ในการจัดทำงบกำไรขาดทุนของบริษัทจำกัด จะต้องยึดหลักตามมาตรฐานการบัญชี
ฉบับที่ 35 (ปรับปรุง 2550) ตามประกาศสภาวิชาชีพการบัญชี ฉบับที่ 38/2550 และจะต้องปฏิบัติตามประกาศกรมทะเบียนการค้ากระทรวงพาณิชย์ พ.ศ. 2544 ซึ่งได้ให้ความหมายรายการย่อในงบกำไรขาดทุนดังนี้
งบกำไรขาดทุน แสดงแบบขั้นเดียว
1. รายได้ (Revenues)
1.1 รายได้จากการขายและหรือการให้บริการ (Revenues from the sale of goods and the rendering of services) หมายถึง รายได้ที่เกิดจากการขายสินค้า สิทธิ หรือบริการ ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบริษัทเพื่อแลกเปลี่ยนกับเงินสด สิทธิเรียกร้องให้ชำระเงิน หรือสิ่งอื่นที่มีมูลค่าคิดเป็นเงินได้ ทั้งนี้ให้แสดงเป็นยอดสุทธิหลังหักรายการรับคืนและส่วนลดแล้ว โดยแยกแสดงเป็นรายได้แต่ละประเภท เช่น รายได้จากการขายสินค้า รายได้จากการให้บริการ
1.2 รายได้อื่น (Other incomes) หมายถึง รายได้จากการดำเนินงานนอกจากที่กำหนดให้แสดงไว้ในรายการที่ 1.1 ทั้งนี้ให้รวมกำไรอื่นที่ไม่จัดเป็นรายการพิเศษ เช่น กำไรจากการขายเงินลงทุน ที่ดิน อาคาร อุปกรณ์ และสินทรัพย์อื่น ในกรณีที่มีค่าใช้จ่ายในการขายสินทรัพย์ดังกล่าวให้นำมาหักจากรายการนี้เพื่อแสดงยอดสุทธิ กรณีที่ยอดสุทธิเป็นผลขาดทุนให้แสดงไว้ในรายการที่ 2.3
1.3 ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนตามวิธีส่วนได้เสีย (Share of profits from investments for the equity method) หมายถึง ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนซึ่งบันทึกโดยวิธีส่วนได้เสียตามที่กำหนดไว้ในมาตรฐานการบัญชี
2. ค่าใช้จ่าย (Expenses)
2.1 ต้นทุนขายและหรือต้นทุนการให้บริการ (Costs of the sale of goods and the rendering of services) หมายถึง ต้นทุนของสินค้า สิทธิ หรือบริการที่ขาย รวมถึงราคาซื้อ ต้นทุนการผลิตและค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่จ่ายไปเพื่อให้สินค้าอยู่ในสภาพพร้อมที่จะขายโดยแยกแสดงเป็นต้นทุนตามประเภทของธุรกิจหลักของกิจการตามที่ได้แสดงไว้ในรายการที่ 1 เช่น ต้นทุนของสินค้าที่ขายต้นทุนของการให้บริการ
2.2 ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร (Selling administrative expenses) หมายถึง ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการขาย และค่าใช้จ่ายทั่วไปที่เกิดขึ้นในการดำเนินงานอันเป็นส่วนรวม ทั้งนี้ไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่นและดอกเบี้ยจ่าย ซึ่งกำหนดให้แสดงไว้ในรายการที่ 2.3 และ 4
2.3 ค่าใช้จ่ายอื่น (Other expenses) หมายถึง ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานนอกจากที่กำหนดให้แสดงไว้ในรายการที่ 2.1 ถึง 2.2 ทั้งนี้ให้รวมถึงขาดทุนอื่นที่ไม่จัดเป็นรายการพิเศษ เช่น ขาดทุนจากการขายเงินลงทุน ที่ดิน อาคาร อุปกรณ์ และสินทรัพย์อื่นและขาดทุนจากการหยุดงานของพนักงาน ในกรณีที่มีรายได้จากการขายสินทรัพย์ดังกล่าว ให้นำมาหักรายการนี้เพื่อแสดงยอดสุทธิ
2.4 ส่วนแบ่งขาดทุนจากเงินลงทุนตามวิธีส่วนได้เสีย (Share of losses from investments for using the equity method ) หมายถึง ส่วนแบ่งขาดทุนจากเงินลงทุนซึ่งบันทึกโดยวิธีส่วนได้เสียตามที่กำหนดไว้ในมาตรฐานการบัญชี
