วันเสาร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2556

ขยายความ npm & sg&a


NET MARGIN ต่ำดาบสองคม หลายคนเวลาอ่านงบการเงินแล้วเจอบริษัทที่มี NET MARGIN 1–2% จะรู้สึกว่าเป็นหุ้นที่ไม่น่าสนใจ จริงๆแล้ว NET MARGIN ต่ำ ถ้าเพิ่ม MARGIN ได้นิดเดียว กำไรโตระเบิดเลย อย่างบริษัทขายส่งคอมพิวเตอร์ที่มีมาร์ จิ้นบางมากแค่ 1% เศษๆเมื่อหลายปีก่อน แต่มีการบริหารจัดการที่ดี มาร์จิ้นก็ค่อยๆเพิ่มขึ้น ราคาหุ้นในรอบหลายปีก็ขึ้นมาหลายเท่ามาก ผมคิดว่าหุ้นหลายตัวธรรมชาติของธุรกิจจะมีมาร์จิ้นที่ค่อนข้างต่ำ แต่ถ้ามีการบริหารจัดการที่ดี ก็สามารถเป็นหุ้น GROWTH ที่เติบโตต่อเนื่องได้ กลับกันหุ้นบางตัวที่ MARGIN สูงแบบผิดปกติเข้าข่าย Too Good to Be True ธุรกิจที่คู่แข่งรายใหม่เข้าไปแข่งได้ง่ายจะทำให้ MARGIN ที่สูงนั้นไม่สามารถรักษาได้นาน อย่างหุ้นผลิตอิฐมวลเขาหรือนำเข้าถ่านหินเมื่อหลายปีก่อนที่เคยมี GROSS MARGIN สูงมากๆ และการเข้ามาของคู่แข่งก็ไม่ได้ยาก สุดท้ายกำไรของสองบริษัทนี้ก็ลดลงอย่างมากจากการเข้ามาของคู่แข่ง ดังนั้นการที่หุ้นมี GROSS MARGIN หรือ NET MARGIN ที่สูง ก็ไม่ได้หมายความว่าจะดีเสมอไป ในทางกลับกัน NET MARGIN ต่ำก็ไม่ได้แย่เสมอไป ดังนั้นเวลาเราดูตัวเลข GROSS MARGIN และ NET MARGIN เราต้องคิดด้วยว่ามันเหมาะสมกับลักษณะธุรกิจไหม เรื่องนี้จะมีการขยายความในส่วนของ FIVE FORCED MODEL ในภายหลัง ตัวเลขสินทรัพย์ในงบการเงินนั้นไม่ได้สะท้อนถึงคุณค่าบางอย่างที่สินทรัพย์ไม่ได้แสดงออกมา เช่น คุณอาจเข้าไปดูในสินทรัพย์ของขนมปังฟาร์มเฮาส์ ว่ามีเท่าไหร่และบริษัททำกำไรได้เท่าไหร่ แต่ไม่ได้หมายความว่าคุณใช้เงินลงทุนเท่ากับสินทรัพย์ของฟาร์มเฮาส์ แล้วคุณจะได้กำไรเท่ากับฟาร์มเฮาส์ทำได้ เพราะแบรนด์ของเขาติดตลาดไปเรียบร้อยแล้ว และเขายังมีระบบการขนส่งที่ยอดเยี่ยม เนื่องจากขนมปังเป็นของสด ถ้าเขาต้องขายทั่วประเทศ ระบบขนส่งต้องดีมาก ซึ่งคงไม่ใช่สิ่งที่เลียนแบบกันง่ายๆ หรือการที่คุณดูว่าโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ มีสินทรัพย์เท่าไหร่และทำกำไรได้เท่าไหร่ (ROA) ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณมีเงินลงทุนเท่ากับสินทรัพย์โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์แล้วคุณจะได้กำไรเท่ากับเขา เพราะว่าแบรนด์ของโรงพยาบาลเขาแข็งมาก เป็นที่น่าเชื่อถือและเป็นที่รู้จัก คนไข้ต่างประเทศก็เดินทางมารักษาเป็นจำนวนมาก หมอที่เก่งๆก็มีจำนวนมาก ถ้าคุณลงทุนสร้างโรงพยาบาลขึ้นมา ประเด็นคือ คนทั่วไปจะไว้วางใจโรงพยาบาลของคุณเหรอว่ารักษาดีจริง ถ้าจ่ายค่าหมอเท่ากัน หมอเกือบทุกคนคงเลือกไปทำงานที่บำรุงราษฎร์มากกว่าที่จะมาทำงานกับโรงพยาบาล NO NAME ที่เพิ่งเปิด เห็นหรือยังครับว่าอัตราส่วนทางการเงินที่แสดงในงบไม่ได้สะท้อนปัจจัยเหล่านี้ออกมา แต่ถ้าคุณจะลงทุนซื้อหุ้นคงต้องวิเคราะห์ปัจจัยเชิงปริมาณกับคุณภาพไปพร้อมๆกัน มากกว่าจะวิเคราะห์เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง
