มีความสุขกับหุ้นปันผล by หมีส้ม
การลงทุนหุ้นปันผล – Passive income เพื่อความมั่นคงในชีวิต
พอดีได้หยุดยาว เลยมีเวลาว่างมานั่งพิมพ์อะไรบ้าง.. สหายหลายๆ ท่านที่ได้เสียสละเวลาอ่านหมีส้มทั้งเล่ม 1 และ 2 จนจบ แล้วยังต่อเนื่องมาปรึกษาหมีเกี่ยวกับแผนการลงทุน ว่าทำถูกแนวทางหรือไม่ หมีส้มจะตอบในหลายๆประเด็นรวดเดียวเลยนะ..
เรื่องแรกก็คือ เราไม่ต้องสนใจว่าสิ่งที่เราทำ เป็น Value Investor หรือไม่ เก็งกำไรรึเปล่า ขอให้เรายึดถือผลลัพธ์ที่ได้เป็นสำคัญ ซึ่งผลลัพธ์ที่เราต้องการก็คือ การได้ปันผลจากหุ้นในระยะยาว ก่อให้เกิดรายได้มากมายและเติบโตต่อเนื่อง หรือที่เรียกกันว่า “Cash cow” การที่เราลงทุนในหุ้นปันผล ก็เพราะเราต้องการลงทุนใน “ธุรกิจที่ดี” ที่มี “การเติบโตสม่ำเสมอ” โดยเราจะต้องไม่อาศัยความรู้สึก เราอาศัยข้อมูลในอดีตย้อนหลัง 10 ปี (ซึ่งก็แน่นอนว่าอาจจะคลาดเคลื่อนก็เป็นได้ แต่ก็ยังดีกว่าที่จะไม่มีอะไรชี้วัดเลยเนอะ) สรุปก็คือ เรากำลังทำธุรกิจ ซึ่งหมายความว่า เราก็ต้องทำตัวเป็นนักธุรกิจ คือเล็งเห็นดอกผลจากการลงทุนในระยะยาว มิใช่ว่าหุ้นขึ้นลงวันสองวัน หรือสัปดาห์สองสัปดาห์เราก็ขายทิ้งแล้ว และที่สำคัญก็คือ “เน้นความสบายใจเป็นหลัก” เราต้อง “กินได้ นอนหลับ” เมื่อเราลงทุน
เรื่องที่สอง จากการที่เราต้องเป็นนักธุรกิจ นักธุรกิจที่ดี ก็มักจะมองเห็นถึงโอกาสและความเสี่ยง ความถูกแพงของสิ่งที่จะได้มา ถ้าเราเป็นนักธุรกิจที่ดี แล้วเราไปซื้อกิจการที่ราคาสูง ทั้งที่กำไรน้อยและอาจจะตามกระแส นักธุรกิจก็อาจจะรีบๆ ขายมันออกไปในราคาแพงกว่า หรือถ้าเห็นท่าไม่ดีก็จะถอยก่อน ในขณะที่หากเค้าเจอธุรกิจที่ดี ที่มีกำไรและอัตราการเติบโตสม่ำเสมอ เค้าก็อาจจะรอคอยให้อยู่ในราคาที่เหมาะสม แล้วค่อยเข้าลงทุน จากนั้นก็ถือเอาไว้ตราบเท่าที่มันยังเป็นธุรกิจที่ดี (มีอัตราการเติบโตเป็นไปตามที่ตั้งเป้าไว้) หรือไม่งั้นก็อาจจะได้มีโอกาสขายออกไป หากมีคนที่ต้องการเข้ามาซื้อและให้ผลตอบแทนเป็นที่น่าพอใจ
เรื่องที่สาม จากเรื่องที่ 1 และ 2 จะเห็นได้ว่า ทุกอย่างมันเป็นเรื่องที่เราๆ ก็รู้กันอยู่ ซึ่งมันก็เป็นเรื่องที่ “พูดง่าย แต่ทำยาก” ซึ่งจริงๆ แล้วเรื่องนี้ หมียืนยันว่ามันก็ไม่ได้ทำยากเสมอไป แต่อาจจะเป็นเพราะเรายังไม่มั่นใจในการลงทุนในหุ้น และราคาที่สวิงตัวของหุ้นทำให้จิตใจเราสั่นคลอน สมัยเด็กๆ หมีจำได้ว่า เคยลงทุนกิจการหมดเงินไปหลายแสน ตัวเองรู้สึกว่าได้น้ำได้เนื้อ ไม่เสียดายเท่าไหร่ แต่พอหุ้นที่ถือตกลงมาหลักแสนพอๆกัน กับรู้สึกว่าทนไม่ได้ ทั้งๆ ที่มูลค่าการเสียหายแทบจะเท่ากัน (แต่ธุรกิจของหุ้นยังดีอยู่) เวลาผ่านไปเงินที่ลงในกิจการไม่มีวันได้คืนกลับมาเพราะละลายไปหมดแล้ว ส่วนหุ้นที่ถือเด้งกลับมาจนมีกำไรพอสมควร อันนี้ก็ต้องให้เครดิตตัวเองที่ซื้อหุ้นที่มั่นคง ในราคาที่ไม่แพงจนเกินไป (แต่จะดีกว่าถ้าซื้อได้ตอนมันวิกฤต 55)
