วันพุธที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2556

จะรู้ได้อย่างไรว่ารายใหญ่จะเข้าสะสมหุ้น

นักลงทุนโดยมากจะรู้อยู่แล้วว่า ระหว่างหุ้นพักฐาน นักลงทุนรายใหญ่จะเข้าสะสมหุ้นจนกว่าจะได้จำนวนหุ้นมากตามความพอใจแล้ว ราคาหุ้นจึงจะสามารถวิ่งต่อได้ แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่า หุ้นที่เราดูอยู่มีนักลงทุนรายใหญ่กำลังเก็บสะสมหุ้นเข้าพอร์ตอย่างใจเย็นหรือไม่ ผมอ่านพบคำตอบจากประสบการณ์ลงทุนของ วิชัย วชิรพงศ์ ในบทความ "กูรูหุ้นพันล้าน วิชัย วชิรพงศ์" จากกรุงเทพธุรกิจ คุณวิชัยซึ่งเป็นรายใหญ่คนหนึ่งบอกว่า เมื่อรายใหญ่ต้องการสะสมหุ้น มักจะตั้งเสนอซื้อ (bid) ด้วยปริมาณน้อย ๆ พร้อมกับตั้งเสนอขาย (offer) ในปริมาณมหาศาล การทำแบบนี้นักลงทุนโดยมากจะเข้าใจผิดว่ามีความต้องการขาย (อุปทาน) มาก แต่ความต้องการซื้อ (อุปสงค์) น้อย ราคาหุ้นน่าจะลง และมักจะถอดใจยอมขายหุ้นออกมาที่ราคาเสนอซื้อ รายใหญ่ที่ตั้งซื้อไว้น้อย ๆ ก็ทยอยสะสมหุ้นได้อย่างใจเย็น การสังเกตแบบนี้ควรดูหลาย ๆ วันประกอบกันเพราะการสะสมหุ้นอย่างใจเย็นจะไม่เกิดขึ้นชั่วระยะเวลาสั้น ๆ ผมทดลองสังเกตหุ้น IVL ซึ่งอยู่ระหว่างพักฐานมาระยะหนึ่งแล้วเข้าข่ายที่ว่ามาเลยเก็บหน้าจอปริมาณเสนอซื้อ เสนอขาย จากเว็บ settrade.com มาให้ดูเป็นตัวอย่างครับ

(คลิกภาพเพื่อขยาย)
===========================
เพิ่มเติมข้อมูล วันที่ 30 กันยายน 2553
===========================
ท่านผู้อ่านอาจจะสงสัยว่า ถ้ารายใหญ่ตั้งขายปริมาณมากดักไว้แล้วเกิดมีใครอีกคนอยากซื้อในปริมาณมากขึ้นมา รายใหญ่นั้นมิต้องเสียหุ้นไปหรอกหรือ มันดูขัดกันพิกล ตามความเข้าใจของผม ปรากฏการณ์แบบนี้จะเกิดในช่วงที่รายใหญ่แน่ใจว่า offer ก้อนใหญ่ที่วางขวางเอาไว้จะไม่ถูกคนอื่นข้ามช่องขึ้นมาซื้อ อีกอย่างถ้าเราดู bid-offer ในจอ trading จะเห็นมากกว่าใน settrade คือเห็นด้านละ 3 - 5 ช่อง offer ก้อนใหญ่ที่วางขวางเอาไว้สามารถขยับไปมาได้ หรือบางครั้งเพื่อความปลอดภัย ก็จะวางไว้ที่ช่องสูงขึ้นไปอีกนิดครับ
ช่วงวันที่ 1 -17 กันยายน 2553 หุ้น CK เป็นอีกตัวหนึ่งที่ผมเห็นปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้น คือในช่วงดังกล่าว หุ้น CK ถูกประกาศให้อยู่ใน turn over list คือไม่สามารถกู้มาร์จิ้นมาซื้อได้ ช่วงนี้นักลงทุนที่กู้เงินมาซื้อหุ้นจะทำอะไรกับหุ้น CK ไม่ได้เลยเพราะไม่มีเงินสด ดังนั้นจึงเหลือแต่พวกที่ใช้เงินสดซื้อ กับพวกที่จะขายทำกำไร เท่านั้น ด้วยเหตุนี้รายใหญ่จึงไม่กลัวว่าใครจะแทรกขึ้นมากโฉบเอา offer ก้อนใหญ่ของตนไป
ลักษณะการเก็บสะสมหุ้นของรายใหญ่ ในกรณีของ CK เกิดขึ้นอีกในวันที่ 30 กันยายน 2553 ซึ่งเป็นวันที่สองที่ CK พักฐานระยะสั้นหลังจากที่ราคาพุ่งขึ้นมามาก จากประมาณหุ้นละ 9 บาทต้น ๆ มาเป็น 10 บาทกลาง ๆ แล้วหยุดพักเหนื่อย ภาพข้างล่างเป็นรายการเสนอซื้อและเสนอขาย ในภาพรายใหญ่ตั้งซื้อช่องแรกในปริมาณน้อยมาก แต่ไปตั้งซื้อปริมาณมากในช่องต่ำลงไปตลอดสองสามช่อง ส่วนในด้านการตั้งขาย มีการตั้งขายในปริมาณมหาศาลทุกช่อง ยิ่งช่องสูงยิ่งตั้งขายมาก ผมคิดว่าที่รายใหญ่ทำแบบนี้เพราะแน่ใจว่าในช่วงที่หุ้นพักเหนื่อยระยะสั้นแบบนี้จะไม่มีแรงซื้อปริมาณมากมาโฉบเอาคำเสนอขายที่ดักไว้ไปเป็นแน่

(คลิกที่ภาพเพื่อขยายให้ใหญ่ขึ้น)

ภาพข้างล่างแสดงหลักฐานว่า มีรายใหญ่กำลังเก็บหุ้นจริง ในภาพจะเห็นว่ารายใหญ่คนหนึ่งได้หุ้น CK ไปในราคา 10.60 บาท ด้วยปริมาณ 196,500 หุ้น (เป็นเงิน 2,082,900 บาท)

(คลิกที่ภาพเพื่อขยายให้ใหญ่ขึ้น)