3. กำไร (ขาดทุน) ก่อนดอกเบี้ยจ่ายและภาษีเงินได้ (Profit loss before interest and income tax expenses) หมายถึง ยอดรวมรายได้หักด้วยยอดรวมค่าใช้จ่าย แต่ก่อนหักดอกเบี้ยจ่ายและก่อนภาษีเงินได้ หากมีผลขาดทุนให้แสดงจำนวนเงินไว้ในเครื่องหมายวงเล็บ
4. ดอกเบี้ยจ่าย (Interest expense) หมายถึง ดอกเบี้ยหรือค่าตอบแทนเนื่องจากการให้ประโยชน์จากเงินหรือเงินทุน
5. ภาษีเงินได้ (Income tax expenses) หมายถึง ภาษีเงินได้นิติบุคคลที่คำนวณขึ้นตามวิธีการบัญชีหรือตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร
6. กำไร (ขาดทุน) สุทธิ (Net profit loss) หมายถึง กำไรหรือขาดทุนหลังจากหักหรือรวมรายการพิเศษแล้ว หากมีผลขาดทุนให้แสดงจำนวนเงินไว้ในเครื่องหมายวงเล็บ
7. กำไรต่อหุ้น (Earnings per share) หมายถึง วิธีการคำนวณที่ให้เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีว่าด้วยเรื่องกำไรต่อหุ้น หากมีผลขาดทุนให้แสดงจำนวนเงินไว้ในเครื่องหมายวงเล็บ
ความหมายของรายการย่อในงบกำไรขาดทุน
งบกำไรขาดทุน แสดงแบบหลายขั้น
1. รายได้จากการขายและหรือการให้บริการ (Revenues from the sale of goods and the rendering of services) หมายถึง รายได้ที่เกิดจากการขายสินค้า สิทธิ หรือบริการ ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบริษัทเพื่อแลกเปลี่ยนกับเงินสด สิทธิเรียกร้องให้ชำระเงิน หรือสิ่งอื่นที่มีมูลค่าคิดเป็นเงินได้ ทั้งนี้ให้แสดงเป็นยอดสุทธิหลังหักรายการรับคืนและส่วนลดแล้ว โดยแยกแสดงเป็นรายได้แต่ละประเภท เช่น รายได้จากการขายสินค้า รายได้จากการให้บริการ
2. ต้นทุนขายและหรือต้นทุนการให้บริการ (Costs of the sale of goods and the rendering of services) หมายถึง ต้นทุนของสินค้า สิทธิ หรือบริการที่ขาย รวมถึงราคาซื้อ ต้นทุนการผลิตและค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่จ่ายไปเพื่อให้สินค้าอยู่ในสภาพพร้อมที่จะขาย โดยแยกแสดงเป็นต้นทุนตามประเภทของธุรกิจหลักของกิจการตามที่ได้แสดงไว้ในรายการที่ 1 เช่น ต้นทุนของสินค้าที่ขายต้นทุนของการให้บริการ
3. กำไรขั้นต้น (Gross profit) หมายถึง ส่วนของรายได้จากการขายสินค้าและหรือบริการสุทธิที่สูงกว่าต้นทุนขายและหรือต้นทุนของการให้บริการ
4. ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร (Selling and administrative expenses) หมายถึง ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการขาย และค่าใช้จ่ายทั่วไปที่เกิดขึ้นในการดำเนินงานอันเป็นส่วนรวม ทั้งนี้ไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่นและดอกเบี้ยจ่าย ซึ่งกำหนดให้แสดงไว้ในรายการที่ 7 และ 11
5. กำไร (ขาดทุน) จากการขายและหรือการให้บริการ (Profit loss from the sale of goods and the rendering of services) หมายถึง กำไร (ขาดทุน) จากการขายและหรือการให้บริการซึ่งไม่รวมรายได้อื่น และค่าใช้จ่ายอื่นที่กำหนดให้แสดงในรายการที่ 6 และ 7
6. รายได้อื่น (Other incomes) หมายถึง รายได้จากการดำเนินงานนอกจากที่กำหนดให้แสดงไว้ในรายการที่ 1 ทั้งนี้ให้รวมกำไรอื่นที่ไม่เป็นรายการพิเศษ เช่น กำไรจากการขายเงินลงทุน ที่ดิน อาคาร อุปกรณ์ และสินทรัพย์อื่น ในกรณีที่มีค่าใช้จ่ายในการขายสินทรัพย์ดังกล่าวให้นำมาหักจากรายการนี้เพื่อแสดงยอดสุทธิ