เรื่องที่ 4 จากเรื่องที่ 3 เราจึงเห็นได้ว่า การลงทุนในหุ้น ก็คือการที่เราลงทุนในธุรกิจ ถ้าเรามีต้นทุนที่ดี ในกิจการที่โอเค เราก็ยังได้กินดอกผลของกิจการเหล่านั้น ซึ่งมันจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมหมีถึงชอบแนะนำให้ลงทุนในหุ้นตัวใหญ่ หรือ “Blue Chip” นั่นก็เนื่องมาจากความมั่นคงและยืนยงยาวนานของมัน ซึ่งมีความสามารถในการผูกขาดบางอย่าง ซึ่งจะทำให้มันจะยังคงอยู่ตราบนานเท่านาน มันเป็นการล๊อคความเสี่ยงปัจจัยทางธุรกิจให้กับเราจนเกือบหมด ทำให้เรามุ่งไปเพียงจุดเดียว คือ “ราคาหุ้น” ว่าเหมาะสมหรือควรค่ากับการซื้อหรือไม่ หมีส้มขอเรียนว่า “การรอคอยที่เหมาะสมในการลงทุนเป็นสิ่งที่สำคัญ” และถ้าเราเลือกหุ้นได้ดีและทำสำเร็จ เราอาจจะสบาย “ยันลูกบวช” เลยก้อได้นะ..
เรื่องที่ 5 ต่อเนื่องมาจากเรื่องที่ 4 ก็คือ หุ้นขนาดเล็กที่เติบโตดี หรือหุ้นเติบโตดีที่มี P/E สูง ลงทุนได้หรือไม่ หุ้นขนาดเล็กที่เติบโตดี เป็นเรื่องที่ดี แต่เราอาจจะกังวลเรื่องความสม่ำเสมอหรือต่อเนื่อง เพราะถ้าปีใดมันไม่เป็นไปตามนั้น มันอาจจะทรุดฮวบลงไปเลย เพราะขนาดของหุ้นขนาดเล็ก มันไม่ได้ทนทานต่อเจ้าใหม่ที่อาจจะมีทุนสูง เข้ามาตีตลาด เพราะทุกวันนี้คนแย่งกันทำมาหากิน ทำธุรกิจ อะไรที่มีช่องว่างหรือ GAP รอไม่นานก็จะมีคนเข้ามาแข่ง ยกเว้นเสียแต่เราจะเจอหุ้น Super stock จริงๆ คือมีความเก่งและเก๋าเฉพาะด้านจริงๆ (บ้านปูเคยมีราคาอยู่ที่ 15 บาทด้วยนะ เมื่อ 10-15 ปีที่ผ่านมานี้เอง ใครที่ยังไม่ขาย เค้าก็คงไม่อยากขายแล้วล่ะมั้ง กินปันผลก็เพียงพอแล้ว) ส่วนหุ้นที่ P/E สูง และ P/BV สูงมากๆ มันจะยืนด้วยความคาดหวังจากข้อมูลในอดีต ที่เราคาดว่ามันจะโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งๆที่ตลาดมันอาจจะอิ่มตัวหรือไม่ได้มีช่องว่างมากเหมือนกับในช่วงแรกๆ วันใดที่มันชลอตัว ระดับราคาจะหล่นฮวบๆ ทันที ทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุผลที่ทำไมเราถึงต้องดูหุ้นขนาดใหญ่ที่เติบโตต่อเนื่อง และดูย้อนหลังเป็นสิบๆ ปี โดยเฉพาะธุรกิจที่ผูกขาดโดยที่ได้สัมปทานหรือได้สิทธิพิเศษบางอย่าง หรือผูกขาดตลาดด้วยตัวมันเอง อันนี้หมีส้มจะชอบมากเป็นพิเศษ
