วันพฤหัสบดีที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2556

สัญญาณจากงบการเงิน : สันติ สิงหวังชา


สัญญาณจากงบการเงิน : สันติ สิงหวังชา

ทุกๆไตรมาส บริษัทจะประกาศงบการเงินออกมา ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ผมจะคอยติดตามว่าหุ้นที่ตัวเองถือ รวมถึงหุ้นที่กำลังสนใจอยู่ประกาศรึยัง เพื่อที่จะได้ Load มาอ่านแล้ววิเคราะห์เพื่อใช้ในการตัดสินใจต่อไป

ทีนี้ ดูงบนี่ดูกันไปทำไมครับ…
ต้องย้อนกลับมาดูหลักการทั่วไปของการซื้อธุรกิจก่อนครับ เวลาเราซื้อธุรกิจ เราก็มักจะต้องดูผลงานย้อนหลังไปหลายปี ว่ามีผลงานดีแค่ไหนผันผวนแค่ไหน เพื่อที่จะได้ใช้เป็นข้อมูลในการคาดการณ์อนาคตของธุรกิจ 
ใจความสำคัญมันอยู่ตรงนี้เองครับ การซื้อธุรกิจหรือการซื้อหุ้น เราซื้อที่อนาคตของธุรกิจ ผลงานที่ผ่านมาในอดีตเป็นเพียงตัวช่วยในการคาดอนาคตเท่านั้นเอง
เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราควรจะสนใจในงบการเงินคือสิ่งที่จะบ่งบอกให้เห็นถึงอนาคตของบริษัท พอดีว่าผมเจอบางคนที่ดีใจว่าบริษัทประกาศกำไรออกมาดี แต่กลับไม่ได้ดูเลยว่าตัวเลขเหล่านั้นบางทีมันสะท้อนให้เห็นถึงอนาคตที่ไม่สวยงามของบริษัทเท่าไหร่นัก
ยกตัวอย่างให้ดูนะครับว่า Case ข้างต้นมีหน้าตาเป็นไง
บริษัท A ทำธุรกิจรับจ้างผลิตสินค้า ปกติบริษัทนี้มียอดขายประมาณ 100 ล้านต่อไตรมาส กำไรสุทธิประมาณ 10 ล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 10% ของรายได้ บริษัทนี้มีหุ้นทั้งสิ้น 10 ล้านหุ้น (คิดเป็น eps ประมาณ 1 บาทต่อไตรมาส หรือ 4 บาทต่อปี) ราคาหุ้นซื้อขายกันอยู่ประมาณ 24 บาท หรือคิดเป็น p/e ประมาณ 6 เท่า (เพราะบริษัทไม่มีการเติบโตมานาน p/e ที่ซื้อขายจึงไม่สูงนัก)
- เวลาผ่านไป บริษัทนี้ประกาศงบการเงิน Q2 ออกมาว่า บริษัทสามารถทำรายได้สูงถึง 150 ล้านบาท และทำกำไรได้ 15 ล้านบาท นักลงทุนเห็นก็ดีใจเพราะว่าบริษัทสามารถทำกำไรเพิ่มจากปกติได้ถึงประมาณ 50% เลยรีบกระโจนเข้าไปซื้อหุ้นเพราะเห็นว่าราคาหุ้นยังอยู่นิ่งๆ ไม่ตอบรับข่าวดีที่ออกมา เลยซื้อเข้า Port ไปที่ราคา 24 บาท เพราะกะว่าถ้าบริษัทกำไรได้ 15 ล้านต่อไตรมาส eps ก็จะออกมาประมาณ 6 บาทต่อหุ้น หรือคิดเป็น p/e เพียง 4 เท่าเท่านั้น
- เวลาผ่านไปอีกแล้ว บริษัทประกาศงบ Q3 ออกมาทำรายได้เพียง 50 ล้านบาท และมีผลขาดทุน 1.67 ล้านบาท หุ้นดิ่งลงอย่างรวดเร็วเพราะเห็นว่าบริษัทขาดทุน นักลงทุนท่านเดิมตัดใจขายหุ้นทิ้งไปที่ราคา 10 บาท
case ข้างต้นนี้สอนอะไรเราได้บ้าง …?
