งบการเงิน(ตอนที่1)
POSTED BY ENERGY_EAK ⋅ JULY 30, 2011 ⋅ 2 COMMENTS
ความจริงของโลกใบนี้ ได้พิสุจน์ว่า….เราไม่จำเป็นต้องร่ำเรียนมาทางด้านบัญชีการเงิน ก็สามารถประสบความสำเร็จในการเล่นหุ้นได้ ..บางท่านที่ประสบความสำเร็จในการเล่นหุ้นก็เป็น คุณหมอ, วิศวกร, หรืออาชีพอื่นๆ เป็นเจ้านายตัวเอง รึ อยู่บ้านเฉยๆ…ก็สามารถประสบความสำเร็จในการเล่นหุ้นได้ เราจะเห็นว่าความสำเร็จได้เปิดประตูต้อนรับคนทุกอาชีพ…แต่ลองสังเกตุดูสิครับ ..คนเก่งๆทั้งในระดับประเทศ, ระดับโลก แม้แต่คนเก่งในวงเพื่อนๆของเรา ส่วนมากจะ พิจารณางบการเงินเป็นทั้งสิ้น
ผมเองก็ไม่ได้เรียนจบทางด้านบัญชีมาครับ…แต่อยากประสบความสำเร็จอย่างคนอื่นๆเขา ..ก็เลยคิดง่ายๆว่า อะไรที่คนสำเร็จๆเขาทำกันได้ เราน่าจะฝึกหัดเอาไว้ไม่เสียหาย …และผมก็พบว่าการอ่านงบการเงินได้บ้าง มีประโยชน์อย่างมาก ..ถ้าจะเปรียบเทียบกับการสร้างบ้านที่ต้องมีรากฐาน, วางเสา, วางคาน…การเสริมความรู้ด้านพฐ.บัญชีในการลงทุนบ้าง..ก็ถือเป็นการเพิ่มความมั่นคงในการลงทุน.. จำกัดความเสี่ยงให้น้อยลงนั่นแหละครับ
เพื่อให้มีความสนุกในการติดตาม ในรายละเอียดผมพูดเกี่ยวกับ มุมมองของการดูงบการเงินแบบGrowth ในแบบของผม และ บางตอนจะยกตัวอย่างจริงประกอบบ้าง
อย่างไรก็ดี..ทั้งหมดจะพูดถึง 3หัวเรื่องหลักๆ..
1)งบดุล
2)กำไรขาดทุน
และ 3)งบกระแสเงินสด
ทั้ง3งบนี้ …มีความสัมพันธ์กัน… โดยหากเราเปรียบเที่ยบว่าหุ้นตัวนึง คือคนๆนึง งบดุลก็เหมือนกับสุขภาพทางการเงินโดยรวมของคนๆนั้น, งบกำไรขาดทุนก็เหมือนงานการที่คนๆนั้นทำความสามารถในการหาเงิน, งบกระแสเงินสดก็คือนิสัยการจับจ่ายใช้สอยของคนๆนั้นอะแหละครับ…เห็นถึงความสัมพันธ์บ้างไหมครับ?…เช่น ถ้าจับจ่ายใช้สอย(งบเงินสด) มากกว่า ที่หามาได้(งบกำไร)ตลอดเวลา ..สุดท้ายสุขภาพทางการเงิน(งบดุล)ก็จะแย่ …ถ้าเป็นคนก็เรียกว่า”จน” ….เป็นบริษัท จะเรียกว่าอะไรดี!! ^_^”
