หุ้นที่มีกำไรเติบโต (Growth Stock) นับว่าเป็นหุ้นที่ทำกำไรให้กับนักลงทุนดีที่สุดประเภทนึง เพราะหุ้นกลุ่มนี้นอกจากจะมีกำไรที่เติบโตขึ้นรวดเร็วแล้ว ตลาดมักจะให้ราคาหุ้นประเภทนี้สูงกว่าตลาดด้วย อย่างไรก็ตาม ก็ใช่ว่าทุก Growth Stock จะดีเหมือนกันทุกบริษัท หลายบริษัทที่ตอนแรกๆอาจจะดูเหมือนเป็น “หุ้นเติบโต” แต่พอเวลาผ่านไปกลับกลายเป็น “หุ้นติดดิน”
คำถามที่นักลงทุนทุกคนควรจะต้องถามคือ เราจะรู้ได้อย่างไรว่า Growth Stock ตัวไหนจะสามารถเติบโต “ได้จริง” อย่างมีคุณภาพ
ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจถึงประเภทของการเติบโตก่อน ผมขอจับไว้เป็นคู่ๆเพื่อให้เข้าใจง่ายแล้วกันครับ
Volume Growth vs. Price Growth
ในบางธุรกิจที่มีอำนาจในการต่อรองราคาของบริษัทต่อลูกค้าสูง (High Negotiating Power) จะสามารถปรับราคาสินค้าขึ้นได้ทุกปี ตัวอย่างเช่นกลุ่มธุรกิจโรงพยาบาล ร้านสะดวกซื้อ การเติบโตจากการเพิ่มขึ้นของ “ราคา” สามารถทำได้ง่ายกว่าการเติบโตของ “ปริมาณการขาย” มากเพราะแทบจะไม่มีต้นทุนเพ่ิมขึ้นเลย ในขณะที่การขยายกำลังการผลิตหรือการให้บริการต้องมีการลงทุนเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังมีความเสี่ยงในการที่จะต้องหาลูกค้าเพิ่มขึ้นเพื่อมาซื้อสินค้่า
อย่างไรก็ตามการเติบโตจากการขึ้นราคาอาจจะมีข้อจำกัดจากเรื่องการแข่งขัน กฏหมายควบคุมราคา (เช่นในกรณีร้านสะดวกซื้อ) หลายบริษัทจึงใช้วิธีในการปรับ Product Mix เพื่อเพิ่มราคาสินค้าแทน เช่นธุรกิจโรงพยาบาลที่ มีการนำเสนอแผนการรักษาใหม่ๆ หรือเน้นการให้การรักษาในโรคร้ายแรงมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ยอดค่าใช้จ่ายต่อคนสูงขึ้น
Industry Growth vs. Market Share Growth
ธุรกิจที่อยู่อุตสาหกรรมที่เติบโตเร็ว เช่นธุรกิจที่มี penetration rate ต่ำๆ และมีปัจจัยทางโครงสร้างเอื้อหนุน จะสามารถสร้างรายได้และกำไรให้เติบโตได้ง่ายกว่าธุรกิจที่เติบโตด้วยการแย่งส่วนแบ่งการตลาดจากคู่แข่งในอุตสาหกรรมที่เติบโตช้า เพราะในอุตสาหกรรมที่เติบโตเร็ว ความจำเป็นในการแข่งขันในด้านราคาจะมีน้อย อีกทั้งต้นทุนในการหาลูกค้ารายใหม่ๆถูกกว่า เพราะไม่ต้องแย่งลูกค้ากัน
ในทางตรงกันข้ามการที่บริษัทผลิตกระเบื้องแห่งหนึ่งมีแผนที่จะเพ่ิมส่วนแบ่งการตลาด 1% ทุกปี (ตลาดกระเบื้องเติบโตในระดับใกล้เคียงกับ GDP ซึ่งถือว่าค่อนข้างต่ำ) การเติบโตอาจจะทำได้จริงแต่อาจจะไม่ยั่งยืนเนื่องจากคู่แข่งรายอื่นๆก็จะไม่ปล่อยให้บริษัทถูกแย่งส่วนแบ่งการตลาดไป การแข่งขันจะรุนแรงยิ่งขึ้นถ้าอุตสาหกรรมนั้นๆเติบโตได้ช้า เพราะบริษัทต้องดิ้นรนมากขึ้นเพื่อที่จะเพิ่มยอดขายให้ทันกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นทุกๆปี อาจจะเกิดภาวะที่เรียกว่าสงครามราคา (Price War) ได้ ซึ่งจะมีผลแย่ต่อทุกบริษัทในอุตสาหกรรมนั้นๆ
One-off vs. Recurring
ธุรกิจที่เติบโตแบบครั้งเดียวจบ หมายถึงธุรกิจที่มีลักษณะการรับงานแบบเป็น Project มีสัญญาที่ระยะเวลาสั้นๆ งานที่ได้รับในปีนี้จะไม่ได้รับการการันตีอีกในปีหน้า (คือรับงานเป็นปีๆไป) มีจำนวนลูกค้าน้อยราย หรือ ปริมาณความต้องการของลูกค้ามีการเปลี่ยนแปลงบ่อย ตัวอย่างเช่น ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ธุรกิจรับจ้างผลิตต่างๆ ธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กโทรนิกส์ เกษตร รถยนต์ โฆษณา เป็นต้น
สำหรับการเติบโตแบบยั่งยืน คือการเติบโตของกำไรที่ต่อยอดไปเรื่อยๆจากการขยายสาขา ขยายฐานลูกค้าที่มีสัญญาในระยะยาวกับบริษัท เช่นธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจที่ขายสินค้าอุปโภคบริโภค (มีลูกค้าหลายแสนราย จึงมีโอกาสเปลี่ยนแปลงได้ยากกว่า)