เรื่องที่ 6 หลายคนสงสัยว่า จะเข้าซื้อเมื่อใดดีน่อ คำตอบก็คือขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของแต่ละคน รับได้ที่ราคาไหน ผลตอบแทนเท่าไหร่ ถ้าเราเลือกหุ้นแบบที่หมีส้มกล่าวมาแล้วนั้น สิ่งที่เราต้องรออย่างเดียว คือ “ราคา” หมีส้มมีเรื่องจะเล่าให้ฟัง ว่าเมื่อปี 2550 มีเพื่อนหมีมาถามว่า หม่าม๊าอยากลงทุนหุ้น เอาตัวไหนดี แกกล้าๆกลัวๆ เพราะเข็ดปี 2540 หมีก็เลยแนะนำหุ้น AAA (ในเล่มที่ 2) ไปให้เค้า เค้าก็ซื้อไปที่ราคา 80 บาท ซื้อไปหลายล้านบาทอยู่.. ตอนนั้นปันผลเกือบ 5 บาท ก็ได้ราวๆ 5% กว่า ซึ่งเค้าก็พึงพอใจ ดีกว่าเงินฝาก แต่ก็ยังกังวลเรื่องความเสี่ยง พอปี 2551 วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ร่วงลงไปถึง 50-60 บาท พอเราเช็คดูผลประกอบการแล้ว ปรากฏว่าไม่ได้แย่ลงไปเลย กระแสเงินสดก็ยังดี ก็เลยซื้อเพิ่มไปอีก ทำให้มีหุ้นเพิ่มขึ้นมาเท่าตัว ที่ต้นทุนเฉลี่ยที่ 70 บาท มาปัจจุบันหุ้นตัวนี้ก็ราคาดีดกลับมาที่ 130 กว่าบาท และเคยไปที่ 160 บาทด้วย แต่หม่าม๊าไม่สนใจราคาหุ้นแล้ว เพราะหม่าม๊าได้ปันผลตอนนี้ ปีละ 6 บาท ได้มาเกือบ 10% ต่อปี ซึ่งแฮปปี้มากๆแล้ว สิ่งที่หม่าม๊าบอก มีเพียงอย่างเดียว คือ ให้หมีดูกิจการให้หน่อย ว่าเรื่องมีสัญญาณไม่ดีรึเปล่า หมายถึง งบการเงินหรือกระแสเงินสดแย่ลงบ้างไม๊ ถ้าวันไหนมันเริ่มไม่ดีแล้ว แกค่อยขายออก.. ซึ่งจากเรื่องที่เล่ามา ถ้าหม่าม๊ามัวแต่รอราคาที่ถูกที่สุด อาจจะไม่ได้ซื้อเลยก็ได้ ดังนั้นจึงควรซื้อในราคาที่เราคิดว่ามันสมเหตุสมผล แต่ย้ำว่ามันต้องเป็นธุรกิจที่ดี และต้อง “รอคอยเวลา” แต่ไม่ใช่รอ “ราคาที่ถูกที่สุด”
เรื่องที่ 7 ทีนี้หลายคนจะเริ่มงง บอกว่า เอ๊ะ!! “เด๋วให้รอ” เด๋วให้ “ซื้อไปเลย” หมีส้มจึงขยายความให้สักนิด การซื้อไปเลยนั้น คือซื้อในราคาที่เหมาะสม และ รอให้ราคามันเหมาะสม ถามว่ายึดจากอะไร อย่างแรก หมีส้มดู ROE ย้อนหลัง เอามาหาร P/BV ปัจจุบัน ถ้าได้ย้อนหลัง 10 ปี เฉลี่ยเกิน 12% ถือว่าพอโอเค แต่ในหนังสือ หมีอยากให้รอ “วิกฤต” เพราะวิกฤต นำมาซื่ง “โอกาส” ที่จะซื้อหุ้นที่ดีในราคาที่ต่ำมากๆ เพราะทุกคน “เจ๊ง” กันไปหมดแล้ว การที่ซื้อหุ้นที่บอกว่า 12% เฉลี่ย เราก็อาจจะซื้อไปครึ่งหนึ่งหรือบางส่วน และเก็บอีกครึ่งไว้รอวิกฤต ก็เป็นไปได้ จะได้ไม่ตกรถเนอะ สำคัญแต่ว่าจะหาหุ้น 12% เฉลี่ยมันยากเหลือเกิน.. แต่ถ้าเป็นช่วงวิกฤต ของบอกว่าเพียบ…
เรื่องที่ 8 หากเลือกที่จะลงทุน แวะดูกราฟราคาย้อนหลังหน่อยก็ดี จะได้รู้ความเป็นไปของธุรกิจที่เราลงทุน เพราะกราฟจะสะท้อนราคา และเราเอามาเปรียบเทียบกับข้อมูลสถิติการประกอบการจริงที่เราได้ ว่ามันเป็นอย่างไร ช่วงวิกฤตกำไรตกจริงไม๊ อย่างไร ถ้าสงสัยอะไรขึ้นมาจริงๆ ให้ไปดูที่ “กระแสเงินสด” ซึ่งมันจะตอบทุกอย่าง เพราะบางกิจการมีกำไร แต่ต้องเอาไปลงทุนต่อเรื่อยๆ มันก็กลายเป็นว่า กิจการมีกำไร แต่กำไรเราเอามาใช้ไม่ได้ ไปลงกับพวกเครื่องจักรอะไรมากมาย ซึ่งพอมันเสื่อมค่ามูลค่ามันก็ละลายลงไปเรื่อยๆ แต่ถ้าได้กำไรเอามาปันผลและยังเติบโตได้อีกอันนี้ดีมาก..