ผมเขียนจบครบทั้ง3งบการเงิน….มีวัตถุประสงค์เพื่อ ที่จะจุดประกายให้เพื่อนๆที่ยังไม่สนใจเรื่องการดูงบการเงิน …ให้ลองหันมา อ่านงบการเงินดูบ้าง…ตามประสางูๆปลาๆนี่แหละครับ ผมเองก็ยังไม่เก่ง แต่ก็พยายามเต็มที่ เพราะเชื่อว่าหากเพื่อนๆเข้าใจแล้ว..จะเห็นว่ามันมีประโยชน์จริงๆครับ
งบการเงิน(ตอนที่2)งบดุล
POSTED BY ENERGY_EAK ⋅ JULY 23, 2011 ⋅ LEAVE A COMMENT
วันนี้จะขอพูดถึงการดูพื้นฐานบ้างครับ.. ดังคำๆนี้ครับ
“หอสูงเก้าชั้นยังเริ่มต้นด้วยกองดิน ..เดินทางพันลี้ยังเริ่มต้นด้วยฝ่าเท้า
ไม่มีชั้นแรกที่จะต่อด้วยชั้นสาม ..ดังนั้นควรวางรากฐานอย่างมั่นคงไว้ ”
อย่างที่เคยเล่ามาก่อนหน้านี้ว่า..ความเรียบง่าย คือ หัวใจการลงทุนของผม …หลักของความเรียบง่าย …ไม่ใช่ว่าไม่ต้องหาความรู้นะครับ(ตอนนี้ผมเองก็เรียนรู้อยู่ตลอดเวลา)..แต่หลักของความเรียบง่ายอยู่ที่ความเข้าใจ ครับ
งบดุล เป็นงบการเงินที่บอกถึงภาพรวมๆได้ดีที่สุดครับ บอกถึงสุขภาพของบริษัท …เหมือนคนที่ไปตรวจสุขภาพประจำปีแล้วมีใบรายงานผลนั่นแหละครับ
การอ่านงบของธุรกิจ..ผมเน้นความเข้าใจเป็นหลัก …เอาง่ายๆว่าไม่จำเป็นต้องรู้เยอะ, ไม่ต้องรู้จักตัวชี้วัดหลายๆตัว ถ้าเราไม่เข้าใจ …มุ่งเอาสักตัวสองตัวแต่เข้าใจดีกว่าครับ ..เพราะในการดูพฐ.ของบริษัทมีค่า Ratio มากมายให้เราหยิบมาใช้(ถ้าไม่ถนัดคำนวนก็หาค่าจากเว็บได้ ไม่จำเป็นต้องคำนวนเองเป็นก็ได้ครับ)…แต่สิ่งสำคัญคือ เราจะหยิบค่าอะไรมาพิจารณา ต้องเข้าใจและอย่าลืมว่าค่าต่างๆนี้ จะมีมิติอื่นๆซ่อนอยู่ด้วยเสมอ!! ฉนั้นการอ่านพฐ.ย่อมอยู่ที่มุมมองของแต่ละคน เช่น..ค่าวัดความเสี่ยงที่นิยมใช้กันค่านึง….
D/E Ratio หรือ สัดส่วนหนี้สินต่อทุน ที่หลายท่านพอเห็นสัดส่วนหนี้สินของบริษัทสูงๆแล้ว ก็ขยาดซะแล้ว!!(ผมเชื่อว่าคิดแบบนี้กันเยอะเลย)..แต่การทำธุรกิจมีมันมีหลายมิติ ขึ้นอยู่กับความสามารถของผบห.ครับ ..ดังนั้นในความคิดผมไม่ควรมองD/Eเพียงมิติเดียวแล้วหวาดกลัว ..ควรมองรายละเอียดอื่นๆประกอบด้วย เช่น รายละเอียดของหนี้สิน และ ศักยภาพการทำกำไรของบริษัท ผมขอยกตัวอย่าง….
