กับสภาพความเป็นจริง
ในหลายๆ ธุรกิจที่ไม่ได้มีเรื่องของการผลิต เช่น ธุรกิจบริการ ธุรกิจค้าปลีก ฯลฯ เรื่องของค่าเสื่อมราคาอาจไม่ได้มีผลมากนัก เพราะบริษัทเหล่านั้นไม่ได้มีสินทรัพย์ขนาดใหญ่ให้ต้องตัดค่าเสื่อมฯ เท่าไร
แต่สำหรับกิจการที่อยู่ในอุตสาหกรรมการผลิต และมีสินทรัพย์ถาวรจำนวนมาก เช่น ที่ดิน อาคาร และเครื่องจักรขนาดใหญ่ เรื่องของค่าเสื่อมราคาถือได้ว่ามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง เพราะการบันทึกค่าเสื่อมฯ จะส่งผลต่อ “กำไร” ของบริษัทค่อนข้างมาก
ตัวอย่างเช่น หากบริษัทซื้อเครื่องจักรมาในราคา 100 ล้านบาท และบันทึกอายุการใช้งานของเครื่องจักร 5 ปี บริษัทย่อมต้องตัดค่าเสื่อมราคา สูงถึงปีละ 20 ล้านบาท (100/5 = 20) ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อกำไรของบริษัทในช่วง 5 ปีนั้น อย่างรุนแรง พูดง่ายๆ คือ กำไรหายไปปีละ 20 ล้าน
ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง เครื่องจักรนั้นอาจใช้งานได้ถึง 10 ปี ซึ่งถ้าบริษัทตัดค่าเสื่อมราคาสอดคล้องกับความเป็นจริง ก็จะบันทึกค่าเสื่อมฯ เพียงปีละ 10 ล้านบาท (100/10 = 10) กำไรจึงหายไปแค่ปีละ 10 ล้าน
จะเห็นได้ว่า การบันทึกค่าเสื่อมสองแบบ ส่งผลให้กำไรของบริษัทแตกต่างกันถึงปีละ 10 ล้านบาท .. ไม่ใช่น้อยๆ เลยจริงไหมครับ?
ดังนั้น ในการอ่านงบการเงิน เราจึงควรพิจารณาประเด็นเหล่านี้ให้ดี เพราะการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของกำไรของแต่ละบริษัท อาจเป็นผลมาจากการตัดค่าเสื่อมราคา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธุรกิจในอุตสาหกรรมการผลิตดังที่ได้กล่าวไปแล้ว
บางครั้ง ตัวเลขกำไรที่ลดลง อาจมาจากการตัดค่าเสื่อมฯ ที่หนักหน่วงเกินไปในช่วงแรก ทำให้ผลประกอบการออกมาดูแย่กว่าความเป็นจริง ในทางตรงกันข้าม ตัวเลขกำไรที่เพิ่มขึ้น อาจมาจากการที่บริษัทตัดค่าเสื่อมราคาของสินทรัพย์บางชิ้นจนหมดแล้ว และไม่มีค่าใช้จ่ายรายการนั้นอีกต่อไป ซึ่งไม่ได้แปลว่ากิจการมี Performance ดีขึ้น แต่อย่างใด
นี่คือเรื่องของสินทรัพย์และค่าเสื่อมราคา ซึ่งนักลงทุนควรรู้ไว้ เพื่อจะได้อ่านผลประกอบการของบริษัทอย่างถูกต้องและเข้าใจถึงศักยภาพที่แท้จริงของบริษัทที่เราศึกษาอยู่อย่างถ่องแท้
ไม่หลงไปกับ “ภาพลวงตา” ทางบัญชีครับ