Unlock มูลค่ากิจการผ่านงบการเงิน
Leave a comment
March 28, 2012 by Lin
งบการเงินเป็นภาพสะท้อนกิจการ เป็นหลักสูตรเบื้องต้นที่นักลงทุนควรจะเรียนรู้เพื่อเอื้อประโยชน์ในการลงทุน
วลีข้างต้นก็ไม่มีอะไรผิด ธุรกิจสะท้อนภาพผ่านงบการเงิน แต่สะท้อนถูกผิดตามมุมมองผู้อยากให้สะท้อน และเป็นภาพสะท้อนผ่านกระจกหลัง ซึ่งมีค่าน้อยมาก ในการลงทุนที่เราหวังผลตอบแทนในการลงทุนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้นช่องว่างระหว่างข้อมูลในอดีต และสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ย่อมมีไม่น้อย ผมจึงคิดว่าการใช้งบการเงิน เป็นส่วนที่สำคัญในการประเมินมูลค่า เป็นจุดเสี่ยง
แม้ว่าจะมีมาตรฐานบัญชีที่คอยควบคุมให้งบการเงินมีมาตรฐานเดียวกัน และเป็นเหตุเป็นผลที่สุด (Fair Present) แต่ในความเป็นจริงที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป เนื่องจากนักบัญชีมีแนวโน้มที่จะให้บัญชี Conservative ที่สุดด้วยหลักความระมัดระวัง แต่ในมุมกลับกัน เจ้ากิจการอาจต้องการให้งบการเงินมีการบันทึกบัญชีเพื่อเอื้อประโยชน์บางอย่างให้กิจการ เช่น ให้กำไรบรรทัดสุดท้ายดีขึ้น
แต่อันทึ่จริง ความผิดเพี้ยนข้างต้น ก็ส่งผลดีไม่น้อย ต่อการลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนแบบประเมินมูลค่ากิจการ เพราะมันมีอะไรแอบซ่อนอยู่ข้างใน ปกปิดมันจากนักลงทุนทั่วไปในตลาด และรอวันที่จะถูกปลดล็อคมันออกมา ยกตัวอย่างเบื้องต้น เช่น มาตรฐานบัญชีหมวด PP&E (Property Plan & Equipment) เครื่องจักรในการผลิต ในทางบัญชีไม่มีระบุว่าจำเป็นต้องตัดค่าเสื่อมกี่ปี หลายบริษัทจึงเลือกตามมาตรฐานที่ 5 ปี ทั้ง ๆ ที่เครื่องจักรบางเครื่อง ล้าสมัยทันที ถ้าอุตสาหกรรมเปลี่ยน (เปลี่ยนรุ่น) หรือในทางอ้อมคือเครื่องจักรรุ่นใหม่ ทำงานได้ดีกว่ารุ่นเก่ามาก ๆ ทำให้ต้นทุนเครื่องจักรเก่าสู้ไม่ได้ ในกรณีนี้ กิจการมีมูลค่าน้อยกว่าที่ถูกบันทึกในงบการเงิน รวมถึงถ้าคิดในแง่ของ FCF แล้ว ผลลัพท์จะต่ำกว่ามาก หากจำเป็นต้องมี Capex มาชดเชยเครื่องจักรเก่าอยู่ตลอดเวลา มองในมุมกลับกัน เครื่องจักรที่ต้องตัดค่าเสื่อม 5 ปี กลับทำงานได้ดี และใช้งานได้อยู่ ในโรงงานหลายแห่ง การตัดค่าเสื่อม 5 ปี จริงผิดเพี้ยนกับความเป็นจริงในเชิงให้มูลค่ากิจการน้อยเกินกว่าที่ควรจะเป็น
อีกรูปแบบหนึ่งของ PP&E คือ บางกิจการใช้อาคาร สำนักงาน เป็นเครื่องมือสำคัญในการประกอบกิจการ เช่นโรงพยาบาล ธุรกิจค้าปลีก โดยอาคาร สำนักงาน มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงครั้งใหญ่ถึงขั้นทุบตึกทิ้ง เบื้องต้นหลายบริษัทเลือกตัดค่าเสื่อม 20 ปี (ทั้ง ๆ ที่อายุใช้งานมากกว่านั้นมาก) สิ่งที่เกิดขึ้นคือเมื่อการตัดค่าเสื่อมเป็นไปตามจริงมากขึ้น (เช่นในธุรกิจค้าปลีก หรือธุรกิจโรงพยาบาลที่มีการปรับมาตรฐานใหม่ในช่วงปีที่ผ่านมา) ส่งผลให้กำไรที่ควรจะมีเพิ่มขึ้นมหาศาล หรือเรียกว่า Unlock มูลค่าที่ซ่อนอยู่ในกิจการ โดยที่กำไรเหล่านี้ ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งเดียว แต่เกิดขึ้นไปตลอดชีวิตของกิจการ
อันที่จริงมูลค่าเหล่านี้มีอยู่ตั้งแต่ต้น แต่ถูกซ่อนไว้ในหลีบมุมต่าง ๆ ของงบการเงิน ดังนั้นสรุปอีกทีว่าการที่เราจะเริ่มการประเมินมูลค่าจากงบการเงินแล้ว ผมว่าอาจจะไม่ถูกนัก แน่นอนว่าการใช้ PE ratio หรือ ratio ต่าง ๆ ทั้งหมด ที่ปรากฎในหนังสือพิมพ์ หรือการดูกำไรบรรทัดสุดท้าย คือการประเมินมูลค่าโดยการใช้พื้นฐานจากงบการเงิน มักทำให้เราได้คำตอบไม่ต่างจากตลาดมากนัก (คือคิดเหมือนกับตลาด)
ในอีกแง่มุมหนึ่งการ Unlock เบื้องต้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเวลา รอจนกระทั่ง “นักบัญชี” แก้ไขมันเท่านั้นเอง สิ่งนี้มักมีคุณค่า มากกว่าการ Unlock มูลค่า โดย “ผู้บริหาร” ซึ่งจะพบได้บ่อย ๆ ในหุ้น Asset Play
หุ้น Asset Play มักมีมูลค่าสินทรัพย์แฝงอยู่ เช่นที่ดินราคาถูก ๆ ที่ถูกบันทึกไว้ในราคาต้นทุนเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว สิ่งเหล่านี้จะถูก Unlock ได้โดย ผู้บริหารเท่านั้น (คือขายสินทรัพย์เหล่านี้ทิ้ง และปันผลออกมา) การ Unlock แบบนี้ คุณภาพต่ำกว่าการ Unlock ข้างต้นมาก
ข้อสรุปคืองบการเงินเหมือนประตูที่มีกุญแจล็อคอยู่ ยังมีมาตรฐานอื่น ๆ ที่ผมยังไม่ได้พูดถึง แต่มีผลต่อการประเมินมูลค่า เช่น ไล่ไม่หมดตั้งแต่ IAS 1 -41 ตัวเลขที่เขียนอยู่ในงบบอกในสิ่งที่ตลาดรู้อยู่แล้ว สิ่งที่เราต้องทำคือ หาเหตุผลหลังตัวเลขเหล่านี้ เราไม่จำเป็นต้องเป็นนักบัญชี แต่เป็นนักลงทุนที่คิดในเชิงคุณภาพให้มาก เมื่อเราค้นพบกุญแจที่จะไขสู่มูลค่ากิจการ จะช่วยให้เรานำหน้า สิ่งที่ตลาดรู้อยู่ตลอดเวลา