A ลงทุนใน สินทรัพย์100 = หนี้สิน90 + ทุน10
B ลงทุนใน สินทรัพย์100 = หนี้สิน10 + ทุน90
(สินทรัพย์= หนี้สิน + ทุน) ———————————(งบดุล)
จะเห็นว่า A ไม่ค่อยจะเจียมตัวเน้นกู้เงินมาลงทุนซะส่วนใหญ่, แต่ B เน้นการใช้เงินของตัวเองในการลงทุน ..มองๆแล้วBก็น่าจะดีถูกไหมครับ…แต่ลองพิจารณาในกรณีที่เศรษฐกิจเติบโตดี นะครับ
…ถ้าอีก1ปีข้างหน้า สินทรัพย์ที่ไปลงทุนเหมือนๆกันของAและBเพิ่มขึ้นสัก 20%ครับ และทั้ง2เกิดตัดสินใจขายสินทรัพย์นี้ไป(เพื่อให้เข้าใจง่ายผมไม่คิดรายละเอียดพวกภาระเงินกู้ ภาษี ฯลฯ)จะเกิดอะไรขึ้นครับ
Aขายได้ตังมา120 – คืนเงินกู้ไป90 = เหลือ30 คิดเป็นGrowth 200%ของเงินที่ลงไปตอนแรก(10)
Bขายได้ตังมา120 – คืนเงินกู้ไป10 = เหลือ110 คิดเป็นGrowth 22%ของเงินที่ลงไปตอนแรก(90)
***ถ้าเราจะเอาเงินไปร่วมไปลงทุนในบริษัทสักบริษัทนึง..เราจะชอบการเติบโตของเงินที่เราลงทุนแบบไหนครับ?^_^ แบบนี้แหละครับที่เขาเรียกว่า High Risk High Return ..ไม่ใช่ไปเล่นหุ้นHigh Risk เช่น หุ้นปั่นเจ้าลากแล้วจะ High Return นะครับ
จากตัวอย่างง่ายๆข้างต้น จะเห็นว่า หากเรารู้จัก งบดุลบ้าง และ เข้าใจRatioเพิ่มสักหน่อย…รู้ว่าบริษัทที่เราไปลงทุน มีโอกาสเติบโตตามทิศทางเศรษฐกิจสักนิด …เราจะเห็นมีโอกาสอะไรๆอีกมากมายเลยทีเดียวครับ!!
ปล.ตัวอย่างที่ผมยกขึ้นมาเพื่อให้เห็นภาพชัดเจน ดังนั้นในการลงทุนจริงๆควรพิจารณาองค์ประกอบอื่นๆเพิ่มเติมด้วย เพราะ ระดับหนี้สินในอีกมิตินึง คือความเสี่ยงต่อการอยู่รอดของบริษัทครับ
งบการเงิน(ตอนที่3)งบกำไร-ขาดทุน
POSTED BY ENERGY_EAK ⋅ JULY 26, 2011 ⋅ 3 COMMENTS
ถ้าพูดถึงงบการเงินที่มีคนชอบดูกันมากที่สุด ผมมั่นใจเลยว่า ..งบกำไรขาดทุน ..เป็นคำตอบที่ทุกคนต้องการจะเห็น….ให้ไปในทางที่ดีมากที่สุด …และ ใครเชียวชาญการวิเคราะห์งบการเงิน..แค่งบนี้งบเดียวก็ถือซะว่า แทบจะบินได้แล้วครับ ..ลองติดตามต่อนะครับ ว่ามันสำคัญยังไง!!
โครงสร้างของกำไรขาดทุนคร่าวๆประกอบด้วย
รายได้ – ค่าใช้จ่าย = กำไรสุทธิ(ขาดทุนสุทธิ) <————(งบกำไรขาดทุน)
ดูสิครับโครงสร้างมันง่ายมาก และยั่วยวน ในการที่จะให้เราเปิดดู…เพราะ สิ่งที่สำคัญที่สุดในการลงทุนคงหนีไม้พ้นความสามารถในการทำกำไรของบริษัท รึ มีใครจะบอกว่าชอบที่จะลงทุนไปแล้ว..ธุรกิจขาดทุนมั่งอะครับ(คงไม่มี)
ปีเตอร์ ลินซ์ บอกว่า..
กำไรจะเพิ่มได้ ประกอบด้วยกฎ5ข้อ(ดูเป็นพฐ.ได้เลยครับ)
1)ขายของได้มากขึ้นในตลาดเก่า
2)ขยายเข้าสู่ตลาดใหม่
3)ลดต้นทุนสำเร็จ
4)ขึ้นราคาสินค้า
5)ตัดส่วนที่ขาดทุนทิ้งไปได้(เช่นบริษัทย่อยที่ผลประกอบการแย่ๆ)
…ดังนั้นหากบริษัทไม่มีความสามารถในการทำให้กำไรเพิ่ม ..แทบที่ไม่ต้องจะมาคุยกันประเด็นอื่นกันต่อเลยครับ …แต่อย่างไรก็ดีอย่าลืมว่า งบการเงินบอกเราได้แค่ในอดีตไปทำอะไรมา คำว่าทำกำไรเพิ่มขึ้นจะต้องประเมินทางธุรกิจประกอบไปด้วยครับ
…ยิ่งหากเรามองเพียงมิติเดียว งบกำไรขาดทุน จะบอกเราได้แค่ Gross(กำไรขั้นต้น), NPM(กำไรสุทธิ), รายได้, ต้นทุน และ อื่นๆ …ถ้าต้องการแค่นี้…หาอ่านเอาตามบทวิเคราะห์หรือเอกสารสรุปเอาก็ได้ครับ ไม่ต้องเสียเวลามาโหลดงบเปิดดูครับ
…แต่หากเราสนใจในตัวบริษัทไหนมากๆ ผมแนะนำว่าลองมองมิติให้มากกว่านั้นดูครับ เช่น ดูงบกำไรขาดทุนกับทิศทางเศรษฐกิจควบคู่กันไป เช่น
A รายได้ 100 – ต้นทุน 90 = กำไร 10
B รายได้ 100 – ต้นทุน 50 = กำไร 50
สมมุติให้A และ Bทำอะไรเหมือนๆกันจะเห็นว่า..