7. ค่าใช้จ่ายอื่น (Other expenses) หมายถึง ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานนอกจากที่กำหนดให้แสดงไว้ในรายการที่ 2 และ 4 ทั้งนี้ให้รวมถึงขาดทุนอื่นที่ไม่จัดเป็นรายการพิเศษ เช่น ขาดทุนจากการขายเงินลงทุน ที่ดิน อาคาร อุปกรณ์ และสินทรัพย์อื่น และขาดทุนจากการหยุดงานของพนักงานในกรณีที่มีรายได้จากการขายสินทรัพย์ดังกล่าว ให้นำมาหักจากรายการนี้เพื่อแสดงยอดสุทธิ
8. กำไร (ขาดทุน) จากการดำเนินงาน (Profit loss from operations) หมายถึง กำไร (ขาดทุน) จากการขายและหรือการให้บริการที่รวมรายได้อื่นและหักค่าใช้จ่ายอื่น
9. ส่วนแบ่งกำไร (ขาดทุน) จากเงินลงทุนตามวิธีส่วนได้เสีย (Share of profits losses from investments for using the equity method) หมายถึง ส่วนแบ่งกำไร (ขาดทุน) จากเงินลงทุนซึ่งบันทึกโดยวิธีส่วนได้เสียตามที่กำหนดไว้ในมาตรฐานการบัญชี
10. กำไร (ขาดทุน) ก่อนดอกเบี้ยจ่ายภาษีเงินได้ (Profit loss before interest and income tax expenses) หมายถึง ยอดรวมรายได้หักด้วยยอดรวมค่าใช้จ่าย แต่ก่อนหักดอกเบี้ยจ่ายและก่อนภาษีเงินได้หากมีผลขาดทุนให้แสดงจำนวนเงินไว้ในเครื่องหมายวงเล็บ
11. ดอกเบี้ยจ่าย (Interest expenses) หมายถึง ดอกเบี้ยหรือค่าตอบแทนเนื่องจากการใช้ประโยชน์จากเงินหรือเงินทุน
12. ภาษีเงินได้ (Income tax expenses) หมายถึง ภาษีเงินได้นิติบุคคลที่คำนวณขึ้นตามวิธีการบัญชีหรือตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร
13. กำไร (ขาดทุน) สุทธิ (Net profit loss) หมายถึง กำไรหรือขาดทุนหลังจากหักหรือรวมรายการพิเศษแล้ว หากมีผลขาดทุนสุทธิให้แสดงจำนวนไว้ในเครื่องหมายวงเล็บ
14. กำไรต่อหุ้น (Earnings per snare) วิธีการคำนวณให้เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีว่าด้วยเรื่องกำไรต่อหุ้น หากมีผลขาดทุนให้แสดงจำนวนเงินในเครื่องหมายวงเล็บ
กำไรต่อหุ้น
กำไรต่อหุ้น (Earnings per snare) จะต้องแสดงต่อท้ายงบกำไรขาดทุนตามแบบที่กำหนดในประกาศกรมทะเบียนการค้า เรื่องกำหนดรายการย่อที่ต้องมีในงบการเงิน พ.ศ.2544 และสอดคล้องกับมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 35 กำหนดให้เปิดเผยจำนวนเงินที่เกี่ยวข้องต่อหุ้นไว้ในงบกำไรขาดทุนในย่อหน้า 49 เพื่อช่วยให้ผู้ใช้งบการเงินสามารถเปรียบเทียบผลการดำเนินงานของแต่ละกิจการในแต่ละงวดเพื่อใช้ในการตัดสินใจลงทุนหรือเรื่องอื่นๆ ดังนั้น การคำนวณกำไรต่อหุ้น แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ กำไรต่อหุ้นขั้นพื้นฐาน และกำไรต่อหุ้นปรับลดในที่นี้จะขออธิบายเกี่ยวกับกำไรต่อหุ้นขั้นพื้นฐานเท่านั้น ส่วนกำไรต่อหุ้นปรับลด จะศึกษาได้ในระดับสูงต่อไป
การคำนวณกำไรต่อหุ้นขั้นพื้นฐาน
กำไรต่อหุ้นที่จะต้องแสดงในงบกำไรขาดทุนท้ายงบนั้นได้จากนำกำไรสุทธิประจำงวด หักเงินปันผลหุ้นบุริมสิทธิส่วนที่เหลือจะเป็นกำไรสุทธิที่เป็นส่วนของหุ้นสามัญทั้งหมดและจะหารด้วยจำนวนหุ้นสามัญที่อยู่ในมือของผู้ถือหุ้น
ในการศึกษาระดับนี้สมมุติให้โครงสร้างทุนของกิจการเป็นแบบง่าย กล่าวคือโครงสร้างที่ไม่มีหลักทรัพย์แปลงสภาพ หรือไม่มีใบสำคัญแสดงสิทธิ