เรื่องที่ 9 หลายคนยังสงสัยว่า กิจการที่เราลงทุนจะล้มหายตายจากได้หรือไม่ เมื่อเกิดวิกฤต นี่เป็นเหตุผลที่ทำไมเราถึงเลือกหุ้น Blue chip เพราะหุ้นเหล่านี้มักจะเป็นผู้นำตลาด ถ้าเศรษฐกิจจะพัง ตัวเล็ๆ มันจะไปก่อน หมีส้มแนะนำให้เวลาเราดูหรือเลือกหุ้น ให้เลือกหุ้นที่หนี้สินน้อยๆ (หรืออย่างน้อยก็ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม) ซึ่งหมีส้มจะชอบมาก เทคนิดในการเลือกหุ้นทั้งหลายนั้น เวลาเราจะวัดอะไรสักอย่าง ให้พยายายามหาตัวที่ธุรกิจใกล้เคียงกัน และเปรียบเทียบสัดส่วนทางการเงิน นั่นหมายความว่า เราจะได้รู้จักอุตสาหกรรมนั้นมากขึ้นด้วย นอกไปจากนี้ เราเองก็ต้องพยายามอ่านบทความหรือความเห็นผู้บริหารในอุตสาหกรรมนั้นๆ จะได้มีข้อมูลมากขึ้น ก็เราเป็นนักธุรกิจแล้วนี่นา
เรื่องที่ 10 เรื่องสุดท้าย ต้องรู้จัก “กระจายความเสี่ยง” อย่าไปมั่นใจกับอะไรที่มากจนเกินไป เพราะมันอาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิด ไม่เฉพาะเรื่องการลงทุนแต่หมายถึงเรื่องทั่วๆ ไปด้วย นอกจากนี้ก็ต้องพยายามทำใจ คือ “ปล่อยวาง” บางส่วน ในกรณีที่พลาดหวัง มันจะทำให้จิตใจของเรามีเสถียรภาพมากขึ้น และเราจะมีความสุขขึ้น เอาเฉพาะเรื่องลงทุนหุ้น เชื่อไม๊ว่า หลายๆ คนไม่ได้เจ๊งหุ้นเพราะเลือกหุ้นผิดนะ แต่เจ๊งหุ้นเพราะ “ตัดสินใจผิด” เร็วไปบ้าง ช้าไปบ้าง กลัวไปบ้าง หรือมีกำไรไม่ทนถือบ้าง เค้าเรียกว่า “แพ้หัวใจตัวเอง” หมีส้มเองก็เป็น ก็คือ “แพ้หัวใจตัวเองมา 10 ปี” เพิ่งจะมาชนะได้เมื่อ 2-3 ปีนี้เอง ไม่งั้นรวยกว่าบิลเกตต์ไปละ.. ล้อเล้นนะคัฟ..
สุดท้ายนี้ขอให้ทุกคนโชคดีในการลงทุนนะคับ หวังว่าบทความและหนังสือหมีส้ม จะเป็นประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อย ถูกผิดอย่างไร อย่าเพิ่งเชื่อหมี ให้ลองนำไปไตร่ตรองและปรับใช้ดูนะครับ..