(กำไรก่อนภาษี)
Aท ำกำไรก่อนภาษีได้เพียง 10%
และ B ทำกำไรถึง 50%
ดูแล้วศักยภาพในการทำกำไรของ Bจะดีกว่า Aมากๆ…โดยปกติราคาในตลาดของก็จะรองรับศักยภาพตรงจุดนี้ของBแน่นอน(มองมิติเดียว)
…แต่ลองดูกันนะครับถ้าในกรณีที่ทิศทางเศรษฐกิจเติบโต สัก20%(บริษัทเติบโต) และต้นทุนเพิ่มขึ้นสัก10%(ปกติก็มาพร้อมๆกันอยู่แล้ว)..จะเกิดอะไรขึ้น!!
A รายได้ 120 – ต้นทุน 99 = กำไร 21
B รายได้ 120 – ต้นทุน 55 = กำไร 65
เห็นไหม!!… A เติบโต 110% ..แต่B เติบโตเพียง30%
เป็นไงล่ะครับ!! แม้งบกำไรขาดทุนจะบอกแค่อดีต..แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะประเมินอนาคตไม่ออกจากการ ดูงบกำไรขาดทุน..ซะทีเดียวนะครับ…เพียงแค่เราเข้าใจมิติของมันให้มากขึ้นเท่านั้น!! ^__^
….กรณีที่ผมยกไป…อาจจะเป็นเสน่ห์อย่างอย่างนึงของบริษัทขนาดเล็ก …ยิ่งหากบริษัทที่มีความสามารถในการแข่งขันซ่อนอยู่(เล็กพริกขี้หนู)..หรือ.สามารถแย่งพื้นที่ในตลาดมาครองได้มากขึ้นบ้าง..การเติบโตก็จะยิ่งมากขึ้นกว่าทิศทางเศรษฐกิจโดยปกติ(มีเยอะแยะครับ…ที่มันไปพรวดๆนั่นแหละไม่ต้องสงสัย!!^^) ..อะไรแบบนี้แหละครับ..จะแตกต่างจากบริษัทใหญ่ๆที่ครองMarket Share สูงๆ..บางทีมันโตยากครับ(ที่บางคนอาจเคยมีความรู้สึกว่า ซื้อบริษัทใหญ่ๆบางบริษัทแล้วราคามันไม่ค่อยไป..หรือโตสู้ตัวเล็กๆไม่ได้ก็เพราะแบบนี้แหละครับ…คงไม่ใช่เพราะหุ้นตัวเล็กๆราคาถูก..แล้วคนชอบเก็งซะทีเดียวหรอกครับ)
***งบกำไรขาดทุนเป็นส่วนที่สำคัญ ควรดื่มเกินวันละสองขวด ไม่ต้องสังเกตุคำเตือนใดๆทั้งสิ้น!! ^___^
งบการเงิน(ตอนที่4ตอนสุดท้าย)งบกระแสเงินสด
POSTED BY ENERGY_EAK ⋅ JULY 30, 2011 ⋅ 4 COMMENTS
“มีหลายคนคิดว่ากำไรคือกระแสเงินสด..ซึ่งความจริงแล้วคงไม่ใช่“
มีหลายครั้งที่งบกำไรขาดทุนได้ทำการบันทึก..แต่เงินสดไม่ได้เข้าบริษัทในขณะนั้น ….ปัจจุบันผมใช้งบ กระแสเงินสด ช่วยในการมองพฤติกรรมของบริษัท …หลายครั้งพบเจอว่าบริษัทกำลังทำอะไรที่จะส่งผลต่ออนาคต อันใกล้….ลองดูโครงสร้างของงบกระแสเงินสดกันครับ ว่าประกอบด้วยอะไรบ้าง