- ถ้าดูลงไปลึกๆจะเห็นว่าใน Q2 ที่บริษัททำรายได้ได้สูงนั้น เพราะว่าลูกค้ามีความจำเป็นต้องเร่งงานให้เร็วขึ้นกว่าปกติจึงได้ส่ง Order ของ Q3 มาให้บริษัทเร่งผลิตส่งให้ทันในไตรมาส 2 จำนวน 50 ล้านบาท .. รายได้จึงเพิ่มขึ้นจาก 100 มาเป็น 150
- เมื่องานของ Q3 ถูกดึงไปลงใน Q2 แล้ว 50 ล้าน พอถึงเวลา Q3 จริงๆ รายได้เลยหดลงมาเหลือเพียง 50 ล้าน
- ถ้าดูงบ Q2 ต่อก็จะเจอว่าบริษัทนั้นมี Net Profit Margin (NPM) คงที่ที่ประมาณ 10% ทั้งๆที่ปกติแล้วเมื่อบริษัทมี Vol สั่งซื้อที่มากขึ้น ถ้ากำไรต่อหน่วยใกล้เคียงเดิม NPM มักจะเพิ่ม เพราะว่าค่าใช้จ่ายขายและบริหารหลักๆนั้นมักจะมีส่วนที่เป็นต้นทุนคงที่อยู่พอสมควร แต่ในกรณีนี้ NPM ของ Q2 นั้นคงที่ที่ 10%
ตามหลักของนักลงทุนที่ดี ควรจะเจาะดูให้ละเอียดว่า NPM ที่ควรจะเพิ่มขึ้นกลับคงที่ มันมีสัญญาณไม่ค่อยดีบอกเราอยู่บ้างแล้ว …
ลองมาดูงบรายไตรมาสของบริษัท A กันนะครับว่าหน้าตาเป็นยังไงจริงๆ และมันส่งสัญญาณให้นักลงทุนมองอนาคตยังไงบ้าง
- งบไตรมาสก่อนหน้าของบริษัททำมาได้อย่างสม่ำเสมอ มีหน้าตาแบบนี้รายได้ 100 ล้านต้นทุนสินค้า 80 ล้านกำไรขั้นต้น 20 ล้าน คิดเป็น GPM ที่ 20%ค่าใช้จ่ายขายและบริหาร 10 ล้าน (สมมติว่าค่าใช้จ่ายด้านนี้ส่วนใหญ่เป็นเงินเดือนผู้บริหารเป็นหลักซึ่งมักจะเป็น Fix cost ที่ไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงเท่าไหร่)กำไรสุทธิ 10 ล้านบาท คิดเป็น NPM ที่ 10%
- งบไตรมาส 2 รายได้ 150 ต้นทุนสินค้า 125กำไรขั้นต้น 25 คิดเป็น GPM ที่ 16.67 ค่าขายและบริหาร 10กำไรสุทธิ 15 ล้านบาท คิดเป็น NPM ที่ 10%
- งบไตรมาส 3 รายได้ 50 ต้นทุนสินค้า 41.67 กำไรขั้นต้น 8.33 คิดเป็น GPM ที่ 16.67% ค่าขายและบริหาร 10 ขาดทุน 1.67 ล้านบาท
นักลงทุนที่ไม่ละเอียดดูเพียงแค่อดีต ซึ่งก็คืองบ Q2 ที่ประกาศออกมาว่ามีกำไรดีโตจากปกติ 50% จึบรีบเข้าไปซื้อ แต่หารู้ไม่ว่ากำไรที่เพิมขึ้นมานั้นเป็นผลมาจาก Order ของ Q3 ที่ถูกเร่งมาส่งมอบใน Q2