อัตราส่วน SG&A / SALE
               ปกติอัตราส่วนนี้จะเอาไว้ดูว่าบริษัทมีค่าใช้จ่ายเป็นสัดส่วนเท่าไหร่เมื่อเทียบกับยอดขาย ตามปกติแล้วตัวเลขยิ่งต่ำยิ่งดี แต่ก็มีข้อแม้ในบางกรณีเหมือนกัน เช่น บริษัทอสังหาริมทรัพย์นั้นเวลาเปิดโครงการจะยังไม่สามารถบันทึกรายได้ในงบกำไรขาดทุน แต่จะมีค่าใช้จ่ายทันทีเวลาที่เปิดโครงการ เช่น ค่าโฆษณาต่างๆ ดังนั้น ถ้าเราดู SG&A/SALE เราก็จะบอกว่าบริษัทคุมค่าใช้จ่ายได้ไม่ดี แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ เพราะบริษัทยังไม่สามารถรับรู้รายได้ในตอนนี้ได้ ทำให้ยอดขายเพิ่มไม่ทันค่าใช้จ่าย ดังนั้นเราต้องดูว่า % ของ SG&A เติบโตมากหรือน้อยกว่ายอด pre sale เช่น
               บริษัท มันต้องมีดีซักซี้ดนึง
                                                   2552               2553
Pre sale                                    1000              1300
SG&A                                       150                180
SG&A/SALE                           15%              13.8%
               จะเห็นได้ว่า บริษัท มันต้องมีดีซักซี้ดนึง ทำยอดจองได้เพิ่ม 30% จาก 1000 เป็น 1300 มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเพียง 20% แสดงว่าคุมค่าใช้จ่ายได้ดี เนื่องจากยอดจองโตมากกว่าค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร ทำให้อัตราส่วน SG&A/SALE ลดลง จะเห็นได้ว่ากรณีนี้ ถ้าเราใช้การวิเคราะห์ SG&A/SALE ธรรมดา เราอาจจะหลงคิดว่าบริษัทไม่น่าสนใจก็ได้ เพราะถ้าปี 2553 บริษัทนี้ยังไม่มีโครงการเก่าๆที่ครบกำหนดโอนบ้าน ยอดรับรู้รายได้อาจจะไม่เติบโต แต่พอไปดูค่าใช้จ่ายกลับโตตั้ง 20% นอกจากนี้เรายังสามารถต่อยอดแนวคิดนี้ได้ด้วยก็คือ เวลาเราเปรียบเทียบหุ้นอสังหาริมทรัพย์ เราไม่ควรดู net margin เนื่องจากว่าบริษัทที่กำลังเติบโตมากๆ จะต้องขายโครงการได้เยอะ แต่นั่นจะทำให้ค่าใช้จ่ายของบริษัทเยอะและไปกดให้ net profit margin ลด ถ้าเรานำบริษัทนี้ไปเปรียบเทียบกับอีกบริษัทที่ช่วงหลังไม่ค่อยมีออกโครงการอะไร ทำให้ค่าใช้จ่ายไม่เยอะ net profit margin เลยดูสูงกว่า แบบนี้ก็จะทำให้คนเข้าใจผิดได้ ถ้าคุณอยากดูอัตราการทำกำไรของหุ้นอสังหาริมทรัพย์ ดูที่ gross margin น่าจะสะท้อนมากกว่า net margin ครับ
Credit http://hongvalue.wordpress.com