การเปลี่ยนแปลงในเงินสด = กระแสเงินสดจากกำไร + เงินสดจากแหล่งอื่น – การใช้เงินสดในรอบนั้นๆ ——(งบกระแสเงินสด)
อาจจะบอกได้ว่า กระแสเงินสด แปรผันตาม
1)การดำเนินงาน
2)การซื้อขายสินทรัพย์ซึ่งหมายถึงกิจกรรมการลงทุน
3)การเปลี่ยนแปลงหนี้สิน หรือ หุ้น หรือ กิจกรรมทางการเงินอื่นๆ
ลองคิดดูสิครับ..ถ้าบริษัทที่เราลงทุน จะขยายงาน รึไปทำอะไรที่มีโอกาสจะเติบโต บริษัทต้องใช้เงินสดๆเป็นตัวขับเคลื่อนสภาพคล่องในการลงทุน….เอาง่ายๆเหมือนเรามีตังในกระเป๋าอยู่แค่100บาท..แต่มีโอกาสจะได้เงินมาอีกใน2-3วัน จะไปนัดแฟนทานข้าววันนี้หรืออีก3วันอะครับ? วันนี้คงเอาแค่ใช้จ่ายประคองตัวเองไปก่อนถูกไหมครับ …ความพร้อมอะไรแบบนี้แหละ….งบกระแสเงินสดจะบอกเรา หรือ แม้แต่เช่น…
(ตัวอย่างจริง)
กรณีที่อยุ่ดีๆบริษัทเก็บเงินลูกค้าไม่ได้ มีงานแล้วเสร็จแต่ยังไม่ได้เก็บเงิน โผล่ขึ้นมา…การที่มองจากงบดุล จะเห็นไม่ชัด…เพราะงบดุลรวมทุกอย่างและแสดงถึงผลการเติบโตของกรณี้นี้ไม่ชัดเจน ….พอสอบถามไปทางบริษัทพบว่า บริษัทกำลัง ลงทุนร่วมกับลูกค้ารายใหญ่ในอนาคต แต่ต้องออกตังตัวเองไปก่อน(อ้าว!!..แบบนี้ก็ มีเรื่องสอบถามต่อมากมายเลย)…อย่างในกรณีตัวอย่างนี้ มองภาพออกมาทั้ง บวกและลบ …
เนื่องจากงานที่ทำในปัจจุบัน(ที่ยังเก็บตังไม่ได้)..ได้บันทึกลงในงบกำไรขาดทุนเรียบร้อยแล้ว(แสดงไปแล้ว) …การที่เป็นแบบนี้แสดงว่า เมื่อมีการเริ่มทำงานร่วมกันจริงๆ รายได้บางส่วนจะหายไปและจะทดแทนด้วยงานที่ทำร่วมกันแทน…ทำให้สามารถประเมินได้ว่าในอนาคต แม้บริษัทจะเติบโตเพราะการลงทุนใหม่ร่วมกัน แต่มีโอกาสเกิดคอขวดของรายได้สูง(รู้ก่อนได้เปรียบ)
งบกระแสเงินสดยังบอกอะไรอีกหลายอย่าง เพราะหลายบริษัทใช้งบกระแสเงินสด ในการตั้งงบประมาณของปีถัดไป
งบกระแสเงินสดบอกถึงความสามารถในการแปลงลูกหนี้เป็นเงิน และ บอกถึงความสามารถในการชำระหนี้สินได้
ตอนนี้สั้นไปนิดนึง…แต่อย่างไรอ่านมาถึงขนาดนี้แล้วเชื่อว่าเพื่อนๆที่เพิ่งลองอ่านจะได้ประโยชน์ไม่มากก็น้อย…ลองฝึกดูงบการเงินเล่นๆกันดูนะครับ ^_^…ผมเองก็ยังไม่เก่ง(จับฉ่าย)..เจอกันก็ทักทายแลกเปลี่ยนความรู้กันได้นะครับ.