นอกจากนี้ ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทซึ่งดูได้จาก GPM นั้นลดลงจาก 20 เหลือ 16.67% ทั้งนี้สาเหตุอาจจะมาจากความรุนแรงในการแข่งขัน ทำให้บริษัทจำเป็นจะต้องลดราคาให้ลูกค้าเพื่อรักษายอดขายเอาไว้ เพราะฉะนั้นปกติถ้าเราเห็น GPM ที่ลดต่ำลงกว่าปกติเราควรจะเจาะลึกลงไปให้ดูมากขึ้นว่าที่ลดลงนั้นลดลงเพราะอะไร เป็นปัญหาชั่วคราวหรือว่าถาวร ในกรณีของบริษัท A นั้น การลดราคาเพราะต้องตัดราคาแข่งกับคู่แข่งนี้ดูจะเป็นปัญหาถาวร จนทำให้ผลงานที่ออกมาใน Q3 นั้นมี GPM พอๆกับ Q2
ถ้าไม่มีปัจจัยอะไรเปลี่ยนแปลงมากมายนับจากนี้ นักลงทุน VI ที่มีประสบการณ์ก็พอจะประมาณงบของไตรมาสต่อๆไปได้หลังจากประมาณงบ Q3 ว่าน่าจะออกมาประมาณนี้รายได้ 100 ต้นทุนสินค้า 83.33 กำไรขั้นต้น 16.67 ค่าขายและบริหาร 10 กำไรสุทธิ 6.67 คิดเป็น 0.67 ต่อหุ้นต่อไตรมาส หรือ eps เท่ากับ 2.67 บาทต่อปี
- เมื่อเห็นว่า แม้บริษัทน่าจะสามารถทำกำไรได้ลดลงจากปกติ 4 บาทต่อหุ้นเหลือเพียง 2.67 บาทต่อหุ้น แต่ราคาหุ้นที่ดิ่งลงก็ตอบสนองกับข่าวร้ายซะจนเกินเหตุเหลือเพียง 10 บาท คิดเป็น p/e ประมาณ 3.7 เท่า VI ที่มีประสบการณ์ก็อาจจะใช้โอกาสนี้เข้ามาซื้อหุ้นที่ราคาต่ำเกินจริงๆและสามารถทำกำไรได้ไม่ยากนัก
ตัวอย่างที่แสดงข้างต้นนี้เป็นเพียงตัวอย่างสมมติที่ผมคิดตัวเลขง่ายๆมาใช้ แต่ในสถานการณ์จริงๆ ผมก็เห็นสิ่งเหล่านี้เกิดอยู่ในตลาดหุ้นอยู่เรื่อยๆ รายละเอียดอาจจะคล้ายๆแบบนี้บางกรณีอาจจะมีความซับซ้อนกว่านี้ แต่นักลงทุนที่ดีก็จะเจาะรายละเอียดของงบการเงิน เพื่อดูถึงสัญญาณต่างๆที่งบการเงินพยายามจะบอกเราให้เห็นถึงโอกาสหรือวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ทุกวันในตลาดหุ้น
หมายเหตุ
- บริษัท A นี้เป็นแสดงถึง Negative signal ที่งบบอกให้เราเห็น แม้ว่าบริษัทจะสามารถกำไรสุทธิได้มากขึ้น ซึ่ง case แบบนี้มักจะทำให้นักลงทุนเจ็บตัว
- ในขณะที่บางบริษัทอาจจะแสดง Positive Signal ในลักษณะที่ตรงข้ามกับบริษัท A คือบริษัทอาจจจะแสดงกำไรสุทธิที่ลดต่ำลง แต่ถ้าเจาะลงไปให้ลึกแล้วจะเห็นว่าบริษัทมีความสามารถในการทำกำไรที่เพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ ถ้าราคาหุ้นในตลาดลดต่ำมากเพราะตลาดเห็นว่าบริษัททำกำไรได้ลดลง ทั้งๆที่งบการเงินกำลังส่งสัญญาณเป็นบวกให้กับเรา ..
นี่แหละครับจะเป็นโอกาสการทำกำไรที่ดีของนักลงทุนที่ทำการบ้านและมีความเข้าใจงบการเงินที่ดีกว่า
สัญญาณจากงบการเงิน
สันติ สิงหวังชา
Yoyo’s Value Investing Way