Existing vs. New Business
ในปัจจุบันหลายธุรกิจในตลาดหลักทรัพย์ อยู่ใน Sunset Industry หรือธุรกิจที่กำลังตกต่ำ ฉะนั้นหลายบริษัทจึงพยายาม “แตกไลน์ธุรกิจ” ไปยังโอกาสใหม่ๆ ในการคาดการณ์การเติบโตของบริษัท นักลงทุนต้องมองให้ออกว่า แผนการเติบโตของบริษัทมากจากธุรกิจใด หลายครั้งที่ทางผู้บริหารอาจจะไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตัวธุรกิจใหม่อย่างเพียงพอ (ไม่ใช่ไม่เก่งแต่อาจจะไม่มีประสบการณ์) ผู้บริหารจึงไม่สามารถคาดการณ์ถึงการแข่งขันที่อาจจะเกิดขึ้น รวมถึงถึงอุปสรรคต่างๆในการทำธุรกิจ จึงทำให้ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ได้
นอกจากการขยายไปยังธุรกิจใหม่แล้ว การขยายไปยังตลาดใหม่ๆก็นับว่ามีความเสี่ยงเช่นกัน หลายบริษัทเลือกที่จะขยายกิจการไปต่างประเทศ (โดยไม่ได้มีประสบการณ์ในประเทศนั้นๆมาก่อน) มักจะประสบกับปัญหาต่างๆ เช่น ความล่าช้าของการขอใบอนุญาต/การก่อสร้าง สินค้าไม่ถูกใจลูกค้าในประเทศนั้นๆ ซึ่งมักจะทำให้รายได้ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย และมักจะมีผลขาดทุน
Small vs. Large
Peter Lynch เคยบอกไว้ว่าในระยะยาวแล้วหุ้นขนาดเล็กจะสามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าหุ้นขนาดใหญ่เนื่องจากสามารถเติบโตได้ในอัตราที่สูงกว่าในระยะยาว เพราะฉะนั้นถ้าเราอยากจะหาหุ้นมีอัตราการเติบโตที่สูงอาจจะต้องหาจากบริษัทที่มีขนาดเล็ก (ทั้งในเชิงมูลค่าตลาด ยอดขาย ส่วนแบ่งการตลาด รวมถึงอัตราในการทำกำไร) ซึ่งจะมีโอกาสในการเติบมากกว่าบริษัทที่มีขนาดใหญ่กว่า อย่างไรก็ตามธุรกิจขนาดเล็กก็อาจจะมีความเสี่ยงมากกว่าธุรกิจที่ครองความเป็นเจ้าตลาดมาเป็นระยะเวลานาน
Top line vs. Bottom Line
ประเด็นนี้จะเป็นประเด็นที่นักลงทุนมักจะมองข้าม เพราะหลายๆครั้งการเติบโตของยอดขายต้องแลกมาด้วยการให้โปรโมชั่นเยอะๆ (ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นลดลง) ค่าใช้จ่ายการตลาดที่เพิ่มขึ้น เงินลงทุนในเครื่องจักรหรือขยายสาขาใหม่ (ที่มาพร้อมค่าเสื่อมที่เพิ่มขึ้น) การที่ยอดขายเติบโตแต่กำไรไม่โตตามอาจจะเป็นเพราะบริษัทอยู่ในอุุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูง คู่แข่งรายใหม่อาจจะอยากได้ส่วนแบ่งการตลาดโดยไม่สนใจภาพรวมของอุตสาหกรรม ตัวอย่างเช่น บริษัทสื่อสารที่ตัดสินใจลดราคา เพื่อดึงลูกค้าใหม่ๆ ทำให้มีผลต่อการปรับราคาของคู่แข่งรายอื่นๆ
เงินลงทุนก็เป็นประเด็นสำคัญ ฉะนั้นทุกครั้งที่ผู้บริหารเล่าถึงแผนที่จะขยายธุรกิจเราก็ต้องอย่าลืมที่จะถามถึงค่าใช้จ่ายหรือเงินลงทุนที่ต้องใช้ด้วย ถ้าเราอยากรู้ว่าเงินลงทุนอันนั้นจะมีผลต่อกำไรในอนาคตอย่างไร ก็ต้องประเมินว่าปรกติแล้วสินทรัพย์นั้นๆตัดค่าเสื่อมกี่ปี (ส่วนใหญ่ผู้บริหารจะตอบถ้าเราถาม) เราก็พอจะรู้คร่าวๆว่ากำไรที่ได้มาเพิ่มจะคุ้มค่ากับเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปีหรือเปล่า
สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ…
การเติบโตของบริษัทล้วนแต่เป็นการ “คาดการณ์อนาคต” ซึ่งจะแม่นยำหรือไม่ต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง แต่ส่ิงที่สำคัญที่สุดคือผู้บริหารที่สามารถประเมินสถานการณ์ได้ตามความเป็นจริง สามารถ “ทำ” ได้เท่ากับที่ “พูด” ซึ่งการที่จะดูให้ได้อย่างนั้นเราต้องมองย้อนไปในอดีต ตัวอย่างเช่นบริษัทผลิตอาหารทะเลแห่งหนึ่งที่เคยบอกไว้ว่าจะมียอดขายหลายพันล้านเหรียญ ภายในปีนั้นปีนี้ แล้วทำได้ตรงตามที่สัญญาไว้ตลอด เรียกได้ว่าพูดคำไหนคำนั้น
ซึ่งเราอาจจะเรียกหุ้นแบบนี้ได้อีกอย่างว่า “ทำได้จริง ไม่ได้โม้…”
ที่มา Thaivi